‘When Family Changes Social Media’ : มองความสัมพันธ์ครอบครัวยุคดิจิทัล กับ แดเนียล มิลเลอร์

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

 

“โลกดิจิทัลเปลี่ยนชีวิตและความสัมพันธ์ในครอบครัวไปอย่างไรบ้าง?” น่าจะเป็นหนึ่งในคำถามคลาสสิกที่สุดในยุคสมัยที่สมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียแทบจะกลายเป็นลมหายใจของชีวิตผู้คนในทุกมิติไปแล้ว

และยิ่งครอบครัวคือความสัมพันธ์ที่หล่อเลี้ยง โอบอุ้ม และใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์คนหนึ่งอย่างถึงที่สุด ปรากฏการณ์ดิจิทัลที่เคาะประตูบ้าน ก้าวเท้าเข้ามาอยู่ร่วมกับครอบครัวยิ่งเป็นความซับซ้อนอันละเอียดอ่อนที่ต้องถูกคลี่ออกมา

หากถามว่าใครคือคนที่น่าจะตีโจทย์ได้แตกที่สุด หนึ่งในนั้นน่าจะเป็น แดเนียล มิลเลอร์ (Daniel Miller) ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่ง University College London ผู้บุกเบิกศาสตร์มานุษยวิทยาดิจิทัล (Digital Anthropology) หัวหน้าโครงการ ‘Why We Post โครงการวิจัยที่ศึกษาการใช้โซเชียลมีเดียจาก 9 พื้นที่ทั่วโลก ล่าสุดเขาและทีมวิจัยกำลังจะออกหนังสือเล่มใหม่ The Global Smartphone : Beyond a youth technology (กำหนดวางจำหน่ายเดือนพฤษภาคม 2564) ซึ่งเป็นข้อสรุปโครงการวิจัยว่าด้วยการใช้สมาร์ทโฟนในผู้สูงวัยทั่วโลก

หลายคนอาจคาดการณ์ไปว่าโซเชียลมีเดียจะเปลี่ยนชีวิตและความสัมพันธ์ครอบครัวไปสู่จุดที่ยากที่จะจินตนาการถึง แต่สำหรับ มิลเลอร์ ชีวิตและความสัมพันธ์ครอบครัวต่างหากที่เปลี่ยนโลกโซเชียลฯ เพราะโลกโซเชียลฯ เป็นเพียงแค่อีกพื้นที่ที่เผยให้เห็น ‘ความขัดแย้ง การต่อรอง และการประนีประนอม’ ในความสัมพันธ์ครอบครัวที่มีมาตั้งแต่ก่อนมีโลกออนไลน์แล้ว

ในวันที่ส่วนหนึ่งของชีวิตครอบครัวอยู่บนโลกออนไลน์ 101 ชวน แดเนียล มิลเลอร์ สนทนาว่าด้วยความสัมพันธ์ครอบครัวบนโลกออนไลน์-ออฟไลน์ การเชื่อมต่อความห่าง-เว้นระยะความใกล้ชิด และความขัดแย้ง-ความลงรอยระหว่างวัยในโลกดิจิทัล ผ่านสายตาแบบนักมานุษยวิทยา

 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน และที่สำคัญ ทั้งสองสิ่งนี้ยังก้าวเข้ามาเป็น ‘สมาชิกใหม่’ ของครอบครัวด้วย สมาชิกใหม่คนนี้เปลี่ยนครอบครัวไปอย่างไรบ้าง

แน่นอนว่าสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียเปลี่ยนครอบครัวในแต่ละพื้นที่ของโลกต่างกันไป แต่ในภาพรวม สมาร์ตโฟนและโซเชียมีเดียพาครอบครัวขยาย (extended family) กลับเข้ามาสู่ชีวิตของผู้คนทั่วโลกอีกครั้ง

หากย้อนกลับไปมองความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวทั่วโลกช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา จะเห็นอย่างชัดเจนว่าหลายครอบครัวค่อยๆ เปลี่ยนจากครอบครัวขยายซึ่งเป็นครอบครัวแบบดั้งเดิมในสังคมมนุษย์ มีสมาชิกครอบครัวอยู่ร่วมกันหลายๆ รุ่น มีตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ จนถึงรุ่นลูกอยู่ร่วมบ้านหลังเดียวกัน ไปเป็นครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) มีเพียงแค่พ่อแม่ลูก อาศัยแยกออกมาจากครอบครัวใหญ่อีกที ลองสังเกตจากคอนโดหรืออพาร์ตเมนต์ที่สร้างขึ้นมาในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเทพฯ หรือลอนดอน จะเห็นว่าห้องถูกออกแบบให้เหมาะสำหรับครอบครัวเดี่ยวมากกว่าออกแบบให้มีพื้นที่อยู่ร่วมกันกับบรรดาญาติๆ

ในเมื่อครอบครัวขยายทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกัน นั่นหมายความว่าทุกคนมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างเข้มข้นมาก ใกล้ชิดกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกันจนแทบจะหนีจากกันไปไหนไม่ได้ ซึ่งผมว่าถ้าคนที่โตมาในครอบครัวสมัยใหม่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวแบบนี้จะต้องรู้สึกอึดอัดแน่ๆ ในขณะเดียวกัน ประสบการณ์ของครอบครัวเดี่ยวแทบจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามเลย ในบางประเทศ ครอบครัวใหญ่จะพบปะกันเพียงแค่ช่วงฉลองเทศกาลหรือวันเกิดเสียด้วยซ้ำ และแน่นอนว่าเมื่อคุณไม่ได้คุยกับญาติๆ ทุกวัน เจอกันแค่ในวันรวมญาติ บทสนทนาก็จะค่อนข้างเป็นทางการ ไม่ค่อยคุยกันเรื่องจิปาถะในชีวิตประจำวันอย่างที่คุยกันบนโต๊ะอาหารเย็นเสียเท่าไหร่

แต่พอโซเชียลมีเดียและสมาร์ตโฟนเริ่มเข้ามามีบทบาทในความสัมพันธ์ครอบครัว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลายๆ คนกลับไปติดต่อกับญาติพี่น้องในครอบครัวขยายมากยิ่งขึ้น สมมติว่าตอนเด็กๆ โตมากับลูกพี่ลูกน้อง พอโตขึ้น แทนที่จะมีโอกาสพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบแค่ในวันรวมญาติอย่างเดียว ทุกวันนี้ก็ใช้ไลน์หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ติดต่อกันได้ตลอดเวลา หรือพอแชทกับปู่ย่าตายายหรือลุงป้าน้าอาได้ตลอดเวลา บทสนทนาที่เคยเป็นทางการ มีความห่างเหิน ก็ค่อยๆ ผ่อนคลายลง เปลี่ยนจากเรื่องจริงจังไปเป็นเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน

ทั้งหมดนี้หมายความว่า ครอบครัวขยายกำลังกลับมาในชีวิตเรา และยังเป็นครอบครัวขยาย ‘แบบใหม่’ ที่ไม่เคยมีมาก่อน และแทบไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ในอดีตเลยเสียด้วยซ้ำ ที่น่าสนใจคือทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะฝีมือของสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดีย กลายเป็นว่าตอนนี้ความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ของครอบครัวไม่ได้ใกล้ชิดกันมากเหมือนอย่างตอนที่ทุกคนในครอบครัวอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้ห่างเหินเหมือนแยกกันอยู่คนละบ้าน ถึงได้บอกว่าเรากำลังย้อนกับไปสู่การอาศัยอยู่ในครอบครัวขยายแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และกำลังเกิดขึ้นกับหลายๆ ครอบครัวทั่วโลก

 

มีครอบครัวไหนไหมที่สมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียไม่ได้เปลี่ยนให้กลับไปเป็นครอบครัวขยาย

มีครับ ครอบครัวในแต่ละที่ทั่วโลกย่อมต่างกันเสมอ

หากลองไปดูครอบครัวที่ยังอยู่กันแบบครอบครัวขยายในปัจจุบัน อย่างครอบครัวในชนบทของประเทศจีน ตอนที่ทีม ‘Why We Post’ ศึกษาแรงงานจีนที่อพยพจากชนบทมาทำงานโรงงานในเมือง เราคาดกันว่าแรงงานเหล่านี้น่าจะใช้โซเชียลมีเดียเพื่อติดต่อพูดคุยกับครอบครัวในชนบท แต่พอได้ลงไปศึกษาจริง ข้อค้นพบที่ได้มาทำให้เราประหลาดใจกันมากคือ พวกเขากลับไม่ทำเช่นนั้น และยังใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในแบบที่พวกเขาไม่สามารถสัมผัสได้ในครอบครัวขยายอย่างการสร้างพื้นที่ส่วนตัว แรงงานชาวจีนเหล่านี้อยู่ในครอบครัวขยายมาตลอด และยังไม่ได้แยกตัวออกมาจากครอบครัวอย่างสมบูรณ์ พวกเขาเลยต้องการระยะห่างจากครอบครัว และใช้โซเชียลมีเดียเพื่อค่อยๆ แยกตัวออกจากครอบครัวขยาย

สำหรับครอบครัวเดี่ยวเล็กๆ ก็เป็นอย่างที่เล่าไปแล้วว่าโซเชียลมีเดียเริ่มเปลี่ยนครอบครัวเดี่ยวกลับไปเป็นครอบครัวขยาย อย่างที่เกิดขึ้นในครอบครัวอังกฤษ บราซิล และที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือครอบครัวของชาวเคิร์ดที่สมัยก่อนมีหลายครอบครัวอยู่ร่วมกันเป็นสังคมเครือญาติ หากไปดูรายชื่อเพื่อนในเฟซบุ๊กของชาวเคิร์ดสักคน จะพบว่ารายชื่อเกือบทั้งหมดคือคนในเครือญาติหมดเลย กรณีนี้ โซเชียลมีเดียได้พาครอบครัวชาวเคิร์ดกลับไปอยู่ในสังคมเครือญาติอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตอีกครั้ง

ดังนั้นโซเชียลมีเดียจะเปลี่ยนครอบครัวไปอย่างไรบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวที่มีมาแต่เดิมในสังคมนั้นเป็นอย่างไร

 

พอส่วนหนึ่งของครอบครัวย้ายขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์แล้ว โลกออนไลน์เปลี่ยนความสัมพันธ์ในครอบครัวไปบ้างไหม ความสัมพันธ์ครอบครัวในโลกออนไลน์ต่างไปจากในโลกออฟไลน์หรือเปล่า

ผมมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ครอบครัวโดยการแบ่งโลกออกเป็น ‘โลกออนไลน์-โลกออฟไลน์’ หรือ ‘โลกจริงกับโลกเสมือน’

ก่อนที่โลกจะมีโซเชียลมีเดีย เราใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารกัน สมมติแบบนี้แล้วกันว่าผมกำลังคุยกับเพื่อนคนหนึ่งอยู่ แล้วจู่ๆ โทรศัพท์ก็ดัง ปรากฏว่าแม่ของเขาโทรมาหา คุยกันยาวมากประมาณ 1 ชั่วโมงด้วยน้ำเสียงที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หลังจากวางสาย ผมอาจจะทักเพื่อนก็ได้ว่า “ที่คุยกับแม่ในโทรศัพท์เมื่อกี้นี้ฟังดูไม่ค่อยดีเลยนะ แต่ในโลกจริง ความสัมพันธ์ระหว่างนายกับแม่เป็นยังไงล่ะ?” แต่แน่นอน ไม่มีใครถามแบบนั้นแน่ๆ เพราะไม่มีใครในโลกนี้มองว่าบทสนทนาในโทรศัพท์กับโลกจริงไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และที่ไม่มีใครมองทั้งสองอย่างนี้แยกออกเป็นคนละโลกเพราะเรามีโทรศัพท์มานานหลายร้อยปีแล้ว แต่โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางการสื่อสารที่ค่อนข้างใหม่ เราเลยยังไม่คุ้นและตระหนักได้ว่าการพูดคุยบนพื้นที่ออนไลน์ก็คือส่วนหนึ่งของโลกจริง ไม่ต่างไปจากการโทรศัพท์หรือเขียนจดหมาย

ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ โลกออนไลน์-ออฟไลน์อาจไม่ใช่สิ่งที่สร้างความต่างเท่ากับว่าเป็นความสัมพันธ์ในบริบทไหน อย่างความสัมพันธ์ระหว่างคนในที่ทำงานย่อมต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวแน่ๆ แต่ใช่ว่าวิธีที่สมาชิกในครอบครัวปฏิสัมพันธ์กันในโลกออนไลน์กับออฟไลน์จะไม่ต่างกันเลยเสียทีเดียว

ลองสังเกตดูว่าเวลาครอบครัวอยู่ในบ้านด้วยกัน การสื่อสารส่วนมากที่เกิดขึ้นในบ้านคือการไม่สื่อสารพูดคุยกันเลย หรือที่เรียกกันว่า ‘co-presence’  ต่างคนต่างจัดการชีวิตของตัวเองในบ้าน พักผ่อน ผ่อนคลายตามอัธยาศัย ลองจินตนาการดูว่าถ้าต้องคุยกับคนในครอบครัวตลอดเวลา ตอนนั่งเล่นอยู่บ้านคงจะต้องรู้สึกหน่ายมากแน่ๆ แต่พอคนเริ่มใช้เว็บแคมวิดีโอคอลคุยข้ามเมืองหรือข้ามประเทศได้ กลายเป็นว่าทุกครั้งที่คุยผ่านเว็บแคม จะต้องพยายามคิดหาเรื่องคุยกันตลอดทั้งวิดีโอคอล ต้องพยายามไม่ให้มีจังหวะที่เริ่มเงียบ ไม่เช่นนั้นจะดูเหมือนกับว่าความสัมพันธ์เริ่มห่างเหินหรือเริ่มย่ำแย่ลง ซึ่งจริงๆ แล้วการที่ต้องคุยกันตลอดเวลามันฝืนธรรมชาติของการอาศัยอยู่ร่วมกันเสียด้วยซ้ำ

ช่วงหลังๆ เราจึงเริ่มเห็นคู่รักที่อยู่ไกลกันเปิดวิดีโอคอลทิ้งไว้แล้วต่างคนต่างทำกิจกรรมของตัวเองไปให้อีกฝ่ายเห็นผ่านกล้อง คนหนึ่งอาจจะนั่งดูทีวี ในขณะที่อีกคนอาจจะกำลังทำอาหารก็ได้ จะเห็นว่าความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์กันผ่านเว็บแคมเริ่มไม่ต่างไปจากเวลาที่อยู่บ้านด้วยกันเลย และเราสามารถใช้แพลตฟอร์มออนไลน์สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวในแบบที่เกิดขึ้นจริงในบ้านได้

ผมอยากให้มองว่าออนไลน์คือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเท่านั้น เราอาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อยในการทำความคุ้นเคยกับช่องทางสื่อสารใหม่ที่เอื้อให้เรามีวิธีปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ กับครอบครัวหรือคนอื่นๆ รอบตัวเพิ่มมากขึ้น ในโลกออฟไลน์ บทสนทนาที่เกิดขึ้นมีได้ตั้งหลายแบบ อย่างการคุยกันระหว่างมื้ออาหารก็ไม่เหมือนกับการที่เถียงกันว่าใครจะพาลูกเข้านอน ในโลกออนไลน์ บทสนทนาก็ไม่ได้มีแค่แบบเดียว การแชทบนไลน์อาจจะต่างจากการส่ง ‘สแนป’ ในสแนปแชทหรือการโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กก็ได้

ไม่อยากให้มองแบ่งความสัมพันธ์ครอบครัวออกเป็นออนไลน์-ออฟไลน์ เพราะว่าไม่ว่าจะอยู่ในโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม ทั้งหมดนั้นก็คือชีวิตครอบครัวอยู่ดี

 

โซเชียลมีเดียช่วยเชื่อมต่อคนที่อยู่ไกลกันให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่สำหรับครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา โซเชียลมีเดียเข้าไปจัดการความใกล้ชิดในครอบครัวอย่างไรบ้าง

สำหรับครอบครัวที่ไม่ได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครอบครัวแรงงานข้ามชาติที่พ่อหรือแม่ต้องไปทำงานในต่างประเทศ ชัดเจนอยู่แล้วว่าโซเชียลมีเดียช่วยเชื่อมพวกเขาเข้ากับครอบครัวและสังคมในบ้านเกิดเมืองนอนที่จากมา

ก่อนหน้านี้ ผมเคยศึกษาเกี่ยวกับแม่ชาวฟิลิปปินส์ในลอนดอนที่แทบไม่ได้อยู่ดูแลลูกหรือเห็นลูกเติบโตเพราะต้องมาทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กหรือดูแลผู้สูงอายุที่อังกฤษ พวกเธออาศัย ทำงาน ทานอาหาร นอนหลับในลอนดอนก็จริง แต่พวกเธอไม่เคยออกไปสังสรรค์ ชมภาพยนตร์ หรือเที่ยวเตร่ในลอนดอนเลย เพราะชีวิตของพวกเธอนอกเหนือจากทำงานกับพักผ่อนอยู่ใน Friendster ซึ่งสมัยก่อนคือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนฟิลิปปินส์ทั่วโลกใช้พูดคุยกัน จะพูดว่าชีวิตของพวกเธออยู่ใน Friendster มากกว่าในลอนดอนก็คงไม่ผิดเสียทีเดียว

แต่สำหรับครอบครัวที่อยู่ด้วยกันอยู่แล้ว โซเชียลมีเดียและสมาร์ตโฟนไม่ได้กระชับระยะความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไปอีก แต่กลับให้ผลตรงกันข้ามเลย เห็นได้ชัดมากในกรณีคนหนุ่มสาวในอังกฤษที่จำต้องอยู่อาศัยกับครอบครัวต่อเพราะสู้ค่าเช่าหรือราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้นกว่าสมัยก่อนไม่ไหว คนหนุ่มสาวหลายคนจึงตกอยู่ในสภาวะที่อยากย้ายออกแต่ย้ายไม่ได้ จำต้องอาศัยอยู่กับครอบครัวนานกว่าที่ตั้งใจไว้ ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่การเชื่อมความสัมพันธ์หรือกระชับระยะห่างเหมือนครอบครัวที่ต้องอยู่ไกลกัน แต่คือการแยกตัวออกจากครอบครัวที่อยู่ด้วยกันอยู่แล้ว

ที่น่าสนใจคือ สมาร์ตโฟนช่วยเติมเต็มความต้องการในการเว้นระยะห่างจากครอบครัวได้

ในหนังสือเล่มล่าสุดชื่อ The Global Smartphone : Beyond a youth technology ทีมวิจัยเราเสนอว่าสมาร์ตโฟนไม่ใช่แค่อุปกรณ์ที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ที่อาศัยอยู่ได้เสมือน ‘บ้าน’ หลังหนึ่ง แม้ว่าคุณจะนั่งอยู่กับคนอื่นๆ แต่ถ้าทุกคนต่างมีสมาร์ตโฟนอยู่ในมือแล้วก้มหน้าไถจอ ทุกคนก็จะหายไปราวกับว่าไม่มีใครอยู่ตรงหน้าคุณเลย เพราะทุกคนย้ายเข้าไปใช้ชีวิตใน ‘บ้านสมาร์ตโฟน’ (‘smartphone home’) แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยสนทนา ซื้อของ ช้อปปิ้ง จัดการบริหารชีวิต หรือเสพความบันเทิงต่างก็เกิดขึ้นได้ในสมาร์ตโฟนทั้งหมด ดังนั้น สำหรับคนหนุ่มสาวในอังกฤษ แม้ว่าจะยังย้ายออกจากบ้านไปไม่ได้จริงๆ แต่อย่างน้อยก็ยังมีสมาร์ตโฟนที่ทำให้เสมือนมี ‘บ้าน’ ของตนเองที่จะใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้

ในขณะที่หลายคนมักกล่าวว่า โซเชียลมีเดียและสมาร์ตโฟนเชื่อมต่อคนทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกันจนระยะห่างหมดความหมายและค่อยๆ ตายไป (death of distance) แต่ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อทุกคนมีโลกในสมาร์ตโฟนเป็นของตนเอง ระยะชิดใกล้ก็ค่อยๆ ตายลง (death of proximity) เช่นกัน เพราะการที่มีผู้คนรายล้อม ไม่ได้หมายความว่าผู้คนเหล่านั้นจะมีปฏิสัมพันธ์กับคุณแต่อย่างใด

จะเห็นว่าสมาร์ตโฟนทั้งเชื่อมครอบครัวให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นและเพิ่มระยะห่างในครอบครัวให้ห่างกันมากขึ้น ประเด็นคือ สมาร์ตโฟนมักถูกใช้เพื่อชดเชยปัญหาที่แต่ละคนเผชิญอยู่ก่อนหน้านี้ สำหรับคนที่รู้สึกว่าห่างไกลจากครอบครัว ก็ใช้สมาร์ตโฟนเพื่อกลับไปกระชับสัมพันธ์กับครอบครัวอีกครั้งได้ แต่สำหรับคนที่อยากมีอิสระจากชีวิตครอบครัว ก็สามารถใช้สมาร์ตโฟนเพื่อลดความชิดใกล้ในครอบครัวได้เช่นกัน

 

เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “โซเชียลมีเดียคือตัวร้ายสำหรับครอบครัว” เพราะพอสมาร์ตโฟนเริ่มเข้ามาอยู่ร่วมในครอบครัว ทุกคนก็เอาแต่ก้มหน้ามองจอ ไม่ยอมพูดคุยกันเหมือนแต่ก่อน คุณคิดอย่างไร จริงหรือเปล่าที่โซเชียลมีเดียทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัว?

หากพูดอย่างตรงไปตรงมา ปัญหาต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นในครอบครัวไม่ได้มีต้นเหตุมาจากสมาร์ตโฟนหรือโซเชียลมีเดียเสียทีเดียว แต่ที่จริงแล้วคือความขัดแย้งตึงเครียดระหว่างคนต่างวัยที่มีอยู่ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วต่างหาก ลองสังเกตดูว่ามุมมองของพ่อแม่กับมุมมองของลูกต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านมักขัดแย้งกันเสมอ อย่างพ่อแม่ที่ห่วงลูกหลังจากเริ่มปล่อยให้ลูกใช้สมาร์ตโฟนเองและอยากเช็กว่าลูกใช้สมาร์ตโฟนอ่านอะไร ดูอะไร ทำอะไร หรือคุยกับใครบ้าง พ่อแม่เหล่านี้จะมองว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่คือการดูแลลูก แต่กลายเป็นว่าในสายตาลูก ลูกกลับมองว่าพ่อแม่กำลังสอดส่องหรือคอยจับผิดเสียอย่างนั้น แต่ต่อให้ไม่มีสมาร์ตโฟน ความห่วงใยของพ่อแม่ก็มักสร้างความรู้สึกกวนใจให้กับลูกอยู่แล้ว

ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกยังเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารเย็นอีกเช่นกัน พ่อแม่หลายครอบครัวมักมีอุดมคติว่าการได้ทานอาหารเย็นร่วมกันคือช่วงเวลาคุณภาพของครอบครัว ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งบ้าน ฉะนั้นพ่อหรือแม่จะตั้งใจลงแรงปรุงมื้อเย็นอร่อยๆ เพื่อให้ทุกคนในบ้านได้ใช้เวลาร่วมกันบนโต๊ะอาหาร แต่ปรากฏว่าพอถึงเวลามื้อเย็นจริงๆ ลูกกลับนั่งเล่นสมาร์ตโฟน แชทกับเพื่อน ไม่แม้แต่จะสนใจเสียด้วยซ้ำว่าอาหารเย็นคืออะไร โต๊ะอาหารเย็นที่คนในบ้านเอาแต่ก้มหน้าย่อมทำพ่อแม่หงุดหงิดแน่นอน เพราะสำหรับพ่อแม่ นั่นหมายความว่าลูกๆ ไม่รู้สึกขอบคุณหรือเพิกเฉยต่อความตั้งใจและน้ำพักน้ำแรงที่พ่อแม่พยายามทำเพื่อครอบครัว แต่ในมุมของลูก ลูกก็แค่อยากเล่นสมาร์ตโฟนเท่านั้น ที่ผมพยายามจะบอกคือ สถานการณ์แบบนี้ไม่ได้ต่างจากสมัยก่อนที่ครอบครัวเถียงกันเลยว่าควรจะมีทีวีในห้องทานข้าวไหม แค่เปลี่ยนจากทีวีเป็นสมาร์ตโฟนเท่านั้นเอง

ความขัดแย้งหรือความตึงเครียดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความสัมพันธ์ครอบครัวมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร  และมันจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไป หัวใจของความสัมพันธ์ในครอบครัวคือการเจรจาต่อรองที่ซับซ้อนระหว่างคนในครอบครัว ระหว่างพ่อแม่ลูก หรือระหว่างสามีภรรยากับ ‘ผู้เล่นใหม่’ ที่เข้ามาในครอบครัว ซึ่งอย่างในสมัยนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดีย การโทษว่าสมาร์ตโฟนคือผู้ร้ายที่ทำลายความสัมพันธ์ครอบครัวมีแต่จะนำไปสู่การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ตื้นเขินเกินไป ถ้าโทษทุกอย่างว่าเป็นความผิดของสมาร์ตโฟน เราจะไม่มีทางเห็นความขัดแย้งที่แท้จริงได้

ผมเลยไม่ค่อยชอบมานั่งเถียงเท่าไหร่ว่าสรุปสมาร์ตโฟนกับโซเชียลมีเดียดีหรือแย่กันแน่ เพราะมันเป็นไปได้ทั้งสองทาง สมาร์ตโฟนกับโซเชียลมีเดียเป็นได้ทั้งพื้นที่ที่นำไปสู่ความขัดแย้งและเผยให้เห็นความขัดแย้ง แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งและสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นกันเองมากขึ้นในครอบครัวได้เช่นกัน

 

ในครอบครัวหนึ่งย่อมมีคนต่างเจเนอเรชันอยู่ร่วมกัน แต่นอกเหนือจากนี้ ครอบครัวยังมีทั้งคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นประชากรดิจิทัลโดยกำเนิด (digital natives) และผู้ใหญ่ที่เข้าสู่โลกดิจิทัลตอนมีอายุแล้ว (non-digital natives) คนสองกลุ่มนี้ต่างกันอย่างไร

เมื่อคนหนุ่มสาวเกิดและโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล สิ่งที่พวกเขาเหล่านี้มีติดตัวมาคือ คือ ‘การหยั่งรู้’ (intuitive) โดยธรรมชาติว่าต้องใช้งานโซเชียลมีเดียหรือสมาร์ตโฟนอย่างไร แต่สำหรับผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุที่เริ่มใช้สมาร์ตโฟนเมื่ออายุมากแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้เลยจะเข้าใจว่าต้องใช้สมาร์ตโฟนอย่างไร หรือต้องเล่นโซเชียลมีเดียอย่างไรทันทีโดยที่ไม่ต้องมีคนสอนหรืออ่านคู่มือวิธีใช้ นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งว่าทำไมคนหนุ่มสาวไม่เข้าใจว่าการเรียนรู้การใช้สมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องยากขนาดไหน

สมมติว่ามีผู้สูงอายุที่เพิ่งหัดใช้สมาร์ตโฟนอยากจะใช้แอปพลิเคชัน e-banking แต่ถ้าบอกแค่ว่าให้ไปดาวน์โหลดเฉยๆ ไม่มีทางแน่ๆ ที่จะดาวน์โหลดได้เอง ถ้าจะให้ดาวน์โหลดได้ จะต้องเริ่มอธิบายไปทีละขั้นว่า ต้องเข้าไปโหลดแอปพลิเคชัน e-banking ใน GooglePlay ก่อนถึงจะมีแอปฯ อยู่ในเครื่อง ซึ่งสำหรับคนที่ไม่คุ้นหรือเข้าใจระบบของสมาร์ตโฟน การที่แอปพลิเคชันการเงินเข้าไปอยู่ในอะไรบางอย่างที่มีคำว่า ‘Play’ เป็นเรื่องที่ไม่เมกเซนส์เอาเสียเลย หรือการสัมผัสหน้าจอแค่ครั้งเดียวสั้นๆ กับกดค้างยาวๆ ต่างกันอย่างไรก็เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ค่อยได้เท่าไหร่

สำหรับคนหนุ่มสาว โลกดิจิทัลคือโลกของพวกเขาอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้สูงอายุ การที่ไม่รู้วิธีใช้สมาร์ตโฟนจะทำให้พวกเขารู้สึกแก่ลงกว่าเดิม อยู่ห่างจากผู้คนและโลกมากขึ้น แต่ถ้าเรียนรู้จนใช้สมาร์ตโฟนได้ สมาร์ตโฟนจะทำให้พวกเขารู้สึกอายุน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ เท่ากับว่าพวกเขาจะทำในสิ่งที่คนหนุ่มสาวทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงผ่าน Spotify หรือการใช้แอปพลิเคชันนัดเดทก็ตาม ดังนั้นหากมองในเชิงเจเนอเรชัน สมาร์ตโฟนจะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกแก่กว่าหรือเด็กกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใช้สมาร์ตโฟนหรือโซเชียลมีเดียเป็นหรือเปล่าเท่านั้นเอง

การที่ครอบครัวหนึ่งมีทั้ง digital natives และ non-digital natives อยู่ร่วมกัน ส่งผลอะไรต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวบ้างไหม

พอผู้ใหญ่ไม่มีความสามารถในการหยั่งรู้เกี่ยวกับโลกดิจิทัลเหมือนกับคนหนุ่มสาว กลายเป็นว่าความสัมพันธ์กลับหัวกลับหางเลย คือผู้ใหญ่ที่เคยเป็นผู้สอนมาตลอด เพราะแต่ก่อนความรู้หรือความเชี่ยวชาญย่อมต้องมาพร้อมกับการสะสมประสบการณ์มาอย่างยาวนาน กลายเป็นคนที่ต้องถูกสอนแทน

แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใหญ่ที่ต้องพึ่งพาความรู้จากคนที่อายุน้อยกว่า และย่อมตามมาด้วยความขัดแย้งหรือความตึงเครียดระหว่างวัย แต่ในระยะยาว ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างผู้ใหญ่และคนหนุ่มสาวที่อยู่บนฐานของอำนาจ ให้ค่อยๆ คลายไปสู่ความสัมพันธ์ที่ผู้ใหญ่และคนหนุ่มสาวเท่าเทียมยิ่งขึ้น ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ดี และควรจะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ครอบครัว

 

หลายครั้ง ผู้ใหญ่มักพยายามสานสัมพันธ์กับคนหนุ่มสาวในครอบครัวผ่านโลกโซเชียลฯ แต่กลายเป็นว่ากลับสร้างความรำคาญหรือสร้างรู้สึกสับสนให้กับคนหนุ่มสาวเสียอย่างนั้น

พอปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่หันมาใช้สมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดีย พวกเขาเริ่มทำหลายๆ อย่างเหมือนกับที่คนหนุ่มสาวทำ เวลาแชทในไลน์ แทนที่จะส่งแค่ข้อความ ก็ส่งภาพ หรือส่งสติกเกอร์มาด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงแค่วัยรุ่นเท่านั้นที่จะส่งสติกเกอร์หากัน หรือบางครั้งก็ส่งอะไรตลกๆ ติ๊งต๊องๆ มาให้ ไม่แปลกที่คนหนุ่มสาวจะรู้สึกสับสน เพราะความสัมพันธ์ในครอบครัวเอเชียอยู่บนฐานของความเคารพยำเกรงและไม่ค่อยเป็นกันเองเท่าไหร่นักมาตลอด

ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี แต่อย่างน้อย สมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียก็ช่วยเผยมุมมุมตลกๆ และความเป็นกันเองของผู้ใหญ่ในครอบครัวให้เห็นชัดขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ความสัมพันธ์ในครอบครัวค่อยๆ คลายความเกร็ง เริ่มมีความเป็นกันเองมากขึ้น เริ่มเหมือนความสัมพันธ์แบบเพื่อนมากขึ้น ส่วนตัวคิดว่าทั้งผู้ใหญ่และคนหนุ่มสาวในครอบครัวน่าจะยินดีกับความเปลี่ยนแปลงนี้

แต่หลายๆ ครั้ง การที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวพยายามจะเข้าสู่โลกโซเชียลฯ ก็ทำให้คนหนุ่มสาวรู้สึกรำคาญใจได้ไม่น้อยเลยทีเดียว กรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือ คนหนุ่มสาวไม่ค่อยอดทนเวลาที่ต้องสอนผู้ใหญ่ใช้สมาร์ตโฟนหรือโซเชียลมีเดียเท่าไหร่นัก อาจจะถึงขั้นที่เรียกได้ว่าใจร้ายเสียด้วยซ้ำ เพราะเวลาขอให้สอน คนหนุ่มสาวมักจะคว้าเอาสมาร์ตโฟนไปจัดการเองเรียบร้อยแล้วอธิบายผ่านๆ เท่านั้นว่าต้องทำอะไร แต่ไม่ได้สอนผู้ใหญ่ให้ใช้เป็นเองจริงๆ หรือพอขอให้สอนซ้ำอีกรอบ คนหนุ่มสาวก็มักจะตอกกลับว่า เคยสอนไปแล้ว ทำไมจำไม่ได้ล่ะ ซึ่งที่จริงแล้ว ทั้งความรู้สึกรำคาญและความอดทนที่ต่ำนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความรู้สึกไม่พอใจที่เห็นผู้ใหญ่ทำสิ่งที่ ‘ไม่สมกับเป็นผู้ใหญ่’ ในขณะเดียวกัน ยิ่งในยุคที่คนมีอายุไม่อยากรู้สึกแก่ไปตามอายุ ผู้ใหญ่ก็รู้สึกเซ็งๆ เหมือนกันว่าทำไมคนหนุ่มสาวไม่ยอมปล่อยให้พวกเขาทำในสิ่งที่อยากทำ

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะสมาร์ตโฟนหรือโซเชียลมีเดียอย่างเดียวเท่านั้น แต่นี่คือภาพหนึ่งของประสบการณ์ของความสูงวัยที่เปลี่ยนไปและความสัมพันธ์ที่ไม่เคยลงรอยระหว่างคนต่างเจเนอเรชัน

ฟังแล้วรู้สึกว่าคนหนุ่มสาวหวงแหนพื้นที่ในโลกออนไลน์พอสมควร

สิ่งที่ทำให้คนหนุ่มสาวหวงพื้นที่ในโซเชียลมีเดียคือการที่ได้เป็นอิสระจากสายตาของผู้ใหญ่ ไม่ต้องมีใครมาคอยจับตามอง แต่ต้องบอกว่าอิสระคือสิ่งที่คนหนุ่มสาวต้องการมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว คนหนุ่มสาวเมื่อ 20 กว่าปีก่อนก็ต้องการอิสระจากครอบครัว ไม่ใช่ว่าเพิ่งเริ่มในยุคดิจิทัล นี่เป็นเรื่องที่ปกติมากเช่นเดียวกันกับที่ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุอยากจะรักษาความสัมพันธ์หรือคอยเฝ้ามองลูกหลานในครอบครัวในทุกๆ จังหวะของชีวิตอย่างห่วงใย

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียคือคนหนุ่มสาวจะอพยพย้ายไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ทุกครั้งที่พบว่าเริ่มมีผู้ใหญ่ในครอบครัวเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน อย่างก่อนที่เฟซบุ๊กจะกลายเป็นพื้นที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้สูงอายุ (อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในไอร์แลนด์) เฟซบุ๊กก็เคยเป็นพื้นที่ของคนหนุ่มสาวมาก่อน พอผู้ใหญ่เริ่มเข้ามาสมัครเฟซบุ๊ก คนหนุ่มสาวก็หนีไปหาพื้นที่ใหม่ของตนเองในอินสตาแกรม พอผู้ใหญ่เริ่มตามไปที่อินสตาแกรม คนหนุ่มสาวก็หนีไปสร้างพื้นที่ของตนเองต่อในทวิตเตอร์ ตราบเท่าที่คนหนุ่มสาวต้องการแยกจากพ่อแม่หรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในครอบครัว คนหนุ่มสาวก็จะย้ายแพลตฟอร์มหนีต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด นี่จึงเป็นสาเหตุที่มีแพลตฟอร์มใหม่ออกมาตลอดเวลา น่าสนใจมากว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวกลายเป็นสิ่งที่กำหนดลมหายใจและสิ่งที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย มากกว่าที่โซเชียลมีเดียจะเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าจะต้องเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เราต้องทำความเข้าใจว่าทั้งหมดนี้คือความขัดแย้งในความสัมพันธ์ครอบครัวที่มีมาอยู่ตลอด และต้องมีการเจรจาต่อรองเพื่อหาความสมดุลระหว่างการสอดส่องและการคอยดูแลห่วงใยกันในความสัมพันธ์ครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโซเชียลมีเดียและสมาร์ตโฟนยิ่งทำให้เส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการสอดส่องและการคอยดูแลห่วงใยให้พร่าเลือนยิ่งขึ้นไปอีก

ท้ายที่สุดแล้ว ท่ามกลางความสัมพันธ์อันซับซ้อนและขัดแย้งกันตลอดเวลาในครอบครัว เราจะใช้โซเชียลมีเดียรักษาและสานความสัมพันธ์ในครอบครัวได้อย่างไรบ้าง 

การรักษาและสานความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว ต้องอาศัยการต่อรองและการประนีประนอมระหว่างความต้องการของคนหนุ่มสาวที่ต้องการอิสระและผู้ใหญ่ที่ต้องการความใกล้ชิดกับครอบครัว สิ่งที่โซเชียลมีเดียทำได้ดีคือการเพิ่มช่องทางและวิธีปฏิสัมพันธ์ให้หลากหลายขึ้น และช่วยในการหาจุดสมดุลในการประนีประนอมได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่าจะไม่มีฝ่ายใดที่จะได้อย่างที่ใจต้องการไปเสียทั้งหมด คนหนุ่มสาวอาจต้องยอมติดต่อพ่อแม่ในระดับที่มากกว่าที่ตัวเองอยากจะติดต่อ ส่วนพ่อแม่อาจจะได้ติดต่อลูกน้อยกว่าที่ตัวเองต้องการ แต่อย่างน้อยต่างฝ่ายต่างก็เข้าใจและเคารพความต้องการของกันและกัน และหาวิธีรักษาความสัมพันธ์ที่ลงตัวสำหรับทั้งสองฝ่ายได้

 

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save