fbpx
ปรารถนาก่อนการลืม

ปรารถนาก่อนการลืม

แมท ช่างสุพรรณ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

แดดหนาวสาดผ่านม่านแคบเข้ามาในห้องให้เกิดเงาลงบนโต๊ะทำงาน ผมนั่งรอฟังการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ใจหนึ่งก็พะวงกับการรับโทรศัพท์จากแอมะซอนเรื่องพัสดุที่ตกหล่น เสียงประกาศในภาษาสวีดิชกับเสียงภาษาอังกฤษสำเนียงอินเดียของพนักงานทำให้สับสน เมื่อวางสาย การประกาศเป็นภาษาอังกฤษก็เริ่มต้น ปาทริค โมเดียโน (Patrick Modiano) คว้ารางวัลไปอย่างพลิกความคาดหมาย

 

“ใครวะเนี่ย?” เป็นคำถามแรกที่ฝ่าความงุนงงเข้ามาในความคิด ผมเพิ่งเริ่มอ่านวรรณกรรมภาษาอังกฤษได้ไม่นานนัก นึกสงสัยว่ากีย์ ริตต์ จะเคยอ่านงานของโมเดียโนบ้างไหม แต่เกรงใจเกินจะถาม ความสามารถที่เขามีทำให้เขาวุ่นวายอยู่กับการงานเสมอ

 

“Modiano, who?”

“Who the fuck is Modiano?”

“Why him?”

 

คำถามคล้ายคลึงกันล่องลอยอยู่ในทั้ง Facebook และ Twitter ผู้เชี่ยวชาญทางวรรณกรรมต่างเร่งรีบทำงานหนักเพื่อหาคำตอบ คำตอบซึ่งคอยพยุงไม่ให้บัลลังก์ที่นั่งอยู่สั่นคลอนจากความไม่รู้ ในขณะที่แฟนคลับมูราคามิบ่น เหมือนที่บ่นมาแล้วหลายปี “โนเบลนี่มันโนเบลจริงๆ” นั่นสิ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจ แต่ทำไมยังหวัง หลายคนที่เหมาะสม เหมาะสมกว่า เหมาะสมที่สุดในสายตาของผู้ส่งเสียงเชียร์ซีดจาง ห่างหาย และร่วงหล่น ทำไมถึงเป็นโมเดียโน?

 

ก่อนได้รับรางวัลโนเบล งานเขียนของโมเดียโนตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษเพียงไม่กี่เล่ม และได้ขาดตลาดไปนานแล้วเนื่องจากไม่มีใครถามถึง พูดกันอย่างไม่อ้อมค้อมคือเขาไม่ประสบความสำเร็จในโลกของภาษาอังกฤษ ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้เมื่อสิ้นเสียงประกาศ ข้อมูลจึงขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความอยากรู้ แต่ในภาษาของเขาเอง ภาษาฝรั่งเศส เขาได้ทุกอย่างที่ควรจะได้จากฝีมือที่ฝากไว้ในผลงาน

 

ผมอยากอ่านงานของโมเดียโน แต่ก็หาซื้อไม่ได้ เมื่อทำอะไรไม่ได้ ทางเลือกเดียวคือรอคอย

 

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ปินมะนากลับมาจากโคเปนเฮเกนพร้อมด้วยรูปปั้นจำลองเงือกน้อยเป็นของฝาก ผมบอกเธอเรื่องพัสดุที่ตกหล่น

 

ปินมะนาเปิดผ้าม่านในห้องให้กว้างขึ้น แสงสว่างของแดดหนาวทำให้โมเดียโนจางลงและระเหยหาย

 

เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันผ่านไปเป็นเวลาหนึ่งปี ไม่มีอะไรน่าจดจำ บางทีความทรงจำอาจลาพักร้อนในช่วงนั้น วันหนึ่งปินมะนานัดผมไปที่ผับตรงหัวมุมถนนใกล้สถานีเบย์สวอเตอร์ นานมาแล้วที่เราไม่ได้กลับไปที่นั่น ผมค่อนข้างแปลกใจแต่ก็ไม่ได้ถามอะไรมากมาย เธอคงมีเหตุผลของเธอ

 

หลังจากผ่านไปสองแก้วเบียร์ ใบหน้าของเธอผ่อนคลายมากขึ้นจากความเหน็ดเหนื่อย แววตาซุกซนเริ่มเล่นเล่ห์ “หลับตา ห้ามลืมตาจนกว่าจะบอก” เมื่อผมลืมตาขึ้น La Place de l’Étoile วางอยู่ตรงหน้า Patrick Modiano แจ่มชัดในเงาสลัว เป็นการปรากฏตัวที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย

 

ปินมะนาไม่รู้จักโมเดียโน โลกของเธอเป็นโลกอีกใบที่อยู่ไกลจากวรรณกรรม เธอตกใจเล็กน้อยเมื่อเห็นท่าทางพรึงเพริด ผมลืมโมเดียโนไปตั้งแต่วันที่ผ้าม่านเปิดกว้าง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการแปลหนังสือเล่มนี้ของเขาออกมา เธอเองก็ไม่รู้มาก่อนว่าผมอยากอ่านผลงานของโมเดียโน เธอซื้อหนังสือเล่มนี้มาเพราะได้ยินเสียงพูดคุยอย่างตื่นเต้นจากนักอ่านคนอื่นในร้านหนังสือว่าหนังสือเล่มนี้เพิ่งออกวางจำหน่ายและนักเขียนได้รางวัลโนเบล

 

คืนนั้น ผมเปิดหนังสืออ่านอย่างกระหายและถูกถีบออกมาอย่างไม่เป็นท่าด้วยชื่อผู้คนมากมายในภาษาฝรั่งเศส เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในช่วงปี 1940-1944 ของปารีส หนังสือเล่มแรกในชีวิตการเขียนของโมเดียโน การทำความรู้จักกันครั้งแรกของเราไม่ประสบผลสำเร็จ ผมทิ้ง La Place de l’Étoile ไว้บนชั้นหนังสือเป็นปี ก่อนจะกลับมาอ่านอีกครั้งจนจบและตามไปอ่าน The Night Watch และ Ring Roads ต่อจนจบไตรภาคแห่งการยึดครอง (The Occupation Trilogy)

 

ตลอดเวลาที่ผมละเลยหนังสือที่เธอมอบให้ ปินมะนาไม่เคยเอ่ยคำตำหนิ ไม่เคยแสดงท่าทีไม่พอใจ วันหนึ่ง ผมบอกเธอว่าถ้ามีโอกาสจะตามอ่านผลงานของโมเดียโนทุกเล่ม

 

วันนี้คือปลายทางของวันนั้นในฉบับภาษาอังกฤษ (ยังมีอีกหลายเล่มที่ยังคงรูปอยู่ในภาษาเดิม) Sleep of Memory คือหนังสือเล่มล่าสุดที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นภาษาอังกฤษของโมเดียโน และเป็นงานเขียนเล่มแรกหลังจากได้รับรางวัลโนเบลที่ยังคงอยู่ในแบบฉบับของ “Modianos”—หนังสือเล่มบางว่าด้วยปารีสในเวลาที่ล่วงเลย ปริศนาและการแสวงหาคำตอบจากชีวิตของเด็กหนุ่มที่พ่อแม่ไม่ใส่ใจ

 

 

คล้ายจะเริ่มต้นด้วยยามเย็นวันอาทิตย์ ห้วงเวลาที่มีอิทธิพลต่อความทรงจำของเด็กหนุ่ม ช่วงสุดท้ายของความเป็นอิสระก่อนกลับเข้าสู่กฎเกณฑ์ของโรงเรียนประจำ ความรู้สึกของการโอนอ่อนและขัดขืนระคนกันอยู่ภายใน ภาพของพ่อที่เกี่ยวข้องกับตลาดมืด แม่ที่ทุ่มเทเวลาให้กับอาชีพนักแสดง เผยให้เห็นความโดดเดี่ยวที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจ

 

ในปี 2017 ชายชราคนหนึ่งพยายามหวนระลึกถึงเด็กหนุ่มคนนั้น และเวลาช่วงเวลาแห่งการขัดขืนที่ชักพาให้เขาไปพบกับผู้หญิงหลายคนซึ่งทิ้งร่องรอยไว้ในความทรงจำ มิเรย อูรูซอฟ (Mireille Ourousov) ผู้มาพักอยู่ชั่วคราวที่อพาร์ตเมนต์ของแม่เขา ช่วงเวลาที่ติดสอยห้อยตามเธอไปไหนมาไหนทำให้เขาอยากหนีไปจากทุกอย่าง

 

เจอนวิแยฟ ดาลาม (Geneviève Dalame) หญิงสาวผู้สนใจในเรื่องไสยศาสตร์ การรู้จักกับเธอนำเขาไปสู่การวิวาทในที่สาธารณะ และการได้พบเจอกับ มาดแลน เปโร (Madeliene Péraud) หญิงวัยสี่สิบผู้หลงใหลในเรื่องลี้ลับ

 

มาดามอูแบร์ซอง (Madame Hubersen) ผู้เปลี่ยวเหงาที่เขาบังเอิญเจออีกครั้งในร้านอาหาร และหญิงอีกคนที่เขาไม่กล้าที่จะเอ่ยชื่อถึงแม้เวลาจะล่วงเลยมาแล้วกว่าห้าสิบปี ด้วยกลัวว่าจะเป็นการชี้เบาะแสให้กับอาชญากรรมที่เธอก่อขึ้นโดยเขาเป็นผู้มีส่วนร่วมในการหลบหนี

 

เวลาอาจทำให้ทุกอย่างพร่าเลือนไป แต่ความทรงจำก็ไม่เคยจำนนต่อการหาหนทางขัดขืน

 

นอกหน้าต่าง ความมืดโรยตัวมาลงอย่างเชื่องช้า สีสันแห่งฟากฟ้าในยามพลบค่ำเปรียบเหมือนจุดพบกันของความจริงและความลวงในเรื่องเล่าของโมเดียโน ความแนบเนียนของตัวละครที่ผสมปนเปกันไประหว่างผู้คนที่มีชีวิตจริงกับผู้คนที่เสกสรรขึ้นคล้ายจะคอยลวงให้เชื่ออยู่เสมอว่าทั้งหมดคือเรื่องจริง

 

โมเดียโนมีความรู้ในเรื่องหนังสือและเอกสารเก่า ในวัยหนุ่มที่ชีวิตยังไม่แน่นอนและอยู่ในความอดอยากเขาเคยขโมยหนังสือเพื่อขายเลี้ยงชีพ ทั้งยังเคยฝึกปลอมแปลงลายเซ็นของบุคคลมีชื่อเสียงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับหนังสือหายาก แต่ช่วงเวลาเหล่านั้นจบลงเมื่อเขาเริ่มหาเงินได้จากการเขียนนวนิยาย ทุกวันนี้เขาเป็นนักสะสมหนังสือและเอกสารเก่า เรื่องราวและร่องรอยจากสิ่งของต่างๆ ที่เขาสะสมไว้หวนกลับมามีชีวิตใหม่เสมอในนวนิยาย

 

นานมาแล้วผมเคยอ่านเจอว่าใน Little Jewel โมเดียโนนำข้อมูลจริงเกี่ยวกับผู้คนและสถานที่จริงจากสมุดบันทึกเก่าที่สะสมไว้มาใช้ตรงๆ จากนั้นมีหญิงคนหนึ่งอ่านแล้วจำได้ว่าตัวละครหลักคือแม่ของเธอ หลังจากที่เธออ่านเรื่องราวในหนังสือให้แม่ฟังทุกคนตกตะลึงและชื่นชมในตัวโมเดียโน อย่างไรก็ตามพวกเธอก็ขอให้เขาแก้ไขรายละเอียดและชื่อของตัวละครหลายตัวในการพิมพ์ครั้งต่อมา

 

คุณ ใช่ คุณนั่นแหละ ถ้าคุณสนใจในการใช้หลักฐานจากหนังสือและเอกสารเก่าสร้างสรรค์นวนิยายของโมเดียโน  Dora Bruder หรือ The Search Warrant (ทั้งสองคือเรื่องเดียวกัน ฉบับพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาใช้ชื่อเดิมจากต้นฉบับฝรั่งเศส แต่ฉบับพิมพ์ในอังกฤษใช้อีกชื่อ) คือเล่มที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

 

ในห้วงเวลาแห่งการหลับใหลของความทรงจำ โมเดียโนย้อนกลับไปสู่ช่วงแห่งความโศกตรมในวัยเยาว์อีกครั้ง ภาพชีวิตในปารีสยุค 60s ช่วงเวลาที่ชีวิตของทุกคนถูกร้อยเรียงอยู่ในคาเฟ่ โรงแรม ปาร์ตี้ในยามค่ำคืน บรรยากาศคล้ายดั่งฝันของเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นจากการผสานกรอบเวลาของอดีตและปัจจุบันเข้าหากันเป็นเนื้อเดียว ซึ่งหากขาดสมาธิในการติดตามก็จะหลงทิศในเรื่องเล่าจนหาทางออกไม่เจอ

 

การเล่าเรื่อง สถานที่ต่างๆ และตัวละครอ้างอิงจะทำให้เชื่อว่า Sleep of Memory คือภาคต่อจาก Pedigree ซึ่งเป็นบันทึกความทรงจำในช่วงชีวิตก่อนเป็นนักเขียนของโมเดียโน แต่เมื่อกะพริบตาอีกครั้งกลับดูเหมือนว่าเรื่องราวที่ดำเนินไป คือภาพชีวิตของ ฌอง เด. (Jean D.) หรือ ฌอง ดารานญ์ (Jean Daragne) ตัวละครที่เป็นนักเขียนอีกคนจาก So you don’t get lost in the neighborhood

 

การปรากฎตัวขึ้นและสูญหายไปอย่างปราศจากเหตุผลของตัวละครคือเอกลักษณ์ของโมเดียโน การพยายามแก้ปัญหาที่ไม่พบคำตอบก่อให้เกิดปริศนาใหม่ ความสงสัยที่เป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ถูกจองจำอยู่ในความทรงจำถูกนำมาใช้ผ่านขนบของนวนิยายสืบสวน หลักฐานต่างๆ ที่ถูกลืมเลือนทำให้สิ่งที่สูญหายหวนคืนกลับมามีชีวิตมาอีกครั้ง

 

จากองค์ประกอบทั้งหมดที่อยู่ในเรื่องเล่า ทำให้ Sleep of Memory ถูกอ่านได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายสืบสวน ภาคต่อของบันทึกความทรงจำ คำสารภาพ วิธีการทำงานกับ archive ของนักเขียน หรือแม้แต่ในฐานะรอยต่อของผลงานที่ผ่านมา ความหลากหลายของรูปแบบที่วางอยู่ในเรื่องทำให้ความทรงจำของโมเดียโนที่มีต่อวันคืนที่ล่วงเลยแห่งปารีสเป็นดินแดนลึกลับชวนค้นหาไม่สิ้นสุด

 

“If anyone had asked me what was the point of all this, I think I would have answered simply, “I’m trying to solve the mysteries of Paris.” ”

 

แดดเช้าสาดผ่านม่านแคบเข้ามาในห้องคล้ายจะปลุกให้ตื่นจากการหลับใหล ทุกวันนี้ปินมะนาหลงเหลืออยู่เพียงในความทรงจำ ผ้าม่านในห้องไม่เคยถูกเปิดกว้างออกอีกเลย ด้วยเกรงว่าสิ่งสำคัญที่สุดจะจางลงและระเหยหาย

 

(ข้อความจากลายมือเขียนลงวันที่ 31/8/2019 ในสมุดบันทึกสีดำของปฐม วัฒนประพันธ์)

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save