fbpx
การเมืองเรื่องยุบพรรค : ย้อนดูการยุบพรรคการเมืองของอินโดนีเซีย

การเมืองเรื่องยุบพรรค : ย้อนดูการยุบพรรคการเมืองของอินโดนีเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ประเทศอินโดนีเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์การเมืองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะพัฒนาการด้านประชาธิปไตย เพราะหลังจากสิ้นสุดการปกครองระบอบอำนาจนิยมในยุคระเบียบใหม่ภายใต้ประธานาธิบดีซูฮาร์โตแล้ว อินโดนีเซียก็เริ่มเดินกลับเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยตามลำดับ จนได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า เป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยที่ก้าวกระโดดและโดดเด่นกว่าชาติอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

ในปี 2019 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้จัดการเลือกตั้งทั่วไป โดยมีพรรคการเมืองที่ลงสมัครและผ่านเกณฑ์คุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งสิ้น 14 พรรค เช่น พรรค Partai Gerakan Indonesia Raya (Gerindra) พรรค Partai Demokrasi Indoensia Perjuangan (PDIP) หรือพรรค Partai Golongan Karya (Golkar) เป็นต้น ซึ่งในบรรดา 14 พรรคนี้ มีทั้งพรรคเก่าแก่ดั้งเดิม และพรรคที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่หลังอินโดนีเซียทำการปฏิรูปทางการเมือง ทั้งนี้ ผลจากการเลือกตั้งปี 2019 ปรากฏว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากชนะเด็ดขาด ทำให้อินโดนีเซียมีระบบพรรครัฐบาลผสม นำโดยประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง (2019-2024) และมีพรรค PDIP พรรค Golkar พรรค PKB พรรค Nasdem พรรค PPP และพรรค Gerinda เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

แน่นอนว่า เส้นทางของพรรคการเมืองในอินโดนีเซียไม่ได้ราบรื่นดั่งโรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่ผ่านช่วงเวลาที่ล้มลุกคลุกคลานมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะความเป็นอิสระ การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของพรรคการเมือง รวมถึงการยุบพรรคการเมือง เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดว่า สังคมนั้นเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด

 

กำเนิดพรรคการเมืองจากองค์กรของนักชาตินิยม

 

ประวัติศาสตร์พรรคการเมืองในประเทศอินโดนีเซียสามารถสืบย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยอาณานิคม เริ่มตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1900-1910 ที่ได้เกิดองค์กรทางการเมืองขึ้น เช่น Budi Utomo ก่อตั้งปี 1908 และ Sarekat Islam ก่อตั้งปี 1911 หากแต่ในตอนแรก องค์กร Budi Utomo เน้นด้านวัฒนธรรมชวา ส่วน Sarekat Islam เป็นองค์กรของพ่อค้าผ้าบาติกชาวมุสลิม แต่ต่อมา ทั้งสององค์กรได้พัฒนามาเป็นองค์กรทางด้านการเมือง และยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมใน Volksraad (สภาประชาชน) ที่เจ้าอาณานิคมดัตช์ก่อตั้งขึ้นในปี 1916 ด้วย

หลังจากนั้น ได้เกิดองค์กรและพรรคการเมืองตามมามากมาย เช่น Indische Partij (IP) Insulinde, Indische Sociaal Democratische Vereeniging (ISDV) และ Partai Komunis Indonesia (PKI) เป็นต้น โดยองค์กรและพรรคการเมืองเหล่านี้ต่างถูกก่อตั้งขึ้นตามอุดมการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งสิ่งที่ปรากฎให้เห็นแน่ชัดคือ สำนึกในเรื่องชาตินิยม สิทธิ และการแสดงออกทางการเมือง ได้เริ่มก่อตัวขึ้นในกลุ่มผู้นำขณะนั้น

เมื่ออินโดนีเซียได้รับเอกราช ในการเลือกตั้งครั้งแรกปี 1955 พรรคการเมืองได้ลงสมัครรับเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก แต่การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ มาสะดุดในช่วงที่ซูการ์โนประกาศใช้นโยบาย ‘ประชาธิปไตยแบบชี้นำ’ ในปี 1959 ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ถูกลดบทบาทและอำนาจลง

ต่อมา ในสมัยยุคระเบียบใหม่ (1966-1998) พรรคการเมืองต่างๆ ถูกควบคุมและจำกัดเสรีภาพมากขึ้น ทำให้พรรคการเมืองล้มหายตายไปจากประวัติศาสตร์ของประเทศเป็นเวลาเกือบสามทศวรรษ ในตอนนั้น พรรคการเมืองถูกบีบให้รวมตัวกันเหลือเพียง 2 พรรคและหนึ่งกลุ่มการเมืองคือ Golkar (Golongan Karya) ซึ่งมีเพียงกลุ่ม Golkar เท่านั้นที่มีความเข้มแข็งและชนะการเลือกตั้งทุกครั้งในยุคระเบียบใหม่

เมื่อยุคระเบียบใหม่สิ้นสุดลง และประเทศเข้าสู่ยุคปฏิรูปในปี 1999 นี้เอง ที่ได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมือง โดยอนุญาตให้มีการตั้งพรรคการเมืองได้แบบเสรี ทำให้มีพรรคการเมืองที่ขอจดทะเบียนถึง 141 พรรค แต่มีเพียง 48 พรรคที่ผ่านคุณสมบัติสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 1999 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในยุคปฏิรูปได้

 

การยุบพรรคการเมืองในอินโดนีเซีย

 

อินโดนีเซียมีการยุบพรรคการเมืองมาตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีซูการ์โนและยุคระเบียบใหม่ ขณะที่ในยุคปฏิรูป มีความพยายามจะฟ้องร้องเพื่อยุบพรรคการเมือง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ การยุบพรรคการเมืองในแต่ละยุคกระทำโดยมีกฎหมายรองรับ ยกเว้นในยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โตที่มีการเลี่ยงบาลี ไม่ใช้คำว่า ‘ยุบพรรคการเมือง’ แต่เรียกว่าเป็น ‘การแช่แข็งการจัดการศูนย์กลางพรรคการเมือง’ ซึ่งหมายความว่า ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้นในฐานะพรรคการเมือง อันที่จริงแล้ว ผลของการแช่แข็งไม่ได้แตกต่างจากการยุบพรรคแต่อย่างใด แต่การยุบพรรคการเมืองถือว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงในทางการเมือง รัฐบาลซูฮาร์โตจึงเลี่ยงไปใช้คำว่า ‘การแช่แข็งพรรคการเมือง’ แทน

 

การยุบพรรคการเมืองในยุคซูการ์โน

การยุบพรรคการเมืองในยุคนี้สัมพันธ์กับอุดมการณ์ของชาติในขณะนั้นคือ ‘ชาติ ศาสนา คอมมิวนิสต์’ หรือเรียกอย่างย่อในภาษาอินโดนีเซียว่า NASAKOM ซึ่งย่อมาจาก Nasional (ชาติ) Agama (ศาสนา) และ Komunis (คอมมิวนิสต์)  อุดมการณ์นี้ถูกประกาศโดยซูการ์โน ซึ่งสะท้อนมุมมองของเขาที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ ‘คอมมิวนิสต์’ เพื่อมาคานอำนาจกับกองทัพที่มีความเข้มแข็งอย่างมากในขณะนั้น

การจะยุบหรือไม่ยุบพรรคในยุคนี้ขึ้นอยู่กับอำนาจของฝ่ายบริหาร (ประธานาธิบดี) ขณะที่ศาลสูงเป็นเพียงผู้พิจารณาตามคำขอของประธานาธิบดีเท่านั้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับ ‘การแช่แข็งการจัดการศูนย์กลางพรรคการเมือง’ ในยุคระเบียบใหม่ที่ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งการ แต่การยุบพรรคการเมืองในยุคปฏิรูปเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลสูงและศาลรัฐธรรมนูญ

ในปี 1960 หลังการประกาศใช้ ‘ประชาธิปไตยแบบชี้นำ’ มีพรรคการเมือง 2 พรรคถูกยุบ คือ พรรค Masyumi (ชื่อเต็มคือ  Partai Majelis Syuro Muslimin Indonesia หรือ Council of Indonesian Muslim Association) และพรรค Partai Sosialis Indonesia (PSI) หรือพรรคสังคมนิยมอินโดนีเซีย เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อกบฏในปี 1958 ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะสุมาตราตะวันตกและสุลาเวสี และหนึ่งพรรคการเมืองถูก ‘แช่แข็ง’ ด้วยข้อหาทำลายเอกภาพของชาติ ได้แก่ พรรค Partai Musyawarah Rakyat Banyak (Murba) ซึ่งการยุบพรรค Masyumi และ PSI สัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างทั้งสองพรรคกับประธานาธิบดีซูการ์โน และบรรดาพรรคการเมืองที่สนับสนุนซูการ์โน โดยเฉพาะในกรณีของพรรค PKI

ในตอนนั้น พรรค Masyumi เป็นพรรคอิสลามที่มีผู้สนับสนุนจำนวนมาก ชนิดที่ว่าในการเลือกตั้งปี 1955 พรรค Masyumi ได้รับเสียงมากที่สุดคู่กับพรรค Partai Nasional Indonesia (PNI) รองลงมาคือพรรค Partai Nahdlatul Ulama (NU) และ Partai Komunis Indonesia (PKI) หรือ พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ส่วนพรรค PSI นั้น แม้จะไม่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากมาย แต่ก็ยังเป็นพรรคที่มีอิทธิพลค่อนข้างมาก เนื่องจากบรรดาผู้นำพรรคเป็นกลุ่มปัญญาชนและเทคโนแครตที่มีบทบาทสำคัญในรัฐบาล

ต่อมา ในช่วงต้นปี 1965 ประธานาธิบดีซูการ์โนได้ ‘แช่แข็ง’ พรรค Murba ซึ่งการกระทำของซูการ์โนถูกมองว่า เป็นการเลือกข้างและเข้าข้างพรรค PKI อย่างโจ่งแจ้ง เนื่องจากพรรค Murba มีความขัดแย้งกับพรรค PKI อย่างรุนแรง และพรรค Murba ยังได้เอกสารลับของพรรค PKI ที่ระบุว่า PKI จะทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ พรรค Murba จึงได้นำเอกสารดังกล่าวส่งให้ผู้นำพรรค PNI และได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่พรรค PKI ปฏิเสธและกล่าวว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของปลอม จนในที่สุดซูการ์โนก็ประกาศ ‘แช่แข็ง’ พรรค Murba ซึ่งส่งผลให้สมาชิกพรรคต้องยุติบทบาททางการเมืองด้วย

 

การยุบพรรคการเมืองในยุคระเบียบใหม่

ยุคระเบียบใหม่เริ่มต้นขึ้นจากความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกองทัพบกและพรรค PKI ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุด เมื่อเกิดความพยายามทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 30 กันยายน 1965 หรือที่เรียกโดยย่อว่า ‘เกสตาปู’ โดยกลุ่มผู้ก่อการได้ลักพาตัวและสังหารนายพลทหาร 6 นาย และนายทหารยศร้อยโทอีก 1 นาย จากนั้นทิ้งศพทั้งหมดในบ่อน้ำร้างที่เขตฐานทัพอากาศ แต่กลุ่มผู้ก่อการดังกล่าวล้มเหลวในความพยายามทำรัฐประหาร และพรรค PKI ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ โดยผู้ที่มีบทบาทในการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการคือ พลตรีซูฮาร์โตและหน่วยทหารในการดูแลของเขา

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลังจากที่ซูฮาร์โตรับมอบอำนาจในการบริหารประเทศอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดีซูการ์โนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 1966 แล้ว ในวันถัดมา ซูฮาร์โตก็ได้ประกาศยุบพรรค PKI พร้อมทั้งประกาศให้เป็นพรรคต้องห้าม ผ่านคำสั่งประธานาธิบดี เลขที่ 1/3/1966 ซึ่งลงนามโดยซูฮาร์โตผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานาธิบดี ต่อมา คำสั่งนี้ได้รับการยืนยันในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ผ่านบทบัญญัติของสภาชั่วคราว เลขที่ XXV/MPRS/1966 เกี่ยวกับการยุบพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย และห้ามพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียดำเนินกิจกรรมทางองค์กรใดๆ ทั่วอาณาเขตประเทศ รวมถึงห้ามการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ มาร์กซิสต์และเลนินนิสต์ในทุกช่องทาง ซึ่งในการยุบพรรค PKI ได้อ้างเรื่องความมั่นคงและอุดมการณ์ของพรรคที่ถูกมองว่าขัดแย้งกับหลักปัญจสีลาซึ่งเป็นอุดมการณ์แห่งชาติ นอกจากนี้ สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรค PKI ยังพยายามยึดอำนาจรัฐอยู่หลายครั้ง

การยุบพรรคและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับ PKI ทั้งหมด รวมถึงการห้ามการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นส่วนหนึ่งของ ‘การกวาดล้าง’ สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรค PKI กล่าวคือ เป็นการกำจัดทั้งอุดมการณ์ที่เป็นนามธรรมและในทางรูปธรรม คือการสังหารสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรค PKI ทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ มีการประเมินกันว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสังหารนี้อยู่ที่ราว 500,000 – 2,000,000 คน ขณะที่กฎหมายห้ามกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน และเหตุการณ์กวาดล้างสังหารหมู่ในช่วงปี 1965-1966 นี้ยังคงเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของประเทศอินโดนีเซีย

นอกจากพรรค PKI แล้ว ยังมีพรรคการเมืองอีกหนึ่งพรรคที่ถูก ‘แช่แข็ง’ ห้ามการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรค PKI คือพรรค Partindo เนื่องจากพรรค Partindo สนับสนุนจุดยืนและนโยบายของพรรค PKI มาโดยตลอด การถูกแช่งแข็งพรรคจึงส่งผลให้สมาชิกพรรค Partindo ที่อยู่ในสภาต้องยุติบทบาทด้วย

การเลือกตั้งครั้งแรกของยุคระเบียบใหม่เกิดขึ้นในปี 1971 โดยมีพรรคการเมือง 9 พรรค และองค์กร Golongan Karya (Golkar) ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วไม่ใช่พรรคการเมืองแต่สามารถลงเลือกตั้งได้ ทั้งยังได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกองทัพ ผลการเลือกตั้งคือ Golkar ชนะพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างขาดลอย

ต่อมาในปี 1973 รัฐบาลซูฮาร์โตมีคำสั่งให้รวมพรรคการเมืองเข้าด้วยกันให้เหลือเพียง 2 พรรคกับกลุ่ม Golkar เท่านั้น โดยให้รวมพรรคที่มีแนวทางชาตินิยมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งพรรค ทำให้พรรค PNI, Partai Katolik, Murba, IPKI และ Partai Kristen Indonesia รวมกันเป็นพรรค Partai Demokrasi Indonesia (PDI) หรือพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย และพรรคที่เน้นทางด้านศาสนาอิสลามและจิตวิญญาณรวมกันเป็นอีกหนึ่งพรรค ส่งผลให้พรรค NU, PSII, Perti และ Parmusi รวมกันเป็นพรรค Partai Persatuan Pembangunan (PPP) หรือพรรคสหพัฒนาการ คำสั่งดังกล่าว แม้จะไม่ใข่การยุบพรรคการเมืองโดยตรง แต่ก็มีผลคล้ายกับการยุบพรรค และนำไปสู่การจำกัดความเป็นอิสระของพรรคการเมือง หลังจากนั้น รัฐบาลซูฮาร์โตยังออกกฎหมายควบคุมพรรคการเมืองและห้ามการตั้งพรรคการเมืองใหม่

 

การยุบพรรคการเมืองในยุคปฏิรูป

กลุ่ม Golkar ได้เปลี่ยนตัวเองมาเป็นพรรค Golkar ในยุคปฏิรูป และมีผู้ยื่นฟ้องให้ยุบพรรค Golkar เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในขั้วอำนาจของรัฐบาลในยุคระเบียบใหม่ แต่ผลการวินิจฉัยของคณะผู้พิพากษามีความเห็นว่า หลักฐานไม่เพียงพอที่จะชี้ว่าพรรค Golkar ได้ละเมิดกฎหมายพรรคการเมืองที่ได้มีการยกร่างใหม่ในยุคปฏิรูป ทำให้พรรค Golkar ยังดำรงอยู่และเป็นพรรคที่มีความสำคัญในประเทศอินโดนีเซียจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การยุบพรรคการเมืองในยุคปฏิรูปยังคงยึดตามแบบปฏิบัติในยุคระเบียบใหม่ กล่าวคือ หากพรรคการเมืองใดๆ กระทำการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดคอมมิวนิสต์ มาร์กซิสต์ และเลนินนิสต์ จะเข้าข่ายถูกยุบพรรค

จะเห็นได้ว่าการยุบพรรคการเมืองในอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะด้วยวิธีการยุบพรรคโดยตรงหรือ ‘การแช่แข็งพรรคการเมือง’ โดยห้ามพรรคทำกิจกรรมใดๆ ทางการเมือง ล้วนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจในขณะนั้น เพื่อรักษาอำนาจของตนเองและบ่อนเซาะทำลายกลุ่มหรือพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่มีแนวโน้มว่า จะเป็นภัยต่อการครองและสืบทอดอำนาจของผู้กุมอำนาจ แต่ไม่ได้หมายความว่า พรรคการเมืองเหล่านั้นเป็นภัยต่อประเทศชาติโดยแท้จริงแต่อย่างใด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save