fbpx

สร้างนโยบายคืน ‘ความสุข’ ให้ตอบโจทย์คนไทย ผ่านงานวิจัยที่วิเคราะห์ ‘ราคาเงา’ แห่งความพึงพอใจในชีวิต

‘รายได้มั่นคง, สุขภาพแข็งแรง, ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว และสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย’ ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าที่มุ่งไปสู่การมีความสุขของใครหลายคน

แต่มุมมองความสุขไม่ได้มีเพียงมุมมองในเชิงปัจเจกชนเท่านั้น หลายครั้งความสุขของประชาชนในเมืองยังมีส่วนสำคัญต่อการวางแผนนโยบายในระดับประเทศ หลายชาติจึงให้ความสำคัญกับการวัดความสุขเชิงอัตวิสัย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของภาครัฐในการติดตามความก้าวหน้าของนโยบายหรือโครงการที่กำลังดำเนินนโยบาย, ออกแบบนโยบายใหม่ที่จะช่วยตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที รวมไปถึงประเมินติดตามผลของนโยบายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

101 จึงชวนวิเคราะห์ ‘ความสุข’ ในชีวิตคนไทยผ่านงานวิจัยนโยบายสาธารณะและความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย 4.0 (ระยะที่ 1) โดย รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ และคณะ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถูกตีพิมพ์ในหนังสือเศรษฐศาสตร์แห่งความสุข ซึ่งฉบับเล่มได้มีการปรับปรุงเนื้อหาวิจัยให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะสู่การสร้างนโยบายคืน ‘ความสุข’ ให้ตอบโจทย์กับคนไทยมากยิ่งขึ้น

วิเคราะห์ราคาเงา: ส่องคุณค่าที่มีผลต่อความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย

งานวิจัยนโยบายสาธารณะและความพึงพอใจในชีวิตของคนไทย 4.0 (ระยะที่ 1) พยายามศึกษาว่าอะไรคือสิ่งที่มีความหมายต่อความสุขของคนไทยผ่านการศึกษา ‘ราคาเงา’ อันหมายถึงมูลค่าทางการเงิน (monetary value) ที่ใช้ในการสะท้อนถึงค่าเสียโอกาสหรือมูลค่าที่บุคคลหรือสังคมประเมินให้สินค้าหรือบริการ อันปราศจากราคาตลาดอ้างอิง เช่น การมีครอบครัวที่อบอุ่น, ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน, ความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคม เป็นต้น โดยการศึกษาเลือกใช้เทคนิคความพึงพอใจในชีวิต (Life Satisfaction Approach, LSA) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ราคาเงาที่เกิดขึ้น

งานวิจัยดังกล่าวค้นหาคำตอบว่า ทุนทางสังคมและความเสี่ยงทางสังคมมีผลต่อความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยหรือไม่ และคนไทยให้มูลค่าทางสังคมและความเสี่ยงต่อสังคมเพียงใด ผ่านกรอบทุนทางสังคมที่งานวิจัยนี้ขับเน้นประกอบด้วย (1) ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน (2) การให้ความช่วยเหลือผู้อื่น (3) ความสามัคคี (4) ความไว้วางใจในสังคม และความเสี่ยงทางสังคมประกอบด้วย (1) ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย (2) การว่างงาน หรือ (3) การมีรายได้ตกต่ำจากการเผชิญกับภัยธรรมชาติ

ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทำการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2561 ผ่านกลุ่มตัวอย่างจำนวน 69,792 เฉพาะผู้ตอบข้อมูลการประเมินความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งข้อมูลประชากรศาสตร์พบว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นเพศชายคิดเป็น 58.5% อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร 3% ภาคกลาง นอกเหนือจากกรุงเทพมหานคร 29.9% ภาคเหนือ 22.8% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26.9% และภาคใต้ 17.5%

ผลการศึกษาเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยและค่ามัธยฐานความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยมีค่า 7.7 และ 8.0 ตามลำดับ โดยจังหวัดที่มีความพึงพอใจในชีวิตเฉลี่ยสูงคือ พังงา กาญจนบุรี สระแก้ว น่าน บุรีรัมย์ และหนองคาย จังหวัดที่มีความพึงพอใจในชีวิตเฉลี่ยต่ำ คือ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และปราจีนบุรี นอกจากนี้ยังพบว่า ทุนทางสังคมและความเสี่ยงทางสังคมส่งผลต่อความสุขของคนไทย โดยประเด็นครอบครัวมีความสำคัญกับความพึงพอใจในชีวิตมากที่สุด ทำให้มีราคาเงาที่สูงกว่าตัวแปรด้านอื่นๆ ราคาเงาของการมีครอบครัวอบอุ่นมากถึงมากที่สุดมีค่า 5,839-6,255 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วน 0.91-0.97 เท่าของรายได้ต่อเดือน ตัวแปรที่คนไทยให้ความสำคัญรองลงมาคือการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อมีโอกาส มีราคาเงาเท่ากับ 4,637 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.72 เท่าของรายได้ ถัดจากนั้นได้แก่ การมีงานทำ, ความใกล้ชิดกันของคนในชุมชนและการที่คนในครัวเรือนสุขภาพดี ตามลำดับ

เมื่อวิเคราะห์ราคาเงาของคนไทยรุ่นต่างๆ ได้แก่ คนรุ่น Baby Boomer มีอายุ 56-74 ปี, คนรุ่น Gen X มีอายุ 40-55 ปี และคนรุ่น Gen Y มีอายุ 24-39 ปี พบว่าคนไทยทั้ง 3 รุ่น มีทัศนคติต่อความพึงพอใจในชีวิตและการให้คุณค่าต่อเหตุการณ์ในชีวิตแตกต่างกัน อันเป็นผลมาจากการเติบโตภายใต้เศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่าง แม้คนทั้ง 3 รุ่นจะยังคงให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นอันดับแรก รองลงมาคือประเด็นการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม และการมีงานทำ แต่คนรุ่น Baby Boomer และคนรุ่น Gen X ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงทางสังคมมากกว่าคนรุ่น Gen Y นอกจากนี้คนรุ่น Baby Boomer ยังให้คุณค่ากับการมีงานทำของคนในครอบครัวสูงกว่าคนรุ่นอื่นๆ และให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในชุมชนต่ำกว่าคนรุ่นอื่น ในขณะที่รุ่น Gen Y กลับให้มูลค่ากับความไว้วางใจ, ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการจัดการสิ่งแวดล้อมมากกว่ารุ่นก่อนหน้า

สำรวจความสุขของคนไทยในแต่ละเจนฯ

        

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าคนแต่ละรุ่นมีความพึงพอใจในชีวิตที่มีความแตกต่างกัน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนและครอบคลุมกลุ่มคนในสังคมมากยิ่งขึ้น ผู้วิจัยจึงขยับจากการศึกษาราคาเงามาสู่การสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยในปี พ.ศ. 2563 โดยเฉพาะประเด็นด้านบรรทัดฐานทางสังคมและทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นไปในสังคม เช่น การมีเสรีภาพ โอกาสทางสังคม และการทุจริตคอร์รัปชัน ระหว่างคน 4 รุ่น ได้แก่ รุ่น Baby Boomer, รุ่น Gen X , รุ่น Gen Y และรุ่น Gen Z กลุ่มคนที่มีช่วงอายุระหว่าง 18-24 ปี 

ในการศึกษาครั้งนี้มีการพัฒนาเครื่องมือการวิจัยเป็นแบบสอบถามสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยใน 4 มิติ ได้แก่ (1) มิติทางด้านการประเมินชีวิต (2) มิติทางอารมณ์บวก (3) มิติทางอารมณ์ลบ และ (4) มิติทางคุณค่าและการมีเป้าหมายในชีวิต ผู้วิจัยประยุกต์ใช้ข้อคำถามของ British Office for National Statistics (ONS) รวมทั้งเสริมประเด็นข้อคำถามเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม และความเห็นด้านความเป็นอยู่ในสังคม ซึ่งประกอบด้วย ความไว้วางใจต่อรัฐ ทัศนคติต่อการโกงและการคอร์รัปชัน การมีเสรีภาพในชีวิต ทัศนคติและบรรทัดฐานทางสังคม ความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และโอกาสทางสังคม

ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 2,880 ตัวอย่างทั่วประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 23 เมษายน-30 มิถุนายน พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นช่วงต้นของการแพร่ระบาดโควิด-19 แบ่งเป็นการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ออนไลน์ จำนวน 1,404 ตัวอย่าง และการสัมภาษณ์ตัวต่อตัว โดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน จำนวน 2,476 ตัวอย่าง และจากการสำรวจพบว่าผลการประเมินความพึงพอใจในชีวิตของกลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7.1 จากคะแนนสูงสุด 10 คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ได้จากข้อมูลการสำรวจคุณภาพชีวิตในปี พ.ศ.2561 ที่มีค่า 7.7 เล็กน้อย นอกจากนี้ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของความพึงพอใจในชีวิตระหว่างรุ่น โดยชัดเจนที่สุด เมื่อเปรียบเทียบระหว่างรุ่น Baby Boomer กับรุ่น Gen Z ที่ค่าเฉลี่ยของความพึงพอใจในชีวิตความสุขและความรู้สึกมีคุณค่าในชีวิตของ Baby Boomer สูงกว่า Gen Z อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้รุ่น Baby Boomer มีความวิตกกังวลในภาพรวม และความวิตกกังวลจากเหตุการณ์ในช่วงต้นของระบาดโควิด-19 น้อยกว่า Gen Z

ในขณะที่คนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z มีทัศนคติเชิงลบต่อประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง, เสรีภาพในการเลือกทางเดินชีวิต, การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด และความปลอดภัยในการเดินทางในช่วงกลางคืนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในสัดส่วนที่สูงกว่ารุ่น Baby Boomer และ Gen X หากพิจารณาโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพและการมีอาชีพที่รายได้ดี คนรุ่น Gen X , Gen Y, Gen Z คิดว่ารุ่นตนมีโอกาสด้านการศึกษาที่มีคุณภาพดีกว่ารุ่นพ่อแม่ ด้านประเด็นอาชีพการทำงาน รุ่น Baby Boomer และรุ่น Gen X ส่วนใหญ่คิดว่าตนเองทำได้ดีกว่าพ่อแม่ ส่วนคนรุ่น Gen Z ถึง 6% คิดว่าตนเองมีอาชีพและรายได้แย่กว่ารุ่นพ่อแม่ เมื่อเทียบตอนที่มีอายุเท่ากัน

เมื่อวิเคราะห์ต่อไปถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยในเชิงลึกด้วยแบบจำลองความพึงพอใจในชีวิต พบว่า เมื่อควบคุมปัจจัยทางด้านลักษณะทางประชากรศาสตร์ให้คงที่และแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ Baby Boomer และ Gen X, Gen Y, Gen Z แล้วนั้น ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจในชีวิตของคนรุ่นต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ เสรีภาพในการเลือกทางเดินของชีวิตและความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19  และเมื่อวิเคราะห์แยกตามรุ่นยังแสดงให้เห็นว่าคนในแต่ละรุ่นให้ความสำคัญกับประเด็นด้านทุนทางสังคม ความเชื่อมั่น และมุมมองเกี่ยวกับเสรีภาพที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นความเชื่อมั่นในรัฐบาลเป็นประเด็นที่สามารถอธิบายความพึงพอใจในชีวิตเฉพาะคนกลุ่ม Gen Z เท่านั้น ในขณะที่ความพึงพอใจในชีวิตของกลุ่มคน Gen Y มีแนวโน้มที่จะขึ้นอยู่กับระดับความเชื่อมั่นในระบบประกันสุขภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจภายในสังคมและอัตราการว่างงานที่ลดลง

ข้อเสนอสู่นโยบายมุ่งสู่การเพิ่มความสุขคนไทย

จากผลการศึกษาราคาเงาและผลสำรวจความพึงพอใจในชีวิตคนไทย ผู้วิจัยมีข้อเสนอต่อแนวทางการปรับใช้ในเชิงนโยบาย ได้แก่

(1) การสานต่อนโยบายการประเมินความสุขเชิงอัตวิสัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งรายเดือน รายไตรมาส รายครึ่งปี และรายปี เพื่อใช้เป็นข้อมูลติดตามความก้าวหน้าโครงการของรัฐ การออกแบบนโยบายใหม่ๆ และการประเมินนโยบาย  โดยภาครัฐสามารถเพิ่มการประเมินความพึงพอใจ และความสุขเชิงอัตวิสัยเข้าไปในการสำรวจที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติต่อไปในอนาคต

(2) การนำผลการศึกษาการให้มูลค่าทุนทางสังคมและความเสี่ยงทางสังคมไปปรับใช้ในเชิงนโยบายผ่านการดำเนินนโยบายของกระทรวงต่างๆ

2.1 นโยบายเกี่ยวกับประเด็นการมีครอบครัวอบอุ่น ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่คนไทยให้คุณค่ามากที่สุดนั้น รัฐบาลสามารถส่งเสริมให้คนไทยมีครอบครัวอบอุ่นสูงขึ้นผ่านนโยบายการดำเนินงานจากหลายกระทรวง เช่น นโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมครอบครัวในสถานศึกษา, นโยบายจากกระทรวงแรงงาน ส่งเสริมให้คนในครอบครัวมีวันหยุดพร้อมกัน, นโยบายจากกระทรวงมหาดไทย ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดกิจกรรมครอบครัวในท้องถิ่น, นโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมการเข้าถึงการให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัว, นโยบายจากกระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยวราคาประหยัดสำหรับการเที่ยวของครอบครัว การเข้าถึงการเล่นและการชมกีฬาราคาประหยัดของครอบครัว, นโยบายจากกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้มีการเข้าถึงแหล่งความรู้ทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในราคาประหยัดสำหรับครอบครัว และนโยบายจากกระทรวงคมนาคม ส่งเสริมให้มีการเดินทางราคาประหยัดสำหรับครอบครัว

2.2 นโยบายเกี่ยวกับประเด็นการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่คนไทยให้คุณค่ารองลงมา รัฐบาลสามารถส่งเสริมให้คนมีจิตสาธารณะ ไม่ว่าจะผ่านนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมการมีจิตอาสาของนักเรียนแก่ชุมชน, นโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมอาสาสมัครเยี่ยมเยียนและพูดคุยกับผู้ป่วยในชุมชน, นโยบายจากกระทรวงมหาดไทย ส่งเสริมการร่วมกันทำความสะอาดชุมชนและให้ความช่วยเหลือคนยากลำบากในชุมชน และนโยบายจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่งเสริมให้ทุกครอบครัวได้เป็นอาสาสมัครดูแลผู้ด้อยโอกาส

2.3 นโยบายเกี่ยวกับประเด็นการลดความเสี่ยงทางสังคม ทั้งการเจ็บป่วย, การว่างงาน, ความยากลำบาก เพราะขาดรายได้ แม้ประเทศไทยจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ให้ความคุ้มครองทุกคนที่เจ็บป่วยแล้วในระดับหนึ่ง แต่การว่างงานยังคงเป็นปัญหาใหญ่จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้นนโยบายที่จะช่วยให้คนไทยมีความสุขคือการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมทุกคนที่มีงานทำผ่านนโยบายที่เกี่ยวของกับกระทรวงแรงงานและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

2.4 นโยบายเกี่ยวกับประเด็นลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการจัดการสิ่งแวดล้อมให้สะอาดและปลอดภัย หากลงลึกไปถึงคุณค่าต่อความสุขของคนแต่ละรุ่น นโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการจัดการสิ่งแวดล้อมให้สะอาดและปลอดภัยเป็นคุณค่าที่ค่อนข้างสำคัญต่อคนรุ่น Gen Y และ Gen Z  โดยกระทรวงต่างๆ สามารถดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมประเด็นดังกล่าว เช่น นโยบายจากกระทรวงการคลังผ่านการเก็บภาษี และการใช้จ่ายของรัฐเพื่อทำให้การกระจายรายได้ดีขึ้น, นโยบายจากกระทรวงอุตสาหกรรมส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมลดมลพิษ, นโยบายจากกระทรวงพาณิชย์ขจัดการผูกขาดทางการค้า คุ้มครองผู้ประกอบการและเกษตรกรรายเล็กรายน้อย, นโยบายจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่งเสริมให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีความยั่งยืนและมีการจัดการสิ่งแวดล้อมให้สะอาด, นโยบายจากกระทรวงคมนาคมและนโยบายจากกระทรวงพลังงาน ส่งเสริมบริการรถสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานสะอาด, นโยบายจากกระทรวงมหาดไทย ส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนและช่วยเหลือคนยากจนในชุมชน และนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมอาหารปลอดภัย รวมไปถึงนโยบายจากกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งเสริมให้คนอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save