fbpx

ธงชัย วินิจจะกูล: สู่หน้าถัดไปของประวัติศาสตร์สามัญชนในยุค ‘Post-นิธิ เอียวศรีวงศ์’

“ในขณะที่หน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์สามัญชนจบลงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อนักประวัติศาสตร์สามัญชนคนสำคัญจากเราไป ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันนั้น ประวัติศาสตร์สามัญชนหน้าถัดไปของสังคมไทยก็เริ่มต้นขึ้นนับจากผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งจะนำไปสู่คำถามใหม่ๆ แก่การศึกษาประวัติศาสตร์ยุคหลัง นิธิ เอียวศรีวงศ์”

คือคำกล่าวเปิดปาฐกถาหัวข้อ ‘ประวัติศาสตร์(…)สามัญชน: หน้าถัดไป’ โดย ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาในโครงการอ่านเปิดโลก (ครั้งที่ 4) “หมุนเข็มนาฬิกากลับกี่ครั้ง เข็มก็เดินหน้าเสมอ: ‘ชีวิตสังคมไทย’ ผ่านงานนิธิ เอียวศรีวงศ์” ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อรำลึกถึงคุณูปการของนิธิหลังการจากไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ถือเป็นนักวิชาการผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยยุคสมัยใหม่ตลอดเวลาราว 5 ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยนิธิได้สร้างผลงานมากมายที่เป็นการวิเคราะห์วิพากษ์สังคมไทยให้คนไทยได้ทำความเข้าใจอย่างถึงแก่น ด้วยจุดยืนแนวคิดในแบบ ‘สามัญชน’ หรือ ‘ชาวบ้าน’ ซึ่งมีนักวิชาการไทยน้อยคนที่สามารถทำได้ ทำให้ธงชัยยกนิธิว่าเป็น “นักประวัติศาสตร์แบบธรรมดาๆ ที่วิเศษที่สุดคนหนึ่งที่สังคมไทยเคยผลิตได้” รวมทั้งผลงานและบทบาทของนิธิที่ผ่านมาก็ถูกยกว่าเป็น “หน้าสำคัญหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ของสามัญชน โดยสามัญชน และเพื่อสามัญชน”

การจากไปของนิธิจึงไม่ใช่แค่การสูญเสียนักวิชาการไทยคนหนึ่งไปเท่านั้น แต่สำหรับธงชัย มันคือ “การสูญเสียสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตทางปัญญาที่เราอยู่กันมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา”

ไล่เลี่ยกันกับการสูญเสียนิธิ สังคมไทยก็กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่บันทึกหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์หลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดหักเหสำคัญที่ทำให้บริบทสังคมการเมืองไทยกำลังเปลี่ยนไปขนานใหญ่ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างฝั่งอำนาจเดิมกับฝั่งประชาชนผู้สนับสนุนประชาธิปไตยที่กำลังร้าวลึกลงทุกขณะ ทำให้ธงชัยตั้งคำถามว่านักวิชาการและปัญญาชนไทยในยุคหลังนิธินี้ จะสืบสานบทบาทที่นิธิได้สร้างมาต่อไปในทิศทางใด

101 สรุปบทปาฐกถาของธงชัย ที่พาไปย้อนรำลึกถึงตัวตน ผลงาน และคุณูปการของนิธิต่อแวดวงวิชาการของไทย พร้อมตั้งคำถามถึงทิศทางของแวดวงการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมไทยนับจากสิ้นสุด นิธิ เอียวศรีวงศ์ ภายใต้ประวัติศาสตร์สามัญชนไทยที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่บทใหม่

ธงชัย วินิจจะกูล: สู่หน้าถัดไปของประวัติศาสตร์สามัญชนในยุค ‘Post-นิธิ เอียวศรีวงศ์’
ธงชัย วินิจจะกูล ระหว่างปาฐกถาหัวข้อ ‘ประวัติศาสตร์(…)สามัญชน: หน้าถัดไป’
ภาพโดย: Facebook – คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

หน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ของสามัญชน โดยสามัญชน และเพื่อสามัญชน

ผลงานและบทบาทของนิธิตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับว่าเป็น “หน้าสำคัญหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ของสามัญชน โดยสามัญชน และเพื่อสามัญชน” โดยเราสามารถใส่ไปได้หลายคำในวงเล็บระหว่างคำว่า ‘ประวัติศาสตร์’ กับ ‘สามัญชน’ อย่างไรก็ตาม หากเป็นนิธิเอง อาจเลือกใช้คำว่า ‘ชาวบ้าน’ แทนคำว่า ‘สามัญชน’ เนื่องจากงานเขียนต่างๆ ของนิธิมักใช้คำว่าชาวบ้าน อาจเพราะเป็นคำที่เข้าใจง่ายกว่าสำหรับคนทั่วไป

สิ่งที่ทำให้นิธิมีความพิเศษคือ ‘การเมืองของนิธิ’ เอง สะท้อนได้ผ่านผลงานและความรู้ที่นิธิผลิต เช่น ผลงาน ‘ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา’ ที่สร้างความตื่นตระหนกเป็นอย่างยิ่ง เพราะผลงานนี้ทำให้พงศาวดารที่เราใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาตลอดกลับกลายเป็นบทประพันธ์ทางการเมืองชิ้นหนึ่ง และวงศ์อวตารก็ไม่ได้เป็นอะไรนอกจาก political animal (สัตว์การเมือง) เหมือนเราๆ และท่านๆ ทั้งหลาย แต่การที่นิธิให้มุมมองแบบนี้ไม่ได้แปลว่านิธิต่อต้านเจ้า แต่เป็นเพราะเป็นจุดยืนแบบชาวบ้านสามัญชนที่มองว่าทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน และสถาบันต่างๆ ก็ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ เกินกว่าที่จะถูกศึกษาหรือสอดส่องเฝ้าดู

นิธิสามารถทำให้ชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์เป็นพ่อค้า หากำไร รักษาผลประโยชน์ เอาเปรียบ ผูกขาด และผลักดันการเปลี่ยนแปลง เหมือนพ่อค้าสามัญทั่วไป และนิธิยังทำให้ลูกเจ๊กคนหนึ่งที่กลายเป็นพระมหากษัตริย์กลับสู่พื้นดินในความเป็นลูกเจ๊กอีกครั้งหนึ่ง ในงานเรื่อง ‘การเมืองไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี’ ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ต้องการเชิดชูยกย่องพระเจ้ากรุงธนบุรีเท่ากับจะบอกว่า “พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เป็นลูกเจ๊กเหมือนกูนี่ล่ะ” โดยไม่ได้มีการต่อต้าน ดูถูกดูแคลน ด้อยค่าใดๆ ทั้งสิ้น และยังเป็นการพูดแบบเคารพ ยกย่องอย่างสามัญชนที่เคารพยกย่องให้แก่กันได้  

การที่นิธิให้มุมมองแบบนี้ไม่ได้แปลว่านิธิล้มเจ้า แต่เป็นเพราะเป็นจุดยืนแบบชาวบ้านสามัญชนที่มองว่าทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน เพราะโดยทั่วไป ชาวบ้านต่างก็วิจารณ์เจ้าทุกมื้ออาหารและมีมาแต่ยุคชาดก ต่อให้จะเป็นคนที่รักเจ้าและไล่ฟ้องคนอื่นก็ตาม ซึ่งการวิจารณ์นั้นไม่ได้แปลว่าต้องวิจารณ์ทางลบอย่างเดียว แต่เป็นได้ทั้งการวิจารณ์ว่าชอบหรือไม่ชอบการกระทำแบบใด

ด้วยจุดยืนแบบนี้ ทำให้นิธิเรียกได้ว่าเป็น ‘นักมนุษยนิยมธรรมดา’ ที่คงเส้นคงวา สังคมที่นิธิปรารถนาไม่ได้เป็นสังคมที่วิเศษพิสดารและไม่ได้สุดโต่ง แต่นิธิมีอุดมคติถึงชาติที่เป็นของคนธรรมดาทั่วไป โดยคาดว่าสอดคล้องกับแนวคิดรัฐประชาชาติแบบแอนเดอร์โซเนียน (Andersonian Nation-State) ตามแนวคิดของเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson)

นักประวัติศาสตร์แบบธรรมดาที่วิเศษที่สุดคนหนึ่ง

แม้ว่านิธิจะผลิตผลงานคุณภาพยอดเยี่ยมออกมาเป็นจำนวนมากและเป็นประจำสม่ำเสมอ แต่นิธิก็กลับไม่ได้มี ‘สคูล’ (สำนักคิด) เป็นของตัวเอง นิธิไม่เคยนำเสนอความคิดและใช้วิธีวิทยาที่เป็นระบบชุดหนึ่งชุดใดมาอธิบายสังคมอย่างชัดเจน ไม่เคยเสนอทฤษฎีใหม่ ไม่ได้ตั้งแนวคิดทะลุทะลวงหรือเปรี้ยงปร้าง เพราะสิ่งที่นิธิทำเป็นประวัติศาสตร์แบบธรรมดาสามัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนก็น่าจะทำได้เหมือนกัน เพียงแต่น้อยคนที่จะทำได้ ขณะที่นิธิทำได้ และยังช่วยเปิดหูเปิดตาเราได้อย่างแหลมคมอีกด้วย

ไม่ว่าจะในหัวข้อใดหรืองานใดก็แล้วแต่ สังเกตได้ว่าสิ่งแรกที่นิธิคิดและพยายามอธิบาย คือการดูความสัมพันธ์ทางสังคมของสิ่งนั้นๆ กับสถาบันทางสังคมอื่นๆ โดยคำว่าสถาบันนั้นเป็นคำทางสังคมวิทยา ที่ไม่ได้หมายถึงแค่องค์กร หรือตึกรามอาคารราชการ แต่ยังหมายถึงบรรทัดฐาน ค่านิยม ธรรมเนียมประเพณี รวมถึงแบบแผนความสัมพันธ์อำนาจที่ดำรงอยู่ในขณะหนึ่งๆ ซึ่งนี่คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า ‘บริบท’

หลายคนมักเข้าใจคำว่าบริบท ว่าหมายถึงการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในแต่ละช่วงเวลา แต่ที่จริงแล้วบริบทที่สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับสถาบันสังคมที่แวดล้อมของสิ่งที่เราศึกษา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเหตุการณ์ คน ความคิด ธรรมเนียม พฤติกรรมใดๆ ก็ตาม ก็ล้วนดำเนินอยู่ได้ด้วยบริบท หรือถ้าเกิดแรงต้านก็เป็นไปด้วยบริบทที่ไม่เอื้ออำนวย ซึ่งนี่เป็นปกติของนักประวัติศาสตร์ เพียงแต่ว่านิธิสามารถจับกระบวนการวิทยาตรงนี้ได้แม่นยำ ทำอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งถูกมุม และเล็งไปถูกจุด ขณะที่นักประวัติศาสตร์หลายคนอาจหลงทิศผิดทาง เลือกจับแค่ประเด็นเล็กๆ หรือท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง

ด้วยเหตุนี้ ขณะที่นักประวัติศาสตร์ในประเทศไทยส่วนมากเป็นนักประวัติศาสตร์ธรรมดาๆ ในประวัติศาสตร์แบบธรรมดาๆ นิธิเป็นนักประวัติศาสตร์ที่วิเศษเหลือเกินในประวัติศาสตร์ธรรมดาๆ และถือได้ว่าเป็น “นักประวัติศาสตร์แบบธรรมดาๆ ที่วิเศษที่สุดคนหนึ่งที่สังคมไทยเคยผลิตได้”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (คนกลาง) ในงาน Constitution Dialogue: รัฐธรรมนูญสนทนา #1 ในวันที่ 21 ธันวาคม 2563 โดย The101.world

การเป็นนักประวัติศาสตร์แบบธรรมดาที่วิเศษได้นี้ต้องเป็นคนที่เรียกว่า ‘มนุษย์เรเนซองส์’ ซึ่งมีสามลักษณะ ได้แก่

ประการแรก คือการมีความรู้ดีรู้รอบในหลายสาขา โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่เรียกรวมๆ ได้ว่า ‘classical knowledge’ (ความรู้คลาสสิก) โดยนิธิมีพื้นความรู้ดีในเรื่องอย่างเช่น วรรณคดีไทย พระพุทธศาสนา (โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน) และประวัติศาสตร์โบราณ ซึ่งคนที่มีพื้นภูมิความรู้แบบนี้มีน้อยคน และยังมีไม่กี่คนที่มาเป็นนักวิเคราะห์วิจารณ์และอยู่ฝั่งชาวบ้านเหมือนอย่างนิธิ หากสังเกตจากข้อเขียนของนิธิ จะเห็นว่านิธิสามารถดึงเอาพื้นความรู้เหล่านี้มาใช้เป็นองค์รวมที่ทำความเข้าใจสังคมไทยลึกลงไปถึงระดับจารีต ขณะที่คนจำนวนมากมักอธิบายด้วยหลักเชิงเหตุผลนิยมสมัยใหม่ที่วิเคราะห์ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่ไม่เข้าใจรากฐานทางประวัติศาสตร์และจารีตของสังคมไทย เพราะขาดความรู้ในเรื่องพื้นฐานเหล่านั้นอย่างที่นิธิมี และนี่คือพื้นฐานที่ทำให้นิธิสามารถจัดความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ กับสถาบันทางสังคมที่เป็นบริบทได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีแง่มุม

ประการที่สอง คือการมีความคิดเชิงวิพากษ์ (critical) โดยนิธิไม่ใช่แค่รับรู้เรื่องราวทางสังคมจารีตต่างๆ แล้วเชื่อตามหรือโปรโมตให้ แต่สามารถตั้งข้อสงสัยและนำไปใช้อธิบายสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่บางคนก็อาจมีความรู้คลาสสิกแบบนิธิ เพียงแต่ยังวิจารณ์ไม่พอหรืออาจมีความอนุรักษนิยมมากเกินไป นอกจากนี้นิธิยังมีความรู้เกี่ยวกับสังคมอื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทยอีกอย่างน้อย 1-2 สังคม ซึ่งนิธิสามารถนำมาใช้เปรียบเทียบกับสังคมไทยอยู่ตลอดเวลา และการเปรียบเทียบนั้นก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมแต่ละสังคมถึงไม่เหมือนกัน ส่งผลให้สามารถเข้าใจสังคมไทยได้ดีขึ้น

ประการที่สาม คือการมีพรสวรรค์ในการเขียน ที่นอกจากจะเป็นการสื่อให้คนอื่นเข้าใจได้ ยังสะท้อนความสามารถของคนในการย่อยองค์ความรู้จากประการที่หนึ่งและสองข้างต้น ให้กลายเป็นของตัวเอง จนกระทั่งเขียนออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติและด้วยภาษาที่ง่าย

ความเป็นมนุษย์เรเนซองส์นี้เองที่เป็นฐานและเครื่องมือในการคิดของนิธิ ทั้งในแง่การเป็นนักวิชาการและปัญญาชนสาธารณะ

หัวข้องานเขียนของนิธิอาจเรียกได้ว่าอยู่บน ‘หอคอยงาช้าง’ แถมยังเป็นหอคอยงาช้างที่สูง เพราะไม่อาจนำไปใช้ทำเป็นนโยบายสาธารณะได้ หรือไม่อาจมีประโยชน์ใช้สอยเป็นรูปธรรมได้ แต่ต้องขอค้านอย่างหัวชนฝา เพราะอันที่จริงต้องขอตั้งสมมติฐานแบบสบประมาทไว้ว่า งานที่ขึ้นหิ้งและไม่ได้ใช้ประโยชน์ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นงานประยุกต์ เช่น งานที่สำรวจหมู่บ้านหนึ่งหมู่บ้าน ตำบลหนึ่งตำบล หน่วยงานราชการหนึ่งหน่วยงาน หรือการประพฤติปฏิบัติในหน่วยงานราชการหนึ่งที่ แล้วมีข้อเสนอแนะว่าจะปรับปรุงอย่างไร ซึ่งไม่มีประโยชน์ เพราะร้อยชิ้นเขียนเหมือนกัน ไม่อาจสร้างความรู้ต่อยอดไปได้ และงานประเภทนี้มักจะตายทันทีที่ทำเสร็จสิ้นลง เพราะหน่วยงานนั้น การกระทำนั้น หรือสังคมนั้น ได้เปลี่ยนแปลงไปจากงานวิจัยแล้ว

เพราะฉะนั้น งานที่ขึ้นหิ้งแท้จริงจึงไม่ใช่งานบนหอคอยงาช้าง แต่ปัญหาสังคมไทยคืองานวิจัยบนหอคอยงาช้างแบบที่นิธิทำมีน้อย อ่อนแอเกินไป ไม่เคยแข็งแกร่ง เพราะเรามองข้ามความรู้คลาสสิกเชิงวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ได้นำมาใช้เป็นฐานในการทำความเข้าใจสังคมไทยในปัจจุบันเพื่อจะเดินต่อไปข้างหน้าอย่างที่นิธิทำ โดยรากของปัญหานี้มีที่มาจากการวิจัยและอุดมศึกษาไทยที่มีฐานมาจากยุคกึ่งอาณานิคม ซึ่งมีการเร่งผลิตความรู้ประยุกต์โดยไม่มีฐานรากและไม่มีการพัฒนาต่อยอดจากฐานรากความรู้จารีตอย่างต่อเนื่อง

เติบโตงอกเงยได้ภายใต้ ‘รัฐปรสิต’

นิธิสามารถผลิตงานที่ดีมีคุณภาพดียอดได้อย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ แม้จะอยู่ในภาวะที่แวดวงวิชาการไม่เหมาะกับการเติบโตทางปัญญาเลยแม้แต่น้อย ภายใต้ ‘รัฐปรสิต’ ที่ทำให้หลายคนไม่สามารถเติบโตได้และไม่อาจทลายกรอบได้พ้น แต่นิธิสามารถทลายกรอบนั้นได้ แถมยังช่วยสร้างคุณูปการในการติดอาวุธให้พวกเราสามารถเรียนรู้ เก็บเกี่ยวความคิด และเติบโตขึ้น โดยหวังว่าเราจะสามารถทลายกรอบความคับแคบของรัฐปรสิตนั้นไปได้ด้วย

ความเป็นรัฐปรสิตของไทยนั้นมีองค์ประกอบอยู่สามอย่าง อย่างแรกคืออำนาจที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ซึ่งแทรกแซงการเมืองการปกครองอยู่เรื่อยมา อย่างที่สองคือระบบทหาร ซึ่งอาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ เรียกว่า ‘praetorian state’ (รัฐเสนานุภาพ) โดยทหารไม่ได้มีหน้าที่จำกัดอยู่แค่ในกองทัพ แต่เข้าไปแทรกซึมในอณูต่างๆ ของสังคมเต็มไปหมด และได้เข้าไปทำลายความคิดสร้างสรรค์ จำกัดการเติบโตของคนที่มีศักยภาพที่จะเติบโต และอย่างที่สามคือระบบรวมศูนย์ซึ่งแสนจะไม่เป็นเหตุเป็นผล ทั้งสามอย่างนี้คือปรสิตของไทยที่ทำให้สารพัดวงการเติบโตยาก รวมไปถึงวงการวิชาการ

50 ที่ผ่านมานับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในแง่ความสัมพันธ์ทางอำนาจ ได้เกิดแนวโน้มใหญ่อยู่สองแนวโน้ม ด้านหนึ่งคืออำนาจทยอยเข้าสู่สถาบันกษัตริย์อย่างเป็นลำดับขั้นตอน จนกระทั่งสถาบันกษัตริย์ปัจจุบันที่เราเรียกได้ว่าเป็นสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ แต่กลับไปมีความสัมพันธ์ทางอำนาจกับสถาบันอื่นๆ ในสังคมไทยในแบบที่เป็นศักดินามากกว่ายุคใดนับตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา พูดได้ว่าสถาบันทิศทางไทยถูกต้องแล้วที่เรียกระบอบการปกครองในปัจจุบันว่า ‘รัฐราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ’

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (คนกลาง) ในงาน Constitution Dialogue: รัฐธรรมนูญสนทนา #1 ในวันที่ 21 ธันวาคม 2563 โดย The101.world

แต่อีกด้านหนึ่ง ประชาธิปไตยของประชาชนก็เติบโตขึ้น แม้จะมีขึ้นมีลง แต่ถ้ามองแนวโน้มระยะยาวตลอด 50 ปีจะเห็นว่าขยายตัวอย่างน่าเหลือเชื่อ เห็นได้จากสองตัวชี้วัด ตัวชี้วัดแรกคือการเติบโตของปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) ไม่ว่าจะในแง่สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ มาจนถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ กำลังเติบโตขึ้นอย่างไม่มีทางถอยหลังกลับ และตัวชี้วัดที่สองคือการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในระบบการเมือง ไม่ว่าจะบนท้องถนน หรือในระบบรัฐสภา รวมทั้งมีกลุ่มภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ อยู่จนถึงทุกวันนี้อย่างไม่มีทางตาย และยังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาคือแนวโน้มทั้งสองด้านนี้ดำเนินไปพร้อมกัน สู้กัน ปะทะกัน ต่อรองกัน และร่วมมือกันเป็นครั้งคราว ทั้งอย่างเปิดเผยและไม่เปิดเผยหรืออาจไม่ได้สังเกต โดยปัจจุบันนี้สองกระแสนี้กำลังดำเนินไปอย่างแยกห่างจากกันมากขึ้นทุกที (increasingly divergent) ซึ่งนิธิได้เตือนไว้ว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปหนีไม่พ้นที่จะเกิดความรุนแรง

ในโลกนี้ เราย่อมเรียกร้องให้สถาบันทางการเมืองที่มีอำนาจปรับตัว แต่รัฐปรสิตของไทยกำลังพยายามหยุดเข็มนาฬิกา ทว่าเข็มนาฬิกาที่หมายถึงอำนาจประชาชนกำลังเดินหน้าไปเรื่อยๆ  

ประวัติศาสตร์สามัญชนหน้าถัดไปหลังเลือกตั้ง’66 และหลัง นิธิ เอียวศรีวงศ์

รัฐปรสิตของไทยได้สั่นสะเทือนครั้งใหญ่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาจากผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 โดยปรากฏการณ์ชัยชนะของพรรคก้าวไกลที่เกิดขึ้นถือเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งของความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นตลอด 50 ปี

ในอนาคต ประวัติศาสตร์อาจต้องจารึกวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญที่ประเทศไทยมีโอกาสได้ผลักดันประชาธิปไตยของประชาชนไปสู่อีกก้าวสำคัญ แต่กลับต้องเสียหายลง และอาจตามด้วยการกวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตยครั้งใหญ่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะใหญ่แค่ไหน จะสำเร็จหรือไม่ เราไม่อาจรู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น แต่อาจรู้ได้ว่าส่วนสำคัญเกิดขึ้นจากพรรคเพื่อไทยที่เป็นผู้ปิดประตูโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับหน้าถัดไปของประวัติศาสตร์ประชาชนนี้ได้เผอิญมาเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการเสียชีวิตของนิธิ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทในบริบทการเมืองช่วง 50 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 14 พฤษภาคม 2566 ในวันที่นิธิเสีย ผมรู้สึกหวิวขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก ผมรู้สึกได้ถึงช่องว่างหรือหลุมขนาดใหญ่ที่หายแวบลงไป ผมเป็นคนหนึ่งที่โตมาในภาวะที่มีนิธิเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางสังคมที่ผมเองมีชีวิตเป็นปัญญาชนนักวิชาการอยู่ และวันนี้สิ่งนั้นได้หายไปแล้ว มันเรียกได้ว่าเป็นการสูญเสียสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตทางปัญญาที่เราอยู่กันมาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา

เพราะฉะนั้นสำหรับแวดวงปัญญาชนและคนที่มีวิชาชีพเป็นนักวิชาการ โดยเฉพาะนักวิชาการที่อยากเป็นปัญญาชนสาธารณะหรือนักวิชาการเชิงวิพากษ์อย่างที่นิธิได้ทำมา เราต้องตั้งคำถามกันต่อไปว่าเราจะทำบทบาทนั้นในขั้นต่อไปภายใต้ประวัติศาสตร์หน้าใหม่นี้อย่างไร เช่น เราต้องกล้าท้าทายมากกว่านี้ไหม ไปให้สุดกว่านี้ไหม หรือว่าเราควรจะค่อยๆ เก็บเกี่ยวไปทีละคำโดยไม่รุนแรงเกินไป ผมเชื่อว่าคำตอบคงมีหลายอย่างและเราไม่จำเป็นต้องหาคำตอบเดียว นอกจากนี้การที่เราจะเห็นคำตอบได้ เราก็ต้องเข้าใจสิ่งที่นิธิทำมาให้มากกว่านี้ด้วย และสุดท้าย ผมบอกได้แค่ว่าบทบาทท่าทีของปัญญาชนนั้นแยกไม่ขาดจากความสัมพันธ์กับสถาบันทางสังคมอื่นๆ ซึ่งถือเป็นบริบทที่กำลังจะเดินไปข้างหน้าต่อไป  

ธงชัย วินิจจะกูล: สู่หน้าถัดไปของประวัติศาสตร์สามัญชนในยุค ‘Post-นิธิ เอียวศรีวงศ์’
ธงชัย วินิจจะกูล ระหว่างปาฐกถาหัวข้อ ‘ประวัติศาสตร์(…)สามัญชน: หน้าถัดไป’
ภาพโดย: Facebook – คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save