fbpx
อ่านให้ต่างออกไปได้อย่างไร?

อ่านให้ต่างออกไปได้อย่างไร?

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

**********************************

 

วันที่ …

เรียนพี่บ.ก. ครับ

นัดหมายบทความฉบับนี้ต้องปรากฏในรูปแบบที่แปลกออกไปสักหน่อยนะครับ เพราะผมกำลังง่วนอยู่กับการเขียนต้นฉบับงานวิจัยระยะแรก คือ เรื่องพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เลยทำให้จำเป็นต้องพลิกสิ่งที่กำลังทำอยู่ในส่วนของเครื่องมือและวิธีการปรุงนำมาแปรออกมาเป็นเนื้อหาของบทความที่ต้องเขียนส่ง 101 ไปด้วย

รายงานวิจัยที่ผมต้องเขียน ผมได้รับมอบโจทย์จากท่านอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ผู้เป็นหลักของโครงการวิจัยนี้ที่สถาบันพระปกเกล้าฯ ให้ทุนมาทำ ว่าควรจะต้องมีเนื้อหาสักตอนที่แสดงถึงภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ คลุมช่วงเวลาของการเมืองไทยและการเมืองโลกอย่างน้อยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงต้นทศวรรษ 2490 และต่อมาหลังจากนั้นด้วยก็ได้ เพื่อทั้งผู้วิจัยและผู้อ่านงานวิจัยจะได้เห็นเงื่อนไขสภาวะที่เป็นอยู่ในช่วงต้นรัชกาล ก่อนที่งานวิจัยจะนำเสนอการวิเคราะห์ออกมาว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงก่อให้เกิดความแตกต่างอะไรขึ้นมาบ้างในทางการเมืองในฐานะพระมหากษัตริย์

แต่อาจารย์สมบัติท่านวางเงื่อนไขแก่ผมข้อหนึ่ง ท่านบอกว่า “อาจารย์ควรตั้งต้นที่งานของฝ่ายกระแสวิพากษ์ที่อ่านและตีความการเมืองไทย แล้วให้ดูว่าจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น หรือจากข้อมูลที่เขาเลือกใช้ หรือใช้แต่ใช้ไม่หมดนั้น เขาอ่านการเมืองไทยออกมาให้เห็นแบบไหน พวกกระแสวิพากษ์ส่วนใหญ่เป็นนักประวัติศาสตร์ แต่งานของเราเป็นงานทางรัฐศาสตร์ การอ่านการเมืองไทยของเรา ถ้าอ่านด้วยกรอบของรัฐศาสตร์ ผมเชื่อว่าเราจะเห็นอะไรที่ต่างออกไปจากการใช้ narrative ของนักประวัติศาสตร์แบบนั้นแน่ ดังนั้น เมื่ออาจารย์จะอ่าน ต้องให้ได้ออกมาแตกต่างจากเขา อาจารย์ลองไปหากรอบที่คิดว่าน่าจะใช้และเสนอมาดูนะ เราจะได้พิจารณากัน” ว่าแล้วท่านก็ยิ้มกริ่มตามสไตล์ของท่าน

เพราะมีเหตุจำเป็นจากเงื่อนไขยากที่กำกับโจทย์อยู่อย่างนี้แหละครับ ผมจึงต้องหาทางให้นัดเดียวที่ทำได้ผล ออกมาเป็นบทความส่ง 101 ได้ด้วย และได้งานตามที่อาจารย์สมบัติมอบหมายบัญชามาด้วย ขอให้พี่บ.ก. เห็นใจผมเถิด

และผมจะถือโอกาสนี้ขอความเห็นจากพี่บ.ก. ด้วยเสียเลยในฐานะคนอ่านงานสังคมศาสตร์มาหลากหลายสาขา ว่าจะดีไหม ถ้าผมจะแก้โจทย์ที่อาจารย์สมบัติวางเงื่อนไขไว้ อย่างนี้

ผมเห็นว่าถ้าจะต้องอ่านอะไรให้แตกต่างออกไปจากความเข้าใจที่มีอยู่ก่อนนั้น ผมอยากลองใช้หลักง่ายๆ เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้น

หลักที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เมื่อต้องอ่านข้อมูลข้อเท็จจริงชุดเดิม แล้วให้เห็นอะไรใหม่หรือแตกต่างออกไปจากที่คนอื่นอ่านไว้ ประการแรก เราน่าจะต้องอ่านด้วยคำถามที่เรามีในใจของเราเอง คือให้งานของนักประวัติศาสตร์รับใช้เราด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง แต่การตั้งคำถาม เราต้องเป็นคนตั้ง และตั้งให้แปลกออกไป และเป็นคำถามที่สัมพันธ์หรือส่ง-รับกับโจทย์ที่เป็นหัวข้อวิจัยของเรา

หลักอีกข้อหนึ่งที่ผมเตรียมจะใช้ตอบการบ้านของอาจารย์สมบัติคือ ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในสาขาวิชาของเราช่วยในการเปิดประเด็น ความจริงไม่มีสาขาไหนเป็นของผมหรอกครับ แต่ต้นสังกัดของผมเผอิญว่าเป็นรัฐศาสตร์ ซึ่งเขาก็มีแนวคิดและกรอบการวิเคราะห์จากทฤษฎีต่างๆ อยู่มาก รอให้เราหยิบไปใช้เปิดประเด็นเพื่อหาทางตอบคำถามที่เราตั้งได้ ตั้งแต่การปรับแนวคิดพื้นฐานทางรัฐศาสตร์มาใช้ ไปจนถึงการประยุกต์แนวคิดในทฤษฎีเรืองเวทย์วิเศษขลังที่เข้าใจยากมาเป็นกรอบการวิเคราะห์ ผมว่าแนวคิดที่เราเลือกนำมาใช้เปิดประเด็นเพื่อตั้งข้อสังเกต หรือเพื่อหาข้อเสนอและแนวทางอธิบายให้แก่คำถามที่เราตั้งนี้แหละครับ ที่จะช่วยเราให้อ่านแตกต่างออกไปได้จากงานที่มีอยู่เดิม และเปิดประเด็นใหม่ๆ ขึ้นมาได้

หลักข้อสุดท้าย (แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีเพียงแค่นี้ดอกนะครับ) ที่ผมว่าน่าลองเล่นกับมันดูว่าจะช่วยให้การอ่านของเราแตกต่างออกไปจากที่มีการอ่านกันมาได้แค่ไหน คือ การลองเปลี่ยนบริบทให้แก่การเมืองไทยที่เป็นหัวข้อการศึกษาในที่นี้ของเราเสียใหม่ ด้วยการขยับสเกลหรือเปลี่ยนย้ายระดับการวิเคราะห์ หรือเล่นกับการจัดและเปลี่ยนกรอบเวลาในการพิจารณา

มีเครื่องมือหลายอย่างในทางวิธีวิทยาที่ช่วยเราเปลี่ยนบริบทการพิจารณาใหม่ได้ เช่น เปลี่ยนการเทียบเคียงหรือเปรียบเทียบ เปลี่ยนหน่วยการวิเคราะห์หรือที่บางคนบอกให้เปลี่ยนมุมมองหรือเปลี่ยนลักษณะทางภววิทยาของหน่วยการวิเคราะห์เสียใหม่ หรือจะใช้การผสม-เชื่อมโยงระดับการวิเคราะห์หลายชั้นเข้าด้วยกันหรือเข้าหากันแล้วพิจารณาการส่งผลถึงกัน อาทิ การเชื่อมเหตุจากภายนอกแล้วโยงเข้ามาพิจารณาหาการส่งผลต่อภายใน หรือการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับรอบนอก-ชายขอบว่าส่งผลต่อกันอยู่อย่างไร เป็นต้น

ส่วนการเล่นกับกรอบเวลาทำได้หลายอย่างเช่นกัน เช่น เทียบผลการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดเร็วช้าในกรอบเวลาที่ต่างกัน หรือมีการพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอกันในเส้นเวลา เช่น การเปลี่ยนแปลงของความรู้และเทคโนโลยีที่ไปเร็วกว่าเพื่อน ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของความคิดจิตสำนึก กับการเปลี่ยนแปลงของนโยบาย สถาบันทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรม ไปได้ช้ากว่า หรือเกิดขึ้นช้าเร็วไม่สม่ำเสมอกันทั่วทั้งสังคม หรือเกิดในลำดับเวลาที่แตกต่างกัน เป็นต้น

ผมคิดว่าหลัก 3 ข้อที่ว่ามาน่าจะช่วยผมทำการบ้านได้ เลยจะทดลองนำมาใช้เปลี่ยนการอ่านการเมืองไทยหลัง 2475 เป็นตัวอย่างให้พี่บ.ก. พิจารณาดูก่อนว่าพอจะใช้ได้ไหม และถ้าพี่บ.ก. มีความเห็น ข้อเสนอแนะ/ทักท้วงประการใดเพิ่มเติม ผมก็จะได้นำไปปรับปรุง ก่อนที่ผมจะทำรายงานส่งอาจารย์สมบัติต่อไป ถ้าพี่บ.ก.ตกลงตามที่ผมขออนุมัติมานี้ ผมจะได้เริ่มลงมือ ขอบคุณพี่บ.ก.มากครับ

ศ.

 

**********************************

 

วันที่ …

สวัสดีหนูเปิ่น

ตีเหล็กควรต้องตีตอนกำลังร้อน

ผมคิดว่าโจทย์เมื่อวานที่อาจารย์สมบัติฯ มอบมาเกี่ยวกับงานวิจัยส่วนแรก ว่าให้ใช้งานประวัติศาสตร์ของสศจ. ธงชัย ชาญวิทย์ สุธาชัย และคนอื่นๆ ในสายนี้เป็นจุดตั้งต้น แล้วหาทางอ่านการเมืองไทยให้แตกต่างออกไปนั้น ผมคิดว่าไหนๆ ถ้าเราจะต้องตั้งต้นที่งานของปัญญาชนฝ่ายซ้ายเหล่านี้แล้ว เพื่อทำให้เราเลี่ยงไม่ต้องเล่าไล่เรียงเรื่องราวเหตุการณ์ออกมาแบบ chronicle ในเรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้ว หรือใครไม่รู้ก็ให้เข้าหาอ่านได้จากงานเขียนประวัติศาสตร์โดยตรง เช่นงานของอาจารย์ชาญวิทย์ ฯลฯ ผมว่าเราจะได้อะไรที่น่าสนใจออกมามากกว่า ถ้าตั้งต้นเรื่องของเราโดยใช้กรอบของเลนิน

การตั้งต้นที่เลนินมีข้อดีคือเขาให้กรอบวิเคราะห์กระแสประวัติศาสตร์เพื่อการวางยุทธศาสตร์ปฏิบัติการหรือการเคลื่อนไหวของขบวนการไว้ดีทีเดียว ที่จะมาสวมเข้ากับงานของฝ่ายซ้ายไทยกลุ่มข้างต้นได้ และตรงกับความคิดในใจของพวกเขาอันได้แก่ การคิดหาทางเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไทยไปสู่จุดหมายที่พวกเขาอยากเห็น และพวกเขาคงจะไม่ว่ากระไรนักเมื่อเห็นเราเอางานของพวกเขามาอ่านในกรอบของเลนินแบบนี้

แต่ขณะเดียวกัน กรอบเดียวกันนี้ของเลนินจะช่วยเราพลิกไปสู่การตั้งคำถามเปิดประเด็นไปอีกแบบหนึ่งได้ ที่จะพาเข้าหาโจทย์วิจัยของเราและแนวทางการเสนอคำตอบที่เราตั้งใจไว้ง่ายขึ้น การเปิด/เปลี่ยนประเด็นพิจารณาเสียใหม่ทำให้เราไม่ต้องไปติดอยู่ในการถกเถียงพัวพันตาม narrative ที่พวกเขาบางคนพยายามจะวางพล็อต แล้วเลือกใช้ข้อมูลเล่าเรื่องไปเพื่อชี้ว่าใครฝ่ายไหนคือตัวดีตัวร้ายในประวัติศาสตร์ เมื่อเอาความก้าวหน้าตามเป้าหมายปรารถนาของพวกเขาเป็นที่ตั้ง หรือพยายามถอดรื้อความทรงจำและความหมายที่จะให้บทเรียนและเปลี่ยนความเข้าใจประวัติศาสตร์ไปอีกแบบหนึ่ง การเข้าไปพัวพันแบบนั้นไม่จบโดยง่าย

เลยอยากให้หนูอ่านบทความนี้ของเลนินก่อนจะมาพบกันวันอังคารหน้า ถ้ารักจะเรียนรู้การใช้เครื่องมือในคลังการวิเคราะห์ของฝ่ายซ้าย “Under a False Flag” ก็มีอะไรให้พิจารณาได้มากทีเดียว อ่านมานะ แล้วจดประเด็นที่ได้มาคุยกันหน่อยว่าเห็นอะไรในนี้ ที่น่าจะเอามาใช้การในงานของเราได้บ้าง หนูเข้าไปอ่านได้ที่นี่  อ้อ เตรียมทำสำเนาให้สมาชิกคนอื่นๆ ในวงด้วยครับ

ศ.

 

*********************************

 

วันที่ …

หนูเปิ่น

ขอให้ข้อสังเกตแก่หนูเพิ่มเติมประกอบการอ่านบทความของเลนินอีกเล็กน้อย

หนึ่ง สำหรับงานการเมืองเปรียบเทียบที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมิติประวัติศาสตร์ และให้ความสำคัญแก่พลังทางสังคมหลากหลายกระแสที่ทำงานส่งผลอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลารอยต่อของยุคสมัยระหว่างการเปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์ทางสังคมแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง บทความนี้ของเลนินช่วยชี้ให้เราเห็นว่าควรตั้งคำถามอะไร และต้องดูที่จุดไหน เพื่อที่จะเห็นผลจากพลวัตที่พลังทางสังคมเหล่านั้นก่อให้เกิดขึ้น มองออกว่ารูปแบบปรากฏการณ์เช่น สงคราม หรือความขัดแย้ง มันไม่ใช่ว่าจะดีหรือไม่ดีเหมือนกันไปหมด รัฐประหารหรือการปฏิรูปก็เช่นกัน เราต้องแยกให้ออกว่าแบบไหนและฝ่ายไหนที่ก้าวหน้า แบบไหนหรือฝ่ายไหนที่เป็นปฏิกิริยาหรือพาถอยหลัง

รวมทั้งประเมินว่า ช่วงเวลาในแต่ละระยะนั้นเปิดความเป็นได้อะไรบ้าง วางข้อจำกัดต่างๆ ไว้อย่างไร เป็นบวกเป็นลบแก่ฝ่ายไหน ที่ผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองต้องพิจารณาและใช้ให้เป็นประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี การเลือกแนวร่วมของเขา และที่จะทำให้เขารู้ว่าจะหวังผลความสำเร็จในแต่ละระยะได้ถึงแค่ไหน

ขอฝากให้หนูลองคิดดูที่เลนินเขียนไว้ในบทความ เขาแบ่งช่วงเวลาของ the long 19th Century ออกเป็น 3 ยุค การแบ่งระยะของเขาและของพวกฝ่ายซ้ายไม่ใช่แค่แบ่งเพื่อความสะดวกในการเล่าความเป็นไปเฉยๆ

แต่เทคนิคสำคัญในการวิเคราะห์เชิงเวลาของเลนินอยู่ตรงที่ เขาเสนอให้พิจารณาว่าในแต่ละยุคนั้น ต้องมองให้ออกว่าใครหรือฝ่ายไหนชนชั้นไหนตั้งอยู่ในจุดที่เป็น “hub” ของยุคสมัยที่เป็นแกนกลาง 1) กำหนดสิ่งที่เป็นสารัตถะสำคัญของยุคสมัยให้แก่ปัจจุบันขณะของยุคนั้น  2) ใครหรือฝ่ายไหนชนชั้นไหนที่จะหมุนพัฒนาการของยุคสมัยที่จะเกิดขึ้นต่อจากนั้นไปสู่ทิศทางไหนในอนาคต และ 3) ใครหรือฝ่ายไหนที่จะกำหนดได้มากกว่าใครว่าอดีตและสถานการณ์ประวัติศาสตร์ลักษณะใดและอะไรบ้างที่มีความสำคัญต่อปัจจุบันและอนาคตของสังคมนั้น จากนั้นจึงตามดูว่าอะไรคือความขัดแย้งหลักที่สภาวะของยุคสมัยนั้นก่อให้เกิดขึ้นมา

ต่อเมื่อวิเคราะห์ลักษณะของยุคสมัยตามกรอบทั้งหมดนี้ออกมาได้ชัดแล้ว จึงจะสามารถวางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของการต่อสู้ได้อย่างถูกต้อง หรือถ้าพิจารณาอีกแบบคือดูว่ายุทธศาสตร์และการเคลื่อนไหวของฝ่ายไหนที่ดำเนินไปอย่างสอดคล้องหรือได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเงื่อนไขสถานการณ์ที่ปะทะสัมพันธ์กันอยู่ในช่วงเวลาแต่ละยุคนั้น

ดังนั้น ถ้าเราจะแบ่งยุคของการเมืองไทยหลัง 2475 โดยเอาโจทย์วิจัยของเราเป็นตัวตั้งบ้าง ให้หนูเตรียมคำตอบมาแลกเปลี่ยนกันหน่อยว่า เราควรแบ่งออกเป็นกี่ยุคดี แล้วงานของปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยจะช่วยให้เราตอบโจทย์ที่เลนินให้กรอบไว้สำหรับวิเคราะห์ลักษณะเด่นของช่วงเวลาแต่ละยุคได้อย่างไรบ้าง องค์ประกอบของลักษณะสำคัญๆ เหล่านั้นมีจุดกำเนิดทางประวัติศาสตร์มาอย่างไร แล้วเมื่อมันเดินมาในเส้นเวลาและการขึ้นลงที่แตกต่างกัน แต่เมื่อมันไหลมาบรรจบร่วมกันอยู่ในช่วงเวลานั้น มันสัมพันธ์ต่อกันในเงื่อนไขแบบไหน

เช่น ให้หนูดูกาลานุกรมหัวข้อต่างๆ ที่เราทำขึ้นมาเป็นไทม์ไลน์เส้นต่างๆ มาด้วย เส้นเวลาของพระราชกรณียกิจรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 ที่เกี่ยวกับการสร้างกลไกอำนาจรัฐสมัยใหม่ เมื่อแยกออกเป็นกิจการทหารและกองทัพด้านหนึ่ง กิจการบริหารแผ่นดินทางพลเรือนกฎหมายและเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งเป็นอุดมการณ์รัฐ หนูเห็นอะไรบ้าง ด้านไหนรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทำได้บริบูรณ์กว่าด้านไหน และเมื่ออดีตของพัฒนาการกลไกอำนาจรัฐไทยเป็นมาอย่างนั้น มันตั้งโจทย์ สร้างแรงจูงใจ หรือเปิดโอกาสและวางข้อจำกัดอะไรบ้างแก่คนที่เข้ามากุมอำนาจรัฐแทนที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือแก่ฝ่ายที่ต้องการสู้กับกลุ่มผู้ก่อการ

สอง อยากให้หนูสังเกตวิธีที่เลนินวางยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวโดยเอา cause และเป้าหมายปลายทางเป็นตัวตั้ง และความจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์สภาวะของพลังทางสังคมในระยะเวลาหนึ่งอย่างเป็นวัตถุวิสัยเพื่อจะมองให้ออกว่าพลังของฝ่ายไหนในสังคมกันแน่ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมาย ฝ่ายที่ก้าวหน้าในวันวาน พอมาถึงวันนี้อาจกลับกลายเป็นปฏิกิริยาขัดขวางเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงมากกว่าใครก็ได้ การกอดติดหรือภักดีอยู่กับฝ่ายนั้นโดยไม่ยอมเปลี่ยนหรือถอยห่างออกมา ไม่ได้ยึดกุม cause และเป้าหมายไว้ให้มั่น พวกนี้จะถูกเลนินชี้หน้าว่าทรยศต่ออุดมการณ์ไปเสียแล้ว

แต่เราจะไม่สนใจปัญหาแตกร้าวระหว่างเลนินกับมาร์กซิสต์คนอื่นๆ ที่ร่วมสมัยกับเขา เท่ากับการหาว่าฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ในแต่ละยุค ถือ cause อะไร ถืออะไรเป็นอุดมการณ์นำ มีอะไรเป็นเป้าหมายปลายทาง cause นั้น อุดมการณ์นั้น เป้าหมายปลายทางนั้น มีพลังในเชิงปฏิบัติการมากเพียงใดทั้งในแง่ 1) การผนึกความเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทางอุดมการณ์ภายในขบวนการระหว่างแกนนำของขบวนการด้วยกันเอง และระหว่างแกนนำกับสมาชิกระดับต่างๆ ของขบวนการ 2) พลังท้าทายในเชิงอุดมการณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประวัติศาสตร์ ประเพณี และศาสนาเป็นฐานที่มั่นเดิม 3) พลังในการระดมความสนับสนุนในสังคม และพลังในการใช้เป็นธงนำสำหรับให้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมใหม่และเปลี่ยนความคิดจิตสำนึกคนให้เป็นคนใหม่ มีมากน้อยแค่ไหน และปะทะกับกระแสต้านกระแสสนับสนุนในระดับโลกอย่างไรบ้าง

นี่คือกรอบการวิเคราะห์สภาวะของพลังทางสังคมในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่เลนินบอกว่าจำเป็นต้องมองให้ออกเพื่อจะได้วางยุทธศาสตร์ปฏิบัติการเป็นขั้นเป็นตอนได้โดยไม่ผิดพลาด และเราเป็นคนศึกษาภายหลัง ไม่ใช่คนในการเคลื่อนไหว จึงต้องอ่านการมองสถานการณ์และการเลือกวางยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ของแต่ละฝ่ายด้วย ไม่มองแต่เฉพาะของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถ้าหนูเคยอ่านแนววิเคราะห์ critical juncture ของ Lipset และ Rokkan หรือการเมืองเปรียบเทียบในลาตินอเมริกาของ Ruth Collier และ David Collier มา ก็คงมองออกว่าแนววิเคราะห์ของเลนินได้รับการสืบต่ออยู่ในงานของนักวิชาการรุ่นหลังเหล่านี้ แน่ละว่า พวกเขาไม่ยกเลนินมาอ้าง เพราะพวกนี้ไม่ใช่ปัญญาชนฝ่ายซ้าย

กรอบของเลนินนี้แหละ ที่เราจะพลิกมาพิจารณาในการเมืองไทยว่าใคร ฝ่ายไหน มองความเป็นไปได้ต่างๆ ที่ไหลรวมอยู่ใน critical juncture หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ออก และวางยุทธศาสตร์ในขั้นตอนต่างๆ ดำเนินการจนพลิกความเป็นไปได้ที่เขาต้องการจะได้ออกมาเป็น actuality ในที่สุด แล้วใครฝ่ายไหนทำไม่ได้ หรือทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ เพราะเหตุใด

แล้วพบกันวันประชุมอังคารหน้า

ศ.

 

************************************

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save