fbpx
หลักประกันสุขภาพที่รัก (24) : ผู้เสพและผู้ติด หรือผู้ค้า

หลักประกันสุขภาพที่รัก (24) : ผู้เสพและผู้ติด หรือผู้ค้า

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เรื่อง

 

ปีสงครามยาเสพติดมาพร้อม พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2545 ก่อนหน้า พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2545

กฎหมายใหม่สองฉบับในรัฐบาลไทยรักไทยเวลานั้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานครั้งใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาล

มาตรา ๑๒ ให้คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในเขตพื้นที่ต่างๆ ตามความเหมาะสม ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานคณะอนุกรรมการ แพทย์หนึ่งคน นักจิตวิทยาหนึ่งคน นักสังคมสงเคราะห์หนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวงไม่เกินสองคนเป็นอนุกรรมการ และให้ผู้แทนกรมคุมประพฤติหนึ่งคนเป็นอนุกรรมการ และเลขานุการ
แพทย์ตามวรรคหนึ่งให้พิจารณาแต่งตั้งจากจิตแพทย์ ถ้าไม่อาจแต่งตั้งจิตแพทย์ให้แต่งตั้งจากแพทย์อื่นที่เหมาะสม

นอกเหนือจากที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ยังจำเป็นต้องรับตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดระดับจังหวัดด้วย เท่ากับผู้เขียนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานใหม่ทั้ง 2 ชิ้นในระยะเริ่มต้น

เดิมงานยาเสพติดของหลายโรงพยาบาลมิได้เป็นของฝ่ายจิตเวช หลายโรงพยาบาลวางงานนี้เอาไว้กับฝ่ายเวชกรรมสังคม ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องการส่งเสริม ป้องกัน และชุมชน ก่อนหน้าสงครามยาบ้าหรือแอมเฟตามีน ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องผงขาวหรือเฮโรอินมากกว่า ยาม้าหรือยาบ้ามิได้มีปัญหามากมายนัก

ครั้นกฎหมายใหม่ออก พร้อมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานครั้งใหญ่ ฝ่ายจิตเวชของทุกโรงพยาบาลต้องเข้ารับงานยาเสพติดมาทำเพิ่มขึ้น เป็นที่ลำบากใจเพราะเราต้องทิ้งผู้ป่วยจิตเวชที่มารอตรวจไปออกพื้นที่เพื่อทำงานด้านยาเสพติด แต่ก็น่าดีใจอยู่บ้างที่การทำงานด้านยาเสพติดมีโครงสร้างที่ชัดเจนมากกว่าสมัยก่อน

ที่น่าชมเชยคือเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งงบประมาณด้านการบำบัดรักษายาเสพติดขึ้นอย่างจริงจังเสียที เดิมโรงพยาบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยา ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ใช้ผงขาว ทั้งเสพและฉีด บัดนี้กรมราชทัณฑ์โดยสำนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ตั้งงบประมาณเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เงินไหลมาจากกรุงเทพมหานครเช่นเดิม แม้ว่าจะมาช้ามากในแต่ละปี แต่ก็มาถึงโรงพยาบาลและค่ายบำบัดผู้ติดยา

ดังที่เขียนไว้ครั้งที่แล้ว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็กำลังตั้งหลักเช่นกัน อย่าว่าแต่ฐานข้อมูลผู้ติดยาเลย ฐานข้อมูลประชาชนและฐานข้อมูลข้าราชการก็ยังไม่เรียบร้อย คุณหมอสงวน (นิตยารัมภ์พงศ์) พูดกับผมเป็นการส่วนตัวว่า

“ขอตัวเลขจำนวนข้าราชการไปนานสองนาน มีคำตอบกลับมาว่าหาไม่ได้” และ “ขอทราบจำนวนคนที่มีบัตรประชาชนทั้งหมดของประเทศ เขาตอบว่าไม่ทราบ”

มักมีคนกล่าวหาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าทำงานที่มิใช่ของตัว ปัญหาที่มาตั้งแต่แรกคือเจ้าของงานไม่ทำงาน แต่คุณหมอสงวนเป็นบุคคลอย่างที่เรียกว่า pragmatism คือเอาการปฏิบัติงานสำเร็จเป็นตัวตั้ง งานที่ไม่ทำแล้วงานไม่เดินจึงต้องทำ และหากเจ้าของงานไม่ทำ คุณหมอสงวนทำเอง

ในเมื่อไม่มีใครขยับเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคง่ายๆ แม้กระทั่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกยุคสมัยก็ไม่ยอมขยับง่ายๆ เรื่อยมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็จะทำเองเสมอ ซึ่งนำไปสู่การคานอำนาจที่เสียหาย

คล้ายๆ สำนักงานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลที่ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้พัฒนา ผู้ตรวจ และผู้อนุมัติตราคุณภาพเสร็จสรรพในหน่วยงานเดียว นำมาซึ่งความเสียหายของการคานอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกัน แต่ก็อาจจะเถียงแทนได้อยู่บ้างนั่นคือ ณ เวลานั้นๆ ไม่มีใครยอมทำอะไรเลย

ผู้เขียนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้ตรวจคุณภาพในระยะแรกๆ พบว่าสำนักงานได้พยายามอย่างยิ่งที่จะธำรงมาตรฐานการตรวจมิให้เสียหาย แต่สมดุลของการคานอำนาจที่เสียหายตั้งแต่แรก นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนาจนได้

เป็นรุ่งอรุณของงานยาเสพติดในประเทศไทยและระดับโรงพยาบาล ผู้ป่วยยาเสพติดซึ่งเป็นที่ทำนายได้ว่าเกือบทั้งหมดไม่มีเงินจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล (นำมาสู่คำพูดที่ว่าใครทำตัวเองให้จ่ายเอง เช่นเดียวกับกรณีผู้ป่วยเมาสุราแล้วเกิดอุบัติเหตุ หรือผู้ป่วยที่ทำร้ายตัวเองไปจนถึงฆ่าตัวตาย) บัดนี้โรงพยาบาลได้เงินมาใช้จ่ายเพื่อการนี้แล้ว และถ้ามีผู้ติดยาคนใดหลุดรอดกฎหมายฟื้นฟูยาเสพติดปี 2545 นั่นคือกรมราชทัณฑ์ไม่ตั้งงบประมาณรอไว้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยกฎหมายหลักประกันปี 2545 จะเข้ามารองรับให้แทน

นี่คือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ถึงแม้ว่าทุกข์นั้นจะเป็นผู้ใช้ยาเสพติดก็ตาม

กฎหมายลูกที่ติดตามกฎหมายใหญ่ปี 2545 นำมาซึ่งหลักปฏิบัติในการจำแนกผู้ค้า ผู้ติด และผู้เสพออกจากกัน เฉพาะผู้ติดและผู้เสพก็มีเรื่องสนุกสนานให้ทำงานหลายเรื่อง กล่าวอย่างง่ายคือ ผู้ติดจะได้รับงบประมาณจากกรมราชทัณฑ์ แล้วกระทรวงสาธารณสุขเอาไปรักษา ในขณะที่ผู้เสพจะได้รับงบประมาณจากสำนักงานคุมประพฤติ แล้วเอาไปคุมประพฤติ ส่วนผู้ค้าก็เข้าคุก

ปัญหาคือใครกันแน่ที่เป็นผู้ค้า ผู้ติด หรือผู้เสพ ?

(โปรดอ่านตอนต่อไป)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save