fbpx

วิชาเลือกเสรี

นิสิตมาขอหารือกับคนสอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อหาวิชาเลือกเสรีลงทะเบียนเรียนในเทอมหน้า คนให้คำปรึกษาจึงเริ่มด้วยการถามความสนใจของเขา

เขาบอกว่า ได้ข้อสังเกตมาจากการเรียนประวัติศาสตร์การทูตการสงครามว่า ประวัติศาสตร์แบบนี้ใช้ผู้นำและการดำเนินนโยบาย-ยุทธศาสตร์ของผู้นำเป็นตัวเดินเรื่อง แต่มาพอเรียนการเมืองในวิชารัฐศาสตร์พบว่าคำอธิบายในเนื้อหาการเรียนจะอยู่ที่ปัจจัยอื่นๆ เป็นพลังทางสังคมบ้าง หรือเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้าง สถาบันการเมือง ระบอบการเมือง และกฎหมายบ้าง หรือไม่ก็เน้นปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี วัฒนธรรมค่านิยม มากกว่าที่จะเน้นศิลปะของผู้นำในการตัดสินใจทางการเมือง เขาสนใจอยากเรียนเกี่ยวกับการตัดสินใจเพิ่มเติมและถามว่าหลักสูตรความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ภาควิชาฯ มีวิชาที่สอนศิลปศาสตร์การเป็นผู้นำในการวางยุทธศาสตร์หรือขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงบ้างหรือไม่ เขาสนใจจะเลือกเป็นวิชาเลือกเสรี

คำถามและความสนใจของนิสิตเลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้บทสนทนานี้มา

คนให้คำปรึกษาถามนิสิตว่า สนใจเรื่องวิธีการตัดสินใจของผู้นำอย่างนี้ อ่านงานใครมาบ้างหรือยังและชอบงานของใคร นิสิตบอกว่าชอบ The Prince เพราะอ่านแล้วชวนให้เห็นใจคนเป็นผู้นำ เลยทำให้สนใจอยากศึกษาเรื่องนี้ต่อ เมื่อคนให้คำปรึกษาได้ยินอย่างนั้น เลยขอให้นิสิตขยายความให้ฟังว่า ตรงไหนใน The Prince ที่คนเขียนพาให้เกิดความเห็นใจผู้นำขึ้นมาได้

เขาบอกว่า มาคิอาเวลลีไม่ได้สอนศีลธรรมของผู้นำ แต่ชี้ให้เห็นคุณสมบัติและทักษะอันคนเป็นผู้นำจำเป็นต้องมีหรือหาทางสร้างขึ้นมา ถ้าอยากจะรักษาอำนาจและรักษาความสำเร็จที่ตัวเองรวบรวมมาเอาไว้ได้ แต่ถึงอย่างนั้น แม้ใครจะมีคุณสมบัติและทักษะอันจำเป็นเหล่านั้นแล้ว เมื่อพวกเขาแต่ละคนถูกทดสอบโดยสถานการณ์ คุณสมบัติของบางคนก็มีไม่พอรับมือ หรือบางคนที่เก่งฉกาจ แต่เทพีแห่งโชคชะตาบางทีก็ไม่เข้าข้าง ถูกเหตุปัจจัยความพลิกผันในสถานการณ์ดาหน้าเข้าใส่เกินกว่าจะรับมือไหว ผู้นำที่ล้มเหลวเลยมีมากกว่าผู้นำที่สำเร็จ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ยิ่งมีน้อยนับคนได้ และยิ่งน้อยลงไปอีกที่จะเห็นความสำเร็จยิ่งใหญ่นั้นอยู่ยั่งยืนนาน

นิสิตแยกผู้นำที่ล้มเหลวออกมาว่าให้ฟังว่า ความล้มเหลวของพวกเขามีเหตุที่มาต่างกัน บางพวกคุณสมบัติมีไม่พอในตัวเองอยู่แล้ว สถานการณ์พาจับขึ้นมาให้เป็นผู้นำ ล้มเหลวไปก็ไม่น่าแปลกใจ แต่อีกพวกเป็นคนมีคุณสมบัติดีอยู่ในตัว แต่เหตุปัจจัยไม่เอื้อ เคยสำเร็จมาแล้วก็ล้มเหลวในภายหลังหรือไปไม่ถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการ เขาว่ามาคิอาเวลลีเองก็อยู่ในพวกหลังนี้เหมือนกัน แม้ไม่ใช่เป็นเจ้าผู้ปกครอง เลยต้องมาเขียน The Prince เพื่อหาหนทางจะทำให้คุณสมบัติของตนมีที่มีทางแสดงออกให้เป็นที่ประจักษ์ พออ่านคำอุทิศในThe Prince แล้ว รู้สึกเห็นใจในความดิ้นรนของมาคิอาเวลลีด้วย

พอฟังนิสิตจำแนกความล้มเหลวของผู้นำออกมาอย่างนั้น คนให้คำปรึกษาตั้งประเด็นถามเขาว่า นอกจากความล้มเหลวของผู้นำอย่างที่ว่ามา เป็นไปได้ไหมว่า โครงการความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในทางประวัติศาสตร์หรือในทางรัฐศาสตร์อย่างที่นิสิตเคยเรียนมา เช่น การเปลี่ยนแปลงจากระบบศักดินาในยุคกลางมาเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมในระบบทุนนิยม หรือการเปลี่ยนแปลงรัฐในแบบเก่ามาเป็นตัวแบบรัฐอธิปไตยสมัยใหม่ เปลี่ยนรัฐศาสนามาเป็นรัฐฆราวาส เหล่านี้ต่างเป็นโครงการซึ่งมีข้อจำกัดภายในที่ผูกความล้มเหลวติดมาอยู่แล้วในตัว หรือมิเช่นนั้น ข้อจำกัดก็มาจากการพยายามนำเอาตัวแบบการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลลัพธ์ทางประวัติศาสตร์จากเงื่อนไขเฉพาะของบางแห่ง เช่นยุโรป มาบังคับความแตกต่างที่เคยมีหลากหลายในที่อื่นๆ บีบให้ทั้งหมดนั้นลงอยู่ในพิมพ์เดียวกันหมด หรือดึงเข้ามาอยู่ในระบบปฏิบัติการใหญ่อันเดียวกัน แบ่งส่วนแบ่งงานกันทำ และทำแต่ละส่วนออกมาเหมือนกันไปหมด พอเป็นแบบนี้ ผู้นำที่เข้ามารับภารกิจทางประวัติศาสตร์ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ว่าเขาจะทำสำเร็จในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสักเพียงใด แต่สุดท้ายแล้ว ความล้มเหลวมันก็ผุดขึ้นมา ไม่ใช่เพราะคุณสมบัติในตัวเขามีไม่พอ หรือเป็นเพราะการตัดสินใจผิดพลาดของเขา หรือเพราะสถานการณ์ไม่เป็นใจ แต่เป็นเพราะว่ามันเป็นตัวแบบที่ผิดพลาดหรือมีความขัดแย้งภายในตัวมันเองผูกติดมาตั้งแต่แรก อันทำให้ในที่สุดไม่อาจไปถึงเป้าหมายที่ตัวแบบอุดมคติตั้งไว้ได้ และความกลับกลายไปก็มักจะทิ้งมรดกไว้เป็นบาดแผล  

อย่างความพยายามสถาปนารัฐอธิปไตยลงบนสังคมพหุชาติของติโตในกรณีของยูโกสลาเวีย หรือโครงการเปลี่ยนแปลงสังคมของเลนินและบอลเชวิกซึ่งใครๆ ที่รับอิทธิพลจากต้นทางนี้ไปก็ล้มเหลวทั้งนั้น แต่ปัญญาชนที่เสนอความคิดป้องกันความล้มเหลวแบบนี้ไว้อย่างฮาเย็กหรือฟรีดแมน หรือผู้นำต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเจียงไคเชก ไม่ค่อยมีใครว่าดี ไม่เหมือนกับเหมาที่ใครๆ มองว่ายิ่งใหญ่แม้จะมีข้อผิดพลาด ตกลงปรากฏการณ์อย่างเรดการ์ดและการปฏิวัติวัฒนธรรม หรือ reign of terror เป็นความบกพร่องผิดพลาดเลยเถิดของผู้นำ หรือว่ามันเป็นผลอันเลี่ยงไม่พ้นที่ความขัดแย้งภายในโครงการความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ก่อขึ้นมา      

นิสิตถามกึ่งแย้งว่า แต่กระแสความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แบบนี้ มีพลังหนุนที่เข้มข้น ที่ใครก็ยากปฏิเสธหรือฝืนต้านมิใช่หรือครับ จะไปบอกว่าอย่าเปลี่ยนเลย หรือว่าตัวแบบนั่นผิดพลาด อย่าเลือกทางนั้น ใครจะฟัง หรือใครจะรู้ว่าอะไรจะเป็นแบบไหนตั้งแต่แรก พลังหนุนคลื่นความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ไม่ได้มีแต่เฉพาะแต่อำนาจทางทหารและเศรษฐกิจที่เหนือกว่า แต่ที่แรงกว่านั้น คือพลังความคิดที่ส่งผลต่อการก่อตัวเป็นข้อเรียกร้องทางสังคม ที่สร้างกระแสความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเป็นคลื่นลูกใหญ่ ผู้นำคนไหนขี่คลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ก็ถูกม้วนจมหายไปแน่นอน

คนให้คำปรึกษาฟังแล้วถามต่อว่า ถ้าอย่างนั้น ศิลปะการเป็นผู้นำทางการเมืองที่นิสิตอยากเรียน คือความสามารถของคนเป็นผู้นำในการจะขี่คลื่นความเปลี่ยนแปลงให้ขึ้นถึงฝั่งอันเกษมอย่างนั้นหรือเปล่า

เขาว่า ถ้าเป็นในแง่ทิศทางการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันการเปลี่ยนแปลง หรือการหันเหควบคุมทิศทางและจังหวะของการเปลี่ยนแปลง ก็น่าสนใจทั้ง 2 ทาง

คนให้คำปรึกษาว่า ถ้าสนใจทั้งฝ่ายบุกและฝ่ายตั้งรับแบบนี้ การศึกษาเปรียบเทียบก็เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง โดยหาคู่เทียบให้เหมาะๆ ที่จะพาให้เห็นคุณสมบัติและทักษะของแต่ละคน โจทย์ประวัติศาสตร์ที่เขาแต่ละคนเจอ การจรบรรจบของเหตุปัจจัยกับการตัดสินใจของเขาจากวิสัยทัศน์และทัศนพิสัยในการมองสถานการณ์ของเขา

การศึกษาเปรียบเทียบแบบนี้ อาจอ่านวิลสันคู่กับเลนินที่ Arno Mayor ศึกษาเปรียบเทียบไว้ อ่านสตาลินคู่กับฮิตเลอร์ในงานที่ Alan Bullock เขียนไว้เล่มใหญ่ให้อ่านอย่างน่าติดตาม หรืออ่านคานธีกับเชอร์ชิลคู่กัน Arthur Herman เขียนนำทางไว้แล้ว หรืออีกคู่ที่น่าสนใจ คืออ่านเทียบข้ามสมัยระหว่างเหมาที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมและระเบียบระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 20 กับเม็ตเตอนิช ที่พยายามคัดท้ายการจัดระเบียบระหว่างประเทศเพื่อรักษาสถานภาพเดิมของจักรวรรดิออสเตรียในศตวรรษที่ 19 แล้วตามไปอ่านวิธีขี่คลื่นควบคุมความเปลี่ยนแปลงของคิสซินเจอร์อีกที ส่วนผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการเมืองสหรัฐฯ การเปรียบเทียบระหว่าง FDR กับเรแกน ก็เป็นอีกคู่หนึ่งที่มีคนสนใจศึกษาการนำของคนทั้งสอง และผลความเปลี่ยนแปลงที่ตามมาจากการนำนั้น อย่างที่พบในงานของ Carnes Lord แล้วมาดูว่า พออ่านเทียบเคียงแบบนี้จะได้อะไรออกมาเขียนเป็นคำแนะนำให้ผู้นำรุ่นปัจจุบันอย่างสีจิ้นผิงหรือทรัมป์และไบเดนบ้าง

นิสิตถามความเห็นต่อว่า ส่วนไหนในงานของคนเป็นผู้นำที่ควรแยกออกมาศึกษาให้ละเอียด ถ้าจะให้เข้าใจศิลปศาสตร์ของการใช้อำนาจการนำ คนให้คำปรึกษาล้อคนถามว่า อ้าว มาคิอาเวลลีไม่ได้บอกไว้หมดแล้วหรอกหรือ แล้วเลือกคำตอบจากในคำถามของเขานั่นเองมาเสนอให้เขาพิจารณา

เสนอความเห็นให้เขาฟังว่า การมีอำนาจการนำขึ้นมาได้เป็นของที่ควรศึกษาให้มากถ้าอยากเข้าใจความยากในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปทางไหน  คนบุกเบิกนำทางศึกษาเรื่องนี้คนหนึ่ง คือ มักซ์ เวเบอร์ ที่วางแนวทางศึกษารากฐานที่มาของ authority เอาไว้ เพราะอำนาจการนำที่ได้รับ consent จากคนตามต้องมีฐานของ authority เป็นองค์ประกอบสำคัญเสมอ คนที่สนใจการเปลี่ยนแปลงในสังคมสมัยใหม่มักสนใจติดตามผู้นำที่ท้าทาย authority และหาทางเปลี่ยน authoritative allocation of values (ไม่ว่านั่นจะคืออะไรก็ตาม) แต่ถ้าจะเลี่ยงผู้นำแบบ demagogue ให้พ้นในสถานการณ์แบบนี้ยังต้องคิดด้วยว่า การได้ไว้ซึ่งอำนาจการนำต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนฐานของ authority นี้ด้วย ว่าจะเปลี่ยนจากขนบธรรมเนียมประเพณี และจากมนต์ขลังของพลังเหนือธรรมชาติและศาสนา มาตั้งอยู่บนฐานของอะไร หรือบนหลายฐานประสมกันแบบไหน ที่นี่เลยเห็นว่าการสร้างอำนาจการนำจากฐานของ authority ที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมนี้น่าจะเป็นส่วนที่มีชีวิตชีวาที่สุดเรื่องหนึ่งในการศึกษาศิลปศาสตร์ของการเป็นผู้นำ

ถ้าหาก authority ในสังคมสมัยใหม่กระจายฐานออกไป และต้องการจากหลายฐานผสมกัน อย่างนั้น ผู้นำคนเดียวจะไหวไหมครับ ในการสร้างอำนาจการนำขึ้นมานำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ นิสิตถาม

คุณคิดว่าอย่างไรล่ะครับ คนให้คำปรึกษาขอความเห็นจากคนถาม

นิสิตตอบว่า คนคนเดียวไม่น่าพอนะครับ ไม่น่าจะมีใครมีครบหมดทุกฐานสำหรับ authority สมัยใหม่ ยิ่งฐานความรู้ยิ่งยาก เพราะความรู้ยิ่งมายิ่งแตกแขนง และเทคโนโลยีก็เปลี่ยนเร็ว ไม่ทันที่อะไรจะตั้งตัวให้อยู่ตัวได้นานก็ถูกทิ้งเสียแล้ว และการเปลี่ยนแปลงในสังคมก็ไม่เท่ากัน ไม่สม่ำเสมอกัน ส่วนหนึ่งตามเงินคริปโตไปแล้ว อีกส่วนยังมองหาเลขเด็ด หรือไม่ก็ต้องบอกว่า ปัจจัยผู้นำเพียงปัจจัยเดียวไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ถ้าอย่างนั้น ผู้นำยังเป็นปัจจัยสำคัญอยู่ไหมครับ หรือว่าที่ศิลปะของการนำและการตัดสินใจของผู้นำหาเรียนได้ยาก เพราะมันหมดที่ใช้เสียแล้ว

คนให้คำปรึกษาบอกนิสิตว่าอย่าเพิ่งถอดใจ เมื่อสนใจเรื่องผู้นำและอำนาจการนำของคนเป็นผู้นำยังมีที่ให้ศึกษาอีกมาก ถ้าหากพูดถึงความรู้ เราอาจต้องแยกระหว่างความรู้เฉพาะทางในสรรพวิชาสาขาต่างๆ อันเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญและเทคโนแครต กับความรู้ที่คนเป็นผู้นำควรต้องรู้ นั่นคือความรู้ทางการเมือง คุณเรียนรัฐศาสตร์มาแล้ว ตอบได้ไหมว่าคนเป็นผู้นำจะต้องมีความรู้การเมืองในเรื่องอะไร

นิสิตตอบว่า น่าจะเป็นเรื่องศิลปะการใช้อำนาจ

คนให้คำปรึกษาว่า นั่นเป็นความรู้ในเรื่องเครื่องมือวิธีการ สำคัญไหม อ่านมาคิอาเวลลีมาแล้ว ก็ตอบได้ไม่ยาก ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถ้าจะเรียนการตัดสินใจใช้อำนาจในทางไหนอย่างไร ก็มีส่วนนี้ให้เรียนได้มาก จะเรียนแต่ส่วนนี้ทั้งเทอมก็ได้ แต่โบราณท่านว่า รู้แค่นั้นไม่พอเลย ถ้าจะมีความรู้การเมืองให้พอ และถ้าจะเรียนแบบทางโบราณ อย่างน้อยที่สุดถ้าว่าตามอาริสโตเติล คือเรียนให้รู้และเข้าใจเข้าถึงความหมายของ “Man is by nature an animal intended to live in a polis.” และ “Man, when perfected, is the best of animals; but if he be isolated from law and justice he is the worst of all.” (Politics, I, chap. II, 9 และ 15 สำนวนแปลของ Ernest Barker) กับเรียนให้เข้าใจความหมายความสุขที่เป็นเป้าหมายปลายทางของมนุษย์ ว่าความสุขมีความหมายอย่างไรกันแน่ อะไรที่ยังความเป็นสุขให้แก่เราได้จริง ทางโบราณนอกจากของตะวันตกอย่างใน Nicomachean Ethics แล้ว ในอารยธรรมตะวันออกก็มีให้เรียนได้ หรือจะเรียนความสุขความทุกข์จากพุทธศาสนา ก็มีให้เรียนลึกซึ้งเหมือนกัน

นิสิตถามว่า ถ้าหากไม่ใช่ทางโบราณ แต่เป็นทางสมัยใหม่สำหรับ Modern Prince ล่ะครับ

คนให้คำปรึกษาถามเขาว่า Modern Prince ในความหมายแบบไหน อย่างเจ้าฟ้ามงกุฎหรือวชิรญาณภิกขุนี้นับเป็น Modern ไหม หรือว่าตั้งใจใช้คำนี้ในความหมายของฝ่ายซ้าย นิสิตว่า เขาพูดแบบกว้างๆ แต่ถ้าเป็นกรณีของไทย เขาบอกว่าสมัยใหม่ที่เขาสนใจ เขาสนใจผู้นำตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา

คนให้คำปรึกษาถามล้อเขาอีกว่า จะดูว่าผู้นำการเมืองไทยหลัง 2475 ใครเป็น Machiavellian มากกว่ากันอย่างนั้นหรือเปล่า แต่พอฟังว่าเขาสนใจผู้นำไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็นึกถึงงานเล่มใหม่ที่เป็นตำราประวัติศาสตร์การเมืองไทยเล่มใหญ่ของอาจารย์ภูริ ฟูวงศ์เจริญขึ้นมา เลยถามนิสิตว่าสนใจหาศิลปศาสตร์การเป็นผู้นำทางการเมืองของไทยจาก การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475 – 2540) ไหม ที่นี่เพิ่งได้รับหนังสือจากอาจารย์ภูริมา ยังไม่ทันได้อ่านละเอียด แต่จากมองเรื่องปัจจัยการเป็นผู้นำกันตามที่คุยกันมา เลยเห็นว่าในเล่มนี้มีที่ให้สกัดหาศิลปศาสตร์การเป็นผู้นำในการเมืองไทยออกมาศึกษาให้เห็นแนวทางได้มาก

นิสิตบอกว่าเพิ่งได้หนังสือของอาจารย์ภูริมาเหมือนกันและเตรียมไว้แล้วว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ต้องอ่าน เขาเลยขอคำแนะนำแนวทางการอ่าน คนให้คำปรึกษาบอกเขาว่าตอบไม่ถนัดเพราะหาเวลาอ่านงานของอาจารย์ภูริโดยตลอดยังไม่ได้ นิสิตเลยถามอีกแบบว่าอาจารย์เตรียมจะอ่านแบบไหน หรือพอจะแนะนำวิธีอ่านได้ไหม ถ้าหากเราไม่อ่านแบบ Machiavellian

ตอบนิสิตกว้างๆ ว่าหนังสือวิชาการมีทางอ่านอย่างน้อย 3 ทาง ทางแรก อ่านเอาความรู้จากเนื้อหาในตัวบทที่อ่าน อ่านแบบนี้สุดแต่การตั้งประเด็นในใจของเราว่ามองหาความรู้เรื่องไหน เช่นที่เราตั้งคำถามตั้งประเด็นขึ้นมาว่าสนใจผู้นำและการตัดสินใจของผู้นำในการใช้อำนาจ เราก็อ่านหาความรู้จากตัวบทออกมา ถ้าเราเปลี่ยนคำถามนำทางเป็นประเด็นอื่นแล้วอ่านใหม่ ตัวบทที่มั่งคั่งอย่างงานของอาจารย์ภูริก็จะไขความรู้ออกมาให้เราเห็นคำตอบได้อีกเหมือนกัน หนังสือเล่มใหญ่แบบนี้ถ้าอ่านตะลุยไปเรื่อย มันเหมือนกับนั่งรถไปด้วยความเร็ว ทัศนียภาพสองข้างทางที่เห็นผ่านตาไปก็จะผ่านไปเร็วๆ โดยไม่ทันมีเวลาได้สังเกต การตั้งคำถามนำทางการอ่านไว้ในใจ จะทำให้เราอ่านช้าลงและมีที่ให้หยุดและให้สังเกต

ถ้าไม่อ่านแบบ Machiavellian อย่างที่ว่า จะอ่านหาความหมายของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแต่ละทศวรรษจาก 2475 ว่าสร้าง path dependence ให้แก่กันอย่างไร อะไรคือ QWERTY ของการเมืองไทย ที่แม้ในตอนต้น 2475 จะไม่ใช่ตัวแบบเดียวที่เป็นไปได้ และอาจจะเป็นตัวแบบที่ทำให้พิมพ์ได้ช้าลง แต่ในที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบน path dependence ก็ทำให้มันกลายมาเป็นตัวแบบปฏิบัติการที่อยู่ตัวมาในรัฐราชการไทย

อาจารย์ภูริเองก็จัดเรื่องในหนังสือออกมาแต่ละช่วงที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายลักษณะเหมือนกัน อย่างการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองกับการเปลี่ยนแปลงในทศวรรษ 1970 ก็มีลักษณะต่างกัน การเปลี่ยนแปลงในแต่แบบแต่ละระยะ ได้สร้างปัญหาที่ทำให้ฐานของ authority ในการเมืองไทยเปลี่ยนไปด้วย หรือพูดอีกแบบ โดยผลของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละระยะได้ทำให้ผู้นำต้องคิดว่าจะประกอบ coercion กับ consent ขึ้นมาใหม่อย่างไร ประเด็นแบบนี้และประเด็นอื่นๆ จากแนวคิดทฤษฎีในวิชารัฐศาสตร์พื้นฐานอย่าง เรื่องอำนาจ 3 โฉมหน้า ทฤษฎีชนชั้นนำ หรือมาร์กซิสต์ ก็ใช้ตั้งประเด็นอ่านหาความรู้จากความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยในงานของอาจารย์ภูริได้

อ่านอีกทางหนึ่ง คืออ่านผู้เขียนจากผลงานที่เขาเขียน อ่านแบบนี้เป็นความรู้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ความรู้เรื่องการเมืองการปกครองไทยเหมือนแบบแรก แต่เป็นการอ่านการเมืองการปกครองไทยเพื่อหาและทำความเข้าใจความคิดของอาจารย์ภูริที่เป็นคนเขียน จากวิธีการที่อาจารย์ใช้ จากเอกสารและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่อาจารย์ตีความให้ความหมาย จากรูปที่อาจารย์คัดเลือกมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในหนังสือว่ารูปนั้นสื่ออะไรและอาจารย์ตั้งใจใช้รูปเหล่านั้นบอกอะไรแก่คนอ่านที่กำลังอ่านตัวบทตรงนั้นเชื่อมกับก่อนหน้านั้นหรือต่อไปจากนั้น การอ่านวิธีนี้จะดีขึ้นเมื่ออ่านเทียบเคียง เช่นถ้ามองว่างานอาจารย์ภูริเป็นผลงานของสำนักประวัติศาสตร์การเมืองสำนักหนึ่ง ผลงานนี้ต่างจากหรือเหมือนกับงานของอาจารย์ชาญวิทย์ อาจารย์นครินทร์ หรืออาจารย์ลิขิตอย่างไร อ่านอย่างนี้เป็นการอ่านโดยเพ่งเล็งที่การสร้างความหมายของคนเขียนแต่ละคนที่ส่งผลต่อการสร้างความรู้เพื่อชักนำความเข้าใจ อ่านหาอคติทางอุดมการณ์ อ่านหาสิ่งที่มีอยู่และสิ่งที่ควรมี อ่านหาสิ่งที่ถูกคนเขียนคัดไว้และตัดออกไม่กล่าวถึง

อ่านทางที่สามคืออ่านตัวเราเองจากความรู้สึกบวกลบคูณหาร จาก judgment ที่เรามีต่องานที่เราอ่าน Northrop Frye กล่าวไว้ในบริบทอื่นทำนองว่า เมื่อนักวิจารณ์ตีความ เขากำลังกล่าวถึงกวีและกวีนิพนธ์ที่เขาอ่าน แต่เมื่อเขาประเมินและตัดสินคุณค่างานที่เขาอ่าน เขากำลังกล่าวถึงตัวเขาเอง แต่การอ่านทางที่สามนี้ควรมาทีหลัง อย่างน้อยก็ควรมาหลังจากได้อ่านทางที่สองจนกระจ่างแจ่มแจ้งแล้ว จึงค่อยออกความเห็นวินิจฉัย  ท่านแต่ก่อนสอนว่า ถ้าไม่เห็นแก่ใครในเวลาออกความเห็น ก็ควรนึกถึงก้านบัวของตัวเราเองไว้บ้าง

เราได้นัดหมายมาสนทนากันต่อตอนเปิดเทอม

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save