fbpx
จากสตาร์วอร์สถึงเกมออฟโธรนส์ เรื่องไม่ยอมจบที่รุ่นเรา

จากสตาร์วอร์สถึงเกมออฟโธรนส์ เรื่องไม่ยอมจบที่รุ่นเรา

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

จอร์จ ลูคัส สร้างสตาร์วอร์สและออกฉายตอนแรกในปี 1977 ตรงกับ พ.ศ. 2520 เวลานั้นใช้ชื่อสั้นๆ ว่า Star Wars ถึงวันนี้ชื่อเป็นทางการคือ Star Wars: Episode IV – A New Hope

จอร์จ ลูคัส ให้สัมภาษณ์ตั้งแต่แรกว่าจะสร้างทั้งหมด 9 ตอน เริ่มด้วยตอนที่ 4-6 ตามด้วย 1-3 แล้วปิดท้ายด้วย 7-9 โดยที่แต่ละไตรภาคจะเป็นการรอเทคโนโลยีสร้างหนังใหม่ๆ ก่อนที่จะเริ่มต้น แล้วเราก็พบว่าเขาทำทั้งหมดได้จริงๆ เมื่อเวลาผ่านมา 42 ปี ไม่อยากจะเชื่อก็ต้องเชื่อว่าเขายังอยู่ นักแสดงนำสามคนยังอยู่  และผมยังอยู่

แต่ดังที่เราทราบกันดีว่าจักรวาลของสตาร์วอร์สแผ่ขยายไปในหนังสือการ์ตูน หนังการ์ตูน หนังทีวี และวิดีโอเกมอีกมากมาย ตอนอวสานก็ไม่อวสาน เพราะทรราชย์ไม่เคยตายอยู่ก่อนแล้ว

ที่ขึ้นอันดับหนังโรงอีก 2 ตอนคือ Solo และ Rogue One ทั้งสองเรื่องให้ดูก่อนตอนที่ 4 ก็จะครบถ้วนมากยิ่งขึ้น เมื่อไม่นานมานี้มีมินิซีรีส์เรื่อง The Mandalorian ออกมาให้ดูต่อจากตอนที่ 6 อีกด้วย ใช่ไหม? มินิซีรีส์ชุดนี้นี่เองที่ทำให้เรารู้สึกได้ว่าทรราชย์ไม่เคยตาย พวกเขายังอยู่และจะอยู่ไปได้เรื่อยๆ

สตาร์วอร์สเริ่มต้นด้วยประโยค “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในกาแล็กซีอันไกลโพ้น” ซึ่งเรารู้สึกได้ว่าไม่น่าจะใช่ ควรเป็นอนาคตเสียมากกว่า แต่หนังไซไฟอีกหลายเรื่องได้นำประเด็นนี้มาเล่น เช่น หนังชุด Battlestar Galactica เปิดเผยในตอนท้ายของซีซันสุดท้ายว่าพวกเขาอาจจะเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์โลกจริงๆ แทนที่จะเป็นทายาทของมนุษย์โลกดังที่เข้าใจ

เวลาที่ไม่จบ ทรราชย์ที่ไม่ตาย คือเรื่องที่ทุกชาติ ทุกภาษาประสบอยู่ ถ้าเช่นนั้นเราจะสู้ตายไปเพื่ออะไร? ช่างเป็นคำถามที่น่าหดหู่เสียจริงๆ

 

 

เมื่อ พ.ศ. 2520 เกิดอะไรขึ้นที่นี่ ประเทศไทย

3 ก.พ. การบินไทยควบกิจการแอร์สยาม 6 ก.พ. ที่เชียงราย ทหารไทยและพม่าจำนวน 3,000 คนต่อสู้กับกองกำลังชนกลุ่มน้อย 3 กลุ่มในรัฐฉาน จุดชนวนสงครามฝิ่นที่รุนแรงที่สุดในรอบสิบปี 16 ก.พ. หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ขณะอยู่บนเฮลิคอปเตอร์เหนือเขตยึดครองของ พคท. ในกิ่งอำเภอเวียงสระ สุราษฎร์ธานี ถูกกระสุนที่สาดใส่เฮลิคอปเตอร์นัดหนึ่งเข้าที่ปอด ทรงร้องว่า “ฉันถูกยิง” จากนั้นทรงสิ้นชีพตักษัยระหว่างทางไปโรงพยาบาล

26 มี.ค. พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ อดีตผู้บัญชาการทหารบกร่วมกับทหารกองพลที่ 9 กาญจนบุรี กองพลทหารราบที่ 19 กองพันที่ 1 2 และ 3 พยายามก่อรัฐประหารในตอนเช้าตรู่เวลา 05.50 น. เข้ายึดศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกสวนรื่นฤดี กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย พร้อมควบคุมนายทหารระดับสูง ขณะที่รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ แต่งตั้ง พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้อำนวยการรักษาพระนครและออกอากาศสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 แจ้งประชาชนอย่าหลงเชื่อฝ่ายกบฏ-รัฐบาลยังคงอยู่ ฝ่ายรัฐบาลปราบกบฏได้เมื่อเวลา 17.30 น. รัฐบาลใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2519 มาตรา 21 ลงโทษกบฏและพรรคพวกโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ตัดสินถอดยศและประหารชีวิต พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ

26 พ.ค. ทหารจีไอจากเรือบรรทุกเครื่องบินคอนสเตลเลชันจำนวน 3,000 คนขึ้นฝั่งที่พัทยา นับเป็นครั้งแรกหลังจากสหรัฐอเมริกาถอนทหารจากอินโดจีน

30 มิ.ย. ปิดฉากองค์การซีโต้-SEATO องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในยุคสงครามเย็นมายาวนาน 23 ปี

24 ก.ย. อดีตนักศึกษาและนักเคลื่อนไหว 18 คน ที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (พอจะรู้ชื่อกันอยู่แล้วนะครับ) ถูกตั้งข้อหากบฏและฆาตกรรม ทั้ง 18 คนถูกตั้งข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นกบฏ ก่อความไม่สงบ ต่อต้านการจับกุม ฆ่า และพยายามฆ่า พกอาวุธปืนโดยผิดกฎหมาย และ 6 คนในกลุ่มถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยคดีความเหล่านี้จะฟ้องร้องต่อศาลทหารต่อไป

20 ต.ค. พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2519 ยุบสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและคณะรัฐมนตรี

เหล่านี้คือเหตุการณ์คร่าวๆ ในปี พ.ศ. 2520 อ้างอิงจากหนังสือ กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ โพสต์บุ๊กส์ พ.ศ. 2555

 

 

เมื่อสิบปีก่อน คือปี 2553 หนังซีรีส์เรื่องดังแห่งยุคสมัย Game of Thrones ออกฉายเป็นฤดูกาลแรก ก่อนที่จะจบลงในฤดูกาลที่ 8 ปี 2559 เนื้อเรื่องเล่าเรื่องการแย่งชิงบัลลังก์เหล็กของตระกูลต่างๆ ในดินแดนสมมติยุคก่อนที่จะมีศาสนาเกิดขึ้น นางเอกของเรื่องได้ชื่อว่าเป็นธิดามังกรผู้นำที่จะนำการเปลี่ยนแปลงโลกเถื่อนไปสู่โลกที่ดีกว่า แต่แล้วเนื้อหาก็เป็นไปตามขนบหนังแย่งชิงอำนาจที่อำนาจนั้นเองได้เปลี่ยนเธอไปเป็นคนที่น่ากลัวที่สุดในแผ่นดินเมื่อถึงตอนท้าย แม้ว่าหนังจะจบลงด้วยสันติสุขแต่เราก็รู้อยู่แก่ใจว่าวิกฤตการณ์ใหม่สามารถเริ่มได้อีกทุกเวลา

เพราะความต้องการของมนุษย์ต่างเผ่าพันธุ์ที่ไม่มีวันจะลงตัวโดยง่าย

ในตอนอวสาน ตัวละครคนหนึ่งคือ แซมเวลล์ ทาร์ลี ได้พูดถึงการเลือกตั้งกษัตริย์องค์ใหม่ด้วยการให้ประชาชนทุกคนในแผ่นดินออกเสียงลงคะแนนโดยตรง นำมาซึ่งเสียงหัวเราะครืนของตัวละครคนดีที่เหลือทั้งหมด  ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะโลกยังไม่มีคำศัพท์ที่เรียกว่า ประชาธิปไตย หรือ democracy สมองของพวกเขาจึงไปต่อไม่ได้

หลายครั้งที่เราคนดูรู้สึกว่าทำไมตัวละครสองคนจึงพูดกันไม่รู้เรื่อง เช่น รัฐบาลและนักเรียนนักศึกษา, พ่อแม่กับนักเรียนนักศึกษา, พ่อแม่กับวัยรุ่น เป็นต้น เหตุหนึ่งเพราะความคาดหวังและเป้าหมายไม่ตรงกันนั่นเป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว แต่อีกเหตุหนึ่งคือเพราะเราใช้คำศัพท์ไม่ตรงกัน (นอกเหนือไปจาก แกล้งไม่เข้าใจ หรือผลประโยชน์บังสติปัญญา)

แม้แต่คำว่า ประชาธิปไตย หรือคำว่า สิทธิเสรีภาพ เราก็แปลไม่เคยตรงกัน จึงพูดกันไม่รู้เรื่องเสียที นี่คือเหตุผลที่การต่อสู้จะไม่มีวันสิ้นสุด มิใช่เพียงเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือเพราะว่าไม่ท้อถอย ทั้งที่รู้ว่าจะอย่างไรอำนาจอันไม่ชอบธรรมก็จะยังคงอยู่วันยังค่ำ

แต่เพราะการพูดคุยและการต่อสู้มีเป้าหมายที่สำคัญคือ “จนกว่าเราจะพูดกันรู้เรื่อง”

การพูดกันรู้เรื่องเป็นหนึ่งในทักษะเรียนรู้ของการศึกษาสมัยใหม่ที่ซึ่งนักเรียนนักศึกษารุ่นใหม่น่าจะทำได้ดีกว่ารุ่นก่อนๆ ที่ผ่านมา ทำไมเราต้องคาดหวังที่นักศึกษา?

เพราะพวกเขาไม่แกล้งโง่และมีผลประโยชน์ส่วนตัวน้อยที่สุดแล้ว

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save