fbpx
เมื่อเพชรบูรณ์เกือบได้เป็นเมืองหลวง

เมื่อเพชรบูรณ์เกือบได้เป็นเมืองหลวง

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

 

ในอดีตที่ผ่านมา มีข่าวหลายครั้งว่ารัฐบาลหลายยุคหลายสมัยมีความคิดจะย้ายเมืองหลวงออกจากกรุงเทพมหานครไปอยู่ต่างจังหวัด อาทิ นครนายก ฉะเชิงเทรา ฯลฯ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ไม่ว่าเรื่องของความแออัดของประชากร หรือเหตุผลอื่น แต่การย้ายเมืองหลวงไปที่จังหวัดเพชรบูรณ์ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ดูจะเป็นเรื่องใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด หากไม่เจออุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน

การย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ในครั้งนั้น ไม่ใช่แค่แนวคิดบนแผ่นกระดาษ แต่มีการปฏิบัติเป็นรูปธรรม สร้างเมืองอย่างจริงจังหลายอย่างทีเดียว

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (2484-2488) รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลญี่ปุ่น มีกองทหารญี่ปุ่นจำนวนมากเข้ามาอยู่ในประเทศ ทำให้ในเวลานั้น กรุงเทพธนบุรีถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศ เพื่อทำลายเป้าหมายทางทหาร จนมีประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

รัฐบาลสมัยนั้นจึงสนับสนุนให้ประชาชนอพยพออกไปอยู่ต่างจังหวัด โดยมีเป้าหมายสำคัญคือจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม  วางแผนจะให้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่

ความคิดในการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ถูกนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมีมติให้ออกประกาศเป็นพระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์

เพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่มีเทือกเขาล้อมรอบ ภูมิประเทศสามารถป้องกันการโจมตีทางอากาศได้ดี และจอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ออกคำสั่งมากมายเพื่อการสร้างเมืองหลวงอย่างเร่งด่วน

ในบันทึกจากสมุดสั่งงานของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความว่า

10 ส.ค. 86 ให้วางแผนผังเมือง

“สั่งกระทรวงมหาดไทยสั่งแก่กรมโยธาเทศบาล ให้ไปวางแผนผังเมือง โดยคิดสร้างเป็นหัวเมืองใหญ่สองแห่งคือ

– บริเวณเพชรบูรณ์

– บริเวณหล่มศักดิ์และหล่มศักดิ์เก่า

ทั้งนี้ให้คนไปวางแผนผัง ให้เหมาะแก่ภูมิประเทศท้องถิ่น มีถนนและอาคารเหมือนเป็นเมืองใหญ่ทั้งสองแห่ง ทั้งนี้ให้เสร็จในเดือนส.ค. 86 นี้”

เมื่อการวางผังเมืองเสร็จ ได้มีการประกาศยกสถานะเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เป็นเทศบาลนคร มีสถานะเทียบเท่าเทศบาลนครกรุงเทพฯ และแต่งตั้งให้ พล.ต.อุดมโยธา รัตนาวดี เป็นผู้อำนวยการสร้างเมืองหลวงใหม่ หลังจากนั้นได้เริ่มมีการตัดถนนเชื่อมต่อระหว่างเพชรบูรณ์และจังหวัดอื่นๆ  อาทิ ได้ตัดถนนสายตะพานหินเชื่อมกับจังหวัดพิจิตรขึ้นเป็นสายแรก ให้ชื่อว่า ‘ถนนสามัคคีชัย’ รองรับการเดินทางมาทางรถไฟ และภายในจังหวัดมีการตัดถนนเชื่อมอำเภอต่างๆ เพื่อขนอุปกรณ์ก่อสร้างและแรงงานหลายหมื่นคนเข้าไปสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ทันที

มีการก่อสร้างอาคารที่ทำการรัฐบาลหลายแห่ง โรงพิมพ์หนังสือราชการ โรงพิมพ์ธนบัตร โรงพิมพ์แผนที่ บ้านพักข้าราชการ โรงไฟฟ้า โรงผลิตน้ำประปา สถานีวิทยุกระจายเสียง โรงพยาบาล กระจายไปตามอำเภอเมืองและอำเภอหล่มสัก และสั่งให้กรมชลประทานเริ่มทำการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

ในยุคสมัยนั้น โรงพิมพ์และวิทยุกระจายเสียง คือเครื่องมือสื่อสารและประชาสัมพันธ์อันทรงพลังที่สุดของรัฐบาล จนต้องถือเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ทีเดียว

ในขณะเดียวกันจอมพล ป. ได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งกรรมการเพื่อเตรียมการย้ายกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ไปจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีพล.ต.อุดมโยธาธิยุทธ เป็นประธาน และกรรมการขนย้ายทรัพย์มีค่าของชาติ อาทิ ทองคำและทรัพย์สินในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

ต่อมาทรัพย์สินที่มีค่าของทางราชการหลายอย่าง โดยเฉพาะทองคำสำรอง ถูกเคลื่อนย้ายมาไว้ในถ้ำอันมั่นคงปลอดภัย ที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ‘ถ้ำฤาษี’

สมุดคำสั่งของจอมพล ป. อีกฉบับมีใจความว่า

25 ธ.ค. 86  การอพยพราษฎร

“ฉันอยากจะประกาศให้ราษฎรอพยพไปเพชรบูรณ์โดยด่วน จะทำได้หรือไม่ หากทำได้เมื่อประกาศแล้วต้องมีคนคอยต้อนรับ ในชั้นต้นให้ไปปลูกชั่วคราว โดยแบ่งที่ให้ตามสมควรแก่ฐานะและการทำมาหากิน ในการก่อสร้างถาวรนั้นให้ระดมช่างก่อสร้างไปเพชรบูรณ์เพื่อรับเหมา…”

วันที่ 23 เมษายน 2487 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้มาเป็นประธานทำพิธีฝังเสาหลักเมืองด้วยตัวเอง ที่บ้านบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก และปัจจุบันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน เพราะสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่ และสังกะสี ต้องรีบก่อสร้างเร่งด่วน จึงผุพังไปตามกาลเวลา ยกเว้นเสาหลักเมืองที่ทำด้วยปูนซีเมนต์

และในช่วงเวลานั้น จอมพล ป. ได้ออกตรวจพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ การก่อสร้างและการอพยพราษฎรดำเนินไปด้วยดี จนทำให้ทหารญี่ปุ่นเริ่มสงสัยว่า รัฐบาลไทยกำลังไปทำอะไรสำคัญที่เพชรบูรณ์ นอกจากข้ออ้างเรื่องการหาสถานที่อพยพภัยสงครามให้กับราษฎร

ทหารญี่ปุ่นเริ่มรู้ระแคะระคายว่า จอมพล ป. กำลังสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่เพชรบูรณ์ เพื่ออพยพราษฎรลี้ภัยสงครามนั้นเป็นเพียงข้ออ้างหรือไม่ ทำไมต้องทำอย่างเร่งด่วน หรือมีเหตุผลมากกว่านั้น

เหตุผลลึกๆ ในการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่ไม่ค่อยมีคนทราบ ก็คือการสร้างฐานทัพให้กับกองทัพไทย เพื่อไว้เป็นฐานที่มั่นต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สองที่ญี่ปุ่นเริ่มอ่อนล้า มีการสร้างค่ายทหารหลายแห่ง ย้ายโรงเรียนนายร้อยจปร. ย้ายกองทัพอากาศ ย้ายกระทรวงกลาโหม กรมยุทธโยธา กรมเชื้อเพลิง กรมเสนารักษ์ ฯลฯ สร้างคลังแสงหลายแห่ง และสร้างถนนยุทธศาสตร์สายสำคัญทางภาคเหนือ เพื่อหวังว่า หากเกิดสงครามกับญี่ปุ่น กองทัพจีนของฝ่ายสัมพันธมิตรจะส่งกำลังมาช่วยด้วย

ในบันทึกของจอมพลป.พิบูลสงครามที่ออกเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2488 ภายหลังลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีตอนหนึ่งว่า

“ผมเห็นเป็นโอกาสอันเหมาะที่จะสร้างฐานทัพสำหรับเตรียมรบกับญี่ปุ่นในขั้นสุดท้ายได้แล้ว เพราะเห็นว่าญี่ปุ่นได้อ่อนกำลังลงไปมาก ถึงเราจะแข็งมือเอาบ้าง ญี่ปุ่นก็คงไม่กล้าหักหาญต่อประเทศไทยได้  ผมจึงลงมือสร้างฐานทัพที่เพชรบูรณ์และสร้างทางให้สามารถติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ ลำปาง ตลอดไปจนถึงติดต่อกับกองทัพจีนในยูนนานใต้ เพื่อว่าเมื่อลงมือกับญี่ปุ่น เราจะได้กลับหน้าทางเหนือเข้าสู้กับญี่ปุ่นทางใต้ได้สะดวก โดยยึดเส้นทางหลัก กรุงเทพฯ ลำปาง ผ่านเพชรบูรณ์เป็นเส้นทางเคลื่อนที่ โดยให้กองพลที่  1 ในกรุงเทพฯ ล้อมกรุงเทพฯ ไว้ กองทัพที่ 2 เตรียมวางแนวไปตามแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่แก่งคอย สระบุรี ลพบุรี ชัยบาดาลและเพชรบูรณ์ เหนือขึ้นไปจะมีกองทัพพายัพทำหน้าที่ปลดอาวุธญี่ปุ่นที่ลำปางและเชียงใหม่ เหนือขึ้นไปเราได้ตกลงจะเปิดให้กองทัพสหประชาชาติลงมาช่วย …การสร้างฐานทัพที่เพชรบูรณ์จึงเป็นงานสำคัญยิ่ง ถ้าฐานทัพไม่เสร็จทัน การรบกับญี่ปุ่นก็ทำไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เสนอพระราชกำหนดให้เพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุมัติเป็นพระราชบัญญัติ แต่สุดท้ายก็แพ้ ด้วยเหตุผลว่า เพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยป่าเขาและไข้ป่า โรคภัยมากมาย ไม่เหมาะที่จะเป็นเมืองหลวง ฝ่ายรัฐบาลเองก็ไม่อาจให้เหตุผลจริงๆ ว่าเป็นการสร้างฐานทัพ เพราะต้องการไม่ให้ความลับรั่วไหลไปถึงทหารญี่ปุ่น จึงดับฝันกลางอากาศของเมืองหลวงแห่งใหม่

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีอำนาจล้นฟ้า ได้ประกาศลาออก แทนที่จะยุบสภา ตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย

เหตุผลที่รัฐบาลแพ้นั้นวิเคราะห์ไปได้หลายทางคือ

ฝ่ายเสรีไทยในสภาเกรงว่า ถ้าจอมพล ป. ยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป หากสงครามสงบ ประเทศไทยอาจเป็นผู้แพ้สงคราม จึงหว่านล้อมสมาชิกสภาให้คว่ำพระราชกำหนดนี้

แต่เหตุผลของอีกฝ่าย ก็ระบุว่าฝ่ายอนุรักษนิยมได้ร่วมมือกันกดดันให้รัฐบาลแพ้โหวต เพราะจอมพล ป. เป็นตัวแทนสำคัญของฝ่ายคณะราษฎร การทำลายจอมพล ป. คือก้าวย่างสำคัญในการรุกคืบของอีกฝ่าย

เพชรบูรณ์จึงไม่ได้เป็นเมืองหลวงใหม่ของประเทศ แต่ด้วยเหตุผลจริงๆ ประการใด คงเป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ที่จะได้หาข้อมูลและสืบค้นกันต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save