fbpx

ตระบัดศาสตร์: วิทยาศาสตร์ของการโกหก

ถ้าคุณคิดว่า ‘การโกหก’ เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายดายจนใครๆ หลายคนต่างก็โกหกให้เราเห็นแบบซึ่งๆ หน้าแล้วละก็

ขอบอกว่าคุณกำลังคิดผิด!

ที่จริงแล้ว ‘การโกหก’ นั้น ถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้อง ‘ใช้สมอง’ มากที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์เลยทีเดียว และคนส่วนใหญ่มักมีปัญหากับการโกหก เพราะการโกหกให้แนบเนียนหรือหลอกลวงผู้อื่นให้ตัวเองเชื่อไปด้วยนั้น นับเป็น ‘ศาสตร์’ ที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งเลยทีเดียว

ว่ากันว่า คนในวัฒนธรรมไหนทำอะไรเยอะ ก็จะมี ‘คำเรียก’ สิ่งนั้นเยอะตามไปด้วย ซึ่งหากมาพิจารณาในภาษาไทย เราจะพบว่าคนไทยมีคำที่เกี่ยวข้องกับการโกหกไม่น้อยเลยทีเดียว เช่นถ้าเป็นเรื่องเบาะๆ เรามักจะบอกว่า อย่ามา ‘ปด’ กันหน่อยเลย หรือถ้าเป็นการโกหกกันเล่นๆ ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า ‘แกง’ คือ ไม่ได้โกหกกันถึงขั้นเอาเป็นเอาตาย

แต่ถ้าโกหกในระดับที่สูงขึ้นไปอีกหน่อย ก็จะมีคำว่า อย่ามา ‘โป้ปด’ หรือ ‘มดเท็จ’ กันเลย รวมไปถึงคำว่า ‘พูดเท็จ’ ด้วย คำว่าโกหกเอง ก็มีการใส่สร้อยคำ กลายเป็น ‘โกหกพกลม’ หรือ ‘โกหกหน้าตาย’ หรือ ‘โกหกหน้าด้านๆ’ รวมไปถึงคำที่เกี่ยวข้องกับการโกหก หรือมีการโกหกอย่างเป็นกระบวนการ มีการคิดไว้ก่อน อย่างเช่นการ ‘หลอกลวง’ ตั้งแต่ประเภท ‘มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก’ ไปจนถึง ‘หน้าซื่อใจคด’ หรือ ‘หน้าเนื้อใจเสือ’ ที่อาจไม่ได้มีความหมายถึงการโกหกตรงๆ แต่เป็นสำนวนที่หมายถึงความไม่ตรงไปตรงมา รวมไปถึงคำที่ดูแรง แต่บางครั้งก็ถูกนำมาใช้กับเพื่อนฝูงสนุกๆ ได้ เช่นคำว่า ‘ตอแหล’ ซึ่งมักจะมาคู่กับคำที่ก้ำกึ่งว่าเป็นการโกหกหรือไม่ คือคำว่า ‘ดัดจริต’

แต่คำที่น่าจะรุนแรงที่สุดในเรื่องการโกหก น่าจะหนีไม่พ้นคำว่า ‘ตระบัดสัตย์’ ซึ่งเป็นคำที่แรง ทั้งรูป ความหมาย รวมไปถึงเสียงของคำที่ลงท้ายด้วยคำตายที่สามารถกระแทกเสียงได้จนสะใจได้อีกด้วย

ในระยะหลัง คำคำนี้ถูกนำมาใช้กับนักการเมืองที่ไม่รักษาคำพูด และบางคนก็อาจใช้ในความหมายของการ ‘โกหกหน้าด้านๆ’ ได้ว่านักการเมืองเหล่านั้น – ตระบัดสัตย์ต่อประชาชน!

คนเราไม่ได้เกิดมาก็โกหกกันได้เลย แต่นักจิตวิทยาบอกว่า ระหว่างการเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ขี้โกหก มนุษย์เราต้องผ่านพัฒนาการแห่งการโกหกสามขั้นตอนกันมาตั้งแต่เด็กเสียก่อน ได้แก่

1. การโกหกขั้นปฐมภูมิ (Primary Lie) : เป็นการโกหกที่เริ่มต้นตั้งแต่สองหรือสามขวบ โดยเด็กในระยะนี้จะโกหกเพื่อซ่อนสิ่งที่ตัวเองทำผิดเอาไว้ แต่ด้วยความที่เป็นเด็ก จึงยังไม่สามารถ ‘ประดิษฐ์’ สร้างการโกหกที่แนบเนียนอะไรมากนัก คนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าจึงจับโกหกเด็กได้ง่าย

2. การโกหกขั้นทุติยภูมิ (Secondary Lie) : เป็นการโกหกที่แลดู ‘จริง’ และ ‘น่าเชื่อถือ’ มากขึ้นกว่าการโกหกในระดับแรก การโกหกแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้ในเด็กอายุราวสี่ขวบขึ้นไป และสามารถ ‘สร้างเรื่อง’ ที่แลดูสมจริงมากกว่าการโกหกขั้นปฐมภูมิขึ้นได้ เพราะเด็กวัยนี้เริ่มแยกแยะออกแล้วว่า อะไรสมจริงอะไรไม่สมจริง เช่น ถ้าของหาย แทนที่จะบอกว่า มีปีศาจเข้ามาขโมยของในบ้านไป เด็กรู้ว่าถ้าโกหกว่าพี่เลี้ยงเป็นคนขโมยของนั้นๆ ไปจะน่าเชื่อถือมากกว่า เป็นต้น

3. การโกหกขั้นตติยภูมิ (Tertiary Lie) : คือการโกหกประเภทที่มีการคิดใคร่ครวญมาแล้วอย่างดี เป็นการโกหกที่ซับซ้อนขึ้น หาเหตุผลมาให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ เช่นสร้างเรื่องว่ามาเก็บลูกบอลในบ้าน แล้วเผลอปล่อยสุนัขในบ้านนั้นให้หลุดออกไปจนถูกรถชนตาย แต่แท้จริงวางแผนเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้นที่จะปล่อยสุนัขออกไป

เห็นได้ว่าการโกหกที่ ‘ชั้นสูง’ มากขึ้น ‘แนบเนียน’ มากขึ้น ต้องใช้ ‘พลังสมอง’ (Brain Power) มากขึ้นตามไปด้วย การโกหกให้เก่ง โดยเฉพาะโกหกพร้อมๆ กันหลายๆ เรื่อง และยังยืนหยัดรักษา ‘เรื่องโกหก’ เหล่านั้นเอาไว้แม้จะถูกจับได้ – จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาสังคมบางคนบอกว่า การโกหกในระดับต้นๆ หรือการโกหกเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีอย่างที่เรียกว่า ‘White Lie’ หรือ ‘โกหกสีขาว’ นั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องจำเป็น และถือเป็น ‘น้ำมันหล่อลื่น’ เชิงสังคมด้วยซ้ำไป มีหลักฐานปรากฏว่า มนุษย์นั้นโกหกกันมานานแล้ว และโกหกบ่อยครั้งจนแทบจะเรียกได้ว่า โกหกกันทุกลมหายใจ แต่เป็นการโกหกที่เป็นไปเพื่อ ‘ถนอมน้ำใจ’ คนอีกฝั่งหนึ่งไม่ให้รู้สึกแย่นัก เช่น ถ้ามีเพื่อนทำอาหารมาให้คุณกิน คุณจะไม่มีวันบอกว่าอาหารนั้นรสชาติแย่ ควรเอาไปให้สุนัขรับประทาน แต่คุณจะบอกก่อนว่าอาหารนั้นรสชาติดีนะ หรืออย่างน้อยๆ ก็บอกว่ารสชาติโอเค แล้วอาจจะตามด้วย ‘แต่’ แล้วให้คำแนะนำไปว่าควรกลับปรับปรุงอย่างไร 

การโกหกแบบนี้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า ‘ความสุภาพ’ คือ ไม่ได้ ‘ตีแสกหน้า’ ให้ตายกันไปเลยทีเดียว แต่ใช้ ‘ปิยะวาจา’ ปกปิดความรู้สึกที่แท้จริง แล้วหาวิธีบอกความจริงออกไปโดยไม่ให้เกิดความรู้สึกแง่ลบมากนัก แต่ถ้าทำมากเกินไป ก็อาจจะโดนอีกฝ่ายคิดในใจ (โดยไม่ได้พูดออกมาตรงๆ – ซึ่งก็อาจถือเป็นการโกหกได้เหมือนกัน) ว่า – ทำไมดัดจริตขนาดนี้

การโกหกแบบนี้จึงเป็นการ ‘ซ่อน’ ความคิดเห็นที่แท้จริงเพื่อเลี่ยงการปะทะทางสังคมตรงๆ จึงถือเป็น ‘น้ำมันหล่อลื่น’ ให้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมดำเนินต่อไปได้โดยไม่เกิดการปะทะทุ่มเถียงกันเสียก่อน

แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า การโกหกแบบนี้จะเป็นที่ยอมรับได้ของทุกคน โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ที่หลายคนเห็นว่า ‘อาการมากมารยาท’ มีค่าเท่าเทียมกับดัดจริตตอแหล!

เลยพ้นจากการโกหกเพื่อความสุภาพแล้ว ถ้าจะก้าวไปสู่การโกหกชั้นเซียน ซึ่งคือการโกหกแบบมีเป้าหมาย (Purposeful Lie) นั้น คนเราจะต้องเรียนรู้ทักษะทางการรู้คิด (ภาษาไทยเรียกว่า ‘ประชาน’ หรือ ‘ปริชาน’ ภาษาอังกฤษคือ Cognitive Skills) สองอย่างที่สำคัญ

อย่างแรกเรียกว่า การให้เหตุผลแบบ Deontic (Deontic Reasoning) ซึ่งก็คือต้องมีความสามารถที่จะตระหนักรู้และเข้าใจได้ถึง ‘กฎเกณฑ์ทางสังคม’ (Social Rules) คือรู้ว่าถ้าหากละเมิดกฎเกณฑ์พวกนั้นแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น ตัวอย่างเช่น หากว่าโกหกแล้วสารภาพต้องได้รับโทษ แต่ถ้าโกหกแล้วยังโกหกต่อ อาจมีโอกาสรอดตัวได้ไม่ต้องรับโทษทัณฑ์อะไร

เรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะในหลายกรณี การโกหกถึงขั้น ‘ตระบัดสัตย์’ จะมีเรื่อง ‘อำนาจ’ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นั่นคือต่อให้ละเมิด ‘กฎเกณฑ์ทางสังคม’ ร้ายแรงแค่ไหน แต่หากมี ‘อำนาจเหนือ’ อยู่กับตัวเอง ก็มั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกลงโทษ (อย่างน้อยที่สุดก็ ณ ขณะที่ยังมีอำนาจอยู่)

ดังนั้น การ ‘ตระบัดสัตย์’ จึงสามารถเกิดขึ้นได้สมกับคำว่า ‘โกหกหน้าด้านๆ’ โดยที่ ‘อำนาจ’ สามารถเอาชนะการเรียนรู้ทักษะแบบที่เรียกว่า Deontic Reasoning ไปได้

ทักษะอย่างที่สองเรียกว่า Theory of Mind หรือความสามารถที่จะจินตนาการหรือประเมินได้ว่า ผู้อื่นกำลังคิดอย่างไรอยู่ เช่น ถ้าเราเป็นคนขโมยขนมชิ้นนั้นไป แล้วมีคนมาเห็นตอนเรากำลังกลืนลงคอ เราไม่สามารถโกหกได้หรอกว่าสุนัขหรือแมวที่ไหนเป็นตัวการขโมยขนมไปกิน เพราะแม้คนอื่นจะไม่เห็นว่าเราขณะหยิบขนมนั้นใส่ปาก แต่เสี้ยววินาทีแห่งการ ‘กลืน’ ขนมลงคอก็ทำให้คนอื่นอนุมานได้ว่าเกิดอะไรขึ้น คนอื่นจึงอาจไม่เชื่อคำโกหกของเรา ดังนั้น เราจึงต้องหาวิธีโกหกให้แนบเนียนมากขึ้นกว่านี้

เรื่องนี้ก็น่าสนใจอีกเหมือนกัน เพราะหากเป็นการโกหกในระดับ ‘ตระบัดสัตย์’ ของนักการเมือง เราจะเห็นเลยว่าผู้โกหกไม่ได้ใช้สมอง ‘คิด’ หาวิธีการที่แนบเนียนเลยแม้แต่น้อย ทว่าบอกกลายๆ ด้วยซ้ำไปว่าตัวเองกำลังโกหกอยู่ เช่นบอกว่าสิ่งที่เคยพูดหรือสัญญาไว้ก่อนหน้า เป็นแค่ ‘เทคนิค’ ในการพูดเพื่อให้คนอื่นเชื่อหรือเพื่อคะแนนเสียงเท่านั้น เมื่อคนอื่นเชื่อแล้ว สัมฤทธิ์ผลทางอำนาจแล้ว ตัวเองไม่จำเป็นต้องรักษาสัญญาเหล่านั้นอีกก็ได้ และที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะผู้โกหกในระดับ ‘ตระบัดสัตย์’ ถือตัวว่ามี‘อำนาจเหนือ’ อยู่ในมือ และเป็น ‘อำนาจ’ ที่สามารถเอาชนะการเรียนรู้ทักษะแบบนี้ได้ด้วย ดังนั้นจะ ‘โกหกหน้าซื่อ’ อย่างไรก็ได้

นักจิตวิทยาสังคมชื่อ เบลลา เดอเพาโล (Bella M. DePaulo) จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ซานตาบาร์บารา เคยศึกษาเอาไว้ในปี 2003 ว่า โดยทั่วไป คนเราจะ ‘สร้างเรื่อง’ โกหก เฉลี่ยแล้วราวๆ วันละ 2 เรื่อง และการจะเป็นคนที่โกหกเก่งๆ ก็ต้องใช้เวลาฝึกฝน ซึ่งก็สอดรับกับการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งในปี 2015 ที่ทำกับคนมากกว่า 1,000 คน วัยตั้งแต่ 6 ขวบถึง 77 ปี ในเนเธอร์แลนด์ พบว่าคนที่เป็นเด็กจะมีปัญหากับการโกหกมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะการโกหกให้ได้ผลนั้นเป็นทักษะที่ต้องฝึกด้วยประสบการณ์ โดยคนที่โกหกเก่งที่สุด จะมีอายุระหว่าง 18 และ 29 ปี โดยความสามารถในการโกหกจะค่อยๆ ลดลงเมื่ออายุ 45 ปีไปแล้ว

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า มนุษย์เรานั้น ‘พูดความจริง’ ง่ายกว่าโกหกเยอะ เพราะถ้าจะโกหก เราต้องตระหนักรู้ให้ได้เสียก่อนว่าความจริงคืออะไร แล้วจากนั้นจึงค่อย ‘ประดิษฐ์’ ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ขึ้นในหัว โดยฉากทัศน์นั้นจะต้องมีความสอดคล้องกลมกลืน ไม่ขัดแย้งกับความจริงที่คนอื่นจะสังเกตได้ และพร้อมกับการสร้างเรื่องใหม่ สมองของเราก็ต้อง ‘กด’ เรื่องจริงเอาไว้ไม่ให้เกิดความว่อกแว่กขณะโกหก สมองของเราจึงต้องทำงานคู่ขนานระหว่างความจริงกับความเท็จที่สร้างขึ้น สมองจึงทำงานหนัก เพราะต้องนึกถึง ‘สตอรี่’ สองเรื่องควบคู่กันอยู่ตลอดเวลา อย่างหนึ่งเพื่อกดเก็บ อีกอย่างหนึ่งเพื่อจินตนาการสร้างเรื่อง

มากไปกว่านั้น เรายังต้องใช้สมองเพื่อ ‘ประเมิน’ ผู้ฟัง ณ ขณะเวลานั้นๆ อีก ว่าตอนนี้ปฏิกิริยาของผู้ฟังเรื่องโกหกของเราเป็นอย่างไร เขา ‘รู้ทัน’ เราหรือเปล่า และถ้าจำเป็น เราต้อง ‘ปรับเปลี่ยน’ เส้นเรื่องแห่งการโกหกไปอย่างไรจึงจะแนบเนียน โดยเฉพาะถ้าการโกหกนั้นมันไปละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคมจนอาจเสี่ยงที่จะถูกจับได้

ทั้งหมดนี้ใช้ ‘การควบคุมตัวเอง’ (Self control) ในระดับสูงมาก สมองส่วนที่ทำหน้าที่โกหกในระดับนี้ คือคอร์เท็กซ์กลีบสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ วางแผน และประมวลผลต่างๆ มีการทดลองของนักประสาทศาสตร์ชื่อ ฌอน สเปนซ์ (Sean Spence) จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ในอังกฤษ โดยใช้เครื่องสแกนสมอง fMRI พบว่าสมองส่วนหน้าของคนที่กำลังโกหกอยู่นั้น มัน ‘ทำงานหนัก’ มากกว่าคนที่ไม่ได้โกหกจริงๆ และการทดลองอื่นอีกหลายการทดลองก็ยืนยันบทบาทของสมองส่วนนี้ขณะโกหกเช่นเดียวกัน

โดยทั่วไป คนเราโกหกได้สองเรื่อง คือโกหกเรื่องข้อเท็จจริง (Fact) กับโกหกเรื่องคุณค่า (Value) และโกหกให้กับผู้คนได้สองแบบ นั่นคือโกหกให้ ‘คนอื่น’ รับรู้ กับอีกแบบหนึ่งที่ล้ำลึกมาก ก็คือการ ‘โกหกตัวเอง’

เมื่อจับสี่เรื่องนี้มาไขว้กัน เราจะได้ ‘นักโกหก’ สี่ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ 

Deceitful liars คือ คนที่โกหกคนอื่นเกี่ยวกับข้อเท็จจริง : อันนี้เป็นการโกหกที่พบได้ทั่วไป เด็กๆ โกหกแบบนี้ได้ตั้งแต่อายุราวสามขวบ และนักวิจัยเชื่อว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สมองมนุษย์เกิดการพัฒนา 

Duplicitous liars คือ คนที่โกหกคนอื่นด้วยเรื่องคุณค่า : เป็นการโกหกคนอื่นว่าตัวเราเองไม่ได้เป็นคนที่ยึดถือคุณค่าแบบนั้นเพื่อให้คนอื่นเชื่อ แล้วจะได้รับผลประโยชน์บางอย่างจากการโกหกนั้น ซึ่งก็เป็นการโกหกที่เราพบได้บ่อยครั้งอีกเช่นกัน

Delusional liars คือ คนที่โกหกตัวเองเรื่องข้อเท็จจริง : นอกจากเราจะโกหกคนอื่นแล้ว บ่อยครั้งเรายัง ‘โกหกตัวเอง’ อีกด้วย โดยเฉพาะการโกหกเรื่องข้อเท็จจริงต่างๆ นั่นคือเรามักจะเลือก ‘เชื่อ’ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ชี้ไปยังข้อสรุปที่เราต้องการ คนที่โกหกตัวเองแบบนี้มักจะมีอคติแบบที่เรียกว่า Confirmation Bias อยู่ในตัวสูงลิบ ซึ่งมักนำไปสู่สภาวะการรู้คิดที่ขัดแย้งกับความจริง (Cognitive Dissonance) ได้

Demoralized liars คือ คนที่โกหกตัวเองด้วยเรื่องคุณค่า : การโกหกแบบที่สาม ถ้าเกิดขึ้นมากๆ มักจะนำมาสู่การโกหกแบบที่สี่ นั่นคือการ ‘เชื่อ’ ว่าข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่เรามีอยู่ในมือนั้น เป็นอุดมการณ์ที่ ‘จริงแท้’ และ ‘มีคุณค่า’ มากกว่าของคนอื่นๆ การโกหกแบบนี้จึงสะท้อนย้อนกลับไปสู่การโกหกอื่นๆ ได้ง่าย เพราะกลายเป็นว่าเราจะไม่เห็นอีกต่อไป ว่าเรื่องที่เรากำลังพูดและทำอยู่นั้นมันคือเรื่องโกหก ทว่าไปถึงขั้นเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองพูดและทำนั้น – คือความจริง!

การโกหกในระดับที่ทำให้การ ‘ตระบัดสัตย์’ กลายเป็น ‘ตระบัดศาสตร์’ จึงคือผสมผสานการโกหกหลายๆ แบบเข้าด้วยกัน คือ ทั้งโกหกผู้อื่นและโกหกตัวเอง โกหกทั้งในระดับข้อเท็จจริงและโกหกในระดับคุณค่าด้วย แต่ถ้าถามว่านี่เป็นศาสตร์ชั้นสูงที่ต้องฝึกหนักชั่วชีวิตใช่ไหม – บางทีคำตอบอาจเป็นตรงข้ามก็ได้

เพราะถ้าจะตระบัดสัตย์เสียอย่าง ขอแค่ให้มีอำนาจอยู่ในมือ ก็สามารถตีหน้าซื่อบอกได้เสมอว่า (กู) จะเอาแบบนี้นี่แหละ ใครจะทำไม

คนที่ไม่เชี่ยวชาญศาสตร์แห่งการโกหก บางทีจึงอาจแยกการโกหกชั้นสูงกับชั้นต่ำออกจากกันได้ยากอยู่สักหน่อย!


อ่านเพิ่มเติม

The Art of Lying โดย Theodor Schaarschmidt ใน Scientific American

Why We Lie โดย David Livingstone Smith 

Liar, liar, pants on fire: The truth about children’s lies

An Illustrated Guide to the 4 Types of Liars

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save