การเมืองไทยปี 2567 ร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี ประเดิมด้วยการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปกติ เพราะตรงกับช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลประยุทธ์เป็นรัฐบาลเศรษฐา
ที่บอกว่าร้อนแรงนั้นประเมินจากภาพรวมการอภิปราย ฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคก้าวไกลได้ยกระดับมาตรฐานการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้เข้มข้นด้วยข้อมูล นำเสนอผ่านสไลด์และกราฟิกที่เข้าใจง่าย น่าสนใจ มองเห็นข้อบกพร่องการจัดทำงบประมาณที่ไม่ตรงปกกับนโยบายหลักที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้งและหรือที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา
ที่จริงรูปแบบและวิธีการอภิปรายแบบนี้ ถ้ายังจำกันได้ก็คล้ายกับที่พรรคอนาคตใหม่เคยทำไว้ก่อนถูกยุบพรรคและแปลงร่างเป็นพรรคก้าวไกล ข้อแตกต่างที่ทำให้ดูเหมือนว่าก้าวไกลโดดเด่นกว่า เพราะประสบการณ์ที่มากขึ้นและพรรคเติบโตขึ้นจนกลายเป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ จึงสวมบทนำได้เต็มที่ ไม่มีใครเล่นเกมเตะถ่วงเหมือนช่วงพรรคอนาคตใหม่
ประกอบกับ ส.ส. หน้าใหม่ของพรรคหลายคนโชว์ฟอร์มการอภิปรายได้ดีมาก ดีทั้งในแง่ข้อมูล การนำเสนอ การเรียบเรียงคำพูดที่มาจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่นำเสนอ
ต่างจากฝ่ายรัฐบาล ที่ยังคงยึดติดกับรูปแบบและวิธีการอภิปรายงบประมาณฯ แบบเดิมๆ เน้นการใช้โวหารตอบโต้มากกว่าข้อมูล ถ้าเป็นคนพูดคล่องอยู่แล้วก็ยังพอเอาตัวรอด แต่บางคนนอกจากข้อมูลไม่แน่น การพูดยังต้องอ่านโพยเหมือนมาอ่านหนังสือท่องจำ ความน่าเชื่อถือก็ตกไป
ยกแรกของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านในเดือนแรกของปีนี้ ผ่านเวทีอภิปรายงบประมาณรายจ่ายฯ ในเชิงคณิตศาสตร์ แน่นอนว่าอภิปรายอย่างไรฝ่ายรัฐบาลก็ชนะโหวต แต่ในเชิงความเชื่อถือจากประชาชนทั้งประเทศ ใครที่ติดตามการอภิปรายโดยตรงหรืออ่านจากข่าวและความเห็นของคนหลากหลายวงการ คงตอบตัวเองได้ว่าใครน่าเชื่อถือกว่ากัน
นอกจากเรื่องการอภิปรายงบฯ ดังกล่าวแล้ว เดือนมกราคมนี้ยังมีไฮไลต์ทางการเมืองอีกสองเรื่องที่คนทั้งประเทศลุ้นระทึก คือ คดีหุ้นไอทีวีของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยวันที่ 24 และคดีพรรคก้าวไกลหาเสียงด้วยการเสนอแก้กฎหมายมาตรา 112 คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยวันที่ 31 มกราคม
ก่อนปิดต้นฉบับคอลัมน์นี้มีนักวิเคราะห์การเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนค่อนข้างมั่นใจว่า ด้วยพยานหลักฐานแล้วทั้งพิธาและพรรคก้าวไกลจะพ้นข้อกล่าวหา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง นอกจากส่งผลดีต่อพิธากับพรรคก้าวไกลและผู้สนับสนุนแล้ว ยังส่งผลบวกต่อบรรยากาศทางการเมืองและความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม
แต่ถ้าไม่เป็นไปตามคาด แน่นอนว่าในเชิงบรรยากาศทางการเมืองคงคุกรุ่นร้อนแรง พรรคก้าวไกลอาจจะสะดุดด้วยความเสียใจบ้าง แต่ผมมั่นใจว่าพรรคและผู้สนับสนุนจะไม่หยุดยั้งการเดินทางไกลบนถนนประชาธิปไตย ภายใต้แนวคิดและจุดยืนทางการเมืองเดิม
บทเรียนจากพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และอนาคตใหม่ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความรุนแรงทางกฎหมายนั้นนอกจากจะทำลายการเติบโตไม่ได้ ในมุมกลับยังกลายเป็นปุ๋ยเร่งชั้นดีให้เมล็ดพันธุ์ความคิดที่พรรคหว่านโปรยไว้ยิ่งงอกงามและยั่งยืน
การเอาชนะทางการเมืองและการทำลายล้างทางการเมืองที่ได้ผลที่สุดจึงอยู่ที่การเอาชนะทางความคิด แข่งกันเสนอสิ่งที่ดีกว่าให้ประชาชนเจ้าของอำนาจเลือก
เกริ่นมาซะยาว แต่ก็ยังอยู่แค่เดือนแรกของปี ขอรวบรัดสรุปไฮไลต์จริงๆ ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองไทยในปีนี้ จนนำไปสู่การปรับ ครม. เศรษฐา ในความเห็นของผมมีสี่ประเด็น
1. คุณทักษิณเข้าเกณฑ์พักโทษวันที่ 22 กุมภาพันธ์
2. ส.ว. หมดวาระการดำรงตำแหน่งและหมดสิทธิโหวตนายกฯ วันที่ 11 พ.ค.
3. ชะตากรรม พ.ร.บ. เงินกู้แจกดิจิทัลวอลเล็ต
4. อัตราเติบโตจีดีพีปีนี้
ทั้งสี่ประเด็นมีความเชื่อมโยงกัน แต่สองประเด็นแรกมีความสำคัญสุดในการกำหนดจุดเปลี่ยนทางการเมือง
หลายคนอาจจะท้วงว่า ถึงคุณทักษิณยังไม่พักโทษ ที่ผ่านมาแกก็เป็นหนึ่งใน ‘มาสเตอร์มายด์’ ของรัฐบาลเศรษฐาอยู่แล้ว พักโทษแล้วจะต่างอะไร
ต่างแน่ครับ ทั้งในเชิงกายภาพที่จะได้ออกมาอยู่บ้านอย่างถูกต้องตามกฎกติกา สะดวกในการปรึกษาหารือสารพัดเรื่อง
บางคนอาจจะท้วงอีกว่า ถึงได้พักโทษ แต่คุณทักษิณยังมีบ่วงที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 ติดอยู่อีกจะทำอย่างไร
แง่มุมนี้ผมเชื่อว่าคงแก้ปมด้วยการให้ประกันตัวไปสู้คดี ระหว่างนี้คุณทักษิณได้กลับไปพักผ่อนที่บ้านแน่นอน
ยิ่งบวกเข้ากับข้อสองที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม แม้คุณทักษิณจะยังมีบ่วงคดี 112 และอีกหลายคดีรออยู่ (รวมทั้งมีอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นตัวประกันอยู่เมืองนอก) แต่ผมเชื่อว่าคนฉลาด เป็นนักต่อรองทางการเมืองระดับเซียนอย่างคุณทักษิณจะพลิกเอาข้อได้เปรียบเรื่อง ส.ว. หมดสิทธิโหวตมาเป็นเงื่อนไขเดินในเกมที่ตัวเองกำหนดได้มากขึ้น
แล้วเกมที่คุณทักษิณกำหนดคืออะไร และเป้าหมายอยู่ที่ไหน
คือ การปรับ ครม. ผมเชื่อว่าคุณทักษิณไม่พอใจกับผลงานของ ครม. ชุดนี้และอย่างเร็วสุดหลัง ส.ว. หมดวาระในเดือน พ.ค. บวกกับความชัดเจนที่มากขึ้นเกี่ยวกับอนาคตของ พ.ร.บ.เงินกู้ทำดิจิทัลวอลเล็ตจะขมวดการตัดสินใจให้คุณทักษิณปรับ ครม. เพราะถือว่าให้เวลาในการโชว์ฝีมือเกินหกเดือนแล้ว (สมัยรัฐบาลไทยรักไทย แกปรับ ครม. แทบทุก 6 เดือน เพื่อกระตุ้นการทำงานและเวียนให้คนอื่นแสดงฝีมือ)
แต่จะปรับใหญ่หรือปรับเล็ก เป็นอีกชั้นหนึ่งที่ต้องคิดให้ละเอียด ปรับใหญ่คือการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีด้วย ปรับเล็กคือเปลี่ยนตัวระดับรัฐมนตรี
กรณีปรับใหญ่ หาก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ไม่ผ่านและนำมาซึ่งการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้ตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด การปรับใหญ่จะสมเหตุสมผลมากที่สุดและบางทีอาจพลิกเกมมาตีกินด้วยข้ออ้าง ‘สปิริตทางการเมือง’ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของการเมืองแบบเก่า แต่เป็นจุดแข็งของการเมืองแบบใหม่
แม้คุณเศรษฐาจะย้ำหนักแน่นหลายครั้งว่าจะไม่ลาออก ถึง พ.ร.บ. จะไม่ผ่านและจะอยู่จนครบวาระสี่ปี แต่พูดแบบไม่เกรงใจตำแหน่ง ถามว่ามีกี่คนที่เชื่อและมั่นใจตามคำพูดของคุณเศรษฐา เพราะทุกคนรู้ดีว่าแกได้ตำแหน่งนี้มาอย่างไรและใครกันแน่ที่เป็น ‘ตัวจริง’ ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ ‘ตัวจริง’ อยากให้ออก แกก็ต้องออก
และถ้าต้องออกด้วยเหตุผลแสดง ‘สปิริตทางการเมือง’ คุณเศรษฐาอาจได้รับเสียงชื่นชมด้วยซ้ำไป เฉกเช่นนักการเมืองในประเทศที่เจริญแล้วแสดงความรับผิดชอบเมื่อล้มเหลวกับการผลักดันสิ่งที่รับปากไว้กับประชาชน
แต่ถ้าคุณทักษิณยังให้โอกาส ผมก็ยังเชื่อว่าโอกาสจะมีถึงแค่สิ้นปี โดยมีตัวชี้วัดใหม่ว่าจะอยู่หรือไป คืออัตราเติบโตของจีดีพีประเทศที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ 5%
ถ้าดูตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและไทยในปัจจุบัน บวกกับการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลชุดนี้คงเป็นไปตามเป้าได้ยากมากๆ
ในความเห็นผม คุณเศรษฐาจะหลุดจากตำแหน่งนายกฯ อย่างเร็วคือหลังเดือนพฤษภาคม อย่างช้าคือต้นปี 2568
รัฐบาลอยู่ครบวาระสี่ปี แต่คุณเศรษฐาอยู่ไม่ครบวาระแน่นอน
คำถามต่อมาคือใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ตอบโดยไม่ลังเลชื่อ แพทองธาร ชินวัตร ด้วยคุณสมบัติข้อเดียว แต่เป็นข้อสำคัญสุดสำหรับรัฐบาลเพื่อไทย คือการเป็นลูกสาวคุณทักษิณ ผู้มีบารมีตัวจริงทั้งในพรรคและในรัฐบาล
ความพร้อมในแง่ความสามารถด้านการบริหารประเทศและการบริหารอำนาจการเมืองไม่ใช่เรื่องน่าหวั่นวิตกมากนัก เพราะการที่คุณทักษิณพักโทษจะทำให้มีเวลาใกล้ชิดในการถ่ายทอดความรู้ แนะนำ เป็นที่ปรึกษาได้อย่างใกล้ชิด ทั้งรู้ใจและไว้ใจสนิทแนบแน่นยิ่งกว่ากำกับคุณเศรษฐาหรือแม้แต่คุณยิ่งลักษณ์ในยุคก่อน
ในทางการเมือง คุณแพทองธารอาจจะเรียกคืนและรักษาคะแนนนิยม ‘แฟนคลับทักษิณ’ ได้ดีกว่าคุณเศรษฐา เพราะคือสายเลือดแท้และคาริสมาทางการเมืองก็ดูดีกว่า
มองในแง่การสร้างประวัติศาสตร์ส่วนตัว ตามหลักจิตวิทยา ทฤษฎีมาสโลว์ที่ว่าด้วยความต้องการห้าขั้นของมนุษย์ คุณทักษิณและครอบครัวเดินทางมาถึงขั้นที่ห้าแล้ว
การผลักดันให้แพทองธารขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หมายความว่าครอบครัวชินวัตรตัดสินต่อสู้ทางการเมืองต่อแบบเต็มตัวและเป้าหมายเดียวคือต้องเป็นนายกรัฐมนตรี
ในห้วงสี่ปีของรัฐบาลนี้จึงเป็นโอกาสที่การันตี 100% ว่าแพทองธารจะบรรลุเป้าหมายเป็นนายกรัฐมนตรี
การรอเป็นในสมัยหน้ายากจะการันตี อย่าว่าแต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลย เอาแค่การันตีว่าจะชนะเลือกตั้งได้เสียงมากกว่าพรรคก้าวไกลหรือไม่ โอกาสยังริบหรี่
นักการเมือง นักเลือกตั้ง นักบริหารความเสี่ยงอย่างคุณทักษิณตระหนักดี
ขึ้นเป็นนายกฯ ภายในสี่ปีนี้ (อย่างเร็วสุดคือหลังเดือนพฤษภาคม อย่างช้าคือต้นปี 2568) จะสร้างประวัติศาสตร์การเป็นนักปั้นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งได้มากที่สุดถึงหกคน คือ ทักษิณ ชินวัตร, สมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร โดยในจำนวนนี้มีสี่คนที่เป็นเครือญาติใกล้ชิด ปรากฎการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ไม่ว่าอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต
ส่วนจะส่งผลดี สร้างคุณูปการแก่ประเทศให้จดจำหรือไม่อย่างไร ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบ