fbpx
ย้อนทางอ่าน ทางอ่านย้อน

ย้อนทางอ่าน ทางอ่านย้อน

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

สวัสดีครับขาล

ความจริงการสลับผสมเรียนกันทางไกลบ้าง เรียนในคลาสบ้าง ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน การถามการตอบกับหนูทางนี้พอจะมีเวลาให้ผมคิดทบทวนและเรียบเรียงความคิดได้บ้าง วิชาเอกัตถศึกษาของเราก็เอื้อให้ทำได้สะดวกดี  คำถามชุดหลังที่หนูถามผมมา…เอ๊ะ ผมเพิ่งสังเกตเดี๋ยวนี้เองว่าที่ผมจะเรียกหนูอย่างที่เคยเรียกไม่เหมาะเสียแล้ว ชื่อขาลจะมาเรียกเป็นหนูกระไรได้ ถ้าขืนเรียกหนูขาลต่อไป เสือก็เลยจะกลายเป็นหนูเสียนี่

ผมว่าผมใช้ ‘คุณ’ จะเหมาะกว่านะคุณขาล พอเรียกคุณขาล ก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาทันใด ผมก็แบบนี้ ติดโบราณจนเคย อภัยผมเถิด

ว่าต่อนะครับ คำถามชุดหลังที่ขาลถามผมมา บางเรื่อง เช่น ความหมายของ ‘ระเบียบ’ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งความหมายที่พบในทฤษฎีสำนักอังกฤษอย่างในงานของ Hedley Bull และของสำนักอื่นๆ ผมขอยกไปแถลงเมื่อเราพบกันในชั้นคราวหน้า เพราะเขียนแล้วจะยาว ไม่ทันได้ตอบเรื่องอื่นๆ เจอกันสัปดาห์หน้าให้ขาลถามผมทันที ถ้าไม่ถามแล้วเกิดผมลืมขยายให้ฟังก็โทษผมไม่ได้นะ

คำว่าระเบียบที่ขาลถามมาจัดเป็นคำใหญ่คำโตคำหนึ่งทีเดียวในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  คำว่า ‘โครงสร้าง’ หรือคำว่า ‘อำนาจ’ ก็แบบเดียวกัน คนพูดมักคิดว่าคนฟังเข้าใจความหมายเดียวกันกับที่ตัวเองใช้ แต่ความจริงเข้าใจกันไปคนละอย่าง เพราะมันมีหลายความหมายให้เข้าใจได้ โดยไม่จำเป็นว่าที่พูดกับที่ได้ยินจะต้องเข้าใจตรงกัน แถมบางทีคำที่พูดมาก็ถ่ายทอดสิ่งที่คิดไว้ออกมาได้ไม่หมด หรือไม่ก็พูดออกมาไม่หมดในสิ่งที่เห็นและคิดได้

ความยุ่งในโลกวิชาการบางทีมันก็มีที่มาเหมือนกับความยุ่งในชีวิตครอบครัวได้เหมือนกัน ขาลยังไม่ถึงเวลาจะรู้สัจธรรมในข้อหลังนี้หรอก แต่อีกสักหน่อยก็จะได้ซาบซึ้ง

จากรายงานความคืบหน้าการศึกษาด้วยตนเองที่ขาลส่งมาพร้อมกับคำถามชุดหลัง คุณดูจะติดใจ Martin Wight และทฤษฎีสำนักอังกฤษจริงๆ จึงถึงกับตะลุยอ่านมาตั้งประเด็นและเขียนคำถามถามมาแบบนี้ ก่อนผมจะตอบแลกเปลี่ยนความเข้าใจของผมให้คุณทราบ ผมอยากบอกข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ผมพบในรายงานความคืบหน้าที่ขาลส่งมา ซึ่งคุณอาจรู้อยู่แล้วก็ได้เพราะเป็นคนเขียนรายงานนั้นเอง นั่นคือ การเข้าหาความรู้ทฤษฎีสำนักอังกฤษของคุณนั้น คุณไม่ได้สนใจแต่เฉพาะทฤษฎีสำนักนี้หรือนักทฤษฎีในกลุ่มนี้ว่าใครว่าอะไรไว้อย่างไรเท่านั้น แต่คุณมาด้วยประเด็นในใจที่ตั้งมาก่อนที่จะมาจับงานทฤษฎีสำนักอังกฤษขึ้นอ่าน

และประเด็นในใจในส่วนของคุณตามที่ผมเห็น มาจากทฤษฎีการเมืองซึ่งคุณใช้มันมาเฟรมคำถามในการหาความรู้จากงานของสำนักอังกฤษ ตรวจสอบหาความหมายจากงานของทฤษฎีสำนักอังกฤษว่าตอบคำถามหรือเสนอความเข้าใจต่อปัญหาที่จัดเป็น perennial questions ต่างๆ ของทฤษฎีการเมืองอย่างไร หรือนักทฤษฎีสำนักอังกฤษจัดประเภทและตีความงานของนักคิดนักปรัชญาการเมืองอย่าง Luther  Hobbes หรือ Kant แตกต่างออกไปอย่างไรเมื่อเทียบกับงานในสายปรัชญาการเมือง  เมื่อเห็นการใช้ความรู้ด้านหนึ่งมาสอบทานกับความรู้อีกด้านหนึ่งเพื่อสร้างความรู้ของตัวเองขึ้นมาแบบนี้ ทำให้ผมต้องขอชม เพื่อจะบอกว่ามันเป็นวิธีหนึ่งที่ดีมาก และตั้งต้นมาได้ถูกทางแล้วตั้งแต่เริ่มแรก ขาลเหมาะจะทำงานวิชาการต่อไปได้ดีทีเดียวหากมีฉันทะจะทำงานด้านนี้

เมื่อบอกข้อสังเกตของผมแล้ว ทีนี้ผมจะขอตอบข้อสังเกตที่ขาลตั้งถามมาเกี่ยวกับทฤษฎีสำนักอังกฤษและความคิดของ Martin Wight บ้าง

ประการแรก ผมเห็นด้วยกับคุณที่ว่าน่าอ่านและน่าตรวจสอบดูใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับข้อเสนอของ Martin Wight ในบทความ ‘Why Is There No International Theory’ ที่มีคนอ่านคนอ้างกันมากที่สุดบทความหนึ่งในการศึกษาทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างที่คุณว่า คือมันออกจะ ironic อยู่ไม่น้อยที่บทความที่มีการอ่านการอ้างกันมากในวงวิชาการ IR นี้ได้ตั้งประเด็นเพื่อที่จะบอกและอธิบายว่า เพราะเหตุใดการศึกษาเกี่ยวกับสภาวะของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐจึงมีอยู่น้อย กระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ และที่มีอยู่นั้นก็ขึ้นไปไม่ถึงสถานะที่เป็นเลิศในระดับเดียวกับงานทฤษฎีการเมืองของนักคิดนักปรัชญาการเมืองคนสำคัญๆ ตั้งแต่ยุคโบราณมาจนถึงสมัยใหม่ ใครอ่านมาเห็นตรงนี้เข้า คงมีเหมือนกันที่อาจเปลี่ยนใจหันไปเรียนทางทฤษฎีและปรัชญาการเมืองแทนที่จะมาเรียนความสัมพันธ์และการเมืองระหว่างประเทศ

แต่ที่ออกจะ ironic ไม่แพ้กันก็คือในขณะที่ Wight เสนอในบทความนี้ของเขาว่า ถึงแม้งานทฤษฎีการเมืองหรือ political theory จะมีข้อเสนอที่ลุ่มลึกเพียงใด และบทสนทนาเพื่อที่จะตอบคำถามสำคัญเกี่ยวกับชีวิตที่ดีและสังคมการเมืองที่ดีมีการสานต่อกันมาขนาดไหนจากโบราณมาจนถึงสมัยใหม่  แต่ความรู้ความเข้าใจเหล่านั้นจากทฤษฎีการเมืองก็ไม่อาจจะนำมาใช้อธิบายโลกการเมืองระหว่างประเทศได้ เพราะการเมืองระหว่างประเทศเป็นแดนที่ไม่ได้มุ่งที่ชีวิตที่ดี แต่เป็นแดนที่ปัญหาความอยู่รอดเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด หรือจะพูดว่า ความรู้เพื่อการสร้างชีวิตที่ดีจะมาใช้แทนความรู้เพื่อการอยู่รอดไม่ได้ ว่าอย่างนั้นเถิด

แต่แล้ว ในการแบ่งขนบความคิดใน international theory ออกมาเป็น 3 กระแสใหญ่ๆ  Wight กลับใช้งานของนักคิดด้าน political theory คนสำคัญคือ Kant กับ Machiavelli และ Hobbes มาเป็นตัวแทนขนบความคิด 2 ใน 3 กระแสที่เขาจำแนกไว้ จะว่าเพราะ Saint-Pierre และ Richelieu ไม่โดดเด่นเป็นที่รู้จักพอที่จะนำมาใช้เป็นตัวแทนขนบความคิด international theory ได้หรืออย่างไร

แต่พอจัดขนบความคิดของ international theory กระแสหนึ่งว่าเป็นแบบ Hobbesian / Machiavellian และอีกกระแสหนึ่งว่าเป็น Kantian แล้ว ปัญหาที่ตามมาทันทีคือเมื่ออ่านลงไปในรายละเอียดที่อยู่ในขนบความคิดที่ตั้งไว้ภายใต้ชื่อ Hobbesian / Machiavellian ก็จะพบว่ามันมีอยู่หลายส่วนที่คนรู้จักงานของ Hobbes และงานของ Machiavelli ดีจะเพ่งเล็งด้วยความสนเท่ห์ใจ ว่า Hobbes หรือ Machiavelli ไม่ได้เสนออะไรไว้แบบนี้นี่นา อย่างเรื่อง state of nature กับ state of war ของ Hobbes นั้น ขาลลองไปดูเถิดว่าจริงๆ Hobbes เสนอไว้ว่าอย่างไร และพวก ‘Hobbesian’ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใช้ความคิดเรื่อง state of war อย่างเรียกได้ว่าตรงข้ามกับ Hobbes หรือไม่ ขนบความคิดในกระแส Kantian ที่ Wight เสนอออกมายิ่งแล้วใหญ่ ต้องเพ่งเล็งกันนานว่าส่วนไหนที่มาจาก Kant จริงๆ บ้าง

ส่วนอีกกระแสหนึ่งของ international theory ซึ่งขาลเองบอกมาว่าสนใจเป็นพิเศษ และผมก็เห็นด้วยกับคุณว่าเป็นขนบความคิดที่มีอิทธิพลและความสำคัญต่อการพัฒนาความคิดของสำนักอังกฤษเป็นพิเศษ  Wight ได้ใช้ Grotius นักคิดด้านกฎหมายระหว่างประเทศมาเป็นตัวแทนขนบความคิดกระแสนี้ หรือที่เขาเรียกอีกแบบหนึ่งว่าขนบความคิดแบบ rationalism โดยในบทความนี้ Wight ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณูปการต่อ international theory ที่มาจากความคิดด้านกฎหมายระหว่างประเทศไว้ด้วยว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจอะไรนัก เพราะ “International law seems to follow an inverse movement to that of international politics. When diplomacy is violent and scrupulous, international law soars in the regions of natural law; when diplomacy acquires a certain habit of co-operation, international law crawls in the mud of legal positivism.”

ถ้าเป็นดังเช่นที่ Wight ว่ามาข้างต้นนี้ เราควรตั้งคำถามไหมว่า ขนบความคิดแบบ Grotian หรือ rationalist จะให้ความรู้อะไรได้สักเท่าไรกันสำหรับ international theory ที่มุ่งหมายที่การเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างรัฐซึ่งถือการรักษาความอยู่รอดและความมั่นคงของรัฐเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุด

ดังนั้น ผมจึงเห็นด้วยกับขาลว่าควรอ่านบทความของ Wight บทนี้ใหม่ แต่การอ่านใหม่ของขาล ขาลจะอ่านอย่างไร?

ในระหว่างที่ขาลใช้เวลาคิดตอบโจทย์นี้จากการใช้ทฤษฎีการเมืองของมาคิอาเวลลี ของรุสโซ และของคานท์มาสอบทานกับความคิดทฤษฎีของสำนักอังกฤษ ผมมีข้อเสนอแนะวิธีอ่านอีกแบบหนึ่งให้ขาลพิจารณา เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไป อย่างนี้ครับ

ผมเรียกมันว่าการอ่านย้อนรอย

เรียกให้ฟังดูตื่นเต้นไปอย่างนั้นแหละครับ ความจริงเป็นการอ่านอย่างตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง เห็นอะไรแปลกก็ว่าแปลก เห็นอะไรหายไปก็ว่าขาด เห็นว่ามันน่าจะมีอะไรเราก็ลองเติมเข้าไป เห็นที่ควรทักท้วงก็ลองท้วงดู ท้วงแล้วก็คิดต่อจากจุดที่ท้วงนั้นออกไปว่าจะเจออะไรเข้าอีก เพราะความคิดมันมักเชื่อมกันเป็นลูกโซ่

อย่างในงาน Common Sense ของโธมัส เพน ที่เพิ่งมีการแปลออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ขาลคงหาอ่านได้ไม่ยาก และเป็นหนังสือน่าอ่านเล่มหนึ่ง คนแปลก็แปลไว้อย่างดี หนังสือเล่มนี้ควรอ่านควบคู่กับงานของ Albert Hirschman เล่ม Rhetoric of Reaction ซึ่งเฮิชแมนนำเสนอโวหารโต้แย้งของฝ่ายอนุรักษนิยมที่เป็นปฏิกิริยาต่อความก้าวหน้า งานของเพนจะให้ตัวอย่างที่ดีว่าโวหารของฝ่ายก้าวหน้าเป็นอย่างไร ขาลอ่านแล้วถ้านึกสนุกก็ลองจัดประเภทโวหารของฝ่ายก้าวหน้าออกมาเทียบกับโวหารของฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างที่เฮิชแมนทำ และส่งมาให้ผมอ่านบ้าง

ส่วนผมจะชี้ในงาน Common Sense เป็นตัวอย่างให้ขาลเห็นการอ่านย้อนรอยแบบหนึ่ง ในนั้นขาลจะเห็นการแบ่งระหว่าง เรา ประชาชนพลเมืองอเมริกันกับพวกเขาในฝ่ายเกรทบริเตนและกษัตริย์อังกฤษตลอดทั้งเล่ม และเพนวาดให้เราเห็นความอัปลักษณ์นานาประการของพวกเขา ในขณะที่ เรา เป็น “ผู้รักมนุษยชาติ ผู้กล้าคัดค้านทั้งระบอบเผด็จการและผู้ปกครองทรราช”

แต่เราที่ว่านี้ เราที่เป็นคนอยู่บนผืนแผ่นดินอุดมของอเมริกานี้ เพนจะรวมถึงทาสผิวดำและคนอินเดียนแดงด้วยหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ ขาลอ่านตลอดทั้งเล่มนี้แล้วลองมองหาให้ผมสักหน่อยว่าพบการกล่าวถึง ‘นิโกร’ และ ‘อินเดียนแดง’ ไว้ตรงไหน และในแบบไหน เพนยังพูดถึงความชั่วร้ายไร้สาระของระบบการสืบทอดทางสายเลือดว่ามันเป็นการ ‘ดูแคลนมนุษย์’ เป็น ‘ความอยุติธรรม’ ที่ทำให้ “สิทธิของคนรุ่นต่อไปในอนาคตทั้งหมดถูกพรากไปสิ้น”

แน่นอนว่าเพนไม่ได้พูดถึงความชั่วร้ายของระบบทาสที่อาศัยการสืบทอดจากพ่อแม่สู่ลูกหลาน  แต่เพนกำลังกล่าวโจมตีระบอบกษัตริย์ แต่ผมอ่านแล้วก็อดคิดถึงส่วนที่ขาดหายไปไม่ได้ว่า ขณะที่เขาเขียนถึงความชั่วร้ายของระบบสืบทอดทางสายโลหิตเขาจะคิดถึงเรื่องทาสบ้างหรือไม่ ถ้าคิด แต่ไม่ได้นำมากล่าวถึง มุ่งระดมแต่ ‘เรา ผู้รักมนุษยชาติ’ ให้ลุกขึ้นสู้กับจักรวรรดิอังกฤษ เราที่ว่านี้จึงยังพรางความขัดแย้งชั่วร้ายภายในที่ดำรงอยู่ไว้มาก แต่เขาจำเป็นต้องสร้าง ‘เรา’ ที่มีเอกภาพขึ้นมาก่อนเพื่อสู้กับศัตรูที่เขาเห็นว่าร้ายกาจมากกว่า

และเมื่อเป็นดังนั้น ‘กษัตริย์ในอเมริกา’ ของเพน ซึ่งคือกฎหมาย และ ‘เรา, ประชาชน’ ในคำประกาศอันมีชื่อเสียงตลอดมานั้นความจริงแล้วยังต้องผ่านกระบวนการอันยาวนานเหมือนกันกว่าที่คนบนแผ่นดินอเมริกาจะเกิดความเสมอภาคทั่วหน้ากันต่อหน้ากฎหมายที่เป็นกษัตริย์ของพวกเขา และได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายบนมาตรฐานอย่างเดียวกันตลอดทั่วทั้งดินแดน

งานของเพนที่ปลุกคนในอาณานิคมอเมริกาลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราชเป็นอิสระจากอาณัติกฎหมายของเกรทบริเตนที่ไม่ให้ความเสมอภาคและไม่ให้ความคุ้มครองเป็นมาตรฐานเดียวกันกับ ‘ประเทศแม่’ แก่ชาวอาณานิคม ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า ตราบเท่าที่มหาอำนาจตะวันตกยังมีเมืองขึ้นและปกครองคนและดินแดนเมืองขึ้นอยู่ในเขตอธิปไตยของตน ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าประเทศเหล่านี้มี rule of law นอกจากว่าเราจะทำเป็นมองไม่เห็นคนในบังคับที่ถูกปกครองด้วยมาตรฐานกฎหมายอีกแบบหนึ่งต่างจากกฎหมายสำหรับพลเมืองของ ‘ประเทศแม่’ การต่อสู้เพื่อเป็นเอกราชของคนในเมืองขึ้น จึงเท่ากับเป็นการต่อสู้เพื่อให้ประเทศเจ้าจักรวรรดิเหล่านี้มีโอกาสได้ปกครองตามหลัก rule of law อย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งก็คือเมื่อไม่นานมานี้เอง

เมื่อขาลเห็นการพิจารณาแบบแบ่งข้างเข้าที่ไหน ที่เขาแบ่งกันเพื่อใช้ข้างหนึ่งเป็นมาตรฐานให้แก่อีกข้างหนึ่ง ใช้ข้างหนึ่งเป็นตัวเทียบสภาพปกติ ตั้งมั่น หรือก้าวหน้า เพื่อชี้ให้เห็นอีกข้างว่าไม่ปกติ มีความผันผวนไม่คงที่ หรือมีแต่ซ้ำรอยเดิมไม่ก้าวหน้าไปข้างไหนเลย ก็ควรจับมันส่องกระจกแล้วอ่านสลับด้านหรือสลับทางกันดู หรืออย่าทิ้งข้างแรกไว้นิ่งๆ เพียงเพื่อที่จะใช้มันเป็นตัวเทียบ เหมือนที่ Wight ทำกับ political theory ในบทความนั้นของเขาแล้วดูแต่ความเคลื่อนไหวในอีกข้างหนึ่งคือ international theory เพื่อที่จะบอกว่ามันขาดหนึ่งสองสาม หรือมันยังไปไม่ถึง มันยังวกวนไม่ก้าวหน้า หรือถึงขั้นเสื่อมทราม

การอ่านย้อนรอยคือเราควรหันมาลองทำอย่างเดียวกันนั้นกับด้านที่ถูกตั้งไว้นิ่งๆ เพื่อเป็นมาตรฐานนั้นดูบ้าง ซึ่งในกรณีการแบ่งเทียบเป็นสองฝ่ายของ Wight ก็คือด้าน political theory เพื่อให้เห็น -ผมขอใช้คำใหญ่กับขาลตรงนี้นะ- กระบวนการทางประวัติศาสตร์ของมัน

เมื่อพิจารณากระบวนการทางประวัติศาสตร์ของตัวเทียบมาตรฐานก็เป็นโอกาสพิจารณาว่าข้างหนึ่งเกิดขึ้นได้ก็เพราะเงื่อนไขที่มาจากอีกข้างใช่หรือไม่ และเมื่อเป็นอย่างนั้น เมื่อข้างนี้เป็นอย่างนี้มันก็สร้างอีกข้างขึ้นมาแบบที่เห็น ถ้าข้างแรกกลายเป็นมาตรฐานขึ้นมาเพราะความก้าวหน้า แล้วพบว่าอีกข้างหนึ่งตกอยู่ในเงื่อนไขที่ช่วยสร้างความก้าวหน้าที่สร้างความเป็นมาตรฐานนั้นขึ้นมา แล้วเราจะว่ามันไม่ใช่ความก้าวหน้าไม่ได้มาตรฐานอย่างไรในเมื่อมันก่อตัวขึ้นมาด้วยกัน ด้านหนึ่งเป็นเหตุและอีกด้านเป็นฝ่ายรับผลของกระบวนการอันเดียวกัน ขาลอาจหาตัวอย่างการอ่านแบบนี้ได้ในงานอธิบายการพัฒนารุ่นเก่าของพวก dependency theory หรือลองมองหาในงานของพวกหลังอาณานิคมอ่านดู

Benedict Anderson เคยเขียนบทความหนึ่งเกี่ยวกับอินโดนีเซีย อาจารย์ตั้งชื่อตามกรอบการวิเคราะห์ที่อาจารย์ใช้ว่า ‘Old State, New Society’ ชื่อบทความนี้และกรอบการวิเคราะห์นี้ อาจารย์ตั้งล้องานก่อนหน้านั้นของพวกศึกษาการพัฒนาการเมืองเป็นสมัยใหม่ในเอเชียและแอฟริกาที่ Clifford Geertz รวบรวมไว้ในหนังสือที่เขาเป็นบรรณาธิการด้วย หนังสือนั้นชื่อว่า ‘Old Societies and New States’ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการอ่านย้อนรอย ย้อนแบบอาจารย์แอนเดอร์สันย้อนนี้ ก็จะเห็นว่าอะไรๆ ที่เห็นว่าเป็นปัญหาของรัฐสมัยใหม่ บางทีปัญหาอยู่ที่เราเองไปจัดประเภทมันผิด พอมองมันเป็นรัฐเก่าเป็นระบอบเก่า ก็จะหายแปลกใจ แต่ที่น่าแปลกใจกลับจะเป็นว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงมาเป็นสมัยใหม่มาเป็นระบอบใหม่อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว แต่กลับใช้แนวทางของระบอบเก่าสืบต่อมา หรือไม่อาจสร้างองค์ประกอบอันควรจะมีของระบอบใหม่ขึ้นมาได้นี่สิ ที่น่าตั้งคำถาม

ฝากขาลลองพิจารณาดู

ศ.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save