fbpx
ไปเป็นอนุรักษนิยมไทยในวงอ่านหนังสือ

ไปเป็นอนุรักษนิยมไทยในวงอ่านหนังสือ

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

กลุ่มอ่านวงหนึ่งตั้งขึ้นมาเพราะสมาชิกคิดว่าอ่านคนเดียวไม่สนุกเท่ากับมีเพื่อนอ่านด้วยกัน เหมือนดูหนังดูละคร ถ้าดูแล้วมีใครมาคุยด้วยได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ก็จะทำให้การดูนั้นออกรสยิ่งขึ้น นอกจากจะมีเรื่องกระชับมิตรให้หลีกหนีจากกิจวัตรประจำวันที่ไม่มีอะไรน่าพูดถึงมากนักแล้ว ยังซาบซึ้งแจ่มแจ้งขึ้นมาอีกว่า เรื่องราวและการแสดงที่ปรากฏขึ้นมาให้ชมบางทีก็สร้างผลแก่คนดูแตกต่างกันไม่น้อย และพอได้รู้ถึงความแตกต่างจากการพูดคุย ก็พาให้เราเห็นในสิ่งที่ไม่ได้มองหรือนึกไปไม่ถึง ช่วยขยายมุมมองของสายตาให้นำสิ่งที่เห็นมาสัมผัสใจได้ละเอียดขึ้น

หนังสือกับคนอ่านก็ให้ผลแบบนั้น เราแต่ละคนอ่านเหมือนกันก็จริง แต่อ่านได้ผลไม่เหมือนกัน หรือตัวเราเอง พอเวลาผ่านไป เมื่อกลับมาอ่านเล่มเดิมซ้ำใหม่ ก็ยังเห็นไม่เหมือนเก่า

ในกลุ่มอ่านกลุ่มนี้ สมาชิกจะสลับคนพูดเปิดประเด็นกับคนเสนอหนังสือในแต่ละรอบเป็นคนละคนกัน เพื่อให้คนแรกพูดนำและคนหลังเสนอต่อ จะต่อแบบตามหรือจะแยกสายไปอีกทางก็แล้วแต่ ไม่มีห้าม ส่วนคนอื่นๆ ฟังแล้วเห็นต่อเห็นต่างอย่างไร หรือจะมีเรื่องเล่าแทรกมีประเด็นอะไรเสริมต่อจากคนทั้งสอง ก็เล่าให้กันฟังหรือออกความเห็นมาแลกเปลี่ยนกัน มีอาหารว่างและขนมผสมน้ำชากาแฟช่วยชูรสประกอบบ้างทุกครั้งไป

การเลือกหนังสือของวงนี้ไม่ได้วางข้อกำหนดตายตัว จะเป็นเรื่องแต่ง ประวัติชีวิต บทสนทนาสัมภาษณ์ สารคดี หรืองานวิชาการก็ได้ สมาชิกในวงพอจะรู้ขอบข่ายความสนใจของกันจนเลือกเรื่องหรือเล่มที่คิดว่าดึงความสนใจที่อ่านด้วยกันได้สนุก รวมทั้งรู้ความใฝ่ใจที่จะไต่ระดับถึงขั้นไหน นั่นคือบางเล่มที่แม้คนเลือกเห็นว่าน่าสนใจ แต่เมื่อคิดว่าจะทำให้สมาชิกในวงยาก เหนื่อยหรือเบื่อเกินไป ไม่อดทนอ่านต่อ หรืออ่านไม่ทันภายในกำหนดนัด ก็จะไม่เลือกเรื่องนั้นหรือเล่มนั้นมา สมาชิกวงนี้ให้ความอยากมาเจอกันเป็นตัวกำหนดการเลือก แต่โดยวิธีนี้ก็ช่วยให้พวกเราแต่ละคนมีโอกาสอ่านเรื่องแปลกแตกต่างออกไปจากที่อ่านปกติ

หรือบางทีคนเลือกก็เลือกเล่มที่รู้ว่าสมาชิกทุกคนเคยอ่านหรือเคยถูกบังคับให้ต้องอ่านมาแล้วแน่ ๆ อย่างนั้นก็จะสนุกไปอีกแบบ เพราะการแลกเปลี่ยนในวงเสวนาจะถามกันว่าในรอบหลังที่อ่านนี้ใครเจออะไรต่างจากที่พบในรอบแรกบ้าง ข้าพเจ้าชอบเสวนานัดที่มาจากการได้อ่านซ้ำแบบนี้มากเพราะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง แต่ปีหนึ่งจะมีแบบนี้อย่างมากก็สักครั้งเท่านั้น เพราะสมาชิกมีเรื่องรออ่านและที่อยากอ่านรออยู่หลายเล่ม

สมาชิกในวงมาตั้งข้าพเจ้าไว้ในฝ่ายอนุรักษนิยมไทย เวลาที่อยากอ่านงานหรืออยากได้ความเห็นของฝ่ายนี้ ก็จะหันมาถามข้าพเจ้าว่า อาจารย์ว่าอย่างไร งานเล่มไหนน่าอ่าน หรือฝ่ายอนุรักษนิยมเห็นแบบไหน ข้าพเจ้าไม่แน่ใจสักทีว่าที่ได้ว่าได้เสนอไปหลายรอบหลายคราวแล้วนั้นเป็นตัวแทนความคิดความเห็นแบบอนุรักษนิยมไทยได้สักกี่มากน้อย ส่วนสมาชิกในวงคนอื่นไม่มีใครสมัครใจเป็นอนุรักษนิยม ไม่ว่าไทยหรือเทศ เราจึงมีความหลากหลายในวงประมาณหนึ่งให้อ่านแย้งกัน ถ้าไม่แย้ง ก็ยั่วให้แย้ง แต่ไม่แย้งแบบเป็นตำรวจตรวจความคิด แบบตรวจความถูกต้องทางการเมืองโดยเอาตัวเองเป็นมาตรวัดศีลธรรม หรือแบบจับผิดเพื่อเตรียมคิดบัญชี เห็นแบบนั้นเข้าที่ไหน คนที่ถูกตั้งให้เป็นอนุรักษนิยมไทยอย่างข้าพเจ้านึกถีงเนี่ยหยวนจื่อกับคนที่ถูกจับคล้องป้ายขึ้นรถแห่สมัยปฏิวัติวัฒนธรรมทุกที  ในเรื่องนี้ ข้อดีที่เราพบในภายหลังของวงอ่านที่ตั้งขึ้นมา คือ การได้ออกมาอยู่นอก echo chamber ซึ่งไม่ได้หมายถึงในโซเชียลมีเดีย แต่เป็นความคิดในตัวเรานี่เอง

ในการพบกันคราวล่าสุด ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นทั้งคนนำเสวนา และคนที่เลือกหนังสือ จึงนั่งฟังคนนำเสวนาและคนเลือกหนังสือเขาคุยนำประเด็นกันไปจนจบ  เรื่องที่เลือกมาอ่านเป็นงานนักวิชาการสังคมศาสตร์ฝ่ายอนาธิปัตยนิยมเจ้าของแนวคิดเรื่อง public transcripts / hidden transcripts คนสนใจศึกษาการเมืองของการต่อต้านอำนาจจากฝ่ายผู้ไม่มีอำนาจไร้สิทธิ์ไร้เสียงจะรู้จักการเมืองแบบที่เขาเรียกว่า infrapolitics ดี

ข้าพเจ้าคุ้นแต่งานสมัยแรกที่เขาศึกษาเศรษฐกิจการเมืองแบบ moral economy ของสังคมชาวนาในเวียดนามและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต่อมาก่อให้เกิดวิวาทะกับ Samuel Popkin ที่เสนอให้มองชาวนาเป็น rational peasant พอเขาย้ายขึ้นจากที่ราบมาศึกษาคนบนภูสูงเปลี่ยนแนวทางศึกษาใกล้เข้ามาในสาขามานุษยวิทยาและความคิดออกแนวอนาธิปัตยนิยมมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ตามใกล้ชิด  พอมีสมาชิกในวงเสนอให้อ่านงานของเขา  ข้าพเจ้าจึงถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้ทำความรู้จักความคิดและผลงานสมัยหลังเกี่ยวกับอนาธิปัตยนิยมของนักวิชาการที่เขียนเรื่องศิลปะของการต่อต้านและอาวุธของผู้อ่อนแอ จากประสบการณ์ของคนเล็กคนน้อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีคนมาช่วยนำเสวนาทำความเข้าใจ ไม่ต้องคลำทางโดยลำพัง

ประเด็นความรู้ แง่คิด และความเห็นต่างๆ ที่ข้าพเจ้าได้จากวงอ่านนี้แต่ละเรื่องน่าฟัง และก็น่าเก็บความมาเล่าต่อ สมาชิกในวงก็รู้ว่าข้าพเจ้าชอบบันทึกและเขียนเล่าอะไรต่ออะไรประจำวันไปเรื่อย  แต่กติกาของวงตั้งไว้มีอยู่ข้อหนึ่งเป็นข้อสำคัญ คือให้การนำเสนอและความเห็นของแต่ละคนอยู่ภายในวง ไม่เอาไปเล่าขยายต่อที่ไหน  ถ้าใช้คำของ James C. Scott คือให้ถือเป็น Hidden Transcripts  เพราะทุกคนแม้จะต่างกันในเรื่องไหนก็ตาม  แต่ที่เป็นวงอยู่กันมายั่งยืนก็เพราะทุกคนเหมือนกันในทางเป็นนักอ่านที่รักความสงบ  พอข้าพเจ้าบอกว่าจะเล่าถึงวงอ่านแบบนี้ สมาชิกพร้อมใจกันบอกว่า อย่าลืมกติกา

แต่เล่ามาถึงตรงนี้แล้วจะตัดจบเลยก็ใช่ที่ และกองบรรณาธิการ 101 คงไม่ลงเรื่องให้ จึงขอเล่าต่ออีกสักหน่อยพอให้บทความที่เขียนมีเกร็ดมีเนื้อเพิ่มขึ้นบ้าง

เราอ่านงานของ Scott ที่สมาชิกในวงเลือกมาเพื่อพิจารณาความคิดของฝ่ายอนาธิปัตยนิยม ในขณะเดียวกับที่สถานการณ์การเมืองกำลังอยู่ในบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของเขาพอดี นั่นคือ Domination and the Arts of Resistance[1]  เราไม่ได้อ่านเล่มนี้แต่สมาชิกคนที่ชำนาญก็พูดถึงข้อเสนอในนั้นด้วย  เมื่อมาถึงรอบความเห็นของคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นตัวหลัก ใครสักคนในวงพูดถึงความคิดเรื่อง infrapolitics ของ Scott ขึ้นมาอีก  พอฟังที่เขาว่าแล้ว คงเพราะความเป็นอนุรักษนิยมไทยตามที่สมาชิกในวงแต่งตั้งให้ข้าพเจ้ากระมัง ข้าพเจ้าไพล่ไปนึกถึงคนไร้อำนาจที่อยู่วัง ว่าท่านก็ทรงรู้จักเล่นต่อต้านการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจในแนว infrapolitics แบบที่ Scott ว่าไว้เหมือนกัน วังของท่านผู้นี้อยู่ที่ถนนประมวญ

แต่ก่อนที่จะเล่าเกร็ดเกี่ยวกับ infrapolitics ของ น.ม.ส.  ให้ข้าพเจ้าเล่าอะไรสักหน่อยเกี่ยวกับการใช้อำนาจในการเปลี่ยนแปลงจากคำบรรยายของ James N. Rosenau ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้ล่วงลับก่อนนะครับ

การจะดูว่าคนที่มีอำนาจคิดการใหญ่กับอำนาจ domination ที่มีแค่ไหน James Rosenau เคยแนะให้คนที่เรียนกับท่านในชั้นเรียนหนึ่งที่ USC ว่า ให้ดูว่าเขาใช้อำนาจที่มีนั้นเข้าไปจัดการกับอะไร ซึ่งอาจารย์แยกออกมาให้พิจารณา ระหว่างสิ่งที่ท่านเรียกว่า variables กับ parameters

Variables ในความหมายที่ Rosenau ใช้ในที่นี้คือสิ่งที่แปรเปลี่ยนได้เป็นปกติ เช่น นโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ เครื่องมือ แนวปฏิบัติ การจัดโครงสร้างองค์กร อำนาจหน้าที่ ตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง ความคิด ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และถ้าเทียบส่วนที่เป็น variables เป็นส่วนที่ไหลเลื่อนอยู่ในกระแสการเมืองที่เกิดขึ้นประจำ ส่วน parameters ในความหมายของ Rosenau ก็เป็นเหมือนฝั่ง เป็นเหมือนทำนบหรือกรอบขอบเขตของกระแสนั้น ที่เป็นตัวให้ความต่อเนื่อง รักษาความคงรูปคงลักษณะให้อยู่ตัวตั้งมั่น หรือวางแนวให้การเปลี่ยนแปลงในส่วน variables นั้นมีเส้นทางและมีทิศทาง

Parameters ที่อาจารย์ Rosenau ยกมาแสดงให้นักเรียนในชั้นของท่านเห็นว่าสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการตั้งอยู่เป็นสังคม คือหลักความเป็นเจ้าของในการเข้าถือครอง การรักษา การใช้ การจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สิน หรือสั้นๆ คือเรื่องการจัดหลักระหว่างของกลาง ของส่วนรวม ของหลวง ของใช้ร่วมกัน กับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนตัว parameters ของสังคม feudal ในเรื่องการใช้และการถือครองทรัพย์สินตั้งไว้อย่างหนึ่ง และดำรงอยู่มาช้านาน การเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ถือเป็นการเปลี่ยนหลักมูลในการจัดความสัมพันธ์ทางสังคม feudal เลยทีเดียว และยุโรปก็ใช้เวลายาวนานกว่าที่ parameters ของสังคม feudal จะเปลี่ยนระบบกรรมสิทธิ์มาเป็นแบบทุนนิยมอย่างที่เราเห็น การเปลี่ยนเรื่องนี้ในเวลาอันรวดเร็วจะเป็นไปได้ ท่านว่าไม่ใช่รอให้หลัก dialectic ทำงานผลิตทุนนิยมและวิกฤตเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวมันไป แต่จะเปลี่ยนกันได้ต้องอาศัยการปฏิวัติสังคมโดยพรรคปฏิวัติจัดตั้งขึ้นมาเหมือนกับที่เกิดขึ้นในรัสเซียและจีน

อาจารย์ว่าการปฏิวัติอเมริกันก็เปลี่ยน parameters ในทางการเมือง เช่นเดียวกับ decolonizationในเวลาต่อมา คือเปลี่ยนอำนาจปกครองและรูปแบบการปกครอง แต่ในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกือบทุกแห่งก็ยังไม่ได้แตะเรื่องการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ในอเมริกาทาสยังคงมีต่อมา หัวข้อใหญ่ของการทำความเข้าใจการเมืองระหว่างประเทศนอกจากจะดูที่การขยายตัวของรัฐอธิปไตยและการเมืองการปกครองประชาธิปไตยไปสู่ส่วนอื่นๆ ของโลก ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยน parameters ของการเมืองในทุกแห่งแล้ว ยังต้องตามดูว่าการวางแนวกั้นในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลให้เป็น parameters ที่ตั้งมั่นสำหรับการผลิต การค้า การลงทุน และการทำกำไรและถ่ายโอนผลตอบแทนสินทรัพย์ข้ามพรมแดน เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ มากระทบกระเทือนใน parameters ส่วนนี้ได้ เขาทำกันอย่างไร

โดยเหตุที่การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ในทางการเมืองจะไม่เป็นการมารื้อเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเหมือนการปฏิวัติใหญ่  ท่านจึงจัดเรื่องหลักกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นหนึ่งใน parameters ของการเมืองร่วมกับการจัดอำนาจปกครองในรูปรัฐอธิปไตย และระบอบการเมืองการปกครองที่อธิปไตยเป็นของปวงชน  และถือว่าใครที่มีอำนาจและคิดใช้อำนาจในทางที่จะเข้ามาเปลี่ยนสิ่งที่จัดเป็น parameters เหล่านี้ ให้ถือว่าเป็นผู้คิดการใหญ่ในเรื่องการใช้อำนาจ

คนคิดการใหญ่ในระดับเปลี่ยน parameters แม้จะมีอำนาจในมือในการเปลี่ยนแปลงอยู่มากเท่าใดก็ตาม แต่การเปลี่ยนสิ่งที่เคยเป็น parameters ของสังคมมานานไม่ใช่เรื่องง่าย อาจารย์กำหนดงานของ Arno J. Mayor เรื่อง The Persistence of the Old Regime ให้อ่าน รวมทั้ง Machiavelli เพื่อชี้ว่าคนที่คิดการใหญ่กับอำนาจในการเปลี่ยนแปลง เขาก็จะต้องเผชิญกับความยากลำบากและการถูกต่อต้านมากเช่นกัน และการต่อต้านก็มาในหลายรูปแบบ และในที่สุดแล้ว ฝ่ายต่อต้านหรือพลังในการต้านทานก็อาจประสบความสำเร็จในการนำ parameters เดิมกลับคืนมา ส่วนงานของ Scott เป็นงานที่ศึกษาจากฝ่ายต่อต้านอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางและกลวิธีต่อต้านแบบต่างๆ ที่ผู้ไร้สิทธิ์ไร้เสียงจะใช้เป็นอาวุธได้ และหนึ่งในนั้นคือ infrapolitics หรือ infrapolitical action

ทีนี้ infrapolitics คือการเมืองแบบไหน?

เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เปลี่ยนจากการเล่าแบบเกร็ดความรู้กลายเป็นบทความวิชาการ ข้าพเจ้าขอใช้นิยาม infrapolitics จากบทสัมภาษณ์ Scott เมื่อไม่นานมานี้ บทสัมภาษณ์ใน theconversation.com: ‘When the revolution becomes the State it becomes my enemy again’: an interview with James C. Scott[2]  จั่วหัวเรื่องสมกับเป็นบทสัมภาษณ์นักอนาธิปัตยนิยม Scott กล่าวถึง infrapolitics ไว้อย่างเข้าใจง่าย ดังนี้

…infrapolitics are politics that never declare itself publicly which is why it is successful. Let’s look at the military. There is a difference between desertion and mutiny. Desertion is just the act to leave. Mutiny is open opposition to power, direct confrontation. Desertion is below the level to any public claim. That’s infrapolitics. In that order, I argue that for most people dealing with authoritarianism, where taking public actions become dangerous or even fatal, infrapolitics are politics.

ถึงตอนนี้ ก็ได้จังหวะย้อนกลับไปเล่าถึงท่านผู้เป็นเจ้าของวังประมวญ ว่าในสมัยท่านและเจ้านายพระองค์อื่นกลายเป็นคนไร้สิทธิ์ไร้เสียงตามรัฐธรรมนูญ 2475 นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านก็ทรงเคยเลือก infrapolitics เป็นแนวทางในการต่อต้านการใช้อำนาจ ที่ท่านไม่ทรงเห็นด้วยมาแล้วเหมือนกัน และเรื่องนี้เกี่ยวกับการใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงภาษาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ในทางภาษา ถ้าใช้การจำแนกของ Rosenau ข้างต้นระหว่าง parameters กับ variables เราก็จะเห็นว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ท่านมีอำนาจสูงสุดในประเทศนี้ เมื่อท่านคิดใช้อำนาจรัฐเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม โดยภาษาเป็นส่วนสำคัญที่ท่านต้องการเปลี่ยนแปลง ท่านไม่ได้ใช้อำนาจสั่งการเปลี่ยนแต่เฉพาะการใช้ถ้อยคำ ที่เป็น variables เช่น คำสรรพนามหรือคำลงท้ายในเวลาพูดเท่านั้น การเปลี่ยนของภาษาในส่วนถ้อยคำที่ใช้พูดกันประจำวันนี้ ถึงไม่มีอำนาจสั่งการแบบ topdown อย่างที่ท่านจอมพลสั่ง ภาษาก็มีเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว  ดังจะเห็นได้จากระยะหลังๆ คำใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างคึกคักมาก โดยเฉพาะคำที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออก ทั้งที่เป็นการกระทำและความรู้สึกนึกคิดต่างๆ  และตามที่ข้าพเจ้าได้ยินมา จะถูกหรือผิดอย่างไรไม่แน่ใจ คำใหม่ๆ หรือวิธีเขียนวิธีพูดคำเดิมในความหมายใหม่ๆ ในภาษาไทย จำนวนมากเกิดมาจากแวดวง LGBT และได้การสื่อสารในโซเชียลมีเดียช่วยให้แพร่หลาย  ถ้าท่านจอมพลมาเห็นว่าภาษาไทยกลายเป็นภาษาที่การใช้และการแปรเปลี่ยนถ้อยคำไม่ได้ถูกผูกขาดโดยนักปราชญ์ราชบัณฑิต ท่านคงวางมือจากการออกคำสั่งเปลี่ยนภาษาเมื่อได้เห็นว่าภาษากลายเป็นสมบัติของปวงชนที่เป็นคนใช้ภาษาทุกหมู่เหล่าไปแล้ว และคนแต่ละกลุ่มมีทางที่จะพลิกแพลงการใช้ภาษาถ้อยคำไปต่างๆ จนอำนาจศูนย์กลางไม่อาจควบคุมไว้ได้

แต่ในการเปลี่ยนภาษาอย่างที่น.ม.ส. ว่า “ตามคำสั่งประกาศิต” ของท่านจอมพล โดยเหตุที่ท่านเป็นผู้นำที่ใครก็ต้องยอมรับว่ามิได้ใช้อำนาจเปลี่ยนอะไรแบบผิวเผิน ในเรื่องภาษานี้ก็เช่นกัน จอมพล ป. ใช้อำนาจรัฐสั่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเขียน ตัดสระและอักษรหลายตัวในภาษาออกไป ถ้าในประวัติศาสตร์พระราชพงศาวดารมีเรื่องสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสั่งให้ตัดศักราช  ในประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ก็มีการบันทึกว่าท่านจอมพลสั่งให้รื้อระบบการเขียนของภาษาไทยใหม่ กล่าวได้ว่า เมื่อท่านตัดสินใจใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ในการเปลี่ยนแปลงภาษา ท่านได้ทำทั้งส่วน variables คือเปลี่ยนแปลงการใช้ถ้อยคำ และเปลี่ยนรื้อ parameters ของภาษาไทยในส่วนอักขระวิธีเขียนและการสื่อความหมายของคำในภาษาไปพร้อมกัน

การเปลี่ยนแปลงภาษาไทยในระดับ parameters โดยอำนาจสั่งการของจอมพล ป.  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงระบุในบันทึกว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2485 และมาเลิกล้มไปหลังจากจอมพล ป. พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2487  ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงอยู่ในระหว่างการรังสรรค์กวีวัจนะ สามกรุง งานประพันธ์ชิ้นเอกของท่าน และทรงแต่งเสร็จเรียบร้อยในเดือนพฤษภาคม 2487 ก่อนที่ท่านจอมพลจะพ้นจากอำนาจ นั่นหมายความว่าทรงแต่งในขณะที่อักขระตัวเขียนในภาษาไทยได้กลับกลายไปเป็น “ภาสาไทย” ตามที่ “คณะรัถมนตรีได้พิจารนาหลักที่คนะกัมการส่งเสริมวัธนธัมภาสาไทยเสนอมา”   เมื่อระบอบใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รุกเข้ามาไม่เฉพาะแต่การเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง แต่ยังรวมถึงการใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและภาษาไทย โดยในเรื่องภาษานั้นลงถึงขั้นเปลี่ยนอักขระตัวสะกดและการสื่อความหมายของคำอันเป็น parameters ของภาษา  ข้าพเจ้าเห็นว่า การต่อต้านอำนาจ domination ของระบอบใหม่ในเชิง infrapolitics ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์อยู่ในการนิพนธ์และอยู่ในงานพระนิพนธ์ สามกรุง นี่เอง

การเปลี่ยนอักขระตัวสะกดตัวอักษรที่กระทบต่อการสื่อความหมายของคำ ส่งผลทำให้การแต่งคำประพันธ์ร้อยกรองเป็นไปได้ยากมากที่จะเล่นกับคำและความหมายออกมาได้งาม และไม่มีทางที่ใครจะแต่งร้อยกรองในข้อบังคับฉันทลักษณ์อย่างโคลงออกมาถึงความเป็นเลิศได้ด้วยตัวสะกดตามข้อกำหนดอักขรวิธีแบบใหม่  แต่ถ้าจะแต่งโดยใช้อักษรตัวสะกดเดิมก็จะพิมพ์ออกสู่สาธารณะไม่ได้เพราะขัดกับอำนาจที่สั่งการให้เปลี่ยนภาษาไปแล้ว  ยิ่งถ้าเป็นงานแต่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยแต่ละสมัยตามพระราชพงศาวดารที่ผู้แต่งเป็นเจ้านายในระบอบเก่าด้วยแล้ว  กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ย่อมน่าจะทรงตระหนักในขณะที่นิพนธ์ สามกรุง ว่างานนี้อาจไม่มีทางได้พิมพ์เผยแพร่ หรือถ้าไม่ติดขัดในเรื่องที่ทรงเป็นเจ้านายในระบอบเก่าที่โดยรวมในเวลานั้นกำลังถูกเพ่งเล็งการเคลื่อนไหวต่อต้านจากศูนย์อำนาจใหม่  การตีพิมพ์ สามกรุง โดยระบบอักษรตัวสะกดที่ทำให้วรรณกรรมกลายเป็น “วรรนกัม”  ผู้นิพนธ์ก็ไม่พอพระทัยให้ตีพิมพ์ออกมาอยู่ดี เพราะการสูญเสียความหมายของคำในคำประพันธ์จนทำให้อ่านไม่เข้าใจหรืออ่านแล้วเสียรส ดังที่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงยกตัวอย่าง

โคลงบทหนึ่งส่งบาทท้ายว่า

“ข่ายเขทเหตุให้ไห้ เหือดแห้งโรยรา ฯ”

คำว่า เหตุให้ไห้ ถ้าต้องเขียนว่า เหตุไห้ไห้;

โคลงอีกบทหนึ่งส่งว่า

“ตรัสทราบภาพตกใต้ ต่ำต้อยร้อยปการ ฯ”

คำว่า ตรัสทราบ ถ้าต้องเขียนว่า ตรัสซาบ, คำว่า ต่ำใต้ ถ้าต้องเขียนว่า ต่ำไต้.;

อีกบทหนึ่ง ทรามเชย ถ้าต้องเขียนว่า ซามเชย;

อีกแห่งหนึ่งกล่าวถึง สังฆราช ถ้าต้องเขียน สังคราช;

โคลงบทหนึ่งมีคำว่า ปิ่นรัฐ ถ้าต้องเขียนว่า ปิ่นรัถ ไซร้

รศแห่งโคลงทุกบทที่นำมาเป็นตัวอย่างนี้ก็เฝื่อนฝาดไปหมด แม้การแต่งสามกรุงจะเป็นเครื่องเพลิดเพลินแก่ผู้แต่งสักปานใด ข้าพเจ้าก็เห็นจะไม่แต่ง ยิ่งฉันท์ยิ่งเลิกสนิท

แต่แม้จะทรงกล่าวไว้อย่างนั้น กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ก็มิได้ทรงคิดที่จะเลิกทำงานที่ “จะเป็นเครื่องเพลิดเพลิน”  ทรงเลือกที่จะแต่ง สามกรุง ต่อและทรงแต่งจนจบในขณะที่ “ผู้นำ” ผู้สั่งการเปลี่ยนแปลง ภาสาไทย ยังคงอยู่ในอำนาจ  และทรงแต่งโดยใช้อักษรตัวสะกดเดิมที่จะยังคงรสของคำและความตามที่ทรงเห็นว่างามได้ต่อไป

ตามข้อเสนอของ Scott เกี่ยวกับคนไร้สิทธิ์ไร้เสียงที่จะต่อต้านอำนาจแบบเงียบๆ ไม่แสดงออกอย่างเปิดเผย คนเหล่านี้มีความเข้าใจอย่างเต็มที่เกี่ยวกับอำนาจที่ตีกรอบครอบกั้นพวกเขาอยู่และทำให้พวกเขาต้องตกเป็นรอง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในทางรูปธรรมหรือในทางความคิดและอุดมการณ์  การต่อต้านอำนาจแบบเงียบๆ เกิดขึ้นเพื่อรักษาเจตจำนงที่จะไม่ยอมรับในอำนาจที่มาครอบกั้นนั้น แม้ว่าในทางเปิดเผยพวกเขาจะต้องดำเนินชีวิตปกติภายใต้อำนาจที่ครอบอยู่

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คนที่ถูกจำกัดสิทธิ์และถูกอำนาจทำให้ต้องเงียบเสียงลงอย่างกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์และบุคคลในสถานะเดียวกันกับพระองค์ เป็นผู้ที่มีความคิดความเข้าใจโลกของอำนาจอย่างดียิ่ง จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้าเราจะพบว่า คนกลุ่มนี้ดำเนินการในแบบ infrapolitics ในรูปแบบต่าง ๆ นอกเหนือจากการประพันธ์กวีวัจนะ ในกรณีของ สามกรุง ถ้าผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 และสถานะ “ผู้นำ” ของท่านจอมพลภายหลังสงครามจะเป็นอีกแบบหนึ่ง และถ้าการเปลี่ยนแปลง ภาสาไทย วรรนกัมไทย จะคงอยู่ต่อมา งานนิพนธ์ สามกรุง ก็จะกลายเป็น “วรรณกรรม” ของการไม่ยอมสยบต่ออำนาจแบบเงียบๆ ของผู้เป็นตัวแทนระบอบเดิม และจะเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านแบบทำเงียบๆ หลบลงใต้การเมืองในพื้นที่เปิด ที่โดดเด่นไม่น้อย

แต่ประวัติศาสตร์ก็มีเส้นทางของมันอย่างที่ใครก็ไม่อาจคาดได้ว่าสิ่งที่ได้ทำไว้ในช่วงเวลาหนึ่ง ด้วยความหมายความตั้งใจแบบหนึ่ง พอเวลาผ่านไปผู้ทำและสิ่งที่ทำจะเปลี่ยนความหมายกลายไปอย่างไร  ดังที่ น.ม.ส. ทรงเขียนไว้เองดังนี้ว่า ในความพลิกเปลี่ยนกลับกลายไปนั้น  “ใครจะเป็นใคร แลอะไรจะเป็นอย่างไร ก็ยากที่จะเดา … เปิดปฤษณาไว้ให้พงษาวดารเป็นผู้ตอบในวันน่า”[3]

 

….

วงอ่านคราวที่แล้วจบลงด้วยการเสนอเรื่องที่จะอ่านกันในคราวหน้า และเวียนมาถึงรอบที่ข้าพเจ้าต้องเป็นคนเสนอเรื่อง วงอ่านตั้งข้าพเจ้าให้เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมไทยและมอบให้เป็นคนเลือกเรื่องของฝ่ายนี้ วันนั้นข้าพเจ้าเสนอหนังสือ “ลายพระหัตถ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ถวายสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต และบันทึกรายวันตามเสด็จพระราชดำเนินประเทศเกาะชวาครั้งที่ ๒ ร.ศ. ๑๒๐ ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ณ พระเมรุ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ ตุลาคม พระพุทธศักราช ๒๕๐๖” และแนะสมาชิกในวงว่าหาฉบับออนไลน์อ่านได้จากห้องสมุดจุฬาฯ หรือชื่อทางการคือสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้าพเจ้าประทับใจพระประวัติในหนังสือเป็นพิเศษ คนเรียบเรียงเขียนได้น่าติดตามมาก ลายพระหัตถ์และบันทึกรายวันก็มีที่ให้อ่านให้พิจารณาได้มากเช่นกัน ต้องรอฟังว่าคนนำเสนอคราวต่อไปจะอ่านพบอะไร  แต่ข้าพเจ้าคิดว่าสมาชิกในวงคงพอใจเล่มนี้ และอ่านแล้วคงมีที่จับใจไม่ตอนใดก็ตอนหนึ่ง แม้ไม่มีใครนับตัวเองเป็นอนุรักษนิยมไทย  แต่พวกเราเห็นกันว่า ถ้าอยากรู้จักอนุรักษนิยมไทยดีกว่าฟังใครๆ ที่ไม่ใช่อนุรักษนิยมไทยว่าอย่างนั้น ว่าอย่างนี้ แล้วก็ว่าตามๆ กัน  มีทางเดียว คือศึกษาจากงานของพวกเขา เพราะเราแต่ละคนอ่านเองได้

มาถึงตรงนี้ ได้เวลาที่ข้าพเจ้าจะขอยืมคำของ James C. Scott มาใช้ว่า ข้าพเจ้าเขียนบทความนี้เป็น “act to leave”

ขอให้อ่านให้สนุกนะครับ.

 

 


[1] มีให้อ่านได้ที่นี่: Domination and the Arts of Resistance

[2] อ่านบทสัมภาษณ์ James C. Scott ได้ที่: ‘When the revolution becomes the State it becomes my enemy again’: an interview with James C. Scott

[3] สามกรุง ภาคผนวก

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save