fbpx

ทฤษฎีไขปัญหา ไขปัญหาทฤษฎี

1

การเตรียมบรรยายเป็นการจัดระบบความรู้ไปนำเสนอ โดยนัยนี้จึงเป็นการเตรียมจากสิ่งที่คนสอนรู้ดีแจ่มแจ้งอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่มองหากรอบสำหรับจัดสำรับออกมาให้พอเหมาะ ความสนุกจึงมีไม่มากนัก ไม่เหมือนกับตอนเจอคำถามตอบยากหรือตอบได้หลายทางจากนิสิต แล้วต้องรวบรวมความคิดมาตอบให้ทันกาล/การณ์ นับเป็นข้อท้าทายคนสอนที่ช่วยให้ตอนท้ายของการบรรยายมีสีสันสนุกขึ้น แม้ไม่ท้าทายเท่ากับตอนเตรียมสอบประมวลความรู้วัดคุณสมบัติสำหรับผ่านด่านการเรียนระดับดุษฎีบัณฑิตก็เถิด อย่างหลังนี้ต้องไปหวั่นไหวหมิ่นเหม่อยู่บนถนนความรู้ขนาดแคบเลียบเลาะไปตามริมผา ที่เห็นความไม่รู้ของเราแผ่กว้างขวางเวิ้งว้างอยู่ในทะเลผืนใหญ่ ไม่รู้ว่ากรรมการซึ่งเป็นอาจารย์ของเราเองจะหยิบคำถามไหนจากทะเลเวิ้งว้างนั้นมาถามเราที่กำลังวิตกกับความสูงชัน

พอชั้นเรียนต้องเปลี่ยนมาเรียนผ่านระบบออนไลน์ ในการตอบคำถามที่นิสิตส่งมาเป็นครั้งคราว คนสอนมีเวลาประมวลความคิดมาเขียนตอบได้มากขึ้น ข้อดีของการเขียนคือช่วยให้คนสอนรู้ตัวขึ้นมาว่ายังติดขัดตอบตรงไหนไม่ได้ เพราะบางทีคำถามยิ่งพื้นฐานเท่าไร ก็ยิ่งตอบได้ยากขึ้นเท่านั้น ดีว่าคำถามที่ได้รับจากนิสิตวันก่อนเป็นคำถามขอให้ช่วยไขปัญหาทฤษฎีเกี่ยวกับ ‘ทฤษฎีไขปัญหา’ (problem-solving theory) ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งพอจะตอบให้เขาได้ไม่ยากนัก เขายังถามอะไรตามมาอีกซึ่งเข้ากับแนวเรื่องของบทความชุดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตั้งใจเขียนอยู่ในระยะนี้พอดี จึงขออนุญาตนิสิตนำที่ได้ตอบคำถามของเขาบางส่วนมาเสนอแทนบทความในรูปแบบปกติ

คำถามที่นิสิตส่งมาเปิดประเด็นเป็นเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีตามการจัดที่ Robert W. Cox[1] จำแนกไว้ระหว่างทฤษฎีกลุ่มที่เขาเรียกว่าพวก problem-solving theory กับทฤษฎีฝ่าย critical theory ซึ่งรวมงานของ Cox เองด้วย ว่าทฤษฎี 2 กลุ่มนี้เป็นคนละประเภทกัน นิสิตส่งคำถามมาว่า อยากทราบเกี่ยวกับทฤษฎีกลุ่มแรกเพิ่มเติม และอยากทราบการ ‘ไขปัญหา’ ของทฤษฎีกลุ่มนี้ว่ามีประโยชน์ใช้การได้ในการแก้ปัญหาแบบไหน  

ขอนำข้อเสนอของ Cox ที่สะท้อนแนวทางการวิพากษ์ของ critical theory ต่อการทำงานของทฤษฎีและความรู้ต่างๆ ของฝ่าย ‘problem-solving’ มาลงเป็นตัวตั้งไว้ก่อน เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยงานทฤษฎีของ Cox ได้เห็นฐานคิดที่เขาจัดมาเป็นคู่เทียบและวิพากษ์ทฤษฎีในฝ่าย ‘ไขปัญหา’ ที่นิสิตส่งมาถามข้างต้น ดังนี้

ทฤษฎีมีไว้เพื่อบางคนและเพื่อบางเป้าหมายเสมอ  ทฤษฎีทั้งหลายต่างมีมุมมองของตัวเอง  มุมมองเหล่านั้นมาจากสถานะที่ดำรงอยู่ในกาละและเทศะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาละและเทศะทางสังคมและการเมือง  การมองโลกเป็นการมองผ่านจุดยืนที่กำหนดหมายโดยความเป็นชาติหรือโดยความเป็นชนชั้นทางสังคม โดยสถานะของการเป็นผู้ครอบครอง หรือของผู้อยู่ใต้การปกครอง ของอำนาจที่กำลังพุ่งทะยานขึ้นหรือกำลังเสื่อมถอย ของความรู้สึกว่าถูกตรึงอยู่กับที่ หรือการตระหนักว่ามีวิกฤตกำลังเกิดขึ้น  ของประสบการณ์ในอดีตและความหวังกับความมุ่งปรารถนาต่ออนาคต  แน่นอนว่าทฤษฎีที่ประณีตซับซ้อนจะไม่เป็นเพียงแต่การแสดงมุมมอง  ยิ่งทฤษฎีนั้นซับซ้อนเพียงใด มันก็ยิ่งสามารถพินิจ ทบทวน รวมทั้งก้าวข้ามมุมมองของตัวมันเองได้  แต่ทฤษฎีย่อมคงมุมมองเบื้องต้นซึ่งสัมพันธ์กับการอธิบายของมันไว้เสมอ  ดังนั้น จึงไม่มีทฤษฎีใดในตัวของมันเองที่จะปลอดจากจุดยืนในกาละและเทศะไปได้  ถ้าทฤษฎีใดแสดงตัวว่าเป็นอย่างนั้น ก็ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องสำรวจมันในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ และเปิดเผยให้เห็นมุมมองที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง (Cox, 1986, 207, เน้นคำตามต้นฉบับ)

เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่ได้อ่าน บทความที่เป็นที่อ้างอิงกันมากของ Cox และเป็นที่มาของย่อหน้าข้างต้น จุดประเด็นให้นิสิตมีคำถามส่งมาหลายเรื่อง นอกจากลักษณะของ ‘ทฤษฎีไขปัญหา’ แล้ว นิสิตติดใจประเด็นว่าด้วยแนวทางศึกษาของทฤษฎี 2 ฝ่ายในการใช้ประวัติศาสตร์หาความรู้ ว่าในความแตกต่างระหว่างกันส่งผลต่อความรู้ของทฤษฎีแต่ละฝ่ายในแง่ไหนบ้าง  นิสิตยังชวนคนสอนทฤษฎีสนทนาต่อเกี่ยวกับคำนินทารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกระแสหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง IR ที่เป็น American Social Science และถูกใครๆ นินทาว่ามีปมอิจฉาฟิสิกส์ (physics envy)[2] ในประเด็นหลังนี้ ข้าพเจ้าตอบความเห็นเขาว่าในการเป็น(วิทยา)ศาสตร์ IR มีปัญหายากกว่านั้นซ่อนอยู่ น่าเก็บมาเขียนถึงเหมือนกัน รวมทั้งเรื่องการใช้ประวัติศาสตร์ที่เขาสนใจถามมา เพราะแม้ในทฤษฎีสำนักใหญ่อย่าง realism นักวิชาการที่ถูกจับสังกัดในสายนี้ก็มีท่าทีต่อประวัติศาสตร์ไม่เหมือนกัน คู่ที่น่าเทียบคู่หนึ่งคือ Kissinger กับ Carr เพราะคนทั้ง 2 ในเวลาไล่เลี่ยกันมีจุดตัดกันในความเห็นที่แต่ละคนมีต่องานของ Oswald Spengler ซึ่งตั้งโจทย์ถามถึงความก้าวหน้าในเส้นทางประวัติศาสตร์ของตะวันตก     

คำถามที่นิสิตส่งมาและการช่วยเขาตอบคำถามทำให้ข้าพเจ้าได้ความตระหนักด้วยว่า การอ่านงานวิชาการแล้วทำความเข้าใจตามไปนั้น เป็นเหมือนการอ่านขั้นต้น  ในเวลาเรียนที่มีจำกัด และต่อสัปดาห์มีอะไรที่คนเรียนต้องตามอ่านมากมายในหลายวิชา เพียงแค่อ่านทำความเข้าใจตามตัวบทที่ถูกกำหนดมาให้ทันก็นับว่าดีมากแล้ว แต่เมื่อเวลาเร่งรัดไม่มีเวลาย่อยเรื่องที่อ่านและตามสังเกตตั้งประเด็นตั้งคำถามต่อข้อเสนอใหญ่ย่อยที่มีอยู่ในงานเชิงทฤษฎี  คนเรียนก็อาจได้รับประโยชน์จากงานนั้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น  การเห็นคำถามที่นิสิตส่งมายังช่วยให้ข้าพเจ้าเห็นส่วนที่ตัวเองมองข้ามไปในเวลาอ่านด้วย อย่างล่าสุดจากคำถามของนิสิตในงานของ Cox คือส่วนที่นิสิตตั้งมาถามว่า ทฤษฎี ‘problem-solving’ ไขปัญหาอะไร ขอให้อธิบายขยายความการใช้ประโยชน์ทฤษฎีพวก problem-solving ว่า ‘แก้ปัญหา’ แบบไหนบ้าง นี่เป็นคำถามที่ข้าพเจ้าตอนอ่านบทความของ Cox ไม่ได้คิดถึงมาก่อน แต่เมื่อเห็นคำถามแล้วก็เห็นว่าเป็นคำถามที่ดีน่าคิดน่าตอบมากอยู่ เลยขอนำที่ได้รวบรวมตอบนิสิตในเรื่องนี้จัดลำดับเรียบเรียงออกมาเป็นบทความตอนที่ 3 ของชุดอ่านงานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเดือนนี้

2

คนสอนตอบนิสิตเรื่อง ‘ทฤษฎีไขปัญหา’ ตามที่เขาเข้าใจ ดังนี้  

ทฤษฎีฝ่าย problem-solving มองความรู้มองทฤษฎีทั้งหลายจากการใช้การได้ของความรู้ ซึ่งอะไรจะเป็นความรู้ที่ใช้การได้ ก็ต้องดูที่กระบวนวิธีในการหาและได้ความรู้นั้นมาจุดหนึ่ง และดูที่แนวทางใช้ประโยชน์จากความรู้นั้นอีกจุดหนึ่ง  ถ้าไม่ขัดข้องที่จะศึกษาและรับความรู้ในเชิง pragmatism อย่างนี้ ก็จะตามอ่านงานของพวกเขาได้สนุก แต่ก่อนจะสนุก บอกนิสิตว่าจะต้องเข้าใจส่วนที่ไม่สนุกเสียก่อน เพราะส่วนนี้เป็นด่านสำคัญที่นักวิชาการในสมัยหนึ่งใช้ตั้งสกัดคัดกรองว่าจะนับงานไหนว่าเป็นหรือไม่เป็นความรู้ และงานไหนให้อ่านแบบให้เห็นว่าเป็นงานเชิงวิพากษ์ ที่อ่านแล้วก็หันมาพยักหน้าบอกคนเขียนว่าเข้าใจจุดที่เธอต้องการจะบอกแล้ว แต่ที่เธอว่ามานี้ยังไม่นับเป็นความรู้ตามมาตรฐานญาณวิทยาและวิธีวิทยาอันเป็นที่รับรอง ทำให้อีกฝ่ายต้องร้องว่า “You just don’t understand!”

แต่ต้องกล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันในสาขาวิชาดีขึ้นกว่าสมัยที่ Cox เขียนบทความนี้มากแล้ว[3] หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง วิชาการ IR ในปัจจุบันเคารพความแตกต่างในแนวทางสร้างความรู้ที่ต่างกัน และสร้างความสมานฉันท์ในสาขาวิชาขึ้นมาได้ ที่แม้จะไม่ใช่ความสมานฉันท์ในทางความคิดและความรู้จากฐานคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งว่าไปแล้วมีไม่น้อยทีเดียวที่เป็นความรู้ที่เข้ากันไม่ได้ในความหมาย incommensurable อย่างที่ Kuhn ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ scientific paradigms แต่ความสมานฉันท์ใน IR มาจากการยอมรับในความแตกต่างที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจโลก ที่ยิ่งมายิ่งมีความหลากหลายกระจายตัวซับซ้อนยิ่งขึ้น จนความรู้จากฐานคิดใดฐานคิดเดียวไม่อาจจัดการตอบสนองได้ทั้งหมด แม้การจัดการที่มีรัฐเป็นศูนย์กลางเอง ก็ต้องพบกับปัญหาหลากหลายมิติและเผชิญกับเงื่อนไขในหลายระดับไปพร้อมกัน แต่ไม่ไปในทางเดียวกัน ซึ่งทำให้รัฐจำเป็นต้องระดมความรู้จากหลายทางมาตอบโจทย์ขนาดใหญ่ทางวัตถุวิสัยที่ส่งข้อท้าทายหลายรูปแบบเข้ามาพร้อมๆ กัน เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและฐานทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโครงสร้างอำนาจระหว่างประเทศ  

ผลที่ตามมาจากการที่สาขาวิชากลายเป็นพื้นที่เปิดสำหรับสร้างความรู้จากหลายแนวทางที่ต่างกันมากและอาจเข้ากันไม่ได้ในทางญาณวิทยาและภววิทยา และต่างกลุ่มต่างก็มีคุณค่ายึดเหนี่ยวต่างกัน สิ่งแวดล้อมก็มีคุณค่าของสิ่งแวดล้อม สตรีนิยมก็มีคุณค่าของสตรีนิยม การค้าเสรีก็มีคุณค่าเสรีนิยมของตน ความมั่นคงยิ่งมีคุณค่ากระจายออกไปอีกเป็นหลายแบบ  ในทางหนึ่ง เราจึงเห็นในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาว่าพรมแดนความรู้ในสาขาวิชา IR ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งที่เป็นการหันมาติดตามถามหามุมมองและเปิดคำถามจากฝ่ายที่เงียบเสียงหรือถูกละเลยมานาน[4] และการสำรวจแนวทางการศึกษา IR จากทั่วโลกที่ไม่จำกัดคับแคบอยู่แต่เฉพาะในวงวิชาการอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกาเหมือนแต่ก่อน  แต่ในอีกทางหนึ่ง ความรู้ทางสังคมศาสตร์ที่มาจากต่างฐานคิดต่างฐานคุณค่ายึดเหนี่ยวเช่นนี้ ก็มีส่วนหนุนให้สนามการเมืองกลายเป็นจุดตัดนัดพบระหว่างกลุ่มพลังฝ่ายต่างๆ ที่มีแหล่งอ้างอิงอำนาจความรู้ และการใช้ความรู้มาเป็นสิทธิอำนาจ ที่สมานเข้าหากันได้ยากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อมาจากคนละฐานคิด การจะใช้ความรู้มาเป็นที่อิงสำหรับใช้เหตุผลในการสื่อสารเพื่อพากันไปหาความจริงอย่างเปิดใจรับฟังกันและกันก็ทำได้ยากขึ้น  ความยากนี้รวมถึงการต่อสู้ที่มุ่งสถาปนาความคิดนำ (hegemonic idea) ชุดใหม่ขึ้นมาแทนที่ชุดเดิมที่ถูกทำลายไปด้วย 

สนามการเมืองที่ประกอบด้วยความรู้ที่หาทางสมานฉันท์กันยากยิ่งขึ้นเช่นนี้ การต้าน hegemonic idea ที่ถูกกำหนดให้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับความหลากหลาย จะทำได้ง่ายกว่าการรักษา hegemonic idea หรือสร้างขึ้นใหม่ท่ามกลางความหลากหลายที่มีอยู่  ทฤษฎีวิพากษ์ของ Cox ที่มี hegemonic idea เป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง จึงตั้งโจทย์ท้าทายทุกขบวนการความเคลื่อนไหวว่า hegemonic idea ยังคงมีความสำคัญอยู่หรือไม่ในการสถาปนาระเบียบชุดใหม่ของโลกมาแทนที่ชุดเดิม หรือทางสมานฉันท์ท่ามกลางความหลากหลายแบบที่พบในพัฒนาการของสาขาวิชาอย่าง IR จะเป็นไปได้เพียงใดในโลกการเมือง และในการเมืองโลก ณ จุดสุดปลายที่สมัยใหม่พามาถึง

อย่างไรก็ดี แม้สภาพการณ์ของสาขาวิชาจะเปลี่ยนไปมาก แต่ก็ยังน่าทบทวนอยู่เหมือนกันว่าพวกทฤษฎี problem-solving สมัยนั้นตามที่ Cox พูดถึงมีวิธีการสร้างความรู้อย่างไร เพราะความรู้ชุดนี้ยังคงทำงานอย่างทรงพลังท่ามกลางความหลากหลายที่เพิ่มมากขึ้น พูดกันอย่างลำลองก็คือมันยังคงถูกนับว่าเป็นความรู้กระแสหลักอยู่   วิธีการหาความรู้ของพวก problem-solving theories ที่เขียนเป็นท่อนๆ อย่างคร่าวๆ ต่อไปนี้ ยกมาจากการตอบคำถามนิสิตทางแอปพลิเคชันโดยตรง ขออนุญาตท่านผู้อ่านคงไว้ตามเดิมอย่างที่เขียนแต่แรก ไม่ทำให้เป็นวิชาการมากไปกว่าที่ได้ตอบนิสิตไป มิเช่นนั้นจะเป็นการเปลี่ยนบทความนี้ให้กลายเป็นการเขียนปรุงตำรา

ลักษณะการหาความรู้ชองพวก problem-solving theories ตามสังเกตมาได้ความอย่างนี้

  • เมื่อคนอยู่ในฝ่าย problem-solving theories ทำงานกับความรู้มวลหนึ่ง เขาอาจจะเรียกเป็นสำนักทฤษฎี -ism อาจจะเรียกว่าเป็น research program ในชื่อเฉพาะอย่างหนึ่งอย่างใด บางทีก็ใหญ่ขึ้นไปเรียกว่าเป็น paradigm ที่แปลกันว่ากระบวนทัศน์ก็มี แบบนั้นจะมีตั้งแต่เมตาฟิสิกส์เกี่ยวกับลักษณะของความเป็นจริงในโลก ไปจนถึงงานต้นแบบที่เป็น exemplars แสดงแนวทางวิธีการหาความรู้ว่าทำแบบไหน แต่ไม่ว่าจะเรียกอะไร คนที่อยู่ฝ่ายทฤษฎีแก้ปัญหาจะเปลี่ยนความรู้ในมวลนั้นออกมาตั้งเป็นสมมุติฐานสำหรับนำไปทดสอบให้ได้ความลงตัวยืนยันโดยวิธีการหาและใช้หลักฐานที่ชัดเจน จนพิสูจน์หรือตรวจสอบได้ความมั่นใจแน่นอนแล้วจึงเอามาใช้อธิบายปรากฏการณ์ และคาดการณ์เหตุการณ์ต่อไปได้
  • หรือไม่ ถ้าเป็นในเรื่องที่ไม่อาจสังเกตได้โดยตรง คนศึกษาก็จะตั้งข้อสันนิษฐานขึ้นมา จะตั้งจากฐานคิดหรือ paradigm เกี่ยวกับการทำงานของจักรวาลหรือเกี่ยวกับโลกอะไรอย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อตั้งแล้วก็นำข้อสันนิษฐานที่ตั้งขึ้นในเรื่องที่ไม่อาจสังเกตได้โดยตรงนั้นมาสร้างข้อสมมุติฐานต่อในส่วนที่สังเกตได้สำหรับตามศึกษาต่อไป ถ้าใช้ตัวอย่างจากวิทยาศาสตร์ ถ้าสันนิษฐานว่าไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะอุกกาบาตใหญ่มาชนโลกในตอนไหน จากข้อสันนิษฐานนั้น มันก็ควรมีร่องรอยอื่นๆ ค้างอยู่ที่จะศึกษาสังเกตได้ในทางธรณีวิทยา ภูมิอากาศ หรือสมุทรศาสตร์ ที่จะตั้งสมมุติฐานออกมาได้อีกเป็นหลายประการสำหรับเอาไปทดสอบว่าอันไหนใช่ไม่ใช่ ผ่านไม่ผ่าน และคัดอันที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าผิดหรือไม่พบร่องรอยอย่างที่ควรจะต้องมี ถ้าหากโลกในช่วงเวลาหนึ่งเคยเจอกับระลอกอุกกาบาตใหญ่น้อยพุ่งชนจริง ก็ตัดอันที่ถูกหลักฐานแย้งว่าผิดออกไปเรื่อยๆ  

    แบบแรกเก็บข้อมูลที่ประจักษ์ได้มารักษาข้อเสนอทางทฤษฎีที่ลงรับกับข้อมูล ถ้าไม่ได้ คนที่ใช้หรืออยากพัฒนาทฤษฎีนั้นต่อก็ต้องเติมข้อเสนอเพิ่มลงไปเป็นตัวช่วยให้ทฤษฎีนั้นอธิบายได้ดีขึ้น อีกแบบเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อมาตัดทฤษฎีที่ไม่ถูกต้องออกจนเหลือแต่อันที่ยังไม่พบว่าผิด  นอกจากนั้น ข้อมูลสำหรับการสร้างความรู้ที่ใช้การได้ ยังต้องเก็บมาสำหรับดูการแปรเปลี่ยนหรือสังเกตความแตกต่างระหว่างพื้นที่หรือข้ามเวลาในตัวปรากฏการณ์ที่ต้องการอธิบายด้วย ข้อมูลอีกส่วนที่จำเป็นสำหรับทฤษฎีแบบนี้ที่ต้องเตรียมหามาแสดงคือส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการทำงานของปัจจัยที่นำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์นั้นว่า ในเงื่อนไขอะไรที่มันจะก่อผลได้มากหรือน้อย หรือบางทีก็ไม่ก่อผลอะไรออกมาเลย
  • วิธีการหาความรู้ไม่ได้มีเท่าที่ว่ามาข้างต้น เดี๋ยวฝ่ายที่ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพแบบกรณีศึกษาที่เป็นเหตุการณ์เฉพาะ หรือใช้กรณีศึกษาเปรียบเทียบมารู้เข้า จะว่าได้  จะเป็นแนวทางที่ใช้กรณีศึกษา ใช้ process tracing ดูการทำงานของกลไกส่งผลบางอย่าง แบบที่พวกวิจัยเชิงคุณภาพในการเมืองเปรียบเทียบหลายทฤษฎีพัฒนาแนวทางการศึกษาแบบนี้มา เพราะไม่นิยมแนวทางที่ใช้ covering law, hypothetical deduction หรือ statistical inference ก็นับเข้าเป็นความรู้ตามแนวทางของพวกทฤษฎีไขปัญหาได้เช่นกัน

    นึกตัวอย่างเร็วๆ ก็เช่นงานคลาสสิกที่ศึกษาการตัดสินในภาวะวิกฤตของ JFK และคณะในระหว่างวิกฤตการณ์คิวบา ใช้กรณีศึกษาจากเหตุการณ์เดียว แต่ในกรณีเดียวนี้ Graham Allison เสนอตัวแบบการวิเคราะห์ออกมาต่างกัน 3 ตัวแบบ[5] ตัวแบบที่ II นั้นน่าสนใจตรงที่เขาวิเคราะห์แบบแผนวิถีปฏิบัติที่องค์กรอย่างกองทัพอากาศหรือกองทัพเรือได้วางมาตรฐานปฏิบัติการหรือแผนการทำงานด้านหนึ่งๆ ไว้ เช่นถ้าจะโจมตีทางอากาศ หรือดำเนินการปิดล้อมทางทะเล จะต้องทำแบบไหน และถ้าจะตัดสินใจเลือกวิธีหนึ่งวิธีใดมาดำเนินการต่อวิกฤต จะต้องทำตามขั้นตอนตามแผนที่วางแนวทางกำหนดไว้ในแผนนั้น และเมื่อเป็นอย่างนั้น กระบวนการทำงานซึ่งองค์กรที่เป็นฝ่ายปฏิบัติได้กำหนดไว้ก่อนก็มีผลต่อการตัดสินใจเลือก หรือต่อการนำการตัดสินใจแปรไปเป็นการปฏิบัติได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตที่ต้องการดำเนินการรวดเร็ว การจะปรับเปลี่ยนแก้ไขแบบแผนกระบวนการทำงานขององค์กรทำได้จำกัด ความรู้ที่ได้จากกรณีศึกษาอย่างนี้ แม้เป็นกรณีเฉพาะกรณีเดียวก็จัดเข้าเป็นทฤษฎีไขปัญหาพวกหนึ่งที่มีประโยชน์มากเช่นกัน

ในการใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ได้มา ฝ่ายทฤษฎีไขปัญหามองความรู้ที่ใช้การได้แบบนี้เป็นความรู้สำหรับอธิบายสภาพสภาวะและการทำงานของโลกจากความสัมพันธ์ซับซ้อนที่มีอยู่ในโลก พวกเขาใช้ความรู้เป็นเครื่องมือสำหรับการทำงาน การจัดการ การขยายสมรรถนะขีดความสามารถ หรือปรับใช้ความรู้มาเป็นเทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจและการแปรการตัดสินใจไปสู่การปฏิบัติ เพิ่มผลิตภาพในการผลิตและเพิ่มประสิทธิผลจากการใช้ทรัพยากรและต้นทุนดำเนินการ โดยทั้งหมดนี้อาจเป็นการเพิ่มคุณภาพในของรุ่นเก่าหรือกระบวนการกระบวนงานแบบเดิมที่ใช้อยู่ให้ทำงานได้ดีขึ้น หรือเป็นการสร้างนวัตกรรมที่รวมประโยชน์ใช้สอยหลายด้านเข้าด้วยกันมาใช้แทนของเดิม หรือคิดค้นของใหม่ในสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครที่ไหนทำได้มาก่อนเพื่อช่วยมนุษย์แก้ปัญหาทั้งหลายแหล่ที่พวกเขาเผชิญอยู่ก็ได้เช่นกัน แต่นานๆ ถึงจะมีนวัตกรรมอย่างนี้สักที ส่วนใหญ่ที่เห็นใหม่และนับว่าเป็นนวัตกรรมจะเป็นในแบบที่สอง แต่สำหรับทฤษฎีไขปัญหา ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีจะมีทั้ง 3 แบบที่ว่ามานี้

ทีนี้ เมื่อ Cox แยกทฤษฎีออกเป็น 2 พวกใหญ่แล้วจัดพวกหนึ่งว่าเป็น critical theory คำถามคือแล้วอีกพวกเป็นแต่นักเทคนิคแก้ปัญหา โดยไม่มีวิพากษ์อย่างนั้นหรือ? ตอบได้ว่าไม่ใช่ แต่เวลานักทฤษฎีฝ่ายนี้เขาแย้ง/วิพากษ์กัน เขาจะเปิดประเด็นกับความชัดเจนและเพียงพอของแนวคิดในทฤษฎี เช่น ทฤษฎีมองอำนาจว่าเป็นขีดความสามารถ มองแบบนี้พอไหม หรือว่าต้องมองที่ความสัมพันธ์ หรือว่าต้องมองต่อไปให้เห็นเบื้องหลังความสัมพันธ์ตรงหน้าอีก อีกส่วนหนึ่งในการแย้ง/เปิดประเด็นวิพากษ์กัน คือที่การวิพากษ์ตัวฐานคิดที่ให้ทางพิจารณาสภาพความเป็นจริง เช่น มองความเปลี่ยนแปลงเป็นขั้นๆ จากขั้นแรกไปสู่ขั้นที่สองและขั้นต่อไป แบบนี้พอฟังได้ไหม การมองแบบนี้ส่งผลแบบไหนต่อทางอธิบายของทฤษฎีนั้น

จุดแย้ง/วิพากษ์แบบนี้จึงต่างจากฝ่าย critical theory พวกหลังจะวิพากษ์เลยไปที่ ethical และ ideological presuppositions ของทฤษฎีความรู้ต่างๆ ด้วย ใครอย่าเผลอไปบอกว่าความรู้ของฉัน value-free หรือไม่มีอุดมการณ์มาเกี่ยวข้อง หรือเป็นกลางๆ ไม่เข้าใครออกใครทั้งสิ้น หรือพยายามที่จะทำให้ได้แบบที่ว่านี้ ถ้าพวก Critical เขารู้ เขาจะตรงมาขย้ำตรงจุดนี้ก่อนเลย แล้วก็จะลาก truth claims ที่อ้างว่าปลอดสารนั้น มาแสดงให้เห็นฤทธิ์ทางเคมีของเชื้อมูลทางอุดมการณ์ที่มีผสมอยู่ในนั้น  ดังนั้น ถ้าเรียกพวกแรกเป็นทฤษฎีไขปัญหา อาจเติมลงไปว่าเป็นการแก้ปัญหาให้ระบบที่เป็นอยู่ทำงานต่อไปได้ดีขึ้น ส่วนทฤษฎีฝ่าย Cox เป็นทฤษฎีวิพากษ์สภาพสภาวะที่เป็นอยู่ และวิพากษ์ความคิดทฤษฎีที่ช่วยรักษาระบบเดิม เพื่อหนุนพลังการเปลี่ยนแปลงไปหาระบบใหม่ที่เชื่อว่าจะดีกว่า หรือถึงยังเปลี่ยนไม่ได้ในตอนนี้ อย่างน้อยก็ช่วยเพิ่มอำนาจให้คนที่ไม่มีอำนาจขาดสิทธิ์ขาดเสียง

การแบ่งประเภทของ Cox แบบนี้ส่งผลให้คนที่แม้ทำงานในเรื่องเดียวกัน และทำกับคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกันอาจถูกจัดแยกไว้คนละฝ่ายได้ เช่น ในการทำงานเพื่อยกระดับบทบาทผู้หญิงในการเมืองระหว่างประเทศ ถ้าฝ่ายหนึ่งทำงานเพื่อยกระดับสถานะสตรีในตำแหน่งหน้าที่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยไม่เปิดประเด็นต่อสู้เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ ก็จัดว่าอยู่ฝ่าย problem-solving  ส่วนอีกฝ่าย ถ้าวิพากษ์และมุ่งเปลี่ยนแปลงรากฐานความคิดปิตาธิปไตยที่ทำงานอยู่ในแบบแผนวิถีปฏิบัติต่อเพศภาวะอย่างไม่เท่าเทียมกันในชีวิตประจำวันจะจัดอยู่ทาง critical theory  

แต่ส่วนที่ซ่อนอยู่ทั้งใน problem-solving theory และใน critical theory คือการเลือกพิกัดความคิดและคุณค่า  ซึ่งถ้าดูองค์ประกอบใน paradigm ของ Kuhn ส่วนนี้คือส่วนที่ Kuhn จัดเป็น values สำหรับ group commitments ของตัวผู้ศึกษา ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่การเลือกปัญหาที่จะแก้ในทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังเป็นการเลือกพิกัดว่าจะแก้ปัญหาของโลกในส่วนไหนด้วยฐานคิดแนวคิดและทฤษฎีไหน หรือจะเป็นการสู้ทั้งทางความคิดและการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรให้ใคร  ส่วนที่เป็น values และ group commitments นี้ ขึ้นต่อเหตุปัจจัยอื่นอีกมากและเป็นเหตุผลอยู่นอกเหนือทฤษฎีออกไป[6]

เมื่อเป็นอย่างนี้ อยากให้สังเกตว่า นักทฤษฎีที่พอใจชัดในพิกัดตรงไหนก็ตาม เขาอาจสร้างผลงานจนเป็นผู้ทรงอิทธิพลแบบมี soft power ขึ้นมาในตัว แล้วเมื่อผสมกับแรงดึงใจอื่นๆ ก็ทำให้คนที่ศึกษางานของเขา ตามเขาเข้ามาในพิกัดนั้น มาทำงานสร้างความรู้อยู่ใน research program นั้นต่อ จำนวนไม่น้อยที่ทำงานสร้างความรู้ใน IR เลือกพิกัดของ Waltz หรือของ Keohane  แต่ในประเทศไทย หรืออย่างน้อยเท่าที่เคยสังเกตจากรายงานของนิสิตที่ผ่านมา คิดว่าฝ่าย critical theorists อย่าง Cox หรือ Jenny Edkins หรือ Cynthia Enloe มีอิทธิพลต่อคนเรียนสูงกว่า Waltz และ Keohane ที่เป็น problem-solving theorists ตามการจัดของ Cox แต่นักวิชาการ IR ทั้ง 5 นี้ไม่ว่าฝ่ายไหน มีพิกัดทางทฤษฎีแตกต่างกันหมด การอธิบายว่าคนเรียนคนไหนถูกใจงานของใคร และตามใครไปในความคิดทางวิชาการ ตรงนี้ต้องพึ่งคำอธิบายนอกเหนือจากทฤษฎีมาอธิบายด้วย   

ในส่วนนี้ นิสิตก็มีความเห็นของเขาเหมือนกันเกี่ยวกับอิทธิพลของฝ่ายกระแสวิพากษ์ต่อคนเรียน IR ในประเทศไทย ข้าพเจ้ารับฟังเขาด้วยความสนใจเพราะความสนใจหนึ่งคืออยากเขียนงานการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในชุมชนวิชาการ ตั้งชื่อไว้แล้วด้วยว่า ‘จากเสฐียรโกเศศถึงธเนศ วงศ์ยานนาวา’ แต่ไม่มีใครให้ทุนทำ ถ้ากล่าวเฉพาะเส้นทางความรู้และการศึกษา IR ในประเทศไทย ‘จากดิเรกและวรพุทธิ์มาถึงสรวิศ ชัยนาม’ ก็เป็นอีกหัวข้อที่น่ามีคนมาศึกษาเช่นกัน พอนิสิตบอกความเห็นของเขาแล้ว เขาก็ย้อนมาถามประเด็นที่ยังติดใจในทฤษฎีไขปัญหา คือความรู้จาก problem-solving theories ใช้ไขหรือแก้ หรือใช้แก้ไขปัญหาแบบไหนบ้าง และมีอยู่กี่สายกี่แนวทาง

3

ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าพวกนักทฤษฎี problem-solving จะมีคำตอบชุดนี้ของเขาอยู่แล้วบ้างไหม เพราะอันที่จริงการเรียกพวกเขาแบบนี้ Cox เป็นคนมาแบ่งประเภทและจัดชื่อให้  แต่เห็นว่าคำถามที่นิสิตถามมาเป็นคำถามดีทีเดียว ตอบนิสิตว่าไม่เคยนึกติดตามสำรวจมาก่อนว่าทฤษฎีฝ่ายนี้มี ‘ทางแก้ปัญหา’ อยู่กี่แบบกี่แนวทาง ขอเก็บคำถามเขาไปคิดต่อ ดังนั้น ถ้าจะให้ตอบหมดจดตอนนี้ยังตอบไม่ได้ ทำได้แค่ยกตัวอย่างพอชี้ให้เห็นตามที่เข้าใจ ว่าเขาใช้ประโยชน์ไปแก้ปัญหาแบบไหน สาธิตจาก Model II ของทฤษฎี Allison ข้างต้นเป็นตัวอย่างให้เห็นได้แบบหนึ่ง แต่ถามนิสิตว่าเขาสนใจแก้ปัญหาเรื่องไหนอยู่ เผื่อจะใช้เรื่องที่เขาสนใจเป็นตัวอย่างได้อีกสักแบบ  เลยทราบว่าเขาสนใจเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวกับโอกาสในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  เมื่อถามรายละเอียดเรื่องที่เขาทำแล้ว ข้าพเจ้าก็เล็งแลทางแก้ปัญหาของทฤษฎีฝ่าย problem–solving เขียนส่งให้เขาได้ 2 แบบ ดังนี้

แบบแรก

จากข้อสังเกตที่ได้จากงานคลาสสิกของ Allison แนวทางการใช้ประโยชน์จากงานทฤษฎีฝ่าย problem-solving มาไขปัญหาและช่วยเชื่อมความรู้จากทฤษฎีมาให้ฝ่ายปฏิบัติได้ดีมาก ลักษณะหนึ่งคือการนำนัยสำคัญที่ได้จากข้อเสนอ/ข้อค้นพบทางทฤษฎีหรือ theoretical implications มาไขปัญหาให้ฝ่ายปฏิบัติตระหนักถึงข้อจำกัดที่มีอยู่ในระบบ ในกระบวนการ หรือในแบบแผนการทำงานของตน จะได้คิดหาทางป้องกันหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ การไขปัญหาของทฤษฎีฝ่าย problem-solving ช่วยให้ฝ่ายปฏิบัติมีแนวพินิจสำหรับตั้งหลักทบทวนสิ่งที่เป็นอยู่ทำอยู่ และนำข้อค้นพบที่ได้จากการทบทวนนั้นไปวางแนวทางจัดการระบบให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือวางยุทธศาสตร์ป้องกันความล้มเหลวจากความแข็งค้างของระบบที่ทำให้รับความพลิกผันไปอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมหรือของสถานการณ์ไม่ทัน เช่นที่ Model II ของ Allison ที่ว่าด้วย organization processes บ่งชี้ปัญหาไว้ให้กองทัพสหรัฐฯ นำไปคิดต่อ

ใน 3 Models ที่ Allison จัดว่าเป็น ‘Essence of Decision’ Model I คือ Rational Actor Model, Model II คือ Organizational Process, และ Model III คือ Governmental/ Bureaucratic Politics ขอใช้ Model II มาแสดงนัยสำคัญทางทฤษฎีที่มีต่อการไขปัญหาให้ภาคปฏิบัตินำไปใช้ประโยชน์  งานของ Allison และของคนอื่นๆ ที่ศึกษาองค์กรในระบบขนาดใหญ่อย่างระบบบริหารจัดการภาครัฐตามหลัง Max Weber มา จะตระหนักในความจำเป็นของการจัดการทำงานขององค์กรในระบบขนาดใหญ่เป็นไปอย่างมีเหตุผล มีระเบียบที่แน่นอนไม่ขึ้นต่อการตัดสินใจตามอำเภอใจหรือความรู้สึกชั่วแล่นหรือเป็นเรื่องส่วนบุคคลของใครตนใดคนหนึ่ง มีระบบงานที่เป็นมาตรฐานรองรับการจัดการปัญหาที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องแบ่งภารกิจและประสานงานระหว่างกันได้ ส่งต่อส่วนที่ทำแล้ว รับมอบส่วนที่คนอื่นทำส่งขึ้นข้างบนส่งลงข้างล่างกระจายไปยังส่วนข้างๆ ตามกระบวนงานและกระบวนการที่ถูกออกแบบและกำหนดไว้ ผู้สั่งและผู้รับกับผู้ร่วมปฏิบัติคาดการณ์และคาดหวังจากกันได้เพราะแต่ละฝ่ายรับรู้หลักการเหตุผล ภาระรับผิดชอบ กฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติในลำดับขั้นตอนต่างๆ ที่มีวางไว้ในระบบ

กองทัพสมัยใหม่ก็เป็นองค์กรที่ต้องทำงานไปตามเหตุผลของการจัดระบบแบบนี้ และเพื่อทำให้ทุกส่วนและทุกระดับในระบบขนาดใหญ่อย่างกองทัพรู้ว่าแต่ละส่วนแต่ละระดับต้องเตรียมและต้องทำอะไร เมื่อใด กับใคร ที่ไหน อย่างไร เท่าใด ก็จำเป็นต้องมีการวาง standard operating procedures ไว้ให้ชัดเจนเพื่อทำให้การสั่งการภายในระบบได้รับการตอบสนองและการปฏิบัติตามสายงานการบังคับบัญชาอย่างไร้รอยสะดุด ทันการณ์/กาล มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลเท่าที่จะเป็นไปได้ ยิ่งเมื่อองค์กรและกองทัพสมัยใหม่ต้องอาศัยระบบหลายระบบทำงานควบคู่กันทั้งในศูนย์กลางการตัดสินใจ ในกองบัญชาการ ในแนวหน้า ในฝ่ายพันธมิตร หรือในเครือข่ายไซเบอร์ การออกแบบให้ระบบปฏิบัติการทุกระบบของแต่ละฝ่าย แต่ละส่วน แต่ละกรมกอง แต่ละหน่วย แต่ละหมู่ แต่ละโหนดทำงานเข้ากันได้ การวางระบบปฏิบัติการที่เป็นมาตรฐานของแต่ละส่วนจึงกลายเป็นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดความสำเร็จ หรือความล้มเหลว ในการปฏิบัติภารกิจขององค์กรในระบบขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี ข้อค้นพบของ Allison เกี่ยวกับ Model II ชี้ให้เราเห็นว่าในยามวิกฤตและต้องตัดสินใจใช้เครื่องมืออย่างการโจมตีทางอากาศ หรือการปิดล้อมทางทะเล ระบบปฏิบัติการมาตรฐานที่ถูกวางไว้อาจสร้างข้อจำกัดต่อการตัดสินใจขึ้นมาได้ เพราะกระบวนการกระบวนงานของระบบที่ถูกวางไว้ล่วงหน้า แม้จะมีข้อดีอยู่มากดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่การจะไปปรับหรือเปลี่ยนสิ่งที่ถูกออกแบบไว้ด้วยระบบปฏิบัติการที่เป็นมาตรฐานอย่างหนึ่งให้มาทำอีกแบบที่ต่างออกไปในเวลากระชั้นชิดเพื่อตอบเป้าหมายในทางยุทธศาสตร์หรือทางยุทธวิธี ในสภาพแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนสูง บางทีการปรับไม่อาจทำได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อปรับไม่ได้ทันทีทันใด หรือกว่าที่ระบบทั้งหมดจะปรับแต่ละส่วนและทุกส่วนได้ต้องใช้เวลาค่อยเป็นค่อยไป  ผู้ตัดสินใจก็ต้องเป็นฝ่ายปรับยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีให้เข้ากับระบบปฏิบัติการที่เป็นอยู่จะสามารถตอบสนองให้ได้ การตัดสินใจจึงไม่ใช่การเลือกทางเลือกที่ให้อรรถประโยชน์ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เป็นการตัดสินใจเลือกวิธีดีที่สุดเท่าที่ระบบในขณะวิกฤตนั้นจะเอื้อให้ทำได้

นัยสำคัญจากข้อค้นพบเชิงทฤษฎีของ Allison ใน Model II คือการจัดระบบองค์กรให้ทำงานอย่างมีเหตุผลต้องแลกมาด้วยความแข็งตัวในระบบ ที่ทำให้การจะเปลี่ยนหรือปรับระบบปฏิบัติการที่วางมาตรฐานไว้แล้วทำได้ช้า และอาจกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายหรือจำกัดทางเลือกในการบรรลุเป้าหมายในสถานการณ์ใหม่ และในภาวะวิกฤต การตกอยู่ในข้อจำกัดแบบนี้ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเพราะเวลาเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสถานการณ์และต้องดำเนินการตอบสนองอย่างรวดเร็ว การรักษาความยืดหยุ่นทั้งในทางยุทธศาสตร์และในทางยุทธวิธีเป็นเงื่อนไขกำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่สำคัญมาก ถ้าระบบไม่อาจเรียนรู้ใหม่เมื่อเงื่อนไขเดิมเปลี่ยน  ไม่สามารถคาดการณ์แนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่งหรือสกัดดักทางความเคลื่อนไหวของเหตุปัจจัยที่ไม่อยู่นิ่งเฉย มีข้อจำกัดในการเข้าใจพลวัตที่ไหลเลื่อนหลากหลายมิติในสภาพแวดล้อม กลไกการทำงานส่วนต่างๆ ติดขัดแข็งค้างอยู่ในระบบปฏิบัติการเดิม และไม่อาจปรับตัวมารับสถานการณ์ใหม่ได้อย่างทันการณ์/กาลเมื่อเหตุปัจจัยในสนามเปลี่ยน ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบที่ Eliot A. Cohen และ John Gooch เรียกว่าส่วนผสมที่นำกองทัพไปสู่ความล้มเหลวในระดับหายนะร้ายแรง[7] ข้อสรุปของ Cohen และ Gooch จึงเป็นการนำนัยสำคัญจากข้อค้นพบของ Allison ใน Model II ที่เป็นเรื่อง organizational process มาขยายและไขให้เห็นปัญหา ‘organizational fetters’ ที่กองทัพจะต้องหาทางจัดการแก้ไขและป้องกันต่อไป     

แบบที่สอง

 การใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติจากการไขปัญหาของทฤษฎีฝ่าย problem-solving แบบที่สอง ข้าพเจ้าเสนอให้นิสิตพิจารณาจากความหมายของคำว่าทฤษฎีเอง ทฤษฎีหรือทิฐิคือเห็น การไขปัญหาของทฤษฎี problem-solving จึงมีประโยชน์ในทางช่วยให้เห็น ยิ่งทฤษฎีที่พัฒนาตัวแนวคิดสำคัญจากข้อโต้แย้งภายในวง research program นั้นมาดีเพียงใด แนวคิดในทฤษฎีนั้นก็จะฉายให้เห็นปรากฏการณ์ได้ชัดขึ้น จำแนกให้ผู้ปฏิบัติเห็นว่าส่วนไหนที่สามารถแทรกแซงได้ ส่วนไหนมีลักษณะเป็นโครงสร้างที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่อาจผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้โดยลำพังแต่ต้องตราไว้ว่ามีความสำคัญต่อการกำหนดผลลัพธ์ความสำเร็จหรือความล้มเหลว

นิสิตสนใจการเคลื่อนไหวทางการเมือง ข้าพเจ้าเลยยกแนวคิดเรื่อง ‘โอกาสทางการเมือง’ สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวของ Doug McAdam ที่เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงผู้ศึกษาเรื่องนี้ และข้อโต้แย้งของ Jeff Goodwin มาให้เขาพิจารณา เพราะติดตามงานของคนทั้งคู่เรื่อยมา เลยพูดได้ถนัดกว่างานของคนอื่นๆ การติดตามข้อโต้แย้งในแนวคิดเกี่ยวกับ “โอกาสทางการเมือง” ไขปัญหาให้เห็นว่า โอกาสทางการเมืองส่วนไหนบ้างที่เป็นระดับโครงสร้างอันเปลี่ยนได้ช้า ขบวนการเคลื่อนไหวแทรกแซงได้ยาก คนมีอำนาจควบคุมหรือใช้ประโยชน์จากโครงสร้างที่เป็นอยู่ได้มาก และโอกาสทางการเมืองส่วนไหนที่ไม่ใช่ระดับโครงสร้าง เปลี่ยนแปลงได้และเปลี่ยนเรื่อยๆ ขบวนการเคลื่อนไหวที่มียุทธศาสตร์มาดีจะมียุทธวิธีแทรกแซงขยับขยายพื้นที่การรุกและเพิ่มอำนาจการต่อรองหรือแรงกดดันได้ คนมีอำนาจไม่อาจผูกขาดยึดกุมไว้ในการควบคุมได้ และยิ่งเมื่อจำแนกละเอียดลงไปและแยกระหว่างสภาพแวดล้อมทางการเมือง สภาพแวดล้อมทางสังคม และความสำคัญของวัฒนธรรมในการเฟรมความหมายในแดนทั้ง 2 ก็จะยิ่งเห็นโอกาสและความได้เปรียบเสียเปรียบในจุดต่างๆ ระหว่างคนที่อยู่ฝ่ายอำนาจรัฐ ขบวนการเคลื่อนไหว และฝ่ายสนับสนุนภายนอกว่าจะเดินหมากตาไหน อย่างไรได้บ้าง

อย่างนี้เรียกว่ายิ่งแนวคิดสำคัญใน research program ถูกปรับให้คมชัดขึ้นเพียงไร ก็จะไขให้เห็นสภาพการณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น อย่างนี้น่าจัดเป็นรูปแบบหนึ่งของประโยชน์ที่มาจากการไขปัญหาของ problem-solving theories ได้

ถึงตอนนี้นิสิตถามข้าพเจ้ากลับมาว่า เมื่อทฤษฎีแบบ problem-solving มันสามารถพาไปเห็นอะไรๆ ได้อย่างนี้แล้ว อาจารย์เห็นมันมีข้อจำกัดตรงไหนบ้างไหมครับ ในเมื่อมันจะพัฒนาต่อไปได้ความรู้ความเห็น ได้การรู้การเห็นต่อไปอีกมาก

 ข้าพเจ้าบอกเขาว่า ให้อ่านนวนิยายบ้าง อย่าอ่านแต่ทฤษฎี ทฤษฎีช่วยให้เห็นอะไรมากก็จริงอยู่ แต่มันแยกตัวผู้เห็นและผู้คิดจากแนวคิดที่ช่วยให้เห็น ออกจากปัญหาและคนที่เขาไปสังเกต detachment อาจเป็นคุณสมบัติที่ดีของการทำงานทางวิชาการ แต่ชีวิตทางสังคมต้องการ involvement และการเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกข์สุขกับคนทั้งหลาย ไม่ใช่ดูพวกเขาเป็นแต่เพียงวัตถุของการศึกษาวิจัย ทฤษฎีให้ความคิด แต่ไม่ให้ความรู้สึก คุณว่า “ฉันคิดฉันจึงเป็น” เท่านั้น หรือว่าฉันเป็นต่อเมื่อฉันรู้สึกด้วย?

ข้าพเจ้ารอฟังคำตอบจากเขาอยู่


รายการอ้างอิง

[1] บทความ Cox อ่านได้ที่นี่

นอกจากนั้น Robert O. Keohane นำบทความนี้ของ Cox มาเปิดประเด็นต่องานทฤษฎีของ Kenneth N. Waltz ร่วมกับคนอื่นๆ ใน Neorealism and Its Critics ที่เขาเป็นบรรณาธิการ Robert O. Keohane, ed., Neorealism and Its Critics (New York: Columbia University Press, 1986). ในการแปลตัวบท ข้าพเจ้าใช้ต้นฉบับจากหนังสือเล่มนี้

[2] ดูข้อสังเกตว่าสาขาวิชาสังคมศาสตร์ในสหรัฐฯ มีปม Physics Envy ได้ที่นี่

[3] ถ้าใช้ IR Feminism เป็นตัวบ่งชี้ การย้อนอ่านบทความเก่าในทศวรรษ 1990 ของ J. Ann Tickner You Just Don’t Understand: Troubled Engagements Between Feminists and IR Theorists (amherst.edu) เปรียบเทียบกับบทความของ Jacqui True ในทศวรรษต่อมา  Feminism and Gender Studies in International Relations Theory | Oxford Research Encyclopedia of International Studies ก็จะได้ความเข้าใจชัดเจนดี ว่าในปัจจุบันสาขาวิชา IR มีและยอมรับ research programs แยกทางออกไปเป็นหลายสายหลากหลาย และแต่ละฝ่ายมีการสร้างความรู้และวงสำหรับแลกเปลี่ยนถกเถียงองค์ความรู้ให้ก้าวหน้า มีฐานคิดทางญาณวิทยาและภววิทยาของตนเอง มีงานที่ขึ้นชั้นเป็น exemplars มี values และ group commitments ของตนเอง

[4] ขอใช้บทสัมภาษณ์ของ Siba Grovogui เสนอมุมมองในเรื่องนี้ Interview – Siba N’Zatioula Grovogui (e-ir.info)

[5] Graham T. Allison, “Conceptual Models and the Cuban Missile Crisis,” American Political Science Review 63:3 (September 1969), 689-718.

[6] Thomas S. Kuhn, The Structure of Scientific Revolutions.

[7] Eliot A. Cohen and John Gooch, Military Misfortune: The Anatomy of Failure in War (New York: Vintage 1990).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save