fbpx
Poor Economics คนจนจนเพราะอะไร?

Poor Economics

สฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง

“คนจน” จนเพราะอะไร?

หลายคนตอบว่า โง่ ขี้เกียจ บางคนขยายความราวกับเป็นเหตุเป็นผลว่า “โง่ (บวก) จน (ก็เลย) เจ็บ” โดยไม่รู้ตัวว่านี่คือวาทกรรมซึ่งถูกงานวิจัยเชิงประจักษ์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หักล้างแล้วว่า ไม่ใช่ความจริงสำหรับคนจนส่วนใหญ่  สาเหตุที่จนและยังจนอยู่นั้น เป็นเพราะเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ รวมถึงความไม่เป็นธรรมที่ฝังรากลึกมานานรุ่นแล้วรุ่นเล่าต่างหาก

คำถามที่ว่า “วิธีไหนที่จะช่วยให้คนจนหายจนได้ดีที่สุด” เป็นคำถามที่ถกเถียงกันอย่างร้อนแรงตลอดมาในแวดวงเศรษฐศาสตร์พัฒนา

วิวาทะทั้งหมดดูจะแบ่งได้เป็นสองค่ายที่อยู่ขั้วตรงข้ามกัน ฝั่ง “เศรษฐศาสตร์เข็มฉีดยา” นำโดยอาจารย์ เจฟฟรีย์ แซคส์ (Jeffrey Sachs) เชื่อว่ารัฐบาลต่างๆ และองค์กรโลกบาลจะต้องเพิ่มเม็ดเงินช่วยเหลือคนจนอีกมาก ส่วนฝั่งตรงข้ามนำโดย วิลเลียม อีสเตอร์ลีย์ (William Easterly) เสนอว่าต้องเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นต่างๆ ปฏิรูปตัวเองให้ได้มากที่สุด โครงการพัฒนาส่วนใหญ่ไร้ประโยชน์ เพราะเทคโนแครตและผู้เชี่ยวชาญไม่มีทางรู้เรื่องปัญหาของคนจนดีเท่ากับคนจนจริงๆ

หนังสือเรื่อง Poor Economics (เศรษฐศาสตร์ความจน) โดย อภิจิต แบนเนอร์จี (Abhijit Banerjee) กับ เอสเธอร์ ดูฟโล (Esther Duflo) สองนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาในดวงใจของผู้เขียน ทะลุทะลวงวาทกรรมและการเหมารวมของทั้งสองค่ายนี้ด้วยการยกบทวิเคราะห์ทางสถิติ และผลการทดลองสายเศรษฐศาสตร์เชิงประจักษ์มากมายมาชี้ให้เห็นว่า คนจนคิดและรู้สึกอย่างไรจริงๆ และนโยบายแก้ปัญหาความยากจนที่ได้ผลจะต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง

เพราะความคิดแบบเหมารวมกว้างๆ ว่า “เทคโนแครตไม่รู้อะไร คนจนยังไงก็ฉลาด” หรือ “เทคโนแครตรู้ดีที่สุด คนจนยังไงก็โง่” นั้น ไม่เคยช่วยแก้ปัญหาอะไรได้เลยในโลกแห่งความจริง

ตลอดหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนทั้งสองยกตัวอย่างสนุกๆ มาหักล้างความเชื่อผิดๆ หลายเรื่องที่เราเคยเชื่อเกี่ยวกับคนจน โดยเขียนเล่าด้วยภาษาที่เป็นกันเองและมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากภาคสนามมากมาย สมกับเป็นผู้บุกเบิกการนำวิถีทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial ย่อว่า RCT) จากวงการแพทย์ มาใช้กับวงการเศรษฐศาสตร์ เพื่อประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนโยบายหรือมาตรการพัฒนาต่างๆ ว่าได้ผลมากหรือน้อยเพียงใด

Poor Economics ชี้ว่า เรายังไม่มี “แก้วสารพัดนึก” ที่จะบันดาลให้คนจนหายจนได้ทันทีทุกที่ทุกเวลา แต่เราก็มีบทเรียนมากพอแล้วที่จะรู้ว่า เราจะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนได้อย่างไร ช่วงท้ายของหนังสือสรุปบทเรียนหลักๆ ไว้ห้าข้อด้วยกัน

ข้อแรก คนจนมักขาดแคลนข้อมูลสำคัญๆ และเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง

ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาไม่มั่นใจว่าการส่งลูกไปฉีดวัคซีนจะมีประโยชน์เพียงใด เชื่อว่าสิ่งที่ลูกๆ ได้เรียนรู้ในปีแรกๆ ของการไปโรงเรียนนั้นไม่สลักสำคัญอะไรมาก ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วควรใช้ปุ๋ยในการเพาะปลูกมากน้อยขนาดไหน ไม่รู้ว่าเลือกผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. ไปแล้ว ส.ส. คนนั้นไปทำอะไรให้บ้างหลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง

เมื่อใดที่ความเชื่อที่คนจนยึดมั่นมากๆ ปรากฏแล้วว่าเป็นความเชื่อที่ผิด ผลที่เกิดขึ้นก็คือคนจนก็จะไปตัดสินใจผิดๆ ซึ่งบางครั้งมีผลพวงเชิงลบตามมามากมาย ลองนึกภาพเกษตรกรที่ใส่ปุ๋ยเคมีเกินปริมาณที่เหมาะสมไปสองเท่า

ต่อให้เป็นเรื่องที่คนจนรู้ตัวว่าพวกเขาไม่รู้ ความไม่แน่นอนที่ตามมาก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบสะสมในระยะยาวมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น ความไม่แน่ใจว่าการถ่อไปสถานีอนามัยเพื่อเอาลูกไปฉีดวัคซีน (ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงมากสำหรับคนจน มักหมายถึงการขาดรายได้ไปทั้งวัน) เป็นสิ่งที่ “ได้คุ้มเสีย” หรือเปล่า ประกอบกับธรรมชาติมนุษย์ทุกฐานะที่ชอบผัดวันประกันพรุ่ง ส่งผลให้เด็กในครอบครัวยากจนจำนวนมากไม่ได้รับวัคซีน สุ่มเสี่ยงเป็นโรคที่ป้องกันได้

หลายโครงการพิสูจน์แล้วว่า การให้ข้อมูลง่ายๆ ที่ตรงจุดกับคนจนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มหาศาล แต่ดูฟโลกับแบนเนอร์จีก็ย้ำว่า ไม่ใช่ว่าสักแต่คิดทำ “แคมเปญให้ข้อมูล” แล้วมันจะได้ผลโดยอัตโนมัติ แคมเปญให้ข้อมูลและการศึกษาแก่คนจนที่ประสบความสำเร็จต้องมีลักษณะครบทุกข้อดังต่อไปนี้

  1. ให้ข้อมูลใหม่ที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคนจนกลุ่มเป้าหมายไม่เคยรู้มาก่อน ไม่ใช่ข้อความเหมารวมแบบ “พูดอีกก็ถูกอีก” หรือได้ยินจนชาชิน เช่น “ไม่ควรมีเซ็กซ์ก่อนแต่ง” หรือ “ควรออมเงินทุกเดือน”
  1. ให้ข้อมูลด้วยวิธีที่เรียบง่ายและดึงดูดความสนใจ เช่น สอดแทรกในภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ หรือสมุดบันทึกที่ถูกออกแบบมาอย่างดีและเข้าใจง่าย
  1. ต้องมาจากแหล่งข้อมูลที่คนจนไว้ใจและเชื่อถือ (ในบริบทชนบทไทย คนที่เข้าข่ายนี้ในหลายชุมชนอาจเป็นผู้นำชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้าน)

บทเรียนด้านกลับของบทเรียนข้อนี้คือ เวลาที่รัฐบาลพูดอะไรที่ทำให้คนจนเข้าใจผิด สับสน หรือโกหกซึ่งหน้า รัฐบาลนั้นๆ ก็จะต้อง “จ่าย” ต้นทุนสูงมากในแง่ของการสูญเสียความน่าเชื่อถือ ซึ่งก็จะส่งผลต่อความ(ไม่)อยากเข้าร่วมโครงการพัฒนาของรัฐในอนาคต (ไม่ว่าจะพร่ำพรรณนาว่าเห็นใจคนจน อยากลดความเหลื่อมล้ำเพียงใด)

ข้อสอง คนจนต้องแบกรับความรับผิดชอบสำหรับหลายมิติในชีวิตมากเกินไป

ยิ่งคุณมีเงิน ก็ยิ่งมีคนอื่นตัดสินใจอย่าง “ถูกต้อง” ให้กับคุณ เช่น ชนชั้นกลางได้ประโยชน์จากคลอรีนที่เทศบาลใส่ในน้ำประปาที่ส่งไปตามบ้าน แต่คนจนไม่มีน้ำประปาใช้ ก็เลยต้องหาทางกรองน้ำให้บริสุทธิ์เอาเอง ไม่มีเงินซื้ออาหารเช้าอุดมวิตามินอย่างเช่นซีเรียลยี่ห้อต่างๆ เลยต้องกระเสือกกระสนหาทางให้ลูกๆ ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ (ซึ่งประเด็นที่ว่า อะไรแค่ไหนถึงจะ “เพียงพอ” ก็ไม่ใช่ความรู้ที่ใครๆ ก็เข้าใจได้ง่าย ไม่ว่าจะจนหรือรวย แต่คนรวยมีบริษัทผู้ผลิตซีเรียลและอาหารเสริมอื่นๆ คิดให้แทนแล้ว ขอเพียงมีเงินจ่าย) พวกเขาไม่มีกลไกการออมอัตโนมัติ อย่างเช่นเงินบำนาญหรือเงินประกันสังคม ก็เลยต้องหาวิธีออมเงินเอง (ซึ่งการออมก็ขัดแย้งกับธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ที่ไม่ค่อยคิดถึงอนาคต)

การตัดสินใจเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะมันแปลว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียโอกาสบางอย่างทันที แลกกับประโยชน์ที่จะเกิดในอนาคตอันไกลโพ้น และการที่คนจนต้องหาเช้ากินค่ำ ก็ทำให้ต้นทุนการตัดสินใจเหล่านี้ยิ่งสูงขึ้นไปอีก

บทเรียนข้อนี้บอกว่า ถ้าเราจะช่วยคนจนจริงๆ สิ่งที่ต้องคิดคือ ทำให้การทำในสิ่งที่ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่ “ง่ายเหมือนปอกกล้วย” สำหรับพวกเขาให้ได้มากที่สุด โดยใช้ข้อค้นพบจากเศรษฐศาสตร์เชิงทดลองและเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เช่น ผลิตเกลือเสริมธาตุเหล็กและไอโอดีนในราคาถูกในราคาที่ทุกคนหาซื้อได้

ข้อสาม มีเหตุผลที่ตลาดบางตลาดยังไม่มีสำหรับคนจน

ยกตัวอย่างเช่น คนจนมีต้นทุนสูงมากในการจัดการเงิน ลองนึกถึงการเดินทางหลายสิบกิโลเมตรไปฝากเงิน 200 บาท สำหรับคนที่มีรายได้ไม่กี่พันบาทต่อเดือน ลำพังค่าน้ำมันหรือค่าโดยสารอย่างเดียวก็อาจจะมากกว่าเงินที่เอาไปฝากแล้ว ยังไม่ต้องนับรายได้ของวันนั้นๆ ที่จะขาดไปเพราะเอาเวลาเดินทางไปสาขาธนาคาร – ส่งผลให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากธนาคารเท่ากับติดลบ และเนื่องจากยากจน จึงไม่มีหลักประกันสำหรับขอสินเชื่อสถาบันการเงินในระบบ ส่งผลให้ต้องกู้หนี้นอกระบบซึ่งคิดดอกเบี้ยแพงมาก

การแก้ปัญหา “ไม่มีตลาดสำหรับคนจน” ในหลายกรณีสามารถใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเชิงสถาบันมาแก้ปัญหาได้ ในหนังสือ ดูฟโลกับแบนเนอร์จีสรุปงานวิจัยเกี่ยวกับวงการ “ไมโครเครดิต” (microcredit สินเชื่อขนาดจิ๋วที่ปล่อยให้กับคนจนโดยไม่มีหลักประกัน) ไว้อย่างสนุกสนาน และชี้ว่าระบบการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์และธนาคารผ่านมือถือ ประกอบกับเทคโนโลยีระบุตัวตน น่าจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินของคนจนได้มหาศาล

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องมองเห็นว่าบางประเทศไม่มีเงื่อนไขที่อยู่ดีๆ ตลาดจะเกิดขึ้นเองได้ (ผู้เขียนเห็นว่ารวมประเทศไทยด้วย เนื่องจากยังไม่เห็นมีผู้ประกอบการ “ฟินเทค” หรือเทคโนโลยีทางการเงินรายใดประกาศว่าจะบุกตลาดผู้มีรายได้น้อย) รัฐบาลควรก้าวเข้ามาสนับสนุน สร้างเงื่อนไขที่จำเป็นให้ตลาดเกิด เช่น อุดหนุนคูปองการศึกษา ออกกฎบังคับให้ธนาคารจัดหาบัญชีเงินฝากแบบ “บ้านๆ” (ค่าธรรมเนียมต่ำ ไม่ต้องพ่วงประกัน บัตรเครดิต ฯลฯ) สำหรับคนทุกคน หรือไม่อย่างนั้นรัฐก็อาจจะให้บริการเสียเอง

ผู้เขียนทั้งสองเน้นว่า รัฐจำเป็นจะต้องกำกับดูแลตลาดเหล่านี้อย่างรอบคอบ เพื่อให้มัน “ทำงาน” สำหรับคนจนจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น คูปองการศึกษาจะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้ปกครองที่ยากจนมีทางเลือก มีวิธีที่จะรู้ว่าโรงเรียนไหน “เหมาะสม” สำหรับลูกๆ ไม่อย่างนั้นการแจกคูปองลักษณะนี้จะกลายเป็นว่าทำให้ผู้ปกครองฐานะดีมีทางเลือกมากขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยคนจนแต่อย่างใด

ดูฟโลกับแบนเนอร์จีย้ำว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” จำนวนมากเข้าใจผิดมหันต์ตลอดมาเกี่ยวกับคนจน มองพวกเขาในแง่ร้ายว่าจะ “ขี้เกียจ” ถ้าหากได้รับเงินหรืออะไรฟรีๆ และดังนั้นผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จึงมักจะไม่สนับสนุนโครงการแนวนี้ อย่างมากก็บอกว่ารัฐควรเก็บค่าธรรมเนียมเล็กน้อย อย่างน้อยก็ดีกว่าให้ฟรี แต่ความคิดนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วจากโครงการมากมายว่าไม่ถูกต้อง แม้จะคิดจากมุม “ต้นทุนเทียบประโยชน์” (cost-benefit analysis) เพียวๆ การส่งมอบสินค้าหรือบริการบางอย่างก็ถูกกว่าถ้าจะเก็บเงิน (เพราะการเก็บเงินมีต้นทุนการบริหารจัดการ และคนจนอาจไม่อยากจ่าย)

ข้อสี่ ไม่มีประเทศยากจนประเทศไหนในโลกถูกสาปว่าจะต้องล้มเหลวเสมอเพราะว่ายากจน หรือว่าเพราะเคยโชคร้ายในประวัติศาสตร์

ผู้เขียนทั้งสองบอกว่า จริงอยู่ว่าในประเทศกำลังพัฒนา โครงการต่างๆ มักจะไร้ประสิทธิผล โครงการที่อ้างว่าจะช่วยคนจนมักจะไม่ตกถึงมือคนจน ครูไม่ทำงานหรือสอนแย่ ถนนหนทางผุพังจากรถบรรทุกที่บรรทุกเกินพิกัดตามกฎหมาย ฯลฯ แต่ในหลายกรณี ความล้มเหลวไม่ได้เกิดจากทฤษฎีสมคบคิด เจตนาชั่วร้ายของชนชั้นนำที่อยากกุมอำนาจทางเศรษฐกิจ เท่ากับเกิดจากข้อบกพร่องบางประการของการออกแบบนโยบายในรายละเอียด ซึ่งข้อบกพร่องที่พบบ่อยที่สุดคือ อวิชชา อุดมการณ์(ทางการเมือง) และความเฉื่อยเนือย (สรุปเป็น “ตัว I สามตัว” ได้แก่ ignorance, ideology และ inertia)

ยกตัวอย่างเช่น พยาบาลถูกคาดหวังให้ทำงานมากมายมหาศาลที่มนุษย์ปกติไม่มีทางทำได้ (ผู้เขียนคิดว่า “ครู” ก็เป็นอาชีพแบบนี้ในไทย) แต่แล้วก็ยังไม่เคยมีใครคิดจะไปแก้ขอบเขตหน้าที่การงานของพยาบาลให้ตรงกับความจริงมากขึ้น

กระแสที่กระพือเป็นแฟชั่น ณ เวลานั้นๆ (ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ไมโครเครดิต หรืออะไรก็ตาม) ถูกแปลงเป็นนโยบายรัฐโดยไม่สนใจบริบทในโลกจริงเลย แต่ข่าวดีก็คือ เราสามารถปรับปรุงการกำกับดูแลและนโยบายหลายเรื่องได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองและสังคม โดยเฉพาะด้วยการคิดหาวิธีเพิ่มพลังของประชาชนในการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและรัฐบาลท้องถิ่น และสื่อสารให้ชัดเจนต่อประชาชนว่า จะคาดหวังอะไรได้บ้างจากบริการสาธารณะ

ข้อห้า ความคาดหวังเกี่ยวกับสิ่งที่คนทำได้และไม่ได้มักจะกลายเป็นคำพยากรณ์ที่กลายเป็นความจริงเพราะพยากรณ์แบบนั้น (self-fulfilling prophecy)

นักเรียนรู้สึกเหนื่อยหน่าย เลิกไปโรงเรียนหลังจากที่ครู (บางทีก็รวมพ่อแม่ด้วย) แสดงอาการดูถูกดูแคลนว่าพวกเขา “โง่เกินกว่าจะเรียนได้” ผู้ประกอบการขนาดจิ๋วไม่พยายามชำระหนี้เพราะคิดว่าอีกไม่นานก็ต้องเป็นหนี้อีก พยาบาลเลิกไปทำงานเพราะไม่มีใครคาดหวังแล้วว่าพวกเธอจะไปทำงาน นักการเมืองที่ประชาชนไม่คาดหวังแล้วว่าจะรับใช้ประชาชนลงเอยด้วยการกอบโกยผลประโยชน์ ไม่อยากรับใช้ประชาชนจริง ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงความคาดหวังไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย และเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว สถานการณ์ที่ดีขึ้นนั้นเองก็จะเริ่มหักล้างความเชื่อผิดๆ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไปในทิศทางที่ถูกต้อง

สำคัญที่เราต้องเลิกเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนจน เลิกกลัวว่าการแจกเงินสด สิ่งของ หรือบริการ จะทำให้พวกเขางอมืองอเท้าไม่ทำอะไร.

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save