fbpx

Superjobs : ปรากฏการณ์ที่คนทำงานต้องทำให้ได้ทุกอย่าง

ทุกวันนี้เวลาอ่านประกาศรับสมัครงาน เรามักจะเห็นประกาศรับคนประเภท ‘ทำได้ทุกอย่าง’ บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่างเช่น ในวงการทำคอนเทนต์นั้น หลายแห่งไม่รับคนที่เขียนได้อย่างเดียว ถ่ายภาพนิ่งได้อย่างเดียว หรือตัดต่อได้อย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่จะประกาศรับคนที่สามารถ ‘ทำคอนเทนต์’ ได้ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางเลย คือเข้าพื้นที่ได้ สัมภาษณ์ได้ ขณะสัมภาษณ์อาจจะถ่ายรูปได้ด้วย หรือถ้าจะให้ดีก็ตั้งกล้องถ่ายรูปได้ด้วยตัวเอง เสร็จแล้วกลับมาเขียนได้ เขียนอย่างเดียวไม่พอ ยังปรับแสงรีทัชภาพนิ่งได้ แถมยังตัดต่อออกมาเป็นคลิปยูทูปหรือติ๊กต็อกได้อีกต่างหาก

ทุกวันนี้เลยมีคนทำงานที่ ‘เบิร์นเอาต์’ กับความต้องการแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ!

แต่เชื่อไหมครับว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนในวงการคอนเทนต์เท่านั้น แต่ในหลายวงการก็เป็น เขาเรียกลักษณะของการทำงานแบบนี้ว่า Superjobs หรือ Hybrid Jobs คือต้องทำมันให้ได้ทุกเรื่อง

สายการบินหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่บินเฉพาะในประเทศ คือสายการบิน SkyWest เคยมีประกาศรับสมัครงานโดยบอกว่ากำลังหาคนที่ทำงานได้แบบ Cross Utilized Agents คือทำมันได้หลายงาน ต้องสามารถขายตั๋วได้ ควบคุมงานได้ ให้บริการบนเครื่องบินได้แบบเดียวกับแอร์โฮสเตส แล้วก็ต้องจัดการกับเรื่องกระเป๋าเดินทางของผู้โดยสารได้ด้วย

อะไรจะทศกัณฐ์พันมือขนาดนั้น!

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจอื่นๆ อีกมากที่ต้องการให้คนทำงานได้อย่างหลากหลาย จะได้หมุนเวียนไปทำโน่นนั่นนี่ได้ตลอดเวลา หรือไม่ก็ต้องทำงานหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน แม้กระทั่งในกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกา ก็มีการออกแบบเรือที่ ‘ใช้คน’ น้อยลง แต่ฝึกคนที่ลงไปอยู่ในเรือให้ ‘ทำงานได้หลายๆ อย่าง’ มากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

มีผู้วิเคราะห์เอาไว้ว่า สิ่งที่นายจ้างหรือนายทุนต้องการมากขึ้นในปัจจุบันนี้ คือการ ‘รีด’ ความสามารถจากตัวบุคลากรให้ได้มากที่สุด โดยใช้คำว่าคนที่จะเข้ามาทำงานต้องมี Mental Agility หรือมีความคล่องตัวทางจิตหรือทางสติปัญญา เพื่อจะได้เรียนรู้งานได้ทุกอย่าง ไม่อิดออด ไม่เกี่ยงงอน เป็นได้ทุกตำแหน่ง ทำได้ทุกตำแหน่ง และแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง

คำถามก็คือ – แล้วมันจะมีมนุษย์แบบนั้นอยู่สักกี่คน!

แต่ปรากฏการณ์ Superjobs เกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะเรามี ‘ผู้ช่วย’ ที่เรียกว่าเทคโนโลยีหรือระบบอัตโนมัติต่างๆ นี่แหละครับ ทำให้เราตัดต่อได้เร็วขึ้น สัมภาษณ์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เขียน แปล หรือถอดเทปได้เร็วขึ้น คนที่เป็นเลขาฯ ก็เขียนจดหมายให้นายได้เร็วขึ้นเพราะให้ ChatGPT ช่วยเขียน

แต่เมื่อมนุษย์ทำได้เร็วขึ้น ไม่ได้แปลว่าเขาจะสามารถนำเวลาที่เหลือไปพักผ่อนหรือเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะให้ตัวเองได้นะครับ ยิ่งทำงานได้เร็วขึ้น ก็ยิ่งมี ‘งานอื่น’ ประเดประดังโหมเข้าใส่มากขึ้นไปอีก

เรื่องแบบนี้เป็น ‘ข้อดี’ ของนายจ้างแน่ๆ เพราะทำให้จ้างคนได้น้อยลง แต่คัดเลือกคนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือถ้าไม่ได้มีประสิทธิภาพมาตั้งแต่ต้นทาง ก็ฝึกเล็กๆ น้อยๆ แล้วใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย คนทำงานเหล่านี้ก็จะกลายเป็นพวก Superjobers ไปได้เองโดยอัตโนมัติในเวลาไม่นาน

แต่คำถามก็คือ – แล้วมันมี ‘ข้อเสีย’ หรือเปล่า?

เรื่องนี้ แซคคารี แฮมบริค (Zachary Hambrick) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน ได้ลองทำการทดลองง่ายๆ อันหนึ่ง คือให้คนมา ‘ทำงาน’ ด้วยการจ้องมองจอที่แบ่งออกเป็นสี่ส่วน แต่ละจอจะมี ‘งาน’ ให้ทำต่างกันออกไป เช่น จอหนึ่งต้องจำตัวอักษรที่ปรากฏขึ้น อีกจอหนึ่งต้องบวกเลขที่ปรากฏขึ้นมา ส่วนอีกจอหนึ่งมีปุ่มสีแดงให้กดเวลาได้ยินเสียงกริ่งดังขึ้น อะไรทำนองนี้

พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นการจำลองการทำงานแบบที่เราเรียกว่า Multitask นั่นแหละครับ

หลายคนคิดว่า คนที่ทำงานแบบ Multitask ได้ คือคนที่แยกประสาทได้เก่ง จึงทำงานหลายอย่างได้ ‘พร้อมๆ กัน’ แต่ในความเป็นจริง มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Multitask อยู่จริงหรอกนะครับ มันเป็นเพียงการ ‘เปลี่ยนความสนใจ’ อย่างฉับพลันทันที หรือพูดอีกอย่างก็คือ เราไม่ได้ทำงานหลายอย่างได้ ‘พร้อมๆ กัน’ แต่เราทำ ‘ทีละอย่าง’ โดยเปลี่ยนความสนใจได้รวดเร็วเท่านั้นเอง

ผู้เข้าร่วมการทดลองกับแฮมบริคนั้น พบว่าสุดท้ายแล้วแต่ละคนทำงานแบบ ‘หลากหลาย’ หรือที่เรียกว่า Multitask นั้นได้ไม่นานนัก เพราะมันจะไป ‘ป่วนสมอง’ อย่างสูงยิ่ง ทำให้รู้สึกเหมือนต้องกางแขนกางขาออกไปทำทุกอย่างในเวลาเดียวกัน

แฮมบริคอธิบายว่า ที่เกิดความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมา ก็เพราะผู้เข้าร่วมทดลองกำลังไปถึง ‘ขีดจำกัด’ ของความทรงจำที่เรียกว่า Working Memory ซึ่งก็คือระบบการรับรู้ (Cognitive System) ที่มีความสามารถจำกัด สมองมีเอาไว้เก็บข้อมูลเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อมันมีจำกัด แล้วเราต้องใช้มันอย่างยืดขยาย ก็เหมือนลูกโป่งที่เราเป่าลมหรือใส่น้ำเข้าไปเรื่อยๆ จนมันยืดออก และจะปริแตกเมื่อไหร่ก็ได้นั่นแหละครับ

และอาการ ‘ปริแตก’ นี่แหละที่อันตราย เพราะสุดท้ายมันอาจทำให้เกิดอาการทางจิตขึ้นได้หลายอย่าง อย่างเบาะๆ ก็คืออาการเบิร์นเอาต์ หรือถ้าร้ายแรงมากขึ้นก็เป็นอาการซึมเศร้า หรือเลยไปถึงอาการไม่พึงปรารถนาอื่นๆ ได้อีกมาก

แฮมบริคยังอธิบายต่อไปอีกด้วยนะครับ ซึ่งตรงนี้สำคัญเอามากๆ เขาบอกว่า คนที่ทำงานหลากหลายประเภทเก่ง หรือคนที่เป็น Superjobers นี่ พวกเขากำลังใช้ ‘ปัญญา’ หรือ ‘ความฉลาด’ แบบที่เรียกว่า fluid intelligence หรือความฉลาดแบบของไหล

เจ้าความฉลาดแบบนี้ เกิดขึ้นจากทฤษฎีทางจิตวิทยาของ เรย์มอนด์ แคตเทล (Raymond Cattell) ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาชาวอังกฤษนะครับ

คุณแคตเทลบอกเราว่า ความฉลาดสามารถแบ่งออกได้หลายแบบ แต่หนึ่งในนั้นคือการแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ความฉลาดแบบ fluid intelligence หรือความฉลาดแบบของไหลที่เราว่ากันมา กับความฉลาดแบบ ‘ตกผลึก’ หรือ crystallized intelligence

แล้วความฉลาดสองแบบนี้ต่างกันอย่างไร?

ถ้าเป็นความฉลาดแบบของไหล มันจะเป็นความฉลาดแบบที่ไม่ต้องอาศัยประสบการณ์ใดๆ เป็นความฉลาดแบบ เห็นปุ๊บก็จะพลิกแพลงแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้ในทันที ซึ่งคนที่เหมาะกับ Superjobs ก็คือคนที่มีความฉลาดแบบนี้ มันเป็นความฉลาดแบบที่ ‘ติดตั้ง’ มาพร้อมกับตัวเราตั้งแต่เกิดเลย บางคนก็มีความฉลาดแบบนี้เยอะ บางคนก็มีน้อย แต่แฮมบริคบอกว่า ความฉลาดแบบของไหลนี้ มันจะ ‘พีค’ ที่สุดในมนุษย์ ในช่วงวัยยี่สิบปี คือพออายุไปถึงสามสิบสี่สิบปีแล้ว ความฉลาดแบบนี้ก็จะหายไป

ผมมักจะเรียกความฉลาดแบบนี้ว่า ‘ความว่องไวทางปัญญา’ หรืออีกอย่างหนึ่งคือการมีไหวพริบ หรือการใช้เชาวน์ปัญญานั่นแหละครับ

ส่วนความฉลาดแบบตกผลึก หรือ crystallized intelligence นั้น เป็นอีกแบบ คือเมื่อคนเราเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ สมองมันก็จะไม่ ‘ว่องไว’ เหมือนเก่าแล้ว ความฉลาดแบบของไหลลดลง มนุษย์เราก็จะมีสิ่งที่มาทดแทนได้ นั่นคือความฉลาดที่เกิดจากประสบการณ์หรือการ ‘ตกผลึก’ สิ่งที่ทำซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ ซึ่งถ้าเชื่อตามมัลคอล์ม แกลดเวลล์ (Malcolm Gladwell) ก็จะเป็นทฤษฎีทำสิ่งต่างๆ ซ้ำๆ เป็นเวลาหมื่นชั่วโมงนั่นแหละครับ

คุณแฮมบริคบอกว่า ความฉลาดแบบตกผลึกนี้ จะค่อยๆ เกิดช้าๆ แล้วก็จะไปพีคในวัยห้าสิบปีขึ้นไป แต่เลยจากหกสิบเจ็ดสิบปีไปแล้ว คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนแล้วนะครับ เพราะแน่นอนว่าพอสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ ความเสื่อมทางกายและทางสมองมันก็จะมาหาเราอย่างช่วยไม่ได้ จะเป็นความฉลาดแบบไหนก็จะค่อยๆ ลดลงทั้งสิ้นทั้งปวง

แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดในการทดลองของแฮมบริคอยู่ตรงไหนรู้ไหมครับ?

มันอยู่ตรงท่ี เขาทดลองเพิ่มเติม ด้วยการ ‘เปลี่ยน’ โฟกัสในงานสี่จอนั้นเล็กน้อย โดยบอกว่า มีอยู่จอหนึ่งที่จะทำให้ทำคะแนนได้มากกว่าจออื่นๆ

คราวนี้ก็ว้าวุ่นเลยสิครับ เพราะแฮมบริคสามารถแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มได้ชัดเจน คือคนที่ ‘ว่องไว’ ทางปัญญามากขึ้นไปอีกขั้น คือสามารถโฟกัสกับจอที่ให้คะแนนเยอะๆ ได้ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้อยู่ว่าต้องเปลี่ยน แต่มันเปลี่ยนไม่ได้ เพราะมันคุ้นชินไปเสียแล้ว

คนกลุ่มแรก คือ กลุ่มที่มีความฉลาดแบบของไหลมากกว่าคนกลุ่มที่สองอย่างชัดเจน จึงสามารถเปลี่ยนความสนใจไปมาได้ แต่ที่น่าสนใจก็คือ คนกลุ่มที่สองนั้น แฮมบริคบอกว่าเป็นกลุ่มคนมี สหสัมพันธ์ หรือ correlation กับความ ‘มั่นคงภายใน’ มากกว่า แต่สุดท้ายกลับเป็นกลุ่มคนที่ทำคะแนนได้แย่กว่า

มีคนทำการทดลองคล้ายๆ แฮมบริคอีกนะครับ แล้วก็ได้ผลออกมาคล้ายๆ กัน นั่นคือ คนที่ทำคะแนนในด้านความมั่นคงภายในดีกว่า จะทำคะแนนในการทำงานได้น้อยกว่า คือ คนที่มั่นคงภายในจะทำงานประเภทที่ใช้สมาธิได้ดี แล้วก็ไม่หลุดออกไปจากงานเดิมที่ทำอยู่ ในขณะที่คนประเภท Superjobers จะเปิดกว้างกับงานใหม่ๆ และสามารถ ‘ละทิ้ง’ งานเก่าไปได้เลยโดยไม่สนใจ หันไปหางานใหม่ที่ทำให้ตัวเองได้คะแนนดีกว่าได้ฉับพลันทันที

เรื่องแบบนี้อาจฟังดูไม่เป็นปัญหานะครับ แต่ลองนึกย้อนกลับไปถึงความฉลาดแบบของไหล กับความฉลาดแบบตกผลึกดูอีกทีก็ได้ เพราะถ้าเราเป็นพวกฉลาดแบบของไหล ลืมของเก่าได้ในทันที (เพราะมันเก็บไว้แค่ใน Working Memory) เพื่อไปโอบรับของใหม่ แล้วพอเปลี่ยนอีก ก็โยนของใหม่นั้นทิ้ง เพื่อไปโอบรับของใหม่กว่าไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้ว ตัวเราจะแทบไม่มีโอกาสเกิด ‘ความฉลาดแบบตกผลึก’ ได้เลย นั่นคือไม่มีโอกาสเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปได้

คำถามก็คือ เมื่ออายุห้าสิบปี เมื่อความฉลาดแบบของไหลได้โบยบินจากเราไปแล้ว ธุรกิจ นายจ้าง หรือนายทุน จะยังจ้างเราอีกหรือ ในเมื่อเราไม่เหลือความฉลาดแบบของไหลอีกแล้ว เราทำ Superjobs ไม่ได้ว่องไวเหมือนก่อนอีกแล้ว แถมเรายังไม่มี ‘ความฉลาดแบบตกผลึก’ ติดตัวเสียด้วย

ความชำนาญแบบ ‘หมื่นชั่วโมง’ ของเราคืออะไร?

และถ้าคนส่วนใหญ่ถูกกล่อมเกลาให้กลายเป็น Superjobers โดยมีความฉลาดแบบตกผลึกน้อยเต็มที ก็แล้ว ‘สังคมผู้สูงวัย’ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร

เราจะถูกทิ้งไว้กับ ‘ความว่างเปล่าทางปัญญา’ ในตัว รอคอยให้ถึงวันสุดท้ายของชีวิตไปเรื่อยๆ หรือเปล่า?

นี่เป็นคำถามที่น่าขนลุกอย่างยิ่งกับแนวโน้มหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน!


อ่านเพิ่มเติม

The Relationship Between the ASVAB and Multitasking in Navy Sailors: A Process-Specific Approach

-บทความ At Work, Expertise is Falling out of Favor โดย Jerry Useem

-หนังสือ Outliers โดย Malcolm Gladwell

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save