fbpx

Past Lives: ตอนจบของพรหมลิขิต 

Past Lives

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์ 


ตอนอายุสิบสองนายองชอบแฮซองที่สุด เธอมักได้ที่หนึ่ง เขามักได้ที่สอง วันหนึ่งเธอสอบได้ที่สองและเขาได้ที่หนึ่ง เธอเดินร้องไห้กลับบ้านโดยมีเขาเดินตามไปเป็นเพื่อน ตลอดมาทุกครั้งที่เธอร้องไห้ เขาจะอยู่เป็นเพื่อนเธอเสมอ 

ไม่นานหลังจากนั้น แม่ของเธอให้เธอชวนแฮซองไปเดต แม่ของทั้งคู่พาสองคนไปสวนสาธารณะ ตอนกลับบ้าน นายองหลับซบไหล่เขา สองมือกุมกันไว้ แฮซองเหม่อมองออกไปนอกรถ 

แล้วไม่นานนายองก็ไปอเมริกา ต่างฝ่ายต่างหายวับไปจากชีวิตของกันและกัน

สิบสองปีต่อมา พวกเขามาเจอกันอีกครั้งจากคนละเวลา คนละเมือง คนละซีกโลก คนละวิถีชีวิต เขาตามหาเธอมาสิบสองปีแล้ว พวกเขาพูดคุยกันผ่านสไกป์ แต่ระยะทางและวงโคจรของชีวิตทำให้ทั้งคู่ห่างหายไปจากกันในที่สุด 

สิบสองปีต่อมา นายองที่ตอนนี้ชื่อนอราห์ แต่งงานกับอาเธอร์ สามีที่เป็นนักเขียน แฮซองบอกเธอว่าเขาจะมาเยี่ยมเธอที่นิวยอร์ก สามีของเธอบอกว่าเขาจะห้ามเธอได้อย่างไรในเมื่อเรื่องราวของพวกเธอนั้นช่างแสนโรแมนติก เธอจึงไปพบเขา และเป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบสี่ปีที่พวกเขาได้พบกันเพื่อเฉลิมฉลองถึงชีวิตที่ผ่านพ้นไป 

เราอาจเรียกมันว่าหนังรักของคนสองคนที่พลัดพรากจากกันและกลับมาพบกันใหม่ ในขณะเดียวกัน มันก็อาจเป็นหนังรักของคู่สามีภรรยาที่ชีวิตเรียบง่าย แต่อยู่มาวันหนึ่งคนรักเก่าของภรรยาก็กลับเข้ามาในชีวิต หรืออาจไม่เลย ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง แต่เป็นหนังว่าด้วยชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ชะตากรรมพัดพาเธอข้ามโลกไป เรียนรู้ความรัก ความใฝ่ฝัน และแรงปรารถนาที่จะมีชีวิต ที่จะสร้างสรรค์งาน  ผู้หญิงที่จะไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของชะตากรรม หรือพรหมลิขิตใดๆ 

หนังเล่าเรื่องไล่เรียงตามลำดับเวลา ซึ่งในทางหนึ่งก็ดูจะคาดเดาได้ว่าอะไรจะเดินไปในทิศทางไหน จนอาจให้ความรู้สึกเรียบเรื่อย แต่ทั้งหมดนั้นปูทางมาสู่องก์สุดท้ายของหนัง การกลับมาพบกันใหม่ในวันเวลาที่ล่วงเลยไปแล้ว บทสนทนาบนเตียงนอนของเธอกับสามี และบทสนทนาในการกลับมาพบกันทั้งสามคนในช่วงสุดท้ายของหนัง พลังอันท่วมท้นของทั้งสามคนในช่วงนี้ล้วนเป็นผลจากการที่หนังเล่าอย่างตรงไปเรียงตามลำดับเวลานั่นเอง

หนึ่งในสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ตลอดเรื่องคือคำว่า ‘อินยอน’ ในภาษาเกาหลีหมายถึงคำว่าโชคชะตาหรือพรหมลิขิต  นอราห์เล่าให้อาเธอร์ฟังถึงคำคำนี้ และบอกว่ามันเป็นเพียงคำที่คนเกาหลีใช้จีบกันเฉยๆ แต่กลายเป็นว่าความสัมพันธ์ของเธอกับแฮซองกลับมีบางสิ่งที่คล้ายคลึงกับพรหมลิขิตเสียเอง นั่นทำให้เธอกับเขาได้วนกลับมาเจอกัน แม้ว่าจะอยู่กันคนละซีกโลก  

สำหรับนักเขียน พรหมลิขิตเป็นเรื่องพาฝันอันงดงาม ทั้งอาเธอร์และตัวเธอเองต่างเป็นนักเขียน และอาเธอร์เข้าใจในเรื่องนี้  ในฉากหนึ่งหลังจากกลับมาพบกัน สองสามีภรรยานอนคุยกันบนเตียง อาเธอร์เปรียบเทียบเรื่องของเธอกับแฮซอง และเรื่องของเธอกับเขา ข้างหนึ่งคือการพบพาน พลัดพรากและข้ามฟ้ามาพบกันใหม่ อาจผูกพันกันมาแต่อดีตชาติ แต่กับเขาเป็นเพียงการพบกันพื้นๆ ของคนที่บังเอิญสนใจเรื่องเดียวกัน และบังเอิญโสด การแต่งงานก็เป็นไปอย่างสมประโยชน์ในการขอกรีนการ์ด เขากับเธอคือเหตุผลและความเหมาะสม แต่เธอกับแฮซองคืออารมณ์และลิขิตฟ้า 

อาเธอร์ถามเธอว่า ถ้าสำหรับแฮซองคือเธอเท่านั้น สำหรับเธอ เขาจะเป็นคนอื่นได้ไหม เขาเติมเต็มความใฝ่ฝันของเธอหรือเปล่าสิ่งที่เธอฝันไว้ในการย้ายมาอเมริกา และเธอตอบว่า เขาคือคนที่เธอ ‘มาลงเอย’ อยู่ด้วย มันไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ มันธรรมดาเรียบง่าย หากเป็นจริงและมั่นคง เรื่องรักที่ไม่มีอะไรให้เขียน ไม่มีอดีตชาติ ไม่มีการข้ามน้ำข้ามทะเล หรือการรอคอย

ในทางหนึ่ง พรหมลิขิตกลายเป็นเรื่องเล่าขนาดใหญ่ที่กดทับผู้คน โดยเฉพาะชาวเอเชียที่เชื่อในโลกนี้และโลกหน้า พรหมลิขิตทำให้อดีตทอดยาวออกไปไม่สิ้นสุด และนั่นไปสอดคล้องพอดีกับสิ่งที่แม่ของแคธี่ใน Shang-shi พูดไว้ว่า  “การ ‘มูฟออน’ นั้นเป็นความคิดของพวกอเมริกันเท่านั้นแหละ” คนตะวันออกไม่มูฟออน อดีตเชื่อมกับปัจจุบัน แปดพันชาติที่ผ่านมาจึงเชื่อมโยงถึงชาตินี้เป็นหนึ่งเดียวกัน เราอยู่กับการรอคอยผลพวงจากอดีต อนาคตเป็นเพียงปลายเหตุผ่านทางกลไกลึกลับของกรรมที่เชื่อมโยงเราเอาไว้ เราจึงทำวันนี้เพื่ออนาคต และขณะเดียวกันก็ผูกติดอยู่กับอดีต ทั้งในนามของบรรพบุรุษ ครอบครัว พรหมลิขิตเป็นแค่อีกรูปแบบของการอธิบาย 

มันจึงงดงามขณะที่เธอและแฮซองท่องไปในนิวยอร์ก เธอถามเขาเรื่องการแต่งงานและเขาบอกว่าตนเพิ่งเลิกกับหญิงคนรักเพราะไม่คู่ควรกับเธอมากพอจะแต่งงานด้วย การแต่งงานกลายเป็นความรับผิดชอบต่ออีกคน ซึ่งผูกพ่วงเอาครอบครัว ปัจจุบัน อนาคตและอดีตเข้าด้วยกัน

เธอกลับบ้านเล่าให้อาเธอร์ฟังว่าเขาเป็นคนหนุ่มกำยำหล่อเหลา และช่าง ‘เกาหลี’ เสียเหลือเกิน ความเป็นเกาหลีของเขาไม่เพียงเรื่องของเชื้อชาติหรือตำแหน่งแห่งที่บนผิวโลก แต่ยังรวมถึงความคิดความเชื่อแบบเอเชีย หนังบอกเป็นนัยๆ ว่าเธอไม่ได้รอคอยเขาเท่าที่เขารอคอยเธอ ตอนที่คุยกับแม่เธอนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าเขาคือใคร เทโอ ยู (Teo Yoo) ที่รับบทแฮซอง ให้การแสดงที่งดงามมากๆ ภายใต้ภาพความหนุ่มแน่นเต็มตัว เขามีดวงตาหมาหงอยแบบชายที่ตามรักเธอทุกชาติ ทุกอากัปกริยาที่เขาอยู่กับเธอเป็นความปรารถนาอันเศร้าสร้อยเพราะรู้ว่าไม่คู่ควร ความพยายามรักษาระยะและให้เกียรติ เขาเป็นโลกอีกใบที่นอราห์ได้ทิ้งไปเนิ่นนาน เขามาเพื่อเรียนรู้ว่าการรอคอยของเขาไร้ความหมาย เจ็ดพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าชาติที่เขามีได้ถูกตัดขาดออกไปแล้ว และในที่สุด เขาจึงบอกเธอว่าเขาเข้าใจเหตุผลที่เธอจากมา เพราะเกาหลีนั้นเล็กเกินไปสำหรับตัวเธอ ขณะเดียวกันเขาก็ได้เรียนรู้ว่าภพชาติทั้งหลายนั้นใหญ่เกินไปสำหรับตัวเขา

หนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องรักที่หลุดลอยไป ไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่ใช่ในเวลาที่ผิดแต่เพียงเท่านั้น มันคือภาพฉายรอยแยกของสังคมสองแบบที่ตัวละครแตกหักกับมัน  แต่การแตกหักไม่ใช่แค่การทำลายล้างหรือปฏิเสธ เพราะแต่ละสังคมมีหนทางของการโอบอุ้มผู้คนแตกต่างกันไป  การพบกันอีกครั้งของนอราห์กับแฮซองจึงเป็นความอบอุ่นของการรำลึกความหลัง ความงดงามของมิตรภาพ และความเจ็บปวดของรักข้างเดียวที่เป็นไปไม่ได้  เธอไม่ได้เลือก ‘ผัวอเมริกันตัวร้าย’ ที่มีห้องในนิวยอร์กตามแบบเรื่องเล่าของอาเธอร์  แต่สิ่งที่เธอเลือกคือ ‘การไม่มีวันทิ้งละครที่เธอรักไปหาผู้ชาย’ โดยเนื้อแท้มันจึงเป็นเรื่องของผู้หญิงเอเชียคนหนึ่งเรียนรู้ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง น้ำหนักของหนังทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ตัวละครทั้งสามอย่างเท่าเทียม แต่อยู่ที่นอราห์เพียงคนเดียว คนที่เหลือเป็นเพียงองค์ประกอบเท่านั้น เหตุและผลอยู่ที่เธอและเป็นของเธอ ในทางหนึ่ง นี่จึงเป็นหนังเฟมินิสต์ที่งดงาม 

ในฉากสำคัญของเรื่อง เมื่อทั้งสามคนออกไปดื่มด้วยกัน นอราห์คุยกับแฮซองเป็นภาษาเกาหลี โดยมีอาเธอร์นั่งเงียบๆ อยู่ข้างๆ ก่อนหน้านี้พวกเขาคุยกันเรื่องที่เธอละเมอเป็นภาษาเกาหลี เธอฝันเป็นภาษาเกาหลี มันเป็นโลกที่เธอไม่ให้เขาเข้าไปได้ เขาเลยไปเรียนเกาหลี แต่จู่ๆ ความฝันของเธอก็เกิดขึ้นจริง เกาหลีกลายเป็นดินแดนที่ชิดใกล้เพียงช่องว่างระหว่างที่นั่งแต่ไกลห่างเหมือนโลกฝันกับโลกจริง อย่างไรก็ดี หลังจากเธอลุกไป ทิ้งช่องว่างไว้ระหว่างผู้ชายสองคน ความเกาหลีอย่างเช่น ‘อินยอน’ กลับกลายเป็นคำอธิบายที่คนทั้งคู่มอบให้แก่กัน โลกที่ต่างคนต่างเข้าไปไม่ได้ 

ในขณะเดียวกัน เธอก็บอกกับแฮซองว่า แม้ ‘นายอง’ จะไม่อยู่แล้ว แต่ใช่ว่านายองคนนั้นไม่เคยมีอยู่ ไม่ว่าตอนนี้มันจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เคยเกิดขึ้นนั้นจริง ภพชาติมีจริงแต่อาจเป็นชื่อที่เรียกกันว่าการเติบโต บ่อยครั้งเป็นการเติบโตไปจากกัน

ฉากสุดท้ายของหนังนั้นทั้งเจ็บปวดและงดงาม พวกเขายืนรอรถแท็กซี่เงียบๆ ไม่รู้จะพูดอะไรกัน พอแท็กซี่มาถึง เขากอดเธอ (ก่อนหน้านี้เธอเป็นคนกอดเขา) และพูดอะไรเชยๆ ที่พอสรุปความได้ว่าถ้าชาติหน้ามีจริงแล้วล่ะก็…  

ลากันตรงนั้น เหมือนกับการไปเดตเพียงวันเดียว แฮซองนั่งรถออกไป เหม่อมองไปนอกหน้าต่างแบบเดียวกับที่เคยเหม่อมอง หากครั้งนี้ไม่มีเธอเคียงข้าง มีแต่เขามองเมืองแปลกหน้าของเธอ 

นายองเดินกลับบ้าน ร้องไห้ ไม่ใช่ให้กับความรักที่ลอยลับ แต่ร้องไห้ให้กับอดีตที่จบสิ้นลง พรหมลิขิตเป็นเครื่องประกันว่าเรามีชีวิตที่ดีรออยู่ มีอ้อมกอดอบอุ่นของโลกดั้งเดิม มีบ้านของหัวใจในอีกที่หนึ่งให้กลับไป ตอนนี้มันจบสิ้นลง อดีตขาดสะบั้นลง ไม่ต้องรอคอยอีก ไม่ต้องคิดถึงหรือถวิลหาอีก เพราะทุกอย่างถูกคลี่คลาย อดีตคืนความหมายให้ปัจจุบันไปหมด  

หากเช่นเดียวกับการร้องไห้ตอนได้ที่สอง เธอมีคนรออยู่บนบันไดบ้าน แต่ตอนนี้ไม่ใช่แฮซองอีกแล้ว ไม่ใช่ชาติที่แปดพัน แต่เป็นชาติที่หนึ่ง ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ 

เราอาจแปลความหมายของ Past Lives ได้ว่า ‘อดีตที่ผ่านพ้นไป’ หรือ ‘ชาติที่แล้วแล้วมา’  แต่ตอนนี้ทั้งหมดไม่ใช่แค่อดีต แต่กลายเป็นอดีตที่จบสิ้นลงไปแล้วจริง  ขณะที่ตอนนี้ ในชาตินี้ Present Life ชีวิตเริ่มต้นและดำเนินไปในชาตินี้และสำหรับชาตินี้ ไม่ว่ามันจะเคว้งคว้างแค่ไหน หรืออบอุ่นเพียงไรก็ตาม  

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save