fbpx
BTS

“การรับราชการทหารคือหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์และความยุติธรรม” ข้อถกเถียงละเว้นเกณฑ์ทหารเกาหลี ในวันที่ซอฟต์พาวเวอร์คือการรับใช้ชาติ?

“การรับราชการทหารเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์และสัญลักษณ์ของความยุติธรรม” 

คือคำกล่าวของรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้ หลังให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงต่อกรณีการพิจารณาละเว้นการเกณฑ์ทหารกับศิลปินวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งเข้าสู่การประชุมในสภามาแล้ว 5 ปี นับตั้งแต่ BTS วงบอยแบนด์เกาหลีสร้างชื่อเสียงระดับโลก 

แม้วัฒนธรรมป็อปเกาหลีจะก้าวหน้าระดับสากล แต่หลายครั้งศิลปินหรือนักแสดงชายที่เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเดินไปข้างหน้าต้องหายหน้าหายตาจากวงการไป 1-2 ปีเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับการฝึกทหารที่มีขึ้นมาตั้งแต่ปี 1957  เนื่องจากเกาหลีใต้อยู่ในภาวะสงครามกับเกาหลีเหนือ ซึ่งซ้อมยิงขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกาหลีใต้ยังเป็น 1 ใน 45 ประเทศจากทั่วโลกที่ยังคงต้องบังคับผู้ที่มีเพศกำเนิดชายวัย 18-28 ปีเข้ารับการฝึกทหารเป็นระยะเวลา 18-20 เดือน

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกก้าวสู่สังคมสมัยใหม่ กองทัพมีการปรับข้อกำหนดการเกณฑ์ทหารอยู่หลายครั้ง เช่น การลดจำนวนปีการเข้าฝึกจากเกือบ 24 เดือนเหลือ 18 เดือนในบางกรม หรือในปี 1973 มีข้อกำหนดละเว้นการเกณฑ์ทหารให้กับนักกีฬา ศิลปินแนวดนตรีคลาสสิก ศิลปินดนตรีดั้งเดิม และนักเต้นบัลเลต์ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศบนเวทีนานาชาติได้

คำถามจึงมีอยู่ว่า เมื่อเคป็อปสร้างประวัติศาสตร์การเป็นศิลปินที่กวาดรางวัลบนเวทีเพลงระดับโลก ทะลวงเข้าไปในชาร์ตเพลงอเมริกันที่เป็นฐานมั่นคงของคนขาวได้สำเร็จ และทำให้ตะวันตกหันมาให้ความสำคัญกับ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ จากเกาหลีได้แล้ว ทำไมข้อปฏิบัติการละเว้นเกณฑ์ทหารจึงไม่ครอบคลุมมาถึงศิลปินป็อปที่สร้างประโยชน์ให้ประเทศบ้าง?

ตลอดการพิจารณา 5 ปี เกิดข้อถกเถียงระหว่างประชาชน รัฐบาล นักการเมือง และกองทัพ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม Big Hit Entertainment ค่ายผู้ดูแล BTS และสมาชิกวง BTS ตัดสินใจประกาศขอยกเลิกผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร เพื่อเข้าระบบการฝึกตามปกติในปีนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะยังขอเวลาจนถึงเดือนธันวาคมเพื่อให้ได้ข้อสรุปอย่างชัดเจน 

ท่ามกลางกระแสความนิยมต่อวัฒนธรรมเกาหลีที่มีอย่างต่อเนื่อง ใครเสนอทางออกอย่างไรในดีเบตนี้บ้าง การผลัดเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อกลางปีที่ผ่านมาทำให้เกิดจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไร ทำไมกลาโหมจึงยื่นข้อเสนอให้ BTS สามารถแสดงคอนเสิร์ตระหว่างเข้ารับเกณฑ์ทหารได้ และสังคมเกาหลีมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร บทความนี้จะพาไปสำรวจการดีเบตและมุมมองความเห็นต่างๆ ต่อการเกณฑ์ทหารเกาหลีในโลกสมัยใหม่ 

ซอฟต์พาวเวอร์กับการรับใช้ชาติ เมื่อศิลปินร่วมสมัยมีศักดิ์ศรีไม่เท่าแขนงอื่น? 

ก้าวแรกที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2017 ที่ BTS ก้าวเข้าสู่การแสดงบนเวทีบิลบอร์ดและเป็นวงเกาหลีวงแรกที่ขึ้นรับรางวัลในสาขา Top Social Artist Award เอาชนะแชมป์เก่าอย่างจัสติน บีเบอร์ได้ พวกเขากลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สื่อในอเมริกันสนใจความเป็น ‘เคป็อป’ อย่างจริงจังกว่าครั้งไหนๆ 

ความสำเร็จในปีนั้น ตามมาด้วยการทำลายสถิติและการก้าวเข้าไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ของ BTS กำแพงอุตสาหกรรมเพลงอเมริกันค่อยๆ ทลายออก วงบอยแบนด์จากเกาหลีคว้าพื้นที่บนชาร์ตบิลบอร์ด เช่น Billboard 200, Billboard Hot 100, Billboard Global Excl. US, Top Album Sales ฯลฯ

การเฉิดฉายของ BTS ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้มีการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารให้กับสมาชิกวง เนื่องจาก ‘จิน’ (Jin) สมาชิกที่มีอายุมากที่สุด (ตามการนับอายุของเกาหลี เขาอายุ 26 ปีในขณะนั้น ซึ่งมากกว่าการนับอายุแบบสากล 1 ปี) จะเหลือช่วงเวลาขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารเพียง 2 ปีกว่า เนื่องจากตามกฎแล้วจะต้องเข้าฝึกในช่วงอายุระหว่าง 18-28 ปี 

ระหว่างนั้น ปี 2018 มีการแข่งขันเอเชียนเกมส์ขึ้นที่อินโดนีเซีย ซน ฮึง-มิน นักกีฬาฟุตบอลชาวเกาหลีที่ได้ร่วมสโมสรฟุตบอลอังกฤษอย่างทอตนัมฮอตสเปอร์ (Tottenham Hotspurs) กลับมาร่วมทีมชาติเกาหลีและคว้าชัยชนะเหรียญทองในงานนี้ ทำให้เขาและสมาชิกในทีมฟุตบอลเกาหลีกว่า 40 คน ได้ละเว้นการเกณฑ์ทหาร เนื่องจากคุณสมบัติตรงกับข้อกำหนดสำหรับนักกีฬาที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้ประเทศในเวทีระดับเอเชียนเกมส์และโอลิมปิก 

แต่หลังชัยชนะของทีมฟุตบอลเกาหลีเพียง 1 วัน เกิดการตั้งคำถามอย่างร้อนระอุถึงความยุติธรรมในการละเว้นการเกณฑ์ทหารของผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ เนื่องจากการแข่งขันครั้งนี้ทุกคนทราบดีว่าไม่ใช่เพื่อชัยชนะของเกาหลีเท่านั้น แต่ยังเป็น ‘ความหวัง’ ที่จะเห็นซน ฮึง-มิน นักฟุตบอลดาวรุ่งได้เติบโตในวงการได้ไกล โดยไม่ต้องกังวลใจกับการเข้าเกณฑ์ทหาร ประกอบกับมีข่าวว่าสมาชิกทีมเบสบอลเกาหลี 2 คนมีความสามารถเป็นที่น่ากังขา และพวกเขาอายุ 28 จึงเป็นคำถามว่าหรือพวกเขาต้องการละเว้นการฝึกทหาร หากพวกเขาชนะในเกมนี้ได้ [1] 

“ผมเห็นรายชื่อการแข่งขันนานาชาติประมาณ 40 รายการที่จะทำให้ผู้ชายได้รับสิทธิพิเศษในการเกณฑ์ทหารหลังจากพวกเขาชนะการแข่งขัน มันเป็นลิสต์ที่ไม่ยุติธรรมเลย ผู้ชนะรายการเปียโนและไวโอลินอยู่ในลิสต์ แต่ BTS ที่สามารถอยู่บนชาร์ตบิลบอร์ดได้กลับไม่มี ส่วนคนชนะบัลเลต์ก็รวมอยู่ในลิสต์ด้วย แต่คนที่ไปแข่งบีบอยกลับไม่ได้รับสิทธิ” ฮา แท-คยอง ส.ส. จากพรรคบารึนมิแรกล่าวในการประชุมใหญ่คณะกรรมการป้องกันประเทศ และย้ำว่าการแก้ไขกฎเกณฑ์เหล่านี้ควรจะเกิดขึ้นเพื่อให้กฎหมายสะท้อนเสียงของคนรุ่นใหม่

ด้วยแรงกดดันและการตั้งคำถามจากสังคม ทำให้รัฐบาลและกองทัพเริ่มหารือถึงความเป็นไปได้ในการพิจารณาการเกณฑ์ทหารของศิลปินร่วมสมัย พวกเขายอมรับว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวจึงต้องมีการพิจารณาจากหลายฝ่ายอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะการหยั่งเสียงคนในสังคม 

จนกระทั่งในปี 2019 ก่อนถึงวันเกิดปีที่ 29 ของจิน สภาได้ออกกฎหมายชื่อว่า ‘กฎหมาย BTS (BTS law)’ ขยายการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารสำหรับผู้ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์วัฒนธรรม โดยรางวัลนี้ประธานาธิบดีจะมอบให้กับบุคคลที่ทำประโยชน์และส่งเสริมการพัฒนาประเทศผ่านงานด้านวัฒนธรรม โดยผู้ที่ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์สามารถขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารได้จนถึงอายุ 30 ปี โดยใช้หลักเกณฑ์วัดอายุตามสากล นั่นหมายความว่า BTS จะสามารถทำกิจกรรมวงแบบครบทุกคนได้อีก 2-3 ปี ระหว่างที่สภาจะมีการพิจารณาละเว้นการเกณฑ์ทหารสำหรับศิลปินป็อปใหม่อีกครั้ง 

ช่วงเวลาที่ BTS ยืดเวลาการผ่อนผันเข้าฝึกทหาร พวกเขาพาความเป็น ‘เคป็อป’ และ ‘ศิลปินเอเชีย’ ก้าวสู่เวทีโลกได้เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่การคว้าอันดับ 1 บนชาร์ต Billboard Hot 100 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ศิลปินเอเชียสามารถเอาชนะศิลปินตะวันตกเพื่อขึ้นสู่อันดับ 1 ในชาร์ตนี้ได้, รับรางวัลศิลปินแห่งปี (Artist of the Year) บนเวที American Music Awards, มีชื่อเสนอเข้าชิงรางวัล GRAMMY ทำให้พวกเขาเป็นศิลปินเอเชียกลุ่มแรกที่ยืนอยู่บนเวทีประกวดที่คนขาวครองวัฒนธรรมอย่างแข็งแรงได้

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ได้เสนอให้ BTS เป็นทูตทางวัฒนธรรมเกาหลีในงานประชุมองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยทำการแสดงเพลง Permission to Dance ในห้องประชุม UN และร่วมกล่าวถึงอนาคตและสิ่งแวดล้อมโลกร่วมกับประธานาธิบดีในปี 2021 

จนกระทั่งก้าวสู่ปี 2022  ซึ่งเป็นปีที่สมาชิกที่อายุมากที่สุดจะอายุครบกำหนด 30 ปีในเดือนธันวาคมนี้ สภาก็ยังไม่มีข้อสรุปให้กับการแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าว หลังจากเดือนพฤษภาคมที่ BTS ได้รับเชิญจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนให้เป็นตัวแทนศิลปินเอเชียเพื่อหารือปัญหาการเกลียดชังต่อคนเอเชีย (anti-Asian hate crimes) พวกเขากลับมาปล่อยอัลบั้มครบรอบ 9 ปี พร้อมประกาศพักการทำงานวงเพื่อหันไปโฟกัสโปรเจ็กต์ส่วนตัว หลายฝ่ายมองว่านี่เป็นสัญญาณที่สื่อถึงการวางแผนการเข้ากรมแล้ว

The New York Times มองว่าการประกาศพักงานวงชั่วคราวของ BTS อาจเป็นหนึ่งในจุดที่เกาหลีต้องระมัดระวังตัว เนื่องจาก BTS เป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทางเศรษฐกิจ การสำรวจของสถาบันวิจัยฮุนได (Hyundai Research Institute) พบว่า แม้จะอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ ปี 2020 BTS ยังสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจเกาหลีทั้งหมด 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสถาบันวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเกาหลี (Korea Culture and Tourism Institute) คาดการณ์ว่าเพียงแค่การจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ก็สามารถสร้างรายได้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยฮุนไดยังเคยคาดการณ์ไว้ในปี 2018 ว่าหาก BTS ยังสามารถรักษาความนิยมไว้ได้ภายใน 10 ปีจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกาหลีประมาณ 41.8 ล้านล้านวอน โดยตัวเลขเหล่านี้ยังไม่รวมกับรายได้ทางอ้อมจากแฟนคลับที่เดินทางมาท่องเที่ยว เรียนภาษา และเรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลี [2]

คำถามของเหล่าผู้สนับสนุนการละเว้นการเกณฑ์ทหารจึงกลับมาอีกครั้งว่า การพักงานวงเริ่มส่งสัญญาณอนาคตทางเศรษฐกิจแล้ว ทำไมการพิจารณาข้อกำหนดสำหรับศิลปินป็อปถึงได้ล่าช้า และมีแนวโน้มที่จะไม่มีความคืบหน้าใดๆ หรือนี่จะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อศิลปินป็อป? [3] 

คนเกาหลีคิดเห็นต่อการละเว้นการเกณฑ์ทหารศิลปินป็อปอย่างไร 

จากการสำรวจโพลและความคิดเห็นของผู้คนจากหลายสำนักพบว่า ข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องการละเว้นการเกณฑ์ทหารเป็นประเด็นที่เสียงแตกเป็นสองฝั่ง  

ผลสำรวจของ Gallup Korea เมื่อต้นปี 2022 ระบุว่า เกือบ 59 % ในคนเกาหลีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,004 คน ต้องการให้ศิลปินเคป็อปมีการรับราชการทหารแบบทางเลือกหรือได้รับการยกเว้น หากพวกเขามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและยกระดับประเทศสู่ระดับโลก ในขณะที่ 33 % คิดว่าไม่ควรให้มีการยกเว้นการเกณฑ์ทหารกับศิลปินเคป็อป และ 8 % ไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

ส่วนผลสำรวจประชากรจำนวน 500 คนจากทั่วประเทศที่สมัครใจร่วมตอบแบบสอบถามของ Realmeter พบว่า 65.5 % เห็นด้วยที่ BTS จะได้รับการพิจารณาเกณฑ์ทหารทางเลือก โดยอัตราการสนับสนุนสูงในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอายุ 20 และ 50 ซึ่งเกือบ 70 % สนับสนุนแนวคิดนี้ 

นอกจากนี้ 74.9 % ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า BTS จะสามารถช่วยพัฒนาและยกระดับประเทศสู่ระดับโลกได้ [4] 

ในขณะที่การสำรวจความคิดเห็นชายวัย 20 ปีที่มีเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร พวกเขามองว่าการให้ศิลปินเคป็อปละเว้นการเกณฑ์ทหารได้ถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อความยุติธรรม บางคนเชื่อว่านักร้องก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเช่นเดียวกันกับคนอื่นๆ จึงไม่ยุติธรรมที่จะให้ศิลปินละเว้นการทำหน้าที่ระดับชาติ ในขณะที่คนอื่นต้องใช้เวลาหลายปีในการปกป้องประเทศ 

บางคนแสดงความกังวลว่าอะไรคือหลักเกณฑ์ในการละเว้นศิลปินเคป็อปจากการฝึกทหาร เพราะถ้าหาก BTS ได้รับสิทธิพิเศษนี้แล้ว แฟนคลับวงอื่นๆ ก็จะเรียกร้องเพื่อให้ศิลปินตัวเองรอดพ้นจากการเกณฑ์ทหาร และไม่ใช่แค่นักร้อง แต่ผู้คนส่วนอื่นๆ ในอุตสาหกรรม เช่น นักแต่งเพลง นักแสดง ผู้กำกับ ก็ต้องได้รับสิทธิเช่นกัน [5]

“คนธรรมดาที่อุทิศตัวช่วงวัยรุ่นเพื่อชาติ ไม่นับว่าสร้างชื่อเสียงให้ประเทศหรือ? นักร้องแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวได้ ในขณะที่พวกเราถูกบังคับให้ยอมแพ้ มันไม่ยุติธรรมและอาจทำให้สังคมขัดแย้งกันในอนาคตได้” ชุน อิน-บอม พลโทกองทัพบกที่เกษียณแล้ว ให้สัมภาษณ์กับ Koreaherald[6] 

ปาร์ก มิน-ยอง วัย 20 ปี ผู้ช่วยเยาวชนในการหาเสียงของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล แสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียว่า การให้สิทธิละเว้นเกณฑ์ทหารกับ BTS โดยไม่มีเหตุผล อาจนำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ว่าขัดต่อหลักการ 

“ผมสงสัยว่าจะมีสักกี่คนที่เห็นด้วยกับการกำหนดเกณฑ์ใหม่เพื่อปลดคนบางกลุ่มออกจากการเป็นทหาร” ปาร์ก มิน-ยองยังย้ำด้วยว่า BTS ตัดสินใจแล้วที่จะเข้ารับราชการทหาร และแฟนเพลงของพวกเขาก็ไม่พอใจที่นักการเมืองพยายามที่จะให้ BTS เข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองกับนักการเมืองด้วย

Korean band BTS appears at the daily press briefing in the Brady Press Briefing of the White House in Washington, DC, May 31, 2022, as they visit to discuss Asian inclusion and representation, and addressing anti-Asian hate crimes and discrimination. (Photo by SAUL LOEB / AFP)

ส่วนทางการเมือง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว เนื่องจากความสำเร็จของ BTS เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักการเมืองหลายคนสนใจ โดยเฉพาะล่าสุดนี้ เมืองปูซานเลือกให้ BTS เป็นผู้โปรโมตเพื่อประมูลงาน World Expo 2030 ซึ่งเกาหลีต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ เช่น ซาอุดิอาระเบีย เม็กซิโก ฝรั่งเศส

ในความคิดเห็นของอี จง-ฮุน ที่ปรึกษาการเมืองของ iGM มองว่ามีแนวโน้มที่รัฐบาลยุนจะหาทางเพื่อให้มีการละเว้นการเกณฑ์ทหารกับ BTS เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์มหาศาลที่พวกเขาสามารถคาดหวังได้ อย่างไรก็ตาม พวกเขาต้องชั่งน้ำหนักกำไรและการขาดทุนทางการเมือง เนื่องจากมีเสียงคัดค้านในประเด็นการให้สิทธิพิเศษกับศิลปินเคป็อป

แต่หากรัฐบาลอยากทำให้ข้อกำหนดนี้ผ่าน ก็จะต้องรอเสียงจากฝั่งฝ่ายค้าน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลจากหัวก้าวหน้ามาเป็นอนุรักษนิยมแล้ว ฝ่ายค้านคนอื่นๆ อาจจะทบทวนการพิจารณามากขึ้นกว่าเดิม ด้วยปัจจัยที่ว่าอะไรจะตกไปเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลปัจจุบันบ้าง [7] 

อย่างไรก็ตาม การประชุมในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลับมีท่าทีของ ส.ส. พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมที่ได้ขึ้นเป็นรัฐบาลครั้งนี้สนับสนุนให้ BTS เข้ากรมอย่างถูกต้องตามเกณฑ์ปกติ แม้ว่าหนึ่งในสมาชิกของพรรคอย่าง ซัง อิล-จงจะเป็นคนยื่นเสนอการเกณฑ์ทหารทางเลือกเอง ในขณะที่ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี ซึ่งเป็นพรรคหัวก้าวหน้าเชื่อว่าจะต้องสนับสนุนให้ BTS เกณฑ์ทหารแบบทางเลือกให้ได้

คิม คี-ฮยอน ส.ส. จากพรรคพลังประชาชน ผู้ทำงานเป็นผู้บังคับบัญชาในกองทัพมาก่อน กล่าวว่าแม้แต่ BTS ก็เป็นคนบอกความตั้งใจว่าพวกเขาจะเข้าฝึกทหาร โดยอ้างถึงเนื้อเพลงของ SUGA สมาชิก BTS ที่กล่าวว่า “ฉันจะไปกองทัพด้วยตัวฉันเองเมื่อถึงเวลา” 

ในขณะที่สมาชิกร่วมพรรคคิม คี-ฮยอนอย่าง ฮัน คี-โฮ พูดว่า แม้จะมีคนสนับสนุนให้ BTS ได้รับเกณฑ์ทหารทางเลือก แต่ก็ต้องฟังเสียงคัดค้านในเรื่องความเป็นธรรมและอาจทำให้พลทหารอื่นๆ เสียขวัญด้วย

ส่วนฝ่ายค้านก็แย้งว่า BTS ควรได้รับการละเว้นการเกณฑ์ทหาร เพื่อจะได้นำความสามารถที่มีไปใช้ประโยชน์แทนการฝึกทหาร โดยซุน ฮุล ส.ส. จากพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลีมองว่า การเข้าฝึกทหารอาจจะทำให้ BTS ต้องแยกวงและกลายเป็นความสูญเสียของประเทศได้ [8] 

BTS ต้องเข้ากรมเพื่อความยุติธรรม แต่ยังสามารถเล่นคอนเสิร์ตไปด้วยได้

จุดยืนหนึ่งที่ชัดเจนของฝั่งกลาโหมคือ ถึงอย่างไร BTS ต้องเข้ากรมเพื่อความยุติธรรม โดยอี คี-ชิก ผู้บัญชาการกองบริหารกำลังพลทหาร กล่าวกับฝ่ายนิติบัญญัติว่า “เป็นเรื่องที่ ‘น่ายินดี’ สำหรับ BTS ในการปฏิบัติหน้าที่ทางทหาร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการรับราชการทหารของประเทศ” [9]

ส่วนปาร์ก โบ-กยูน รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีคนใหม่ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ โดยเขากล่าวว่าจะต้องมีการพิจารณาและทบทวนปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะการถามความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และเขายังกล่าวย้ำว่า การเกณฑ์ทหารเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์และเป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรม เมื่อ BTS ได้ทำให้โลกได้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมเกาหลี และความนิยมจากทั่วโลกมีผลทางเศรษฐกิจอย่างมากก็ย่อมมีความสำคัญเช่นเดียวกับความคิดเห็นของชายวัย 20 ปี รวมถึงสมาชิกสภาด้วย [10] 

Korea Times กล่าวว่าทุกปีมีจำนวนผู้เข้ารับรับราชการลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันเกาหลีกำลังเผชิญปัญหาอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก โดยสำนักงานสถิติระบุว่า อัตราการเกิดในปี 2022 ลดลงจากปีที่แล้ว เหลือ 260,600 คน ซึ่งเท่ากับประมาณ 0.5% ของประชากร มีการคาดการณ์ว่าประชากรเกาหลีจะลดเหลือ 38 ล้านคนจาก 58 ล้านคนในปี 2070 

ในขณะที่ท่าทีการยุติสงครามของทั้งสองฝั่งยังไม่เห็นปลายทางชัดเจน การพิจารณากฎเกณฑ์การเกณฑ์ทหารจึงเป็นเรื่องท้าทายต่อหน่วยงานรัฐมากขึ้น โดยเฉพาะบริบทที่เห็นชัดว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมเคป็อปไม่มีท่าทีแผ่วลงง่ายๆ และหลังหมดยุคประธานาธิบดีมุน ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์จับมือเพื่อสมานฉันท์กับคิมจองอึน ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือ ต่อจากนั้นไม่ได้ประกอบด้วยความหวังใดๆ เนื่องจากประธานาธิบดีคนใหม่อย่างยุน ซอก-ยอล อยู่ในสายอนุรักษนิยมที่หวังพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าการพัฒนาทางการทูต

อี คี-ชิก ผู้บัญชาการกองบริหารกำลังคนทางทหารกล่าวว่า “ทรัพยากรทางทหารของเรากำลังลดลง ความเป็นธรรมและความเสมอภาคเป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปใช้ในการรับราชการทหารภาคบังคับ ดังนั้น ผมคิดว่า BTS ควรรับราชการทหาร”

อี จง-ซอบ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกล่าวในสภาว่า ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขโดยไม่ละเมิดหลักการความยุติธรรมและความเสมอภาค โดยเขากล่าวว่า หาก BTS เข้ารับราชการทหารอาจมีวิธีในการอนุญาตให้ BTS ไปแสดงในต่างประเทศในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพได้ 

“[BTS] ควรเข้ารับราชการทหาร ผมเชื่อว่าจะมีวิธีที่เราจะให้โอกาสพวกเขาได้ฝึกฝน รวมทั้งอนุญาตให้พวกเขาออกจากประเทศและแสดงได้ตลอดเวลาหากพวกเขามีคอนเสิร์ตในต่างประเทศ”

แฟนๆ จำนวนไม่น้อยคิดว่าการให้ BTS ทำงานทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน นับเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่งต่อศิลปิน เนื่องจากพวกเขาต้องรับใช้ชาติพร้อมกันในสองบทบาท และการฝึกซ้อมคอนเสิร์ตขณะฝึกซ้อมทหารด้วยเป็นงานหนักเกินไป กระทรวงกลาโหมจึงได้พยายามเสนอให้มีการทำประชามติต่อการละเว้นการเกณฑ์ทหารในช่วงกลางปี 2022 สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนที่มองว่ากองทัพกำลังผลักภาระให้ประชาชนเป็นคนรับผิดชอบแทนกองทัพ

ราคาที่ต้องจ่ายหากศิลปินรับใช้ชาติในฐานะเคป็อป?

ข้อหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การพิจารณาเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากมุมมองของสังคมต่อการรับราชการทหารยังคงเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะในชายวัยที่เข้าเกณฑ์กับการฝึกทหาร

คนเกาหลียังผูกโยงคุณค่าและสร้างความสัมพันธ์ผ่านประสบการณ์ร่วมอย่างการฝึกทหาร ยุน มิน-ซิก นักข่าวจาก Koreaherald กล่าวว่า มีชายวัย 30 ที่มีประสบการณ์ถูกถามระหว่างการสัมภาษณ์งานว่าทำไมเขาถึงได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์ทหาร ทำให้เกิดช่วงอึดอัดใจตลอดอาชีพการงาน เมื่ออีกฝ่ายถามว่า “แล้วคุณประจำการที่ไหนล่ะ”

เจสัน ลิม ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม ความเป็นผู้นำ และการจัดการวัฒนธรรมกล่าวว่า การบังคับรับราชการทหารเป็นสิ่งที่คนเกาหลีเกลียดและพยายามหาทางหนี ในขณะเดียวกันหากมีคนพยายามหนีจริงๆ สังคมก็จะลงโทษคนนั้น ดังนั้น ถ้าหากมีคนต้องทำสิ่งนี้ คุณก็ต้องทำด้วย แม้มันเป็นค่าเสียโอกาสในวัย 20 ของชายเกาหลีที่ต้องเจอเหมือนกันก็ตาม และในมุมของคนที่ประสบความสำเร็จได้รวดเร็วในช่วงวัย 20 พวกเขามีราคาที่ต้องจ่ายสูงกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม หากการละเว้นครั้งนี้เกิดขึ้นจริง เขาคิดว่า BTS จะถูกติดเครื่องหมายสีแดงว่าไม่ได้เกณฑ์ทหารไปตลอดชีวิต รวมถึงแรงกดดันที่พวกเขาต้องประสบความสำเร็จบนเส้นทางที่ไม่อาจยั่งยืนให้ได้ตามตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายจากสังคม 

“ที่แย่ไปกว่านั้น ทุกคนในประเทศ โดยเฉพาะชายที่ยอมเข้าเกณฑ์ทหาร จะคิดว่า BTS เป็นหนี้บุญคุณที่ได้รับอนุญาตให้ได้รับสิทธิพิเศษ ดังนั้น ถ้าผมเป็นผู้นำ ผมย่อมอยากให้ BTS ได้ละเว้นการเกณฑ์ทหาร แต่ถ้าผมเป็น BTS ผมจะปฏิเสธ

“ความสำเร็จในระดับนี้เป็นสิ่งชั่วคราวและจะจางหายไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อ BTS ยอมรับการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร พวกเขาจะต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ภายใต้คำมั่นสัญญาที่ไม่อาจกำหนดได้และไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งผมมองว่าไม่คุ้มค่า เพราะมันจะปล้นเสรีภาพทางสังคมและศิลปะไปจากพวกเขา” ลิมกล่าวสรุปความคิดเห็นของเขา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save