fbpx
ประวัติศาสตร์ อาณานิคม และพญานาคในพนมนาคา

ประวัติศาสตร์ อาณานิคม และพญานาคในพนมนาคา

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

 

วันหนึ่งในเทอมแรกของชีวิตนักศึกษาปริญญาเอก…อาจารย์ได้มอบหมายให้ผมอ่านนวนิยายเรื่อง “เพรงสนธยา” ของ พงศกร เพื่อนำมาวิเคราะห์วิจารณ์ในชั้นเรียน พ้นไปจากเรื่องการเรียนก่อน ผมพบว่าวรรณกรรมแนวนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง ประการแรกคือความสนุก ต้องยอมรับว่าผมไม่ค่อยได้อ่านวรรณกรรมแบบนี้มากนัก ความเข้าใจที่ผมมีต่อวรรณกรรมแนวนี้จึงน้อยมาก ประการถัดมาคือตัวบทสามารถตีความและวิเคราะห์ได้หลากหลายแง่มุม แม้เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ย้อนยุคตามแบบฉบับของละครไทยจะเป็นสิ่งที่ผมไม่ได้สนใจมากนัก แต่พอได้มาอ่านอย่างจริงจังก็เห็นได้ชัดว่ามีเรื่องราวมากมายให้วิเคราะห์ ประการสุดท้าย การอ่านเรื่องแนวนี้ทำให้ผมค้นพบว่าโลกและจักรวาลการอ่านของผมมันช่างคับแคบเสียจริง หลงคิดไปว่าวรรณกรรมแบบ ‘สายแข็ง’ คือวรรณกรรมที่ดีและสามารถใช้ในการวิเคราะห์สังคมได้

ผมคิดผิดถนัดและตั้งใจไว้ว่าจะพยายามทำความเข้าใจ เปิดโลกวรรณกรรมแนวนี้ให้มากขึ้น

หลังจากนั้น ผมพยายามตามผลงานของพงศกรเท่าที่จะทำได้ (ซึ่งจริงๆ ไม่ยากเพราะพงศกรมีผลงานเยอะมากๆ หลายเรื่องมีการดัดแปลงทำเป็นละครโทรทัศน์อีกด้วย) และพบว่า ‘พนมนาคา’ ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนกันยายน ปี 2563 คือนวนิยายเล่มล่าสุดของเขา ผมไม่รีรอและรีบสั่งซื้อหนังสือจากทางเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ ก่อนจะลงมืออ่านด้วยความตื่นเต้น…และพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจชวนให้ขบคิดต่อ โดยเฉพาะประเด็นทางประวัติศาสตร์ ตำนานท้องถิ่นและการปะทะกันระหว่างตะวันออกกับตะวันตก

 

การทาบทับกันของวรรณกรรมสองเรื่อง

 

ในคำนำ พงศกรให้ข้อมูลกับผู้อ่านว่าเขาวางแผนจะเขียน “พนมนาคา” ต่อจากเรื่อง “กี่เพ้า” เนื่องจากตัวละครเอกของทั้งสองเรื่องเป็นพี่น้องกัน คือ “พุ่มข้าวบิณฑ์” ใน “พนมนาคา” เป็นน้องของ “เพกา” ในเรื่องกี่เพ้า นอกจากนี้เนื้อหาของนวนิยายทั้งสองเรื่องยังมีส่วนที่ทาบทับกันอยู่ กล่าวคือ ในเรื่อง “กี่เพ้า” ได้เล่าถึง “พุ่มข้าวบิณฑ์” ว่าทำงานอยู่ที่เสียมเรียบและเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น ซึ่งรายละเอียดของเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงใน “กี่เพ้า” นั้นคือรายละเอียดอันยาวเหยียดถึง 500 กว่าหน้าใน “พนมนาคา” นี่เอง ไม่ใช่แค่นั้น ตัวละคร “เอเชีย” นางเอกของเรื่องก็ทำงานร่วมกับ “เพกา” อยู่ที่ The MET (The Metropolitan Museum) ในนิวยอร์กอีกด้วย

ในตอนท้ายๆ ของพนมนาคามีการขมวดความสัมพันธ์ของตัวละคร “เพกา” และ “พุ่มข้าวบิณฑ์” เข้าไว้ด้วยกันกับนวนิยายทั้งสองเรื่อง โดยเล่าผ่านฉากที่ “แทนไท” อาของทั้งสองคนเกิดนิมิตฝันถึงเหตุการณ์ที่หลานทั้งสองคนต้องเผชิญกับความลี้ลับบางอย่าง เรียกได้ว่าประเด็นนี้เป็นแก่นของนวนิยายทั้งสองเรื่อง คือในขณะที่เพกาต้องเผชิญกับความลึกลับของชุดกี่เพ้า พุ่มข้าวบิณฑ์ก็ต้องเผชิญหน้ากับพญานาคเช่นกัน

ประเด็นที่น่าสนใจคือ วรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้แม้จะมีบางส่วนทาบทับกัน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นคนละเรื่องและไม่ได้เป็นภาคต่อของกันและกัน ซึ่งเราจะเห็นลักษณะดังกล่าวได้จากละครโทรทัศน์ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมและมีการนำเสนอเป็นชุดเหตุการณ์ที่เกาะเกี่ยวกันในบางเรื่องคล้ายกับซีรีส์ โดยทั้งหมดจะอยู่ในโครงสร้างของเรื่องเล่าชุดเดียวกันและแตกเป็นโครงเรื่องย่อยที่ขยายรายละเอียดเพิ่มเติมเท่านั้น  ดังนั้นในแง่หนึ่ง ผมตั้งข้อสังเกตว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นพนมนาคาเป็นละครโทรทัศน์เช่นเดียวกับกี่เพ้าก็เป็นได้ (แม้ระยะเวลาจะห่างกันนานมากก็ตาม)

 

พนมนาคากับพื้นที่สีเทา

 

ตามเนื้อเรื่อง พนมนาคาเป็นชื่อของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณ ‘ตะเข็บชายแดน’ ระหว่างไทย-เขมร ตรงข้ามกับจังหวัดสุรินทร์ในฝั่งไทย ทำให้คนในหมู่บ้านสามารถพูดไทยได้ และดูเหมือนว่าหมู่บ้านพนมนาคานี้จะเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งว่าด้วยการเป็นเจ้าของเหนือดินแดนตามแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่

“…ไทยยึดเอาจากสันปันน้ำก็บอกว่าเป็นของไทย ส่วนเขมรยึดเอาจากแผนที่เก่าสมัยฝรั่งเศสทำเอาไว้ ก็บอกว่าพนมนาคาเป็นของเขมร พิพาทกันมาหลายปีแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป…ตอนนี้ทั้งสองประเทศเลยตกลงว่า ให้พนมนาคาเป็นพื้นที่สีเทา ยังไม่ตัดสินชี้ชัดว่าเป็นของใครกันแน่ รอจนกว่าศาลโลกจะตัดสินชี้ขาดอีกที” (หน้า 21)

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ตัวเรื่องพยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐสมัยใหม่สร้างปัญหาให้กับชาวบ้านหรือผู้คน ‘ก่อนอาณานิคม’ อย่างไร ตลอดจนถึงการเข้ามาแทรกแซง ยึดอำนาจและปกครองของเจ้าอาณานิคมในช่วงของการล่าอาณานิคมนั้นได้ทิ้งมรดกความขัดแย้งให้กับผู้คนไว้อย่างไร นอกจากนี้หมู่บ้านพนมนาคายังเป็นสิ่งที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมอีกด้วย

“ฝรั่งเศสสร้างสีหนุวิลล์เป็นเมืองตากอากาศแห่งแรกอยู่ที่ชายทะเล และเริ่มสร้างพนมนาคาให้เป็นเมืองตากอากาศแห่งที่สองในหุบเขา…แต่ฝรั่งเศสแพ้สงครามอินโดจีนเสียก่อน พนมนาคาเลยไม่มีใครรู้จัก ประกอบกับหลังจากนั้นเกิดสงครามกลางเมืองวุ่นวาย…พนมนาคาเลยค่อยๆ เลือนหายไปจากความรับรู้ของโลกภายนอกในที่สุด…” (หน้า 178)

“สงครามกลางเมืองวุ่นวาย” ที่ว่า คือเหตุการณ์เมื่อครั้งเขมรแดงภายใต้การนำของ พอล พต บุกยึดกรุงพนมเปญและก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมในประวัติศาสตร์เขมร ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ‘ทุ่งสังหาร’ ประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตจากการถูกเขมรแดงเข่นฆ่านับล้านคน พนมนาคาเองก็เป็นหนึ่งสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับเขมรแดง เพราะหลังจากที่เขมรแดงแตก นายพลสง่า สมฤทธิ์ หนีจากเมืองอัลลองเวงฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มเขมรแดงมาอยู่ที่พนมนาคาและวางแผนกับ พาน วิชัย พ่อของพาน โสภณ หัวหน้าหมู่บ้านคนปัจจุบันเพื่อใช้พนมนาคาเป็นฐานที่มั่นใหม่ของเขมรแดง

นอกจากนี้ พนมนาคาน่าจะเป็นเมืองที่มีความเก่าแก่มากดังที่ “อนันตชัย” พญานาคตนหนึ่งซึ่งรอคอยการกลับมาของ “อนัญชลี” หรือชาตินี้คือ“เอเชีย” ได้เล่าไว้ในฉากที่เขาพาเอเชียและพุ่มข้าวบิณฑ์ไปดู ‘นาคเทวาลัย’ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในพุทธศตวรรษที่ 1

ดังนั้น ‘พนมนาคา’ จึงเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันทางประวัติศาสตร์ถึง 3 แบบ คือ ประวัติศาสตร์อันไกลโพ้น ประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม และประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย เวลาที่แตกต่างกันนั้นต่างก็มีวิธีการเล่าที่มีการอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและถูกเล่าด้วยขนบที่แตกต่างกัน

 

ประวัติศาสตร์สามแบบ

 

ประวัติศาสตร์อันไกลโพ้นของพนมนาคาอย่างเรื่องราวของพญานาคนั้น ถูกเล่าในฐานะตำนานหรือนิทานท้องถิ่นที่มีอิทธิพลต่อความเข้าใจโลกของผู้คนในหมู่บ้านพนมนาคา ดังจะเห็นได้จากความเชื่อของคนในหมู่บ้านที่เชื่อว่า การที่เด็กๆ เป็น ‘โรคประหลาด’ คือผิวหนังเปลี่ยนเป็นเกล็ดคล้ายเกล็ดงูและมีพฤติกรรมเลื้อยคลานไปกับพื้นเหมือนกับงู จนถูกเรียกว่า ‘เด็กงู’ นั้นเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากคำสาปของพญานาคที่อยู่บนภูเขาพนมนาคา นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าตำนานปรัมปราและนิทานท้องถิ่นมีบทบาทต่อโลกทัศน์ของผู้คนอยู่เสมอตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ คติเรื่องนาคในวัฒนธรรมเขมรยังถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะในสังคมเขมรถือว่านาคเป็นสัญลักษณ์แทนบรรพบุรุษเขมรและการสืบต่อเผ่าพันธุ์ เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีบุญ อำนาจเทวาสิทธิ์ มีความสัมพันธ์กับพุทธศาสนาในฐานะเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนา และบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์กับพืชพันธุ์ธัญญาหาร ตลอดจนเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ [1]

ความเชื่อเช่นนี้ปรากฏอยู่ในสังคมไทยโดยเฉพาะในแถบอีสานด้วยเช่นกัน และดูเหมือนว่าสิ่งเดียวที่เส้นเขตแดนของรัฐชาติสมัยใหม่ไม่สามารถแบ่งแยกได้แม้อำนาจของอาณานิคมจะมีมากสักเพียงใดก็ตาม ก็คือคติเรื่องนาคนี่เอง

ประการต่อมา หากนาคหมายถึงบรรพบุรุษและการสืบต่อเผ่าพันธุ์ อนันตชัยและอเนกชาติ (น้องชายฝาแฝด) ในฐานะพญานาคที่เฝ้าปล่องปากทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกบาดาลบนยอดเขาพนมนาคา จึงเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษเขมรที่มีชีวิตยืนยาวผ่านช่วงเวลาในประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัยของเขมร ไม่ว่าจะในยุคอาณานิคมหรือในยุคสงครามกลางเมืองก็ตาม

พญานาคทั้งสองตนอยู่ในฐานะประจักษ์พยานของความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย และสิ่งที่ทำให้พวกเขาอยู่มาได้หลายร้อยปี นอกเหนือจากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใดๆ คือความสามารถในการปรับตัวไปตามยุคสมัยและพยายามแยกตัวออกห่างจากสังคม

ในแง่หนึ่งผมคิดว่า พญานาคและบริวารที่อยู่บนพนมนาคานั้นยังดำรงอยู่ในฐานะภูมิปัญญาของสังคมโบราณอีกด้วย การที่ภูมิปัญญาเหล่านั้นยังคงหลงเหลือและมีอิทธิพลต่อสังคมและชุมชนอยู่ได้ เป็นเพราะการปรับตัวและการรักษาความลี้ลับของตัวเองเอาไว้ ดังที่เห็นได้จากลักษณะของ ‘วิลลา’ ที่ใหญ่โตโอฬาร มีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และการทำตัวให้ทันสมัยเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์เพื่อปกปิดตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา

“สองข้างทางเดินเป็นสนามหญ้า มีต้นไม้และรูปปั้นตกแต่งสวนแบบยุโรปสวยงาม…” (หน้า 221)

“แทบไม่น่าเชื่อว่าอยู่กลางป่ากลางดง ไกลจากตัวเมืองขนาดนี้หากห้องพักในวิลลาของเจ้าชายตกแต่งอย่างทันสมัย มองดูด้วยสายตาก็รู้ได้ทันทีว่าเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นเป็นของราคาแพง…” (หน้า 238)

จากตัวอย่างที่ยกมา เราอาจคาดเดาได้ไม่ยากนักว่าวิลลาของเจ้าชายพญานาคทั้งสองนั้นตกแต่งในสไตล์ยุโรปและน่าจะเป็นแบบ ‘โคโลเนียล’[2] อีกด้วย พิจารณาจากอาคารต่างๆ ในหมู่บ้านพนมนาคาที่ถูกบรรยายเอาไว้ว่า “ขบวนรถมุ่งหน้าตามกันไปจอดอยู่อาคารใหญ่แห่งหนึ่ง เป็นตึกทาสีเหลืองไข่ไก่ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบโคโลเนียล เอเชียคาดว่าน่าจะสร้างขึ้นช่วงที่กัมพูชาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส” (หน้า 185)

สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจ คือดูเหมือนตัวเรื่องจะให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์กัมพูชาในยุคอาณานิคมและยุคสงครามกลางเมือง ซึ่งผมมีข้อสังเกตบางประการดังต่อไปนี้…

ประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมมาพร้อมกับการแบ่งเส้นเขตแดนแบบรัฐชาติสมัยใหม่อย่างชัดเจน แน่นอนว่ามันคือสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับผู้คน แต่ในเรื่องนี้ประวัติศาสตร์อาณานิคมช่วยทำให้หมู่บ้าน ‘พนมนาคา’ มีตัวตนขึ้น แม้จะเป็นความตั้งใจของฝรั่งเศสที่จะทำให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นสถานตากอากาศเหมือนกับสีหนุวิลล์ก็ตาม จากเดิมที่อาจจะเคยอยู่กันอย่างไม่เปิดเผยหรือไม่อยากเปิดเผย เพราะการเปิดเผยหรือทำให้พนมนาคาเป็นหน่วยที่ชัดเจนของรัฐชาติสมัยใหม่นั้นอาจขัดแย้งกับภูมิปัญญาหรือตำนานอันลึกลับที่มีบทบาทในชุมชนแห่งนี้มายาวนานหลายศตวรรษ

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ‘โรคประหลาด’ ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านพนมนาคานั้นเกิดขึ้นกับ “เด็กเกิดใหม่หลังจากปี พ.ศ. 2551 ทุกคนจะต้องมีความผิดปกติบนผิวหนัง…ลักษณะคล้ายเกล็ดงู” (หน้า 417)

ในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ปี พ.ศ.2551 คือปีที่ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชากรณีข้อพิพาทพื้นที่เขาพระวิหารทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาในปี พ.ศ.2550 ทำให้ในปีถัดมาทางการไทยก็มีมติประท้วงกัมพูชาในประเด็นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งกรณีข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชานั้น หากพูดให้ถึงที่สุดต่างเป็นเรื่องการเมืองภายในของแต่ละประเทศ กล่าวคือ ในการเมืองไทยเรื่องปราสาทพระวิหารถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยกลุ่มผู้ชุมนุม ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ ส่วนทางด้านการเมืองกัมพูชา เรื่องปราสาทพระวิหารถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่กำลังประสบปัญหาความนิยมที่ลดน้อยลง แต่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมืองภายในหรือระหว่างประเทศ ต้นตอของปัญหาทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นมาจากประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ ผมคิดว่าการนำเสนอเรื่องราวของประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมของพนมนาคาอาจทำให้เราได้ตระหนักหรือพิจารณาความขัดแย้งของการปะทะกันระหว่างความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตกที่เข้ามาในชุมชนผ่านการล่าอาณานิคมกับอำนาจแบบเก่าที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น

เพราะจากตัวเรื่อง เจ้าชายและคนในวิลลาจะไม่สุงสิงกับคนในหมู่บ้านยกเว้นว่ามีความจำเป็นจริงๆ พร้อมทั้งมีท่าทีรังเกียจชาวบ้าน หรือหากพูดในฐานะพญานาคก็แปลได้ว่า เจ้าชายพญานาครังเกียจมนุษย์อย่างยิ่งนั่นเอง สำหรับเจ้าชายทั้งสอง การถูกเปิดเผยความลี้ลับอาจเป็นจุดจบของพวกเขา โดยเฉพาะความลี้ลับที่ต้องปกปิดนั้นยังเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเขมรและการสืบเผ่าพันธุ์ของเขมรอีกด้วย การวางตัวให้ห่างจากมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่พวกเขา ‘ต้องทำ’ เพื่อรักษาอำนาจที่มีอยู่และครอบงำความคิดความเชื่อของผู้คนเอาไว้ อำนาจแบบอาณานิคมจึงเป็นภัยกับอำนาจแบบเก่าที่มีอิทธิพลต่อสังคมและชุมชนท้องถิ่นอย่างชัดเจน

ในด้านประวัติศาสตร์ยุคสงครามกลางเมือง ตัวเรื่องพนมนาคาพยายามชี้ให้เห็นว่ามันได้ทำลายทั้งภูมิปัญญาโบราณที่เคยมี เข่นฆ่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก เจ้านาย เชื้อพระวงศ์ ผู้ดีหลายคน ในฐานะที่เป็นผู้เก็บรักษาภูมิปัญญาอันน่าภาคภูมิใจเอาไว้ก็แตกกระสานซ่านเซ็นไปตามที่ต่างๆ

ทางด้านหมู่บ้านพนมนาคา เขมรแดงพยายามจะใช้หมู่บ้านเป็นฐานที่มั่นใหม่แต่ขาดทุนรอนในการสนับสนุน ดังนั้น พาน วิชัย พ่อของพาน โสภณ จึงพานายทหารเขมรแดงขึ้นไปบนนาคเทวาลัยเพื่อนำของมีค่ามาขาย แต่ก็ถูกเจ้าชายพญานาคปลิดชีพ ทั้งหมดเหลือรอดมาได้แต่พาน วิชัย ที่ที่ได้กลายเป็นคนเสียสติไป “…หัวหน้าวิชัยกลายเป็นคนบ้า เอาแต่พึมพำว่าพญานาค และคำสาป…” (หน้า 414)

ดังนั้นสถานะของเขมรแดงในนวนิยายเรื่องนี้ คือผู้ร้ายที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของกัมพูชาหยุดชะงัก และยังเป็นโจรที่พยายามจะขโมยความลับของบรรพบุรุษไปขายให้ต่างชาติอีกด้วย

ประเด็นที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นอีกประการคือ ในเรื่องพนมนาคา โครงการของดอกเตอร์เบเนดิกต์และดอกเตอร์เอลเลนที่มีเอเชียต้องไปร่วมงานด้วยนั้น แท้ที่จริงแล้วคือการกลับเข้าไปแก้ไขสิ่งที่ดอกเตอร์เบเนดิกต์และพวกพ้องเคยทำผิดพลาดเอาไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน อย่างการทดลองวัคซีนที่ผิดพลาดจนส่งผลให้เกิดความผิดปกติในร่างกายของคนในชุมชน ซึ่งผลของความผิดพลาดในครั้งนั้นได้มาปรากฏให้เห็นในรุ่นลูกของคนรุ่นที่ถูกทดลองวัคซีน

พวกเขาเลือกที่จะแก้ไขโดยการฆ่า ‘เด็กงู’ ทั้งหมดที่เป็นหลักฐานความอัปยศของตนเอง

สิ่งที่ผมสนใจคือความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกกับหมู่บ้านพนมนาคา ในยุคที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคม หมู่บ้านพนมนาคาถูกทำให้เป็นสถานตากอากาศในหุบเขา แต่เมื่อแพ้สงครามอินโดจีนฝรั่งเศสต้องถอยออกไป พนมนาคาก็หายไปจากความรับรู้ของผู้คน จนต่อมาคณะแพทย์จากตะวันตกได้เข้ามาทดลองวัคซีน กระทั่งเกิดความผิดพลาดและได้ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน

หลากหลายความเปลี่ยนแปลงของพนมนาคาจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากโลกภายนอกแทบทั้งสิ้น โลกทัศน์ที่ตะวันตกมีต่อพนมนาคาคือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความลึกลับน่าค้นหา จนกระทั่งกลายเป็นสถานตากอากาศของพวกเจ้าอาณานิคมไป ในขณะเดียวกันการเข้ามาของโลกตะวันตกพร้อมกับวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ก็ได้สร้างหายนะให้กับหมู่บ้านอย่างชัดเจน ชาวบ้านกลายเป็น ‘หนูทดลอง’ ให้กับการแพทย์หรือความรู้สมัยใหม่ และเมื่อความล้มเหลวเกิดขึ้น วิธีการจัดการกลับเป็นการฆ่าทิ้งเสียให้หมดราวกับชาวบ้านในพนมนาคาเป็นผักปลา

นอกจากนี้ คณะของดอกเตอร์เบเนดิกต์ยังใช้ความเชื่อเรื่องพญานาคมาเป็นข้ออ้างในการจัดการอีกด้วย ดังที่ดอกเตอร์เอลเลนกล่าวว่า “เราแกล้งทำเป็นเชื่อว่ามีพญานาคจริงๆ และพญานาคนั่นแหละทำให้เกิดเหตุร้าย…ในเมื่อหมอฝรั่งเองก็ยังเชื่อ…ชาวบ้านจะไม่เชื่อได้อย่างไร…เมื่อมีเด็กงูคนแรกเกิดขึ้นในหมู่บ้าน…ทุกคนเชื่อว่านี่ก็คือผลของคำสาป…ไม่มีใครรู้เลยว่าที่จริงแล้วนี่คือผลของการทดลอง” (หน้า 526)

สิ่งที่ดอกเตอร์เอลเลนพูด คือการโยนความผิดให้กับคำสาปของพญานาคที่ไม่มีอยู่จริงเพื่อให้มนุษย์มีความขัดแย้งกับความเชื่อของตนเอง ในขณะที่ความผิดพลาดของวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ที่มาพร้อมกับโลกตะวันตกนั้นแทบจะไม่ต้องรับผลการกระทำอะไรเลย

พนมนาคาในฐานะภาพแทนของตะวันออกจึงเป็น ‘เหยื่อ’ ของโลกตะวันตกอยู่เสมอมา และเป็นเหยื่อของโลกสมัยใหม่ที่ผลิตทั้งแนวคิดเรื่องอาณานิคม การแพทย์สมัยใหม่ที่ลดทอนมนุษย์ให้กลายเป็นเพียงแค่สัตว์ทดลองเท่านั้น

ขณะที่ความขัดแย้งอีกชุดหนึ่งในเรื่องเกิดขึ้นเพราะพาน วิชัย พานายทหารเขมรแดงขึ้นไปปล้นเอาทรัพย์สินที่นาคเทวาลัยและถูกเจ้าชายอเนกชาติฆ่าตายเกือบทั้งหมด จากเหตุการณ์นี้ทำให้การบำเพ็ญเพียรรักษาศีลของเจ้าชายเพื่อจะได้เกิดเป็นมนุษย์และมีโอกาสได้บวชต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้เจ้าชายพญานาคทั้งสองจะไม่ชอบสุงสิงกับมนุษย์หรือแม้กระทั่งเกลียดมนุษย์ก็ตาม แต่ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่น พวกเขาก็หลีกเลี่ยงการทำร้ายมนุษย์อยู่เสมอ ดังนั้นอำนาจที่พวกเขามีจึงไม่ได้นำมาใช้ในการกดขี่มนุษย์เลย เพราะท้ายที่สุดมนุษย์ก็กดขี่และฆ่าฟันกันเอง

ถ้าหากจับเอาประเด็นทางประวัติศาสตร์ในพนมนาคามาพิจารณากับตัวเรื่องและโครงเรื่องของนวนิยายจะเห็นได้ว่า ประวัติศาสตร์แต่ละแบบถูกจัดวางให้เป็นคู่ขัดแย้งกับตัวละครในเรื่อง นั่นคือ ประวัติศาสตร์แบบอาณานิคมเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับชาวบ้านและหมู่บ้านพนมนาคา แต่กับเจ้าชายพญานาคกลับไม่เป็นปัญหาหรือคู่ขัดแย้งมากเท่าไรนัก ในขณะที่ประวัติศาสตร์สงครามกลางเมืองหรือเหตุการณ์ในช่วงเขมรแดงนั้นเป็นคู่ขัดแย้งกับภูมิปัญญาหรืออำนาจแบบเก่าที่อยู่ในรูปแบบของตำนานและความเชื่อ

ในท้ายที่สุด ผมคิดว่าการอ่านนวนิยาย ‘พนมนาคา’ นอกจากจะให้ความเพลิดเพลินและสำเริงสำราญอารมณ์อย่างที่ไม่อาจหาได้ใน‘วรรณกรรมซีเรียส’ ทั้งหลายที่ผมเคยเขียนถึงไปบ้างแล้ว การได้อ่านวรรณกรรมไทยร่วมสมัยแนวนี้ยังช่วยขยายขอบเขตความรู้เรื่องวรรณกรรมอันน้อยนิดของผมให้กว้างขึ้น เรียกได้ว่าเห็นสมควรอย่างยิ่งที่ตัวผมควรหันไปสำรวจวรรณกรรมลักษณะนี้เพิ่มเติม

 

เชิงอรรถ

[1] โปรดดูรายละเอียดต่อในบทความ ชาญชัย คงเพียรธรรม. (2558). “นาคาคติในสังคมเขมร” ใน วารสารลุ่มน้ำโขง ปีที่ 11 (3) กันยายน – ธันวาคม, หน้า 105-126.

[2] สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลนั้นเกิดขึ้นในสมัยอาณานิคม – ประเทศตะวันตกเจ้าอาณานิคมเข้าไปยึดประเทศต่างๆ ก่อนจะสร้างอาคารขึ้นในเมืองนั้นๆ ลักษณะของอาคารจึงเป็นแบบตะวันตกผสมผสานกับความเป็นท้องถิ่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือบรรดาอาคารในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ เช่น อาคารกระทรวงกลาโหม อาคารแถบแพร่งภูธร

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save