fbpx
เส้นทางขบวนการประท้วงในโลกหลังโควิด-19

เส้นทางขบวนการประท้วงในโลกหลังโควิด-19

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

การปิดเมืองหรือล็อกดาวน์เพื่อยับยั้งโรคระบาดกลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับขบวนการภาคประชาชนว่าจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างไรเมื่อไม่สามารถลงถนนได้ ความท้าทายนี้ยังเชื่อมโยงกับความกังวลว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในหลายประเทศอาจยิ่งบั่นทอนอนาคตประชาธิปไตย และเอื้อให้ผู้นำอำนาจนิยมฉวยใช้อำนาจเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างได้มากขึ้น โลกหลังโควิดดูเหมือนจะไม่เป็นมิตรกับขบวนการประท้วงภาคประชาชนมากนัก

กระนั้นก็ดี ไม่แน่เสมอไปว่าพื้นที่ประชาธิปไตยที่หดแคบลงจะลดปริมาณการประท้วงของประชาชน

รายงานของสถาบันวิจัยด้านประชาธิปไตยจากประเทศเดนมาร์ก V-Dem ชี้ว่าเมื่อปีที่แล้วกระแสอำนาจนิยมรุกคืบ (autocratisation) ทั่วโลกเกิดขึ้นควบคู่กับจำนวนการประท้วงที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือในปี 2562 ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกึ่งอำนาจนิยม/ระบอบผสม (คืออาจมีการเลือกตั้ง แต่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม มีการแทรกแซงสถาบันอิสระ รวมถึงจำกัดการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อ) อำนาจนิยม และเผด็จการ เพิ่มขึ้นเป็น 92 ประเทศ คำนวณได้ว่าประชากรโลกราว 54 เปอร์เซ็นต์อยู่กับระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

ถือเป็นครั้งแรกนับจากปี 2544 ที่ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการเมืองหลักของโลกอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นประเทศซึ่งเคยเป็นเสาหลักของประชาธิปไตย อย่างสหรัฐฯ บราซิล และอินเดียก็เผชิญภาวะถดถอยอย่างน่าใจหาย

แนวโน้มเช่นนี้ส่งผลต่อพื้นที่ภาคประชาสังคม เช่นใน 31 ประเทศที่ V-Dem เก็บข้อมูล เสรีภาพในการแสดงความเห็นและเสรีภาพสื่อลดลงอย่างมาก และใน 37 ประเทศ ขบวนการภาคประชาชนถูกปราบปรามอย่างหนัก นอกจากนี้เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพทางวิชาการทั่วโลกยังลดลงถึง 14 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเมื่อสิบปีที่แล้ว กระแสเช่นนี้สะท้อนการหดตัวลงของพื้นที่ภาคประชาสังคม (shrinking civic space) ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553

อย่างไรก็ดี รายงานของ V-Dem ชี้ว่าแม้พื้นที่ภาคประชาสังคมจะแคบลง แต่การประท้วงกลับเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศประชาธิปไตย (29 ประเทศ) และที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย (34 ประเทศ) ในจำนวนนี้ บางประเทศสามารถต้านกระแสอำนาจนิยมรุกคืบได้ หรือกระทั่งล้มผู้นำเผด็จการได้ เช่นซูดานและอัลจีเรีย กราฟด้านล่างระบุสัดส่วนระบอบประชาธิปไตยลดลง อันสวนทางกับการประท้วงในระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น โดยเทียบปี 2552 กับปี 2562

 

Global Share of Democracy and Share of World Population Living in Autocratizing Countries 2009 - 2019
ที่มา : Democracy Report 2020: Autocratization Surges- Resistance Grows

 

ท่ามกลางวิกฤตโควิด ประชาชนในหลายประเทศยังยืนกรานจะประท้วงต่อไป เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายอันไร้ประสิทธิภาพของรัฐ การฉ้อฉล หรือการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทว่าเปลี่ยนรูปแบบและพื้นที่การประท้วงให้สร้างสรรค์และสอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น เช่นในบราซิล ประชาชนออกมาตีหม้อที่นอกชานเพื่อคัดค้านมาตรการอันหย่อนยานของรัฐบาลตน ชาวรัสเซียใช้แอปพลิเคชันจราจรเป็นพื้นที่ประท้วงและวิจารณ์รัฐบาล หรือในอิสราเอล ประชาชนออกมาประท้วงประธานาธิบดีเบนจามิน เนทันยาฮู โดยยืนห่างกันสองเมตรตามกฎ physical distancing ส่วนในสหรัฐฯ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิผู้อพยพ ‘เดินขบวน’ ด้วยการขับรถส่วนตัวและติดป้ายชุมนุมที่รถ นอกจากจะประท้วงผู้มีอำนาจแล้ว กลุ่มประชาสังคมยังระดมกำลังช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน ชาวชุมชนแออัด รวมถึง sex worker เป็นต้น

เมื่อพิจารณาแนวโน้มอำนาจนิยมรุกคืบ อันสวนทางกับการประท้วงที่เพิ่มขึ้นก่อนและระหว่างวิกฤตโควิด ประกอบกับบทบาทของรัฐในการรับมือวิกฤต เส้นทางขบวนการประท้วงในโลกหลังโรคระบาดคลี่คลายอาจเป็นไปได้สี่ทิศทาง

1. ประเทศที่อำนาจนิยมรุกคืบ และรัฐบาลรับมือกับวิกฤตได้ดี (หรืออย่างน้อยก็สร้างภาพได้ดี) เช่น ฮังการี อินเดีย:

ภายหลังวิกฤต ผู้นำ strongman อย่าง วิคเตอร์ ออร์บัน หรือนาเรนดา โมดี อาจได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น การประท้วงต่อต้านรัฐบาลจะยากขึ้น การปราบปรามจะได้รับความชอบธรรมมากขึ้น ภาคประชาชนจะต้านนโยบายซึ่งกัดกร่อนคุณภาพประชาธิปไตยได้มีประสิทธิภาพน้อยลง

2. ประเทศที่อำนาจนิยมรุกคืบ แต่รัฐบาลรับมือได้แย่ เกิดเสียงวิจารณ์ต่อความไร้ประสิทธิภาพ ไร้ทิศทาง เช่น บราซิล ฟิลิปปินส์ ตุรกี:

ภายหลังวิกฤต กระแสสนับสนุนรัฐบาลอาจผ่อนลง คนที่เดือดร้อนไม่พอใจจะประท้วงหนักขึ้น รัฐบาลจะโต้กลับด้วยการปราบปราม หรือใช้มวลชนของตนข่มขู่ ทว่ามาตรการเหล่านี้อาจไม่ได้ผลเหมือนช่วงก่อนวิกฤต เพราะความชอบธรรมของรัฐบาลหดหาย เป็นไปได้ว่าการต่อสู้ของประชาชนจะต้านการรุกคืบของอำนาจนิยมในประเทศเหล่านี้ได้

3. ในประเทศเสาหลักของประชาธิปไตยอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษ ขีดจำกัดในการรับมือกับโรคระบาด รวมถึงผลข้างเคียงทางเศรษฐกิจ อาจยิ่งตอกย้ำความไม่เชื่อมั่นของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม:

ภายหลังวิกฤต ขบวนการภาคประชาชนต้านประชาธิปไตยอาจขยายตัว ยิ่งทำให้สังคมแบ่งเป็นสองฝักฝ่ายมากขึ้น (polarisation) ภาวะเช่นนี้อาจกลายเป็นต้นทุนให้ผู้นำขวาประชานิยมได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง

4. ประเทศประชาธิปไตยขนาดกลางถึงเล็ก เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เยอรมนี และเดนมาร์ก ซึ่งรับมือกับวิกฤตได้มีประสิทธิภาพ:

หลังวิกฤต รัฐบาลและระบอบประชาธิปไตยจะได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น การประท้วงจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตประชาธิปไตย ซึ่งช่วยสนับสนุนค้ำจุนระบอบ เป็นไปได้ว่ารัฐบาลเหล่านี้จะใส่ใจและตอบรับกับข้อเสนอภาคประชาสังคมเกี่ยวกับนโยบายสวัสดิการ การสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น

กล่าวโดยสรุป สองในสี่เส้นทางนี้ส่งเสริมกระแสรุกคืบของอำนาจนิยม ขณะที่อีกสองเส้นทางที่เหลือช่วยต้านกระแสนี้ โดยมีภาคประชาสังคมเป็นกำลังหลัก

สำหรับประเทศไทย ยังไม่แน่ว่าฉากทัศน์ที่หนึ่งหรือสองจะปรากฏหลังวิกฤตคลี่คลาย หากรัฐบาลยังคงแสดงความไร้ประสิทธิภาพในการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อไป เป็นไปได้ว่าไทยจะเดินไปในเส้นทางที่สอง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพลังภาคประชาสังคมด้วยว่าจะระดมสรรพกำลังได้มากน้อยเพียงใด และจะก้าวข้ามภาวะสังคมสองเสี่ยงได้หรือไม่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save