คุณเคยได้ยินเพลงของหมู่บ้านพลัมไหม?
หมู่บ้านพลัม คือ ‘สังฆะ’ ของนักบวชที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเซ็น ตามแนวคิดของพระเวียตนามชื่อดังก้องโลกผู้ล่วงลับไปแล้วอย่างท่านติช นัท ฮันห์
มีเพลงอยู่เพลงหนึ่งที่สงบงาม ไพเราะ เป็นเพลงที่สอนเราว่า ‘ความสุข’ อยู่ที่นี่ ตรงนี้นี่เอง เราไม่ต้องไปไขว่คว้าแสวงหามันที่ไหนหรอก เพลงนั้นชื่อว่า ‘Happiness is Here and Now’
แต่คุณคิดว่า ‘ความสุข’ ในโลกปัจจุบัน – เป็นอย่างที่หมู่บ้านพลัมสอนจริงไหม?
‘ความสุข’ อยู่ ‘ที่นี่’ อยู่ ‘ตรงนี้’ สำหรับเราจริงหรือ?
ถ้าเป็นจริง ก็แปลว่าความสุขไม่ใช่เรื่องต้องแสวงหาไขว่คว้าอะไรมากมาย แต่ทำไมเราจึงเห็นภาพผู้คนที่ยังดิ้นรนไขว่คว้าหาความสุข จนทำให้ ‘อุตสาหกรรมความสุข’ แบ่งบานอยู่ทั่วไปอีกเล่า?
อันที่จริงแล้ว ความสุขเป็นเรื่องที่นักธุรกิจจำนวนมากในโลกคิดถึงอยู่เสมอ เพื่อดูว่าจะหา ‘สูตรสำเร็จ’ สำหรับสร้างความสุขให้คนหมู่มากได้อย่างไร เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะได้ผลตอบแทนกลับเป็นกำไรอันประมาณค่ามิได้ ตั้งแต่อุตสาหกรรมสวนสนุก อุตสาหกรรมบันเทิง อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมทางเพศ อุตสาหกรรมทำสวย อุตสาหกรรมทางสุขภาพ ไปจนถึงอุตสาหกรรมทำจิตให้ผ่องใส หรือจะว่าไป – ก็ทุกๆ เรื่องนั่นแหละครับ ที่คือการ ‘ขายความสุข’
คำถามสำคัญในที่นี้คือ – ความสุขเป็นเรื่องที่อยู่ ‘ตรงนี้’ อยู่แล้ว หรือมันเป็นเรื่องที่เราต้อง ‘ไขว่คว้า’ หามา
ถ้าเป็นอย่างรูปแบบแรก ความสุขคงไม่ใช่เรื่องของการซื้อหาอะไร เพราะมันอยู่ในตัวของผู้คนอยู่แล้ว จึงปิดโอกาสในการทำธุรกิจต่างๆ ลงไปอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้าความสุขเป็นรูปแบบหลังเล่า ถ้าความสุขเป็นเรื่องที่ผู้คนต้องไขว่คว้า ผู้คนก็จะยินยอม ‘แลกเปลี่ยน’ อะไรบางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข นั่นแปลว่าความสุขมี ‘โอกาสทางธุรกิจ’ มากมายมหาศาลทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘การออกแบบความสุข’ ขึ้นมา!
แต่ไม่ใช่เพื่อทำให้ผู้คนมีความสุขจริงแท้ – มากเท่ากับการสร้างกำไรมหาศาลให้ผู้ที่กุมความลับของ ‘สูตรสำเร็จแห่งความสุข’ เอาไว้ได้หรอกนะครับ
เบนจามิน แฟรงคลิน เชื่อว่า โดยธรรมชาติแล้ว ทุกๆ คนต่างแสวงหาความสุข เขาเคยเขียนเอาไว้ในบันทึกความทรงจำที่ตั้งชื่อหัวเรื่องเอาไว้ว่า On True Happiness ว่า “ความปรารถนาความสุข โดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องแสนจะเป็นธรรมชาติของเรา คนทั้งโลกต่างพยายามแสวงหามัน”
จะว่าไป เบนจามิน แฟรงคลิน อาจเป็นหนึ่งในคนแรกๆ ของโลกยุคใหม่เลยก็ว่าได้ที่ตั้งตนเป็นคล้ายๆ ‘ไลฟ์โค้ช’ ทางความสุข เพราะเขาพยายามให้นิยามความสุขและให้คำแนะนำกับคนอื่นๆ ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะมีความสุข แต่ถ้าพิจารณาดูชีวิตของแฟรงคลินแล้ว เราก็ยังพบว่าเขาเคยทำเรื่องผิดพลาดในชีวิตมากมาย โดยเขาเขียนสารภาพเอาไว้เองว่าในชีวิตเคยทำเรื่องที่ต้องสำนึกเสียใจหลายอย่างที่เขาเรียกมันว่า The Great Errata อันเป็นสิ่งที่ทำให้เขาไม่มีความสุข
นักปรัชญาอังกฤษอีกคนหนึ่งที่มีชีวิตหลังยุคของแฟรงคลิน คือ จอห์น สจ๊วรต์ มิลล์ (John Stuart Mill) ต้นตำรับแห่งลัทธิ ‘สุขนิยม’ (hedonism) เคยพูดถึง ‘ความสุข’ เอาไว้ว่า มันหมายความถึงความสุขสบาย (pleasure) และการเป็นอิสระจากความเจ็บปวด แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็เคยบอกไว้ด้วยเช่นกันว่า – “ถ้าเมื่อไหร่เรากำลังถามตัวเองว่ามีความสุขอยู่หรือเปล่า เราก็จะหยุดมีความสุขทันที” (Ask yourself whether you are happy, and you cease to be so) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เป็น ‘ปฏิทรรศน์’ (paradox) ของความสุข ถ้านำเอาสองแนวคิดข้างต้นของมิลล์มารวมกัน เราจะยิ่งตระหนักได้เลยว่า แท้จริงแล้วเรามีชีวิตอยู่ในโลกของความเจ็บปวด หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การคิดถึง ‘ความสุข’ – มักทำให้เราตระหนักว่าเรามีชีวิตอยู่ในท่ามกลาง ‘ความทุกข์’ อย่างไรบ้าง
นักออกแบบความสุขยุคใหม่ยึดถือแนวคิดของมิลล์ที่ว่า ความสุขสบายทางประสาทสัมผัสเป็นสิ่งที่สุดยอดที่สุดของชีวิต การพูดแบบนี้แปลว่าความสุขไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการทำงานของสารเคมีในสมอง ถ้าเรารับสิ่งเร้าต่างๆ ที่ทำให้สมองของเราหลั่งสารแห่งความสุขขึ้นมาได้ เราก็จะมีความสุข
ด้วยเหตุนี้ ‘ความสุข’ จึงเป็นเรื่องที่ออกแบบได้ เพราะถ้าเราออกแบบ ‘ประสบการณ์’ ที่ทำให้สารเคมีในสมองหลั่ง เราก็จะมีความสุข และความสุขแบบนี้ก็จะ ‘สำเร็จรูป’ และ ‘ขาย’ ได้!
ทฤษฎีการสร้างความสุขแบบหนึ่งที่บริษัทออกแบบความสุขหลายแห่งใช้ เรียกว่า The Happiness Halo ทฤษฎีนี้บอกว่า ความสุขนั้นสามารถสร้างได้ โดยเราสามารถแบ่ง ‘กายภาพ’ หรือ ‘โครงสร้าง’ ของความสุข ออกได้เป็นสามขั้นตอนใหญ่ๆ นั่นก็คือ ‘การรอคอย’ (anticipation), การได้พบประสบการณ์ (experience) และการหวนรำลึกถึงประสบการณ์นั้นๆ คือความทรงจำ (memory)
ทฤษฎีนี้บอกเป็นนัยว่า ความสุขไม่ได้ ‘อยู่ตรงนี้’ แบบ Here and Now เหมือนในเพลงของหมู่บ้านพลัม แต่มันคือกระบวนการที่ ‘สร้างได้’ เมื่อสร้างได้ ก็แปลว่านักธุรกิจสามารถหาช่องทางสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับผู้คนได้ โดยทำตามโครงสร้างความสุขสามอย่างที่ว่ามา
การที่คนเรามีประสบการณ์ (ที่มีความสุข) นั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าอยู่ๆ เราก็มีความสุขขึ้นมาเลย มันจะไม่ได้ ‘มีค่า’ มากเท่ากับผ่านการรอคอยอะไรบางอย่างเสียก่อน ดังนั้น ถ้าจะทำให้คนเราเกิดความสุขถึงขีดสุดขึ้นมาได้ เราต้องสร้างกระบวนการรอคอย หรือ anticipation ขึ้นมาเสียก่อน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆ การรอคอยก็จะขับเน้นประสบการณ์นั้นให้เข้มข้นถึงขีดสุดมากยิ่งขึ้น
หลายคนอาจคิดว่า การรอคอยเป็นความทุกข์ ซึ่งก็เป็นอย่างที่ว่าจริงๆ เพราะการรอคอยทำให้เกิดความเครียดขึ้นมา แต่ทฤษฎี Happiness Halo บอกว่าเมื่อเรารอคอยสิ่งที่เรา ‘รู้’ (ไม่ว่าจะรู้จริง, รู้เพราะคนอื่นบอก หรือรู้เพราะโฆษณาประชาสัมพันธ์) ว่าจะสร้างความสุขให้ ความเครียดที่เกิดจากการรอคอยจะเป็นเพียง ‘ความเครียดจิ๋ว’ (micro-stress) เมื่อเทียบกับความรู้สึกเป็นสุขจากจินตนาการว่าอีกประเดี๋ยวก็ได้รับประสบการณ์นั้นๆ แล้ว ที่สำคัญ การสร้างความเครียดยังเป็นการลดความสุขลงไป เมื่อได้เจอประสบการณ์นั้นๆ จริงๆ ก็จะเกิดความสุขโดยสัมพัทธ์มากขึ้นไปด้วย
ถ้าคุณสังเกตให้ดี สวนสนุกใหญ่ๆ ในโลกที่ประสบความสำเร็จ ล้วนสร้างการรอคอยขึ้นมาอย่างจงใจทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการต่อแถวเข้าสวนสนุกที่มักทำเป็นอุโมงค์มืดๆ ไม่สดใสสวยงาม รวมไปถึงการต่อแถวเล่นเครื่องเล่นต่างๆ ภายในสวนสนุก สิ่งนี้เรียกว่า portal หรือการสร้างช่องทางเข้าเพื่อ ‘เปลี่ยนผ่าน’ หรือทำให้เกิด transitional time ขึ้นมาเพื่อ ‘ปรับ’ สภาพจิตใจของผู้คน
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะแม้กระทั่งโบสถ์วิหารใหญ่ๆ ต่างๆ ก็ใช้ effect เดียวกันนี้ทั้งนั้น ลองนึกถึงการเข้ามหาวิหารหรือโบสถ์โบราณทั้งหลาย แต่ละแห่งต้องผ่าน portal ที่มีลักษณะเล็กและมืดครึ้มของประตูทางเข้าเสียก่อน ก่อนจะเข้าไปพบกับ ‘พื้นที่เปิด’ ขนาดใหญ่ที่มีการออกแบบแสงให้มลังเมลือง ถือเป็นการปรับสภาพจิตใจของเรา ซึ่งช่วงเวลาที่ว่านี้แหละ ที่ทฤษฎีนี้เรียกว่าการรอคอยหรือ anticipation ซึ่งต้องเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ยาวนานหรือสั้นจนเกินไป
แม้แต่การ ‘พรีออร์เดอร์’ หนังสือหรือข้าวของเครื่องใช้ใหม่ๆ ที่เพิ่งออกวางตลาด ก็เชื่อกันว่าจะทำให้ผู้พรีออเดอร์เกิด ‘ความสุข’ ที่ได้อ่านหนังสือหรือใช้เครื่องใช้นั้นๆ มากกว่าไปหาซื้อตามปกติ แถมยังเกิดความรู้สึก ‘เหนือกว่า’ ที่ได้ใช้ข้าวของเหล่านั้นก่อนผู้อื่นอีกด้วย
มีการสำรวจหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การรอคอยทำให้เรายอม ‘จ่าย’ มากหรือเร็วกว่าปกติ เป็นการสำรวจในพนักงานเสิร์ฟของอเมริกาที่โดยธรรมเนียมแล้วต้องมีการ ‘ทิป’
เขาพบว่า ถ้าหลังอาหารแล้ว บริกรนำลูกอมรสมินต์ใส่ถาดมาให้กับลูกค้าด้วย บริการเหล่านั้นมักจะได้รับทิปเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 3% แต่ถ้าก่อนสิ้นสุดมื้ออาหาร บริกรเอ่ยถามขึ้นก่อนว่า – มีใครอยากได้ลูกอมมินต์ล้างปากหลังอาหารบ้างไหม, เขาพบว่าบริกรจะได้รับทิปโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 14%
สิ่งนี้บอกอะไรกับเราบ้าง?
มันบอกเราว่า บริกรคนหลังกำลังสร้าง ‘การรอคอย’ ให้เกิดขึ้น ดังนั้นโดยไม่รู้ตัว ลูกอมมินต์ที่ได้รับหลังการรอคอย จึงดึงเงินออกจากกระเป๋าลูกค้าได้มากขึ้นหลายเท่าตัว
ที่จริงยังมี ‘สูตรสำเร็จ’ อีกหลายอย่างเพื่อดึงเงินออกจากกระเป๋าลูกค้าที่ถูกสร้างความสุขใส่โดยไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นก็เพราะมนุษย์เรายังคงพึ่งพิงสมองส่วนโบร่ำโบราณ ที่เรียกว่าสมองส่วนสัตว์เลื้อยคลาน (lizard brain) หรือที่เรียกว่าระบบลิมบิก (limbic system) อยู่มาก ยิ่งเป็นส่วนของสมองที่เก่าแก่ในมุมของวิวัฒนาการเพียงใด มันก็ยิ่ง ‘ทรงพลัง’ มากจนส่งผลให้เราทำอะไรๆ ออกมาโดยไม่รู้ตัว
หลายคนน่าจะรู้ว่า สารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับความสุขคือ ‘โดปามีน’ (Dopamine) เรามักเชื่อกันว่าเมื่อเรามีประสบการณ์แห่งความสุข โดปามีนจะหลั่งออกมา แต่งานวิจัยในระยะหลัง เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโดปามีนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะโดปามีนอาจไม่ใช่ ‘ผลลัพธ์’ ของการแสวงหาความสุขเพียงเท่านั้น ในหลายกรณีโดปามีนกลับเป็น ‘เหตุ’ ที่ทำให้เราต้องลุกขึ้นมาแสวงหาความสุขต่างหาก
นักจิตวิทยาและนักประสาทศาสตร์ชาวอเมริกันอย่าง เคนต์ เบอร์ริดจ์ (Kent Berridge) แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนบอกว่า มนุษย์เรามี ‘วงจร’ การแสวงหาความสุขอยู่สองวงจร วงจรแรกคือ wanting หรือความอยากได้ใคร่มี มันเป็นวงจรที่ขับดันโดย ‘ระบบโดปามีน’ (Dopamine System) ส่วนอีกวงจรหนึ่งคือ liking คือความรู้สึกชอบ รักใคร่ และพึงพอใจในสิ่งที่ได้มา ขับดันโดย ‘ระบบโอพิออยด์’(Opioid System) ซึ่งเป็นระบบการทำงานของสารเคมีในสมองอีกตัวหนึ่ง
ปัญหาก็คือ ถ้าวงจร liking แข็งแกร่งกว่า wanting เราก็จะพึงพอใจกับสิ่งที่ได้มาแล้วก็ไม่ลุกขึ้นไปแสวงหาสิ่งใหม่ๆ อื่นๆ แต่เบอร์ริดจ์พบว่า ระบบโดปามีนนั้นแข็งแรงกว่าระบบโอพิออยด์มากๆ นั่นแปลว่าเราจะไม่ ‘พึงพอใจ’ กับสิ่งที่เราได้มานานนัก ประเดี๋ยวเดียวเราก็จะต้องหาของใหม่ๆ มาใส่ตัวอีก
ฟังดูเหมือนมนุษย์เป็นพวกกิเลสหนา อยากได้นั่นโน่นนี่ไม่รู้จักพอเสียที แต่จริงๆ แล้วถ้ามองจากมุมวิวัฒนาการ เราจะพบว่าการที่ระบบโดปามีนแข็งแรงกว่านั้น มันทำให้เราต้องลุกขึ้นบุกบั่นฟันฝ่าโลก จึงทำให้เราได้เรียนรู้เพื่อจะได้สิ่งใหม่ๆ มาครอบครอง และมีโอกาสรอดชีวิตสืบทอดสายพันธุ์มากกว่า ซึ่งไม่ได้หมายความถึงแค่อาหาร เซ็กซ์ หรือถิ่นที่อยู่เท่านั้น แต่รวมไปถึงแนวคิดที่เป็นนามธรรมต่างๆ ด้วย นั่นทำให้สมองของเราเกิดวิวัฒนาการที่ซับซ้อนมากกว่าสัตว์อื่นๆ ที่มัน ‘พอใจ’ อยู่กับชีวิตตามสัญชาตญาณเท่านั้น
ทฤษฎี Happiness Halo ยังบอกด้วยว่า ถ้าปราศจากการรอคอยแล้ว คนเราจะมีความสุขมากๆ กับประสบการณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความน่าประหลาดใจ’ เกิดขึ้น คือไม่ใช่ประสบการณ์เรียบๆ ธรรมดาๆ ทั่วไปที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันแบบที่เรียกว่า mundane activities แต่ต้องมีเรื่อง ‘เซอร์ไพรส์’ เกิดขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับระบบโดปามีนที่จะถูกกระตุ้นได้ง่ายจากเรื่องที่ไม่คาดฝันเช่นกัน
ทุกวันนี้ ดูเหมือนเราจะ ‘ทุรนทุราย’ อยากมีความสุข อยากให้ระบบโดปามีนมันทำงานอยู่ทุกขณะจิต แต่คำถามก็คือ สิ่งที่ ‘ถูกออกแบบให้มีความสุข’ นั้น เป็นเรื่องเดียวกับ ‘ความสุข’ จริงๆ หรือเปล่า? เพราะระบบโดปามีนนั้น แม้มันจะทรงพลังและทำงานได้ง่ายเมื่อพบเจอการรอคอยอันน่าตื่นเต้นและสิ่งไม่คาดฝันแสนสนุก แต่ในอีกด้านหน่ึง มันก็ ‘เฉื่อยชา’ ต่อเรื่องเก่าๆ เดิมๆ ได้ง่ายเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ‘อุตสาหกรรมความสุข’ จึงต้องพยายามสร้าง ‘สิ่งกระตุ้นเร้า’ ใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการรอคอยใหม่ๆ หรือประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความทรงจำใหม่ๆ ขึ้นมา เวลานึกย้อนกลับไปชื่นชมจะได้มีความสุขสุดขีดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อุตสาหกรรมความสุขต้องสร้าง ‘เป้าหมาย’ ใหม่ๆ ที่จะทำให้คนมีความสุขขึ้นมาตลอดเวลา แต่ในอีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมความสุขกลับไม่ได้สร้าง ‘ความหมาย’ ให้กับ ‘เป้าหมาย’ นั้นๆ เท่าไหร่ เราจึงมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ทุรนทุรายหา ‘เป้าหมาย’ ที่ไม่ได้มี ‘ความหมาย’ อะไรกับชีวิตตัวเอง เช่น การดิ้นรนหาซื้อของที่นิยามตัวเอง ออกเดินทางเพื่ออวดโอ่ในโซเชียล หรือกินหรูอยู่ฉ่ำในแบบที่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันมีความหมายอะไรกับชีวิตของเรา
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นอกเหนือไปจากความทรงจำแบบลูกโป่งหลากสีที่พร้อมแตกสลายเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานแล้ว อุตสาหกรรมความสุขดูเหมือนไม่ได้ทิ้ง ‘ความหมาย’ ใดๆ เอาไว้ให้การมีชีวิตอยู่ แต่เร่งเร้าให้เราต้องดิ้นรนหาความสุขใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อระบบโดปามีนให้ได้มากที่สุด
ดังนั้น คำถามที่ตั้งไว้แต่แรกก็จะวนกลับมาใหม่อีกครั้ง – ว่าความสุขเป็นเรื่องที่อยู่ ‘ตรงนี้’ แบบ Here and Now ในกิจกรรม mundane activities ต่างๆ เหมือนในเพลงของหมู่บ้านพลัม หรือความสุขเป็นเรื่องที่เราต้อง ‘ไขว่คว้า’ หาสิ่งใหม่มา ‘กระตุ้นเร้า’ ตัวเองอยู่เสมอจนเกิดอาการ ‘ทุรนทุราย’ ใฝ่หาความสุข – กันแน่
ใกล้ถึงเทศกาลส่งความสุขท้ายปีอย่างนี้ ผมคิดว่าการครุ่นคิดถึงความสุขว่ามันคืออะไร – เป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการ ‘ให้’ และ ‘รับ’ ความสุขระหว่างกัน
เราจะได้ไม่ถูกหลอกว่าตัวเองมีความสุข – ทั้งที่ยังต้องดิ้นรนทุรนทุรายหาความสุขไม่รู้จักจบสิ้น!