fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (39): วิ่งเพื่อการเปลี่ยนแปลง

หลักประกันสุขภาพที่รัก (39): วิ่งเพื่อการเปลี่ยนแปลง

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

แทนที่จะวิ่งเพื่อหาเงินให้แก่โรงพยาบาลตรงๆ วิ่งเพื่อสร้างสวนสุขภาพอาจจะเป็นการเสียสละและการลงทุนที่คุ้มค่ากว่า

สวนสุขภาพเมื่อสิบปีก่อนอาจจะเป็นความเสี่ยง สร้างไปก็ขาดการดูแล ไม่มีคนมาใช้ ขึ้นสนิมหญ้ารก เป็นที่สะสมยุงมากกว่าสะสมประชาชนที่รักสุขภาพ แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว สวนสุขภาพหรือศูนย์ออกกำลังกายตามจังหวัดต่างๆ มีผู้มาใช้บริการเยอะมาก โดยเฉพาะถ้ามีบริการครบวงจรตั้งแต่ฟิตเนสเซ็นเตอร์สมัยใหม่ ลู่วิ่งมาตรฐาน เครื่องออกกำลังกายทั้งในร่มและกลางแจ้ง ไปจนถึงอบไอน้ำหรือนวดแผนโบราณ แต่ละที่มีคนมาใช้บริการอุ่นหนาฝาคั่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากให้โรงพยาบาลชุมชนเข้ามาบริหารเอง ชูประเด็นส่งเสริมสุขภาพอย่างชัดเจนมากกว่าการแข่งขันเพื่อการกีฬา เห็นแต่ละที่ประสบความสำเร็จงดงาม มีประชาชนทั้งที่ยังไม่เจ็บป่วยและเจ็บป่วยแล้วมาออกกำลังกายมากมาย

บางโรงพยาบาลจัดสถานที่สวยงามไม่ต่างจากรีสอร์ท บ้างมีภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอยู่แล้วก็ยิ่งชักชวนให้ผู้คนมาใช้บริการ

สวนสุขภาพส่งผลกระทบต่อผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลตรงๆ เวลา 1-3 ชั่วโมงที่ประชาชนมาใช้บริการสวนสุขภาพไม่เพียงพวกเขาได้ออกกำลังกายแต่พวกเขายังได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยน ทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพก่อนเจ็บป่วย การดูแลสุขภาพหลังเจ็บป่วย แนะนำวิธียืดกล้ามเนื้อเพื่อบำบัดตนเอง การดูแลอาหารการกิน แม้กระทั่งแลกเปลี่ยนเทคนิคการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ฯลฯ ชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามธรรมชาตินี้ได้ผลมากกว่ากลุ่มบำบัดในโรงพยาบาล

เวลา 1-3 ชั่วโมงที่ประชาชนมาใช้บริการนั้น พวกเขาได้หลีกหนีจากกิจวัตรทำลายสุขภาพประจำวัน เช่น การทำงานล่วงเวลา  การออกจากโรงงานที่เป็นมลพิษเร็วขึ้น เวลาดื่มเหล้าสังสรรค์หลังเลิกงานลดลง การมั่วสุมเพื่อสูบบุหรี่ลดลง พูดง่ายๆ ว่าเราเชิญมามั่วสุมที่สวนสุขภาพแทน

แน่นอนว่าความท้าทายคือเรื่องการดูแลรักษาสวนสุขภาพหรือศูนย์ออกกำลังกายให้ดูดี ทันสมัย เครื่องไม่เสีย และมีความสะอาดอยู่เสมอ นี่คือส่วนที่ต้องใช้เงินและงบประมาณ จึงกล่าวในตอนต้นว่า หากจะวิ่งหาเงิน ควรให้เงินมาลงที่โครงสร้างขนาดใหญ่ที่เป็นประโยชน์เชิงส่งเสริมป้องกันโรคแก่คนหมู่มาก เงินก้อนแรกลงมาเพื่อการก่อสร้างและซื้ออุปกรณ์ เงินก้อนถัดๆ ไปลงมาเพื่อการบำรุงรักษา

เมื่อเงินลงไปที่อุปกรณ์การแพทย์ก็จะมีคำถามมากเรื่องความคุ้มค่า เป็นคำถามที่เราไม่ตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคุ้มค่าระยะยาว มีคำถามเสมอว่าการจัดหางบประมาณด้านการรักษาพยาบาลเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลอยู่แล้ว  เพราะอะไรจึงไม่ทำ

เรามาถึงยุคสมัยที่ตั้งคำถามได้ว่า ระหว่างการสร้างตึกผู้ป่วยใหม่กับการสร้างสวนสุขภาพทันสมัยครบวงจร เราควรลงทุนเรื่องอะไรมากกว่า ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าแต่ละโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย สร้างตึกใหม่มากเพียงไรจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเท่านั้น มิหนำซ้ำผู้ป่วยยังคงไปออกันที่จังหวัดใหญ่ในขณะที่หลายตึกที่อำเภอมีผู้ป่วยใช้น้อยกว่าที่คาดการณ์

วัดเป็นโรงพยาบาลทางจิตวิญญาณ พระมีหน้าที่ออกโอพีดีเพื่อรับการให้ทานและสวดแผ่ส่วนกุศล กระบวนการนี้ช่วยเยียวยาชาวบ้านได้มาก การบริจาคเงินให้วัดเพื่อช่วยให้วัดและพระทำหน้าที่นี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่การบริจาคเงินเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตอลังการเกินสายกลางสำหรับวัดหรูต่างๆ เริ่มมีคำถาม

โรงพยาบาลให้การรักษาทางกายและใจโดยตรง การบริจาคเงินให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลนเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่เราไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างมั่นใจว่า เพราะอะไรจึงขาดแคลนตลอดปีตลอดชาติ ทั้งนี้ยังไม่นับว่าหลายโรงพยาบาลที่ได้เงินจากการวิ่งไปนั้นมีเงินส่วนตัวของโรงพยาบาลเหลืออีกมากมาย

หลักประกันสุขภาพมีจุดอ่อนที่การส่งเสริมป้องกันเสมอมา งบประมาณที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปีรวมทั้งที่มีรายงานออกมาในปี 2563 นี้ก็ยังคงมีสัดส่วนของเงินส่วนที่ใช้ส่งเสริมป้องกันน้อยมาก พูดง่ายๆ ว่าไม่มีใครทำงานนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สสส. ซึ่งใช้เงินไปมากมาย ควรถึงเวลาที่ประชาชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะลุกขึ้นทำงานนี้ด้วยตนเอง ด้วยเงินของตนเอง

การวิ่งเพื่อสุขภาพนั้นเริ่มต้นด้วยการวิ่งเพื่อตนเอง คนวิ่งเป็นคนได้ ใครไม่วิ่งก็ไม่ได้ อย่างไรก็ตามหากคิดจะวิ่งเพื่อคนอื่น หาเงินให้คนอื่น ควรถามให้มากว่าเงินไปไหน เงินควรไปในที่ที่เกิดประโยชน์ระยะยาวต่อคนหมู่มากและอย่างยั่งยืนมากกว่าจะเป็นไปได้หรือไม่

การวิ่งเพื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องทำได้ เราไม่จำเป็นต้องวิ่งเพื่อเงินเท่านั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save