นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง
ก่อนที่พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2545 คนไทยใช้สวัสดิการบัตรสงเคราะห์และบัตรสุขภาพ ภายใต้กระบวนทัศน์สังคมสงเคราะห์ นั่นคือสังคมจุนเจือผู้มีรายได้น้อย
กระบวนทัศน์นี้มิใช่ไม่ดี คนจนจ่ายน้อยหรือไม่ต้องจ่ายเลย คนรวยจ่ายค่ารักษาเอง แต่ระบบได้เอื้อให้เกิดกรณีคนจนไม่กล้าไปโรงพยาบาล และคนรวยรวมทั้งญาติสามารถถือครองบัตรสุขภาพหรือแม้กระทั่งบัตรสงเคราะห์
ผมจบแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย เมื่อปี พ.ศ.2526 พบด้วยสายตาตัวเองว่า คนรวยถือบัตรสงเคราะห์และบัตรสุขภาพ ในขณะที่คนจนนอนป่วยบนเตียงผ้าใบตากฝนอยู่ตามทางเดินในคืนหนาวเหน็บ คนรวยนอนห้องพิเศษแต่มีสิทธิรักษาฟรี
นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เขียนเรื่องเล่าที่ว่าคนจนไม่ยอมไปโรงพยาบาล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี วันหนึ่งนั่งรถกลับมาจากโรงพยาบาล พบหญิงชาวบ้านอุ้มลูกที่กำลังป่วยเดินไปในทิศทางตรงข้ามกับโรงพยาบาล เหตุเพราะไม่มีเงินจะเข้าไป
“อดีตผู้นำนักศึกษาผู้หนึ่ง เคยกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า คนเราเกิดได้สามครั้ง ครั้งแรกเกิดจากครรภ์มารดา ครั้งที่สองเกิดในจิตสำนึกต่อสังคม และครั้งสุดท้ายเกิดในประวัติศาสตร์” นายแพทย์สงวน ขึ้นต้นย่อหน้าแรกของบทนำในหนังสือ ‘ปูมประวัติศาสตร์มหิดลเพื่อประชาธิปไตย ภาคที่ 1 : ก่อเกิดขบวนการ’ เอาไว้เมื่อเดิอนเมษายน พ.ศ.2546 ในฐานะบรรณาธิการหนังสือ
หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองตั้งแต่ พ.ศ.2500-2516 อันเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสสำนึกประชาธิปไตยและการก่อกำเนิดขบวนการนักศึกษา ซึ่งสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นส่วนหนึ่ง ก่อนที่จะเกิดเหตุรุนแรงในปี 2516 และ 2519 ต่อมา
นายแพทย์สงวนเขียนต่อไปว่า “เพื่อต้องการให้ผู้คนในรุ่นที่พาดพิงถึง ผู้คนในรุ่นปัจจุบัน และผู้คนในรุ่นต่อๆ ไป ได้ทราบที่มาที่ไปของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในช่วงที่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้าร่วมในภารกิจพัฒนาประชาธิปไตยและพัฒนาสังคมในอดีต เพื่อจะให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันถึงแรงบันดาลใจ อันเป็นที่มาของจิตสำนึกต่อสังคมของนักศึกษาในรุ่นนั้นๆ”
แรงบันดาลใจคืออะไร จิตสำนึกต่อสังคมมาจากไหน กระแสสำนึกประชาธิปไตยสร้างได้อย่างไร คือประเด็นที่เราจะพูดคุยกันในตอนต่อไป แต่ก่อนที่จะถึงจุดนั้น เรามาดูว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างในอดีต
เพราะอดีตคือกองทรายที่เรานั่งทับอยู่ แล้วหลายครั้งที่เรามิได้เหลือบดู
หนังสือที่นายแพทย์สงวนเป็นบรรณาธิการนี้ ได้บันทึกเอาไว้ว่า นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ แพทย์รามารุ่นที่ 4 ได้กล่าวไว้ในปาฐกถารจิต บุรี ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2545 ว่า “อาจารย์กลุ่มผู้นำในรามาธิบดี อันได้แก่อาจารย์รจิต อาจารย์อารี อาจารย์เปรม ได้กำหนดทิศทางไว้ชัดเจนว่า การตั้งโรงเรียนแห่งใหม่นี้ ก็เพื่อผลิตแพทย์ไปสู่ชนบท เพื่อแก้ไขการขาดแคลนแพทย์” อันเป็นจุดประสงค์ของคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี
ศาสตราจารย์นายแพทย์เปรม บุรี เป็นเสรีไทยสายอังกฤษเช่นเดียวกับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ได้กระโดดร่มที่จังหวัดชัยนาทเพื่อประสานงานกับขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย ภายใต้การนำของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี พ.ศ.2487 หลังสงคราม ศาสตราจาย์นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ชักชวนให้มาร่วมก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งโครงการเวชศาสตร์ชุมชน อาจารย์เปรมศึกษาดูงานกับร็อคกี้เฟลเลอร์ในหลายประเทศ ก่อนจะทำโครงการเสนอนายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น ซึ่งก็เห็นดีด้วย
“แต่ตอนนั้นก็น้อยใจมาก เพราะมีการเตะถ่วงจากพวกที่ไม่เห็นด้วย จนแทบน้ำตาตก บางคนถึงกับบอกว่าเวชศาสตร์ชุมชนสอนให้คนเป็นหมอเถื่อน มีการเขียนประจานกันก็มี” อาจารย์เปรมได้บันทึกเอาไว้ และเริ่มโครงการพานักศึกษาแพทย์รามาธิบดีปี 3 ไปที่บางปะอิน ซึ่งมีสถานีอนามัย แต่ไม่มีโรงพยาบาลและไม่มีแพทย์
อ่านถึงตรงนี้ก็ควรหยุดอ่านแล้วหวนรำลึกถึงวันที่บางปะอินไม่มีแพทย์ เหตุการณ์นี้เพิ่งผ่านมาประมาณ 50 ปี “ตอนแรกนักศึกษายังไม่เข้าใจอะไร เขาถือว่าไปปิกนิก”
นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ นักศึกษาแพทย์เวลานั้น และเป็นบุคคลสำคัญของงานเวชศาสตร์ชุมชนในเวลาต่อมาอีกหลายสิบปี ให้ความเห็นว่าโครงการนี้มิใช่ปัจจัยเดียวที่สร้างแกนนำแพทย์ชนบท และเชื่อว่าคนเหล่านั้นน่าจะตื่นตัวจากกระแสทางการเมืองในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มากกว่า แต่การนำนักศึกษาแพทย์ไปรับรู้ของจริง เห็นปัญหาในชนบทที่โหดร้ายจริง นับว่าได้ผลในระดับหนึ่ง
“แต่พอกลับมาเรียนต่อก็ลืมกันหมด” อาจารย์เปรมว่าไว้
เรื่องเหล่านี้มีความซับซ้อน นายแพทย์สงวนเป็นบรรณาธิการที่ไล่บันทึกเหตุการณ์ คำบอกเล่า และเอกสาร เหตุการณ์เหล่านี้เริ่มในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ลัทธิคอมมิวนิสต์ และคำเล่าลือเรื่องการทำงานของบุคลากรจากร็อคกี้เฟลเลอร์ ที่สำนักงานองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การกระทำที่เป็นประโยชน์สูงต่อสังคม ไม่เคยมีเรื่องอะไรที่เกิดขึ้นโดยไร้คำอธิบาย เพียงแต่เรายังไม่สามารถอธิบาย
จะเห็นว่าแนวคิดเรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยยากจน มิได้เกิดขึ้นลอยๆ รวมทั้งนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ก็มิได้ลอยลงมาจากฟ้า แต่เป็นสังคมที่เริ่มต้นงานนี้ตั้งแต่ยุคเผด็จการ ในรูปของการทำงานเพื่อชนบท ซึ่งอย่าว่าแต่ไม่มีเงินไปหาหมอ แม้แต่หมอก็ไม่มี และมากกว่านั้นคือหมอที่อยากจะออกไปทำงานในชนบทก็ไม่มี
อุดมการณ์ (ideality) มิใช่ของเลิศเลอลอยบนฟ้าดังที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ อุดมการณ์เป็นเพียงขั้นหนึ่งของพัฒนาการบุคลิกภาพ (Personality Development) ของมนุษย์ อุดมการณ์มิได้มีความหมายด้านบวกเพียงอย่างเดียว อุดมการณ์ด้านลบก็มี อีกทั้งอุดมการณ์มิใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องของสังคมโดยรวม
เรายังมีอุดมการณ์เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่มากพอ
อาจารย์อารียังมีชีวิตอยู่ ท่านชรามากแล้ว และรับการรักษาตัวในห้องใดห้องหนึ่งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
โครงการพานักศึกษาแพทย์ นักศึกษาทันตแพทย์ นักศึกษาเภสัชกร และนักศึกษาพยาบาลไปชนบทของรามาธิบดี ทุกวันนี้ก็ยังคงอยู่
เหล่านี้คือกองทรายที่ยังไม่ปลิวหาย.
(ยังมีต่อ)