fbpx

‘คนกลุ่มน้อยนิดและชีวิตแห่งการต่อรอง’ คุยเรื่องราวของชาวคริสต์ในชายแดนใต้ กับ พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

ชาวคริสต์ในชายแดนใต้

“รัฐไทยมักพูดเสมอว่าเป็นรัฐที่ให้เสรีภาพกับทุกศาสนา แต่ในความเป็นจริงการดำรงอยู่ของทั้งชาวมุสลิมหรือแม้แต่ชาวคริสต์เป็นเรื่องที่ท้าทายมากในพุทธรัฐแห่งนี้ จนแม้แต่เสรีภาพในทางวิชาการหรือเสรีภาพของคนกลุ่มน้อยนิดนั้น ต้องถามว่ามันเคยมีอยู่จริงหรือ  และเสรีภาพที่ว่านั้นมีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงเพียงใด” – นี่คือเสียงสะท้อนของ พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ต่องานวิทยานิพนธ์ของเธอที่ถูกปกปิดนานถึง 6 ปี

‘คนกลุ่มน้อยนิด’ กับ ‘ชีวิตแห่งการต่อรอง’ ในบริบทความรุนแรงถึงตาย: กรณีศึกษาชาวคาทอลิกในปัตตานี เป็นวิทยานิพนธ์ของพัทธ์ธีราที่ศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวคริสต์ในพื้นที่ชายแดนใต้ ว่าพวกเขาเป็นใคร มาจากไหน และในพื้นที่อันมีความขัดแย้งหลากมิติอย่างชายแดนใต้ ชาวคริสต์ต้องต่อรองอย่างไรในฐานะ ‘คนกลุ่มน้อยนิด’ ท่ามกลางกระสุนปืนและเสียงระเบิด

‘ปัญหาชายแดนใต้’ นับเป็นปัญหาที่เรื้อรังภายในสังคมไทยนานเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมาและหลายคนมีภาพจำว่าหนึ่งในสาเหตุของปัญหามาจากความขัดแย้งทางศาสนา แต่คำว่า ‘ศาสนา’ ของหลายคนอาจหมายถึงเพียงศาสนาพุทธและอิสลาม อีกหนึ่งตัวละครสำคัญอย่าง ‘ชาวคริสต์’ ที่มีจำนวนน้อยมากในชายแดนใต้ กลับไม่ถูกรับรู้หรือทำความเข้าใจพวกเขาเลย

นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่ 101 จะชวนพัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ ในฐานะนักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องราวของคริสต์ในชายแดนใต้ และอีกบทบาทหนึ่งคือผู้จัดทำผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ Peace Survey ที่มีโอกาสลงพื้นที่และพูดคุยกับผู้คนอยู่บ่อยครั้ง มาเล่าถึงเรื่องราวของ ‘คนกลุ่มน้อยนิด’ และ ‘ชีวิตแห่งการต่อรอง’ ของชาวคริสต์ในชายแดนใต้

อ่านบทสนทนาทั้งหมดได้ในบรรทัดถัดจากนี้

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

ทำไมคุณถึงสนใจชาวคริสต์ในพื้นที่ชายแดนใต้

ก่อนหน้าการศึกษาชิ้นนี้ เรื่องราวของชาวคริสต์ในชายแดนใต้ไม่มีใครเคยศึกษาเลย อีกทั้งเราเองก็เป็นคนคริสต์ด้วย จนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 สมัยที่ยังเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนไปจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ‘ค่ายปิเหล็ง’ สื่อต่างประโคมข่าวเพียงว่าเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้ายซึ่งน่าจะเป็นคนมุสลิม แต่เรามองว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างที่อธิบายได้มากกว่านั้น คล้ายกับช่วงที่รัฐพยายามต่อสู้กับแนวคิดของคอมมิวนิสต์ที่ฝ่ายหนึ่งเป็นเหมือนพระเอก อีกฝ่ายเป็นผู้ร้าย โดยที่ไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงหรือเบื้องหลังแนวความคิดมากกว่านั้น เพราะท่ามกลางหมอกควันแห่งความรุนแรงในช่วงแรกไม่มีใครสามารถจะบอกอะไรได้ชัด แม้กระทั่งรัฐเองก็ยังตั้งตัวไม่ติด  ที่จริงก็มีคำกล่าวที่มักได้ยินกันเสมอว่า “ในสงครามความรุนแรง เหยื่อรายแรกที่ตาย คือ ความจริง”  ดังนั้น จึงไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือ ‘ความจริง’ และ ‘ข้อเท็จจริง’ ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ แต่ส่วนตัวเราเองรับรู้ด้วยความสงสัยและมีคำถาม ‘เอ๊ะ’ ว่า ทำไมผู้ร้ายต้องเป็นมุสลิม? และทำไมการรายงานข่าวบ่อยครั้งที่พูดถึงชาวมุสลิม

เราจึงอยากตามหาคำตอบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างศาสนาพุทธกับอิสลามตามคำบอกเล่าของสื่อกระแสหลักและรัฐไทยหรือไม่ เราจึงเริ่มลงพื้นที่และเริ่มเก็บข้อมูลจนพบว่าศาสนาเป็นเพียงเครื่องมือและข้ออ้างของเหตุการณ์ความรุนแรง แต่ศาสนาไม่ใช่ปัจจัยหลักของความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้

ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่อาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) เริ่มเก็บข้อมูลและเผยแพร่สถิติถึงเหยื่อที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ว่าเป็นใครบ้าง เราก็สะดุดกับเกณฑ์ในการแบ่งผู้คนว่าอาจจะไม่ครอบคลุม เช่น แบ่งเป็นข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ประชาชน ผู้นำศาสนาอิสลาม ไทยพุทธ และอื่นๆ ไม่ระบุ 

คำถามคือ ‘อื่นๆ ไม่ระบุ’ นั้นหมายถึงอะไร ทำไมถึงต้องแยกออกมา นั่นหมายความว่ามีคนบางกลุ่มที่อาจจะตกหล่นไปในการสำรวจหรือไม่ ประกอบกับข้อมูลที่ทราบจากวงในศาสนจักรคาทอลิกเองชี้ให้เห็นว่ามีชาวคาทอลิกกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการทำข้อมูลอย่างชัดเจน คำถามคือชาวคริสต์จะอยู่ในไม่ระบุหรือไม่ หรือแม้แต่ว่าไม่มีคนคริสต์อยู่ในนั้น แล้วชาวคริสต์เป็นใครในการรับรู้ของสังคมพื้นที่ชายแดนใต้ พวกเขามีวิถีชีวิตอย่างไร อยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่ลุกโชนอย่างไร และแตกต่างจากชาวคริสต์ในพื้นที่อื่นๆ บ้างไหม นี่จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่เราสนใจชาวคริสต์ในพื้นที่ชายแดนใต้

จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลของคุณพบว่าชาวคริสต์ในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นใครและมาจากไหน

จากงานศึกษาจึงสรุปได้ว่าชาวคริสต์ ณ ชายแดนใต้มีอยู่ 2 นิกายหลักคือ โปรแตสแตนท์ และ คาทอลิก กลุ่มที่ศึกษาเป็นคาทอลิก ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 คือ คนอีสานที่โยกย้ายตามนโยบายของรัฐไทยในช่วงปี 2500 ที่รัฐต้องการย้ายผู้คนจากพื้นที่อื่นๆ มาอาศัยในชายแดนใต้ เพื่อให้เป็นเหมือน buffer zone แทนรัฐ นโยบายดังกล่าวส่งผลให้ผู้คนจากภาคอื่นๆ ลงไปอาศัยในพื้นที่ชายแดนใต้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือภาคอีสานซึ่งมีชุมชนชาวคริสต์อยู่ และบางคนก็มาจากฝั่งประเทศลาว ประกอบกับภาคอีสานตอนนั้นก็ประสบปัญหาแห้งแล้งและที่ดิน ผู้คนแถบนั้นจึงถูกชวนให้มาตั้งรกรากที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยรัฐให้คำสัญญาว่าจะให้ที่ดิน อุปกรณ์ทำมาหากินกับพวกเขา

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มคนที่ตามมิชชันนารีสายอิตาลีภายใต้สังกัดของ ‘คณะซาเลเซียน’  ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีน้อยมากๆ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ย้ายไปอยู่และทำงานบุกเบิกสร้างชุมชนทางศาสนาในพื้นที่ชายแดนใต้

ต่อมาคือ กลุ่มชาวประมงที่อพยพมาจากภาคตะวันออกซึ่งเป็นชาวคริสต์เชื้อสายเวียดนามบ้าง จีนบ้าง เนื่องจากเริ่มทำประมงในพื้นที่ภาคตะวันออกแล้วไม่ได้ผลผลิตที่ดีเท่าไหร่ พวกเขาจึงย้ายมาประกอบธุรกิจประมงที่จังหวัดปัตตานี กลุ่มประมงนี้จึงเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากและมีฐานทางเศรษฐกิจพอควร

กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งไม่มีใครทราบได้ว่าย้ายมายังชายแดนใต้ได้อย่างไร หลายคนทราบเพียงว่าเกิดมาก็อยู่ในพื้นที่นี้ตั้งแต่เกิดแล้ว บ้างก็เล่าว่ามาจากฝั่งของประเทศมาเลเซีย กลุ่มดังกล่าวก็จะกระจายอยู่ตามพื้นที่อำเภอรือเสาะ เบตง และสุไหงโก-ลก

ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าคนคริสต์ในพื้นที่สามจังหวัดอาจจะไม่ได้มีความแตกต่างกันในเชิงพื้นที่ แต่เป็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวันมากกว่า นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมงานศึกษาชิ้นนี้จึงหยิบยืมวิธีวิทยาของมานุษยวิทยาที่ใช้ศึกษาผู้คน ชาติพันธุ์ และวิถีวัฒนธรรม มาใช้ศึกษาผ่านการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในภาคสนามและใช้ชีวิตร่วมกับพวกเขา อยู่ในบ้าน อยู่ในชุมชนร่วมกับพวกเขา ถ้าเราไม่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลเช่นนี้ เราจะไม่มีวันรู้ว่าคนคริสต์ที่อำเภอสุคิริน ปั้นข้าวเหนียว กินบักหุ่ง ฟังหมอลำ และทอผ้าไหม

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

ทำไมคุณถึงเรียกชาวคริสต์ในชายแดนใต้เป็น ‘คนกลุ่มน้อยนิด’

อันนี้เป็นคำถามในเชิงทฤษฎีทีเดียว   สถานะความเป็น ‘คนกลุ่มน้อยนิด’ ’ อธิบายได้จาก 2 มุม มุมหนึ่งเป็นเรื่องของการนิยามความเป็นพลเมืองและอีกมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องการนับพลเมืองของรัฐ ซึ่งเป็นกรอบความคิดสำคัญของรัฐที่มาพร้อมกับแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่ อีกทั้งต่อให้รัฐนับใครเป็นพลเมืองแล้วนั้น ก็ต้องตั้งคำถามอีกว่าแต่ละคนจะมีตำแหน่งแห่งที่ ตัวตน อำนาจ หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากับคนกลุ่มใหญ่ด้วยหรือไม่

เพราะเมื่อมาดูในพื้นที่ชายแดนใต้ต่อให้คุณจะมีจำนวนมากกว่าก็ตาม นั่นไม่ได้แปลว่าคุณจะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ ตราบใดที่โครงสร้างของรัฐยังนิยามคุณว่าเป็นคนกลุ่มน้อยอยู่ดี เพราะการนิยามความเป็นพลเมืองมันเกี่ยวพันกับฐานคิดเรื่องอำนาจในการนิยามที่ถูกยึดครองโดยรัฐไทยที่เป็นรัฐพุทธ

เรามักจะได้ยินสื่อใช้คำว่า ‘คนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม’’ ทั้งที่ในพื้นที่ชายแดนใต้ คนมุสลิมเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุด ทีนี้ มาถึงคนคริสต์ซึ่งมีจำนวนน้อยนิดกว่ามากเลย จำนวนคนที่นับถือศาสนาคริสต์ในพื้นที่ชายแดนใต้มีจำนวนไม่เท่าไหร่ รัฐยังจะนับพวกเขาอยู่หรือไม่ ก่อนหน้านี้คนที่ไม่นับถือศาสนาพุทธในรัฐไทยก็อาจจะไม่ได้ถูกนับเป็นพลเมืองของไทยเลยด้วยซ้ำไป หรือมีช่วงหนึ่ง ในสมัยอยุธยาที่สั่งห้ามไม่ให้คนสยามเปลี่ยนศาสนาไปนับถือศาสนาของพระมะฮัมหมัด (ศาสนาอิสลาม) หรือไปนับถือศาสนาของพวกถือไม้กางเขน (ศาสนาคริสต์)

ในงานศึกษาชิ้นนี้ของเรา มันก็สะท้อนให้เห็นว่าการถูกนับว่าเป็นคนกลุ่มน้อยแม้มีจำนวนประชากรในพื้นที่มากกว่า อย่างเช่น ชาวมุสลิม นั่นหมายความว่า การเป็นคนกลุ่มน้อยหรือคนกลุ่มใหญ่ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องจำนวนอย่างเดียว แต่มันมีมิติของกรอบคิดความเป็นรัฐนิยมและชาตินิยมเข้ามาประกอบด้วย 

สถานะการเป็นคนกลุ่มน้อยอาจจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีรัฐตัวปัญหานี่แหละ พอมีรัฐจึงมีการกำหนดนิยามคนกลุ่มใหญ่และคนกลุ่มน้อยขึ้นมา

การนับพลเมืองแบบรัฐไทยเช่นนี้มันส่งผลต่อปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนอย่างไร

มีงานศึกษาหลายชิ้นที่ถูกอ้างในเล่มวิทยานิพนธ์ด้วยว่า การนับพลเมืองของรัฐเป็นเรื่องสำคัญ เพราะตัวเลขที่รัฐไทยอ้างกับตัวเลขฝ่ายขบวนการอ้างไม่เท่ากัน ซึ่งตัวเลขของประชากรย่อมแปรเปลี่ยนเป็นงบประมาณที่ต้องจัดสรรลงพื้นที่

การนับพลเมืองเป็นการเมืองเรื่องตัวเลข รัฐไทยหรือแม้แต่รัฐในหลายประเทศต่างมีความพยายามจะนับประชากรและประกาศจำนวนประชากรออกมา เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วงชิงอำนาจและความได้เปรียบของรัฐ เช่น บางประเทศในช่วงสงครามหรือหลังสงครามจะไม่นับและแสดงจำนวนประชากรออกมาว่าประเทศเหลือประชากรจำนวนเท่าไหร่ และเป็นเพศอะไร เพราะมันย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐและความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง

ที่น่าสนใจ ในช่วงที่มีความรุนแรง การช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบในการนับจำนวนยิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะในเรื่องการข่มขวัญฝ่ายตรงข้าม เช่น การนับว่ามีฝ่ายตรงข้ามเสียหายเท่าไร หรือนับว่าตนเองมีกองกำลังเท่าไร ซึ่งแน่นอนต่างฝ่ายต่างนับและอ้างตัวเลขที่แตกต่างอันนี้เป็นการช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบในระหว่างการต่อสู้ และการประกอบสร้างการนับจำนวนตัวเลขของฝ่ายรัฐก็ยังมีผลผูกพันต่องบประมาณที่ต้องจัดสรรลงพื้นที่ด้วย เช่น การนับจำนวนตัวเลขฝ่ายความมั่นคงที่ทำงานในพื้นที่ก่อนปี 2547 ซึ่งมีจำนวนน้อย ดังนั้น งบประมาณในการจัดสรรลงไปในพื้นที่ก็น้อย แต่พอหลังเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น รัฐก็ทุ่มทั้งจำนวนคนทำงานในฝ่ายความมั่นคง กองกำลังทหาร เพิ่มอัตรากำลังหลายเท่าตัว ก็มีข้ออ้างความชอบธรรมในการจัดสรรงบประมาณที่ก็ต้องเพิ่มเป็นหลายเท่าตัว ก็อย่างที่ทราบกันว่ารัฐใช้งบประมาณไปในการที่เกี่ยวข้องกับการดับไฟใต้มากว่า 5 แสนล้านบาทไปแล้ว  ทีนี้  ในแง่ของการนับพลเมือง 

สมมติว่าในอนาคตมีจำนวนผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ คุณคิดว่ารัฐไทยจะนับและแสดงจำนวนประชากรหรือไม่ และหากนับพวกเขาจะใช้เกณฑ์อะไรในการนับจำนวนประชากร คุณคิดว่ารัฐจะยังใช้เกณฑ์ของการนับถือศาสนามานับและแบ่งกลุ่มของประชากรอยู่หรือไม่ ปัจจุบันผู้นับถือศาสนาพุทธจริง ๆ มีเท่าไรไม่ทราบได้ เพราะเราได้ยินกันว่าเป็นพุทธแค่ในบัตรประชาชน แต่รัฐไทยก็ยังแสดงร้อยละของประชากรพุทธอยู่ที่ประมาณ 93 – 94 เปอร์เซ็นต์อยู่


ในฐานะที่ชาวคริสต์มีจำนวนที่น้อยในพื้นที่ชายแดนใต้ จนคุณอธิบายว่าเป็น ‘คนกลุ่มน้อยนิด’ ที่ผ่านมาพวกเขามีการต่อรองในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไรในพื้นที่ชายแดนใต้

อาจกล่าวได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของศาสนาคริสต์ในพื้นที่ชายแดนใต้ถูกกระตุ้นให้ต้องปรับตัวอย่างมาก และเริ่มมีสัญญาณมาก่อนปี 2547 แล้วที่ชาวคริสต์ตกเป็นเป้าหมายตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11 แล้ว ในสหรัฐอเมริกา ข้อมูลจากคนที่เฝ้าโบสถ์ของคาทอลิกถูกลอบเผาก่อน เสากางเขนเหนือหลุมฝังศพถูกทุบ พวกเขาจึงรักษาอัตลักษณ์ผ่านการทำไม้กางเขนเป็นแนวนอนไปกับหลุมศพ นี่จึงเป็นวิธีการต่อรองของพวกเขาเพื่อรักษาอัตลักษณ์ความเป็นชาวคริสต์ให้อยู่ได้ในพื้นที่ บางพื้นที่สัญลักษณ์กางเขนที่ประตูโบสถ์เองก็ต้องอำพรางปกปิดไว้ไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะกลัวจะไม่ปลอดภัย

ภาพหลุมศพของชาวคาทอลิก
ภาพการปรับเปลี่ยนไม้กางเขนเป็นแนวนอนไปกับหลุมศพ

ช่วงก่อนหน้าเหตุการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ ชาวคริสต์ในพื้นที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนคริสต์นอกพื้นที่อย่างมาก เช่น ก่อนหน้านี้โบสถ์ทุกแห่งในพื้นที่ชายแดนใต้จะต้องมีการจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่ของโบสถ์ประจำปี ชาวคริสต์จากหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หรือแม้แต่ชาวคริสต์จากจังหวัดสุราษฎร์ธานีก็จะลงไปร่วมเฉลิมฉลองร่วมกัน แต่หลังจากปี 2547 ไม่มีใครกล้าลงไป คนที่อยู่ในพื้นที่ต่างขวัญเสียด้วย อยู่ก็แบบหวาดกลัว ไม่กล้าเปิดเผยตัวตน อยู่กันแบบเงียบ ๆ ไม่ทำตัวโดดเด่น และบางแห่ง แม้แต่โบสถ์ในพื้นที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสยังเคยโดนข่มขู่ว่าจะเผาโบสถ์ ทำให้โบสถ์ในพื้นที่อำเภอรือเสาะต้องพรางไม้กางเขนที่ประตูโบสถ์ด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อให้มันเลื้อยจนมองไม่เห็นว่าเป็นโบสถ์

พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะต้องต่อรอง เพื่อจะมีชีวิตอยู่รอดในพื้นที่นั้น เพราะหลายคนก็ยืนยันว่าพื้นที่ชายแดนใต้ก็คือ “บ้าน” ของพวกเขา และเป็นบ้านที่ก็หวังจะอยู่ทำมาหากินไปจนตาย เพราะมันคือ “บ้าน”

ขณะที่วิธีการต่อรองเพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ดูจะมืดมนอับจนก็มีหลายรูปแบบ ซึ่งการค้นพบวิธีการต่อรองของคนกลุ่มน้อยนิดก็มาจากการที่ได้ค้นหาว่าในพื้นที่อื่น ๆ เขาทำอย่างไรและก็พบว่างานของ Jeffry C. Goldfarb (2006) ที่เขียนหนังสือเรื่อง The Politics of Small Things: The power of the powerless in dark times แปลเป็นไทยก็ คือการเมืองของสิ่งเล็กๆ : อำนาจของคนไร้อำนาจในช่วงเวลามืดมิด ที่ทำให้เห็นว่าพลังและพื้นที่ของคนกลุ่มน้อยนิดในการต่อรองนั้นพอมีอยู่ หากจะอธิบายถึงพื้นที่การต่อรองของพวกเขาอย่าง ‘พื้นที่โรงเรียนคาทอลิก’ โรงเรียนไม่ได้ปิดกั้นให้นักเรียนที่นับถือศาสนาอื่นๆ เข้ามาเรียน ทำให้นักเรียนในโรงเรียนเป็นชาวคริสต์เพียงไม่กี่คน ที่เหลือก็จะเป็นพุทธ อิสลาม โดยโรงเรียนคาทอลิกก็ใช้พื้นที่นี้ในการต่อรองเพื่อให้พวกเขาอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ โดยเน้นไปยังการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพราะไม่ว่าจะเป็นคนพุทธหรืออิสลามย่อมอยากให้ลูกหลานของพวกเขามีการศึกษาที่ดีและได้รับการดูแลอย่างดี

แต่กระนั้น พื้นที่และพลังในการต่อรองก็ถูกท้าทายเสมอ เช่น เมื่อมีนักเรียนมุสลิมมากขึ้น มีกระแสการฟื้นฟูวิถีอิสลามเพิ่มขึ้นในสังคมชายแดนใต้ ก็มีกระแสการเรียกร้องไม่ให้โรงเรียนขายและนำเนื้อหมูมาประกอบอาหารกลางวัน เพราะเป็นสิ่งต้องห้ามตามศาสนาอิสลาม คำถามคือโรงเรียนคาทอลิกจะต่อรองอย่างไรในเมื่อมีนักเรียนคริสต์เพียงไม่กี่คน อำนาจในการต่อรองของชาวคริสต์มีเยอะเพียงใด เหตุการณ์ครั้งนั้นโรงเรียนจึงตัดสินใจปรับตัวโดยการถอดเมนูที่เป็นหมูออก เพื่อให้นักเรียนทุกคนและผู้ปกครองทุกท่านสบายใจ

หรืออีกกรณีหนึ่งที่ท้าทายต่อพลังในการต่อรองของชาวคริสต์อีก คือ ‘การขอคลุมฮิญาบในพื้นที่โรงเรียน’ ซึ่งในโรงเรียนของคริสต์มีเพียงซิสเตอร์ท่านเดียวเท่านั้นที่คลุมได้ ก็มีการมาขอต่อรองกับโรงเรียนเป็นระยะ ๆ จึงต่อรองอยู่หลายปี ท้ายที่สุด โรงเรียนจึงออกกฎระเบียบว่านักเรียนทุกคนที่เข้ามาเรียนที่นี่จะต้องปฏิบัติตามกฎของโรงเรียนและอัตลักษณ์คาทอลิก คือ ในโรงเรียนคาทอลิกผู้ที่คลุมผมได้คือซิสเตอร์คลุมผม หรือการมีไม้กางเขนในโรงเรียน แต่โรงเรียนก็ย้ำไปว่าอะไรบ้างที่เป็นฮะรอม (ต้องห้าม) แก่บุตรหลานของพวกเขา ทั้งหมดจึงเป็นการต่อรองและพูดคุยกันระหว่างครูศาสนาคริสต์และผู้ปกครองศาสนาอื่นๆ ต่างคนต่างรับได้ ดังนั้นครูที่นับถืออิสลามเข้ามาสอนโรงเรียนคริสต์ก็จะไม่คลุมผม

ทั้งหมดนี้ ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ได้เปลี่ยนหน้าตาของวิถีชีวิตและพิธีกรรมศาสนาคริสต์ไปอย่างยิ่ง ปรับทั้งรูปแบบในการปฏิบัติ และปรับความถี่เลยด้วยซ้ำ เช่น เดิมเทศกาลคริสต์มาสที่คนไทยทั่วไปรู้จักคือการเฉลิมฉลองในตอนกลางคืนมีการประดับประดาไฟ แต่ของชาวคริสต์ที่นั่นก็ประดับไฟได้แต่ต้องเปลี่ยนมาจัดตอนบ่ายและเลิกก่อนมืด เคยมีการเดินร้องเพลงอวยพรคริสต์มาสตามบ้านในช่วงหัวค่ำซึ่งเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ชอบมากเพราะไปแต่ละบ้านก็จะได้ของขวัญได้ขนมได้สตางค์กลับมาด้วยก็ทำไม่ได้ บรรยากาศก็หายไป การร่วมพิธีมิสซาขอบพระคุณของชาวคริสต์ที่ปกติจะทำกันทุกวันอาทิตย์หลายครั้งก็ไม่สามารถทำได้ เพราะมีเหตุการณ์ ทำให้เดินทางไม่สะดวก ก็ต้องคอยเฝ้าระวัง ดังนั้น ก็ต้องปรับเปลี่ยนเวลาและความถี่ในการร่วมพิธีมิสซาจากอาทิตย์ละครั้งเป็นสองอาทิตย์ครั้งและเป็นวันเสาร์ ไม่ใช่วันอาทิตย์แบบที่ผ่านมา เป็นต้น

เราจึงมองว่าสาเหตุของปัญหาชายแดนใต้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความขัดแย้งทางศาสนาจริง แต่เป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายรากของความขัดแย้ง ยังมีมิติประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้พัวพันกัน รวมถึงการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ในพื้นที่พวกเขาก็ต่อสู้หนักเหมือนกัน


วิทยานิพนธ์นี้ถูกปกปิดมา 6 ปี ตั้งแต่วันนั้นจวบจนวันนี้ ชาวคริสต์ในพื้นที่ชายแดนใต้เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ชาวคริสต์ในชายแดนใต้เปลี่ยนไปอย่างมาก ก่อนหน้านี้เราเคยเรียกพวกเขาว่า ‘คนที่ไม่ถูกนับในพุทธรัฐ’ นี้ และในบางทีพวกเขาเองก็ไม่ได้อยากให้นับด้วย เพราะคนคริสต์ในชายแดนใต้เองก็กลัว ทุกคนต้องอย่าลืมว่าพวกเขาเคยมีประวัติศาสตร์บาดแผลที่ถูกรัฐไทยเบียดเบียน หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ ‘มรณสักขีแห่งสองคอน’ เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ชาวคริสต์รับรู้ว่า รัฐไทยมองว่าชาวคริสต์คือคนอื่น แต่ที่ผ่านมา เวลาพวกเขาพูดถึงเหตุการณ์นี้ก็จะไม่ไปแตะว่าพุทธรัฐเบียดเบียนพวกเขาอย่างไร แต่จะพูดในเชิงมิติความศรัทธาในโลกศาสนาแทน และส่งผลมาถึงกรณีที่โบสถ์ถูกลอบเผา กางเขนถูกทุบด้วยที่ชาวคริสต์ก็พยายามจะไม่พูดถึง ไม่ไปพยายามให้รัฐค้นหาว่าใครเป็นคนกระทำ เพราะไม่แน่ใจ อีกทั้งด้วยบริบทชายแดนใต้เองที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง และการควบคุมโดยกฎหมายความมั่นคงหลายฉบับ ก็ยิ่งทำให้พวกเขาต้องเงียบมากขึ้นเพื่อให้ปลอดภัย

ทว่า เมื่อพูดถึงความเป็นอยู่และจำนวนชาวคริสต์ หลายปีที่ความรุนแรงพาดผ่าน ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพด้วย และหลังรัฐประหาร 2557 ก็ส่งผลกระทบเพิ่ม และยิ่งธุรกิจประมงไทยถูกสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองจากกรณีพบว่าไทยทำประมงผิดกฎหมาย (IUU fishing) เหตุที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองกับประเทศไทยก็เพราะเห็นว่า หน่วยราชการประมงของไทย “ไม่มีศักยภาพ” ในการจัดการประมงของประเทศให้เกิดความยั่งยืน ตามหลักการของอนุสัญญากฎหมายทะเลฯ ประเทศไทยมีกฎหมายที่ล้าสมัย ไม่ตอบสนองต่อการจัดการการประมงแบบ IUU เป็นต้น  ก็ส่งผลกระทบต่อชาวประมง ชาวคริสต์ที่เป็นชาวประมงก็ได้รับผลกระทบไปด้วย หลายครอบครัวก็ต้องขายเรือที่ต้องขาย บางคนแม้บ้านก็ต้องขาย และรถที่ต้องขาย หลายคนก็ย้ายออก มาถึงจุดนี้ก็ทำให้ชาวคริสต์ในชายแดนใต้ก็อยากให้นับมากขึ้น เพราะเดือดร้อน เมื่อจำนวนน้อยลง การดำรงอยู่ในแบบชุมชนคริสต์ก็ลำบาก บรรยากาศแห่งการเป็นชุมชนทางศาสนาก็เงียบเหงาลงไปมาก ทำให้ทุกวันนี้เป็นเหมือนสภาวะที่ต้องกล้ำกลืน ด้านหนึ่งก็อยากให้ถูกนับ แต่ก็พูดได้อย่างไม่เต็มปาก เสียงพวกเขามันน้อยนิดมากๆ จนไม่ดังพอจะต่อรองกับรัฐไทยได้


ในงานศึกษาชิ้นนี้มีช่วงหนึ่งเล่าถึงพระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547  ณ จังหวัดนราธิวาส โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งพูดถึงการย้ายออกของราษฎรในพื้นที่ การอยู่ร่วมกันระหว่าง ‘ไทยพุทธ’ และ ‘ไทยมุสลิม’ และการครอบครองอาวุธ เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อสถานการณ์อย่างไร

ในช่วงเวลานั้นก็มีหลายคนที่ตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่คนที่ถืออาวุธหรือไม่ อีกทั้งอาจจะส่งผลให้อาวุธถูกกระจายไปยังประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ถูกฝึกมาให้ใช้หรือครอบครองอาวุธ มองในแง่หนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่านับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนกับประชาชนโดยเฉพาะประชาชนที่นับถือต่างศาสนา และอาจจะมีอคติและความหวาดระแวงหรือความเกลียดชังกันสามารถที่จะลุกขึ้นมาทำร้ายกันเอง อีกทั้งในช่วงเวลานั้นที่เป็นช่วงเวลาที่ความรุนแรงเพิ่งปะทุขึ้นใหม่ และรัฐยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ คนในพื้นที่ยังโกรธและกลัวอยู่มาก พอเกิดอะไรขึ้นมา ทั้งสื่อเองก็อย่างที่บอกว่านำเสนอให้คนนอกเข้าใจว่า อิสลาม/มุสลิมเป็นคนร้าย ยิ่งเป็นสภาวะที่อันตราย เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ง่าย เพราะเมื่อคนมีอาวุธมักจะทำให้การตัดสินใจควบคุมจิตใจน้อยลงและมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น

ตอนที่เราไปลงพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อไปเป็นครูอาสาสมัคร ก็มีคนมาถามเราเหมือนกันว่า ครูจะเอาปืนไหม? ผ่อนเอา ราคาปืนที่นั่นถูกมาก ตอนนั้นเราก็ตอบเขาไปว่า ขอโทษนะคะ เราไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อถือปืนและไม่รู้จะเอาไปทำอะไร

นอกจากเรื่องการครอบครองอาวุธ และการจัดหาอาวุธปืนในช่วงนั้นที่หาได้ง่ายมากกว่าในสภาวะปกติทั่วไป ยังมีนโยบายของภาครัฐที่ให้ทหารไปบวชเป็นพระเพื่อไปประจำตามวัดพุทธในพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีภาวะการขาดแคลนพระภิกษุสงฆ์ ภายใต้การถวายเป็นพระราชกุศลฯ ในช่วงนั้นก็ส่งผลให้หลังจากนั้น หากเราสังเกตก็จะพบว่ามีความรุนแรงก็ไปเกิดที่พระและวัดพุทธมากขึ้น ซึ่งก็ต้องย้อนไปอีกด้วยว่าที่มาของแนวนโยบายหรือมาตรการแบบนี้ก็อาจจะมาจากเหตุที่ วันที่ 22 มกราคม 2547 ที่มีคนร้ายบุกไปทำร้ายพระในวัดจนมรณภาพ  และชุมชนคนพุทธถูกโจมตีหลายแห่งด้วยซึ่งน่าจะมาจากการมองอย่างไม่แยกว่าชาวพุทธกับรัฐไทยไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่นั่นเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองเรื่องสถานะความเป็นรัฐของไทยที่เป็นรัฐที่วางอยู่บนฐานพุทธศาสนาเสียมากและในอดีตก็เคยมีเหตุการณ์ที่คนในพื้นที่เองก็ยังจดจำถึงการเป็นรัฐพุทธที่นำนโยบายซึ่งไม่เป็นมิตรต่อวิถีชีวิตตามศรัทธาของมุสลิมลงไปบังคับใช้ด้วย เช่น นโยบายรัฐนิยม ที่ไม่ให้มุสลิมแต่งกายตามแบบอย่างของมุสลิม

ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์ความรุนแรง มีการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการหลายอย่างเพื่อหวังจะแก้ปัญหาและเป็นแบบตะลุมบอน คือ ยังไม่ทันจะทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริง ยังไม่ทราบว่าใครเป็นใครอย่างแน่ชัด แต่ทุกนโยบาย ทุกมาตรการก็ประดังเข้ามาดูเหมือนไร้ทิศทาง ซึ่งก็ตอบไปไกลกว่าที่เขียนในวิทยานิพนธ์ด้วยว่าการเข้ามาของนโยบายเหล่านี้ทำให้พื้นที่การตรวจสอบนโยบายเกิดขึ้นได้ยากมาก และยิ่งอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงหลายฉบับ ก็ยิ่งทำให้บรรยากาศในพื้นที่อึมครึมมากขึ้นและไม่มีใครสามารถตั้งคำถามเชิงนโยบายได้เลย และสถานการณ์ก็มีการย้ายออกจากพื้นที่ของคนไทยพุทธจริงเพราะถูกบุกโจมตี หลายพื้นที่ก็ทำให้มองไปแล้วเห็นแนวโน้มว่าการอยู่ร่วมกันระหว่างคนไทยพุทธและคนมุสลิมในพื้นที่น่าจะเป็นลำบาก ความห่วงกังวลต่อความเป็นอยู่ของพสกนิกรก็คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก 


ในสังคมที่สถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น สถาบันกษัตริย์มีผลอย่างไรต่อนโยบายในชายแดนใต้

ในวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ เราเคยวิเคราะห์ไว้ว่า รัฐไทยที่ประกอบด้วยสถาบันหลักที่ผูกติดกันอย่างแนบแน่นอย่าง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ กล่าวคือทั้งรัฐไทยและสถาบันกษัตริย์ของไทยต่างเป็นพุทธ และเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นไทยไปแล้ว หากไม่ใช่พุทธ จะนับเป็นคนไทยหรือไม่ อย่างเช่นคนคริสต์ หรือ คนมุสลิม หรือคนที่นับถือศาสนาอื่น ๆ เราจึงตั้งคำถามต่อไปว่าแล้วศาสนาคริสต์ ชาวคริสต์จะจัดตัวเองในพุทธรัฐนี้อย่างไร คำตอบคือทั้งความเป็นคริสต์ หรือแม้แต่มุสลิมก็ง่ายต่อการถูกทำให้กลายเป็นอื่น และความเป็นอื่นเหล่านี้ที่ทำให้รัฐไทย (หมายถึงสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์) อาจมองว่าจะเป็นเงื่อนไขในการบั่นทอนความมั่นคง

ทีนี้ พอศาสนาคริสต์เข้ามา มันส่งผลให้ขาข้างใดข้างหนึ่งของรัฐเสียหาย ยิ่งคนพุทธเขาก็จะกลัวมากเลย และเมื่อใดที่ศาสนาคริสต์หรืออิสลามมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ ก็ยิ่งทำให้รัฐพุทธไม่ไว้วางใจทั้งสองศาสนานี้

เหตุผลที่ทั้งสองศาสนาต้องเข้าไปใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ เพราะมันเป็นหนึ่งในวิธีทีทำให้ศาสนาอยู่รอดในรัฐเช่นนี้ในฐานะคนกลุ่มน้อยนิด เพราะพวกเขารู้ดีว่าการอยู่ในรัฐนี้และมีความสัมพันธ์อันดีต่อสถาบันจะทำให้มีโอกาสอยู่รอดปลอดภัยมากกว่าการอยู่ห่างๆ หรือแม้แต่อยู่ตรงข้าม ดังนั้นเวลาคุณลงไปพูดกับชาวคริสต์ในชายแดนใต้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นรอยัลลิสต์ เพราะพวกเขาเชื่อว่าตนเองอยู่รอดในรัฐได้มาถึงทุกวันนี้ก็เป็นเพราะสถาบันกษัตริย์ของประเทศไทย

แต่อันนี้ก็ตั้งข้อสังเกตไปไกลจากวิทยานิพนธ์ว่า หากมองในภาพกว้างในระดับประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นพุทธ การรับรู้ และมุมมองที่มีต่อคนนับถือศาสนาอื่น ๆ ที่มิใช่พุทธเป็นอย่างไร และยิ่งในพื้นที่ที่มีความรุนแรงที่มีการต่อสู้กันในเชิงอัตลักษณ์ทางศาสนา ชาติพันธุ์ และการเมืองด้วย มุมมองและการรับรู้จะเป็นอย่างไร จะสามารถแยกแยะได้ไหมในเมื่อรัฐไทยเองก็ประโคมความเป็นไทยในแบบที่มีศาสนาเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์


นอกจากบทบาทของนักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องราวของชาวคริสต์ในชายแดนใต้ อีกฐานะหนึ่งของคุณคือ หนึ่งในนักวิชาการผู้จัดทำผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ  Peace Survey ตลอด 7 ครั้งที่ผ่านมาของการสำรวจ คุณเห็นแนวโน้มของความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่อย่างไรบ้าง

การสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ  Peace Survey ตลอด 7 ครั้งที่ผ่านมา คนในพื้นที่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นและอยากมีส่วนร่วมในการตอบคำถามมากยิ่งขึ้น และหากพิจารณาจากผลแต่ละครั้งซึ่งคนกลุ่มใหญ่ที่ตอบก็เป็นมุสลิมหากพิจารณาจากการตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่จริง ๆ ก็มีความชอบธรรมที่ควรจะรับฟังอยู่

Peace Survey ทำให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนมากขึ้น ส่งผลให้พวกเขากล้าพูดในประเด็นเปราะบาง กล้าแสดงความต้องการของตัวเองมากขึ้น แต่แนวโน้มดังกล่าวเป็นแนวโน้มของชาวไทยมุสลิมเป็นหลัก คนพุทธและคริสต์ในพื้นที่ยังเงียบมาก เพราะส่วนหนึ่งในเชิงสถิติก็เพราะจำนวนมีน้อยกว่า ทีนี้เมื่อจำนวนมีน้อยกว่า เสียงก็ดังน้อย ก็เป็นความท้าทายของรัฐว่าจะมองเห็นคนกลุ่มน้อยหรือไม่ อย่างไร และเห็นแบบใด จะใช้สายตาแบบเดิมที่รัฐเคยมองคนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมหรือไม่อย่างไร จะมองเห็น นับ และได้ยินเสียงของพลเมืองอย่างไร อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อคำถามและผลลัพธ์จากการสำรวจแต่ละครั้งก็จะพบความต้องการของประชาชนทุกกลุ่มศาสนาและชาติพันธุ์ดังนั้น ความท้าทายของการแก้ปัญหาในชายแดนใต้หลักๆ จึงอยู่ที่ ‘ความจริงใจ หรือ ความใส่ใจในการแก้ปัญหาของรัฐไทย’ แล้ว

ที่ผ่านมารัฐไทยเองก็ใช้ศาสนาคริสต์เป็นเหมือนคนกลาง เห็นได้จากเวลาที่รัฐต้องการจัดเสวนาระหว่างศาสนา เขาก็จะเชิญตัวแทนคริสต์ไปพูด เพราะฉะนั้นศาสนาคริสต์จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการแก้ไขปัญหาในชายแดนใต้ เช่น มีครั้งหนึ่งที่ชายแดนใต้มีการจัดงานเฉลิมฉลองคริสต์มาสเพื่อสร้างภาพว่าสถานการณ์ในชายแดนยังสงบอยู่ ผู้คนต่างศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ กล่าวคือรัฐไทยพยายามใช้ศาสนาเพื่อเปลี่ยนเรื่องเล่ากระแสหลักให้ความขัดแย้งออกไปจากประเด็นศาสนา ทั้งๆ ที่ยังมีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเสียงปืนหรือเสียงระเบิดเต็มไปหมดก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าหากวันนี้อยากให้คริสต์เป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจริงๆ ศาสนาคริสต์อาจจะแก้ปัญหาได้เพียงความขัดแย้งทางศาสนา แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้


ก่อนหน้านี้ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ BRN ตัดสินใจพักการเจรจากับตัวแทนของไทยไป โดยจะรอจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ ในวันนี้ที่เรามีรัฐบาลใหม่แล้ว และหากการพูดคุยสันติภาพกลับมาอีกครั้ง คุณมองว่าบรรยากาศและความรู้สึกของผู้คนในชายแดนใต้จะมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่

ในความจริงแล้วถ้าเราตามข่าวสารการพูดคุย หลายครั้งเราจะพบว่าฝ่ายขบวนการเองเขาก็ไม่ได้เชื่อใจรัฐไทยเลย เขามักจะบอกว่าถ้ารัฐไทยจริงใจการพูดคุยเจรจาสามารถตกลงกันได้ตั้งแต่ปีแรกๆ แล้ว แต่ว่าที่ผ่านมารัฐไทยไม่จริงใจในการพูดคุยและแก้ไขปัญหาในชายแดนใต้อย่างแท้จริง นี่เป็นสุ้มเสียงที่แม้แต่ประชาชนในพื้นที่ตอนที่เดินสำรวจ peace survey ก็ได้ยินจากประชาชนทั่วไปเหมือนกัน 

แม้วันนี้จะมีรัฐบาลใหม่แล้วก็ตาม ก็ไม่ได้การันตีว่าบรรยากาศในพื้นที่ชายแดนใต้จะดีขึ้นหรอก คุณคิดหรือว่าฝ่ายขบวนการจะไม่รู้ว่าเราเลือกตั้งกันอย่างไรจนได้รัฐบาลผสมหน้าตาเช่นนี้ ยิ่งในการแถลงนโยบายไม่มีเรื่องการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้อยู่ในนั้นด้วย ซึ่งหากไปดูผล peace survey และตามข้อเรียกร้องของคนในพื้นที่ที่ต้องการให้บรรจุการแก้ปัญหาชายแดนใต้ให้เป็นวาระแห่งชาติด้วยก็ยิ่งไม่ค่อยเห็นทิศทางความหวัง ไม่อยากบอกว่าไปประชุมที่ต่างประเทศซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง เราเองยังถูกถามเลยว่าทำไมผู้ชนะการเลือกตั้งอันดับหนึ่งไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ต่างชาติเขาก็ติดตามการเมืองบ้านเรา และหลายคนก็วิเคราะห์การแก้ปัญหาชายแดนใต้ ส่วนตัวเองมองเห็นความไม่ชัดเจนของรัฐบาล เราจึงมองว่าการพูดคุยเจรจาและการแก้ไขปัญหาในชายแดนใต้ก็จะอยู่ใน ‘สภาวะเลี้ยงไข้’ เช่นนี้ต่อไป

ตั้งแต่วันแถลงนโยบายของรัฐบาล ทำไมไม่มีประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาชายแดนใต้อยู่ในนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการไม่บรรจุลงไปในนโยบายหลักเช่นนี้ย่อมสะท้อนว่าคุณมองปัญหาและให้ความสำคัญกับชายแดนใต้อย่างไร คุณมองความเป็นความตายของผู้คนที่นั่นอย่างไร ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของผู้คน ทรัพยากรที่ทุ่มไปมากกว่า 5 แสนล้าน ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในพื้นที่ หรือแม้แต่ฝ่ายขบวนการเองก็เรียกร้องมาตลอดว่าให้นำกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เป็นนโยบายหลักของประเทศนี้

การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลเท่ากับว่าคุณกำลังปฏิเสธเสียงเรียกร้องของคนชายแดนใต้กว่าสองล้านคนที่เห็นด้วยกับข้อเสนออันนี้หรือไม่ มันไม่มีความชัดเจนใดๆ แม้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ก็เถอะ แต่นั่นละ 19 ปีที่ผ่านมา การเยียวยา การค้นหาความจริงต่อเหตุการณ์ความรุนแรง การนำคนผิดมาลงโทษยังไม่เกิด คดีตากใบกำลังจะหมดอายุในปี 2567 พวกเขาที่เป็นเหยื่อยังเรียกร้องต้องการความยุติธรรม และรัฐพึงมีหน้าที่ในการอำนวยให้เกิด  แต่มันเป็นเหมือนเสียงร้องที่เงียบงัน เป็นเสียงเงียบที่แสบแก้วหูและเต็มไปด้วยชีวิตของผู้คนที่นั่น บางครอบครัวสูญเสีย อาแบ (ภาษามลายู แปลว่า พี่) จากการถูกอาวุธปืนยิง หรือสูญเสียงอาเยาะ (ภาษามลายู แปลว่า พ่อ) จากการถูกอุ้มหาย การไม่มีอยู่ในนโยบายหลักของรัฐบาล ก็ชวนให้ตั้งข้อสงสัยถึงความเอาจริงเอาจัง การจัดวางความสำคัญของปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เมื่อเต็มไปด้วยความสงสัยก็คงยังหวังอะไรไม่ได้มาก 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save