“บางเรื่องพอคุยผ่านจอแล้วมันรู้สึกสบายใจกว่า”
เมื่อสมาชิกครอบครัวเกิดความเห็นต่างขัดแย้งกัน การรักษาความสัมพันธ์มักอาศัยการต่อรองและประนีประนอมกันเสมอมา เพียงแต่สมัยนี้ เราอาจไม่จำเป็นต้องพูดเปิดอกต่อหน้า เพราะมีเครื่องมือสร้างพื้นที่ที่ ‘สะดวกใจ’ กว่าสำหรับใครหลายคน
แดเนียล มิลเลอร์ ผู้เขียนหนังสือ Why We Post ได้กล่าวไว้ว่า ปัจจุบัน แชทหรือโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ยด้วยการเพิ่มช่องทางและวิธีปฏิสัมพันธ์ให้หลากหลายขึ้น ช่วยให้ครอบครัวหาจุดสมดุลในการประนีประนอมง่ายขึ้น – และแน่นอน ทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น
ลองนึกภาพดูว่า เวลาพ่อแม่กับลูกถกเถียงกัน หลายครั้งลูกอาจไม่สามารถพูดในสิ่งที่คิดออกไปได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพราะโดนตัดบท พูดไม่เก่ง เกรงสีหน้าท่าทีของพ่อแม่ หรืออะไรก็ตามแต่ สุดท้าย พ่อแม่ก็อาจได้รับสารไม่ครบ ไม่ตรงใจลูกเสียทีเดียว
แต่ถ้าเราคุยกันในแชท เรามีเวลา มีระยะห่าง ให้ได้ตกผลึกความคิด พิมพ์ในสิ่งที่ต้องการสื่อได้ครบถ้วน ต่างฝ่ายต่างก็สามารถหวนกลับมาอ่านทบทวนว่าอีกฝ่ายคิดเห็นอย่างไร
แชททำให้เราได้ยินเสียงของกันและกันชัดเจนยิ่งกว่าเดิม
แล้วเสียงอะไรล่ะ ที่ลูกวัยรุ่นส่วนใหญ่อยากบอกกับพ่อแม่? เราค้นหาคำตอบเหล่านั้นจากกิจกรรม #รบกวนต่อแชทให้หน่อย โดย 101 จำลองสารพันปัญหาสามัญประจำบ้านของยุคสมัยมาถามลูกๆ ทั้งหลาย ได้แก่ การไปร่วมชุมนุมทางการเมือง ความฝันที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของผู้ปกครอง และการขอออกไปเที่ยวค้างแรม ทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และไอจีสตอรี่ของ The101.world

ผลลัพธ์คือ ในทุกสถานการณ์ ลูกไม่ขออะไรมากไปกว่า ‘ความเชื่อใจ’ จากพ่อแม่
สถานการณ์ที่ 1 เมื่อผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกไปร่วมชุมนุมทางการเมือง

“หนูจะระวังตัวค่า อย่าเพิ่งเก็บข้าวเย็นน้า เดี๋ยวหนูกลับมากินค่ะ ^^”
“ไม่ได้แล้ว หนูต้องไป ดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องห่วงนะ มีเพื่อนไปด้วย เตรียมอุปกรณ์ไปแล้ว”
“แม่ การไปม็อบไม่ได้น่ากลัวอย่างที่แม่คิด แม่รู้ใช่ไหมว่าประชาธิปไตยมันเห็นต่างกันได้ การไปม็อบก็คือการไปแสดงออกให้รัฐรู้ว่าเราเห็นต่าง ให้เขาฟังความเห็นของประชาชนอย่างพวกเรา เพราะเราก็อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เราอยากให้ประเทศเราเจริญขึ้น
แต่หนูก็เข้าใจที่แม่กังวลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเรื่องนี้แหละที่มันไม่ปกติในบ้านเราเท่าไหร่ แม่ลองคิดดู ประชาชนไปชุมนุมโดยสงบจะมีอะไรเกิดขึ้นได้ คนที่แม่ควรโกรธจริงๆ คือคนที่เริ่มใช้ความรุนแรงกับประชาชนก่อนต่างหาก มันไม่ใช่ความผิดของคนที่ไปม็อบเลย
โอเค ถึงตรงนี้ ถ้าแม่ยังห้ามหนูก็จะรับฟัง แต่หนูก็อยากให้แม่ลองเปิดใจดูด้วย พวกเราคุยกันได้เสมอนะ รักแม่ค่ะ”
*ความเห็นส่วนหนึ่งจากผู้ร่วมกิจกรรม #รบกวนต่อแชทให้หน่อย*
สถานการณ์ที่ 2 เมื่อแม่อยากให้ลูกเรียนคณะที่แม่เลือก

“ม๊า หนูอยากเรียนคณะที่เข้ากับหนู หนูก็รู้นะม๊าว่าหมอกับบัญชีเป็นอาชีพที่ดีอาชีพหนึ่ง แต่สายอาชีพอื่นๆ มันก็มีดีในตัวมันนะม๊า โลกมันขับเคลื่อนได้เพราะทุกสายอาชีพ และที่สำคัญที่สุด การเรียนคณะใดคณะหนึ่ง กับการตัดสินใจเลือกประกอบอาชีพไหนมันอยู่กับหนูไปตลอดชีวิต หนูอยากลองไปทางคณะที่หนูต้องการจะเลือก และต้องการจะเป็น ถ้ามันไม่เวิร์กจริงๆ หนูจะไม่โทษใครเลยม๊า เพราะมันเป็นทางเลือกที่หนูเลือกเอง แต่ยังไงหนูก็คงสู้กับสิ่งที่หนูเลือก หนูอยากให้ม๊าเชื่อหนู และเชื่อในสิ่งที่หนูตัดสินใจ”
“ผมอยากเรียนคณะ… เพราะเป็นสิ่งที่ผมชอบ เราจะทุ่มเทและอยู่กับสิ่งที่เราชอบได้อย่างมีความสุขมากกว่า”
“สุดท้ายแล้วคนที่ใช้ชีวิตคือหนูนะ เงินดีก็จริง แต่มันโอเคหรอที่หนูจะมีความสุขแบบไม่เต็มที่ไปตลอด”
*ความเห็นส่วนหนึ่งจากผู้ร่วมกิจกรรม #รบกวนต่อแชทให้หน่อย*
สถานการณ์ที่ 3 เมื่อพ่อห้ามลูกสาวไปเที่ยวค้างแรม

“พ่อไม่ปล่อยหนูไปเรียนรู้ก้าวเดินในโลก เเล้วหนูจะรู้จักคำว่าอันตรายได้ยังไง อย่าลืมว่าพ่อแม่ไม่ได้อยู่กับหนูตลอดเวลาหรือตลอดชีวิต ห่วงที่ดีคือห่วงการที่ลูกใช้ชีวิตไม่เป็นในวันที่หนูต้องเดินคนเดียวจะดีกว่า ปล.18 แล้วแต่ยังไม่ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นเที่ยวยังไม่คุ้มเลย อีกนิดก็เข้ามหาลัยใช่ว่าจะได้เที่ยว”
“คุณพ่อมีสองทางเลือกค่ะ 1.ห้ามไม่ให้หนูไป วันหลังหนูก็จะวางแผนไม่บอกความจริงกับคุณพ่อแล้วก็แอบไปเที่ยว กับ 2.เรามานั่งคุยกันดีๆ วางกรอบกติกากัน หนูจะรายงานตัวกับคุณพ่อ พร้อมภาพถ่ายเป็นประจำ แล้วคุณพ่อจะรู้ตลอดค่ะ ว่าหนูทำอะไรอยู่ รบกวนเลือกได้เลยค่ะ ขอบคุณค่ะ รักพ่อนะคะ จุ๊บๆ”
“ถ้าพ่อไม่ยอมให้ไป หนูก็ไม่โตสักทีนะ หนูอยากออกไปเจอโลกกว้าง หนูจะได้ดูแลตัวเองได้ในวันที่พ่อไม่อยู่แล้ว”
*ความเห็นส่วนหนึ่งจากผู้ร่วมกิจกรรม #รบกวนต่อแชทให้หน่อย*
แน่นอนว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่จะเป็นห่วงลูก แต่จะดีกว่าไหมถ้าให้อิสระแก่กันและใช้ดิจิทัลเป็นกองหนุน
ถ้าลูกไปชุมนุมแล้วคุณเป็นห่วง คุณสามารถแชทหาเขา ดูไลฟ์สดและส่งข่าวให้เขาระวังตัว
ถ้าลูกอยากเรียนคณะที่คุณไม่มั่นใจ คุณสามารถค้นหาข้อมูล อ่านประสบการณ์ของคนอื่นๆ และคอยเรียนรู้ไปด้วยกัน
ถ้าลูกอยากไปเที่ยว คุณอาจขอให้เขาส่งภาพถ่ายวิวทิวทัศน์ที่เขาเห็นมาแบ่งปัน และสร้างบทสนทนาเป็นความทรงจำดีๆ
คงจะดีกว่าถ้าดิจิทัลไม่ได้ทำให้ครอบครัวรู้สึกห่างไกล แต่เชื่อมให้ชิดใกล้และเชื่อใจกันมากกว่าเดิม
ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world