fbpx

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล: ‘ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่’ เมื่อประชาชนไม่ได้มีอำนาจเท่าที่ชนชั้นนำกำหนด

ประเทศไทยดำเนินชีวิตภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 มาเป็นระยะเวลา 6 ปี ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นรัฐธรรมนูญจากผลพวงของรัฐประหาร ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองหลายครั้ง รวมถึงมีการทำนิติสงครามหรือบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมในหลากหลายด้าน แม้จะมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่หลายครั้ง แต่ก็ถูกปัดตกไปด้วยอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และขั้วรัฐบาลประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงเป็นภาพที่หลายคนฝันไว้ ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองก็ตาม เห็นได้ชัดจากการนำมาเป็นนโยบายในช่วงเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา กระนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และกระบวนการแก้ไขนั้นอาจจะไม่ได้เปิดกว้างอย่างที่ควรจะเป็น

โอกาสนี้ 101 จึงชวน มายด์ – ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล สมาชิกกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (ConforAll) มาสนทนาว่าด้วยความหวังในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของภาคประชาชน ที่รวมพลังจนแคมเปญ #ConforAll ทะลุ 200,000 รายชื่อภายใน 5 วัน สิ่งนี้สะท้อนอะไรในสังคมและมีโจทย์ใดบ้างที่จำเป็นต้องจับตามองประเทศไทยภายใต้รัฐบาลผสมนี้

YouTube video

เส้นทางของ #ConforAll เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ก่อนจะนำมาสู่ปรากฏการณ์กว่า 200,000 รายชื่อในแคมเปญ #ConforAll ที่เกิดขึ้น ภัสราวลีเท้าความถึงโจทย์ของการล่ารายชื่อในครั้งนี้ว่า แผนของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งในการแก้ล็อกรัฐธรรมนูญ 2560

เนื่องจากในปี 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ออกมา กล่าวคือ หากต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จำเป็นต้องผ่านการทำประชามติก่อน แต่ในรายละเอียดของคำวินิจฉัยนั้น ไม่สามารถระบุไปในทิศทางเดียวกันได้ว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง อย่างไรก็ตาม ภัสราวลีกล่าวว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องเกิดขึ้น แต่อาจเริ่มต้นจากการทำประชามติขั้นที่ศูนย์เพื่อป้องกันการกล่าวอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่นี้เป็นสิ่งที่ผิดขั้นตอน

ปัญหาคือ หลายคนมีความกังวลต่อคำถามในการทำประชามติครั้งที่ศูนย์ เนื่องจากเคยมีบทเรียนมาแล้วครั้งหนึ่งจากการทำประชามติปี 2559 ที่มีคำถามพ่วงท้ายมากมายจนทำให้ประชาชนเกิดความสับสน หรือแม้แต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่ได้เกิดขึ้นในลักษณะที่ควรจะเป็น หากการทำประชามติในครั้งนี้ซ้ำรอยกับการทำประชามติในปี 2559 จะส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้มีเนื้อหาที่ดีขึ้น

ช่วงก่อนการจัดตั้งรัฐบาลในขณะที่ยังมีแปดพรรคร่วม หลายต่อหลายคนค่อนข้างมั่นใจว่าจะมีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างแน่นอน แม้ภายหลังจะมีการฉีกบันทึกข้อตกลงแปดพรรคร่วม (MOU) ขึ้น แต่ในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทยได้แถลงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย ซึ่งหนึ่งในเรื่องสำคัญคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภัสราวลีมองว่า แม้ไม่มีแปดพรรคร่วม แต่หากพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเล็งเห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็อาจนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้

และหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ได้มีการแถลงว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกจะเริ่มต้นกำหนดถามประชามติเลย ดังนั้น ด่านแรกของการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม จึงเกิดเป็นแคมเปญ #ConforAll นำโดยกลุ่ม ‘ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ’ จัดกิจกรรมรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอคำถามประชามติ โดยโจทย์คือ 1. ต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ และ 2. สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อเป็นการประกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

แต่แล้วเส้นทางของการล่ารายชื่อก็เป็นอันต้องติดขัด เนื่องจากข้อกฎหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถออกเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ ทางทีมงาน #ConforAll จึงถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าสามารถลงชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้หรือไม่ แต่ทาง กกต.ได้ทิ้งระยะเวลาและไม่ตอบคำถาม ทางทีมงานจึงเปิดรับรายชื่อผ่านทั้งออนไลน์และกระดาษไปก่อน ซึ่งรายชื่อจะถูกปิดรับในวันที่ 25 สิงหาคม 2566

ต่อมาในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ก่อนการปิดรับรายชื่อสามวัน กกต. ได้มีการนัดพูดคุยกับทีมงานและแจ้งกลับมาว่า ‘ไม่สามารถใช้รายชื่อที่ลงผ่านช่องทางออนไลน์ได้’ ซึ่งในขณะนั้นรายชื่อของประชาชนทะลุ 50,000 รายชื่อไปเรียบร้อยแล้ว แต่เป็นรายชื่อแบบกระดาษที่สามารถใช้ได้นั้นมีเพียง 10,000 รายชื่อเท่านั้น

“อารมณ์ ณ ตอนนั้น ทุกคนมองหน้ากันแล้วได้แต่คิดว่า ‘จะทันไหม’ แต่เราก็ยังยืนยันว่าจะลุยต่อและไม่เลื่อนกำหนดปิดรับรายชื่ออย่างเด็ดขาด เนื่องจากต้องการให้ทันต่อการประชุม ครม. นัดแรก” ภัสราวลีกล่าว

ภายในคืนนั้นทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้ไลฟ์แถลงการณ์เกี่ยวกับคำตอบของ กกต. ให้ประชาชนได้รับทราบร่วมกัน ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดในโลกโซเชียล จนทำให้ทางทีมงานได้รายชื่อแบบกระดาษจากประชาชนทะลุ 200,000 รายชื่อภายในเวลาเพียง 5 วันเท่านั้น

“เป็นความร่วมมือที่เราเห็นแล้วใจฟูมากๆ ในฐานะคนทำงาน รวมถึงได้คุยกับเพื่อนๆ เครือข่ายทั้งหลาย ทุกคนใช้สรรพกำลังที่มีมาช่วยกันหมด ทำงานกันหลังขดหลังแข็ง ในความเหนื่อยล้ามันจึงยังมีกำลังใจในการหล่อเลี้ยงพวกเราต่อไปอยู่”

สิ่งที่ภัสราวลีมองว่าแย่กว่าการปฏิเสธการลงชื่อออนไลน์ก็คือ ขั้นตอนในการยื่นรายชื่อให้กับ กกต. นั้นค่อนข้างซับซ้อน เพราะนอกจากจะต้องเป็นรายชื่อแบบกระดาษทั้งหมดแล้ว จำเป็นต้องนำกระดาษนั้นไปสแกนต่อเป็นไฟล์ PDF และต้องส่งมาในรูปแบบแผ่น DVD เท่านั้น รวมถึงจำเป็นต้องลงข้อมูลผ่านโปรแกรม Excel ด้วย

สิ่งนี้ทำให้ทางทีมงานต้องขออาสาที่มาช่วยคีย์ข้อมูลที่สำนักงาน iLaw ซึ่งเรื่องที่น่าปลาบปลื้มสำหรับทีมงานต่อมาคือ การได้เห็นคนกว่าร้อยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาที่ตึกพร้อมถือโน้ตบุ๊กกันคนละเครื่อง เพื่อมาช่วยกันจัดการข้อมูล บางคนมีเวลาว่างเพียงหนึ่งชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ท้ายสุดไฟล์ Excel ที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงเหล่านั้นก็ถูกส่งให้ กกต. จนสำเร็จได้

“ถ้าสุดท้ายแล้วไฟล์ทุกอย่างต้องส่งเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ทำไมไม่ให้ลงชื่อออนไลน์ตั้งแต่ทีแรก อันนี้เป็นข้อบกพร่องทางกฎหมายอย่างหนึ่ง และถือเป็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นจาก กกต.”

“ในขณะที่เราทำสิ่งนี้ทั้งหมดภายในห้าวัน กกต. ใช้เวลาเดือนกว่าในการตรวจสอบรายชื่อ และส่งเรื่องไม่ทันการประชุม ครม. นัดแรก อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้รายชื่อกว่าสองแสนรายชื่อนั้นอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะหยิบยกมตินี้ขึ้นมาตอนไหน”

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ สสร. จากการเลือกตั้ง

คือหนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ (คกก.) นำโดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้เชิญตัวแทนภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร ร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางในการตั้งคำถามประชามติและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยภาคประชาสังคมยืนยันกับทาง คกก. ว่า การจำกัดลักษณะของคำถามมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อการร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า

โดยภัสราวลีและทางทีม ConforAll ยืนยันว่าคำถามที่ดีที่สุดสำหรับการทำประชามติคือคำถามที่ง่ายที่สุดและกว้างที่สุด เช่น ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพียงเท่านั้น เพื่อที่คนทุกกลุ่มหรือทุกจุดยืนทางการเมืองจะได้มีโอกาสลงคะแนนสิทธิโดยไม่จำเป็นต้องตัดสินบนหลักการความคิดของตนเท่านั้น

อีกข้อเสนอสำคัญสำหรับการร่างรัฐธรรมใหม่คือ ‘จำเป็นต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ’ และ ‘สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด’

ภัสราวลีอธิบายว่า ข้อเสนอแรกเป็นการยืนยันหลักการของประชาธิปไตยว่า อำนาจยังคงเป็นของประชาชน ไม่มีผู้ใดมากำหนดกรอบว่าประชาชนสามารถกำหนดอำนาจใหม่ได้มากน้อยเพียงใด หากมีการจำกัด เช่น รัฐธรรมนูญใหม่นั้นสามารถร่างได้แต่ยกเว้นบทนั้นบทนี้ นั่นหมายความถึงอำนาจของประชาชนถูกจำกัดกรอบไว้ด้วยเช่นกัน และไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าการทำประชามติและการร่างรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนอย่างแท้จริง

“ถ้ากำหนดว่ามาตราไหนแก้ได้ไม่ได้ มันเหมือนเป็นการบอกว่าประชาชนสามารถมีอำนาจแก้ไขได้เพียงแค่ที่กลุ่มชนชั้นนำอยากให้เป็น ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น ดังนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจึงเป็นคำตอบในตัวมันเองอยู่แล้วว่าเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนอย่างแท้จริง”

ส่วนข้อเสนอที่สองไม่ใช่เรื่องซับซ้อนแต่อย่างใด เนื่องจากสภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้กำหนดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สสร. จึงควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้น เพราะหากมีการแต่งตั้งขึ้น ก็จะไม่สามารถมั่นใจได้ว่าผู้ที่ถูกแต่งตั้งไม่ได้เข้ามากำหนดเนื้อหาเพื่อกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

“หากต้องการย้ำเตือนว่าคืนอำนาจให้กับประชาชน การเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน อย่างน้อย มันเป็นการยืนยันว่าประชาชนคือผู้ที่สามารถกำหนดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนเกินจะเอื้อมได้ เราสามารถวาดฝันถึงสิทธิต่างๆ ที่อยากจะให้เกิดขึ้นในรฐธรรมนูญฉบับนั้นได้”

ฉะนั้น การมี สสร. จากการเลือกตั้งจึงเป็นการย้ำเตือนอำนาจของประชาชน สิ่งที่อยู่ในเนื้อหารัฐธรรมนูญจาก สสร. เลือกตั้งจะสามารถทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าถูกคิดขึ้นมาบนฐานของการที่ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด รวมถึงเป็นการป้องกันอำนาจแทรกแซงโดยที่สังคมรับรู้ร่วมกันว่าการกำหนดเนื้อหารัฐธรรมนูญหลังจากนี้เป็นของประชาชน ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนด้วยกันเองว่าเรามีอำนาจมากพอที่จะทำ

จุดยืนของ ConforAll และทิศทางของรัฐธรรมนูญใหม่

“ถ้ารัฐบาลชุดนี้ไม่อยากให้เกิด ท้ายที่สุด อย่างไรประชาชนก็ต้องสู้เพื่อให้กระบวนการที่ประกันถึงอำนาจประชาชนเกิดขึ้นได้อยู่ดี” ภัสราวลีประเมินความเป็นไปได้ของสองข้อเสนอที่กล่าวไปข้างต้น

ภัสราวลีกล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับข้อเสนอที่รัฐธรรมนูญต้องเขียนใหม่ทั้งฉบับนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องแก้ทั้งหมด เพียงแต่ไม่ควรไปจำกัดหรือกำหนดว่าประชาชนสามารถร่างได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น หากมีการกำหนดเรื่องของหมวดหนึ่งและหมวดสองของรัฐธรรมนูญไว้ในคำถามประชามติ อาจกลายเป็นเครื่องมือในการกล่าวอ้างภายหลังว่าเป็นผลประชามติที่คนไทยไม่ต้องการให้แตะต้องหมวดหนึ่งและหมวดสอง และถ้าหากต้องการแก้ไขในภายหลังจะสามารถทำได้หรือไม่ แม้แต่การแก้ไขที่ไม่ใช่การลดแต่เป็นการเพิ่มพระราชอำนาจก็ตาม จุดนี้จะกลายเป็นปัญหาในอนาคต

จากการได้เข้าไปคุยกับทาง คกก. เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กรรมการหลายคนเห็นตรงกันว่าคำถามของประชามติต้องกว้างและเป็นพื้นฐานที่สุด แม้จะเป็นความคิดเห็นที่ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นพ้องและมีจำนวนไม่มากก็ตาม แต่ภัสราวลีมองว่า เมื่อคณะกรรมการชุดนี้มองเห็นปัญหาแล้ว หากสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็น่าจะเป็นไปได้อย่างราบรื่น

กระนั้น หากรัฐบาลยืนยันว่าในคำถามประชามติจะต้องออกมาในลักษณะที่จำกัดหรือมีคำถามพ่วงคล้ายกับปี 2559 ภัสราวลีกล่าวว่า ทางทีม ConforAll เองก็จะยืนกรานให้รัฐบาลนำคำถามกลับไปทบทวนใหม่เช่นเดิม เพราะหากคำถามมีเงื่อนไขและจำกัดลักษณะ จะนำไปสู่การรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างและเกิดข้อถกเถียงทางความคิด เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและขัดแย้ง รัฐบาลจึงควรรับฟังและทบทวนคำถามให้ดี แต่หากยังยืนยันจะใช้คำถามพ่วง สภาพสังคมจะสะท้อนให้เห็นเองว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับคำถามประชามติที่รัฐบาลทำออกมา

“แต่ถ้าเขา (รัฐบาล) ไม่ทำใหม่ ยังคงจะล็อกคำถามอยู่อย่างนั้น หลายๆ คนคงมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าเราควรโหวตอะไร แต่การโหวตมันจะต้องมาพร้อมกับแผนถัดมาว่า โหวตแล้วเราจะยังคงสู้ต่อเพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างไรได้บ้างบนกติกาที่บิดเบี้ยวนี้”

อีกหนึ่งอุปสรรคของการจัดทำคำถามประชามติที่หลายส่วนกังวลว่า อาจติดกับดักของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จุดนี้ภัสราวลีมองว่า ประเด็นเรื่อง ส.ว. เป็นสิ่งประชาชนพยายามยืนยันมาตลอดว่าไม่มีความชอบธรรมที่จะมีอำนาจล้นเกินประชาชน แต่เป็นพรรคการเมืองเองที่อ่อนโอนไปตามสภาวะเมื่อเข้าไปอยู่ในสภาฯ ทั้งที่ความจริงแล้ว ส.ส. ควรเป็นตัวละครหลักในการต่อรองอำนาจของประชาชนกับ ส.ว. ให้ได้ เนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาเป็นผู้แทนราษฎรในการพูดเรื่องต่างๆ แต่กลับกลายเป็นว่า ส.ส. ที่ได้อำนาจไปแล้วมักใช้ความต้องการของ ส.ว. ในการกล่าวอ้างว่าควรจะรับเรื่องใดบ้าง เช่น เรื่องมาตรา 112 ที่ ส.ว. หยิบยกขึ้นมาพูดก่อน ทั้งที่เป็นเรื่องที่สามารถหาทางออกในกลไกรัฐสภาได้ ไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีการหาเสียง แต่เมื่อ ส.ว. หยิบยกขึ้นมาแล้วมีผู้ให้น้ำหนัก จึงกลายเป็นประเด็นต่อรองในเรื่องต่างๆ ไปโดยปริยาย

“รัฐธรรมนูญก็เช่นเดียวกัน มันถึงจุดที่สังคมเห็นตรงกันแล้วว่า ประชาชนไม่ได้ยอมรับในอำนาจของ ส.ว. ชุดนี้ ฉะนั้น เมื่อต้องเกิดการจัดสรรอำนาจใหม่ผ่านรัฐธรรมนูญ เหตุใดประชาชนยังต้องมาเกรงกลัว ส.ว. อยู่”

การที่ ส.ว. จะคิดเห็นอย่างไร ภัสราวลียืนยันว่าสังคมคงจะไม่ได้ให้น้ำหนักอีกต่อไปแล้ว เพียงแต่ประชาชนทราบว่าพวกเขา (ส.ว.) มีอำนาจในการที่จะทำให้กลไกหยุดชะงักได้ ฉะนั้น ผู้แทนราษฎรจึงควรที่จะเป็นผู้เข้าไปสู้ในกลไก ทำให้เกิดช่องทางอำนาจทางรัฐสภาให้ประชาชนได้มีอำนาจเกิน ส.ว. เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องติดกับ ส.ว. อีกต่อไป

ความคาดหวังของทีม ConforAll ในเบื้องต้นคือ คำถามประชามติในขั้นที่ศูนย์จะต้องกว้างและพื้นฐานที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นคำถามตามที่ ConforAll เสนอ แต่จำเป็นต้องเป็นพื้นฐานกว้างเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกจุดยืนทางการเมือง ได้ลงประชามติอย่างทั่วถึง

การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นไม่ง่าย ภัสราวลีอธิบายว่า หากมีการทำประชามติ แล้วประชาชนออกไปใช้สิทธิว่าอยากแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในขั้นตอนแรกจะต้องแก้มาตรา 256 ที่บัญญัติว่าในการแก้รัฐธรรมนูญนั้นต้องมี ส.ว. เห็นชอบไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม

เมื่อแก้ในส่วนนี้แล้ว ต้องมาทำประชามติอีกรอบหนึ่งเพื่อรับเรื่องการแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งจุดที่แก้ในมาตรานี้ควรต้องเขียนระบุไว้ว่า สสร. จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็จำเป็นต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะมาจากที่ใดบ้าง สัดส่วนเท่าใด เพื่อให้มีข้อครหาในสังคมน้อยที่สุด

หลังจากกระบวนการข้างต้นเสร็จสิ้น และการบัญญัติว่า สสร. มาจากการเลือกตั้ง ก็จะเกิดการเลือกตั้ง สสร. ขึ้น ประชาชนจำเป็นต้องเข้าคูหาอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงมีกระบวนการจัดหาผู้สมัครรับเลือกตั้งอีก สิ่งที่ต้องพูดถัดไปคือ ระบบการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แบ่งเขตอย่างไร หรือหากไม่ใช่การเลือกตั้งทั้งหมดอย่างที่รัฐบาลชุดนี้พยายามให้เหตุผลว่าควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญรวมอยู่ด้วย ก็ควรจะได้ทราบว่าสัดส่วนจะเป็นอย่างไร มาจากไหนอย่างชัดเจน ซึ่งทางภัสราวลียังคงมีความหวังว่ารัฐบาลนี้จะไม่จัดตั้ง สสร. เองทั้งหมด

เมื่อได้ สสร. เรียบร้อยแล้ว ทาง สสร. จะเป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ในกระบวนการช่วงนั้น สสร. มีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน ซึ่งไม่ใช่เพียงผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย และต้องทำให้กว้างที่สุด เพื่อให้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวพันกับสิทธิ การคุ้มครอง ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เมื่อมีรับฟังความคิดเห็นและจัดทำร่างออกมาแล้ว ประชาชนต้องไปลงประชามติครั้งสุดท้ายเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งภัสราวลีคาดการณ์ว่ากระบวนทั้งหมดนี้หากเป็นไปได้อย่างราบรื่น ก็ยังต้องใช้เวลาอย่างต่ำสามปีอยู่ดี

“แต่ถ้ามีอุปสรรคออกมาอีก กว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สิ่งที่ทำได้คือ เตรียมตัวรับมือในการอุดช่องทางหรือรู้เท่าทันว่าพวกเขาจะใช้กลเม็ดใด แล้วแก้เกมให้ได้”

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนภายใต้รัฐบาลสลายขั้ว และโจทย์ที่ต้องมองต่อ

แม้ว่าตอนนี้ประเทศไทยจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย แต่การจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับขั้วอำนาจเดิมของเพื่อไทยไม่ได้ทำให้หลายคนสบายใจ กลับกันเมื่อมองสภาพความเป็นจริงในฐานะผู้ที่ทำงานขับเคลื่อน ภัสราวลีกล่าวว่า คดีการเมืองถูกบังคับใช้กฎหมายลดลงในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเพียงเท่านั้น ช่วงนั้นไม่ว่าจะเป็นคดี 112 หรืออื่นๆ ศาลไม่ได้นำตัวจำเลยเข้าเรือนจำ อนุญาตให้ประกันตัวได้ หลายคดีมีการยกฟ้อง และผู้ที่อยู่ในเรือนจำจากคดีการเมืองก็ทยอยได้รับการปล่อยตัว

แต่ภายหลังจากการเลือกตั้ง ในช่วงที่การจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยยังไม่นิ่ง ก็เริ่มมีผู้ที่ถูกตัดสินว่าผิดในคดีการเมืองและถูกปรับเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังจากที่จัดตั้งรัฐบาล หลายคดีถูกตัดสินว่าผิดและปรับในอัตราที่แพง ทั้งที่สมัยปี 2564-2565 ไม่ได้มีการปรับในลักษณะนี้ด้วยซ้ำ นอกเหนือจากนั้น คดีมาตรา 112 หลายคดีถูกตัดสินว่าผิด ประชาชนหลายคนถูกสั่งเข้าเรือนจำโดยที่ไม่ได้รับการประกันตัวและไม่มีการรอลงอาญา

“นี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดีเลย เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในช่วงหลังๆ มานี้เหมือนการบังคับใช้กฎหมายมีการล็อกเป้าบ้าง ไม่ล็อกเป้าบ้าง อย่างกรณีของทนายอานนท์ นำภา ชัดเจนว่าเขาไปศาลทุกครั้ง ไม่เคยผิดนัด เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทุกอย่าง แต่ยังถูกเอาตัวเข้าเรือนจำ ทั้งที่ยื่นอุทธรณ์ในการประกันตัวหลายรอบแล้ว จนสุดท้ายทนายอานนท์ต้องทำการถอนประกันตัวในทุกๆ คดีที่มีอยู่ เพื่อเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น”

ภัสราวลีกล่าวว่า ความเข้มข้นในการใช้กฎหมายต่อคดีการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ดูไม่ปกติ สิ่งที่น่ากังวลคือ ไม่ใช่เพียงแค่อานนท์เท่านั้นที่ยังอยู่ข้างใน แต่ตอนนี้มีผู้ที่ถูกขังในเรือนจำและคดีความยังไม่ถึงชั้นฎีกาอย่างน้อย 23 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากสำหรับยุคที่มีรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว หากรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองก่อนหน้านี้ การใส่ใจต่อคดีทางการเมืองเป็นสิ่งแรกที่ควรกระทำ แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลไม่ได้มีการพูดถึงผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองขณะนี้อยู่เลย

ท่าทีที่แสดงออกของรัฐบาลอาจส่งผลต่อการเรียกร้องด้านสิทธิหลายอย่าง รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญด้วย ขณะเดียวกัน หลายคนมองว่าประชาชนเริ่มจะไม่สนใจการเมืองแล้ว เห็นได้ชัดจากการที่กระแสม็อบจุดไม่ติด และไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์การเมืองกันอย่างดุเดือดเหมือนช่วงก่อนเลือกตั้ง จุดนี้ภัสราวลีมองว่า แม้การต่อสู้บนท้องถนนจะซบเซาลง แต่การก่อตัวทางความคิดของคนในสังคมไม่ได้จืดจางไป และมันถูกพัฒนาขึ้นตลอดเวลา เห็นได้ชัดจากบนพื้นที่ทางออนไลน์ เมื่อมีประเด็นทางการเมืองขึ้น ผู้คนก็ยังคงสนใจที่จะถกเถียงกันอยู่ หรือแม้แต่เรื่องที่ก่อนหน้านี้สังคมไม่สามารถพูดในที่แจ้งได้อย่าง สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือมาตรา 112 ก็สามารถพูดได้อย่างเป็นปกติมากขึ้น

ภัสราวลีจึงค่อนข้างมั่นใจว่าการก่อตัวทางความคิดเหล่านี้ของคนในสังคมไม่ได้หายไป เพียงแต่ด้วยสภาวะและจังหวะทางสังคมที่มีจุดสนใจเป็นอย่างอื่น เช่น การเลือกตั้ง ซึ่งหลายคนเองก็ฝากความหวังไว้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงผ่านระบบ แต่เมื่อเจอความผิดหวังก็ยังเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อยู่ดี

รวมถึงภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ด้วยสภาพเศรษฐกิจและเงื่อนไขต่างๆ ทำให้หลายคนมีปัจจัยในการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน กระนั้น ทุกคนยังจำเป็นที่จะต้องพยุงชีพเพื่อที่จะมีแรงต่อสู้ต่อไปด้วย อีกทั้งหลายเงื่อนไขที่ทำให้คนส่วนหนึ่งในสังคมไม่มั่นใจว่าพวกเขาสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกได้มากน้อยเพียงใด แม้อาจจะทำให้เกิดความกังวล แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้เกิดความกลัว เพียงแค่รอจังหวะว่าเมื่อไรที่จะสามารถออกไปได้เท่านั้น

ภัสราวลีมองว่า เป็นเรื่องจริงที่ว่าผู้คนชินชากับการเห็นคนถูกดำเนินคดีการเมือง แต่การชินชาไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะไม่รู้สึกอะไร เพียงแต่ความผิดหวังซ้ำๆ นี้หากยังเสียใจต่อไป อาจทำให้ไม่สามารถมีแรงที่จะกลับมายืนหยัดต่อสู้ได้

ส่วนที่ชี้ชัดว่าการก่อตัวทางความคิดของคนในสังคมยังไม่จืดจางไปคือ ความสำเร็จในการล่ารายชื่อของแคมเปญ #ConforAll ในระยะเวลาเพียงห้าวัน สิ่งนี้เป็นการตื่นตัวที่ทุกคนพยายามหาทางว่าจะใช้วิธีการไหนในการแสดงออกได้เหมือนกัน

การจะให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รวมถึงความเป็นประชาธิปไตยด้วยก็ตาม การส่งเสียงในลักษณะอื่นนอกจากการลงถนนก็เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต้องทำ โดยภัสราวลีมองว่าโจทย์แรกคือ การทำงานทางความคิดร่วมกัน โจทย์ถัดมาคือ การทำให้รัฐเห็นว่าประชาชนเข้าใจถึงเรื่องการใช้อำนาจและเครื่องมือทางกฎหมาย

“ท้ายที่สุดแล้ว ถึงแม้ว่ารัฐเผด็จการหรือการบังคับใช้กฎหมายพยายามจะทำให้เราชินกับการถูกกดขี่อย่างไร แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ประชาชนถูกกดทับมากๆ ก็จะทนไม่ไหวเอง ความชินนี้มันก็จะไม่ได้ชินอีกต่อไปเอง ไม่เชื่อว่าเราจะชินและชาไปได้ตลอดเมื่อเราถูกกดขี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า” ภัสราวลีทิ้งท้าย

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save