fbpx

Rainbow Washing การตลาดตบตาบนผืนผ้าสีรุ้ง

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วจนวนกลับมาสู่ Pride Month หรือเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในเดือนมิถุนายนอีกครั้ง ในแต่ละปีบรรดาธุรกิจต่างๆ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค รวมไปถึงภาคบริการในหลายด้าน ต่างพากันตั้งโปรไฟล์หน้าเพจสินค้าเป็นธงสีรุ้ง ออกแบบผลิตภัณฑ์เฉพาะเดือนมิถุนายนให้มีสัญลักษณ์ธงสีรุ้ง หรือโฆษณาโปรโมชันส่งเสริมการขายให้กับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะเพื่อร่วมเฉลิมฉลองให้กับเทศกาลนี้

หากมองผิวเผินก็ดูจะเป็นเทศกาลแห่งความสุขและเห็นว่าภาคส่วนต่างๆ ในสังคมให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศ แต่หากลองมองมุมกลับปรับมุมมองสักเล็กน้อย อาจเกิดการตั้งคำถามว่า ธุรกิจเหล่านั้นมีนโยบายในการขับเคลื่อนสิทธิความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการนำสีรุ้งมาแต่งแต้มบนสินค้าเพื่อดึงดูดความสนใจและเพิ่มยอดขายเฉพาะเดือนมิถุนายน ซึ่งนั่นหมายความว่าบางธุรกิจมองกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นเพียงเครื่องมือทางการตลาดเท่านั้นหรือไม่

สีรุ้งบนผืนผ้าที่ติดตาแต่ยังไม่เข้า (ใน) ใจ

ธงสีรุ้งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของชุมชน LGBTIQA+ ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 และมีความหมายถึงความหลากหลายทางเพศและเพศสภาพของมนุษย์ สร้างขึ้นโดยศิลปิน Gilbert Baker, Lynn Segerblom และ James McNamara โดยได้รับการสนับสนุนจากนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ และผ่านการปรับปรุงแก้ไขหลายครั้งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน องค์กร และผู้คนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQA+ หรือแสดงการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ[1]

เมื่อธงสีรุ้งถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ จึงเกิดคำว่า ‘rainbow washing’ อันหมายถึงกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีการนำสีรุ้งมาใช้ในการโฆษณา เพื่อแสดงให้เห็นว่าธุรกิจได้ดำเนินการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ แต่แสดงจุดยืนเพียงระยะสั้นในเดือนมิถุนายนเท่านั้น รวมทั้งไม่มีนโยบายที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง[2]

กลยุทธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 80 และ 90 ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่ม LGBTIQA+ เริ่มใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยและภาคภูมิใจได้มากยิ่งขึ้น จากสถิติในปี 2019 ของนิตยสารฟอร์บส เปิดเผยว่ากลุ่ม LGBTIQA+ มีกำลังซื้อมากถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกำลังซื้อของ LGBTIQA+ ถูกเรียกว่า ‘เงินสีชมพู’ จากกำลังการซื้อที่มีอัตราสูง ขณะที่มูลค่าตลาดการใช้จ่ายของกลุ่ม LGBTIQA+ ในประเทศญี่ปุ่นปี 2021 มีประมาณ 5.42 ล้านล้านเยน ถึงแม้ว่าจะลดลงจาก 5.92 ล้านล้านเยนของปี 2015 เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้การใช้จ่ายโดยรวมของผู้บริโภคลดลง แต่ก็ยังกล่าวได้ว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง[3]

จากตัวเลขดังกล่าวดึงดูดให้บริษัทต่างๆ ทำกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อแสดงให้เห็นว่ายอมรับและมีความก้าวหน้าทางความคิดในการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ สำหรับธุรกิจในประเทศไทยก็มีการแสดงออกผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในเดือนนี้ด้วยการโฆษณาสินค้าเป็นสีรุ้ง ตั้งรูปประจำตัวในโซเชียลมีเดียเป็นรูปสัญลักษณ์ขององค์กรที่มีพื้นหลังสีรุ้ง แต่ในทางกลับกันบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการตีตราและถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงานอยู่จนถึงทุกวันนี้

สาดสีรุ้งบนผลิตภัณฑ์ปกปิดคราบน้ำตาของบรรดาคนในองค์กร

แม้ประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งสนับสนุนการส่งเสริมความคุ้มครองทางสังคมให้แรงงานทุกกลุ่ม รวมถึงการลดและขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ แต่ในปัจจุบันปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศสภาพและการทำร้ายร่างกายในที่ทำงานยังคงเกิดขึ้นในประเทศไทย

ข้อมูลจาก World Bank เมื่อปี 2018 มีการสำรวจคนไทย 3,502 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ 2,302 คน และกลุ่มที่ไม่ใช่คนที่มีความหลากหลายทางเพศ 1,200 คน พบว่ายังมีการเลือกปฏิบัติทั้งในด้านของการทำงาน ไปจนถึงการเข้าถึงบริการของรัฐ และบริการด้านการศึกษา โดย 77% ของคนข้ามเพศถูกปฏิเสธการสมัครงานด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศ ตามมาด้วยเลสเบี้ยน 62% และเกย์ 49% และยังมีข้อมูลน่าสนใจอีกหลายส่วน เช่น 40% ของคนข้ามเพศมักจะเจอประสบการณ์โดนคุกคามหรือล้อเลียนในที่ทำงาน และ 24.5% ของกลุ่มหลากหลายทางเพศถูกนายจ้างบังคับให้ปิดบังตัวตน รวมทั้ง 60% ของกลุ่มคนข้ามเพศเผชิญการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน[4]

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแม้องค์กรธุรกิจในไทยจะมีความตื่นตัวและแสดงสัญลักษณ์ว่าสนับสนุนความหลากหลายทางเพศผ่านการออกสินค้าและบริการต่างๆ แต่บุคลากรในองค์กรจำนวนมากยังคงประสบปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติและตีตราจากที่ทำงานโดยยังเป็นปัญหาที่ยังไม่หมดไป

ส่องดัชนีความเท่าเทียมในต่างประเทศที่ตัวชี้วัดยังมีเงื่อนงำ

สำหรับตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการจัดอันดับบริษัทเอกชนที่มีความเท่าเทียมทางเพศจากดัชนีความเท่าเทียมของ Human Rights Campaign (HRC)[5] โดยตัวชี้วัดจะพิจารณาจากนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติ สวัสดิการที่เสมอภาคสำหรับพนักงาน LGBTIQA+ การสนับสนุนความแตกต่างหลากหลาย และความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทนั้นๆ ทั้งนี้ในปี 2021 พบว่าบริษัทชื่อดังหลายแห่งได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรที่มีความเท่าเทียมทางเพศ 100% แต่มีข้อสังเกตว่าตัวชี้วัดไม่ได้คำนึงถึงพฤติกรรมทางด้านการเมืองขององค์กร

ในปี 2019-2021 บริษัทชื่อดังของสหรัฐอเมริกา 25 แห่งที่ได้รับการจัดอันดับ 100% ได้ร่วมกันบริจาคเงินมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ให้กับนักการเมืองของรัฐบาลกลางและรัฐที่สนับสนุนร่างกฎหมายต่อต้าน LGBTIQA+

ตัวอย่างคือ CVS Pharmacy บริษัทที่ให้บริการด้านสุขภาพครบวงจรชั้นนำของสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยน
อวาตาร์ Twitter เป็นรูปหัวใจสีรุ้งในเดือนมิถุนายน แต่ก็ให้การสนับสนุน Dawn Buckingham และ Bryan Hughes ส.ว. พรรครีพับลิกันจากรัฐเท็กซัส ผู้ร่วมหนุนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการห้ามมิให้เด็กแปลงเพศและกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานล่วงละเมิดเด็ก และกำหนดให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่อนุญาตให้เด็กได้รับการดูแลทางการแพทย์ให้สอดคล้องกับเพศสภาพนั้นเป็นความผิดและถือเป็นอาชญากรรม

นอกจากนี้ Comcast บริษัทเคเบิลทีวียักษ์ใหญ่ในอเมริกาบริจาคเงินมากกว่า 1.1 ล้านดอลลาร์ให้กับนักการเมืองที่ต่อต้าน LGBTIQA+ นับแต่ปี 2019 โดยในเงินก้อนนี้มีจำนวน 30,000 ดอลลาร์ที่ถูกจ่ายให้กับผู้สนับสนุนการออกกฎหมายต่อต้านคนข้ามเพศในรัฐฟลอริดาและรัฐเท็กซัส และ 1,095,500 ดอลลาร์ให้สมาชิกสภาคองเกรส 149 คนที่มีตัวเลขดัชนี HRC เป็นศูนย์[6]

ก่อนเทศกาล Pride ในปี 2022 Data for Progress เผยแพร่รายชื่อบริษัทที่เตรียมแคมเปญ Pride ในสหรัฐอเมริกา แต่กลับบริจาคเงินให้นักการเมืองและองค์กรที่เลือกปฏิบัติต่อ LGBTIQA+ โดยจัดอันดับบริษัทที่บริจาคเงินมากที่สุด ได้แก่ Toyota, AT&T, Comcast และ Amazon ซึ่งกลุ่ม LGBTIQA+ มองว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่บริษัทเหล่านี้ใช้สัญลักษณ์ Pride เพื่อยกระดับการรับรู้ของสาธารณชน ทั้งที่การสนับสนุนทางการเงินของพวกเขาขัดต่อการต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกัน / ที่มา: Data for Progress

เริ่มต้นโอบรับความแตกต่าง (อย่างจริงใจ) จากภายในสู่ภายนอก

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่การออกสินค้าป้ายสีรุ้งแล้วจะหมายความว่าบริษัทนั้นๆ สนับสนุนความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง แต่องค์กรธุรกิจนั้นต้องเริ่มตั้งแต่การสร้างความเท่าเทียมกันในองค์กร และส่งเสริมให้พนักงานทุกกลุ่มรวมถึงกลุ่ม LGBTIQA+ มีความเท่าเทียมกันอย่างจริงใจที่ไม่ใช่เพียงกลยุทธ์เพื่อการตลาด โดยมีแนวทางดังนี้

1) ผู้นำองค์กรต้องให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วม สร้างวัฒนธรรมที่ไม่แบ่งแยก เห็นคุณค่า และยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน มีพันธกิจในการยอมรับความเสมอภาคทางเพศอย่างชัดเจน เพราะนายจ้างมีความสำคัญมากต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมความเท่าเทียม[7]

2) สื่อสารถึงการยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย ทั้งการสื่อสารภายในองค์กรและการสื่อสารสู่ภายนอก แต่ต้องระมัดระวังเนื้อหาในการสื่อสารให้ปราศจากอคติทางเพศและไม่ได้สื่อสารเฉพาะช่วงระยะเวลาเทศกาลไพรด์เท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างง่ายๆ เช่น บัตรพนักงานที่ไม่ต้องมีคำนำหน้านาม การสร้างกรอบคำสรรพนามที่ไม่ยึดติดกับเพศ การจัดตั้งคณะทำงานที่ดูแลเกี่ยวกับการคุ้มครองความเสมอภาคทางเพศในองค์กรเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พนักงาน การยอมรับในการแต่งกายตามเพศสภาพ

3) การจัดสวัสดิการที่ให้ความสำคัญกับพนักงานในทุกเพศ ตัวอย่างเช่น Dtac ประกาศนโยบายสวัสดิการเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมสำหรับพนักงาน เช่น การลางานเพื่อผ่าตัดแปลงเพศ การลาเพื่อเข้าพิธีสมรส การลาเพื่อดูแลคู่สมรสเพศเดียวกันและบุตร

4) ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนกฎหมายที่เกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเป็นส่วนหนึ่งในส่งเสียงและรณรงค์เพื่อสนับสนุนการผลักดัน ตัวอย่างเช่น บริษัท Apple ที่กำลังดำเนินการผ่านศาลและร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ เพื่อต่อต้านกฎหมายต่อต้าน LGBTIQA+ ในรัฐต่างๆ เช่น มลรัฐไอโอวา เท็กซัส และฟลอริดา นอกจากนี้บริษัทยังปฏิเสธที่จะจัดตั้งการดำเนินงานในบางรัฐและภูมิภาคของโลกที่เลือกปฏิบัติต่อสมาชิก LGBTIQA+ อีกด้วย หรือในประเทศไทยเองบริษัทแสนสิริได้ร่วมผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมโดยมีนโยบายให้พนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถลาแต่งงานได้ 7 วัน เท่ากับการสมรสระหว่างชาย-หญิง เป็นต้น

สุดท้ายนี้การตระหนักถึง rainbow washing ไม่ควรมีในเฉพาะภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ภาครัฐและภาคการเมืองก็ควรตระหนักและระมัดระวังในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากภาครัฐและภาคการเมืองนับเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนสิทธิในความหลากหลายทางเพศให้ได้รับการยกระดับผ่านการแก้ไขกฎหมายต่างๆ

หากองค์กรธุรกิจมีการสนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศอย่างจริงใจ ไม่ใช่เพียงกลยุทธ์ทางการตลาดหรือสร้างสีสันในเดือนมิถุนายน ไม่เพียงแต่กลุ่มเพศหลากหลายเท่านั้นที่จะสนใจและเต็มใจที่จะจับจ่ายสินค้าเหล่านั้น หากแต่ความจริงใจจะสามารถสะท้อนไปถึงผู้คนทุกเพศ ทุกวัย

แรงสนับสนุนจากภาคเอกชนนี้จะผสานเข้ากับแรงสนับสนุนจากภาคส่วนอื่นๆ แล้วมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ขบวนการขับเคลื่อนสิทธิความหลากหลายทางเพศในสังคม เพื่อเป้าหมายปลายทางคือการทำให้ทุกวันคือ ‘ความภาคภูมิใจ’ ของกลุ่ม LGBTIQA+ ได้อย่างแท้จริง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save