fbpx

Pontianak ผีตายทั้งกลม ความเชื่อร่วมของคนอุษาคเนย์

ก่อนการเข้ามาของศาสนาต่างๆ สู่ดินแดนอุษาคเนย์ ผู้คนในดินแดนนี้มีความเชื่อดั้งเดิมที่มีลักษณะคล้ายๆ กันคือความเชื่อเรื่องสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ต่อมาศาสนาหลักๆ ถูกนำมาเผยแผ่ในภูมิภาคนี้ จนทุกวันนี้เราจะเห็นว่าศาสนาหลักๆ ของโลกได้ลงหลักปักฐานในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็น คริสต์ อิสลาม ฮินดู พุทธ และอื่นๆ แต่ความเชื่อดั้งเดิมไม่ได้สูญสลายมลายหายไปด้วย หากแต่ยังดำรงอยู่และประชาชนก็ยึดถือปฏิบัติควบคู่กับการเป็นศาสนิกชน

ความเชื่อเรื่องผีเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนอุษาคเนย์มาอย่างยาวนาน ในดินแดนโลกมลายูประเทศหมู่เกาะ (อินโดนีเซีย, มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน) มีความเชื่อเรื่องผีร่วมกันอยู่หลายตน หนึ่งในนั้นคือผีที่มีชื่อว่า ปอนเตียนัค (Pontianak) หรือผีตายทั้งกลม คือผู้หญิงที่เสียชีวิตในขณะคลอดลูกแล้วกลายเป็นผีที่มีความเฮี้ยนรุนแรง ผีปอนเตียนัคถูกอธิบายว่าเป็นผีผู้หญิงในชุดขาว ผมยาว เล็บยาว ฟันยาว ดูดเลือดเหยื่อคล้ายแวมไพร์ ด้วยความแค้นรุนแรงที่ตนเองเสียชีวิตพร้อมลูกทำให้ปอนเตียนัคมักทำร้ายผู้หญิงตั้งครรภ์และคนอื่นๆ ด้วย

ปอนเตียนัคมีฤทธิ์มากหลอกหลอนผู้คนจนเป็นที่หวาดกลัวของผู้คนในโลกมลายู จนชื่อและเรื่องราวของปอนเตียนัคเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นผีแห่งนูซันตารา (ดินแดนหมู่เกาะ) ชื่ออื่นของปอนเตียนัคได้แก่ ปุนเตียนัค (Puntianak) และ กุนตีลานัค (Kuntilanak) ซึ่งคำหลังนี้เป็นที่นิยมเรียกกันในประเทศอินโดนีเซีย ทั้งคำว่าปอนเตียนัค ปุนเตียนัค และกุนตีลานัคมีคำว่า ‘อานัค’ (anak) ซึ่งแปลว่า เด็ก หรือ ลูก ในภาษามลายู

ปอนเตียนัคของคนมลายูจะมีรูที่ด้านหลังต้นคอ และเมื่อปอนเตียนัคปรากฏกายจะมีกลิ่นหอมของดอกลีลาวดี ส่วนกุนตีลานัคของคนอินโดนีเซียจะไม่มีรูที่ด้านหลัง และมักสิงสถิตอยู่ในต้นไม้ ในความเชื่อของคนชวากุนตีลานัคจะไม่สามารถทำร้ายผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ได้หากผู้หญิงนั้นนำของมีคม เช่น ตะปู มีดและกรรไกรติดตัวไปด้วยเวลาไปไหนมาไหน ปอนเตียนัคกลัวตะปู เชื่อกันว่าตะปูสามารถใช้ปราบปอนเตียนัคได้ หากตอกตะปูเข้าไปที่หลังคอปอนเตียนัคจะกลายเป็นผู้หญิงธรรมดา แต่หากถอนตะปูออกปอนเตียนัคจะกลับไปเป็นผี

ในความเชื่อของศาสนาอิสลาม ปอนเตียนัคจัดเป็นญิน (Jinn) หรือสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติประเภทหนึ่งที่มีระบุอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าญินหมายถึงผีในความหมายที่รับรู้กันทั่วไป และปอนเตียนัคจะกลัวเสียงเรียกละหมาด ดังนั้นวิธีการขับไล่ปอนเตียนัคก็คือละหมาด สวดมนต์ และอธิษฐานต่อพระเจ้า

แต่ปอนเตียนัคไม่ได้เป็นแค่ชื่อเรียกผีผู้หญิงตายทั้งกลมเท่านั้น หากยังเป็นชื่อเมืองแห่งหนึ่งในเกาะกาลิมันตันประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย

เมืองปอนเตียนัค (Pontianak) ในเกาะกาลิมันตัน: ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร?

เกาะกาลิมันตันหรือเกาะเบอร์เนียวที่เป็นข่าวโด่งดังในช่วงเดือนที่ผ่านมาจากกรณีอินโดนีเซียจะย้ายเมืองหลวงใหม่ของประเทศไปอยู่ที่เกาะกาลิมันตัน ซึ่งชื่อเมืองหลวงใหม่คือ ‘นูซันตารา’ ในเกาะกาลิมันตันยังมีเมืองที่สำคัญอีกหลายเมือง เมืองปอนเตียนัคเป็นเมืองเอกของจังหวัดกาลิมันตันตะวันตก มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและชาวจีนเรียกเมืองปอนเตียนัคว่า ‘กุนเตียน’ (Kundian) เมืองปอนเตียนัคยังเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘เมืองเส้นศูนย์สูตร’ เพราะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตรพอดี มีอนุสาวรีย์เส้นศูนย์สูตรตั้งอยู่ที่เมืองปอนเตียนัคซึ่งในหนึ่งปีจะมีสองวันที่เป็นวันไร้เงาเมื่อเราไปยืนตรงบริเวณอนุสาวรีย์ดังกล่าว และมีความเชื่อท้องถิ่นว่าใครก็ตามที่ไปยืนที่เส้นศูนย์สูตรในช่วงเกิดปรากฏการณ์วันไร้เงาจะทำให้คนผู้นั้นอ่อนเยาว์ตลอดกาล ทำให้ในแต่ละปีมีผู้คนไปเยี่ยมชมอนุสาวรีย์เส้นศูนย์สูตรกันเป็นจำนวนมาก เมืองปอนเตียนัคมีแม่น้ำกาปูวัส (Kapuas) และลันดัค (Landak) เป็นแม่น้ำสายสำคัญ ซึ่งแม่น้ำกาปูวัสเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย

สุลต่านชารีฟ อับดูร์ระห์มาน อัลกาดรี (Syarif Abdurrahman Alkadrie) กำเนิดราวปี 1729-1730 เป็นบุตรของผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลามจากอาหรับ สุลต่านชารีฟ อับดูร์ระห์มาน อัลกาดรีเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นสุลต่านองค์แรกของอาณาจักรปอนเตียนัค อาณาจักรถูกสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 1771

มีหลายทฤษฎีบอกเล่าที่มาของชื่อเมืองปอนเตียนัค ทฤษฎีแรก มีเรื่องเล่าว่ากำเนิดชื่อเมืองปอนเตียนัคเกี่ยวพันกับผีปอนเตียนัค ก่อนที่สุลต่านจะสร้างอาณาจักรขึ้น ทุกครั้งที่พระองค์ข้ามแม่น้ำกาปูวัสจะต้องถูกผีปอนเตียนัครบกวน สุลต่านจึงยิงปืนใหญ่เพื่อไล่ผีปอนเตียนัคและตั้งจิตอธิษฐานว่ากระสุนปืนไปตก ณ จุดใดจะตั้งอาณาจักรขึ้นที่นั่น และสุลต่านก็ได้ตั้งอาณาจักรและใช้ชื่อว่าอาณาจักรปอนเตียนัคและกลายเป็นชื่อของเมืองเอกของจังหวัดกาลิมันตันตะวันตกจนถึงปัจจุบัน

ทฤษฎีที่สอง ชื่อปอนเตียนัคมาจากคำว่า ‘ปอนเตียน’ (Pontian) ในภาษาท้องถิ่น แปลว่าที่หยุดพักหรือที่แวะพัก ด้วยทำเลที่ตั้งของเมืองทำให้เมืองปอนเตียนัคเป็นที่แวะพักของบรรดานักเดินเรือและพ่อค้า

ทฤษฎีที่สาม ชื่อปอนเตียนัคมาจากคำว่า ‘กุนเตียน’ (Kūn diàn [坤甸]) ในภาษาจีนแปลว่าที่แวะพักเช่นกัน และทุกวันนี้ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวจีนในเมืองปอนเตียนัคยังคงเรียกชื่อเมืองว่ากุนเตียน และทฤษฎีที่สี่บอกว่าชื่อปอนเตียนัคมาจากคำในภาษามลายูว่า ‘ต้นไม้สูง’ (pohon [ต้นไม้] tinggi [สูง]) แล้วกร่อนเป็น ponti

ในปี 2017 การ์ตียุส (Kartius) ประธานองค์กรกีฬา, การท่องเที่ยวและเยาวชนกาลิมันตันตะวันตก (West Kalimantan’s Youth, Tourism and Sports Agency) ได้เสนอแนวคิดว่าควรสร้างรูปปั้นปอนเตียนัคสูงหนึ่งร้อยเมตรที่ริมฝั่งแม่น้ำกาปูวัสเพื่อเป็นแหล่งดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามความคิดนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักจากชุมชนท้องถิ่น และมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘ขบวนการชุมชนปฏิเสธรูปปั้นผี’ (Gerakan Masyarakat Tolak Patung Hantu) ได้เดินทางไปที่สภาเทศบาลเมืองเพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดในการสร้างรูปปั้นปอนเตียนัคดังกล่าว และจนปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการสร้างรูปปั้นปอนเตียนัค

ผีตายทั้งกลม สังคมชายเป็นใหญ่ และความห่างไกลจากระบบสาธารณสุขสมัยใหม่

ความเชื่อเรื่องปอนเตียนัคถูกนำมาถ่ายทอดทั้งในรูปแบบนิทาน นิยาย และภาพยนตร์ทั้งในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซียอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 จนถึงปัจจุบัน ปอนเตียนัคในบางเรื่องเล่ากล่าวว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ถูกรุมข่มขืนและถูกสังหารโดยคนเหล่านั้น ทำให้เธอมีความแค้นและกลับมาแก้แค้นผู้ที่ทำร้ายเธอ ในเรื่องเล่าอื่นคือปอนเตียนัคเป็นผู้หญิงที่เสียชีวิตในขณะคลอดลูก

เรื่องเล่าทั้งสองแบบสะท้อนการเสียชีวิตที่เป็นโศกนาฏกรรม และแท้จริงแล้วปอนเตียนัคเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำ แต่เมื่อนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ปอนเตียนัคเป็นผีที่น่ากลัว น่าสยดสยอง เป็นผู้กระทำที่สังหารผู้คนแบบไร้เหตุผล

ปอนเตียนัคตอนยังมีชีวิตคือหญิงสาวสวยผู้สงบเสงี่ยมเรียบร้อย เป็นแบบฉบับของผู้หญิงที่ดีตามแบบอุดมคติของสังคมคืองดงามทั้งกาย วาจา และกิริยา เป็นลูกสาวที่เพียบพร้อม เป็นภรรยาหรือมารดาที่ดี แต่เมื่อเสียชีวิตแล้วและเมื่อตะปูที่หลังคอถูกดึงออก ปอนเตียนัคกลายเป็นผีดุร้ายออกอาละวาดและควบคุมไม่ได้ ซึ่งเป็นลักษณะไม่พึงประสงค์ของผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมโลกมลายู ดังนั้นเธอจึงต้องถูกปราบเพื่อให้สังคมกลับคืนสู่ภาวะปกติสุข และโดยมากผู้ที่ปราบปอนเตียนัคคือหมอผีผู้ชาย ตะปูเป็นเครื่องมือในการควบคุมและกดปอนเตียนัคให้อยู่ในคำสั่ง สังคมจะเป็นปกติสุขหากผู้หญิงอยู่ในกรอบและเชื่อฟังคำสั่ง และปฏิบัติตนเป็นลูกสาว ภรรยาและมารดาที่ดีซึ่งเป็นบทบาทที่สังคมต้องการจากผู้หญิง มองจากมุมนี้ปอนเตียนัคสะท้อนภาพผู้หญิงที่ถูกกดทับและควบคุมโดยผู้ชายในสังคมชายเป็นใหญ่

ปอนเตียนัคกลัวแสงไฟและเสียง สถานที่อยู่อาศัยของปอนเตียนัคคือต้นไม้ใหญ่ที่ห่างไกลจากเมือง มืด และเงียบสงบ สะท้อนสภาพสังคมในยุคที่การพัฒนายังเข้าไม่ถึงพื้นที่ชนบท ห่างไกลความเจริญต่างๆ รวมถึงระบบสาธารณสุขสมัยใหม่ โรงพยาบาลห่างออกไปเป็นร้อยกิโลเมตร การคลอดลูกของผู้หญิงจึงกระทำในบ้านและอยู่ในมือของหมอตำแย การคลอดลูกแล้วเสียชีวิตเกิดขึ้นได้เป็นปกติ ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นทั่วไปในพื้นที่ชนบทของภูมิภาคนี้ในช่วง 60-70 ปีที่แล้ว ในแง่นี้ปอนเตียนัคคือภาพแทนของความไม่ทันสมัย ไม่พัฒนา ความเป็นชายขอบทั้งในแง่ของพื้นที่และชายขอบของการพัฒนาจากสังคมสมัยใหม่

การผลิตซ้ำเรื่องปอนเตียนัคในรูปแบบสื่อต่างๆ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษที่ผ่านมาและมักประสบความสำเร็จในด้านความนิยมชมชอบและรายได้ แต่มักถูกนำเสนอเป็นภาพยนตร์หรือเรื่องเล่าย้อนยุค เพราะผีตายทั้งกลมหาได้ยากในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของระบบสาธารณสุขสมัยใหม่ที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงคลอดลูกลดน้อยลงมาก ปอนเตียนัคจึงเป็นความน่ากลัว สิ่งที่ตามมาหลอกหลอนจากโลกเก่า เฉกเช่นแนวคิดชายเป็นใหญ่ จะต่างกันก็ตรงที่แนวคิดชายเป็นใหญ่มาจากโลกเก่าแต่สามารถแปลงกายอยู่ในโลกใหม่ได้อย่างดีและปราบไม่ได้ง่ายๆ เพียงแค่ตอกตะปูลงไปตรงหลังคอเหมือนกำราบปอนเตียนัค


เอกสารประกอบการเขียน

1. Cheryl L. Nicholas and Kimberly N. Kline, “Cerita Pontianak: Cultural Contradictions and Patriarchy in a Malay Ghost Story,” Storytelling, Self, Society, Vol 6, No. 3 (September-December 2010), pp. 194-211.

2. Cheryl L. Nicholas, Radhica Ganapathy and Heidi Mau, “Malaysian Cerita Hantu: Intersections of Race, Religiosity, Class, Gender, and Sexuality,” Journal of International and Intercultural Communication, Vol 6, No. 3, August 2013, pp. 163-182.

3. “If Singapore has a lion, why should Indonesia’s Pintianak not have a ghost?,” The Straits Times, https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/if-singapore-has-a-lion-why-should-indonesias-pontianak-not-have-a-ghost

4. Kenneth Paul Tan, “Pontianaks, Ghosts and the Possessed: Female Monstrosity and National Anxiety in Singapore Cinema,” Asian Studies Review, June 2010, Vol. 34, pp. 151-170.

5. Rachmawati (ed.), “Asal-usul Pontianak, Legenda Hantu Kuntilanak hingga Hari Tanpa Bayangan di Tugu Khatulistiwa,” kampas.com https://regional.kompas.com/read/2021/03/23/101500678/asal-usul-pontianak-legenda-hantu-kuntilanak-hingga-hari-tanpa-bayangan-di?page=all

6. Timo Duile, “Kuntilanak: Ghost Narratives and Malay Modernity in Pontianak, Indonesia,” Bijdragen tot de taal-, land- en volkenkunde 176 (2020), pp. 279-303.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save