fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (29) : หนักแผ่นดิน

หลักประกันสุขภาพที่รัก (29) : หนักแผ่นดิน

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

ตอนที่ข้ามฟากไปเรียนที่ศิริราช เวลานั้นอุดมการณ์แพทย์ชนบทเริ่มขึ้นแล้ว ศิริราชมีสโมสรนักศึกษาที่ได้ชื่อว่าเป็นที่ชุมนุมของนักศึกษาหัวก้าวหน้า มีนักคิด นักเขียน และนักพูดหลายคน  มีคำพูดสวยๆ ฟังแล้วเคลิ้มจำนวนมาก มีมรดกทางความคิดที่ตกทอดมาจากนักศึกษาแพทย์รุ่นก่อนๆ ที่เพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ตุลาคม 2516 และ 2519 มาไม่นาน

แต่ละท่านเอ่ยชื่อวันนี้ก็จะเห็นจริงถึงสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์

อุดมการณ์มากับวัยหนุ่มสาว เป็นการพุ่งขึ้นของความคิดเชิงนามธรรมไปสู่ระดับสูงสุดถึงอุดมคติ เป็นหมอต้องออกไปช่วยคนจนในชนบท จะขี่รถมอเตอร์ไซค์ต้องตีโค้งด้วยความเร็วสูงสุดอย่างสง่างามโดยไม่ล้ม ทั้งสองประการไม่ต่างกัน นั่นคืออุดมการณ์

เมื่อเวลาผ่านมาหลายปี เราจึงได้เห็นการกลับทิศของนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่ว่าจำนวนมากในวันนี้ เมื่ออุดมการณ์เป็นได้แค่ความสง่างาม

การพูดถึงคนตายแล้วจะปลอดภัยกว่ามาก

 

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์อารี วัลยเสวี ท่านยังอยู่แต่ชราภาพมากแล้ว และยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ท่านเขียนคำนำให้แก่หนังสือ ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย ภาคที่ 2 14 ตุลาคม 2516- 6 ตุลาคม 2519 เมื่อ ตุลาคม 2547 ความว่า

“…จึงทำให้นักศึกษาเหล่านี้ถูกเรียกเป็นฝ่ายซ้าย โดยอีกกลุ่มที่อยู่ขวาก็มองอีกพวกหนึ่งเป็นซ้าย ผมก็พูดอย่างเป็นกลางว่าทุกคนก็พยายามจะให้มีความยุติธรรมในสังคม ทั้งนี้เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ดี…นักศึกษาหัวก้าวหน้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่เมื่อเขาสำเร็จไปจากมหาวิทยาลัย มักจะเป็นผู้ที่สนใจกับปัญหาสุขภาพและปัจจัยที่เกี่ยวกับสังคม”

นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บรรณาธิการหนังสือ เขียนคำนำ ดังนี้

“น้องรักก้าวเถิด ก้าวมา

ศึกษาทุกสิ่งที่นี่

ก้าวกลับพร้อมด้วยจิตพลี

เพื่อพี่เพื่อน้องผองไทย”

นักศึกษาหัวก้าวหน้าเวลานั้นก็ประมาณนี้ล่ะครับ เขียนภาษาไทยดีๆ ไม่ค่อยเป็น ต้องเว้นวรรคแปลกๆ ขาดเป็นช่วงๆ เสมอ

“บทกลอนในลักษณะนี้มีปรากฏออกมาตลอดระยะเวลาในช่วงปี พ.ศ.2516-2519 อันเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยเริ่มผลิบาน หลังจากต้องอยู่ใต้ระบอบเผด็จการมายาวนาน ทั้งในมหาวิทยาลัยมหิดลและในอีกหลายๆ มหาวิทยาลัย เพื่อต้อนรับน้องใหม่ที่เพิ่งเดินเข้ามา”

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพียงเดือนเศษ มีการสัมมนา ‘โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล’ ที่ อ.สูงเนิน นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 8-10 ธันวาคม 2516 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า ‘สัมมนาสูงเนิน’

เป็นครั้งแรกที่นักศึกษาขอมีส่วนแสดงความคิดเห็นต่อการผลิตแพทย์ และขอมีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยในการผลักดันแนวทางสาธารณสุขเพื่อประชาชน โดยเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยมหิดลปรับปรุงหลักสูตรเพื่อสนองตอบประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคมมากขึ้น เรียกร้องให้สร้างจิตสำนึกรับใช้สังคม รวมทั้งปรับทิศและโครงสร้างกิจกรรมนักศึกษาให้มีบทบาทเพื่อสังคมมากขึ้น

14 ตุลาฯ นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่มหิดลด้วยสัมมนาสูงเนินครั้งนี้

งานสัมมนาที่สูงเนินเป็นเวทีที่ได้ชื่อว่านักศึกษามีโอกาสพูดมากที่สุดครั้งหนึ่ง ข้อเรียกร้องมีตั้งแต่การปรับปรุงหลักสูตรไปจนถึงการเปลี่ยนวัตรปฏิบัติของอาจารย์แพทย์เวลานั้น ซึ่งก็น่าจะทำนายได้ว่าสร้างความไม่พอใจแก่ผู้หลักผู้ใหญ่จำนวนมาก ในขณะเดียวกันนักศึกษาก็มีวาจาก้าวร้าว จนกระทั่งทำให้อาจารย์แพทย์เสียใจเสียน้ำตาเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การที่เราได้เห็นนักศึกษากล้าแสดงออก กล้าแตะต้องขนบที่ล้าหลัง และกล้าพูดถึงสังคมในอุดมคติเพื่อคนยากจนและด้อยโอกาส เหล่านี้เป็นเรื่องดีในตัวของมันเอง

ผู้ใหญ่จะฟังได้หรือไม่ได้ ไว้ค่อยๆ คุยกัน ก็เหมือนที่นักศึกษาบางคนเวลานี้ตั้งคำถามถึงพิธีกรรมหมอบคลานที่มีมานาน ลองพูดขึ้นเมื่อไรก็วงแตกเมื่อนั้น

บทบาทนักศึกษาในทางสังคมสูงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้น มีบันทึกว่าสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลในยุคที่นายแพทย์สงวนดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ ถูกติดตามจับตามองโดยฝ่ายความมั่นคงตลอดมา เริ่มมีการกล่าวหาว่านักศึกษาตกอยู่ใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์เวียดนาม และมีญวนเข้าแทรกซึม

รายงานข่าวจากกรมประมวลข่าวกลางแจ้งว่า “ขณะนี้ชาวญวนได้เข้ามามีบทบาททางการแพทย์แล้ว”

หลังจากนั้นมีการตายไม่ทราบสาเหตุของนักศึกษา ที่เป็นข่าวมากคือกรณี อมเรศ ไชยสะอาด นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อุปนายกสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลและเป็นกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการฝึกภาคสนามก่อนจบการศึกษาที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2519

แล้วเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ก็เกิดขึ้นตามมาในปีเดียวกันดังที่ทราบกันแล้ว หรือว่าไม่ทราบ?

 

 

การล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันนั้น เป็นการกำจัดศัตรูของชาติคือนักศึกษาที่หนักแผ่นดิน แต่ควรรู้ว่าพวกหนักแผ่นดินที่ว่านั้น เรียกร้องความยุติธรรมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ชาวบ้านเสมอมา ที่น่าชื่นชมมากคือพวกเขาเป็นนักศึกษา และเป็นธรรมชาติของคนที่อายุเท่านั้นจะขบถต่อพ่อแม่ และผู้ใหญ่ รวมทั้งหลายครั้งก็อาจจะข้ามเส้น ไม่มีสัมมาคารวะ

เห็นวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่วันนี้สนใจการเลือกตั้งมากกว่าที่คาด เป็นเรื่องที่เราสมควรยินดีมากกว่าปรามาส นานมากแล้วที่เราไม่ได้เห็นนักศึกษาสนอกสนใจบ้านเมืองมากมายเท่านี้ ได้แต่ภาวนาว่าความน่ารักของเขาวันนี้ จะเอาชนะใจผู้หลักผู้ใหญ่ได้มากกว่านักศึกษาเมื่อ 40 กว่าปีก่อน

งานสาธารณสุขและการศึกษาของประเทศวันนี้อยู่ในภาวะย่ำแย่มากถึงมากที่สุด และไม่มีทางเลยที่คนสูงอายุในกระทรวงสาธารณสุขหรือกระทรวงศึกษาธิการจะทำอะไรได้

โลกใหม่ต้องการสมองใหม่ๆ ความข้อนี้น่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save