fbpx

เขียนเอาไว้ข้างเตียง ว่าไม่อยากนอนเคียงข้างกัน: เอาไงดี เมื่อรักกันแต่ไม่อยากนอนเตียงเดียวกัน?

การนอนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสุขภาพ แต่การนอนด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ จิตแพทย์ที่ให้คำปรึกษาเรื่องชีวิตคู่ส่วนใหญ่จะให้คำแนะนำข้อหนึ่งเสมอว่า หากอยากมีชีวิตรักที่ดีและยาวนาน ควรหมั่นนอนใกล้ๆ กัน เพราะการนอนใกล้ชิดกันจะนำพาให้เราอยากมีเพศสัมพันธ์โดยอัตโนมัติ ซึ่งสิ่งนี้เป็นกลไกตามธรรมชาติ   

แต่สิ่งนี้ย่อมไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับคู่รักทุกคู่บนโลกใบนี้ บางคู่อาจตั้งคำถามว่า จำเป็นขนาดนั้นไหมที่เราต้องนอนร่วมเตียงเดียวกัน จะผิดมากไหมหากเรารักกันแต่ไม่อยากนอนเตียงเดียวกัน แล้วแบบนี้คู่ของเราจะมีปัญหาเตียงหักอย่างที่เขาชอบพูดกันหรือเปล่า 

เราลองไปหาคำตอบกันดู

1

ตามความเชื่อของคนทั่วไป เมื่อคนเราแต่งงาน ธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่มักเจอในงานแต่ง (โดยเฉพาะหากใครแต่งที่บ้านและมีพิธีส่งตัวเข้าเรือนหอด้วยแล้ว) นั่นคือธรรมเนียมการปูเตียงนอนโดยคู่ครองที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานานระดับตำนานของชุมชน ของจังหวัด หรือของประเทศ (ก็แล้วแต่ความบิ๊กของงานแต่ง) เมื่อปูเตียงด้วยคู่รักระดับตำนานเสร็จแล้ว คู่รักข้าวใหม่ปลามันก็ต้องลงไปนอนร่วมเตียง กอดกันสักพักให้กองเชียร์ชื่นใจ   

ภาพของการนอนเตียงเดียวกันจึงกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของชีวิตคู่ อันเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า สองคนนี้จะร่วมหัวจมท้ายกัน มีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ อบอุ่นและอบอวลด้วยความรัก ความใกล้ชิดของคู่สามีภรรยาบนเตียงจึงเป็นภาพสะท้อนของความสุขภายในบ้าน ความรักและเสน่หาที่มีต่อกัน     

แต่ในชีวิตจริง คนส่วนมากคุ้นเคยกับการนอนคนเดียว และอาจมีความสุขกับการนอนคนเดียวมากกว่า ทั้งยังไม่อยากจะแชร์เตียงกับใครก็เป็นได้ เช่น ในธรรมเนียมของคนญี่ปุ่น ประเทศที่คนเกรงใจกันมากแม้แต่กระทั่งเรื่องการนอน คนญี่ปุ่นมองว่า การได้นอนแยกเตียงคือความสงบ เป็นการพักผ่อนที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ (ธรรมเนียมนี้อาจเปลี่ยนไปบ้างเนื่องจากที่อยู่อาศัยมีขนาดเล็กลง แต่การนอนแยกกันสำหรับคนญี่ปุ่นก็ยังถือว่าเป็นเรื่องปกติ)

ขณะเดียวกัน ในอีกมุมหนึ่ง การนอนแยกกันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกและอาจปกติมากกว่าที่เราคิดเสียด้วยซ้ำ

หากดูละครย้อนยุคไม่ว่าจะของไทยหรือตะวันตก การนอนแยกกันโดยเฉพาะในชนชั้นสูงถือเป็นเรื่องปกติมาก ทั้งนี้เพราะการแต่งงานในหมู่ชนชั้นสูงหรือคนที่มีฐานะ ล้วนมาจากเหตุผลอื่นมากกว่าความรัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความจำเป็นทางการเมือง การเลื่อนชั้นทางสังคม การคลุมถุงชนระหว่างสองตระกูลใหญ่ ฉะนั้น การแต่งงานในลักษณะที่ว่ามานี้จึงไม่ต่างจากการทำธุรกิจ การแยกพื้นที่ส่วนตัวของสามีภรรยาไว้ในบ้านก็เพื่อลดความตึงเครียดที่คนไม่คุ้นเคยกันสองคนต้องมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน การแยกกันนอนจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล

ในฉากห้องนอนของซีรี่ย์ดัง ไม่ว่าจะเป็น The Crown หรือ Downton Abbey ก็จะเห็นว่ามีการแยกห้องนอนสำหรับนายหญิงกับนายผู้ชายไว้เป็นสัดเป็นส่วน ในไทยเองก็ไม่ต่างกัน และจริงๆ แล้วการนอนร่วมเตียงเดียวกันของสามีภรรยาเพิ่งจะได้รับการยอมรับให้เป็น ‘เรื่องปกติ’ ไม่นานมานี้เองด้วยซ้ำ 

ย้อนกลับไปในปี 1951 ซิตคอมเรื่อง I love Lucy โด่งดังมากในสหรัฐอเมริกา ซิตคอมนี้มีเนื้อหาตลกขบขันเกี่ยวกับสามีภรรยาที่ทำงานอยู่ในแวดวงการแสดงละครเวที ผู้เป็นภรรยาซึ่งนำแสดงโดย ลูเซีย บอล (Lucielle Ball) และสามีผู้เป็นหัวหน้าวง นำแสดงโดย เดซี่ อาร์นาซ (Desi Arnaz) ฝ่ายภรรยาพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้สามีเห็นว่าเธอมีพรสวรรค์ด้านการแสดงและอยากเป็นนักแสดงนำของคณะ ทั้งที่จริงเธอไม่มีพรสวรรค์เอาเสียเลย และมักพาตัวเองไปสู่สถานการณ์ที่ตลกขบขัน ซิตคอมเรื่องนี้โด่งดังมากในยุคนั้น และออกอากาศอยู่นานถึง 7 ปี มีทั้งหมดเกือบ 150 ตอน 

ในช่วงหนึ่งของซิตคอม นักแสดงนำของเรื่องอย่าง ลูเซีย บอล เธอท้องกับสามี (สามีจริงๆ ของเธอในเวลานั้นก็คือเดซี อานาซ ที่ร่วมแสดงด้วย) ทางคนเขียนบทจึงคิดว่าจะเติมเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องจริงของเธอลงไปโดยให้เธอตั้งท้อง แต่ปรากฎว่ากองเซนเซอร์ไม่อนุญาต เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับศีลธรรมอันดีและอาจทำให้คนดูคิดไปไกลว่า เธอตั้งท้องได้อย่างไร 

มากไปกว่านั้น แม้แต่ฉากต่างๆ ในซิทคอมก็ห้ามไม่ให้มีฉากที่ทั้งคู่นอนร่วมเตียงกันอีกด้วย เพราะเชื่อว่าภาพดังกล่าวจะสื่อเรื่องกามารมณ์มากเกินไป กว่าที่ฮอลลีวูดจะรู้สึกผ่อนคลายกับเรื่องเซ็กส์และความสัมพันธ์ก็ต้องรออีกหลายทศวรรษ แต่ณ ตอนนี้กลับเป็นเรื่องตรงข้าม เพราะหากภาพยนตร์สักเรื่องจะนำเสนอภาพของการนอนแยกเตียงหรือแยกห้องนอนของคู่รัก อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดธรรมเนียม ทั้งที่ในความเป็นจริง ผมเชื่อว่ามีคู่รักจำนวนไม่น้อยที่มีความสุขกับการนอนแยกกันมากกว่าการนอนร่วมเตียงเดียวกันด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ ว่ากันตั้งแต่ปัญหาเรื่องแย่งผ้าห่ม การนอนมาราธอน เวลานอนไม่ตรงกัน หรือไลฟ์สไตล์ก่อนนอนที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจอยากไถโทรศัพท์มือถือก่อนนอน ในขณะที่บางคนการขึ้นเตียงหมายถึงการปิดไฟมืดสนิทและพร้อมนอนอย่างเต็มที่ เป็นต้น

ประสบการณ์ตรงของผม ผมแยกกันนอนคนละเตียงกับแฟนผมมาตั้งแต่ปีที่ 5 ของการอยู่ด้วยกัน (ตอนนี้เราอยู่ด้วยมา 12 ปี) เพราะการนอนเตียงเดียวกันสร้างปัญหาในการใช้ชีวิตมากกว่า ผมเป็นพวกนอนดิ้นมาก เขาเองก็นอนกรน ไหนจะหมาสามตัวที่ระดับความหวงเจ้าของแตกต่างกัน แต่ต้องมานอนด้วยกัน ท้ายที่สุดเมื่อเราปรับปรุงบ้านใหม่ จึงตกลงกันว่าจะแยกเตียงนอนกันคนละมุมของห้อง เพื่อคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นอย่างนั้น

การนอนเต็มอื่มก็ส่งผลให้ชีวิตด้านอื่นๆ ของเราดีไปด้วย 

2

มีการสำรวจในสหรัฐอเมริกาที่จัดทำโดย International Housewares Association เมื่อมกราคมปี 2023 เกี่ยวกับคู่รักที่นอนแยกเตียงหรือแยกห้องนอน ว่ามีสัดส่วนอยู่ประมาณเท่าไหร่กันหนอ และอะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจแยกกันนอนโดยสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง 2,200 คน ทั้งคู่รักใหม่และคู่รักที่คบกันมานาน ซึ่งพบว่าการนอนแยกกันเป็นเรื่องปกติมากกว่าที่คิด

ประมาณร้อยละ 46 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสํารวจใช้เตียงร่วมกัน แต่ที่เหลือมีการนอนแยกเตียงกันด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ตารางการนอนหลับที่แตกต่างกัน กิจวัตรการคลายเครียดที่ขัดแย้งกัน เกือบหนึ่งในห้าของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขานอนแยกกันเพราะต่างต้องการพื้นที่ส่วนตัว และร้อยละ 22 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขาทําการปรับปรุงบ้านเมื่อปีที่ผ่านมา (2022) เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ที่ข้อตกลงว่าจะนอนแยกกันกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในบ้านมากขึ้น และมีบางบ้านที่ตกลงกันว่าจะกลับมานอนเตียงเดียวกันในช่วงวันหยุด หรือในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องการกันและกัน รวมถึงช่วงเวลาที่ต้องการการปลอบโยน 

ส่วนเรื่องของการ ‘หลับนอน’ คู่รักหลายคู่ในการสำรวจไม่ได้มองว่ากิจกรรมหลับนอนมีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงกับการ ‘นอนหลับ’  เพราะกิจกรรมหลับนอนสามารถจัดสรรได้ตามความเหมาะสมและตามความต้องการของทั้งสองคน 

ปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวเร่งสำคัญ คือการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในช่วงของการระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดวิถีการนอนแบบใหม่ การต้องแยกกันนอนเพื่อความปลอดภัย หลายคู่กลับพบว่าคุณภาพการนอนหลับดีขึ้น และลงทุนปรับปรุงบ้านใหม่หลังจากโควิด-19 ให้แต่ละคนมีพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง นอกจากนี้ การเพิ่มพื้นที่ส่วนตัวในบ้านหลายคู่มองว่าเป็นการเพิ่มที่ว่างสําหรับความตื่นเต้นในชีวิตคู่ด้วยซ้ำ   

แต่ก็มีเสียงจากอีกฝั่งที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มนี้ว่ามันอาจเป็นข้ออ้างในการหลีกหนีปัญหาในชีวิตคู่หรือไม่?

3

นักบําบัดทางเพศและที่ปรึกษาด้านการแต่งงาน แคเธอรีน เฮิร์ทลีน (Katherine Hertlein) ศาสตราจารย์ในโครงการบําบัดสําหรับคู่รักและครอบครัวที่มหาวิทยาลัยเนวาดา ลาสเวกัส เคยเขียนงานวิจัยเกี่ยวกับการตัดสินใจนอนแยกกันของคู่รัก ซึ่งเธอพบว่าลึกๆ แล้ว การแยกกันนอนอาจเป็นเพราะคู่ครองนั้นๆ หาข้ออ้างที่จะหลีกเลี่ยงการพูดถึงปัญหา และใช้วิธีนี้ในการไม่เผชิญหน้าเพื่อหนีจากชีวิตคู่ที่ไม่มีความสุข และท้ายที่สุดก็อาจจบลงด้วยการแยกทาง

และยังมีเรื่องแนวโน้มเรื่องของการครองคู่แบบไร้เพศสัมพันธ์ (sexless relationship) ที่เพิ่มสูงมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา มีงานวิจัยของ International Society for Sexual Medicine พบว่า สัดส่วนของคู่รักที่อยู่กันแบบไร้เพศสัมพันธ์ (คือน้อยกว่า 6 ครั้งใน 1 ปี) มีประมาณ ร้อยละ 33-40 การแยกเตียงนอนอาจยิ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวโน้มการครองคู่แบบไร้เพศสัมพันธ์นั้นสูงขึ้น

แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่าคู่ของคุณจะตัดสินใจอย่างไร เชื่อว่าการนอนเตียงเดียวกันหรือจะนอนแยกเตียงของแต่ละคู่ย่อมเป็นข้อตกลงที่ไม่แตกต่างจากการใช้ห้องน้ำ การช่วยกันจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในบ้าน งานบ้านที่ต้องดูแล หรือการดูแลสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวที่อยู่ร่วมชายคนเดียวกัน 

สำหรับผมจะรักหรือหมดรัก วัดไม่ได้แค่การนอนร่วมเตียงแน่ๆ  

แล้วคู่คุณล่ะ เป็นแบบไหน?  

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save