fbpx

ขอต้อนรับสู่ห้อง 1026 เปิดประตูดูงานศิลปะที่จะพาไปมองกัมพูชา เวียดนาม และเบอร์ลิน

รถเข็นอาหารตามทางเดิน เสียงพูดคุยจอแจของผู้คน ภาษาที่ไม่คุ้นหูกลายเป็นเรื่องปกติของความหลากหลายเชื้อชาติในย่านนี้ ย่านที่คนเรียกชื่อตามซอยว่า รางน้ำ หนึ่งในฮับที่ต้อนรับให้คนต่างถิ่น-ทั้งคนต่างภูมิภาคและคนต่างชาติ-เข้ามาพักแบบระยะยาวและชั่วครั้งชั่วคราว ก่อนเดินทางไปต่อ

สำหรับอรวรรณ อรุณรักษ์ ศิลปินวัย 38 ปี เธอมีความทรงจำกับซอยรางน้ำมากกว่าการเป็นพื้นที่ให้แขกผู้มาเยี่ยมเยียนกรุงเทพฯ ได้พักอาศัย เพราะร้านรวงตามทางเดิน การมองสิ่งละอันพันละน้อยบนถนนนี้ และการได้ยินภาษาที่คนอื่นอาจไม่คุ้นหู แต่เธอคุ้นเคยดี ทำให้เธอประกอบร่างความทรงจำซอยรางน้ำใหม่

“เราได้ยินเสียงคนเวียดนามคุยกัน คนกัมพูชาเดินแถวนี้ เสียงคนพม่า วันก่อนเจอคนฝรั่งเศสทะเลาะกันด้วย ตอนลงไปว่ายน้ำก็เจอยาสระผมเยอรมัน ด้านล่างตึกนี้มีอาหารเวียดนามอีก เรารู้สึกว่าที่นี่เหมือนเบอร์ลิน” ประสบการณ์ที่ได้ใช้ชีวิตในเมืองหลวงของเยอรมนี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่รวมผู้คนหลากหลายชาติ บอกกับเธอเช่นนั้น 

“แต่บางคนก็บอกว่า ไม่ จริงๆ ที่นี่เหมือนฝรั่งเศสมากกว่า” อรวรรณหัวเราะให้กับความเห็นต่างที่เธอรับฟัง จะว่าไป ประสบการณ์และความทรงจำที่ต่างกัน ย่อมทำให้เราล้วนมีความรู้สึกต่อสถานที่นั้นต่างกัน

อรวรรณจึงไม่ได้อยากยัดเยียดให้ซอยรางน้ำเป็นเบอร์ลินเมืองไทย เพียงแต่เธออยากใช้ความรู้สึกนี้บอกเล่าถึงผลงานศิลปะที่เธอได้ทำขึ้นจากการไปเป็นศิลปินพำนักในเมืองต่างๆ ทั้งกัมพูชา เวียดนาม ไปจนถึงเยอรมนี และนี่คือเหตุผลที่เธอเลือกเปิดห้อง 1026 บนอาคาร V.P.Tower ในซอยรางน้ำ โดยติดตั้งชิ้นงานที่ทำอย่างต่อเนื่องตลอดเกือบ 10 ปีในพื้นที่ 100 ตารางวาของห้องเช่า และอรวรรณเรียกกิจกรรมนี้ว่า open studio 

open studio คือการเปิดประตูต้อนรับให้ผู้ชมเข้ามาสำรวจงานศิลปะและสนทนากับเจ้าของผลงาน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน พูดอย่างนี้แล้ว ไม่จำเป็นว่าคนชมต้องมีความรู้ก่อนถึงเข้าไปคุยได้ และไม่ต้องห่วงว่าพื้นที่แห่งนี้จะต้อนรับแค่คนในแวดวงศิลปะ ‘ใครๆ’ ก็สามารถเข้าไปเปิดบทสนทนากับศิลปินได้ เพราะจุดหมายของพวกเขาคือการ ‘แลกเปลี่ยน’ เพื่อศิลปินจะเอากลับมาคิดคำนึงกับงานต่อไป 

การแลกเปลี่ยนเป็นสารตั้งต้นที่อรวรรณใช้พัฒนางานมาโดยตลอด ทุกครั้งที่เธอไปเป็นศิลปินพำนักก็จะใช้บทสนทนาทำความเข้าใจวิถีชีวิตคนในเมืองนั้นๆ จากนั้นก็ผลิตออกมาเป็นงานศิลปะหลากรูปแบบ แล้วเอากลับไปให้เจ้าของบทสนทนาหรือคนในพื้นที่พูดคุยด้วย 

ฟังเพียงขั้นตอนการทำงานแล้วอาจดูเข้าใจง่าย แต่การพูดคุยกับคนแปลกหน้าเพื่อให้เปิดใจเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟังเป็นอีกเรื่องที่ต้องใช้จังหวะของความไว้วางใจ เช่นเดียวกันกับการพัฒนางานของศิลปิน ในพื้นที่ห้องเช่าของอพาร์ตเมนต์แห่งนี้ อรวรรณจึงเปิดใจทั้งหมดให้คนได้มาพูดคุย วิจารณ์ สนทนาสิ่งที่เธอได้พบ และแลกเปลี่ยนความรู้สึกแบบ ‘เบอร์ลิน’

แต่ถ้าใครไม่ได้รู้สึกถึงเบอร์ลินแบบศิลปิน ก็ไม่ว่ากัน

อาคาร V.P.tower เป็นตึกสูงสีขาว หลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อ แต่ถ้าบอกว่าด้านล่างตึกมีร้านอาหารเวียดนามชื่อ ‘มาดามออง’ หลายคนอาจคุ้นเคย เมื่อเราเดินเข้าด้านในตึก เจอรูปพระแม่มารีย์ตั้งอยู่ตรงกลาง ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังห้อง 1026 ที่นัดหมาย 

บรรยากาศในห้องขนาด 100 ตารางวาตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์สีไม้แบบคลาสสิกของอพาร์ตเมนต์ ห้องถูกแบ่งเป็นสามส่วน ห้องนอนสองห้องมีงานศิลปะวางอยู่ทั่วทุกมุม ทางเดินหน้าห้องนอนที่จะนำไปสู่ห้องนั่งเล่นปะติดด้วยภาพวาดบนจานรองอาหาร ส่วนห้องนั่งเล่นประกอบด้วยงานศิลปะของอรวรรณวางบนชั้นทีวีและโต๊ะเครื่องแป้ง ทุกอย่างติดตั้งไว้อย่างกลมกลืน ราวกับว่ามันถูกคิดมาเพื่อตกแต่งห้องนี้อยู่แล้ว

“เราเริ่มดูงานกันเลยไหม” อรวรรณเชิญชวน เราเดินตามเธอไปยังห้องนอนห้องแรก เธอเปิดตู้เสื้อผ้าออกมาให้ดูภาพฮีโร่ชุดชมพู

“ขอเล่าด้วยงานแรก ค้นบ้านเจองานตอนเรียนวิจิตรศิลป์ ตอนปี 1-4 เขาให้เอาเรื่องของตัวเองมาทำงานศิลปะ แต่ฉันไม่มีเรื่องอะไรให้เล่า วันๆ ก็ ตื่น กิน นอนไปเรียน จะไปบังคับตัวเองเศร้าก็ไม่ได้ วันหนึ่งจดโน้ตในกระดาษว่าเราเป็นอะไรได้บ้าง ฉันมีนม มีสีชมพู เป็นผู้หญิง แล้วสุดท้ายก็ลงเอยมาทำเป็นงานซูเปอร์ฮีโร่”

เธอโชว์ภาพตัวเองใส่ชุดสีชมพูแบบฮีโร่เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วให้ดู  “แล้วปกติเราไม่ได้เป็นคนดูซูเปอร์ฮีโร่ด้วยนะ” เจ้าของงานสร้างเสียงหัวเราะให้กับเพื่อนร่วมวงสนทนา

งานนี้ชื่อว่า Supernoyz (2007) โดยอรวรรณออกเดินทางไปร่วมกู้สถานการณ์ในสถานที่ต่างๆ หรือคอยช่วยเหลือแม่เข็นรถอาหารในหัวลำโพง แล้วให้เพื่อนอัดวิดีโอถ่ายไว้ โดยไม่มีเส้นเรื่อง ไม่มีการเรียงลำดับ เธอปล่อยให้ตัวเองลื่นไหลไปกับสถานการณ์ จนสุดท้ายได้เซอร์ไพรส์มีตัวละครที่เจอระหว่างถ่ายร่วมเล่นเป็นซูเปอร์แมนกับเธอ

“เราทำงานนี้แบบไม่มีความรู้อะไรเลย ไม่เข้าห้องสมุด ไม่รู้ทฤษฎีหรือแนวคิดศิลปะเลย มารู้ตอนหลังว่างานนี้เป็นการผสมผสานมัลติมีเดีย” 

ความไม่รู้นั้นอาจเป็นส่วนเริ่มต้นให้เธอตัดสินใจไปทำงานในแวดวงศิลปะหลังเรียนจบ โดยเฉพาะในแกลเลอรีและหอศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ตำแหน่งผู้นำชมนิทรรศการไปจนถึงผู้ช่วยภัณฑารักษ์ 

“ระหว่างที่ทำงานพวกนั้น เราก็นั่งสเก็ตช์รูปไปด้วย เพื่อให้ตัวเองยังรู้สึกว่าเรายังทำงานศิลปะอยู่” เมื่อเก็บหอมรอมริบทั้งเงินและงานได้จำนวนหนึ่ง อรวรรณได้มีโอกาสจัดนิทรรศการกับกลุ่มเพื่อน Speedy Grandma ก่อนจะตัดสินใจสมัครเข้าโครงการศิลปินพำนักที่กัมพูชา

และนี่คือจุดเริ่มต้นของบทสนทนาในงานศิลปะของเธอ

“เราไม่เคยไปเมืองนอกเลย มันเป็นโอกาส องค์กรศิลปะเจ้าของโครงการครั้งนั้นให้เราไปพักในตึก White Building  2 เดือน เพราะเขาอยากให้งานศิลปะเชื่อมกับคน” อรวรรณกำลังพูดถึงตึกสีขาวที่สร้างโดยสถาปนิกกัมพูชาและฝรั่งเศสในปี 1963 เคยเป็นสถานที่อาศัยของศิลปินในยุคเขมรแดงมาก่อน ตลอดระยะเวลาหลายปียังมีหลายครอบครัวผลัดเปลี่ยนมาอาศัยกัน ทำให้ตึกแห่งนี้บรรจุครอบครัว 500 กว่าครัวเรือนกลางกรุงพนมเปญ บางคนอาศัยมาเกือบ 30 ปี และครอบครัวที่เคยเป็นศิลปินในยุคนั้นก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในนี้

“เราไปอยู่นั่น ลงไปนั่งวาดรูปหน้าตึกทุกๆ วัน สเก็ตช์รูปไปเรื่อยๆ เพราะเขาบอกอยากให้ศิลปะเชื่อมคน เราใช้การวาดรูปในการช่วยสื่อสาร ทำให้เขาเชื่อใจ เพราะเราไม่อยากเดินดุ่มๆ ไปหาใครสักคนแล้วบอกว่า สวัสดีค่ะ เราเป็นศิลปิน มาทำงานนี้ เราไม่อยากทำแบบนั้น” 

“พอออกไปนั่งวาดรูปหน้าตึกทุกวัน เด็กจะเดินเข้ามาถามว่าวาดอะไร ขอดูได้ไหม นั่งวาดรูปกันไปคุยกันไป คุยไปคุยมาเราถามว่าขอไปบ้านได้ไหม น้องก็พาไป เราก็ขอสเก็ตช์ภาพห้องเขาไว้” อรวรรณยื่นภาพสเก็ตช์ห้องในตึก White Building ให้ดู “วาดไปคุยไปอยู่อย่างนี้จะได้มา 15 บ้าน” เธอหัวเราะ ที่สุดท้ายการพูดคุยและภาพเหล่านั้นก็ออกมาเป็นชุดงาน COME IN (2014) โดยในตอนวันท้ายๆ ของการเข้าโครงการศิลปินพำนักในพนมเปญ อรวรรณชวนเด็กทุกคนที่เธอไปเยี่ยมบ้านมาที่ห้องของเธอ แล้ววางภาพสเก็ตช์แต่ละห้องเอาไว้ให้เด็กๆ มานั่งคุยกัน

 “เราไม่ได้วางให้เป็นนิทรรศการ แค่ให้เขามาเยี่ยมห้องเราเหมือนที่เขาให้เราไปห้องเขา แล้วพอเด็กๆ มารวมกัน เขาก็มุงดูรูปห้องของเพื่อนๆ แล้วคุยกัน ‘อ้าว ห้องเธอมีทีวีด้วยเหรอ’ ‘อันนี้คือเตียงหรือเปล่า’ เขาคงไม่เคยเข้าบ้านแต่ละคน”

“การเปิดห้องแบบนี้เรียกว่าเป็น open studio แรกๆ ของเราเลย มีศิลปินเขมรและศิลปินหลากหลายชาติเข้ามาดูงาน ทำให้เราเรียนรู้เยอะมาก โดยเฉพาะการทำ open studio ที่ศิลปินไม่ได้มาเล่าเรื่องตัวเอง แต่มาเล่าเรื่องคนในตึกนี้ ซึ่งเปิดบทสนทนาได้เยอะมากๆ เพราะดรอว์อิงมีภาษาของตัวเอง ทำให้คนสนใจ แต่ไม่ได้ละลาบละล้วงความเป็นส่วนตัวมาก เด็กได้นั่งเดา ตื่นเต้นเล่าเรื่องห้องตัวเอง เขาคุยกันนานมาก”

หลังจบโครงการพำนักครั้งนั้น อรวรรณตั้งใจว่าจะเอารูปกลับไปตามหาเด็กๆ เจ้าของห้องเพื่อบันทึกการเติบโตและความเปลี่ยนผ่านของพวกเขา แต่ท้ายที่สุด White Building พ่ายแพ้ให้กับคำว่า ‘พัฒนาเมือง’ ตึกนี้จึงถูกทุบทิ้งในปี 2017 ชุมชนที่อาศัยอยู่ที่นี่จึงต้องอพยพย้ายที่อยู่ไปคนละทิศละทาง 

รวมถึงบ้านของเด็กๆ ทั้ง 15 คน คงเหลือไว้เพียงความทรงจำในภาพดรอว์อิงของงานอรวรรณเท่านั้น

“ต่อจากโครงการที่กัมพูชา มีโครงการศิลปินพำนักที่เวียดนาม 3 เดือน เราก็รีบสมัครเลย อยากให้ต่อเนื่องกัน” อรวรรณวางงานจากกัมพูชา พาเราเดินทางไปต่อที่ประเทศเพื่อนบ้านอีกแห่ง

“เราก็ไม่ได้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์มาก ประวัติศาสตร์บ้านตัวเองก็ไม่ได้รู้เรื่องเยอะอะไร จะไปเล่าให้คนอื่นฟังก็ไม่ได้ แต่อยากเห็นเวียดนาม อยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์เขา เราตั้งโจทย์แค่ว่าจะทำยังไงให้เราเห็นกันและกัน เขาเห็นเรา เราเห็นเขา จะเรียนจากไหนด้วยกัน”

เริ่มแรกอรวรรณค้นหาข้อมูลประวัติศาสตร์เบื้องต้นผ่านอินเทอร์เน็ตก่อน ตั้งแต่เรื่องลักษณะภูมิศาสตร์ไปจนถึงสงครามกลางเมือง แต่ทำเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานเพื่อไปต่อยอดจากการพูดคุยกับคนอื่นๆ ต่อไป

“เราสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า รูปทรงเวียดนามมีการเคลื่อนไหวตลอด แล้วเขามีสงครามกลางเมือง คนเวียดนามต้องอพยพและย้ายที่อยู่ไปทั่วโลก มันเหมือนรูปทรงของเวียดนามที่เคลื่อนไหวเลย แล้วในประวัติศาสตร์มีคนอยากมาครอบครองเวียดนามเยอะมากเลยนะ เราเลยตั้งโจทย์ว่า แล้วคนเวียดนามล่ะอยากเป็นเจ้าของที่ไหน”

อรวรรณยังคงปฏิเสธการเข้าถึงคำตอบผ่านการเดินเข้าไปทักคนพื้นที่แล้วบอกว่าเป็นศิลปินที่กำลังทำงานศิลปะ “งานชิ้นนี้สอนเราว่าจะพุ่งไม่ได้ ในการคุยกับคนต้องมีการรอ ดูภาพโดยรวมแล้วค่อยๆ รู้จักกัน เราก็ไปนั่งตามที่สาธารณะ ข้างแม่น้ำ นั่งทำงานอยู่แถวนั้นจนกว่าจะมีคนมานั่ง” เธอยื่นชิ้นงานภาพสีชมพูเล็กๆ ที่วางบนโต๊ะให้ดู “แต่ก็ต้องนั่งอยู่นานมากเหมือนกันกว่าจะได้คุย” เรื่องเล่าของเธอสร้างเสียงหัวเราะอีกครั้ง

หลังบทสนทนาของเธอกับคนเวียดนามเกิดขึ้น อรวรรณจะเอาคำตอบไปเสิร์ชหาที่อยู่ของสถานที่จริง แล้วจากนั้นเดินทางไปที่นั่นเพื่อวาดภาพด้วยสีชมพู โดยใช้กระดาษแผ่นเล็กๆ รองรับภาพฝันของคนเวียดนามที่เธอได้ไปพูดคุย 

“เราเดินทางทั้งเวียดนามเหนือและใต้ อย่างคนนี้ตอบมาว่าอยากเป็นเจ้าของที่โอเปราเฮาส์ ฮานอย เราเลยต้องไปที่นั่นเพื่อวาดภาพ” 

“มีคุณยายคนหนึ่งอายุ 80 เราได้คุยกัน คุณยายบอกว่าเหลือเวลาไม่เยอะที่จะฝันแล้ว เราก็ว่าเออ จริงว่ะ งั้นคุณยายลองนึกถึงตัวเองในวัย 20 ว่าอยากเป็นเจ้าของตรงไหน”

“คำตอบคือ คุณยายอยากเป็นเจ้าของกระท่อมใน district 9 แต่ตอนนี้เขาอยู่คนละที่ ทำให้เห็นเลยว่าคำตอบของคนต่างรุ่นไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่คนแก่ก็ยังอยากกลับไปเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เคยเติบโตมา” 

สรุปแล้วอรวรรณได้ระบายความฝันในพื้นที่เวียดนามกว่า 30 ชิ้น โดยใช้สีชมพูเป็นหลัก เนื่องจากผลงานเหล่านี้ยังต้องผ่านเจ้าหน้าที่รัฐก่อน การใช้สีชมพูจึงตอบโจทย์ทั้งการอธิบายความเป็นภาพฝันที่ไม่อาจเป็นจริง แต่ก็เป็นเพียงภาพสีชมพูธรรมดาในสายตารัฐ

ต่อจากเวียดนาม อรวรรณได้รับคำชวนข้ามทวีปไปเป็นศิลปินพำนักที่เยอรมนี ซึ่งถือเป็นก้าวกระโดดในการเชื่อมโยงข้อมูลและทำความรู้จักพื้นที่ สร้างความกังวลใจในการทำงานอย่างต่อเนื่องของศิลปินไม่น้อย

“คราวนี้ก็แอบช็อก เพราะเราคุ้นเคยแต่กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เคยไปไหนไกล แต่เราจะทำอะไร กลัวงานจะกระโดดออกจากที่ผ่านมา แต่เราก็อยากไป”

“สุดท้ายคือเราอยากมีงานชิ้นหนึ่งที่ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ให้ตัวเองได้เรียนรู้ เพราะต้องอยู่ที่นั่น 1 ปี เราไม่ได้ตั้งโจทย์อะไรมาก พอไปถึงแล้วจริงๆ ก็พบว่า คนชาติที่เราคุ้นเคยเขาอยู่ร่วมกันนะ เรายังเห็นเพื่อนคนไทย กัมพูชา เวียดนาม สรุปแล้วเบอร์ลินคือเมืองที่คนหลายๆ ประเทศอยู่ ไม่ได้ยุโรปจ๋าๆ ขนาดนั้น”

อรวรรณยังคงเริ่มทำงานด้วยวิธีการคล้ายกันกับการไปเยือนกัมพูชาและเวียดนาม คือการไปนั่งในที่สาธารณะ แล้วเริ่มต้นพูดคุยกับคนแปลกหน้า ครั้งนี้เธอไปนั่งที่ Thai Park ในเบอร์ลิน

“มันเป็นสวนที่มีคนไทยมาขายอาหาร ครั้งแรกๆ เจอพี่ผู้หญิงคนไทยมาแฮงเอาต์ มาชวนกินส้มตำ เราก็ไปนั่งกิน หันไปเห็นคนเวียดนาม พี่ผู้หญิงบอกว่าอ๋อ ผัวพี่เอง สักพักลูกเขาวิ่งมาคุยกับเขาด้วยภาษาเยอรมัน เราเห็นแบบนี้แล้วเอ้อ ได้ว่ะ มันก็ผสมผสานกันในแบบที่เราเจอมา”

“แล้วพี่คนนี้ก็พาไปเจอคนอีกเยอะ เช่น พาไปเจอพระที่วัดไทย ซึ่งพระที่นั่นก็แนะนำให้รู้จักกับพระเยอรมันที่มาบวช แล้วเขาเคร่งการปฏิบัติยิ่งกว่าพระไทย เราก็สนทนากัน แล้วก็เกิดการแนะนำคนต่อไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายขออัดเสียงแต่ละคนแล้วไปทำงาน sound installation รวม 10 คนที่เราเจอในเบอร์ลิน”

งานชิ้นนี้มีเพียงเสียงพูดของคนที่อรวรรณได้พบเจอ โดยที่ผู้ฟังจะไม่สามารถระบุตัวตนพวกเขาได้ชัดเจน สิ่งที่ต้องทำเพียงอย่างเดียวในการเสพงานนี้ คือการตั้งใจฟัง 

“จะมีเสียงคนเยอรมันที่พูดไทยได้ หรือบางเสียงตอนแรกไม่มีภาษาไทยเลย แต่ต้องฟังไปเรื่อยๆ คือคนไทยพูดเยอรมัน แล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นพูดไทย งานนี้ต้องการบอกให้เรารอและตั้งใจฟัง จะมีเรื่องราวให้เราได้ค้นพบในนั้น” ต่อจากนั้นอรวรรณยังนำเรื่องราวของทั้ง 10 คนมาออกแบบเป็นตัวอักษรที่เธอมองเห็นในคนคนนั้น โดยมีรูปร่างที่ต่างไปจากตัวอักษรทั่วไป 

“เช่น ของพระที่เคร่งศาสนา เราก็ทำเป็นหนังสือเรียงซ้อนๆ ชิดๆ กันให้เป็นตัวอักษร” เธออธิบาย

หลังจากนั้นอรวรรณแวบกลับมาทำงานที่ไทยบ้าง สลับกับการใช้ชีวิตอยู่ในเบอร์ลิน เธอยังคงใช้บทสนทนาในการสร้างสรรค์และผลิตงาน เช่น นิทรรศการนับ Counting (2019) ที่จัดแสดงที่ BANGKOK CITY CITY GALLERY ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของคนที่เธอได้พบเจอในช่วง 5 ปีที่กัมพูชา เวียดนาม ไทย โดยนำมาเล่าเป็นภาพดินสอสีบนแผ่นซีเมนต์และคอนกรีต

“ตอนช่วงที่กลับจากกัมพูชา ก่อนไปเวียดนาม เราไปแวะบ้าน คุยกับแม่เรื่องกัมพูชา แล้วนึกขึ้นได้ว่าพ่อเราเคยเป็นทหารที่เขตชายแดนกัมพูชา มันก็กลับมานึกถึงตัวเอง แล้วก็คุยเล่นๆ กับแม่ว่าทำไมเรายังจนอยู่ แม่บอกว่า ตอนพ่อจะกลับจากชายแดนน่าจะลืมขโมยทองที่เขาขุดเจอมาด้วย” เธอหัวเราะ “เราเลยเอาเสื้อทหารของตาเดินทางไปที่ต่างๆ ด้วย ตอนนั้นต้องไปญี่ปุ่นพอดี เราก็เอาด้ายสีทองปักตามลายทางเสื้อ” 

อรวรรณพาเดินไปดูวิดีโอบนจอที่ทีวีที่เธอเปิดไว้ในห้องนอนที่สอง ภาพปรากฏเธอปูเสื่อในญี่ปุ่น นั่งปักด้ายสีทองบนเสื้อลายทาง

“เราค้นพบว่าพื้นที่ที่เราไปในหลายๆ ที่คือ military landscape ทั้งกัมพูชา เวียดนาม ญี่ปุ่น และในชีวิตส่วนตัวเราก็เกี่ยวข้องกับทหาร เราเลยผลิตงานขึ้นมาชิ้นหนึ่งตอนอยู่เบอร์ลิน” เธอชี้ไปที่ผืนผ้าที่วางอยู่บนเตียง ซึ่งคล้ายกับเป็นผ้าห่มให้กับห้องนี้ แต่ต่างออกไปตรงที่ ผ้าผืนนี้มองเผินๆ เป็นลายทหาร และถ้าเพ่งสายตาอีกที ลายสีเขียวที่ปะปนเป็นลายทางมีลักษณะคล้ายตัวละครผีน้อยแคสเปอร์อยู่ ผลงานนี้ชื่อว่า Military History (2020)

“ลายนี้แกะออกมาจากพื้นที่ที่เราไป เราต้องการมองเห็นว่าอยู่ภายใต้อะไรบ้าง เราอยู่กับการคอนโทรลแบบไหน เป็นการสังเกตพื้นที่ที่เราอยู่และตัวเรามากขึ้น”

ผลงานชิ้นนี้ผลิตในช่วงที่โรคระบาดกำลังทำงานอย่างหนัก เธอจึงต้องกักตัวทำงานอยู่ที่เบอร์ลิน “ชิ้นนี้จะเกิดจากเอฟเฟกต์ช่วงกักตัว การอยู่แต่ในห้องส่งผลต่อ practice ของเรามาก” เธอยกตัวอย่างงาน Military History (2020) ที่ตอนแรกตั้งใจจะวาดภาพเจ้าของบทสนทนาร่วมกับเธอ

“แต่สุดท้ายก็เหลือแค่ฟอร์ม นั่งอยู่ในห้องคนเดียวเจอแต่แตงกวาเน่า เราก็เอามาเป็นฟอร์มในนี้” เธอเฉลยด้วยเสียงหัวเราะ

อีกชิ้นงานชื่อ Where are you living #1 เป็นงานที่ในตอนแรกเธอตั้งใจจะกลับไปเยือน White Building ในรอบ 8 ปีเพื่อสำรวจชีวิตคนที่เธอได้ทำความรู้จัก แต่เนื่องจากตึกถูกทุบไปแล้ว และโรคระบาด เธอจึงรวมแค่ชื่อสถานที่ในพื้นที่ต่างๆ แล้วเปิดให้คนโยงได้ว่าเธอไปเจอสถานที่ไหนบ้าง 

“คิวเรเตอร์ในโครงการที่กัมพูชาเขาให้กลับมาทำต่อ แต่หลายคนก็เดินทางไม่ได้ งานชิ้นนี้ต้องปรับให้เป็นชิ้นงานที่ขนส่งได้หมดด้วย”

อรวรรณยังคงย้ำว่าช่วงโควิดเป็นระยะเวลาที่ส่งผลต่องานศิลปะของเธอมากที่สุด การกักตัวในเบอร์ลิน เดินทางได้แค่ซูเปอร์มาเก็ตและร้านขายยา พบเจอแต่สิ่งของรอบตัว โดยไม่มีบทสนทนากับใคร

“แต่มันก็ทำให้เราอยู่นิ่งๆ มีเวลาจ้องมองสิ่งของรอบตัวมากขึ้น เราสังเกตรายละเอียด มองความเป็นไปของมัน จะเรียกว่าเราเปิดบทสนทนากับของพวกนี้มากขึ้นก็ได้ ได้คุยกับอะไรที่ไม่คิดว่าจะออกมาเป็นงาน” เธอพาเดินออกมาดูงานที่เป็นสิ่งของบนชั้นวางของห้องนั่งเล่น การสนทนากับ ‘ของ’ ที่เธอว่า ทำให้อรวรรณนำฟองน้ำล้างจานมาประกอบเป็นรูปทรงพระพุทธรูป หรือการนำจานรองอาหารมาวาดภาพ

“แต่สุดท้ายจากงานที่ทำทั้งหมด เราก็อยากให้คนได้เข้ามาพูดคุยกับงานของเรานะ เปิดให้ได้เข้ามาพูดคุยกัน มันดีกว่าเอาเรื่องของเรามาเล่าอย่างเดียว” อรวรรณพูดขึ้น หลังจากพาเรามาถึงช่วงท้ายของการเดินทาง

“ทุกครั้งที่เราทำงาน เราเปิด open studio ตลอด เราได้อะไรเยอะมากจากการพูดคุยกับคน เคยมีครั้งหนึ่งที่นักกฎหมายมาดูงานภาพวาดสีชมพูในเวียดนามของเรา แล้วมันมีรอยนิ้วมือด้วย เขาถามว่า เราจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของเจ้าของลายนิ้วมือนี้ยังไง เอ้อ ทำให้เราได้มองมุมนี้นะ”

“หรืองานที่รองจาน มีคนบอกว่างานเอเชียมาก เราสงสัยเหมือนกันว่า ตรงไหนที่ดูเอเชีย เพราะเราใช้ที่รองจานที่ซื้อจากเบอร์ลิน เขาบอกว่า เพราะมีความเกี่ยวข้องกับอาหาร” อรวรรณไม่ได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยต่อความเห็นนั้น แต่เธอเล่าด้วยความยินดีที่ได้รับฟังความรู้สึกและการวิจารณ์งานจากคนดู

สำหรับอรวรรณ การเป็นศิลปินที่เปิดรับฟังทุกความเห็น ไม่ได้ทำให้เธอพัฒนางานศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยขยายโลกของชีวิตทั้งของเธอและคนรอบตัวให้กว้างขึ้น

“ทำให้เรานึกถึงตอนที่ไปปักด้ายสีทองบนเสื้อปู่เราที่โอกินาวา เมืองนั้นเป็นเมืองที่บอบช้ำกับสงครามมามาก คนแก่จะอยู่กับความเจ็บช้ำมาโดยตลอด แต่พอเราทำ open studio เขามาคุยด้วย แล้วได้รู้ว่า อ๋อ ไม่ได้มีแค่โอกินาวาที่เจ็บปวด แต่กัมพูชา เวียดนาม ไทยก็เจ็บปวดกับสงครามเหมือนกัน แล้ววิธีการคุยของเราไม่ได้เป็น intellectual ด้วยนะ มันเป็นแค่บทสนทนาสั้นๆ ที่เขาบอกว่าเปิดโลกมากเลย”

ในฐานะผู้มาเยี่ยมเยียน open studio ของอรวรรณ การพูดคุยอาจเป็นส่วนสำคัญในงานศิลปะและการเป็นศิลปินของเธอ แต่สิ่งที่มาควบคู่กันคือ ‘การเปิดใจรับฟัง’ การเปิดใจเพื่อทำความเข้าใจผู้คนที่แตกต่าง ก้าวข้ามวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย งดใช้พื้นที่ของการตัดสิน เพื่อขยายพรมแดนความเข้าใจในความหลากหลายของมนุษย์ ทุกสิ่งสะท้อนผ่านสายตาของอรวรรณ เหมือนที่เธอมองเห็นความหลากหลายในซอยรางน้ำในสายตาเดียวกันกับที่มองเห็นความหลากหลายในเบอร์ลิน

Open Studio โดยอรวรรณ อรุณรักษ์ และ BANGKOK CITY CITY GALLERY จัดขึ้นที่ห้อง 1026 ตึก V.P. Tower ช่วงวันที่ 5-8 ตุลาคม 2023 เนื่องจากศิลปินกำลังจะมีงานนิทรรศการเร็วๆ นี้ จึงเปิด Open Studio เพียงระยะสั้นๆ หากใครสนใจชมผลงานของศิลปิน รอติดตามนิทรรศการของเธอได้ในเพจ BANGKOK CITY CITY GALLERY

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save