fbpx

ในออสเตรเลีย บรรพบุรุษของเกือบทุกคนต่างเป็นผู้ย้ายถิ่น

ภาพปก William A. / ที่มาภาพ: หอสมุดแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์

เป็นความจริงที่ประชากรในออสเตรเลียเกือบทุกคนต่างเป็นผู้ย้ายถิ่น ยกเว้นแต่ชาวอะบอริจินซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในทวีปออสเตรเลียมากว่าสี่หมื่นปี ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นเจ้าของแผ่นดินอันกว้างใหญ่แห่งนี้ ประมาณกันว่าในช่วงที่ชาวยุโรปเริ่มเข้ามาถึงออสเตรเลีย มีชาวอะบอริจินถึง 1.4 ล้านคน แต่พวกเขามีวิถีชีวิตแบบล่าเก็บหาอาหาร ไม่ได้เพาะปลูกหรือปักหลักบนที่ดิน ทำให้ผู้มาใหม่เข้ายึดครองแผ่นดินและเข่นฆ่าชนพื้นเมืองไปมากมายเพื่อแย่งชิงที่ดินและทรัพยากร กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของออสเตรเลียจนถึงทุกวันนี้ แต่กระนั้นบทความนี้ไม่ได้จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์อันขมขื่นระหว่างคนขาวจากยุโรปกับชนพื้นเมือง หากแต่ต้องการเน้นย้ำว่านอกเหนือจากอะบอริจิน ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้ตั้งแต่แรกแล้ว ทุกคนที่เหลือล้วนแต่เป็นผู้ย้ายถิ่นทั้งสิ้น และยังมีการผสมกลมกลืนทางชาติพันธุ์อย่างกว้างขวางเกินคาดคิด บทความชิ้นนี้จะชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับความเป็นมาของประชาชนคนออสเตรเลียและประวัติศาสตร์การย้ายถิ่นที่น่าสนใจนับจากอดีตจนปัจจุบัน

สร้างชาติจากการย้ายถิ่น: นักโทษและผู้ตั้งรกรากจากยุโรปในฐานะผู้ย้ายถิ่นรุ่นแรก

ปี 1770 รัฐบาลอังกฤษส่งกัปตันเรือชาวอังกฤษ ชื่อ เจมส์ คุก (James Cook) เดินทางสำรวจมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ จนมาถึงอ่าวบอทานีย์ (Botany bay) ทางตอนใต้ของเมืองซิดนีย์ในปัจจุบัน โดยเรียกแผ่นดินที่มาถึงนี้ว่า ‘นิวเวลส์’ เพราะมีลักษณะเป็นเมืองชายฝั่งคล้ายกับแคว้นเวลส์ในสหราชอาณาจักร ต่อมาจึงมีการเพิ่มชื่อเป็น ‘นิวเซาท์เวลส์’ เพราะเป็นพื้นที่อยู่ทางด้านใต้ของทวีป และได้อ้างสิทธิ์เป็นอาณานิคมของอังกฤษที่ถูกใช้สำหรับเนรเทศนักโทษ (convicts) ในอดีตอังกฤษเคยส่งนักโทษไปกักขังและใช้แรงงานในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อสหรัฐฯ ประกาศอิสรภาพในปี 1776 และปฏิเสธที่จะรับนักโทษเพิ่ม การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน ทำให้แรงงานจำนวนมากไม่มีงานทำและยากจน จำต้องขโมยของเพื่อความอยู่รอด จนเกิดนักโทษเต็มเรือนจำ อังกฤษจึงต้องหาดินแดนอื่นและการค้นพบออสเตรเลียกลายเป็นหนทางใหม่ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการเนรเทศและการบังคับใช้แรงงาน

อังกฤษสร้างที่คุมขังในนิวเซาท์เวลส์ แทสมาเนีย และเวสเทิร์นออสเตรเลีย และส่งนักโทษระหว่างปี 1788-1868 รวมกว่า 160,000 คน[1] ในพิพิธภัณฑ์บารัคกลางเมืองซิดนีย์ซึ่งเคยเป็นสถานกักกันนักโทษในอดีตได้เปลี่ยนเป็นสถานที่จัดแสดงจำลองชีวิตความเป็นอยู่ในการเดินทางจากอังกฤษมายังออสเตรเลียและชีวิตของนักโทษ รวมถึงแผ่นป้ายจารึกชื่อนักโทษกลุ่มแรกที่มีทั้งนักล้วงกระเป๋า โจรสลัด นักต้มตุ๋น หัวขโมย กลุ่มกบฏ และอันธพาล มีป้ายจารึกข้อหาตั้งแต่ฆ่าคนตาย เป็นกบฏ ไปจนถึงขโมยหมู เมื่อใช้โทษหมดแล้วจึงจะเป็นอิสระ นักโทษจำนวนมากจึงได้พบโอกาสใหม่ๆ สามารถรับจ้าง ทำการค้า เป็นช่างฝีมือหรือประสบความสำเร็จในการทำไร่ทำนา  

นอกเหนือจากนักโทษ ผู้ตั้งรกรากในออสเตรเลียรุ่นแรกยังเป็นครอบครัวที่อพยพมาจากอังกฤษ ข้าราชการจากอาณานิคม และผู้ที่ต้องการอพยพมายังดินแดนใหม่ด้วยตนเอง โดยรัฐบาลอังกฤษสนับสนุนทั้งค่าเดินทางและยังให้ที่ดินทำมาหากินฟรี ซึ่งดึงดูดคนว่างงานและคนยากจนในอังกฤษ ตลอดจนคนจากอิตาลี กรีก โปร์แลนด์ มอลตา และรัสเซียที่ต้องการมาแสวงโชค ในระยะแรกมีการแบ่งแยกครอบครัวที่มีบรรพบุรุษเป็นนักโทษกับผู้ตั้งรกราก แต่เมื่ออังกฤษสิ้นสุดการส่งนักโทษมายังออสเตรเลียและชาวอาณานิคมเริ่มต้องการปกครองตนเอง การแบ่งแยกจึงคลายลงและการมีบรรพบุรุษเป็นนักโทษไม่ใช่สิ่งที่น่าอับอายอีกต่อไป ในเมื่อพวกเขาเหล่านั้นคือผู้ลงแรงในการก่อร่างสร้างรากฐานความเป็นออสเตรเลีย

ผู้ย้ายถิ่นจากเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง

สามีของผู้เขียนเป็นคนออสเตรเลียแต่กำเนิด โดยหากย้อนสายตระกูลขึ้นไปห้าชั่วอายุคนคือ รุ่นพ่อแม่ของทวดซึ่งน่าจะเป็นคนรุ่นแรกของครอบครัวที่อพยพมายังออสเตรเลีย เขาพบว่าทวด (แม่ของย่า) ซึ่งเป็นคนรุ่นที่สองของครอบครัวมีนามสกุลเดิมเป็นภาษาจีนว่า Hong และมีพ่อแม่เป็นคนจีนซึ่งอพยพจากเมืองจีน แต่ความเป็นคนจีนของตระกูลนี้หายไปเมื่อทวดแต่งงานกับคนขาวชาวออสเตรเลียที่อพยพมาจากอังกฤษ ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวของสามีทำให้ผู้เขียนเกิดความสนใจว่าคนจีนอพยพมาถึงออสเตรเลียได้อย่างไร

หากสหรัฐอเมริกามีช่วงเวลาของการตื่นทองในแคลิฟอร์เนียช่วงปี 1848 ออสเตรเลียก็มีช่วงเวลาของการตื่นทองในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน และก่อให้เกิดการอพยพของชาวจีนเข้ามาแสวงหาโชคลาภทั้งจากการทำเหมืองทองและทำการค้าตามเมืองที่มีการพบทองคำ ทองแดง เหล็ก และสายแร่อื่นๆ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ควีนส์แลนด์ และวิคตอเรีย

มีการบันทึกไว้ว่าปี 1856 มีผู้ย้ายถิ่นจากจีนเข้ามายังออสเตรเลียถึง 12,396 คน ต่อมาในปี 1861 จำนวนประชากรเชื้อสายจีนเพิ่มเป็น 38,258 คน จนทำให้ร้อยละ 3.3 ของประชากรออสเตรเลียกลายเป็นผู้ที่เกิดในประเทศจีน[2] ต้นตระกูลของสามีผู้เขียน หรือพ่อแม่ของทวด (เทียด) น่าจะอพยพมาเป็นแรงงานในรัฐนิวเซาท์เวลส์ระหว่างปี 1861-1870 โดยตั้งหลักแหล่งในเมืองฝั่งตะวันออกซึ่งมีการทำเหมืองทองคำ เมื่อมาถึงรุ่นปู่ย่า ยุคตื่นทองของออสเตรเลียจบลงแล้ว ปู่และย่าของสามีผู้เขียนเปลี่ยนมาประกอบอาชีพค้าขายและทำเกษตรกรรม พ่อของสามีจึงเติบโตในฟาร์มแกะในเมืองเล็กๆ ชื่อ วิลคันเนีย (Wilcannia) เกือบสุดเขตแดนรัฐนิวเซาท์เวลส์ ห่างจากซิดนีย์ไปทางตะวันตกกว่าพันกิโลเมตร และเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยชาวอะบอริจินอยู่ปะปนกับคนขาว พ่อของสามีซึ่งเกิดปี 1941 เข้าเรียนประถมในโรงเรียนร่วมกับเด็กอะบอริจิน และย้ายมาอยู่เมืองซิดนีย์ในปี 1959 ส่วนแม่ของสามีผู้เขียนเป็นคนซิดนีย์เชื้อสายไอริช มีต้นตระกูลที่อพยพมาจากไอร์แลนด์ เมื่อมาถึงรุ่นสามีของผู้เขียน ตัวเขาและพี่น้องทั้งหมดเกิดและเติบโตในซิดนีย์และไม่เหลือความเป็นคนจีนอีกต่อไป  ไม่มีใครในครอบครัวที่พูดภาษาจีนได้ รวมถึงไม่มีใครรู้ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมจีน แต่หากสังเกตหน้าตาของพ่อสามีผู้เขียนจะเห็นว่าดวงตามีลักษณะยาวรีมากกว่ากลมลึกแบบชาวตะวันตก

ประวัติครอบครัวของสามีทำให้ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องชาติพันธุ์กว้างไกลกว่าที่คิด เพราะเมื่อนึกถึงแรงงานจีนที่อพยพไปตามส่วนต่างๆ ของโลก เรามักนึกถึงแรงงานชายมากกว่าหญิง แต่ในครอบครัวนี้มีคุณทวดเป็นผู้หญิงเชื้อสายจีน อีกทั้งผู้เขียนไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีครอบครัวที่มีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากจีนโพ้นทะเลผ่านไปห้ารุ่นแล้วจะกลายเป็นฝรั่งผมทองไปได้ เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายอย่างยิ่ง

ที่พักของชาวจีนในเมืองกุลกอง (Gulgong) เมืองทางตะวันตกของรัฐนิวเซาท์เวลส์ซึ่งเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีการทำเหมืองทอง ภาพโดย William A. / ที่มาภาพ: หอสมุดแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์
ภาพของพ่อสามีผู้เขียน แถวที่ 2 นับจากบนสุด เด็กคนที่ 2 จากขวามือ ถ่ายภาพกับคุณครูและเพื่อนร่วมชั้น ณ โรงเรียนประถมวิลคันเนีย ปี 1948 จะสังเกตเห็นว่ามีเด็กอะบอริจินในชั้นเรียนจำนวนหนึ่ง
ภาพของพ่อและแม่ของสามีผู้เขียน ถ่ายเมื่อปี 1965 ซึ่งหากมองเผินๆ จะเห็นว่าพ่อหน้าตาเหมือนชาวตะวันตก แต่ดวงตามีลักษณะยาวรีแบบคนเอเชีย

ไม่ได้มีเพียงคนอพยพจากจีนที่เข้ามาในออสเตรเลียในยุคตื่นทองเท่านั้น แต่ยังมีผู้คนจากประเทศอิหร่าน อียิปต์ และตุรกี ซึ่งมักจะเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามที่เข้ามาในพื้นที่ชนบทห่างไกล พวกเขานำอูฐเข้ามาใช้ในการขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีชาวอินเดียและคนจากหมู่เกาะแปซิฟิกที่เข้ามาเป็นแรงงานในไร่อ้อยและสวนกล้วยในรัฐควีนส์แลนด์อีกหลายพันคน มีชาวเลบานอนที่มาพร้อมกับกิจการสิ่งทอและเสื้อผ้า ทำให้สินค้าประเภทผ้าม่านและสิ่งทอในออสเตรเลียในปัจจุบันมักจะมีเจ้าของเป็นผู้มีเชื้อสายเลบานีสที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่กระนั้น การย้ายถิ่นของคนกลุ่มที่ไม่ใช่คนผิวขาวยังคงมีข้อจำกัดมากมาย หลังการสถาปนาเครือรัฐออสเตรเลีย (Commonwealth of Australia) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1901 พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการอพยพโยกย้ายฉบับแรกจำกัดการอพยพย้ายถิ่นไว้เฉพาะชาวยุโรปโดยกำเนิดเพื่อที่จะสร้างออสเตรเลียเพื่อคนผิวขาว (White Australia Policy) และเพื่อลดการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างผู้ตั้งรกรากจากยุโรปกับผู้อพยพที่มาจากทวีปเอเชียโดยเฉพาะจากประเทศจีนและหมู่เกาะในเอเชียแปซิฟิก

บันทึกข้อถกเถียงของสมาชิกรัฐสภาออสเตรเลียในการออกพระราชบัญญัติการจำกัดการอพยพปี 1901 ชี้ให้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภาหลายคนออกความเห็นว่าควรจำกัดทั้งคนจีน คนมาเลย์ และแม้กระทั่งคนญี่ปุ่นเพราะพวกเขามีสีผิวที่แตกต่าง เป็นพวกไม่น่าไว้ใจ ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และจะเข้ามาเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่น่ากลัว[3] นโยบายกีดกันการย้ายถิ่นนี้ทรงอิทธิพลในออสเตรเลียจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

สงครามโลก สงครามอินโดจีน และการเพิ่มจำนวนผู้ย้ายถิ่น

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและการเรืองอำนาจของนาซีในเยอรมันทำให้ชาวยิวจากเยอรมัน ออสเตรีย เชโกสโลวาเกีย ฮังการี และโปแลนด์ลี้ภัยมายังออสเตรเลีย เมื่อถึงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ประชากรในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่กลายเป็นเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในขณะนั้นย้ายถิ่นมาออสเตรเลีย ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นเปิดรับผู้ย้ายถิ่นจากยุโรปและสหราชอาณาจักรเพื่อเพิ่มจำนวนประชากร โดยผู้ที่มีอายุไม่เกิน 45 ปี สามารถพาครอบครัวมาอยู่ออสเตรเลียได้โดยจ่ายเงินเพียง 10 ปอนด์ และยังคงนโยบายออสเตรเลียเพื่อคนผิวขาวที่ยังไม่ต้อนรับคนเชื้อชาติและสีผิวอื่น[4] 

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของนโยบายการย้ายถิ่นของออสเตรเลีย สงครามในเอเชียแปซิฟิกทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของคนหลายเชื้อชาติเข้าสู่ออสเตรเลียเพื่อมาเป็นทหารอาสา บางคนสมรสกับคนออสเตรเลียและไม่ต้องการกลับประเทศ ทำให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวางเมื่อรัฐบาลสมัยนั้นแก้ปัญหาด้วยการส่งตัวกลับ ในปี 1949 รัฐบาลออสเตรเลียจึงออกกฎหมายให้ผู้ที่สมรสกับคนสัญชาติออสเตรเลีย และผู้หญิงญี่ปุ่นที่เป็นคู่สมรสกับคนออสเตรเลียในระหว่างสงครามสามารถอยู่ในออสเตรเลียต่อได้

รัฐบาลในยุคต่อมาเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเพิ่มศักยภาพทางการทหาร จึงเริ่มรับผู้อพยพและผู้พลัดถิ่นหลังสงครามจากประเทศในทวีปยุโรป เกิดการอพยพของผู้คนจากยุโรปใต้และยุโรปตะวันออกจนกลายเป็นชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะชุมชนชาวอิตาเลียนและกรีก ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นในยุคนี้ และรัฐบาลได้แก้ไขพระราชบัญญัติการย้ายถิ่นจนยกเลิกนโยบายออสเตรเลียเพื่อคนผิวขาวไปในปี 1973

ออสเตรเลียเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังเวียดนามใต้พ่ายแพ้ต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในปี 1976 และกัมพูชาอยู่ในช่วงวิกฤตการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายใต้การนำของพอล พต ระลอกผู้อพยพ ประมาณหนึ่งแสนคนเดินทางโดยเรือมาถึงชายฝั่งประเทศออสเตรเลีย ทำให้รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายการรับผู้ลี้ภัย โดยในที่สุดรัฐบาลออสเตรเลียยอมรับหลักการการรับผู้ลี้ภัยโดยไม่เลือกปฏิบัติ (Immigration without discrimination) ซึ่งในทศวรรษ 1970-1980 ออสเตรเลียรับผู้ลี้ภัยจากอินโดจีนโดยเฉพาะจากจากเวียดนาม ลาว และกัมพูชา เฉพาะผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามที่ลี้ภัยเข้ามามีจำนวนมากกว่าหนึ่งแสนคน ทำให้ในปัจจุบันออสเตรเลียมีชุมชนชาวเวียดนามพลัดถิ่นขนาดใหญ่ สถิติ ณ เดือนมิถุนายน 2022 ระบุว่ามีชาวเวียดนามถึง 268,170 คนอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1.0 ของประชากรทั้งหมด[5] และในช่วงเวลาต่อมา ออสเตรเลียยังรับผู้ลี้ภัยจากประเทศตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกาด้วย  

การย้ายถิ่นในยุคปัจจุบัน

นโยบายการย้ายถิ่นตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดในโลก และรัฐบาลยังคงมีนโยบายรับผู้ย้ายถิ่นเพิ่มขึ้นทุกปี โดยกำหนดทักษะทางอาชีพที่ขาดแคลนสำหรับผู้ย้ายถิ่นที่ต้องการสมัครวีซ่าพำนักถาวร ซึ่งเป็นหนทางสู่การเป็นพลเมืองในขั้นต่อไป

สำนักงานสถิติแห่งชาติของออสเตรเลียสำรวจสำมะโนประชากรทุก 5 ปี โดยเริ่มการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 1911 พบว่าสัดส่วนของชาวออสเตรเลียที่เกิดในต่างประเทศคือร้อยละ 18 เท่านั้น แต่การสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2021 พบว่า ประชากรของออสเตรเลียมีจำนวนทั้งสิ้น 25.6 ล้านคน ในจำนวนนี้ กว่า 11 ล้านคน หรือร้อยละ 48.2 ของประชากรทั้งประเทศมีพ่อหรือแม่ที่เกิดนอกประเทศออสเตรเลีย และอีกกว่า 6 ล้านคน หรือร้อยละ 27.6 เป็นผู้ที่เกิดนอกประเทศออสเตรเลีย นั่นหมายถึง 1 ใน 4 ของประชากรในปัจจุบันเป็นผู้ย้ายถิ่น

ประชากรที่เข้ามาอยู่ในออสเตรเลียหลังปี 2016 มาจากอินเดียมากที่สุด ตามมาด้วยจีน และเนปาล แม้ว่าจำนวนประชากรที่มีบรรพบุรุษมาจากอังกฤษและประเทศในยุโรปยังคงอยู่เป็นลำดับแรก แต่ในปี 2021 นี้ อินเดียกลายเป็นประเทศบรรพบุรุษของประชากรออสเตรเลียในลำดับต่อมา และยังพบว่าประชากรออสเตรเลียใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่บ้านถึงร้อยละ 22 รวมถึงมีประชากรร้อยละ 3.4 ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ดีหรือพูดไม่ได้เลย[6]

ผู้เขียนเห็นว่าไม่ผิดนักหากจะเรียกออสเตรเลียเป็นประเทศที่สร้างชาติจากผู้ย้ายถิ่น โดยเฉพาะหลังจากยกเลิกนโยบายออสเตรเลียเพื่อคนผิวขาวในทศวรรษ 1970 ผู้ย้ายถิ่นกลายเป็นรากฐานของความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และยังก่อให้เกิดสังคมวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย แต่การอยู่ร่วมกันในสังคมที่เต็มไปด้วยผู้ย้ายถิ่นต่างที่มาก็เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่งเช่นกัน แต่กระนั้น นโยบายของออสเตรเลียเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ เพราะการให้โอกาสผู้ย้ายถิ่นที่ร่วมสร้างเศรษฐกิจให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในฐานะพลเมืองของประเทศเป็นการให้ทั้งสิทธิทางกฎหมายและการยอมรับที่พ่วงมากับสวัสดิการ

ในปี 2023 นี้ รัฐบาลยังประกาศรับผู้ย้ายถิ่นที่มีทักษะอาชีพที่ออสเตรเลียต้องการอีกถึง 190,000 คน ไม่ใช่เพียงอาชีพทักษะสูงเท่านั้น แต่ยังรับคนทำอาชีพที่ขาดแคลนด้วย เช่น ดูแลเด็กและผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะมาจากประเทศใดหากเรียนจบหลักสูตรได้รับการรับรองการประกอบอาชีพก็สามารถสมัครเป็นผู้ถือวีซ่าพำนักถาวรได้ ซึ่งเป็นความใจกว้าง และเป็นโอกาสที่ค่อนข้างหาได้ยากในนโยบายการย้ายถิ่นของประเทศทั่วโลกในยุคปัจจุบัน และนโยบายการย้ายถิ่นเช่นนี้ยิ่งทำให้เห็นว่าความเป็นชาติพันธุ์เป็นเรื่องน่าพิศวง ถ้าลองสืบพื้นเพชาติพันธุ์ของคนในสังคมออสเตรเลียลึกลงไปก็คงจะพบกับความผสมปนเปมากยิ่งขึ้น ในออสเตรเลียคงจะไม่มีใครพูดได้ว่าใครเป็น ‘ออสซี่’ แท้ และยิ่งเน้นย้ำความจริงว่าความเป็นชาติเป็นสิ่งสมมติขึ้นมานั่นเอง


References
1 Jupp, J. (1995). From ‘White Australia’ to ‘Part of Asia’: Recent Shifts in Australian Immigration Policy towards the Region. The International Migration Review. 29 (1), 207-228.
2 Min-hsi Chan, H.D. (2005). Chinese in Australia. In: Ember, M., Ember, C.R., Skoggard, I. (eds) Encyclopedia of Diasporas. Boston, MA: Springer.
3 Kendall, T. (2007). Within China’s Orbit? China through the Eyes of the Australian Parliament. Canberra: Parliamentary Library.
4 Australia Department of Home Affairs. ออสเตรเลียในปัจจุบัน แหล่งที่มา  https://immi.homeaffairs.gov.au/citizenship-subsite/files/thai-non-test.pdf
5 Australia Department of Home Affairs. (2023). Country profile – Vietnam retrieved from https://www.homeaffairs.gov.au/research-and-statistics/statistics/country-profiles/profiles/vietnam
6 Australia Bureau of Statistic. (2022). 2021 Census: Nearly half of Australians have a parent born overseas retrieved from https://www.abs.gov.au/media-centre/media-releases/2021-census-nearly-half-australians-have-parent bornoverseas#:~:text=The%202021%20Census%20found%20that,cent%20reporting%20a%20birthplace%20overseas

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save