fbpx

ดาวหาง, อ.อุดากร, คาร์ล มาร์กซ์ และความพ่ายแพ้ปลายเดือนกุมภาพันธ์ของปรีดี พนมยงค์

ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-23 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้ปรากฏหนังสืออันน่าตื่นเต้นเล่มหนึ่ง นั่นคือนวนิยายเรื่อง พัทยา ผลงานประพันธ์ของผู้ใช้นามปากกาว่า ‘ดาวหาง’ เพิ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สามัญชน

การนำเอาวรรณกรรมรุ่นเก่าอย่าง พัทยา มาพิมพ์ใหม่อีกหนนับเป็นสิ่งน่ายินดียิ่ง เพราะหนังสือเล่มนี้เคยจัดพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกสุดโดยบริษัทประชาช่างตั้งแต่เมื่อช่วง 70 กว่าปีก่อน แบ่งออกเป็นสองเล่ม เล่มแรกตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2494 ส่วนเล่มสองตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2495 หากที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2566 ทางสำนักพิมพ์สามัญชนเลือกจะจัดพิมพ์รวมเป็นเล่มเดียวกันเลย

มูลเหตุที่ พัทยา ได้รับการกล่าวขวัญลือในแวดวงวรรณกรรม คงสืบเนื่องมาจากมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรมได้นิยามให้เป็น ‘นวนิยายการเมืองเรื่องแรกของไทย’ ครั้นบรรดานักเขียน นักอ่าน และนักเลงหนังสือแว่วยินเข้าก็พลันหูผึ่ง ต่างพากันทุ่มเทความสนอกสนใจ และพยายามตามสืบเสาะหนังสือหายากเล่มนี้มาเชยชม มิเว้นกระทั่งอยากครอบครองเป็นเจ้าของ

ปกหนังสือ พัทยา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สามัญชน พ.ศ. 2566

บุคคลสำคัญผู้เป็นต้นเค้าของการนิยามดังกล่าวย่อมมิแคล้วไปจาก ‘เจือ สตะเวทิน’ ซึ่งได้รับยกย่องในฐานะปราชญ์ด้านภาษาไทย เขาเริ่มเอ่ยถึง พัทยา ครั้งแรกผ่านบทความ ‘พัทยา นวนิยายการเมืองเรื่องแรกของไทย’ ลงพิมพ์ใน บางกอกไดเจสต์ ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2516  ก่อนเอ่ยย้ำอีกในหนังสือ ตำราภาษาไทยอุดมศึกษา เล่ม 1 ประวัตินวนิยายไทย ที่จัดพิมพ์ขึ้นเองเมื่อ พ.ศ. 2517  ดังความตอนหนึ่งว่า

ข้าพเจ้าเป็นนักศึกษาประวัติวรรณคดีไทย จำเป็นต้องสำรวจติดตามความเคลื่อนไหวของหนังสือไทยตลอดมา และก็มีมติส่วนตัวของข้าพเจ้าเองว่า นวนิยายการเมืองเรื่องแรกของไทยเรา คือเรื่อง ‘พัทยา’ โดยผู้ใช้นามปากกาว่า ‘ดาวหาง’

นวนิยายเรื่องนี้แหวกแนวที่สุดเมื่อครั้งลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งนานมาแล้ว ผู้อ่านตื่นเต้นกันมาก ต่อมาพิมพ์เป็นเล่มโดยบริษัทประชาช่าง เมื่อ พ.ศ. 2495 รวมสองเล่มด้วยกัน ขนาด 16 หน้ายก รวมจำนวน 1,191 หน้า ข้าพเจ้าเคยอ้างเรื่องนี้แก่นักศึกษาหลักการประพันธ์ของข้าพเจ้าเสมอมาว่าเรื่อง พัทยา คือ ตำราการเขียนนวนิยายการเมือง ควรหามาศึกษาให้ได้

พัทยา จะเป็นนวนิยายการเมืองเรื่องแรกจริงหรือไม่นั้น ผมคิดว่าบางทีอาจต้องถกเถียงกันต่อไปอย่างแข็งขัน มิควรหลงเชื่อ ‘เจือ’ เสียทันทีทันใด เพราะจริงๆ ก็พบจุดน่าเคลือบแคลงชวนฉุกฉงนอยู่ไม่เบา ถึงแม้เจือจะครองสถานะปราชญ์ทางภาษาผู้ทรงภูมิเลอเลิศ แต่ความเห็นของเขาก็ใช่จะเป็นข้อมูลอันถูกถ้วนสูงสุดจนโต้แย้งไม่ได้เลย ยังมีหลักฐานเอกสารเก่าๆ อีกไม่น้อยที่พึงหยิบยกมาตั้งคำถามต่อข้อสรุปข้างต้น

ในทัศนะของผม ถ้าเจือจะเสนอว่าพัทยาเป็นนวนิยายการเมืองเรื่องแรกช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ก็คงจะฟังขึ้นพอควร เพราะเจืออาจมองคำว่า ‘การเมือง’ เชื่อมโยงเข้ากับระบอบรัฐธรรมนูญที่เพิ่งเกิดขึ้น ‘ดาวหาง’ จึงอาจเป็นคนแรกๆ ที่สร้างงานเขียนแบบที่เรียกขานว่านวนิยายการเมือง สอดคล้องกับที่เจือกล่าวเองว่า

ก่อนหน้านี้ข้าพเจ้าไม่เคยพบเห็นนวนิยายไทยเรื่องใดแตะต้องการเมือง ข้าพเจ้าเห็นว่า ‘พัทยา’ เป็นนวนิยายการเมืองเรื่องแรกของเมืองไทยที่ต้อนรับเสรีภาพในทางการเมือง ซึ่งระบอบใหม่คือระบอบประชาธิปไตยหยิบยื่นให้

แต่ถ้าจะบอกว่าเป็นนวนิยายการเมืองเรื่องแรกของไทยเลย ผมเองมิค่อยเห็นพ้อง เพราะเท่าที่เคยอ่านวรรณกรรมก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็พบหลายเรื่องที่สำแดงถึงชั้นเชิงของความเป็นนวนิยายการเมือง หรือจะเป็นไปได้ไหมที่สมัยนั้นยังไม่ได้เริ่มใช้คำเรียกกันว่า ‘นวนิยาย’ (มีบางข้อมูลเสนอว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา ‘ศรีบูรพา’ เป็นบุคคลแรกที่เริ่มใช้คำว่า ‘นวนิยาย’) แต่ถ้าจัดเป็นเรื่องอ่านเล่น ผมก็ยังถือว่าเป็นเรื่องอ่านเล่นการเมืองได้กระมัง ปัญหาจึงอยู่ตรงที่ เจืออาจไม่ได้มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ถือเป็น ‘การเมือง’ หาใช่ว่าเพิ่งจะมาปรากฏหลังจากสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแล้ว

ทว่าในข้อเขียนนี้ ผมมิได้มุ่งศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับนวนิยายเรื่อง พัทยา เพราะเพิ่งอุดหนุนจากงานมหกรรมหนังสือมาเพียงไม่กี่วัน ยังไล่เลาะสายตาอ่านเนื้อหาไปได้ไม่มากสักเท่าใด หากจะเน้นพิจารณาถึงแนวความคิดที่ปรากฏร่องรอยในงานเขียนของดาวหาง ซึ่งตลอดหลายปีล่วงผ่านมา ผมสบโอกาสอ่านงานเขียนอื่นๆ ของเขาผ่านหน้ากระดาษสื่อสิ่งพิมพ์เก่าๆ อยู่หลายชิ้น

‘ดาวหาง’ คือนักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญไว้ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่อยมาจนก่อนกึ่งพุทธกาล (พ.ศ. 2500) มิอาจปฏิเสธว่าผลงานของเขาสร้างความตะลึงเป็นที่สะดุดตาและกระทบใจนักอ่าน แต่แทบมิค่อยมีใครล่วงรู้นามจริงของนักเขียนผู้นี้ ‘ดาวหาง’ จึงกลายเป็นนามปากกาลึกลับและเป็นบุคคลปริศนา

เจือ คาดเดาว่า ‘ดาวหาง’ น่าจะเป็น “นักการทูตของไทยคนหนึ่งที่มีความรอบรู้มาก รู้ทั้งโลกภายนอกอันกว้างใหญ่ไพศาลและรู้ทั้งชนบทของไทย…”  และเป็น “นักเขียนนวนิยายที่ควรถือเป็นแบบได้ในข้อที่ค้นคว้ามาก ค้นคว้าทั้งวิทยาการสมัยใหม่ของโลก และค้นคว้าทั้งขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมไทย ใช้เวลาแต่งนวนิยายเรื่องนี้ถึง 3 ปี และตรวจแก้อยู่นานถึง 10 กว่าปี ถึงนำเสนอประชาชน”

ครั้นต่อมาปี พ.ศ. 2519 ได้มีบทวิจารณ์อีกชิ้นของ อิงอร สุพันธุ์วนิช ชื่อ ‘พัทยา นวนิยายการเมืองเรื่องแรกของไทย’ ตีพิมพ์ใน อักษรศาสตร์พิจารณ์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 13-14 ประจำเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม พ.ศ. 2519 งานของอิงอรคล้อยตามเจือ โดยดุษณี หากให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พัทยา เริ่มเขียนเมื่อ พ.ศ. 2477 จนจบลงเมื่อ พ.ศ. 2480 แล้วส่งไปทยอยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สุวรรณภูมิ (หมายความว่ากว่าจะตีพิมพ์ก็ต้องในปี พ.ศ. 2484 แล้ว เพราะ สุวรรณภูมิ เริ่มออกฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2484)

นอกเหนือไปจากเรื่อง พัทยา  นักเขียนผู้ใช้นามปากกา ‘ดาวหาง’ ยังเขียนนวนิยายขนาดสั้นอีกหลายเรื่อง ซึ่งนำมารวมพิมพ์เป็นเล่มในชื่อ จุดดำ  จัดพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์เขษมบรรณกิจเมื่อ พ.ศ. 2502 ประกอบด้วยนวนิยายขนาดสั้นจำนวนทั้งสิ้น 8 เรื่อง ได้แก่ จุดดำ, เสรีประชาธิปไตย, สังคมนิยมดังฤา, แหลมเทียน, ยายกะตาทำนาของเขา, ดาวปีก, ใจท่านเหี้ยมหาญ และ ผู้อยู่

ราวหนึ่งทศวรรษต่อมา ‘สุชาติ สวัสดิ์ศรี’ ผู้รอบรู้เรื่องวรรณกรรมไทยได้รับจดหมายจาก ‘ธรรมนูญ เรืองศิลป์’ บุตรชายของ ใช้ เรืองศิลป์ (นามปากกา ‘ช.เรืองศิลป์’) นักประพันธ์รุ่นเก่าแจ้งข้อมูลให้ทราบว่าดาวหางเป็นนามปากกาของ ‘รัตน์ ศรีงาม’ นักเขียนฝีมือฉมัง ทั้งยังใช้นามปากกาอื่นอย่าง ‘ร.ศรีงาม’ และ ‘พระไมตรีราชรักษา’ ผลงานของรัตน์เผยแพร่บนหน้ากระดาษสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับยุคทศวรรษ 2490 เช่น เอกชน,  สยามสมัย และปิยะมิตร ครั้นภายหลัง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 รัตน์ตัดสินใจยุติชีวิตนักเขียนไปทำธุรกิจส่วนตัวที่จังหวัดชลบุรี 

ในปี พ.ศ. 2559 วชิระ บัวสนธ์ แห่งสำนักพิมพ์สามัญชนและเพื่อนพ้องพยายามแกะรอยสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ดาวหาง’ จนที่สุดได้ไปพบกับทายาทคนหนึ่งในทั้งหมด 3 คนของรัตน์ นั่นทำให้เรื่องราวอันคลุมเครือมานานของนักเขียนผู้นี้เป็นที่กระจ่างชัดเจน

‘รัตน์ ศรีงาม’ ลืมตาดูโลกหนแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2454 และอำลาโลกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ขณะอายุย่างหกรอบ (72 ปี) เดิมทีเขาเป็นชาวพระนคร และมิได้รับราชการตำแหน่งนักการทูตตามที่เจือ สตะเวทิน เคยคาดคะเนไว้

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ‘ดาวหาง’ หรือ รัตน์ อาจมีกับความสัมพันธ์กับนักประพันธ์ที่จัดทำนิตยสารรายสัปดาห์ เอกชน และ กลุ่มจักรวรรดิศิลปิน ของ ‘สด กูรมะโรหิต’ ซึ่งมีบทบาทโลดแล่นในแวดวงหนังสือช่วงทศวรรษ 2480 และต้นทศวรรษ 2490 เพราะผลงานของ ‘ดาวหาง’ ลงตีพิมพ์ใน เอกชน ไม่น้อยชิ้น ผมคิดว่าอาจเป็นไปได้ตามที่สุชาติสงสัย ทั้งยังใคร่ครวญอีกทำนอง รัตน์อาจจะได้คลุกคลีกับ ‘จำกัด พลางกูร’ ผู้เป็นต้นคิดและหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดทำ เอกชน ด้วยหรือไม่

รัตน์ ศรีงาม เจ้าของนามปากกา ดาวหาง

สำหรับงานเขียนของ ‘ดาวหาง’ ที่ผมหยิบยกนำมาศึกษาวิเคราะห์ในคราวนี้คือนวนิยายสั้นเรื่อง ถิ่นสยอง น่าจะเป็นชิ้นงานที่ยังไม่เคยนำมารวมเล่มเลย ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารรายสัปดาห์ สยามสมัย ปีที่ 3 ฉบับที่ 137 ประจำวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ผมเองเคยสบโอกาสอ่านหนแรกสุดเมื่อราวๆ 10 กว่าปีก่อน เล็งเห็นว่ามีประเด็นน่าขบคิดอภิปราย พอเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ยินข่าวคราวการตีพิมพ์หนังสือ พัทยา ของดาวหาง จึงคิดว่าคงเป็นเวลาและบรรยากาศเหมาะสมที่จะลองร่ายเรียงถึงสักที

ถ้าจำไม่ผิด ผมเคยอ่านพบที่มีผู้เขียนถึง ‘ถิ่นสยอง’ อยู่รายหนึ่งคือ มรกต เจวจินดา โดยวิเคราะห์เชื่อมโยงกับการนำเสนอภาพลักษณ์ทางการเมืองของ ‘นายปรีดี พนมยงค์’ ในงานวิทยานิพนธ์ของเธอ (ต่อมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ) แต่ก็ยังกล่าวถึงคร่าวๆ เพียงผิวเผิน

ตอนถิ่นสยองลงตีพิมพ์นั้น ในคอลัมน์ ‘ระหว่างปก’ ที่ดูแลโดย น้อย อินทนนท์ (นามปากกาของ ‘มาลัย ชูพินิจ’) เขียนแนะนำว่า

ความแตกต่างระหว่างแบบแผนของการประพันธ์ ซึ่งเราท่านมักได้ยินพูดถึงกันเสมอ บางทีจะพิจารณาได้จากสองเรื่องสั้นในฉะบับนี้ – – “ถิ่นสยอง” ของ “ดาวหาง” และ “จดหมายจากคนตาย” ของรัชนี ประทีปะเสน – – ฝ่ายแรกเปนนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงมาจากยุค “สุวันนภูมิ” ฝ่ายหลังจาก “สยามสมัย” และหนังสือรายคาบต่างๆ ในเครือเดียวกัน  ฝ่ายหนึ่งเหมือนจะมุ่งไปในแบบ Romantic ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งไปในทาง Realistic แต่จะในแบบใดก็ตาม วัตถุประสงค์ของทั้งสองเรื่องดูจะไปลงรอยเดียวกัน นั่นคือชีวิตอย่างที่เปนอยู่ และชีวิตอย่างที่ผู้ประพันธ์ต้องการจะให้เปน

อันที่จริง ในหน้าท้ายๆ ของ สยามสมัย ปีที่ 3 ฉบับที่ 136 ประจำวันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2492  ก็ได้โฆษณาให้นักอ่านทราบล่วงหน้าว่านิตยสารฉบับสัปดาห์ถัดไปจะมีงานเขียนของ ดาวหาง และ รัชนี ประทีปะเสน ลงตีพิมพ์

ปกนิตยสาร สยามสมัยรายสัปดาห์ ประจำวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2492

ถิ่นสยอง เป็นงานเขียนที่มีคำโปรยว่า “นวนิยายนานทีปีหน โดย ผู้ประพันธ์ “พัธยา””  ผู้ประพันธ์ถ่ายทอดเรื่องราวของตำรวจสองนาย คือ ส.ต.ต.ห้าว กรกำแหง และ ร.ต.ต.ชัย จิตตมงคล ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปจับกุมชายผู้ต้องสงสัยว่าเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล อันมีนัยยะหมายถึงขบวนการภายใต้การนำของนายปรีดี ที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมาจากรัฐบาลเผด็จการทหารภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งกลุ่มทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่กลางดึกวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องจนเช้าวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน โดยพลพรรคของนายปรีดี ได้เข้ายึดพระบรมมหาราชวังในคืนวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 แต่ตำรวจทั้งสองนายกลับเข้าจับกุมเป้าหมายผิดตัว แทนที่จะจับตัวหัวหน้าวางแผนก่อการ กลับบุกจู่โจมนายเกรียง เดชชาติ นักประพันธ์หนุ่ม เขาออกมารับเงินค่าผลงานเขียนซึ่งทางผู้จัดการสำนักพิมพ์กำลังจะนำไปจัดแสดงเป็นละครชื่อเรื่อง ‘ถิ่นสยอง’ เพื่อจะนำไปเยียวยารักษาอาการป่วยของภรรยาและซื้อนมไปให้ลูกอ่อน กระทั่งเกิดเหตุเข้าใจผิด นำไปสู่การที่ ส.ต.ต.ห้าว ลั่นไกปืนสังหารนายเกรียงจนสูญสิ้นชีพ หากเมื่อตรวจค้นในกระเป๋าถือที่คาดว่าคงมีเอกสารแผนการจราจล ก็พบเพียงกระดาษแผ่นเดียวเป็นเนื้อเพลง ‘รักชาติยิ่งชีพ’ นั่นทำให้ ส.ต.ต.ห้าว และ ร.ต.ต.ชัย รู้สึกสะเทือนใจ ในตอนท้ายเรื่อง ส.ต.ต.ห้าว ต้องลาจากโลกไปด้วยเช่นกัน 

ถิ่นสยอง ผลงานประพันธ์โดย ดาวหาง
ภาพประกอบ ถิ่นสยอง ผลงานวาดโดย เสรี

เพื่อให้คุณผู้อ่านเข้าใจบริบททางการเมืองห้วงยามนั้น ผมจะขอเล่าเสริมว่า ช่วงต้นปี พ.ศ. 2492 ทางรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามแว่วยินหนาหูว่านายปรีดีลอบกลับเข้ามาในเมืองไทยหลังจากเคยเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศไปราวหนึ่งปีกว่า และพยายามติดต่อกับฝ่ายทหารเรือให้ช่วยสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของตน โดยเฉพาะพลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ) และ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ขณะเดียวกัน ทหารเรือก็เริ่มซ้อมรบจนดูผิดปกติ พอวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ฝ่ายคณะรัฐประหารได้ประกาศกฎอัยการศึก กองทัพบกเร่งรัดให้มีการซ้อมรบหลายครั้ง ล่วงมาถึงคืนวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ กองกำลังของนายปรีดี อันประกอบด้วยอดีตเสรีไทยและลูกศิษย์เข้ายึดพื้นที่เมืองหลวง และประกาศยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มต้นจากการมุ่งหน้าไปยังมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อเวลาราว 21 นาฬิกา ก่อนจะสั่งการให้กองกำลังส่วนหนึ่งไปปลดอาวุธกองทหารผู้รักษาพระบรมมหาราชวัง เพื่อหมายจะเข้าไปตั้งกองบัญชาการขึ้น ทว่าเกิดการปะทะกับกองกำลังทหารบกของฝ่ายรัฐบาล มิหนำซ้ำแผนการที่จะให้ทหารเรือยกกำลังพลจากสัตหีบมาช่วยสนับสนุนก็ไม่เป็นไปตามคาด ฝ่ายทหารเรืออ้างเหตุว่าเรือเกยตื้นเพราะน้ำลงที่บางปะกง ท้ายสุด ขบวนการต่อสู้ของนายปรีดีจึงประสบความล้มเหลว

แม้สถานการณ์หลังจากคืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์จะสงบลง หน่วยทหารต่างๆ แยกย้ายกลับคืนสู่กรมกองภายในเวลากำหนดตามคำสั่งของรัฐบาล แต่บรรยากาศทางการเมืองยังคงไม่ผ่อนคลายความตึงเครียด ฝ่ายรัฐบาลได้จับกุมผู้ร่วมกันก่อการและปราบปรามผู้ต้องสงสัย รวมถึงกวาดล้างผู้ที่แสดงออกถึงการคัดค้านต่อต้านรัฐบาล นายปรีดีและสมัครพรรคพวกต้องคอยหลบหนีการจับกุมของทางการและหลบซ่อนตัวอย่างเร้นลับ บรรยากาศสยดสยองเช่นนี้เองที่ ‘ดาวหาง’ หยิบยกมาถ่ายทอดผ่านงานเขียนของเขา

ไม่แปลกเลยที่ สยามสมัย จะเปิดพื้นที่ให้เผยแพร่วรรณกรรมว่าด้วยผลสะเทือนจากเหตุการณ์ 26 กุมภาพันธ์ เพราะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เกาะติดเรื่องนี้มาตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ หลังรัฐบาลปราบปรามขบวนการต่อสู้ซึ่งกลายเป็นกบฏ

บัดนี้ ใคร่เชิญคุณผู้อ่านลองสัมผัสสำนวนภาษาในเรื่อง ‘ถิ่นสยอง’ สักหน่อย ผู้ประพันธ์เปิดเรื่องอย่างคมคายว่า

ถ้าการบริหารประเทศตั้งบนฐานแห่งความระแวงสงสัย  เป็นเหตุให้กีฬาการเมืองเล่นละเมิดกติกามนุษยธรรมไซร้ ราษฎรนั่นแหละรับบาปก่อน

ต่อจากนั้น  สาธยายให้ผู้อ่านมองเห็นฉากและตัวละคร เริ่มด้วยความเคลื่อนไหวของตำรวจสองนายในโรงพยาบาลกลาง

ไม่มีใครสักคนรู้เบื้องหลังความตายอย่างทุรนทุรายของสิบตำรวจตรีห้าว กรกำแหง ใบหน้าถมึงทึง ตาเหลือกถลน ยกมือไหว้และไขว่คว้าอากาศราวกะลุกะโทษวิงวอนกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งคนอื่นๆ ไม่มีทางเข้าใจได้ พลางบิดตัวดังว่าปวดร้าวอินทรีย์อย่างเหลือแสน บางครั้งก็ใช้มือหนึ่งของตัวบีบคอหอยของตน ส่วนอีกมือหนึ่งสิปล้ำดึงแกะออกดุจซักคะเย่อซึ่งกันและกันนั้นแปลว่ากระไร

กรรมเปนที่ตั้งแห่งสัตว์โลก ใครทำดีต้องได้ดี ทำชั่วก็ต้องได้ชั่ว ใครๆรู้ดั่งนี้ แม้บรรดาผู้พยาบาลคนป่วยอดสังเวชใจไม่ได้ เพราะว่าห้าวถูกบาดเจ็บมาจากการต่อสู้กับผู้ร้าย เขาเปนวีรบุรุษผู้กำลังจะสิ้นใจที่โรงพยาบาลกลาง ท่ามกลางญาติมิตรและเจ้านาย ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าห้าวตายเพราะปฏิบัติตามหน้าที่ราชการ คนแก่การยกย่องสรรเสริญ แต่ทั้งๆ ที่ทุกคนไม่รู้พฤติการณ์หนหลัง ก็อดรู้สึกวังเวงเยือกเย็นใจขนลุกซู่ซ่ามิได้ เมื่อคนกำลังจะตายร้องเพลงโดยฉะเพาะเพลงรักชาติยิ่งชีพ – เพลงเดียวกันกับที่ประโลมศพศิลปินผู้ตายโดยปราศจากร่องรอยผู้หนึ่งเมื่อสักเดือนกว่ามาแล้ว มีคนเดียวเท่านั้นที่สดุ้งจนตัวลอยเมื่อได้ยินคนเจ็บฮัมเพลงรักชาติยิ่งชีพ เขาคือ ร.ต.ต.ชัย จิตตมงคล เพราะเขากับคนเจ็บเปนสิงห์แฝดของกองปราบ รู้ที่มาของเพลงนี้แค่ลำพัง 2 คนเท่านั้น

ดาวหางยังนำผู้อ่านย้อนไปรับทราบเงื่อนปมของเรื่อง

เดือนก่อนโน้น ในลักษณะปลอมกายเปนกรรมกรขับขี่สามล้อ ส.ต.ต.ห้าว กรกำแหง – ล่ำสันและร่าเริง เสือแม่นปืนแห่งสันติบาล ยืนเกร่กระสับกระส่ายรอใครคนหนึ่งที่มุมถนนแห่งหนึ่งซึ่งตัดไปสู่โรงพิมพ์มีชื่อ… ต่างว่ามีชื่อในทางค้านรัฐบาลอย่างดื้อดันขันแข็ง บรรณาธิการหัวเห็ดเองเคยถูกทำร้ายร่างกายเปนข่าวเกรียวกราวของหนังสือพิมพ์มาครั้งหนึ่งแล้วและดำดินหลบตัวหลังจากวันที่ 26 กุมภ์ พ.ศ. 2492 เปนคนสาบสูญไปเลย

เวลานั้นตะวันรอนอ่อนรำไร ไออุ่นแดดบางเบาตามจังหวะแสงสลัวลงห่างจากห้าวไปสัก 4-5 วา ร.ต.ต.ชัย จิตตมงคลในรูปพรรณจีนใหม่ตีหน้าเซ่อ หันรีหันขวางใกล้เสาไฟฟ้าที่โรงพิมพ์นี้แหละ ชัยกับห้าวได้รับคำสั่งลับให้มาจับหัวหน้าจราจลคนหนึ่ง งานของตำรวจคือจับผู้ทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมือง ฉะเพาะงานวันนี้จัดเปนโบว์แดงของเขาก็ว่าได้  เหยื่อรายนี้เปนบุคคลชั้นสมองคนหนึ่งของพวกก่อการจลาจล ในคำสั่งระบุให้จับจงได้ไม่ว่าเปนหรือตาย ผู้ต้องหาคนนั้นคือชายหนุ่มฉกรรจ์สันทัด ร่างผอมเกร็ง หน้ากระตุก ผมเกรียน ใบหน้าคล้ายลูกจีนซีดเซียว ตาลึกคม เดินโหย่งตัว คุ้มหัว มีแผลเป็นที่มือ…ที่อยู่สุดท้ายคือธนบุรีแถวลาดหญ้า

ห้าวทอดถอนใจระบายอัสสาสะทุกคราว เมื่อมองเห็นคนโผล่จากโรงพิมพ์ รู้สึกผิดหวังหลายหนหลายครา ไม่มีหวังพบบุคคลตามรูปพรรณสันฐาน แต่ก็ต้องอดใจคอยต่อไป ความผิดหวังบ่อยๆ ทำลายประสาทของคนเรามากกว่ามาก  เวลาเย็นลงทุกทีจนขะมัวชิงพลบ ไม่ปรากฏตัวผู้ที่เขาต้องการทำท่าจะคว้าน้ำเหลว  ชัยเดินเร่มาที่สามล้อคันที่ห้าวนั่งอยู่ บัดนี้ในท้องถนนไม่มีคนสัญจรเลยชักคนเดียว

บางถ้อยสนทนาระหว่างกันขณะรอเป้าหมายสะท้อนให้เห็นว่าตำรวจทั้งสองเคยผ่านการสังหารมนุษย์ไม่น้อยรายในการปฏิบัติหน้าที่

ฮื่อ! อ้ายอั๊วก็เหมือนกัน ยิ่งยิงคนมากเข้ายิ่งมันมือ คันมือคันไม้ลืมกลัวบาปกรรม ตายไปถ้าจะเห็นตกนรกแน่ๆ นี่

ผมว่าตกก็คงไม่ถึงขุมเถรเทวทัตต์หรอก เราทำตามหน้าที่ อุปมาเพ็ชฌฆาตประหารชีวิตนักโทษ ทั้งๆที่ส่วนตัวไม่เคยมีอริขุ่นเคืองกันเลย บ้านเมืองจำเป็นต้องมีพวกเราไว้ต่อสู้กับโจรผู้ร้าย มิฉะนั้นบ้านเมืองก็ขาดขื่อแป แต่ถ้าเกิดเข้าใจผิด เกิดมีการยิงผิดตัวละก็ น่าเสียใจ…

แล้ว ส.ต.ต. ห้าว และ ร.ต.ต. ชัย ก็เผชิญเข้ากับสถานการณ์คับขัน ดาวหางบรรยายว่า

เสียงพูดหยุดชะงัก ห้าวหันไปจับรถสามล้อเมื่อเห็นชัยขยับตาจุ๊ปาก ไฟฟ้าจากเสาริมถนนทำให้เกิดเงาทอดผ่านมาจากโรงพิมพ์ตัดกับความมืดหรุบรู่ ทับร่างชายคนหนึ่งนุ่งกางเกงจีนดำ สรวมเสื้อกุยเฮงดำ หิ้วกระเป๋าเสื่อ กะเร่อกะร่าเดินมารวดเร็ว ถูกต้องตามรูปพรรณ์สัณฐานที่ระบุไว้ในคำสั่ง ชายนั้นร่างเล็ก ผอมเกร็ง หน้าเปนกระดูก ผมตัดเกรียน  นัยน์ตาคมลึกหน้าซีดเซียว เดินโหย่งตัวคุ้มหน้า หลุบปีกหมวกสานราคาถูกๆ เช่นกรรมกรยากจนค่นแค้นทั่วไป ถ้าว่ามีแผลเปนที่มือก็ไม่ผิดเลย

ใช่แน่ อั๊วลงมือละ” ชัยออกวิ่งสกัดหน้า พร้อมกับตะโกนสั่ง “หยุด! พี่ชายหยุด” บุรุษผอมเกร็งผู้นั้นหยุดผงะเกือบหงายหลัง หน้าซีดราวกับถูกผีหลอก เมื่อเห็นปากกระบอกปืนอันดำมะเมื่อมน่าสะพรึงกลัว เขายกมือไหว้พลางชี้ที่ปืน… “จี้รึ? ผมไม่มีอะไรมีค่าพอควรแก่การลงทุนด้วยอาวุธชะนิดนี้สักหน่อย

“เฮ้ย! ลูกไม้ตื้นๆชัยโบกมือแสดงว่าไม่ยอมเชื่อ ปลอมตัวอย่างนี้ ดร.ทวีก็เคยใช้ ในนามกฎหมายผมขอจับคุณชัยต้องแปลกใจที่เห็นชายคนนั้นใจเย็นพอใช้ ใบหน้าเขามีสีเลือดขึ้น ยิ้มออกเล็กน้อย แสดงตัวเปนมิตรกับตำรวจ

คุณเล่นเอาตกเนื้อตกใจ ตำรวจหรอกรึ? ใจมาเปนกอง หะแรกนึกว่าผู้ร้าย เพราะสมัยนี้จี้กันดกดื่นจนไม่รู้ว่าจะเชื่อเครื่องแบบได้อย่างไรกัน อันที่จริงผมก็ไม่มีอะไรจะให้

เอื้อมมือมาตบไหล่ชัย เขาถอยห่างคุมเชิงอย่างระวังตัว ชายคนนั้นคงพูดเรื่อย

“จะจับผมเรื่องอะไร? เมียก็กำลังเจ็บ นี่มาขอเงินผู้จัดการเขาไปให้หมอ ผู้จัดการไม่อยู่เลยมาพบบรรณาธิการ เรากำลังเตรียมแสดงลครเรื่อง “ถิ่นสยอง” 

ชัยชี้หน้า “คุณทำไก๋เก่งนัก คุณเป็นสายหนึ่งของพวกจลาจล” อุปาทานทำให้เขามั่นใจเช่นนี้ “เอ้ายื่นมาให้ผมสรวมกุญแจมือเถิดครับ อย่าชักช้า” 

ชายคนนั้นระเบิดหัวเราะเหมือนพบลครตลกเอก “ไหมละ? นี่  เชียวไหมล่ะ! ไปบ้านผมด้วยกันก่อน จะได้รู้กบฏกะเบดที่ไหนกัน” เขายานคาง หัวเราะในยามคับขันนี้ อารมณ์ดีพอใช้ทีเดียว ชัยคิด “ผมเปนเพียงนักประพันธ์ไส้แห้งเท่านั้น”

เขาฉุดมือชัย ชัยสบัด

“เมียเจ็บ ลูกอ่อนกำลังร้องหิวนม นี่ผมมาซื้อนมกระป๋องไปชงช่วยนมแม่ เข้าใจ๋? ไปดูเอาเองซี”

บอกว่าไม่ไปและไม่ดู” ชัยดันทุรัง อุปาทานทำให้เขาคิดว่าชายคนนั้นกำลังพูดตลบแตลงเอาตัวรอด “คุณอย่าเล่นลูกไม้กับผม ผมไม่เชื่อนัยน์ตาแดงๆ ของคุณเลย ต่อให้ร้องไห้จนน้ำตาเปรอะ ผมไม่ใช่คนใจอ่อนหรอก” บุรุษลึกลับหยุดหัวเราะ เมื่อเห็นว่าพูดเล่นจะเปนจริง

จุดเด่นของถิ่นสยอง อยู่ตรงที่การแสดงทัศนคติต่อสภาพการเมืองไทยและนักการเมืองไทยช่วงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ซึ่งไม่ว่านักการเมืองฝ่ายใดจะก้าวขึ้นมาครองอำนาจ แต่ชาวประชาสามัญก็ยังต้องยากเข็ญรันทด ดังที่ดาวหางสะท้อนผ่านน้ำเสียงของตัวละครเยี่ยงนายเกรียง เดชชาติ

ผมจำต้องกลับไปบ้าน มันเกี่ยวกับความอยู่และความตายของเมียและลูก คนอย่างผมหรือจะคิดก่อการจลาจล อนิจจังทุกขัง! ลำพังข้าวสารกรอกหม้อเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียก็เต็มฟัดแล้วผ่าสิพวก นายปรีดีเปนใหญ่ ผมก็เปนนักเขียนต๊อกต๋อยผู้หนึ่ง นายควงเปนนายก ผมก็เป็นนักเขียนกุ๊ยๆ คนนี้ แม้ว่าจอมพล ป. เปนนายก ก็ไม่ใช่ผมเปนคนเลี้ยงไก่กินขี้ไก่  ผมก็คงเปนผม คนเราถ้าไม่เปนตัวของตัวเองแล้วจะให้เปนอะไรจึงจะดี ป่วยการไปเอาอย่างฮิตเล่อร์ ป่วยการไปเรียนแบบโรสเวลต์ ป่วยการลอกแบบใครๆ ทั้งนั้น คนที่ไม่เปนตัวเองจะเปนที่นับถือได้เชื่อถือได้เช่นไร ผมจนก็อยู่อย่างจนของผม ผมไม่ได้ก้มหัวขอใครกิน นี่สิเปนเกียรติที่ผมหยิ่ง โดยปรกตินักเขียนไม่ใช่นักการเมืองพรรคใด นักเขียนเปนตัวแทนที่หนึ่งของมติมหาชน นักเขียนเปนสาธารณะและสากล แต่ก็จริงอีกเหมือนกันที่ว่านักการเมืองหลายคนเปนนักเขียน  การที่นายเกรียงไม่ได้เปลี่ยนการปกครองก็ดี ไม่ได้เปนเสรีไทยก็ดี ไม่ได้เปนนักรัฐประหารก็ดี ไม่ใช่นายเกรียงไม่รักชาติ แต่เปนเพราะนายเกรียงไม่มีโอกาส ไม่มีพรรคพวกและไม่มีอาวุธ นอกจากหาเช้ากินค่ำ คุณเปนผู้รักษากฎหมาย เปนคนกฎหมายก็ต้องทำตามกฎหมายและหน้าที่ คนไม่รู้จักหน้าที่ก็ไม่ควรเปนคนอันได้ชื่อว่าสัตว์เมือง  โดยที่สังคมแบ่งแยกหน้าที่ของประชาชนไว้สลับซับซ้อนหลายหมื่นหลายแสนอาชีพ กฎหมายคุ้มครองเสรีชน คุณก็ไม่ควรจะละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล เปนคนเหนือกฎหมายเสียเอง เพราะคนเหนือกฎหมายไม่มีวันเจรจากับคนใต้กฎหมายรู้เรื่อง ในเมื่อถือว่าปืนเปนอำนาจ

ใครจะว่า ปืนดีกว่าเนยหรือธรรมหรือกฎหมายก็ตามที!” 

ใช่จะพาดพิงแค่นามผู้นำทางการเมืองไทยอย่าง นายปรีดี พนมยงค์, นายควง อภัยวงศ์ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หากยังเอ่ยไปถึงนักการเมืองต่างชาติอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำแห่งนาซีเยอรมัน และ แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาด้วย

เรื่องควรจะจบสิ้นลงโดยง่าย ถ้า ร.ต.ต.ชัย ยอมเชื่อถือนายเกรียง แต่ดาวหางกลับบันดาลให้สถานการณ์ดำเนินต่อจนนำไปสู่ฉากที่นายตำรวจลั่นไกปืนยิงนักประพันธ์หนุ่ม

“เถอะน่า เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ผมขอจับคุณก่อน” ชัยตัดบท จะเป็นคราวเคราะห์ของชายผู้เคราะห์ร้ายคนนั้นหรือเปนพรหมลิขิต ถ้าพรหมมีจริงก็นับว่าอดทนพอใช้ที่ลิขิตให้คนทั้งโลกหลายพันล้านวิญญาณ แล้วยังสอดส่องติดตามดูให้เปนไปตามวิถีชีวิตอันลิขิตไว้ด้วย อารามรีบร้อนและลุกรน ชัยก้าวไปเพื่อปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อสรวมกุญแจมือผู้ต้องหา เขาเหยียบเปลือกกล้วยเจ้ากรรม ที่พรหมลิขิตให้ทิ้งไว้ตรงนั้น ลื่นไถล ชัยเซไปปะทะชายผู้นั้น ห้าวอยู่ไกล เข้าใจว่าเกิดต่อสู้กัน ในเวลาชิงพลบขมุกขมัว แสงไฟฟ้าสลัวๆ ภาพต่างๆ ลวงตาได้ง่าย มือไวเท่ากับความคิด ตำรวจเมื่อคิดว่าผู้ร้ายกำลังต่อสู้เพื่อหนี ด้วยความแม่นยำในการยิง เขาลั่นไกปังเดียวเท่านั้น ชายเจ้ากรรมก็ร้อง “โอ๊ย!” มือกุมอก ล้มลงพร้อมกับคำราม

“อ้ายห่า ยิงง่ายๆ เหมือนยิงหมากลางถนน…”

เงียบเสียงสนิท หูดังฉี่ได้ยินแต่จิ้งหรีดกรีดร้องระงมแทนที่

นัดเดียวพอแล้วสำหรับนายขมังปืน คนตายย่อมไม่พูด ชาวบ้านหากได้ยินเสียงปืน หลายคนคิดว่าเด็กเกเรจุดประทัดเล่น ไม่มีสักคนจะคิดว่าเกิดฆ่าคนจนกะทั่งเช้าหลายคนเห็นรอยเลือดและเจ้าหน้าที่มาชันสูตร์พลิกศพ แล้วก็สัปเหร่อมาเก็บศพไว้ยังป่าช้าผีไร้ญาติ มันเปนพฤติการณ์ที่ไม่มีผู้ใดแยแส ไม่มีคนสดุ้งสะเทือนต่อกีฬาล่ามนุษย์ มันเปนเหมือนคืนธรรมดาทุกๆ คืน ที่ต่างคนต่างมุ่งหากินใส่ปากท้องของตน มันเปนราตรีที่ทุกคนนอนในบ้านของตนอย่างไม่กังวลต่อเสียงวิวาทด่าทอของเพื่อนบ้าน อนิจจานี่หรือคือ นาครธรรม-อารยธรรมที่ทันสมัย!

ชัยยิ้มที่สามารถปราบจลาจลซึ่งจับได้คาหนังคาเขา ในมือมีกระเป๋าเอกสารซึ่งจะมีอะไรอื่นมิได้  เขาเข้าใจเอาเองว่า นอกจากแผนการณ์จลาจลนองเลือด ห้าวยิ้มที่ตนเองสังหารผู้ทุจริตคิดล้มล้างรัฐบาลเสียก่อนดำเนินงานเปนผล

ไม่มีใครสักคนเดียวคิดว่า ศพหัวหน้าจลาจลนั้นเปนเพียงศพนายเกรียง  เดชชาติ นักเขียนจนๆ ย่ำต๊อกคนหนึ่งเลย  เสียงปืนเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง กระดูกคนไหนบ้างร้องได้ โดยฉะเพาะกระดูกตาสียายสาไพร่ราบทั้งหลาย แต่ผู้ที่คอยอยู่ เมียกับลูกของผู้ตาย เมียที่คอยยารักษาไข้จากผัวจนค่ำกะทั่งเช้ายังไม่กลับ ลูกที่คอยนมกระป๋องที่พ่อเขาไปซื้อมาชงให้กินจะทุ่นแรงนมแม่ ร้องไห้คอหอยแทบแตกไม่เห็นหน้าพ่อ อนิจจาเจ้าแน่ ประชาธิปไตย ! หลั่งเลือดและน้ำตาบูชาอธิปไตยแล้ว

การจับเปนหรือตายคนจนๆ คนหนึ่งในข้อหาแบบกำปั้นทุบดินว่าเปนคอมมูนิสต์หรืออิสต์ใดๆ เปนตัวทำลายสันติสุขของประชาชน เปนตัวจลาจล นั้นไม่ยากไปกว่าเปิบข้าวใส่ปาก ถ้าผู้มีอำนาจผู้ถือกฎหมายต้องการบงการให้เปนเช่นนั้น นั่นเปนขอบเขตต์ไพศาลของมาตรา 104 เพราะข้อเท็จจริง 1 ของสังคมทุกวันนี้ ของโลกทั่วไป คือคนยากจนโน้มเอียงไปทางสังคมนิยมอยู่แล้วและร้อยละ 90 เปนคนจีนเสียด้วย ในเมืองจีนผู้เคราะห์ร้ายหลายคนถูกประหารชีวิตในฐานเปนคอมมูนิสต์ ทั้งๆ ที่หลายคนเหล่านั้นไม่เคยรู้จักคาร์ล มาร์กซ์  หลายคนถูกหาว่าติดต่อกับโซเวียต ทั้งที่เขาเปนชาวนา หรือกรรมกรที่ไม่เคยสนใจเลนินเลย มันเปนความจริงที่เถียงได้ยาก เมื่อมีใครคนหนึ่งอุตริกล่าวว่า การเมืองเล่นโดยมือชนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่านักการเมือง ขณะที่พลเมืองส่วนมากเล่นงานแต่กะเพาะของตัวกระนั้น ใดหรือชื่อว่า มติมหาชนอันเปนเสียงสวรรค์ คงไม่ใช่ผู้แทนที่รับประทานจอบหรือคนโตการเมืองที่กินข้าวสาร พลางปากก็กู่ก้องร้องหาประชาธิปไตยไทย ฉันนี่แหละรักชาติยิ่งแล้ว เสรีภาพใดขวางทางฉันเสรีภาพอันนั้นผิดกฎหมาย  กลายเปนทรยศชาติเสียแล้ว

คืนนั้น เมื่อตำรวจสองนายลาจากไป ทอดทิ้งร่างไร้วิญญาณนอนจมกองเลือดของนายเกรียง เดชชาติ อีกตัวละครหนึ่งก็ปรากฏขึ้น

มันเปนความลับ แต่ความลับนั้นไม่มีในโลกนี้ บุรุษที่สามย่องออกมาจากที่ซ่อนในเงามืดไม่ห่างจากบริเวณที่เกิดเหตุนั้น เขาผู้นี้รู้ดี เขาคือบุคคลในคำสั่งที่ว่า ร่างผอมเกร็ง หน้ากระดูก ผมตัดเกรียน ตาคมลึก หน้าซื่อ เดินโหย่ง โดยฉะเพาะอย่างยิ่งมีแผลเปนที่มือด้วย เขาคือตัวการละ!

เขาสดุ้งโหยงตัวลอยเมื่อยินเสียงปืนตามธรรมดาวัวสันหลังหวะ รีบรุดหลบหนีเร็วที่สุดเท่าที่เท้าจะพาไปได้ โดยไม่มีใครเห็น ขอบคุณเทพเจ้าที่คุ้มครองชีวิตไว้ เขาคิดในใจ พระพรหมช่างทรงพระกรุณาเขาเหลือล้นที่ลิขิตให้คนอื่นรับเคราะห์ตายแทน โดยเหตุประจวบเจาะจังหวะ มันอาจเปนหนึ่งในร้อย แต่แล้วใครเปนผู้รับผิด…. ในอนาคตของเมียและลูกของผู้เคราะห์ร้าย

ก่อนจะไป ไม่วายที่เหลียวมาดูศพนายเกรียงอีกครั้ง1 หลังจากชัยและห้าวกลับจนลับหลังไปแล้ว เขาก้มศีร์ษะคำนับศพอย่างเต็มใจ น้ำตาลูกผู้ชายไหลริน จะว่าดีใจที่รอดตายก็ไม่ใช่ จะว่าสลดใจในบาปเคราะห์ของเพื่อนร่วมชาติก็ไม่เชิง ไปสู่สุขคติเถิดเพื่อนเอ๋ย กันจะทำบุญตรวจน้ำไปให้…เท่านี้  เท่านั้นเองหรือที่มนุษย์เราอาจตอบแทนกันได้  ถ้าตายแล้วเกิดใหม่ดังเม็นเด็ลอุปมา การถ่ายทอดชีวิตใหม่นั้นเช่นรินกาแฟแบ่งถ้วยสักกี่ถ้วยก็คงเปนกาแฟนั้นเอง (Mendelism) ตามหลักเม็นเดลนั้น ใครเล่าจะรับผลกรรมของการฆ่านายเกรียงนี้ เมื่อคนก็เกิดเปนคน สัตว์เกิดเปนสัตว์ พืชต้องเปนพืช  และแม้ตายแล้วไปสู่สุขคติทุขคติตามกรรมแห่งคนนั้นจริง แม้เกรียงไปสวรรค์เพียงชั้นฉกามาพจร  เกรียงเพลินสมบัติสวรรค์ ตื่นวิมานสักครู่สองครู่ ดังคนบ้านนอกคือกรุงเทพฯ ก็ดี เกรียงตกนรกอุปมัยคนต้องโทษติดคุกก็ดี จะหนีนรกหนีสวรรค์มารับส่วนบุญกุศลบริจาคของผู้ใดได้เช่นใด  นเมื่ออายุขัยของชาวโลกมันสั้นนิดเดียว เมื่อเทียบกับอายุขัยของกัลป์ 1…หรือเอกภพ 1

เขายิ้มอย่างเศร้าๆ ประเทศไทยอาจได้อมรกวีอีกผู้หนึ่ง ถ้านายเกรียงประพันธ์กรหนุ่มนี้ไม่ตายเสียเร็วนัก ศิลปินมักอาภัพเช่นนี้แหละ เขารีบแฝงกายดำดินต่อ… นั่นคือลักษณะนักการเมืองผู้ลี้ภัยการเมือง

การออกตามล่าตัวผู้ต้องสงสัยของ ส.ต.ต.ห้าว และ ร.ต.ต.ชัย ยังชวนให้ผมฉุกนึกไปถึงใบประกาศจับ ‘นายปรีดี’ ที่ออกโดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งขณะนั้นมีผู้บัญชาการคือ พ.ต.อ.หลวงพิสิฐวิทยาการ (เจริญ บูรณะนนท์) และ พ.ต.ต.จำรัส ฟอลเล็ต รับรองความถูกต้องของข้อมูลโดยมีเนื้อความตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้ ได้รับบันทึกผู้บังคับการตำรวจสันติบาลลงวันที่ 25 มีนาคม 2492 ส่งตำหนิ รูปพรรณกับรูปถ่ายพร้อมด้วยหมายจับ นายปรีดี พนมยงค์ ในข้อหาว่าสมคบกับพวกก่อการร้าย ก่อการจลาจล และก่อการกบฏในพระราชอาณาจักร มาขอให้ประกาศสืบจับคือ

นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐมนูธรรม) อายุ 49 ปี เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย เป็นบุตรนายเสียง นางลูกจันทน์ พนมยงค์ เกิดที่ตำบลกรุงเก่า อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่อาศัยอยู่ครั้งสุดท้าย ตำบลท่าช้างวังหน้า อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร

ตำหนิรูปพรรณ ผมสั้นตัดเกรียน หน้าสี่เหลี่ยม ฟันหักใส่ฟันปลอม คางแหลม รูปร่างสันทัด

ตำบลที่ควรสืบ ท่าช้างวังหน้า อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร บ้านป้อมเพ็ชร์ ถนนสีลม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เหตุเกิดในท้องที่จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 เมื่อจับตัวได้แล้วให้ส่งไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาล เพื่อจัดการตามกฎหมายต่อไปภายในกำหนดอายุความ 20 ปี นับแต่วันเกิดเหตุ ได้ออกหมายจับแล้วลงวันที่ 25 มีนาคม 2492 มีหมายจับกับรูปถ่ายที่แผนก สืบจับกองพิเศษ และมีรูปถ่ายที่กองปราบปราม กองบังคับการตำรวจสันติบาล และที่กองกำกับการตำรวจสันติบาล และที่กองกำกับการตำรวจนครบาลทุกสาย”

ดาวหางเปลี่ยนฉากพ้นผ่านราตรีกาลมาสู่วันใหม่  มหาชนกำลังได้รับรู้ชะตากรรมของนักประพันธ์หนุ่ม ดังถ้อยบรรยายว่า

รุ่งเช้าหนังสือพิมพ์ประกาศหาตัวคนหายนายเกรียง เดชชาติ ผู้พึ่งขายเพลงบทสุดท้ายของเขาแก่ผู้จัดการโรงพิมพ์ซึ่งกำลังจะริเริ่มงานลคร เขาไปเพื่อเอาเงินมาซื้อยาให้เมียซื้อนมให้ลูก พร้อมกับพิมพ์โน้ตเพลงรักชาติยิ่งชีพไว้ในหน้ากลางในฐานเปนเจ้าภาพจัดงานศพนักเขียนอนาถาคน 1 เพลงชิ้นนั้น ชัยอ่านแล้วบ่นอ่อยๆ กับห้าว “อั๊วไม่นึกเลยว่ะ!” ห้าวปลอบ “นึกว่าเลยตามเลยเถอะครับ กรวดน้ำทำบุญให้ก็แล้วกัน” เพราะสำเนาเพลงบทนั้นเปนเอกสารชิ้นเดียวที่เขาค้นพบในศพของผู้ตาย เอกสารที่ว่าเปนแผนการปฏิวัติกลายเปนเพลง “รักชาติยิ่งชีพ” มันเลอะด้วยคราบน้ำตาอาภัพแห่งสังคมมาแล้ว มันกลับมาเปื้อนคาวโลหิตการเมืองคือการฆ่าผู้บริสุทธิ์เปนบาปแก่ใจตัวเอง มันเปนภาพหลอนหลอกชั่วชาติ มันไม่ใช่ความผิดของนักเขียนที่เขียนเพลงรักชาติยิ่งชีพ มันไม่ใช่ความผิดของชัยที่เหยียบเปลือกกล้วยหกล้ม มันไม่ใช่ความผิดของห้าวที่ยิงแม่นอะไรเช่นนั้น มันเปนความผิดของพระพรหมที่ลิขิตอย่างทารุณ เมืองของข้าที่ลืมอะไรง่ายๆ ชาวไทยลืมแล้วว่าในกรมฯ ผู้สำเร็จราชการพระองค์หนึ่งทรงยิงพระองค์เอง ชาวไทยกำลังลืมในหลวงอานันทมหิดล ลืมผู้มีบุญคุณแก่ประเทศชาติอีกหลายคน แม้เจ้าคุณพหลฯ เจ้าคุณทรงฯ… ชาวไทยก็จะลืมนายเกรียงอีกคนหนึ่งง่ายดาย มันมีเพียงเพลงบทเดียวในพิพิธภัณฑ์เท่านั้นที่บอกได้ว่านายเกรียงเคยเกิดมาเปนคนไทยคนหนึ่ง นั่นคืองานของเขา เพียงอีก 5-6 ปี บางทีจะมีนักเขียนอุตริใดสักคน ค้นหอพระสมุดแห่งชาติ พบเพลงรักชาติของนายเกรียง เดชชาติ เช่นนักเรียนเดี๋ยวนี้ค้นงานเดคาเมรอนของ บอกกาจจิโอ แล้วอมตพจน์ของอมรกวีก็ถูกทอดทิ้งต่อไปอีก โลกเปนเช่นนี้แหละ

แว่วเพลงมาตามลมพริ้ว เพลงรักชาติยิ่งชีพที่ฟื้นมากับสายลม ซึ่งสมมุติว่าเปนเสียงปีศาจ มันเปนเพลงไทยนั้นก็ควรอยู่คู่กับภาษาไทยและชาติไทยได้ทุกสมัย เพราะอย่างน้อยมันก็ไม่ใช่เพลงสดุดีบุคคลใดโดยฉะเพาะ มันหมายฉะเพาะเพียงไทยทั้งชาติเท่านั้น

เกรียงผู้เขียนตายไปแล้ว กรรมนั้นเป็นของใคร ใครจะเสวยผลกรรม เราท่านอาจอายุสั้นเกินกว่าที่จะพิศูจน์ความจริงตามหลักสวรรค์ของศาสนาต่างๆหรือหลักการถ่ายทอดชีวิตเม็นเด็ลลิสม์ ถึงชีวิตนายเกรียงจบลงแล้ว เพลงของเขาน่าจะอยู่คงกับอักษรศาสตร์ชาติไทย ซึ่งคนไทยทุกคนควรจะเสริมรักชาติยิ่งชีพไว้ไม่รู้จบ เพื่อว่าแผ่นดินของไทยไม่ยอมให้ใครเลย

ครั้นความตายของนายเกรียงผ่านไปแรมเดือน ผู้ประพันธ์ปิดท้ายเรื่องด้วยฉากในโรงพยาบาลกลางเช่นเดียวกับตอนเปิดเรื่อง

“ทุกคนในบริเวณนั้นย่อมยกย่อง ส.ต.อ.ห้าว กรกำแหง เปนวีรบุรุษ มี ร.ต.ต.ชัย จิตตมงคลคนเดียวที่ร้องไห้จริงๆ ทำให้ใครพลอยสลดใจและซาบซึ้งความรักและอาลัยของบ่าวนายคู่นี้ ชัยร้องไห้-เขารู้ดีว่าห้าวสร้างชื่อด้วยเลือด เขาก็สิ้นชื่อด้วยเลือด ชีวิตต่อชีวิตเปนเวรสนองเวร ตามวิถีโลกที่ระบุกฎหมายแบบฟันต่อฟัน ชีวิตต่อชีวิต ชัยร้องไห้เพราะเขาเองร่วมมือสร้างบาปมาด้วยกัน มันสังหรณ์ใจให้นึกถึงใบหน้านายเกรียงเมื่อถูกยิง ลมไม่พัด ใบไม้ไม่ไหว อากาศเยือกเย็นหนาวสท้านเข้าจิตต์ใจอย่างบอกไม่ถูก เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงโดยปราศจากเค้าฝน

และต่อจากนั้น

ทุกคนได้ยินเพลงแว่วมาแต่ไกล มันเปนเพลงรักชาติยิ่งชีพ ชัยเหลียวหลังล่อกแล่ก หูเขาได้ยินชัดเจน วิญญาณมีจริงฤา หูหวาดไปกระมัง เขาคิด ลมนิ่ง ใบไม้ไม่กระดิก แต่หน้าต่างปิดดังปัง ทำให้สดุ้งทุกคน ขนลุกเกลียว แว่วเสียงเพลงชัดยิ่งขึ้นทุกที เหมือนผีหลอก ภูติผีปีศาจก็กริ่วโหยไห้กลางวันได้หรือ? หน้าต่างที่ปิดแล้วเปิดเองดังปังอีกครั้งหนึ่ง ลมไม่มีพัดสักแกรกเดียว เมื่อเกิดความกลัวขนพองสยองเกล้า ไม่ใช่ชัยผู้เดียวมันรวมทุกคนที่อยู่ในบริเวณคนป่วย  ส.ต.ต.ห้าว กรกำแหง ผู้กำลังจะหมดลมสิ้นใจอยู่ประหงับประหงับนั้น – –

คนป่วยลืมตาโพลงทำเพลงไม่ใช่ไม่ใช่จนสิ้นลม

โธ่ ท่านทั้งหลายมัจจุราชนั่นแหละคือผู้พิชิตโลกหาใช้นักการเมือง ไม่เลย”

ในถิ่นสยอง ยังสอดแทรกเนื้อเพลงของผู้ประพันธ์ซึ่งใช้นามย่อ ร.ศ. (น่าจะมาจากนามจริง รัตน์ ศรีงาม) ไว้ด้วย คือเพลง ‘รักชาติยิ่งชีพ’

(สร้อย) รักชาติยิ่งชีพ รักประชาธิปไตย (ซ้ำ) ตื่นเถิดชาวไทย (ซ้ำ) พร้อมกายพร้อมใจ ชักชาติชูไท เทอดรัฐธรรมนูญ

1. บ้านเราๆอยู่ อู่เราๆ อาศัย ของเขาไม่เอา ของเราไม่ให้ ขึ้นชื่อแผ่นดินของไทย ไม่ยอมให้ใครเลย ชโยๆ (สร้อย)

2. อิสสระคู่ชาติ เอกราชคู่ประเทศ เสรีภาพสมเจตน์ สมภาคสมใจ ขึ้นชื่อธรรมนูญของไทย รักษาไว้สถาพร ชโยๆ (สร้อย)

พร้อมทั้งแนบภาพโน้ตเพลง

โน้ตเพลงรักชาติยิ่งชีพ

สังเกตเห็นตอนหนึ่งในงานเขียนนี้พาดพิงถึง ‘ดร. ทวี’ ซึ่งน่าจะหมายถึง ‘ดร.ทวี ตะเวทิกุล’ ผู้เป็นทั้งลูกศิษย์และผู้สนับสนุนนายปรีดี หลังพ่ายแพ้ราบคาบในเหตุการณ์ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ดร.ทวี ถูกทางการออกหมายจับและมีค่าหัวราคาสูงถึง 50,000 บาท เขาหลบหนีจากเขตเมืองหลวงไปหลบที่สมุทรสงคราม หมายใจจะลงเรือเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ แต่ตำรวจนำกองกำลังมาบุกจู่โจมในราตรีกาลของวันที่ 31 มีนาคม ปีเดียวกัน ดร.ทวีถูกยิงสิ้นชีวิตบนแพลูกบวบแถวๆ หน้าวัดธรรมนิมิตร

อ่านถิ่นสยองอย่างละเอียดลออแล้ว ก็ตระหนักสมดังที่ เจือ สตะเวทิน ยกย่อง ‘ดาวหาง’ ให้เป็น “นักเขียนนวนิยายที่ควรถือเป็นแบบได้ในข้อที่ค้นคว้ามาก ค้นคว้าทั้งวิทยาการสมัยใหม่ของโลก และค้นคว้าทั้งขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมไทย…” จะเห็นชัดทีเดียวว่ามีการอ้างถึงองค์ความรู้ต่างๆ เช่น หลักการของนักพันธุศาสตร์อย่าง เกรกอร์ เมนเดล (Gregor Mendel) นักวรรณคดีชาวอิตาเลียนอย่างยีโอวันนี บอกกาจจิโอ (Giovanni Boccaccio) ผู้ประพันธ์เรื่อง บันเทิงทศวาร หรือ Decameron รวมถึงบุคคลสำคัญของเมืองไทยหลายชื่อนาม

อีกคนที่ดาวหางกล่าวนามไว้ในท้องเรื่องเห็นจะมิพ้น ‘คาร์ล มาร์กซ’ (Karl Marx) นักคิดชาวเยอรมัน ซึ่งสมัยนั้นการเอ่ยถึงเขาดูเหมือนจะเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมไทยและสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเพ่งเล็งให้เป็นผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ในประสบการณ์อ่านวรรณกรรมไทยของผมนับตั้งแต่เด็กๆ เคยรับรู้มาว่าวรรณกรรมเรื่องแรกๆ ที่หาญกล้าเอ่ยถึงคาร์ล มาร์กซ คืองานเขียนของ ‘อ.อุดากร’ (นามปากกาของ อุดม อุดาการ) โดยตั้งชื่อเรื่องสั้นของตนเลยว่า ‘คาร์ล มาร์กซ์ กลิ่นดินปืน และนันทิยา’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารรายสัปดาห์ สยามสมัย ปีที่ 4 ฉบับที่ 162 ประจำวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2493 แต่เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาการเผยแพร่แล้ว งานของ ‘ดาวหาง’ ตีพิมพ์ก่อนนานถึงหกเดือน จึงอาจนับได้ว่า ดาวหางเอ่ยนามคาร์ล มาร์กซในงานวรรณกรรมมาก่อน อ.อุดากร เสียอีก  แต่ดาวหางก็ทำได้แค่นั้น เอ่ยนามได้เพียงจุดเดียวบรรทัดเดียว ขณะที่ อ.อุดากร นอกจากจะเอ่ยนามแล้ว ยังสาธยายปรัชญาของนักคิดชาวเยอรมันผู้นี้ไว้เสียหลายหน้ากระดาษ มิหนำซ้ำนำมาตั้งเป็นชื่อเรื่องสั้นอย่างไม่หวั่นเกรง ดังที่ เศรษฐ ตัวละครหนุ่มนักสังคมนิยมยืนอยู่บนกองอิฐปูนสีแดงในวัดเก่า ท่ามกลางกลิ่นอบอวลหอมหวานของดอกพิกุลสีน้ำตาลแกมเหลืองอ่อนแถลงให้บรรดาชาวนารับฟัง

เลิกกันที wage fund ที่ล้าสมัย เลิกกันทีสำหรับอัตราเหลือเดนของวอล์กเกอร์ และเลิกกันทีสำหรับการกำหนดค่าแรงอย่างต่ำสำหรับหลายๆ ประเทศได้พยายามทำกันอยู่” เสียงนั้นดังสะท้าน ดื่มด่ำเข้าไปในหัวใจของคนฟังทุกคน “สหายที่น่าสงสาร ข้าพเจ้าขอแนะนำบุคคลหนึ่งสำหรับแก้สถานะเช่นนั้นให้ท่าน จำให้ดี พี่น้องที่รัก เขาคนนั้นชื่อคาร์ล มาร์กซ์ – คาร์ล มาร์กซ์และลัทธิเศรษฐกิจของเขา”

นั่นเป็นสิ่งที่ตัวละครชายวัยกลางคนอย่างพระพิมลธรรมอรรถกิจ อดีตผู้พิพากษาศาลสูงและเคยบรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย เป็นทั้งอาจารย์ของเศรษฐและบิดาของนันทิยาผู้เป็นคนรักของชายหนุ่ม ฟังแล้วรู้สึกว่า “เหมือนฟ้าที่ผ่าเปรี้ยงลงมาโดยปราศจากสัญญาณที่จะตั้งเค้าขึ้นด้วยเมฆฝนสีเทา” เพราะไม่ปรารถนาให้ลูกศิษย์ของตนหมกมุ่นกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ไปไกลถึงขั้นสมาทานลัทธิมาร์กซิสต์ ด้วยว่าภัยทางการเมืองจะโคจรมาถึงตัว

คาร์ล มาร์กซ์, กลิ่นดินปืน และนันทิยา ผลงานประพันธ์โดย อ.อุดากร

ก่อนหน้านี้ อ.อุดากร เคยเขียนเรื่องสั้น ‘สัญชาตญาณมืด’ จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกรียวกราวและข้อถกเถียงด้วยความเห็นแตกต่างอย่างหนักหนามาแล้ว ครั้นมาเขียน ‘คาร์ล มาร์กซ์, กลิ่นดินปืน และนันทิยา’ สมทบเข้าอีก ก็ยิ่งสร้างความตื่นตะลึง น้อย อินทนนท์ (หรือ มาลัย ชูพินิจ) เขียนในคอลัมน์ ‘ระหว่างปก’ ตอนหนึ่งว่า

“ขอให้เราผ่าน “สัญชาตญาณมืด” ไป ปล่อยไว้เปนภาระและหน้าที่สำหรับท่านผู้อ่านทั้งหลายจะได้วิพากษ์วิจารณ์ต่อไป ในขณะเดียวกันข้าพเจ้าขอเสนอเรื่องใหม่ของเขา ซึ่งคงจะเร่งเร้าและเรียกร้องก้อนอิฐกับรังแตน ไม่ต่างอะไรกับเรื่องข้างต้นก็เปนได้ เมื่อปรากฏว่าเรื่องใหม่เปนเรื่องในชีวิตชายหนุ่มนักเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่งซึ่งอุทิศชีวิตให้แก่ชนชั้นที่ถูกปกครองจนต้องประสพกับอวสานอย่างน่าสมเพชเวทนา

“คาร์ล มาร์กซ์ กลิ่นดินปืน และนันทิยา” คือชื่อที่น่ากลัวของเรื่องนั้น จนกว่าท่านจะได้อ่านจบลงแล้ว จึงจะได้คิดว่าเปนเรื่องของชีวิตที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง แทนจะเปนเรื่องของการเมืองที่เลวที่สุดเรื่องใด”

อ.อุดากร

ผมยังปรารถนาแนะนำเรื่องสั้นของ อ.อุดากร อีกสักเรื่องคือ  ‘บนเส้นทางชีวิตสายหนึ่ง’ ลงตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน สยามสมัย ปีที่ 4 ฉบับที่ 173 ประจำวันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2493 กล่าวถึงตัวละครหม่อมหลวงสุรจิต วรกุล นักคิดนักเขียนที่ต้องหลบลี้หนีภัยภายหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ไม่ผิดแผกไปจากตัวละครนายเกรียง เดชชาติ ในงานของ ‘ดาวหาง’ ดังเสียงเล่าของตัวละครชื่ออรรถพร ผู้เป็นมิตรสหายว่า

 “ข้าพเจ้าจะแปลกใจ หากจะมีผู้สงสัยว่า ม.ล.สุรจิต วรกุล เป็นคนดีหรือเปล่า สหายของข้าพเจ้าผู้นี้อาจจะเป็นนักสังคมนิยมที่มีความคิดเห็นว่า สภาพการณ์ของเมืองไทยนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูปโดยสิ้นเชิง เพื่อประชาคมส่วนใหญ่จะได้เสพย์คำว่า “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” ได้ถึงรสอันแท้จริงของมันเสียที แทนที่จะได้เห็นในฐานะเพียงวลีเพราะๆ ที่เขียนขึ้นในคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์โดยปราศจากความหมายที่จริงจังอย่างที่เขาได้พบได้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในขณะนี้ แต่กระนั้นสุรจิตก็ไม่เคยแสดงความมุ่งร้ายหมายขวัญ และปรารถนาจะได้พบเห็นการพังทลายอย่างถอนรากถอนโคนของชนกลุ่มใดเหล่าใดแม้แต่น้อย ถึงชนกลุ่มนั้นจะเป็นพวกนายทุน เขาเพียงแต่ยึดมั่นอยู่กับหลักการและวิธีดำเนินงานของโซชลิสต์ชาวอังกฤษ และได้แสดงความคิดเห็นของเขาตลอดมาว่า การปฏิรูปของเมืองไทยจะสำเร็จได้ก็ต้องด้วยทุกๆ ฝ่ายก้าวมาพบกันที่จุดกลางอย่างที่พรรคเลเบอร์ของนายแอ็ตลีได้กระทำกันอยู่ในบัดนี้ เท่านั้นเอง สุรจิตอาจจะเร่งเวลาที่จะได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างของเมืองไทยแปรสภาพไปสู่สภาพของรัฐโซชลิสต์ แต่ใครจะปฏิเสธได้ว่าสุรจิตไม่ได้ทำจริง เรานั้นไปด้วยความวิตกกังวลและเป็นห่วงใยอย่างล้ำลึกต่อสถานะของเมืองไทย  ขณะที่โลกและสิ่งล้อมรอบตัวอยู่ได้เปลี่ยนแปลงไปจนสิ้นเชิงแล้วเช่นขณะนี้ ทำนองเดียวกันอีก ม.ล.สุรจิตอาจจะ      เป็นนักเขียนที่มีปลายปากกาแหลมพอที่จะส่งความรู้สึกปวดปลาบไปถึงหัวใจของนักการเมืองหน้าหนาๆ หลายต่อหลายคน แต่ข้าพเจ้าคนหนึ่งที่จะเป็นผู้ยืนยันว่า สุรจิตไม่เคยสลัดหมึกให้เปรอะเปื้อนต่อฝ่ายใดจากข้อเขียนของเขา  ม.ล.สุรจิต วรกุล ไม่เคยใช้ปากกาประทุษร้ายต่อผู้หนึ่งผู้ใดเป็นส่วนตัว – ข้าพเจ้าขอย้ำความจริงข้อนี้ – เพียงแต่เขาเขียนตรงเกินไปและมีข้อความจริงมากเกินไปเท่านั้น ข้าพเจ้าอดเศร้าใจไม่ได้เมื่อคิดว่าความจริงสองประการหลังนี้เอง ประกอบเข้ากับคำว่า “นักสังคมนิยม” เท่านั้น ม.ล. สุรจิตก็ต้องกระเจิดกระเจิงเป็นมนุษย์ที่ไร้พสุธาจะอาศัยไป  ขณะมรสุมการเมืองได้กว้านตลบขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2492  

และนั่นคือเบื้องต้นแห่งอวสานของชีวิตหนึ่ง”

ทั้งงานเขียน ‘ถิ่นสยอง’ ของดาวหาง รวมถึงเรื่องสั้นของ อ.อุดากร อย่าง ‘คาร์ล มาร์กซ์, กลิ่นดินปืน และนันทิยา’ และ ‘บนเส้นทางชีวิตสายหนึ่ง’ ล้วนสะท้อนให้เห็นบรรยากาศเข้มเครียดทางการเมืองภายหลังความพ่ายแพ้ของขบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมาจากรัฐบาลเผด็จการทหารที่นำโดย นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ตัวละครในงานเขียนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการกวาดล้างทางการเมือง ถูกรัฐบาลหมายหัวว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จะต้องถูกจับกุมปราบปราม ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นเพียงผู้รักชาติและปรารถนาดีต่อประเทศ

ถ้าจะมีอีกส่วนหนึ่งที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษในงานเขียนเรื่อง ‘ถิ่นสยอง’ ของ ‘ดาวหาง’ หรือ ‘รัตน์ ศรีงาม’ ก็คือ นักประพันธ์ผู้เคยลึกลับได้กล่าวถึงสภาพความเป็นไปของสังคมไทยทำนองว่า “เมืองของข้าที่ลืมอะไรง่ายๆ”  แม้กาลเวลาจะล่วงผ่านมาเกินกว่าเจ็ดทศวรรษแล้ว หากปัจจุบันนี้ดูเหมือนคนไทยก็ยังคงหลงลืมอะไรง่ายๆ และมีแนวโน้มที่จะลืมแทบทุกสิ่งอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิมแบบทบทวีหลายเท่า

ครั้นมนุษย์เราแทบไม่หลงเหลือแค่เพียงสักเสี้ยวเวลา เพื่อปล่อยความทรงจำให้ทอดยาวในการรำลึกนึกเห็นอกเห็นใจต่อคนอื่นๆ เสียบ้างเลย บางทีก็ช่างเป็นความสยดสยองแห่งถิ่นฐานทางอารมณ์มิใช่เบา

เอกสารอ้างอิง

  1. ‘ดาวหาง’. พัทยา. กรุงเทพฯ: สามัญชน, 2566
  2. ไทยน้อย (เสลา เรขะรุจิ). ๒๕ คดีกบฏ. พระนคร : ประมวลสาส์น, 2513.
  3. ประจวบ อัมพะเศวต. พลิกแผ่นดิน : ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 24 มิถุนายน 2475-14 ตุลาคม 2516. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2543.
  4. ปรีดี พนมยงค์. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์. วิษณุ วรัญญู บรรณาธิการ.พิมพ์ครั้งที่ 5.กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, 2553
  5. มรกต เจวจินดา. ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ. 2475-2526. พิมพ์ตรั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โครงการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของไทย ที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ : คณะอนุกรรมการฝ่ายนิทรรศการ คณะกรรมการจัดงานฉลอง 100 ปี รัฐบุรุษอาวุโส ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2543, 2543
  6. สมบูรณ์ วรพงษ์. เบื้องหลังคดีเลือด ยุคอัศวินผยอง คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2544
  7. ศรีดาวเรือง. ละครแห่งโลก จาก ป.อินทรปาลิต ถึงพระสารสาส์นพลขันธ์. กรุงเทพฯ: ไรเตอร์, 2537
  8. สยามสมัยรายสัปดาห์. 2 (95), (7 มีนาคม 2492).
  9. สยามสมัยรายสัปดาห์. 2 (96), (14 มีนาคม 2492).
  10. สยามสมัยรายสัปดาห์. 2 (97), (21 มีนาคม 2492).
  11. สยามสมัยรายสัปดาห์. 2 (98), (28 มีนาคม 2492).
  12. สยามสมัยรายสัปดาห์. 3 (136), (19 ธันวาคม 2492).
  13. สยามสมัยรายสัปดาห์. 3 (137), (26 ธันวาคม 2492).
  14. สยามสมัยรายสัปดาห์. 4 (162), (19 มิถุนายน 2493).
  15. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐ และการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ.2491-2500). พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : 6 ตุลารำลึก, 2553
  16. สุเพ็ญ ศิริคูณ. กบฏวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492). วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2518.
  17. เสถียร จันทิมาธร. สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทย. กรุงเทพฯ : เจ้าพระยา, 2525
  18. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์เจือ สตะเวทิน ตช., ตม. วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2521 ณ เมรุวัดโสมนัสวิหาร. กรุงเทพฯ: รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์, 2521
  19. อ.อุดากร.  ตึกกรอสส์ รวมเรื่องเอก. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์-วิชาการ, 2538

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save