fbpx

ทักษะศตวรรษที่ 21 เรื่องการล่วงเกิน

การศึกษาที่ดีมิใช่เพื่อให้เด็กๆ นำไปสอบ แต่เพื่อให้เด็กๆ ไปใช้ชีวิต

การศึกษาสมัยใหม่ไม่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่เอาปัญหาเป็นตัวตั้งแล้วให้เด็กๆ แบ่งกลุ่มแก้ปัญหานั้น ส่วนเด็กจะใช้วิชาอะไร หรือใช้ทักษะอะไรแก้ปัญหาก็เป็นไปตามที่เป็นจริง โรงเรียนทางเลือกราคาสูงหรือโรงเรียนนานาชาติราคาแพงพยายามจัดการศึกษาทำนองนี้ โรงเรียนกระทรวงศึกษาธิการและโรงเรียนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นควรพยายามเช่นกัน

โฮมสคูลทำได้เลย

ปัญหารอบตัวเด็กๆ วันนี้มีสารพัด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรไม่พ้น 4 หัวข้อหลัก คือ สุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมือง บางปัญหาคาบเกี่ยวทั้ง 4 หัวข้อ

ปัญหาการถูกล่วงเกินเป็นปัญหาทางสุขภาพ?

คุณครูที่ใส่ใจจัดหัวข้อการล่วงเกินและการข่มขืนไว้ในการเรียนการสอนชั้นมัธยมได้ แต่ไม่ควรเป็นการบรรยาย ไม่ว่าจะเป็นคุณครูสุขศึกษาบรรยาย เชิญนายแพทย์มาบรรยาย หรือแม้แต่เชิญเอ็นจีโอมาทำเวิร์กช็อป คุณครูสมัยใหม่สามารถใช้โอกาสนี้ฝึกวิธีจัดการศึกษาสมัยใหม่ด้วยการเป็นผู้จัดการเอง

เริ่มด้วยการชวนเด็กๆ พูดถึงข่าววันนี้ว่า เราพบเหตุการณ์ที่เข้าข่ายการล่วงเกินหรือการข่มขืนอะไรบ้าง เริ่มจากข่าวในบ้าน ข่าวในเมือง และข่าวต่างประเทศ เช่น ตาข่มขืนหลาน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รุกรานร่างกายเจ้าหน้าที่ หรือพิธีกรพูดจาสองแง่สองง่ามต่อสตรี เป็นต้น

จะเห็นว่าเพียงตรวจสอบหัวข้อข่าว เด็กๆ จะพอรู้ว่าเรื่องการล่วงเกินนี้มีหลายประเด็นล่องลอยอยู่ในอากาศรอบตัว

เด็กได้เรียนรู้คลังคำศัพท์ที่ใช้มีตั้งแต่ล่วงเกิน ระราน รุกราน ละเมิด ไปจนถึงข่มขืน การกระทำเป็นได้ทั้งทางร่างกายด้วยร่างกาย หรือทางจิตใจด้วยวาจา แม้แต่ทางโซเชียลมีเดียด้วยไอที สถานที่เป็นได้ทั้งในบ้าน ในสำนักงาน และในที่สาธารณะ

คุณครูให้เด็กๆ ช่วยกันยกตัวอย่างและจัดกลุ่มได้โดยที่เด็กไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องส่วนตัวหรือนำประสบการณ์ส่วนตัวมาบอก แต่คอยดูเถิดว่าจะมีเรื่องส่วนตัวปะปนเข้ามาด้วยอย่างน่ามหัศจรรย์ใจ เหตุที่ทำนายล่วงหน้าไว้ดังนี้เพราะที่โต๊ะทำงานมีกรณีน่ามหัศจรรย์ใจอยู่เรื่อยๆ

เรื่องผู้ใหญ่ล่วงเกินเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องที่เราเห็นในระบบราชการเสมอ ส่วนใหญ่เป็นการโอบกอดผู้น้อยเมื่อเดินผ่าน หรือล่วงเกินด้วยคำพูดหยอกล้อ หนักกว่านี้คือการพูดตลกสัปดนในที่ประชุม เหตุการณ์เหล่านี้มักถูกอธิบายว่าเป็นวัฒนธรรมปกติที่ไม่ควรถือสา ที่จะไม่พูดถึงมิได้คือเรื่องครูล่วงเกินนักเรียนทั้งที่ต่างเพศและเพศเดียวกัน ซึ่งจะถูกอธิบายว่าเป็นวัฒนธรรมไทยที่หน่วยงานจำเป็นต้องช่วยเหลือกันเพื่อรักษาชื่อเสียงขององค์กร

ความภักดีต่อองค์กรเหนือกว่าจริยธรรมองค์กร

กลับมาที่การจัดการ คุณครูชวนเด็กๆ คุยเพื่อกระตุ้นความน่าสนใจของเนื้อหาและสร้างความตื่นตัวของเด็กๆ นี่เป็นขั้นตอนแรกของสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการเรียนรู้ (learning process) ที่การศึกษาไทยมองข้าม เรามักทำลายความตื่นตัวและกลบความใฝ่รู้ของเด็กๆ ด้วยการพูดหน้าเสาธงของผู้อำนวยการโรงเรียนตั้งแต่เช้าเสียมากกว่า ตามด้วยกระบวนการกวดขันสิ่งที่การศึกษาไทยเรียกว่า ‘วินัย’ อีกหลายสิบนาที โดยตีความว่าการใช้อำนาจระรานเด็กๆ คือการสร้างวินัย

ถึงตรงนี้คุณครูที่รู้ทันจะเห็นแล้วว่าล่วงเกิน ระราน รุกราน ละเมิด ไปจนถึงข่มขืน เหล่านี้มิใช่เรื่องทางเพศเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการใช้อำนาจเหนือ และมากกว่านี้คือเป็นการใช้อำนาจเชิงวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบอีกด้วย อย่างไรก็ตามคุณครูรู้ไว้ในใจก็พอ ไม่ต้องเล็กเชอร์ อย่าเทศนา เพราะคุณครูสมัยใหม่จะมิใช่ผู้สอน พยายามไม่ลืมว่าเราเป็นผู้จัดการการเรียนรู้ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการสั่งสอนเป็นอันมาก

เป็นไปได้ว่าคุณครูสมัยใหม่อาจจะต้องหาความรู้หรือฝึกการนำนักเรียนสร้างสิ่งที่เรียกว่า mind map บ้าง เพื่อช่วยให้เด็กๆ เห็นปัญหาหลักและความเชื่อมโยงไปสู่ปัญหาอื่นๆ กับมองเห็นระบบใหญ่ทั้งหมด เรียนตามตรงว่าได้เท่านี้ก็เหลือกินกว่าสอนหนังสือปกติแล้วครับ

เด็กๆ ของเราจะหูตากว้างไกลขึ้นในวันเดียว อย่าลืมว่านี่แค่โฮมรูมตอนเช้าเท่านั้นเอง

มีคำถามขั้นตอนนี้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไร? คำตอบคือเท่าไรก็ได้จนกว่าเด็กๆ จะได้ภาพรวมของปัญหาเรื่องการล่วงเกิน นั่นแปลว่าโรงเรียนโดยผู้อำนวยการจำเป็นต้องรื้อตารางสอนปกติและหลักสูตรแกนกลางออกไปด้วย

ปัญหาของการปฏิรูปการศึกษาบ้านเราคือผู้มีหน้าที่ปฏิรูปการศึกษาไม่ทำงานนี้ อาจจะเพราะทำไม่ได้ ทำไม่เป็น หรือไม่อยากจะทำ เราจึงจำเป็นต้องข้ามหัวหน่วยงานหลักคือกระทรวงศึกษาธิการไปที่เรื่องการคืนอำนาจจัดการศึกษาให้แก่ส่วนท้องถิ่น โรงเรียน ผู้อำนวยการ และชุมชน เรื่องก็จะไปถึงประเด็นความไว้วางใจ

ชุมชนไว้วางใจโรงเรียนในชุมชนของตัวเอง ครูใหญ่ไว้ใจครูน้อย ครูน้อยไว้ใจเด็กๆ และพ่อแม่ไว้ใจโรงเรียน นี่คือฐานรากของการศึกษาที่ควรไปให้ถึงไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า

กลับมาที่คุณครูในสถานะนักจัดการเรียนรู้อีก ขั้นตอนต่อไปคือแบ่งกลุ่มทำงานให้แก่เด็กๆ หรืออำนวยความสะดวกให้เด็กๆ แบ่งกลุ่ม

การศึกษาสมัยใหม่ควรไปเป็นกลุ่มเสมอเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือกันและทำงานเป็นทีม เรื่องนี้อธิบายด้วยแนวคิดนั่งร้านพัฒนาการ (scaffolding), ZPD (Zone of Proximal Development) และการเรียนรู้แบบประกอบสร้าง (constructivism) ทั้งสามประการนี้ถ้าครูชนบทสักคนหนึ่งจะรู้ก็ดี แต่ถ้าไม่รู้ก็ช่างมันเถอะคอยแบ่งกลุ่มทำงานให้แก่เด็กๆ ก็พอ

กลุ่มทำงานนั้นมิใช่เอาเด็กเก่งไปกองกัน เด็กเหลือขอไปกองกัน หรือปล่อยเด็กๆ จับคู่กันเองตามใจชอบ

คุณครูยังมีงานช่วยเด็กๆ แบ่งกลุ่มเพื่อให้แต่ละกลุ่มคละความหลากหลาย ได้แก่ อายุ เพศ ศาสนา ชาติพันธุ์ ฐานะการเงิน (ที่บ้าน) สถานะทางสังคม (ของพ่อแม่) ไอคิวหรือผลการเรียน รวมทั้งพัฒนาการ (ความเป็นหรือไม่เป็นเด็กพิเศษ) ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้ช่วยเหลือกัน เติมเต็มกันและกัน และทำงานเป็นทีมโดยมีเป้าหมายร่วม

สำคัญที่สุดคือเพื่อให้เห็นความแตกต่างและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความแตกต่าง

ทั้งหมดนี้คือ 3 ขั้นแรกของการเรียนรู้สมัยใหม่ 1. สร้างความตื่นตัวและความสนใจ 2. เขียนภาพรวมของปัญหา 3. แบ่งกลุ่มทำงานอย่างหลากหลาย จากนั้นจึงออกปฏิบัติการหาวิธีแก้ไขปัญหา

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save