fbpx
คำหยาบเป็นทักษะสื่อสารและทักษะชีวิต

คำหยาบเป็นทักษะสื่อสารและทักษะชีวิต

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

คำหยาบเป็นเรื่องไม่ดี ความข้อนี้เป็นที่เข้าใจได้และยอมรับโดยทั่วไป แต่หลายคนไม่สามารถหยุดยั้งคำหยาบได้ มองในแง่ดีเราจะไม่พูดว่าเขานิสัยไม่ดี เราอาจจะบอกว่าทักษะการสื่อสารของเขาไม่ดีพอ หรือไม่ก็เขาอาจจะมีความจำเป็นต้องใช้คำนั้น

การศึกษาศตวรรษที่ 21 ไม่ย่ำอยู่กับที่เรื่องคำหยาบ เรื่องคำหยาบเรามีหลายประเด็นที่อยากอธิบาย แต่เรื่องจะง่ายและตรงประเด็นมากกว่าถ้าเราจะก้าวข้ามคำหยาบไปที่เรื่องทักษะการสื่อสารที่ดีอันเป็นหนึ่งในทักษะศตวรรษที่ 21 ว่าควรเป็นอย่างไร

ท่านที่สนใจเปิดหนังสือ ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 ของ James Bellanca และ Ron Brandt แปลโดย วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรืองและอธิป จิตตฤกษ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์ Bookscape บทที่ 11 นวัตกรรมจากเทคโนโลยี เขียนโดย Cherryl Lemke

 

ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21

 

เพราะเรามิได้พูดเรื่องทักษะการสื่อสารในศตวรรษที่ 18 เราจึงจำเป็นต้องพูดเรื่องเทคโนโลยีด้วย และเพราะเรามิได้พูดเรื่องการสื่อสารทั่วไป แต่เราพูดเรื่องระบบการศึกษาที่มุ่งพัฒนาทักษะการสื่อสารแก่นักเรียนนักศึกษาสมัยใหม่ เราจึงยิ่งต้องผนวกเอาเทคโนโลยีเข้ามาด้วย นั่นคือมัลติมีเดีย

ปัจจุบันมีเครื่องมือสมัยใหม่มากมายที่คนหนึ่งคนสามารถสื่อสารกับผู้อื่นด้วยมัลติมีเดีย ซึ่งหลักๆ ประกอบด้วยภาพ เสียง และตัวอักษร คำถามคือโรงเรียนและมหาวิทยาลัยปัจจุบันให้เวลากับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าเราสามารถพัฒนาเรื่องนี้ไป ‘พร้อมๆ กับ’ การให้เนื้อหาของหลักสูตรได้อยู่แล้ว

เราไม่ติดกับที่คำหยาบ เราข้ามไปพัฒนาการสื่อสารที่ดีกว่าคำหยาบ หลักการที่สำคัญได้แก่

1. หลักของมัลติมีเดีย ใช้คำและภาพรวมกันจะได้ผลดีกว่าใช้คำแต่เพียงอย่างเดียว

2. หลักของพื้นที่ต่อเนื่อง ใช้คำและภาพบนพื้นที่เดียวกันจะได้ผลมากกว่าการแยกพื้นที่ออกไปจากกัน

3. หลักของเวลาต่อเนื่อง ใช้คำและภาพในเวลาเดียวกันจะได้ผลมากกว่าการทำทีละอย่าง

4. หลักของการแยกความสนใจ ให้ตัดคำและภาพที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจะได้ผลมากกว่า

5. หลักของรูปแบบ เช่น การบรรยายด้วยเสียงจะได้ผลดีกว่าการบรรยายด้วยตัวอักษร

6. หลักของความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น การสื่อสารที่ดีจะส่งผลต่อผู้มีความรู้น้อยกว่ามากกว่าผู้มีความรู้มากกว่า และส่งผลต่อผู้ที่มีพัฒนาการของมิติสัมพันธ์ที่ดีกว่ามากกว่าผู้ที่มีพัฒนาการของมิติสัมพันธ์ที่ด้อยกว่า

7. หลักของการควบคุมโดยตรง เมื่อสื่อการสอนซับซ้อนขึ้น การควบคุมจังหวะและการเคลื่อนไหวของสื่อจะได้ผลต่อผู้รับมากกว่า

นอกเหนือจากหลัก 7 ประการนี้แล้ว ยังมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการสื่อสารด้วยภาพเพิ่มเติมดังนี้

1. ความแตกต่าง ความแตกต่างจะดึงดูดความสนใจได้ดี เช่น ทำขนาดของฟอนต์ให้แตกต่าง

2. การปรากฏซ้ำ การปรากฏซ้ำของรูปแบบบางประการ เช่น ฟอนต์ ความหนา สี และตำแหน่ง จะช่วยให้สื่อสารได้ดีกว่า

3. การจัดตำแหน่ง ตำแหน่งขององค์ประกอบต่างๆ มีความสำคัญ เช่น วางตำแหน่งของตัวอักษรให้สัมพันธ์กับภาพที่นำเสนอ เป็นต้น

4. ความใกล้ชิด ตำแหน่งที่ใกล้ชิดกันของภาพหรือคำใดๆ ควรมีความสัมพันธ์กัน

เหล่านี้เป็นข้อแนะนำสำหรับนักเรียนนักศึกษาสมัยใหม่ที่จำเป็นต้องฝึกปรือและพัฒนาวิธีการสื่อสารด้วยภาพ เสียง และคำไปพร้อมๆ กัน แม้ว่าอาจจะเป็นหลักการพื้นฐานและบางเรื่องดูคล้ายๆ จะเป็นสามัญสำนึกที่ควรรู้ แต่ในความเป็นจริงเราไม่รู้ และจะไม่รู้ต่อไปถ้าไม่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง

สมมติเราจะกลับมาย้ำคิดย้ำทำอยู่ที่เรื่องคำหยาบ เราควรรู้ว่าคำหยาบเป็นขั้นตอนหนึ่งของพัฒนาการลองผิดลองถูกตั้งแต่เล็ก และเริ่มที่บ้าน เด็กได้รับฟังหรือได้ยินคำหยาบจากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่หรือลูกพี่ลูกน้องก่อนแล้วทดลองพูดตาม หน้าที่ของเราคือหยุดคำคำนั้นอย่างชัดเจนด้วยการบอกกล่าวธรรมดาๆ และบอกซ้ำๆ ได้

ความผิดพลาดที่พบบ่อยในเรื่องนี้คือเรามักสอนลูกว่า “ไม่ให้พูดคำหยาบ” แต่เด็กเล็กนั้นเล็กเกินกว่าจะรู้ว่าคำไหนที่เขาพูดออกไปเมื่อสักครู่คือคำหยาบ ดังนั้นเราควรแตะเด็ก ตามองตา ยิ้มน้อยๆ แล้วพูดออกไปให้ชัดเจนว่าแม่ไม่อนุญาตให้พูดคำว่า “……” อีก สมมติว่าแม่กระดากปากเกินกว่าจะพูดคำนั้นออกมาได้ ให้ใช้คำว่า “พูดแบบเมื่อสักครู่” ก็พอได้

การเข้าแทรกแซงและสั่งสอนด้วยคำพูดที่ชัดเจนว่าเมื่อสักครู่ที่ว่าหยาบคือคำไหนกันแน่ต้องทำทันที (immediately) และทำถึงตัวเสมอ มิใช่เงยหน้าจากมือถือแล้วพูดออกไปในระยะสามเมตรว่าห้ามพูดคำหยาบ

เด็กโตเป็นส่วนต่อเนื่องจากเด็กเล็ก ใช้คำอธิบายและคำแนะนำเดียวกัน

เมื่อเด็กเข้าใกล้วัยรุ่นหรือวัยรุ่น เราควรรู้ว่าคำหยาบหรือไม่หยาบมิได้มีความสัมบูรณ์ในตัวเองแต่ขึ้นกับบริบท (context) ด้วย ดังนั้นคำหยาบจึงมีเงื่อนไข เราช่วยเด็กก่อนวัยรุ่นหรือวัยรุ่นได้ด้วยการช่วยกันกำหนดเงื่อนไข เช่น อยู่ในบ้านเราห้ามพูด หรือคำคำนี้ห้ามพูดให้ญาติได้ยินเป็นอันขาด หรือเงื่อนไขด้านบุคคล เช่น คำนี้พูดกับเพื่อนได้ แต่ห้ามพูดกับคนอื่นเป็นอันขาด เป็นต้น

พ้นจากนี้ หรือแม้กระทั่งวัยรุ่นตอนปลาย เราควรถือหลักว่าผู้พูดหรือผู้กระทำเป็นผู้รับผิดรับชอบการพูดหรือการกระทำของตนเอง คือ accountability พูดแล้วต้องรับผล มิใช่พูดแล้วลอยตัวให้คนอื่น คือพ่อแม่มารับผิดชอบแทน เช่น พูดคำหยาบกับครูบาอาจารย์จะเกิดอะไร พูดคำหยาบกับนายจ้างจะเกิดอะไร พูดคำหยาบกับคนงานในบ้านของตัวเองจะเกิดอะไร พูดคำหยาบกับคนขับรถที่แซงปาดหน้าเราจะเกิดอะไร ไปจนถึงพูดคำหยาบกับลูกของตัวเองจะเกิดอะไร เรื่องเหล่านี้เป็นทักษะการรับผิดรับชอบที่ต้องอาศัยการฝึกและเป็นพัฒนาการเช่นกัน

คนที่ทำอะไรแล้วไม่เคยต้องรับผิดรับชอบอะไรเลยจะไม่พัฒนา ความข้อนี้เป็นความจริง ในขณะที่คนพูดคำหยาบแต่ยินดีรับผิดรับชอบผลลัพธ์ที่เกิดจากการพูดของตนเองจะพัฒนา

จากคำหยาบถึงทักษะการสื่อสารเพื่อการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นเช่นนี้

 

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save