fbpx

ม็อบ ’63 อาจมีผิดหวัง แต่ไม่สิ้นหวัง: คุยเรื่องพลังม็อบเยาวชนผู้เด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว กับ พรรณราย โอสถาภิรัตน์

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในปี 2563 ทำให้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ 

ตั้งแต่วิธีการเคลื่อนไหว การประท้วงที่ใช้ป็อปคัลเจอร์หรืออัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มมาเชื่อมโยงเนื้อหาทางการเมืองจนเป็นภาพการชุมนุมหลากหลายอารมณ์ หรือวิธีการประท้วงแบบดาวกระจายที่กลายเป็นการ ‘แกง’ เจ้าหน้าที่รัฐให้ไปแล้วไม่เจอม็อบ ที่สำคัญคือเนื้อหาในขบวนการเรียกร้องที่ทะลุเพดานกว่าการประท้วงของภาคประชาชนที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับม็อบเยาวชนปี 2563-2564 แต่คนรุ่นที่ผ่านคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ตาม’ วิธีการของคนรุ่นใหม่ไม่ทัน 

ด้วยลักษณะการเคลื่อนไหวเช่นนี้ ทำให้นักวิชาการและคนที่สนใจการเมืองไทยต่างพยายามทำความเข้าใจและหาคำตอบคลื่นกระแสการตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชน โดยงานวิจัยชิ้นล่าสุดคือ ‘การมีส่วนร่วมของพลเมืองในยุคดิจิทัล: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน พ.ศ. 2563’ โดย พรรณราย โอสถาภิรัตน์, วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง, ดร. ทิพย์นภา หวนสุริยา และทีมวิจัย ได้แก่ สรัช สินธุประมา และสุดคนึง บูรณรัชดา ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจากแผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ศึกษาการเคลื่อนไหวม็อบปี 2563 ด้วยการหาคำตอบเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองในสายตาคนรุ่นใหม่ ในมิติที่เชื่อมโยงกับพลังทางวัฒนธรรมและสื่อดิจิทัล ผ่านการสนทนากลุ่มและผู้มีส่วนร่วมทางการเมืองในปี 2563 รวมทั้งนำข้อมูลในทวิตเตอร์มาวิเคราะห์ลักษณะการเคลื่อนไหวทางการเมือง

101 ชวนพรรณราย โอสถาภิรัตน์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ทำงานวิจัยนี้ พูดคุยถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแง่ที่ยึดโยงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรม คลื่นใต้น้ำอะไรที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว และตอบคำอธิบายว่าม็อบเยาวชนครั้งนี้เปลี่ยนความหมายการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองไทยไปอย่างไรบ้าง

การเคลื่อนไหวปี 2563 : ตามหาความหมายพลเมือง บทบาทของโลกดิจิทัลเชื่อมร้อยกับชีวิตจริง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะป๊อปคัลเจอร์

สามประเด็นหลักที่คณะผู้วิจัยต้องการหาคำตอบในการศึกษาการมีส่วนร่วมของพลเมืองในยุคดิจิทัล: การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน พ.ศ. 2563 คือ 1) ความเป็นพลเมืองและวัฒนธรรมพลเมือง 2) สื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล และ 3) วัฒนธรรมสมัยนิยม

ประเด็นแรก การตอบคำถามเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองและวัฒนธรรมพลเมือง แยกออกเป็นสองส่วนย่อย ส่วนที่หนึ่ง-พยายามตอบคำถามพื้นฐานว่าทำไมเยาวชนถึงออกมาม็อบ ปัญหาสำคัญที่พวกเขามองคืออะไร ซึ่งเป็นการต่อยอดจากงานศึกษาของกนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้ติดตามสัมภาษณ์เยาวชนในม็อบต่างๆ โดยทีมวิจัยนี้สนใจว่าเยาวชนอาจมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบและพื้นที่ที่หลากหลายนอกเหนือจากการไปม็อบ ซึ่งอาศัยแนวการวิเคราะห์จากงานศึกษาในโลกตะวันตกที่สนใจว่าเยาวชนประเมินประสิทธิผลของการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างไร และเชื่อมโยงไปสู่ส่วนที่สอง คือการตอบคำถามเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง เยาวชนมองเรื่องความเป็นพลเมืองที่ดีอย่างไร และมีจินตนาการความเป็นพลเมืองอย่างไร

“อาจารย์วรพจน์ได้เอาอ้างอิงกรอบคิดของการหาคำตอบเรื่องพลเมืองมาจากงานศึกษาเรื่องงานวิจัยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในโลกตะวันตก [1] ซึ่งพบว่า แม้จะมีแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นนี้ไม่สนใจการเมือง”

“จากงานดังกล่าว Bennett เสนอว่า เยาวชนอาจให้ความสำคัญกับการเป็น ‘พลเมืองยึดหน้าที่’ (dutiful citizen) น้อยลง แต่มีความเป็น ‘พลเมืองที่ลงมือเปลี่ยนแปลง’ (self-actualizing citizen) คือให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น การใช้สิทธิทางการเมืองในฐานะผู้บริโภค การทำงานอาสาสมัคร หรือการมีส่วนร่วมในเครือข่ายของกลุ่มตามความสนใจ รวมถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมข้ามชาติ และในแง่ของการสื่อสาร มีแนวโน้มที่เชื่อถือสื่อกระแสหลักน้อยลง ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกันผ่านสื่อดิจิทัล ซึ่งนำไปสู่การมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” 

ประเด็นที่สอง  ทำความเข้าใจบทบาทของสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนแรก-สำรวจหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับม็อบออแกนิกและการเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลกออนไลน์แบบออแกนิก โดยใช้แนวคิดของกรอบแนวคิดจากงานศึกษาของ Bennett & Segerberg [2] เพื่ออธิบายบทบาทของสื่อดิจิทัลในความเปลี่ยนแปลงของการจัดโครงสร้างองค์กรในการเคลื่อนไหวทางการเมือง จาก ‘การกระทำรวมหมู่’ (collective action) ซึ่งจำเป็นต้องมีองค์กรแกนนำในการจัดการเพื่อสร้างแรงจูงใจประสานให้เกิดการเคลื่อนไหวโดยมีเป้าหมายร่วมกัน หรือที่คนเรียกกันว่าเป็น ‘ม็อบจัดตั้ง’ มาสู่การเคลื่อนไหวภายใต้ ‘ตรรกะการกระทำแบบเชื่อมต่อ’ (logic of connective action) อย่างที่ปรากฏในการเคลื่อนไหวทางสังคม-การเมืองยุคหลังๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น occupy movement ในโลกตะวันตก, umbrella movement ในฮ่องกง 

ส่วนที่สอง-ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง เนื่องจากงานศึกษาในช่วงก่อนหน้านั้นยังมีการแยกส่วนม็อบออนไลน์และม็อบออฟไลน์อยู่ แต่ในงานวิจัยนี้มองว่าประสบการณ์ผู้คนในโลกออนไลน์-ออฟไลน์ไม่ได้แยกขาดจากกัน ซึ่งพรรณรายบอกว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอยู่แล้วในงานศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนาว่าด้วยสื่อดิจิทัล

“งานของอาจารย์ Aim Sinpeng[3] วิเคราะห์เนื้อหาจาก #เยาวชนปลดแอก และแสดงให้เห็นว่าทวิตเตอร์มีบทบาทในการก่อรูปและเผยแพร่แนวคิดของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย มากกว่าจะเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองในโลกออฟไลน์”

“และช่วงปลายปี 2563 มีงานตีพิมพ์ของอาจารย์เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์[4] ที่ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคดิจิทัลว่า จำเป็นต้องตระหนักถึงการประกอบร่วมกันระหว่างผู้กระทำที่เป็นมนุษย์และผู้กระทำที่ไม่ใช่มนุษย์ อย่างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและรูปแบบต่างๆ ของวัฒนธรรมสมัยนิยม เช่น มีม แฟนด้อม และซีรีส์โทรทัศน์ที่ไหลเวียนบนแพลตฟอร์มเหล่านั้น ข้อเสนอนี้สอดคล้องกับกรอบการศึกษาของโครงการวิจัยของเรา ที่ไม่ได้จำกัดมุมมองว่าสื่อดิจิทัลมาเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวอย่างไร แต่พยายามทำความเข้าใจว่าสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ชีวิต ซึ่งรวมถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนด้วย” 

ประเด็นที่สาม คือ ศึกษาป็อปคัลเจอร์หรือวัฒนธรรมสมัยนิยม แต่เดิมนักวิชาการมักสนใจการนำเอารูปแบบป็อปคัลเจอร์ต่างๆ มาเป็นสัญลักษณ์หรือนำเสนอประเด็นขับเคลื่อนทางการเมือง เช่น งานของ Annie Hui[5] ที่วิเคราะห์การดึงเอาการชูสามนิ้วจากภาพยนตร์ชุด The Hunger Games มาเป็นภาพสัญลักษณ์ของการกระทำรวมหมู่ที่ท้าทายวาทกรรมรัฐว่าด้วยประชาธิปไตย นับจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 จนถึง พ.ศ. 2563 

“แต่เนื่องจากในช่วงนั้น เราเห็นปรากฏการณ์ที่กลุ่มความสนใจร่วมต่างๆ เข้ามามีบทบาทร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจนมากขึ้น ในโครงการวิจัยนี้ เราจึงสนใจวัฒนธรรมสมัยนิยมในฐานะที่เป็นปริมณฑลของการบ่มเพาะวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (participatory culture) ด้วย คือสนใจว่าในบริบทที่สมาชิกเกิดความรู้สึกร่วมในการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ ได้นำไปสู่การมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง และการเมืองแบบมีส่วนร่วมอย่างไร” 

การหาคำตอบม็อบปี 2563 ภายใต้คำถามสามประเด็นนี้อยู่บนระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน ทั้งการเก็บข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณเพื่อตอบคำถามวิจัยได้ครอบคลุมที่สุด โดยจัดทำแบบสอบถามในเชิงปริมาณกับเยาวชนอายุ 15-25 ปี (อายุใน พ.ศ. 2563) จากทั่วประเทศจำนวน 2,022 คน ครอบคลุมทั้งเยาวชนที่อ้างอิงเพศสถานะเป็นชาย หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

พร้อมทั้งจัดสนทนากลุ่มกับเยาวชนอายุ 15-25 ปี ในกรุงเทพฯ ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช และสนทนากลุ่มกับเยาวชนที่มีส่วนร่วมในเครือข่ายขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมือง และเยาวชนที่อยู่ในกลุ่มสนใจร่วม ได้แก่ ตัวแทนจากกลุ่มวิชาชีพที่มีบทบาทสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตัวแทนกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลี ผู้สนใจประเด็นความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ ผู้ถ่ายทอดหรือผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับเกมออนไลน์ ผู้สนใจคริปโตเคอร์เรนซีและเทคโนโลยีบล็อกเชน รวมทั้งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนไหวพลเมืองด้วย

รวมทั้งนำข้อมูลจากทวิตเตอร์มาวิเคราะห์เชิงสถิติและแบบแผนการกระจายข้อความโดยคัดเลือกตัวอย่างจากข้อความทวีตที่ตั้งค่าการแสดงผลเป็นสาธารณะในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ถึง 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 และติดแฮชแท็กสองชุด ได้แก่ ชุดข้อความจากแฮชแท็กที่สะท้อนจินตนาการเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง ประกอบด้วย #ถ้าการเมืองดี และ #ให้มันจบที่รุ่นเรา และชุดข้อความจากแฮชแท็กเกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง 10 ครั้ง ในช่วง พ.ศ. 2563 

“ด้วยความที่เราเป็นนักมานุษยวิทยา ซึ่งโดยมากมักถูกมองว่าจะถนัดเก็บข้อมูลในระดับประสบการณ์ของบุคคล แต่มีข้อจำกัดในการเสนอคำอธิบายโดยเชื่อมโยงกับข้อมูลเชิงปริมาณในภาพรวม จึงเป็นความท้าทายเมื่อต้องศึกษาปรากฏการณ์ที่ยังมีการถกเถียงในประเด็นพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลเชิงปริมาณประกอบด้วย เช่น การประเมินจำนวนผู้เข้าร่วมเพื่อยืนยันหรือตั้งคำถามกับความชอบธรรมของการเคลื่อนไหว แม้ว่าสุดท้ายแล้วโครงการวิจัยฯ นี้จะไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเสนอคำตอบเป็นตัวเลขที่แน่นอนก็ตาม”

นิยามความเป็นพลเมืองที่ไม่ผูกโยงกับรัฐ 

ก่อนหาคำตอบในประเด็นแรกของงานวิจัยที่ว่าขบวนการเคลื่อนไหวปี 2563 มีความเชื่อในพลเมืองแบบไหน ทีมวิจัยเริ่มด้วยการการทำความเข้าใจคลื่นใต้น้ำที่ทำให้เกิดพายุความตื่นตัวทางการเมือง โดยเฉพาะคำถามที่ว่าคนในช่วงอายุ 15-25 ปีที่มีส่วนร่วมทางการเมืองในช่วงนั้น ได้ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองอะไรมาบ้าง และประเด็นถกเถียงทางการเมืองได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของพวกเขาจนตัดสินใจมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างไร 

“ในแง่บริบทเชิงประวัติศาสตร์สังคมการเมือง ส่วนใหญ่ของคนในกลุ่มอายุนี้เกิดมาในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 และส่วนหนึ่งเพิ่งได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2562 พวกเขาเติบโตมาในช่วงปีที่มีความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่อง ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง กปปส. หลายคนมีประสบการณ์ตรงกับความไม่ลงรอยทางการเมือง มีคนในครอบครัวที่เป็นทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง จึงอยู่ในบรรยากาศของการถกเถียงอย่างเข้มข้น จนกระทั่งสำหรับบางคนกลายเป็น ‘ปมฝังใจ’”

พรรณรายยกตัวอย่าง ‘ปมฝังใจ’ จากกรณีที่นักเรียนมัธยมปลายในจังหวัดนครศรีธรรมราชเล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนชั้นประถมต้นได้ร้องเพลงล้อเลียนอดีตนายกรัฐมนตรี แล้วพ่อโกรธมาก ด้วยความสงสัยว่าเหตุใดการร้องเพลงล้อเลียนอดีตนายกฯ ถึงทำให้พ่อไม่พอใจได้มากขนาดนั้น เจ้าตัวจึงเริ่มสนใจศึกษาการเมืองตั้งแต่อายุเพียงประมาณ 14 ปี

“เพราะฉะนั้น มันเป็นสิบกว่าปีที่หล่อหลอมให้คนแตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้าแน่นอน ถ้าเทียบกับคนรุ่นเราที่โตมาในยุคที่มีรัฐธรรมนูญ 2540 ตอนนั้นเราไม่ต้องถามว่า “ถ้าการเมืองดี…” แล้วจะเป็นอย่างไร หรือแม้กระทั่งคนที่อยู่ในวัยนักเรียน-นักศึกษาในยุคการเมืองแบบแบ่งขั้วหลังรัฐประหาร 2549 อาจจะมีภาพขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างจากนักเรียน-นักศึกษาในยุคนี้ แม้ว่าคนเหล่านี้จะออกมาร่วมเคลื่อนไหวในปี 2563 เหมือนกัน คุยเรื่องหลักการประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่มีจุดอ้างอิงประสบการณ์ทางการเมืองต่างจากเยาวชนที่ยังไม่เคยได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือเพิ่งจะได้ใช้สิทธิครั้งแรกในการเลือกครั้ง 2562”

นอกจากนี้ พรรณรายยังกล่าวว่าอีกประเด็นสำคัญที่ทำให้เยาวชนออกมาเคลื่อนไหวในปี 2563 เนื่องจากพวกเขาได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจนิยมในโรงเรียนด้วย ปัจจัยเหล่านี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นการแสดงออกในฐานะพลเมืองที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเมือง อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่น่าสนใจในงานวิจัยนี้คือ ผู้เข้าร่วมตอบแบบสอบถามไม่ได้มีทัศนคติเชิงบวกกับคำว่า ‘พลเมือง’ มากนัก

“จากการพูดคุย เยาวชนส่วนใหญ่บอกว่านึกถึงวิชาอย่างหน้าที่พลเมือง ซึ่งสื่อถึงหน้าที่ที่จะต้องทำมากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ตัวเองจะมีส่วนร่วมได้จริงๆ ”

ในขณะเดียวกัน ทีมวิจัยได้ทบทวนวรรณกรรมย้อนกลับไปในช่วงหลัง 2475 พบ คู่มือพลเมือง ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ใน 2479 มีข้อความว่า “ในครั้งก่อนพลเมืองไม่รู้ว่าตนมีสิทธิอย่างไร มีแต่หน้าที่แทบทั้งนั้น พลเมืองไม่มีเสียงในทางการเมือง ไม่มีโอกาสได้รู้เห็นในการปกครองของประเทศ” แต่ในสมัยรัฐธรรมนูญ “พลเมืองคือผู้มีสิทธิและหน้าที่อย่างพร้อมบูรณ์” และมีการเรียบเรียงลำดับเนื้อหาที่แสดงให้เห็นว่าพลเมืองจะต้องตระหนักในสิทธิก่อน ส่วนหน้าที่เป็นพันธะผูกพันตามมา

“นิยามจากคู่มือพลเมืองที่ตีพิมพ์ใน 2479 ต่างจากนิยามที่ได้รับการผลิตซ้ำผ่านระบบการศึกษาจนถึงปัจจุบันที่ไม่ให้ความสำคัญกับมิติเรื่องสิทธิ ซึ่งอาจมีส่วนทำให้เยาวชน ‘แคนเซิล’ คำนี้ไปเลย เราจึงได้เห็นว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 จะอ้างอิงกับคำอื่นๆ มากกว่า อย่างคำว่า ‘ประชาชน’ และคำที่เหมือนจะกลายเป็นอัตลักษณ์ร่วมของการเคลื่อนไหว คือคำว่า ‘ราษฎร’ ซึ่งในตอนต้นอาจจะดูเชื่อมโยงกับคณะราษฎร แต่ต่อมาก็ได้มีการนำไปใช้ในลักษณะที่ครอบคลุมความหลากหลายมากขึ้น เช่น ราษฎรใต้ ราษฎรโขงชีมูน เป็นต้น”    

“แต่เราก็ยังไม่ควรสรุปตั้งแต่ต้นว่าความเป็นพลเมืองของเยาวชนสอดคล้องหรือแตกต่างจากนิยามของรัฐไทยหรือนิยามในโลกตะวันตกอย่างไร และรวบรัดนำข้อสรุปนี้ไปเป็นกรอบในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการใช้สื่อดิจิทัลและป็อปคัลเจอร์กับการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองของเยาวชน สิ่งที่น่าสนใจคือการมีส่วนร่วมทางการเมืองในปี 2563 เป็นกระบวนการที่เยาวชนร่วมนิยามความเป็นพลเมืองอย่างไร แม้เขาอาจจะไม่ได้ใช้คำว่าพลเมืองก็ได้ แต่นี่จะเป็นโมเมนต์สำคัญ ที่นิยามความเป็นพลเมืองก่อรูปจากการมีส่วนร่วมของผู้คนจำนวนมาก ไม่ใช่การกำหนดโดยอำนาจรัฐหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกลุ่ม หรือตัวแบบความเป็นพลเมืองในบริบทสังคมอื่นๆ ในส่วนนี้ เราได้ไอเดียมาจากงานสายมานุษยวิทยาซึ่งอาจจะมีมุมมองต่างไปจากงานศึกษาการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสายรัฐศาสตร์หรือสายสื่ออยู่บ้าง”

เมื่อ #ถ้าการเมืองดี คือจินตนาการถึงความหวัง และ #ให้มันจบที่รุ่นเรา เป็นภาพสะท้อนความผิดหวัง

แม้การเจอความขัดแย้งทางการเมืองและวงจรรัฐประหารของคนวัย 15-25 ปี จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาออกมาเรียกร้อง อีกปัจจัยหนึ่งคือการเมืองในช่วงนั้นทำให้พวกเขาเจอกับ ‘ความผิดหวัง’ และเมื่อพวกเขามีภาพการเมืองในฝัน บ้านเมืองในฝันที่อยากเห็นตัวเองใช้ชีวิตอยู่แล้ว ทำให้เกิด ‘ช่องว่างของความคาดหวัง’ ระหว่างชีวิตที่ต้องการกับความเป็นไปในการเมืองถ่างกว้างมากขึ้น ยิ่งกระตุ้นให้เยาวชนต้องลงถนนเพื่อขับเคลื่อน ‘ความหวัง’ ของพวกเขา

“อาจารย์ทิพย์นภาได้ประมวลรายการของประเด็นสาธารณะ 11 รายการ เพื่อให้เยาวชนประเมินว่าสนใจหรือให้ความสำคัญกับแต่ละประเด็นอย่างไร และพึงพอใจกับสภาวะของประเด็นต่างๆ ตามที่เป็นอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน พบว่าเยาวชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าแทบทุกประเด็นมีความสำคัญมาก โดยประเด็นที่มีความสำคัญสูงสุดคือคุณภาพการศึกษา สิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพความเป็นส่วนตัว แต่ขณะเดียวกันก็ไม่พึงพอใจกับสถานการณ์ของทุกประเด็นในบริบทสังคมไทย โดยประเด็นที่พึงพอใจน้อยที่สุดคือความยุติธรรมในสังคม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และระบบอำนาจนิยมในวัฒนธรรมไทย ตามลำดับ”

“เมื่อเยาวชนเห็นว่าทุกประเด็นสำคัญมากและรู้สึกว่ายังไม่พึงพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของทุกประเด็น อาจารย์ทิพย์นภาจึงได้คำนวณหาค่าเฉลี่ยรวมทุกประเด็น เสนอเป็น ‘ดัชนีช่องว่างความคาดหวังต่อประเด็นสาธารณะ’ โดยในส่วนนี้ อาจารย์ทิพย์นภามีสมมติฐานว่าการตัดสินใจเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน จะสัมพันธ์กับความเชื่อมั่นของเยาวชนต่อการรับฟังของรัฐ ซึ่งจะช่วยเติมเต็มช่องว่างของความคาดหวังนี้ได้ ยิ่งรู้สึกถึงช่องว่างขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการเติมเต็มเช่นนี้ในทุกเรื่อง ก็ยิ่งมีแรงจูงใจที่อยากเปลี่ยนแปลง และมีส่วนนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมือง 

แผนภาพ 1 : ค่าเฉลี่ยคะแนนประเมินความสำคัญและความพึงพอใจต่อประเด็นสาธารณะต่างๆ ในปัจจุบัน (ที่มา: โครงการวิจัยฯ)

ตัวอย่างของความเชื่อมโยงดังกล่าวนี้ ปรากฏในการสื่อสารผ่านแฮชแท็กขับเคลื่อนประเด็นถกเถียงทางการเมือง ซึ่งเป็นที่จดจำเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวในปี 2563 ได้แก่ #ถ้าการเมืองดี และ #ให้มันจบที่รุ่นเรา”

จากนั้นวลีนี้ก็ค่อยๆ มีพัฒนาการในการใช้งานเฉลี่ยเดือนละไม่ถึง 10 ครั้ง จนกระทั่งในช่วงค่ำของวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันชุมนุมครั้งแรกเยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีข้อความทวีตที่ใช้คำว่า ‘ถ้าการเมืองดี’ ที่มีความถี่สูงอย่างก้าวกระโดด จนถึงช่วงบ่ายของวันที่ 19 กรกฎาคม มีการทวีตวลีนี้มากกว่า 200 ข้อความ จนนำมาสู่การชวนติดแท็ก #ถ้าการเมืองดี ในทวิตเตอร์

“เมื่อทำการวิเคราะห์แก่นสาระจากชุดข้อความที่มีจำนวนรีทวีตสูงสุด 1,000 ลำดับแรก พบว่าข้อความที่ติด #ถ้าการเมืองดี สะท้อนความคาดหวังของผู้ใช้งานทวิตเตอร์เกี่ยวกับประเด็นปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ การใช้ชีวิตประจำวันหรือคุณภาพชีวิต ศิลปะและวัฒนธรรมสมัยนิยม สูงที่สุดเป็น 3 อันดับแรก ก่อนจะเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างอย่างการบริหารจัดการโดยรัฐ สิทธิมนุษยชน การศึกษา ระบอบการปกครอง ฯลฯ ในแง่นี้จึงอาจจะมองได้ว่า #ถ้าการเมืองดี สะท้อนจินตนาการและความหวังร่วมกันว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม-การเมืองจะสามารถช่วยให้มีชีวิตที่ดีขึ้นจากจุดที่เป็นอยู่ได้”

แผนภาพ 2 จำนวนและอัตราการแพร่กระจายของข้อความทวีตที่ติด #ถ้าการเมืองดี ในกลุ่มประเด็นต่างๆ
(ที่มา: โครงการวิจัยฯ โดย สรัช สินธุประมา)

#ถ้าการเมืองดี คือการแสดงออกถึง ‘ความหวัง’ ต่อสังคมการเมือง  ส่วนคู่ขนานที่มาด้วยกันและแสดงออกถึง ‘ความผิดหวัง’ คือข้อความที่สะท้อนผ่าน #ให้มันจบที่รุ่นเรา ซึ่งเป็นแฮชแท็กที่ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 หลังจากการชุมนุมเยาวชนปลดแอกวันที่ 18 กรกฎาคม ทีมวิจัยได้นำข้อความที่มีรีทวีตสูงสุดในแฮชแท็กนี้จำนวน 1,000 ข้อความมาวิเคราะห์แก่นสาระของแฮชแท็กดังกล่าว

“ส่วนใหญ่เป็นการสื่อสารถึงความผิดหวังของผู้คน ตั้งแต่ความผิดหวังต่อระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ความจำเป็นที่ต้องตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และประเด็นสิทธิมนุษยชน ส่วนชุดข้อความที่ไม่สามารถระบุกลุ่มประเด็นได้ชัดเจน และกลุ่มข้อความที่ผู้ทวีตเลือกใช้ #ให้มันจบที่รุ่นเรา เพื่อสื่อสารในบริบทที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมสมัยนิยม โดยบางส่วนไม่มีเนื้อความเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนั้นเลย ก็แสดงให้เห็นแนวโน้มว่าประเด็นขับเคลื่อนทางการเมืองในขณะนั้น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสมัยนิยมไปด้วย”

แผนภาพ 3 จำนวนและอัตราการแพร่กระจายของข้อความทวีตที่ติด #ให้มันจบที่รุ่นเรา ในกลุ่มประเด็นต่างๆ
(ที่มา: โครงการวิจัยฯ โดย สรัช สินธุประมา)

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมผลการวิเคราะห์จำนวนและอัตราการแพร่กระจายข้อมูลในประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จึงมีตัวเลขไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับสถานการณ์การเมืองในช่วงนั้นที่เยาวชนเริ่มพูดถึงประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แล้ว คำตอบคือ ข้อจำกัดในการทำงานวิจัยนี้เข้าถึงข้อความทวีตที่ตั้งค่าเผยแพร่แบบสาธารณะเพียงเท่านั้น

“ตราบใดที่การสื่อสารเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ยังถูกควบคุมด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 และการบังคับใช้ที่ไม่มีหลักการชัดเจน ก็เป็นเรื่องยากสำหรับงานวิจัยที่เก็บข้อมูลจากโซเชียลมีเดียเช่นนี้ จะสามารถอ้างสรุปได้ว่าเข้าถึงข้อมูลในประเด็นดังกล่าวอย่างครอบคลุมแล้ว อย่างไรก็ตาม นอกจากข้อจำกัดในการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ในส่วนของข้อมูลจากการสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์ได้ช่วยให้สามารถทำความเข้าใจได้มากขึ้นว่าข้อเรียกร้องที่ดูเหมือนเป็นประเด็นอ่อนไหวส่วนหนึ่งก็เป็นผลเชื่อมโยงมาจากหลากหลายปัญหาที่ส่งผลกระทบในระดับชีวิตประจำวันของเยาวชนด้วย”

พลเมืองที่ต้องการทำตามหน้าที่และจำใจลงมือเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน?

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า ทีมวิจัยได้อ้างอิงกรอบคิดเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองของ Bennett[6] ในการทำความเข้าใจการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ เปรียบเทียบระหว่างบรรทัดฐานแบบ ‘พลเมืองยึดหน้าที่’ และ ‘พลเมืองที่ลงมือเปลี่ยนแปลง’ ทีมวิจัยได้ปรับใช้กรอบคิดดังกล่าวในการตอบคำถามว่า เยาวชนจัดการกับ ‘ช่องว่างของความคาดหวัง’ ที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างไร โดยทิพย์นภา หนึ่งในทีมวิจัยได้นำเสนอการวิเคราะห์องค์ประกอบของพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน จากผลการวิจัยเชิงสำรวจ โดยสามารถจำแนกตามบรรทัดฐานทั้งสองแบบได้ดังนี้

บรรทัดฐานแบบพลเมืองยึดหน้าที่ สามารถจำแนกองค์ประกอบได้เป็น หนึ่ง-การใช้สิทธิและการตรวจสอบ เช่น การร่วมออกเสียงในการทำประชาพิจารณ์ต่างๆ การเลือกตั้ง การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ สอง-การทำหน้าที่ เช่น การติดตามและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านสื่อสังคม การร่วมชุมนุม การยึดมั่นตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล การบอยคอต/สนับสนุนบุคคลหรือองค์กรเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง

บรรทัดฐานแบบพลเมืองที่ลงมือเปลี่ยนแปลง สามารถจำแนกองค์ประกอบได้เป็น หนึ่ง-การแสดงความเห็นและจุดยืน เช่น การติดตามและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านสื่อสังคม การร่วมชุมนุม การยึดมั่นตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล การบอยคอต/สนับสนุนบุคคลหรือองค์กรเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง และ สอง-การช่วยเหลือสังคม เช่น การลงมือลงแรงช่วยเหลือ พัฒนาสังคม หรือชุมชนรอบตัวโดยไม่คาดหวังสิ่งตอบแทน

“เมื่อพิจารณาค่าสหสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้งหมดนี้ พบว่ามีความสัมพันธ์กันสูง ซึ่งแสดงว่าเยาวชนไม่ได้เลือกทำเฉพาะพฤติกรรมตามพลเมืองยึดหน้าที่หรือพลเมืองที่ลงมือเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง เยาวชนมองว่าความเป็นพลเมืองที่ดีคือการให้ความสำคัญกับการแสดงความเห็นและจุดยืนของตนเอง พร้อมทั้งลงมือช่วยเหลือผู้อื่นโดยอิสระ ก็ให้ความสำคัญกับการทำตามหน้าที่ และใช้สิทธิและตรวจสอบการทำงานของรัฐเช่นกัน”

พรรณรายอธิบายอีกว่าผลวิเคราะห์นี้สอดคล้องกับการสัมภาษณ์เยาวชนเกี่ยวกับการเป็นอาสาสมัคร โดยเฉพาะในการเคลื่อนไหวปี 2563 จะมีกลุ่มอาสาต่างๆ ทั้งการจัดสถานที่ กลุ่มทางการแพทย์ ไปจนถึงกลุ่มหน่วยข่าวสารต่างๆ ซึ่งแม้หลายคนจะตั้งคำถามกับการทำงานเพื่อการกุศลหรือการเป็น ‘จิตอาสา’ เนื่องจากมองว่าถ้าหากรัฐทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพก็จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามกลไกของรัฐได้ โดยไม่ต้องพึ่งพากิจกรรมอาสาต่างๆ แต่ถ้าไม่ตัดสินใจทำในตอนนั้น ก็ไม่มีวันรู้เลยว่าเมื่อไหร่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงหวังว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบที่ไม่ต้องพึ่งพางานอาสาไปทุกเรื่อง และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำงานและใช้ชีวิตอย่างที่ฝันไว้  

โดยสรุปคือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนไทยคือการทำตามหน้าที่และลงมือเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน ซึ่งแตกต่างจากข้อสรุปการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในโลกตะวันตก โดยพรรณรายอธิบายว่าอาจเพราะในโลกตะวันตกไม่ต้องกลัวการรัฐประหาร และไม่ต้องเรียกร้องระบบโครงสร้างการเมืองพื้นฐานเหมือนกับเยาวชนไทย ซึ่งยังต้องต่อสู้เพื่อสิทธิพื้นฐานทางการเมืองอย่างยากลำบาก ไม่ว่าจะต่อต้านการรัฐประหาร หรือแม้แต่สิทธิในกระบวนการยุติธรรม 

“เยาวชนในโลกตะวันตกรู้ว่าอย่างไรก็ได้เลือกตั้งตามวาระแน่ๆ เพียงแต่เขาอาจประเมินว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งมีประสิทธิผลทางการเมืองต่ำ ก็เลยเลือกที่จะไม่ทำ แล้วลงมือไปเปลี่ยนแปลงในกลุ่มต่างๆ คนส่วนใหญ่อาจมองว่าเยาวชนไทยให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล การแสดงจุดยืนทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย การบอยคอต แต่ต้องไม่ลืมว่าพวกเขายังต้องต่อสู้เพื่อสิทธิพื้นฐานทางการเมืองหลายๆ เรื่องอย่างยากลำบากด้วย”

“ถ้าเราตระหนักถึงเงื่อนไขเหล่านี้ ก็จะเข้าใจได้ว่าทำไมเยาวชนที่ตอบแบบสอบถามในงานวิจัยนี้ ถึงให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด ทำไมเยาวชนจึงมีความตื่นตัวในการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหวังว่าจะได้มีกติกาที่เป็นธรรม หรือบางคนยังบอกกับเราว่า อยากลงสมัครเป็น ส.ส. เพราะเขารู้สึกว่าต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงระบบให้ดีก่อน” 

“ดังนั้นในท่ามกลางความไม่พอใจที่ว่า ‘เด็กๆ’ มีท่าทีก้าวร้าว และความวิตกกังวลต่อข้อเรียกร้องต่างๆ เราคิดว่าถ้าเปิดใจรับฟังและพยายามทำความเข้าใจจริงๆ จะเห็นว่า ภาพรวมการเคลื่อนไหวในปี 2563 ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว แม้ว่าจะมีบางส่วนที่พูดถึงระบบการปกครองที่หลากหลาย แต่สุดท้ายก็ต้องการเน้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในระบบปัจจุบันให้กลับมายึดหลักประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์และความเสมอภาคทางกฎหมายมากกว่า”

“เรามีมวลชนอยู่กับเราที่หน้าจอโทรศัพท์” เมื่อม็อบออนไลน์คือโลกเดียวกันกับม็อบลงถนน

หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่าการเรียกร้องผ่านทางออนไลน์ไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เท่ากับการออกมาเคลื่อนไหวบนถนนจริงๆ หรือในวงวิชาการบางสาขายังคงเชื่อว่าโลกดิจิทัลและโลกทางกายภาพแยกจากกันอยู่ แต่ในทางสังคมศาสตร์-มนุษย์ศาสตร์ ก็มีงานศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าทั้งสองโลกเชื่อมร้อยเป็นโลกเดียวกันมาระยะหนึ่งแล้ว 

ในงานศึกษานี้จึงพยายามอธิบายปฏิสัมพันธ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนในโลกดิจิทัลและโลกทางกายภาพเชื่อมร้อยเข้าด้วยกัน ตัวอย่างที่เราเห็นได้ง่ายที่สุดคือคนในต่างจังหวัดสามารถติดตามการชุมนุมในกรุงเทพฯ ได้ผ่านการติดตามในแฮชแท็กที่ระบุวันชุมนุมและสถานที่ชุมนุมแต่ละครั้ง  

“ความแตกต่างของการเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีสื่อสารกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากในอดีต เวลาคนพูดถึงยุคพฤษภา 2535 ว่าเป็น ‘ม็อบมือถือ’ เรานึกถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ในฐานะที่เป็นหนึ่งในวัตถุที่เชื่อมโยงกับภูมิหลังทางสังคม-เศรษฐกิจของผู้เข้าร่วมการชุมนุม หรือถ้าพูดถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2550 เราก็อาจจะนึกถึงโซเชียลมีเดียในฐานะแพลตฟอร์มที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง แต่ปริมาณของข้อมูลและประสบการณ์ร่วมเวลายังจำกัดกว่าในปัจจุบัน”

ตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นคือการไลฟ์ ซึ่งนักกิจกรรมมักใช้เมื่อถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จากการพูดคุยกับตัวแทนเครือข่ายขับเคลื่อนในจังหวัดขอนแก่น พวกเขายอมรับกับทีมวิจัยว่าในระยะแรกยังไม่ค่อยกล้าไลฟ์ เพราะกังวลว่าจะกลายเป็นหลักฐานให้เจ้าหน้าที่รัฐหาเหตุนำมากลับมาใช้ดำเนินคดี แต่ในช่วงปี 2563 เริ่มสังเกตว่าผู้ติดตามเพจของเครือข่ายในเฟซบุ๊กให้ความสนใจการไลฟ์เมื่อพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่รัฐตามมาคุกคามถึงที่พัก เพราะต้องการช่วย ‘ติดตามและสอดส่องว่ารัฐคุกคามประชาชนอย่างไรบ้าง’ 

“ส่วนนักกิจกรรมในจังหวัดชลบุรีก็เห็นด้วยว่าก่อนปี 2563 ยังไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตอบโต้การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าในปัจจุบัน ก่อนหน้านั้นพวกเขาอาจต้องยอมประนีประนอมตามสถานการณ์ แต่เดี๋ยวนี้ พอยกกล้องขึ้นมาถ่าย อย่างน้อยเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นก็จะต้องปรับท่าทีให้ดูคุกคามน้อยลง ช่วยลดความตึงเครียดของสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่สรุปได้เห็นภาพชัดเจนว่า เขามักตัดสินใจไลฟ์ทันทีเมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาคุยหรือทำอะไรก็ตาม เพราะ ‘เรามีมวลชนอยู่กับเราที่หน้าจอโทรศัพท์’ ”  

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ได้มาจากวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ จากการทำแบบสอบถามที่มีชุดคำถามแยกการมีส่วนร่วมทางออฟไลน์และออนไลน์ แต่เมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของพฤติกรรมของทั้งสองแล้ว พบว่ามีค่าสหสัมพันธ์ระหว่างกันสูงมากจนแทบเรียกได้ว่าเป็นตัวแปรเดียวกัน และยืนยันข้อเสนอว่า เยาวชนที่มีคะแนนพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านช่องทางออนไลน์สูง ก็มักมีคะแนนการมีส่วนร่วมทางการเมืองในพื้นที่ออฟไลน์สูงเช่นกัน 

“เช่น การรณรงค์ #เว้นเซเว่นทุกWednesday เป็นทั้งการแสดงจุดยืนและลงมือทำกิจกรรมเคลื่อนไหวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และในขณะเดียวกัน บางคนก็อาจร่วมเคลื่อนไหวในโลกกายภาพด้วยการไม่ซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อในชีวิตจริงด้วย”

นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างออนไลน์และออฟไลน์จะไม่ได้แยกขาดจากกันแล้ว การมีส่วนร่วมยังไม่ได้ทำเป็นเพียงเรื่องปัจเจกเท่านั้นด้วย พรรณรายยกตัวอย่างกรณีของนักศึกษาคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมให้ข้อมูลในงานวิจัยนี้ เนื่องจากครอบครัวเป็นห่วงการออกมาเรียกร้องบนถนน พี่ชายกับน้องสาวจึงทำ ‘สัญญาใจ’ ให้พี่ชายเป็นตัวแทนในการออกมาบนถนน ส่วนน้องสาวเป็นคนคอยติดตามข้อมูลจากทางออนไลน์ให้

“ถ้าเค้าตอบแบบสอบถามที่แยกระหว่างการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบออนไลน์/ออฟไลน์ เราก็จะได้ข้อมูลว่าน้องสาวมีส่วนร่วมทางการเมืองเฉพาะในพื้นที่ออนไลน์ แต่ถามว่าประสบการณ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเค้าจำกัดเฉพาะในโลกออนไลน์หรือไม่ แน่นอน คำตอบคือ ‘ไม่’ เพราะนอกจากพี่จะไปเข้าร่วมการชุมนุมในฐานะปัจเจกแล้ว ยังเป็นตัวแทนทำในสิ่งที่น้องไม่สามารถไปเข้าร่วมด้วยตัวเอง ส่วนน้องอยู่ที่บ้าน แต่จะคอยเช็กข่าวการชุมนุมให้พี่ หากเห็นว่ามีสถานการณ์สุ่มเสี่ยงก็จะติดต่อบอกพี่ ก็จะเห็นว่ามีลักษณะเป็นประสบการณ์ร่วมของทั้งสองคนมากกว่า”

ในแง่นี้ แม้งานวิจัยจะไม่สามารถให้คำตอบแบบตรงไปตรงมาได้ว่า การเชื่อมโยงจากการมีส่วนร่วมในโลกออนไลน์ไปสู่โลกกายภาพ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 มีพลังมากกว่าที่ผ่านๆ มาหรือไม่ แต่เราสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าในบริบทที่เป็นโลกดิจิทัล (ไม่ได้แยกระหว่างออนไลน์/ออฟไลน์) ประสบการณ์การมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับปัจเจกมีความเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ร่วมมากขึ้น และนี่อาจจะเป็นคำอธิบายถึง ‘พลัง’ ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลกดิจิทัล โดยตระหนักถึงความซับซ้อนของปรากฏการณ์ในปี 2563-2564 และช่วยให้เข้าใจกระบวนการที่พลังนั้นคลี่คลายสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันได้มากกว่า

ทวิตเตอร์กับการกระจายอำนาจการสื่อสารและการเคลื่อนไหวแบบออแกนิก

ทีมวิจัยได้นำข้อมูลในทวิตเตอร์มาทำการวิเคราะห์ในสามแบบ คือการวิเคราะห์แบบแผนการสื่อสาร การวิเคราะห์เนื้อหา และการวิเคราะห์แบบแผนการกระจายข้อมูลด้วยกราฟ ทั้งสามหลักการนี้ทำให้ได้ข้อสรุปสองประเด็นใหญ่ คือ หนึ่ง-ทวิตเตอร์ทำให้เกิดการกระจายอำนาจในการสื่อสารประเด็นการเมือง สอง-การสื่อสารที่เชื่อมต่อศูนย์กลางกับการขับเคลื่อนด้วยมวลชน

ประเด็นแรกเป็นการวิเคราะห์แบบแผนการสื่อสาร วรพจน์และทีมวิจัยได้ประมวลข้อมูลผู้ทวีตข้อความ พบแบบแผนที่น่าสนใจ ได้แก่ 

1) จากการวิเคราะห์ชุดข้อความที่มีการรีทวีตสูงสุด 100 อันดับแรกของชุดข้อมูลตัวอย่าง 10 แฮชแท็กเกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง (เข้าถึงข้อความได้ 977 ข้อความ) พบว่าเป็นข้อความที่ทวีตโดยบุคคลทั่วไป 731 ข้อความ ในจำนวนนี้ มีข้อความทวีตของบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีถึง 357 ข้อความ มากกว่าข้อความทวีตของกลุ่มสื่อหรือบุคคลสาธารณะซึ่งมีจำนวนรวมกันทั้งหมดเพียง 266 ข้อความ

นั่นหมายความว่า กลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีและกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากทวิตเตอร์มีคุณลักษณะที่เอื้อให้บุคคลทั่วไปสามารถมีบทบาทในการขับเคลื่อนการสื่อสารประเด็นทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายอย่างหลวมๆ และมีทักษะในการสื่อสารประเด็นทั้งในเชิงข้อมูลและเชิงอารมณ์ 

2) ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่เน้นการสื่อสารในนามส่วนตัวมากกว่าในนามองค์กร เช่น ผู้ใช้งานที่เป็นสื่อหรือนักการเมือง มักจะทวีตข้อความจากบัญชีส่วนตัวเพื่อแสดงความเห็นในฐานะปัจเจก ส่วนบัญชีผู้ใช้งานทางการขององค์กรสื่อ พรรคการเมือง หรือองค์กรภาคประชาสังคม จะมีบทบาทในฐานะที่เป็นผู้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งบุคคลทั่วไปหรืออินฟลูเอนเซอร์สามารถโควตทวีตเพื่อสื่อสารประเด็นตามความต้องการของแต่ละคน เช่น การแสดงความเห็นแย้ง การเสริมมิติเชิงอารมณ์ การแสดงออกเชิงอารมณ์ผ่านข้อความ เป็นกระบวนการที่ทำให้สามารถเชื่อมโยงการสื่อสารประเด็นทางการเมืองไปสู่กลุ่มความสนใจร่วมอื่นๆ ในบริบทที่เป็นสาธารณะมากขึ้นได้ 

3) จากการวิเคราะห์หน้าที่เชิงการสื่อสารของข้อความทวีต โดยสุ่มข้อความตัวอย่าง 100 ข้อความจาก 10 แฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง พบว่ากว่า 60% เป็นการแสดงออกด้านอารมณ์ความรู้สึก และถ้าเรียงลำดับตามช่วงเวลาจะเห็นการเคลื่อนของหน้าที่เชิงการสื่อสารจากการแสดงความรู้สึกไม่พอใจ การเชิญชวนให้ร่วมรณรงค์ทางการเมือง การสนับสนุนด้านอารมณ์ ไปจนถึงการให้ข้อมูลและรายงานสถานการณ์การชุมนุม ดังนี้ 

ในช่วงของการชุมนุมระลอกแรก (ต้นปี 2563) ข้อความกระจุกตัวในกลุ่มที่เป็นการแสดงความรู้สึกไม่พอใจ เมื่อมีการประกาศมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้น ข้อความส่วนใหญ่เป็นการเชิญชวนให้รีทวีต ตอบกลับ และแท็กเพื่อนเพื่อรณรงค์ด้านการเมือง โดยเฉพาะ #saveวันเฉลิม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้จะถูกห้ามไม่ให้จัดการชุมนุมทางการเมืองในโลกกายภาพ แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่การก่อตัวของการชุมนุมในช่วงครึ่งปีหลัง

แผนภาพ 4: การกระจายของข้อความทวีตตามแฮชแท็กการชุมนุมต่างๆ
(ที่มา: โครงการวิจัยฯ โดย สรัช สินธุประมา)

ในช่วงของการชุมนุมระลอกสอง นับตั้งแต่ #เยาวชนปลดแอก ในเดือนกรกฎาคม 2563 ข้อความส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนด้านอารมณ์ จนเมื่อมีการจับกุมนักกิจกรรมที่มีบทบาทนำในการเคลื่อนไหวในเดือนตุลาคม และเกิดการชุมนุมแบบ ‘ไร้แกนนำ’ กลุ่มข้อความที่พบได้มากที่สุดกลายเป็นการให้ข้อมูลและรายงานสถานการณ์ เนื่องจากผู้ร่วมชุมนุมมักใช้ทวิตเตอร์เพื่อประสานงานในระหว่างการชุมนุม ซึ่งสะท้อนลักษณะของการกระทำแบบเชื่อมต่อที่มีองค์กรขับเคลื่อนบางส่วน 

ต่อข้อสังเกตที่ว่าการเคลื่อนไหวในปี 2563 มีลักษณะเด่น คือเป็นการชุมนุมแบบ ‘ไร้แกนนำ’ หรือ ‘ออร์แกนิก’ การวิเคราะห์แบบแผนการกระจายข้อมูลด้วยกราฟโดยปรานปราชญ์ วัฒนา หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ได้ช่วยให้ทีมวิจัยสามารถทำความเข้าใจแบบแผนการจัดโครงสร้างองค์กรในการเคลื่อนไหว ผ่านชุดข้อความตัวอย่างที่ติดแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ในที่นี้จะขอสรุปประเด็นสำคัญจากแบบแผนการกระจายข้อมูลใน #saveอนาคตใหม่ #saveวันเฉลิม #เยาวชนปลดแอก #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร #16ตุลาไปแยกปทุมวัน และ #ม็อบ17ตุลา โดยเชื่อมโยงกับกรอบการอธิบายการจัดโครงสร้างองค์กรการเคลื่อนไหวแบบการกระทำรวมหมู่และการกระทำแบบเชื่อมต่อ ดังนี้

หนึ่ง-ด้วยแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงพรรคอนาคตใหม่กับการสนับสนุนจากแฟนคลับศิลปินเกาหลี ทำให้เมื่อ #saveอนาคตใหม่ ขึ้นเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์ ทำให้หลายคนมองว่ามีลักษณะคล้ายกับการ ‘เทรนด์แท็ก’ โดยกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลี แต่กราฟแสดงแบบแผนกระจายข้อมูลในแฮชแท็กดังกล่าว ยังมีลักษณะเป็นการกระจายข้อมูลจากศูนย์กลางที่เป็นบัญชีทางการขององค์กรหรือบุคคล อย่างเช่น พรรคการเมือง สื่อสารมวลชน หรืออินฟลูเอนเซอร์การเมืองเป็นหลัก โดยในกลุ่มบัญชีผู้ใช้งานที่ถูกโควตทวีตข้อความต่อไปสูงที่สุด 25 ลำดับแรกของแฮชแท็กนี้ มีบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีเพียง 1 บัญชี 

แผนภาพ 5: กราฟความสัมพันธ์ระหว่างบัญชีผู้ใช้งานที่โควตทวีตข้อความในแฮชแท็ก #saveอนาคตใหม่
(ที่มา: โครงการวิจัยฯ โดย ปรานปราชญ์ วัฒนา)

สอง-แบบแผนการกระจายข้อมูลที่สะท้อนถึงตรรกะการกระทำแบบเชื่อมต่อที่ขับเคลื่อนโดยมวลชน (crowd-enabled) เริ่มปรากฏให้เห็นใน #saveวันเฉลิม และขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นอย่างชัดเจนใน #เยาวชนปลดแอก โดยมีการส่งต่อข้อมูลผ่านการโควตทวีตต่อๆ กันโดยบัญชีผู้ใช้งานจำนวนมากและหลากหลายกลุ่มกว่า #saveอนาคตใหม่ และมีอินฟลูเอนเซอร์หรือบัญชีผู้ใช้งานที่มีชื่อเสียงจากแวดวงอื่นๆ เริ่มมีบทบาทในการกระจายข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะ #เยาวชนปลดแอก ครอบคลุมจำนวนบัญชีผู้ใช้งานที่โควตทวีตข้อความมากถึง 19,360 บัญชี แต่กลุ่มที่มีศูนย์กลางร่วมกัน (node) ขนาดใหญ่ที่สุด 5 ลำดับแรก คิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่า 1% ทั้งหมด แสดงว่ามีสัดส่วนของการรวมศูนย์ในการสื่อสารน้อยมาก 

แบบแผนข้างต้นต่างไปจากความรับรู้ของคนส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ ที่มักเชื่อกันว่าบัญชีผู้ใช้งานที่มีผู้ติดตามเยอะๆ จะเป็นศูนย์กลางกระจายข้อมูลที่สำคัญ นอกจากนี้ ในบางสถานการณ์ บัญชีผู้ใช้งานที่มีผู้ติดตามเยอะๆ อย่างศิลปินหรือนักแสดงก็ไม่สามารถประเมินได้ว่าข้อความของตนแพร่กระจายไปไนวงกว้างแค่ไหน

“ในช่วง #saveวันเฉลิม มีนักแสดงคนหนึ่งทวีตข้อความโดยตอนหนึ่งกล่าวประณามการกระทําที่ไร้มนุษยธรรม แม้ว่าจะไม่ได้ติดแท็กใดๆ เลย แต่มีคนโควตทวีตและติด #saveวันเฉลิม มากเป็นลําดับที่ 12 ของบัญชีผู้ใช้งานที่มีจํานวนโควตทวีตสูงที่สุดในแฮชแท็กนั้น ในทางตรงกันข้าม มีศิลปินอีกคนทวีตข้อความและติดแฮชแท็กที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับประเด็นการเมืองเลย แต่มีคนตีความว่าเป็นการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับประเด็นรณรงค์ในขณะนั้น ก็เลยกลายเป็นว่ามีคนโควตทวีตข้อความในเชิงวิพากษ์วิจารณ์จนมีจํานวนโควตทวีตโดยติด #saveวันเฉลิม มากเป็นลําดับที่ 14 ทั้งสองกรณีนี้แสดงให้เห็นว่าการติดแฮชแท็กรณรงค์ทางการเมืองเป็นการขยายพื้นที่สื่อสารประเด็นทางการเมืองของคนทั่วไป โดยอาศัยฐานฟอลโลเวอร์ของผู้มีชื่อเสียงที่มีจํานวนมากอยู่แล้ว” 

แผนภาพ 6: กราฟความสัมพันธ์ระหว่างบัญชีผู้ใช้งานที่โควตทวีตข้อความในแฮชแท็ก #saveวันเฉลิม 
(ภาพขยายส่วนที่มีความหนาแน่นของการกระจายข้อมูล; ที่มา: โครงการวิจัยฯ โดย ปรานปราชญ์ วัฒนา)
แผนภาพ 7: กราฟความสัมพันธ์ระหว่างบัญชีผู้ใช้งานที่โควตทวีตข้อความในแฮชแท็ก #เยาวชนปลดแอก
(ภาพขยายส่วนที่มีความหนาแน่นของการกระจายข้อมูล; ที่มา: โครงการวิจัยฯ โดย ปรานปราชญ์ วัฒนา)

สาม-ในช่วงหลังจากการจับกุมนักกิจกรรมต่อเนื่องจากการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มักมีความเข้าใจว่าเป็นการเคลื่อนไหวโดยปราศจาก ‘แกนนำ’ อย่างไรก็ตาม จากกราฟแสดงแบบแผนการกระจายข้อมูลของ #16ตุลาไปแยกปทุมวัน และ #ม็อบ17ตุลา พบว่ามีลักษณะของการสื่อสารประเด็นจากศูนย์กลางคล้าย #saveอนาคตใหม่ แต่มีการเชื่อมต่อเครือข่ายกระจายข้อมูลออกไปเป็นกลุ่มย่อยๆ จำนวนมาก โดยในกลุ่มบัญชีผู้ใช้งานที่ถูกโควตทวีตข้อความเป็นจำนวนรวมสูงที่สุด 25 ลำดับแรกของทั้งสองแฮชแท็ก มีสัดส่วนของบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีมากที่สุด (7 และ 8 บัญชี)

เมื่อทำการวิเคราะห์ต่อไปในรายละเอียด พบว่าในกลุ่มบัญชีผู้ใช้งานที่ถูกโควตทวีตข้อความเป็นจำนวนรวมสูงที่สุด 25 ลำดับแรกของ #16ตุลาไปแยกปทุมวัน มีบัญชีผู้ใช้งานทางการของเครือข่ายขับเคลื่อน 2 บัญชี ได้แก่ ‘เยาวชนปลดแอก’ และ ‘คณะจุฬาฯ’ แสดงถึงบทบาทของเครือข่ายขับเคลื่อนในการจัดการข้อมูลข่าวสาร ภายใต้สถานการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม โดยที่ไม่มี ‘แกนนำ’ ชัดเจนในพื้นที่ ส่วน #ม็อบ17ตุลา จะเห็นค่อนข้างชัดว่า ‘ศูนย์กลาง’ ของการกระจายข้อมูลข่าวสารเป็นบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลี สะท้อนภาพของการนำทักษะ ‘เทรนด์แท็ก’ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่แสดงถึงวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของแฟนคลับ มาใช้สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมือง

แผนภาพ 8: กราฟความสัมพันธ์ระหว่างบัญชีผู้ใช้งานที่โควตทวีตข้อความในแฮชแท็ก #16ตุลาไปแยกปทุมวัน
(ภาพขยายส่วนที่มีความหนาแน่นของการกระจายข้อมูล; ที่มา: โครงการวิจัยฯ โดย ปรานปราชญ์ วัฒนา) 

เอคโคแชมเบอร์หรือพรหมลิขิตอัลกอริทึม? 

หนึ่งในประเด็นถกเถียงสำคัญเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ คือการทำงานของอัลกอริทึมที่ ‘เลือก’ แต่ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์ด้วยบ่อยๆ มาขึ้นหน้าไทม์ไลน์ คำถามสำคัญคือหากโลกดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมืองแล้ว ข้อมูลข่าวสารที่ส่งต่อกัน หรือช่องทางสื่อสารที่แต่ละคนรับข้อมูลจะอยู่เพียงแค่ในกลุ่มที่ตัวเองสนใจหรือไม่ พรรณรายมองว่าประเด็นนี้ต้องมองกลไกการทำงานของโลกดิจิทัลสองด้าน คือทั้งในเชิงศักยภาพและมุมมองเชิงวิพากษ์

“ถ้ามองในแง่ของศักยภาพที่อัลกอริทึมได้เชื่อมโยงผู้คนกับปริมณฑลของการมีส่วนร่วมของพลเมือง จะพบว่ามีหลายกรณีที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น นักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเครือข่ายขับเคลื่อนในโรงเรียนของเขาว่าเกิดจาก ‘พรหมลิขิตของอัลกอริทึม’ ที่พาให้เพื่อนนักเรียนเห็นข้อความทวีตที่เขาเสนอข้อความสำหรับแฮชแท็กโรงเรียน ในระหว่างกำลังคุยกันเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมรณรงค์ จนเพื่อนๆ ตัดสินใจเลือกใช้แฮชแท็กนั้นสำหรับการนัดหมายรวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และกลายเป็นชื่อเครือข่ายขับเคลื่อนของนักเรียนจากโรงเรียนแห่งนี้ในเวลาต่อมาด้วย”

หากมองในเชิงวิพากษ์ว่าโซเชียลมีเดียมีแนวโน้มจะกลายเป็นพื้นที่ผลิตซ้ำระบบคุณค่าเชิงบรรทัดฐานทางสังคมไหม พรรณรายอธิบายว่า ในแง่นี้มองผลลัพธ์ได้ทั้งกระบวนการผลิตซ้ำและเชื่อมโยงความหลากหลาย ตัวอย่างที่ทำให้เห็นชัดคือจากการวิจัยเชิงสำรวจพบว่า เยาวชนในแต่ละเพศสถานะต่างเลือกใช้แพลตฟอร์มติดตามการเมืองแตกต่างกัน เยาวชนที่ระบุเพศสถานะเป็นหญิงหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีสัดส่วนการใช้งานทวิตเตอร์ในการเปิดรับข่าวสารทางการเมืองสูงที่สุด ส่วนเยาวชนที่ระบุเพศสถานะเป็นชาย เลือกใช้เฟซบุ๊กเพื่อเปิดรับข่าวสารทางการเมืองในสัดส่วนมากที่สุด 

“ผู้ให้ข้อมูลเพศหญิงหรือผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายคนเล่าว่า เริ่มต้นจากการใช้ทวิตเตอร์เพื่อติดตามศิลปินเกาหลีก่อน และเมื่อตามการเมืองด้วยแล้ว ส่วนใหญ่มองว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยกว่าเพราะมีความเป็นนิรนาม และในกรณีที่บัญชีผู้ใช้งานคนอื่นมาเปิดเผยตัวตนในชีวิตจริงของใครก็เป็นเรื่องเสียมารยาทมากๆ นักศึกษาที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศและสนใจประเด็นความเท่าเทียมทางเพศเล่าว่า เนื่องจากตนไม่ชอบพูดในที่สาธารณะ จึงสะดวกที่จะสื่อสารผ่านทวิตเตอร์มากกว่า เพราะสามารถพูดโดย ‘เราเป็นใครก็ได้ และก็ไม่ต้องมีใครรู้ว่าเราเป็นใคร’ ” 

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้ให้ข้อมูลที่ระบุเพศสถานะเป็นนอน-ไบนารี รู้สึกปลอดภัยในการใช้งานเฟซบุ๊กมากกว่า เพราะ ‘มันรู้สึกว่าเราได้คุยกับคนจริงๆ’ และ ‘สามารถจะพูดลงลึกด้วยได้’ โดยรวมๆ ก็อาจจะพูดได้ว่า เยาวชนรู้สึกสบายใจที่จะแลกเปลี่ยนในแพลตฟอร์มที่แต่ละคนเลือกใช้ 

อย่างไรก็ตาม พรรณรายบอกว่าผู้ให้ข้อมูลที่เป็นนักเคลื่อนไหวในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศมองว่าปัญหาของการแสดงความเห็นเป็นพิษมีอยู่ทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ และมีการใช้ชื่อปลอมในทั้งสองแพลตฟอร์ม ซึ่งแสดงความเห็นอย่างขาดความรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น หากจะมองบทบาทของอัลกอริทึมในแง่ของการผลิตซ้ำ ก็มีความเป็นไปได้สูงภายในแพลตฟอร์มนั้นๆ

ถึงแม้ว่าอัลกอริทึมจะทำงานอย่างแข็งขัน แต่ในทางหนึ่ง เยาวชนก็พยายาม ‘เล่น’ และ ‘สู้กลับ’ กับอัลกอริทึมเพื่อสื่อสารประเด็นตัวเองไปให้กว้างขึ้น จากการสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวการเมือง พรรณรายพบว่ามีหลายประเด็นที่เยาวชนตระหนักดีถึงการรับรู้เฉพาะภายในกลุ่มคนที่สนใจ แต่ถ้าหากช่วงไหนที่เรื่องนั้นเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมหันมาสนใจด้วย พวกเขาจะทวีตข้อความต่อเนื่องเพื่อให้สามารถสื่อสารกับคนวงกว้างได้มากขึ้น เช่น ในช่วงที่มีการรณรงค์ #สมรสเท่าเทียม จนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์

 “หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง นักศึกษาในจังหวัดขอนแก่นเล่าถึงการ ‘รีพอร์ต’ คอนเทนต์ที่บิดเบือนข้อเท็จจริงและการแสดงทัศนคติต่อต้านประชาธิปไตยบนติ๊กต็อก ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการที่ฝืนอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม เนื่องจากปกติติ๊กต็อกจะฟีดคอนเทนต์ที่เราชื่นชอบในลักษณะทบทวี ในทางตรงกันข้าม การกดรีพอร์ตจึงเท่ากับเป็นการบอกให้แอปนำเสนอเนื้อหาแนวนี้ให้เราน้อยลงหรือไม่นำเสนอให้เห็นอีกเลย เขาและเพื่อนๆ จึงใช้วิธีผลัดกันส่งลิงก์ของคลิปแนวนี้ให้กัน เพื่อให้ยังสามารถกดรีพอร์ตคลิปใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง แม้อัลกอริทึมจะพยายามลดการมองเห็นคอนเทนต์ในแนวทางเดียวกับที่ถูกรีพอร์ตแล้วก็ตาม”

โดยสรุปแล้ว พรรณรายมองว่าอัลกอริทึมไม่ได้สร้างเอคโคแชมเบอร์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากคนรุ่นใหม่พยายามสู้กลับการทำงานของอัลกอริทึมด้วย ที่สำคัญ การใช้โซเชียลมีเดียของเยาวชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นลักษณะพหุลักษณ์ของสื่อ (polymedia) หมายความว่าแต่ละคนเลือกใช้หลายแพลตฟอร์ม แม้จะมีการผลิตซ้ำของอัลกอริทึมในแพลตฟอร์ม แต่ไม่ได้มีนัยยะเฉพาะในเชิงแบ่งแยก ในทางตรงข้าม คือคนใช้งานได้เห็นความหลากหลาย

“ซึ่งก็เป็นข้อยืนยันว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไม่ได้แนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ถึงที่สุดแล้ว ความไม่เป็นเอกภาพที่ว่านี้เองคือวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของพลเมืองของเยาวชนที่สร้างขึ้นใหม่ แม้จะมีความเห็นและวัฒนธรรมการแสดงออกที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกัน ความพยายามที่จะหาพื้นที่ที่รู้สึกสะดวกใจในการแลกเปลี่ยนความเห็น ทำให้ทางเลือกแพลตฟอร์มของเยาวชนสัมพันธ์กับทั้งคุณลักษณะของแพลตฟอร์มและปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มในแต่ละช่วงเวลา”

แฟนคลับศิลปินเกาหลีในฐานะกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นการเทรนด์แท็ก ระดมทุนสนับสนุนม็อบได้รวมหลักล้านบาทภายใน 1 วัน การเปิดเผยความโปร่งใสในการทำงาน และตรวจสอบการทำงานรัฐ ไปจนถึงการนำคำอย่าง ‘ด้อม’ ‘บง’ (แท่งไฟ) มาใช้ในการเมือง ล้วนมีพื้นฐานมาจากทักษะและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของแฟนคลับศิลปินเกาหลีทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับผู้ให้ข้อมูลที่เป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลี ทีมวิจัยพบว่าความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมแฟนคลับกับการขับเคลื่อนทางการเมือง มีนัยที่แตกต่างกันระหว่างช่วงก่อนเลือกตั้งจนถึงเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ กับช่วงของการเคลื่อนไหวทางการเมืองปี 2563-2564 

“ในเชิงเปรียบเทียบกับงานศึกษาในโลกตะวันตกที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมแฟนคลับกับวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมและ ‘การเมืองแบบมีส่วนร่วม’ ก็มีแง่มุมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะถ้าหากเราเริ่มต้นจากนิยามของ Jenkins et al[7] ที่เสนอว่า ‘การเมืองแบบมีส่วนร่วม’ จะให้ความสําคัญกับกลไกทางสังคมและวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนมากกว่าที่จะผ่านสถาบันการเมืองในระบบ เราจะอธิบายกรณีอย่างเช่น ‘ด้อม’ นักการเมือง/พรรคการเมือง หรือการคลี่คลายของกิจกรรมระดมทุนเพื่อสนับสนุนม็อบเยาวชนไปสู่การทํากิจกรรมจิตอาสาร่วมกับพรรคการเมืองอย่างไร”

ในช่วงเลือกตั้งปี 2562 ผู้ชื่นชอบพรรคอนาคตใหม่ที่มีภูมิหลังเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีบางคน เริ่มนำเอารูปแบบการสนับสนุนศิลปินเกาหลีมาปรับใช้ในการแสดงออกถึงการสนับสนุนพรรค พริม หนึ่งในผู้ให้ข้อมูลของโครงการฯ ซึ่งอยู่ในวัยทํางานตอนต้นและเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลี เล่าว่ารู้จักพรรคอนาคตใหม่จาก #ฟ้ารักพ่อ และเมื่อได้อ่านนโยบายและแนวทางของพรรค ก็เริ่มรู้สึกอยากจะช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพรรค 

“เธอเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ‘เราก็เหมือนขายเมน’ พอดีกับในช่วงหลังประกาศผลการเลือกตั้ง รายการเรียลลิตี้คนหาศิลปินอย่าง Produce 101 กําลังได้รับความนิยม เธอจึงได้ตัดต่อรูป ส.ส. พรรคอนาคตใหม่โดยใช้รูปแบบการประกาศเดบิวต์ของผู้ชนะการแข่งขันจากรายการดังกล่าว นอกจากนี้เธอยังเป็นคนแรกๆ ที่เรียกชื่อกลุ่มผู้ชื่นชอบอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุลว่า ‘ด้อมป็อกกี้’ และเป็นผู้ริเริ่มทํา ‘บง’ ไปมอบให้กําลังใจในวันที่ปิยบุตรเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับ พรบ. คอมพ์ฯ ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ” (เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562)

คำบอกเล่าของพริมสอดคล้องกับข้อมูลที่ทีมโซเชียลมีเดียของพรรคอนาคตใหม่ได้ให้สัมภาษณ์กับ Aim Sinpeng[8]) ว่าทางพรรคไม่มีการติดต่อจ้างอินฟลูเอนเซอร์ให้ช่วยรณรงค์หาเสียง ทีมงานของพรรคเพิ่งจะเริ่มประสานกับพริมเพื่อจัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่มผู้ชื่นชอบ ส.ส. ของพรรคในช่วงหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งไปแล้ว โดยในกลุ่มแฟนคลับหรือ ‘ด้อม’ ของนักการเมืองจากพรรคอนาคตใหม่ ที่มีจํานวนรวมๆ กันประมาณ 200-300 คน มีคนที่เป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีเพียงประมาณ 20% ในช่วงนั้น เริ่มมีการจัดกิจกรรมระดมทุนในรูปแบบของ ‘แฟนมีตติ้ง’ โดย ‘ด้อม’ ของนักการเมืองบางคน และบางด้อมเริ่มคุยกันว่าจะ ‘เทรนด์แท็ก’ เพื่อให้คนรู้จัก ส.ส. ที่ตนชื่นชอบมากขึ้นด้วย

“อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมในรูปแบบดังกล่าวได้หยุดชะงักไปภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ขยายวงกว้างมากขึ้น นับจากช่วงเปลี่ยนผ่านมาเป็นพรรคก้าวไกล ก็มีแนวโน้มไปในทิศทางที่พริมมองว่า ‘ความเป็นวัฒนธรรมแฟนด้อมมันน้อยลง’ ”

ในแง่ของความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมแฟนคลับกับ ‘การเมืองแบบมีส่วนร่วม’ ในช่วงปี 63 ทีมวิจัยมีคำอธิบายสองประเด็น คือ หนึ่ง-ทําความเข้าใจวัฒนธรรมแฟนคลับศิลปินเกาหลีในแง่ที่ไม่ได้เป็น ‘คํานาม’ หรือเป็นเพียง ‘รูปแบบ’ ที่ถูกนํามาปรับใช้ในการแสดงออกทางการเมือง แต่เป็น ‘กริยา’ หรือถ้าใช้ศัพท์วิชาการคือ ‘แนววิธี’ หรือ ‘วิธีการ’ ที่ใช้ในการมีส่วนร่วมซึ่งเชื่อมร้อยทักษะจากประสบการณ์ของแฟนคลับ’ 

สอง-เมื่อเชื่อมโยงกับกรอบการศึกษาเรื่องการมีส่วนร่วมของพลเมือง ก็จะพบว่าในขณะที่แฟนคลับศิลปินเกาหลีมีการแสดงออกที่สอดคล้องกับองค์ประกอบของพฤติกรรมตามกระบวนทัศน์ ‘พลเมืองที่ลงมือเปลี่ยนแปลง’ เช่น การเทรนด์แท็ก ระดมทุนสนับสนุน การบอยคอตผู้ให้บริการบางราย แต่ก็มีการใช้ทักษะที่สอดคล้องกับองค์ประกอบของพฤติกรรมตามกระบวนทัศน์ ‘พลเมืองยึดหน้าที่’ อย่างการใช้สิทธิโหวตและการตรวจสอบด้วย

“ทั้งสองประเด็นนี้จะช่วยเราตอบคําถามว่าทําไม ‘การเมืองแบบมีส่วนร่วม’ ของแฟนคลับศิลปินเกาหลีในสังคมไทย จึงอาจจะไม่ได้ปฏิเสธกลไกของการเมืองเชิงสถาบันเสียทีเดียว แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะถูกกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกเชิงสถาบันไปด้วย”

วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลี มีความคล้ายคลึงกับแบบแผนการกระทำแบบเชื่อมต่อที่มีองค์กรขับเคลื่อนบางส่วน เพียงแต่องค์กรในที่นี้ไม่ใช่ ‘แกนนำ’ หรือเครือข่ายทางการเมือง แต่เป็นแอคเคาต์ ‘บ้านเบส’ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบศิลปินคนเดียวกัน ทั้งในรูปแบบศิลปินกลุ่มและศิลปินเดี่ยว โดยมีแอดมินคอยดูแลการเผยแพร่ข้อมูลและจัดกิจกรรมต่างๆ โดยในช่วงปี 2563 เริ่มมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างบ้านเบสเพื่อแสดงออกทางการเมือง จึงกลายเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันอยางหลวมๆ ซึ่งครอบคลุมผู้ใช้งานทวิตเตอร์จํานวนมาก

“ขอยกตัวอย่างผู้ให้ข้อมูลของโครงการวิจัยฯ 7 คนที่อยู่ในกลุ่มบ้านเบส มีจํานวนผู้ติดตามรวมมากกว่าสองแสนบัญชี แล้วลองนึกดูว่า ในกรณีบ้านเบสที่มีผู้ติดตามเกือบสี่แสนบัญชีอย่าง BTS Thailand ได้ตัดสินใจยกเลิกการเช่าพื้นที่โฆษณาตามสถานีรถไฟฟ้าสําหรับการทําโปรเจกต์วันเกิดให้ศิลปิน เพื่อตอบโต้การปิดสถานีในพื้นที่ที่มีการนัดหมายผู้ชุมนุม จะสามารถสร้างผลกระทบได้ขนาดไหน ผู้ให้ข้อมูลซึ่งเป็น ‘อาร์มี่’ (ARMY ชื่อเรียกแฟนคลับวง BTS) และเป็นผู้ติดตามบ้านเบสนี้ย้อนความทรงจําว่า การตัดสินใจครั้งนั้นเป็นเหมือน ‘ไม้ขีดไฟที่กระเพื่อม’ พร้อมๆ กับที่บ้านเบสอื่นๆ ต่างทยอยแสดงจุดยืนสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจนมากขึ้น”

พรรณรายชี้ว่าขนาดของเครือข่ายเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำคัญ ซึ่งไม่สามารถ ‘จัดตั้ง’ ขึ้นได้ตามความต้องการ แต่ต้องอาศัยการสั่งสมผ่านปฏิสัมพันธ์ทางการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ที่เชื่อมโยงแอดมินกับความสนใจร่วมกันของผู้ติดตาม

“เช่น ‘อาร์มี่’ คนเดียวกันเล่าว่า เคยเห็นบ้านเบสประกาศเชิญชวนให้ผู้ติดตามช่วยกันรีทวีตข้อความที่เป็นประเด็นทางการเมือง โดยจะมีการสุ่มแจกของให้กับผู้รีทวีต เช่นเดียวกับการสุ่มแจกของเพื่อปั่นยอดรีทวีตและแฮชแท็ก ที่กลุ่มแฟนคลับมักทํากันในวาระพิเศษเกี่ยวกับศิลปิน”

บ้านเบสยังมีวัฒนธรรมในการรับฟังความคิดเห็นในการจัดกิจกรรมต่างๆ จากผู้ติดตามด้วยการ ‘โหวต’ และพร้อมยอมรับผลโหวตโดยเสียงข้างมาก สำหรับการแสดงออกทางการเมืองช่วงปี 2563 มีกรณีตัวอย่าง เช่นบ้านเบส BTS Thailand[9] ได้มีการเปิดโหวตว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่แอคเคาต์บ้านเบสจะทวีตข้อความในประเด็นทางสังคม ไปพร้อมๆ กับการอัปเดตข่าวสารของศิลปินตามปกติ โดยในตอนนั้นมีคนเห็นด้วย 90% 

นอกจากนี้ กลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลียังให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและกลไกการตรวจสอบ เดิมทีบ้านเบสต่างๆ จะมีการระดมทุนเพื่อนำไปจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปินที่ชื่นชอบอยู่แล้ว เช่น นำเงินไปเช่าพื้นที่โฆษณาตามสถานีรถไฟฟ้าเพื่อทำ ‘โปรเจ็กต์’ วันเกิดศิลปิน เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมือง จึงมีการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวและจนรวมยอดจากหลายๆ บ้านเบสได้เป็นจำนวนหลักล้านในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยมีการแจ้งระยะเวลาการเปิด-ปิดการระดมทุนอย่างชัดเจน และแจ้งสรุปยอดให้ผู้ติดตามทราบทันที 

ในส่วนของการตรวจสอบ เนื่องจากระบบในอุตสาหกรรมเคป็อปมักมีประเด็นการกดขี่แรงงานศิลปินไอดอลเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าแรง สวัสดิการ และสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทำให้กลุ่มแฟนคลับต้องคอยตรวจสอบความโปร่งใส ทักท้วงในเรื่องที่ไม่ยุติธรรม นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบการแปลข่าวของบ้านเบส การตรวจสอบข้อมูลข่าวจากเพจต่างๆ รวมไปถึงตรวจสอบการทำงานของผู้จัดคอนเสิร์ตด้วย

“นับจากปี 2562-2564 วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของแฟนคลับศิลปินเกาหลียังคงมีผลสืบเนื่องในปริมณฑลของการเมืองเชิงสถาบันจนถึงปัจจุบัน ในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 2566 ‘แฟนคลับ’ ส.ส. กลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่พรรคการเมืองภูมิใจนําเสนอ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุน ส.ส. หรือพรรคการเมืองบางส่วนก็อาจจะไม่เห็นด้วยและพยายามชี้แนะผู้สมัคร ส.ส. ว่าไม่ควรใช้คําศัพท์หรือนํารูปแบบการจัดตั้งกลุ่มแฟนคลับศิลปินมาใช้ในการสื่อสารกับผู้สนับสนุนของตน

 “นอกจากนี้ก็น่าสนใจว่า ยังมีคนอีกมากที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมแฟนคลับในฐานะที่เป็นแนววิธีของการเมืองแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมีลักษณะของการกระทําแบบเชื่อมต่อที่มีองค์กรขับเคลื่อนบางส่วน จนนําไปสู่การเหมารวมการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนพรรคการเมืองผ่านเครือข่ายที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ชวนกันไปฟังปราศรัย ทําโพลล์ออนไลน์ หรือทําคอนเทนต์สนับสนุนพรรคการเมือง ว่าเป็น ‘ไอโอ’ ไปเสียหมด เพราะยังติดกับความเข้าใจเดิมๆ ที่แบ่งขั้วระหว่าง ‘การจัดตั้ง’ กับ ‘การขับเคลื่อนโดยมวลชน’ อย่างชัดเจนนั่นเอง”

มีมไม่ได้เป็นแค่มีม แต่เป็น ‘การซิงก์’ ความคิดคนรุ่นใหม่และวิธีการเคลื่อนไหวการเมือง

จุดเด่นของม็อบในปี 2563-2564 อีกอย่างที่ได้รับการพูดถึงบ่อยๆ คือการสื่อสารประเด็นทางการเมืองด้วย ‘มีม’ ซึ่งเป็นสื่อที่ตอบโจทย์อารมณ์ขันแบบเฉพาะกลุ่ม เพราะคนรับสารต้องเข้าใจบริบทสถานการณ์ของมีมนั้นๆ ในยุคที่ทักษะการผลิตมีมเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ ทีมวิจัยเสนอให้ทำความเข้าใจ ‘มีม’ ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองปี 2563 ทั้งในแง่ที่เป็นรูปแบบหนึ่งของป๊อปคัลเจอร์ ซึ่งเป็นผลของกระบวนการ ‘ซิงก์’ กันทางความคิด และในแง่ที่เป็น ‘วิธีการ’ ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง 

“ที่ผ่านมา เวลาเราพูดถึงมีมการเมือง เรามักจะเอา ‘การเมือง’ เป็นตัวตั้ง คือการสื่อสารประเด็นการเมืองในรูปแบบของมีม เช่น มีมป้ายดําคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในช่วงปลาย พ.ศ. 2556[10] เพจไข่แมวที่นําเสนอการ์ตูนเสียดสีการเมืองในช่วงหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 [11] หรือในช่วงต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวของเยาวชน พ.ศ. 2563 ก็มีครีเอเตอร์ที่ใช้ชื่อว่า ‘uninspired by current events’ ซึ่งเยาวชนที่มาพูดคุยกับทีมวิจัยก็มักจะอ้างถึงบ่อยๆ เวลาเราคุยกันเรื่องมีมการเมือง แต่นอกจากนี้ ในช่วงปี 2563-2564 ยังมีการแพร่หลายของมีมอีกกลุ่ม คือมีมที่ใช้คอนเทนต์ป๊อปคัลเจอร์มาสื่อสารประเด็นการเมือง พลังของการสื่อสารผ่านมีมเหล่านี้เป็นผลของกระบวนการที่ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน แอดมินเพจ spaceth.co อธิบายให้ทีมวิจัยฟังว่าเป็นการ ‘ซิงก์’ กันทางความคิด” พรรณรายอธิบาย

การซิงก์กันทางความคิดที่ว่านี้สะท้อนคุณลักษณะสำคัญสองประการ หนึ่ง-มีมไม่ใช่ผลงานของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่มีใครอ้างสิทธิเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว แต่เป็นผลผลิตของการสร้างสรรค์ร่วมกัน คุณลักษณะนี้เชื่อมโยงไปสู่ประการที่สอง-ท่ามกลางความเชื่อของรัฐและผู้ใหญ่บางคนที่มองว่าเยาวชนกำลังถูกชักจูง โดยมีคนอยู่เบื้องหลัง ณัฐนนท์บอกว่าต้องทำความเข้าใจมีมเหมือนองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้เกิดจากคำพูดหรือคำสอนของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นกระบวนการสั่งสมและก่อรูปทางความคิด ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของการเข้าถึงองค์ความรู้บางอย่างร่วมกัน 

องค์ความรู้ที่ว่าคือป็อปคัลเจอร์ตามความสนใจเฉพาะกลุ่ม เช่น คนที่ดูภาพยนตร์กระแสหลักส่วนใหญ่เข้าใจมีมของเพจ ‘หนังฝังมุก’ กลุ่มคนที่ชอบจริตการหยอกล้อแบบตัวละครในภาพยนตร์ Mean Girls (2004) ก็จะสนุกกับการ ‘เม้ามอย’ ประเด็นการเมืองของเพจ Meme Girls Thailand (พ.ศ. 2559-2565) หรือกลุ่มผู้สนใจข่าวสารความรู้เกี่ยวกับอวกาศและวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับปรัชญาสังคม ก็จะชื่นชอบมีมเสียดสีสังคม-การเมืองที่เพจ spaceth.co นําเสนอ

แม้เราจะบอกว่ามีมเป็นสิ่งที่เข้าใจกันได้เฉพาะกลุ่ม และคนต่างวัยก็ไม่อาจเข้าใจมุกตลกในมีมของคนรุ่นใหม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน คอนเทนต์ครีเอเตอร์แต่ละเพจกลับสามารถผลิตมีมได้ตรงใจผู้คนเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะหลักใหญ่ใจความที่พวกเขาสื่อสารหรือ ‘องค์ความรู้’ ที่พวกเขามีร่วมกัน คือฐานคิดเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นขับเคลื่อนทางการเมืองในขณะนั้น และตอบโจทย์ทั้งการสื่อสารอารมณ์ขันและปลดปล่อยความโกรธในรูปแบบอารมณ์ขันด้วย

เช่น ในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่มีข่าวทหารอียิปต์ละเมิดกฎการกักตัวตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 เพจ spaceth.co ได้โพสต์ภาพพร้อมคําบรรยายว่า “แม้ไปถึงดวงจันทร์แต่กลับมาถึงโลก ก็ต้องกักตัวก่อน โดยไม่มีข้อยกเว้น แม้จะเป็นถึงทหารก็ไม่มีข้อยกเว้น” และมีผู้เข้ามาคอมเมนต์เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในประเทศไทยเป็นจํานวนมาก 

ในขณะเพจ Meme Girls Thailand มีคลิปมีมยอดนิยมจากฉาก ‘วนรถด่า’ โดยเป็นฉากที่ตัวละครที่เคยเป็นเพื่อนกันถกเถียงกันในขณะที่กำลังเคลื่อนรถ ซึ่งเริ่มต้นด้วยประโยคว่า “เธอมันโกหก ตอแหล” มีมจากคลิปดังกล่าวมักมียอดวิวและได้รับการแชร์ออกไปในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงกลุ่ม ‘ขาจร’ ที่ไม่ได้ติดตามหรือเข้าใจรหัสจากภาพยนตร์ แต่ได้ระบายความโกรธต่อเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นๆ เช่น คลิปที่โพสต์ในวันเปิดประชุมสภาผูแทนราษฎรสมัยวิสามัญ 26 ตุลาคม 2563 มีเนื้อหาประชดประชัน ส.ส. ที่ขาดความจริงใจในการรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ที่ออกมารวมชุมนุมทางการเมืองตลอดหลายเดือนก่อนหน้านั้น มีผู้ชมมากกว่า 700,000 ครั้ง[12]

มีมไม่ได้เป็นแค่การสื่อสารที่ซิงค์องค์ความรู้ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างความหลากหลายและความเป็นไปได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะมีมที่ผลิตโดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียโดยทั่วไป อย่างเช่นที่หลายคนอาจจะเคยเห็นการเชิญชวนให้คนตัดต่อภาพหยอกล้อฝั่งรัฐ ซึ่งทีมวิจัยได้ประมวลข้อมูลจากทวิตเตอร์ และเสนอว่า มีกระบวนการ ‘ซิงก์’ กันทางความคิดของ ‘คนธรรมดา’ ในระบบนิเวศของการสื่อสารที่เชื่อมต่อบทสนทนาข้ามขอบเขตของกลุ่มทางสังคมตามขนบ และเอื้อต่อกระบวนการร่วมผลิตเช่นเดียวกับมีมที่ผลิตโดยคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพียงแต่ ‘ความสนใจร่วม’ ของผู้ร่วมผลิตมีมบนทวิตเตอร์มักได้รับการเชื่อมโยงผ่านแฮชแท็ก ซึ่งเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การเคลื่อนไหว เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐนําตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งกีดขวางเส้นทางจราจรที่คาดว่าจะมีการนัดหมายชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB รูปแบบหนึ่งของการปลดปล่อยอารมณ์โกรธ คือการใช้อารมณ์ขันเสียดสีในการทํามีมตัดต่อภาพล้อเลียนที่มีตู้คอนเทนเนอร์เป็นฉากหลัง เป็นต้น

นอกจากการสร้างมีม ทีมวิจัยยังเสนอด้วยว่า การเคลื่อนไหวของม็อบปี 2563 ยังสะท้อนวิธีคิดแบบ ‘มีม’ ด้วย ถ้าหากถอดแบบลักษณะการสร้างมีม เราจะเห็นว่ามี ‘เทมเพลต’ อยู่ก่อน แล้วผู้สร้างสรรค์จะเลือกหยิบอะไรมาปรับแต่งให้เป็นมีมได้แตกต่างไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้า เมื่อมองการเคลื่อนไหวปี 2563 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการนัดหมายชุมนุมในช่วงต่อเนื่องจากการจับกุมนักกิจกรรมในวันที่ 13-15 ตุลาคม 2563 บางครั้งมีการวางแผนล่วงหน้าไว้พอสมควร เช่น นัดหมายให้ผู้ชุมนุมไปพร้อมกันที่สถานีรถไฟฟ้าก่อนจะประกาศสถานที่ชุมนุมเมื่อใกล้ถึงเวลานัดชุมนุมจริง การพยายามจัดการกับสถานการณ์เฉพาะหน้าจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบการชุมนุมแบบ ‘ดาวกระจาย’ ไปพร้อมๆ กัน

“ที่น่าสนใจคือ จากการพูดคุยกับเยาวชนที่มีส่วนร่วมในการเครือข่ายขับเคลื่อนฯ พบว่าในบางครั้ง ภาพและข้อความที่สื่อสารออกมาอย่างทรงพลัง อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่เครือข่ายนําขับเคลื่อนฯ หรือผู้จัดการชุมนุมคาดเอาไว้ล่วงหน้า แต่เป็นปฏิสัมพันธ์ในท่ามกลางผู้คน วัตถุและเทคโนโลยีที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ทั้งนี้การเคลื่อนไหวแบบมีมต้องการทักษะในการยืดหยุ่นและ ‘เล่น’ ไปตามสถานการณ์ด้วย เช่น การวางหมุดคณะราษฎร 2563 ที่กลายเป็นหนึ่งในภาพจําของการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร”

หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายนําขับเคลื่อนฯ ที่อยู่ในบริเวณเวทีสนามหลวง ให้สัมภาษณ์กับทีมวิจัยว่า ตนเองไม่รู้มาก่อนว่าจะมีการวางหมุดในเช้าวันที่ 20 กันยายน การตัดสินใจว่าใครจะมาช่วยกันถือหมุดเป็นการจัดการกับเงื่อนไขเชิงปฏิบัติมากๆ กล่าวคือเนื่องจากหมุดทําจากทองเหลือง 100% ทําให้มีนํ้าหนักมากเกินกว่าที่จะยกมาวางด้วยตัวคนเดียว หลังจากที่มีการคุยกันว่าให้เยาวชนที่ใส่ชุดนักเรียนเป็นตัวแทน แต่หลังจากนั้นก็มีคนบอกให้พี่อีกคนเขามาช่วย รวมเป็นสามคนดังที่ปรากฏในภาพ หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายขับเคลื่อนกล่าวว่า “ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก และงงหมดเลย” 

เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงกระบวนการของการเคลื่อนไหวแบบมีม ซึ่งประกอบด้วยทักษะในการด้นสดและลื่นไหลไปกับสถานการณ์ ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพของการจัดโครงสร้างองค์กรตามตรรกะการกระทําแบบเชื่อมต่อที่เครือข่ายนําขับเคลื่อนมีบทบาทในการจัดการเพียงบางส่วน ในกรณีนี้คือมี ‘เทมเพลต’ ว่าจะมีการวางหมุดคณะราษฎรฯ แต่ไม่ได้กําหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะมีให้ใครเป็นตัวแทนทํากิจกรรมเชิงสัญลักษณ์นั้น

ยังไม่จบแค่นั้น เพราะ ‘หมุดคณะราษฎร 2563’ ยังได้กลายเป็น ‘เทมเพลต’ ของมีมที่แพร่หลายอย่างรวดเร็ว ภายหลังที่มีการแจกไฟล์ลายเส้นหมุดคณะราษฎรฯ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ผู้ให้ข้อมูลที่ทำงานอยู่ในจังหวัดพิษณุโลกเล่าว่า ได้โหลดไฟล์ลายเส้นมาระบายสี ‘เล่นๆ’ ก่อนเข้านอน และทวีตโดยไม่ได้ติดแฮชแท็กใดๆ แต่กลับตื่นมาพบว่ามีคนรีทวีตไปกว่า 50,000 ครั้ง และยังมีคน DM มาขอเอาไปทำโลโก้และสติกเกอร์ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการก่อรูปของ ‘มีม’ ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำเกี่ยวกับ ‘ม็อบราษฎร 2563’

“พลังของการเคลื่อนไหวแบบมีมนี้ปรากฏให้เห็นชัดอีกครั้งในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 2566 โดยความสนใจได้เคลื่อนไปสู่แพลตฟอร์มที่แต่เดิมถูกมองว่าเป็นพื้นที่ใช้งานเพื่อความบันเทิงเป็นหลักอย่างติ๊กต็อก ทําไมถึงเป็นแบบนั้น? อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ในช่วงที่เก็บข้อมูลสําหรับโครงการวิจัยนี้เยาวชน ยังไม่คอยมองว่าติ๊กต็อกเป็นแพลตฟอร์มหลักสําหรับการมีส่วนร่วมทางการเมือง อาจจะผ่านตาเห็นคลิปการชุมนุมทางการเมืองหรือไปตามรีพอร์ตคลิปที่นําเสนอทัศนคติทางการเมืองแบบต่อต้านประชาธิปไตยบ้าง แต่แทบไม่มีใครเล่าว่าตัวเองลงมือทําคอนเทนต์เพื่อนําเสนอประเด็นขับเคลื่อนทางการเมืองบนติ๊กต็อกเลย”

“ในส่วนของปี 2566 เราไม่ได้ทําการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ แต่ถ้าจะลองประยุกต์ข้อเสนอเรื่องการเมืองแบบมีส่วนร่วมและการเคลื่อนไหวแบบมีมจากงานวิจัย อาจจะพอทําความเข้าใจได้ว่า นอกจากจำนวนผู้ใช้งานที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้นแล้ว แพลตฟอร์มอย่างติ๊กต็อกยังมีคุณลักษณะที่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นผ่านการผลิตสร้างมีมในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นวิธีสื่อสารทัศนคติและการมีส่วนร่วมที่แตกต่างไปจากแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยเฉพาะในสองคุณลักษณะ คือ การสื่อสารผ่านมุมมองแบบบุคคลที่หนึ่งและปฏิสัมพันธ์ระหว่างการกระทําของปัจเจกกับประสบการณ์ของส่วนรวม ในขณะที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์เลือกที่จะสื่อสารโดยไม่เปิดเผยตัวตน คอนเทนต์ติ๊กต็อกส่วนมากมักเปิดเผยใบหน้าหรือนําเสนอในลักษณะที่เป็นการเล่าเรื่องผ่านการกระทําของบัญชีผู้ใช้งานนั้นๆ ซึ่งทําให้การใช้เอฟเฟ็กต์ต่างๆ เปิดกว้างต่อการผลิตสร้างเนื้อหาที่หลากหลายกว่าการใช้ฟิลเตอร์ในอินสตาแกรมสตอรีด้วย”

“ตัวอย่างของเอฟเฟ็กต์ที่ได้รับความนิยมคือตัวเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีคอนเทนต์อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ใช้เอฟเฟ็กต์เหล่านี้ แต่มี ‘เทมเพลต’ ที่ก่อรูปผ่านประสบการณ์ร่วมของผู้สนับสนุนพรรคการเมืองเดียวกัน เช่น กระแส ‘ซ่อมป้าย’ หาเสียงของพรรคก้าวไกล ซึ่มเริ่มปรากฏตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนที่มีคลิปตัดกิ่งไม้ไม่ให้บังป้ายของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ก่อนที่จะมีกระแส ‘ซ่อมป้าย’ ที่ได้รับการกระตุ้นจากอารมณ์ร่วมว่าป้ายที่มีจำนวนจำกัดอยู่แล้วได้ถูกทำลายไปหลายๆ จุด โดยมีทั้งคนที่ซ่อมโดยใช้เครื่องมือช่างและอุปกรณ์สำนักงาน”

“ถ้าอธิบายตามคำพูดของแอดมิจเพจ spaceth.co อาจจะพูดได้ว่าเป็นการ ‘ซิงก์’ กันทางความคิดของผู้สนับสนุนพรรคการเมืองจากภูมิหลังทางสังคม-เศรษฐกิจที่หลากหลาย จนถึงช่วงหลังสงกรานต์ก็มีคลิปที่กลายเป็นไวรัล เช่น คลิปไรเดอร์จอดรถลงไปลบสีสเปรย์พ่นทับออกจากป้าย[13] กระแสดังกล่าวเริ่มได้รับการกล่าวถึงจากผู้สมัคร ส.ส. พรรค และกลายเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการสนับสนุนโดย ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ ในช่วงเวลาเดียวกับที่บัญชีผู้ใช้งานอย่างเป็น 1 ในเดือนเมษายน 2566 มีผู้ใช้งานติ๊กต็อกในไทย[14] ประมาณ 41 ล้านบัญชีสูงที่สุดเป็นลำดับ 8 ของโลก”

“บัญชีทางการของพรรคก้าวไกลบนติ๊กต็อก มียอดผู้ติดตามพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนครบ 1 ล้านบัญชี[15] ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ทําให้เริ่มมีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิผลเชิงบวกของการต่อยอดจาก ‘การขับเคลื่อนโดยมวลชน’ นี้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการจ้างผลิตคอนเทนต์หรือการกําหนดวาระข่าวสารโดยทีมโซเชียลมีเดีย ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนรณรงค์อย่างเป็นเอกภาพของพรรค นอกจากนี้เมื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบมีมได้กลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง ก็อาจมีแนวโน้มที่จะลื่นไหลออกไปไกลจากเป้าหมายหลักของการรณรงค์ได้ ในกรณีของผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล เช่น จากกระแสความนิยมในแคนดิเดตนายกฯ กลายเป็นว่ามีคอนเทนต์บางส่วนที่กํ้ากึ่งว่าจะเป็นการชื่นชมศิลปินดารามากกว่าชื่นชอบในบทบาททางการเมือง และจากกระแส ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ กลายเป็นว่ามีคอนเทนต์จํานวนหนึ่ง ที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นการจงใจให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง ถึงแม้ทั้งหมดนี้มักจะได้รับการอธิบายในภายหลังว่าเป็นเพียง ‘คอนเทนต์’ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่ายังมีคําถามที่ท้าทายอีกมากในการทําความเข้าใจถึงศักยภาพพร้อมๆ กับที่ตระหนักถึงข้อจํากัดของการเคลื่อนไหวแบบมีม”

จากม็อบ ‘ป็อปๆ’ ถึงตอนนี้จะไม่ปอปแล้ว(?) ก็ไม่ได้แย่

ในช่วงปี 2564 ที่ดูเหมือนกระแสม็อบจะเริ่มเบาบางลง ทีมวิจัยได้คุยกับนักกิจกรรมหลายคน พบว่าเริ่มมีคำอธิบายว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 อาจจะยังไม่ชนะในแง่ของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง แต่อย่างน้อยก็มี ‘ชัยชนะทางวัฒนธรรม’ ซึ่งในมุมของพรรณรายมองว่าหนึ่งในประเด็นสำคัญก็คือม็อบได้กลายเป็น ‘ป็อปคัลเจอร์’ โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่การไปม็อบกลายเป็นเรื่อง ‘คูลๆ’ ไปด้วย การที่รัฐใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น ทั้งการดําเนินคดีและจับกุมนักกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดทอนกระแสความนิยมดังกล่าว 

“แต่ถามว่ามีความเป็นไปได้ที่การเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะกลับมาเป็นป็อปคัลเจอร์ได้อีกไหม จากข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ที่เราเล่าให้ฟัง ก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้” 

จากการสนทนากับผู้ให้ข้อมูลที่เป็นกลุ่มสนใจร่วม (interest-based groups) ทั้งคนในแวดวงเกม กลุ่มขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงกลุ่มเยาวชนที่สนใจและ/หรือมีประสบการณ์ในการลงทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัลหรือใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ทีมวิจัยพบว่าการมีส่วนร่วมในประเด็นเฉพาะเหล่านี้ ขับเคลื่อนด้วย ‘ความหวัง’ ว่าการมีส่วนร่วมดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบคุณค่า ซึ่งจะเวียนกลับมาสนับสนุนการมีส่วนร่วมในโลกที่ยึดโยงด้วยความสนใจร่วมของพวกเขา[16] ถ้าลองเชื่อมโยงประเด็นดังกล่าวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา จะเห็นว่า ‘ตัวเลือก’ ที่ ‘ป็อป’ ในแง่ที่สามารถแสดงศักยภาพในการเชื่อมโยงและโอบรับ ‘ความหวัง’ ของกลุ่มความสนใจเฉพาะที่หลากหลาย มีแนวโน้มจะได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่า

“ในทางมานุษยวิทยาจะมองว่า ในกระบวนการที่คนต่อสู้หรือพยายามหาทางออกจากความผิดหวัง แม้เราจะไม่สามารถออกไปหาแสงสว่างโดยตรงได้ในทันที และต้องเผชิญกับภาวะที่เหมือนการ ‘ลุยโคลน’ คือตกอยู่ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะไปอย่างไรต่อ อยากจะรีบเดินแค่ไหนก็ไม่ได้ เพราะเท้าจมอยู่ในโคลนของเงื่อนไขและข้อจํากัดมากมาย แต่ถ้าหากจะถามกันว่าจะเดินต่อไหม เราว่าคําตอบของผู้คนมากมายที่ผ่านประสบการณ์ในปี 2563-2564 ร่วมกันมา ก็คือจะเดินต่อแน่ๆ แต่จะเลือกใช้เส้นทางเดียวกันหรือเปล่า ซึ่งถ้ามองในแง่ดียิ่งสถานการณ์คลุมเครือ ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ช่วยให้คนได้ถกเถียงกันมากขึ้น พยายามเสนอทางเลือกหลากหลายมากขึ้น”

“การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไปนี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจน ในตอนดึกของวันที่ 14 พฤษภาคม หลายคนอาจคิดว่าในที่สุดชัยชนะก็มาถึงเร็วกว่าที่คาด ก่อนที่จะตื่นเช้าขึ้นมาพบว่าประเทศนี้ยังไม่สามารถก้าวพ้นหล่มโคลนไปได้ง่ายๆ อย่างไรก็ตาม หากลองทบทวนว่าเราได้ผ่านอะไรมาบ้างจากห้วงปี 2563-2564 อย่างน้อยก็จะพบว่า ‘ความผิดหวัง’ ที่ทําให้เรายังต้องลุยโคลนต่อไป จะไม่สามารถทําให้เราสิ้นหวัง แต่กลับท้าทายให้เราจินตนาการถึงความเป็นไปได้ และการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง และนี่เอง เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการก่อรูปของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และในความสัมพันธ์กับรัฐไทย ที่จะไม่มีวันหวนกลับไปเหมือนเดิมอย่างแน่นอน”

References
1 Changing Citizenship in the Digital Age. W. Lance Bennett. University of Washington, Seattle, Center for Communication and Civic Engagement. 2007
2 The Logic of Connective Action. W. Lance Bennett, University of Washington, Alexandra Segerberg, Stockholms Universitet. 2013.
3 Twitter Analysis of the Thai Free Youth Protests. Aim Sinpeng. 2020 และ Hashtag activism: social media and the #FreeYouth protests in Thailand. Aim Sinpeng. 2021.
4 The 2020 Student Uprising in Thailand: A Dynamic Network of Dissent. Penchan Phoborisut. 2020
5 Appropriating dissent: The three-finger salute and Thailand’s pro-democracy movement. Annie Hui. 2020
6 The Logic of Connective Action. W. Lance Bennett, University of Washington, Alexandra Segerberg, Stockholms Universitet. 2013.
7 Participatory Culture in a Networked Era. Henry Jenkins, Mizuko Ito and Danah Boyd. 2016
8 Mobilizing the ‘Orange’ Online Support: Part II of the Futurista Campaigning. Aim Sinpeng. (2019
9 เปิดแนวคิดพลังแฟนคลับเกาหลี สู่การเรียกร้องประชาธิปไตย. PPTV
10 การร่วมสร้างอัตลักษณ์ “คนดี” โดยมวลมหาประชาชน: กรณีศึกษาสื่อส่วนบุคคล. อาทิตย์ และ  อาจินต์ 2560
11 เริ่มโพสต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559
12 ข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
13 21 เมษายน 2566; 11.3 ล้านวิว
14 อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
15 ในช่วง
เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 มีผู้ติดตามประมาณ 2.4 ล้านบัญชี
16 Geeks, Social Imaginaries, and Recursive Publics. Kelty, 2005

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save