จับมือแปดพรรค VS รัฐบาลข้ามขั้ว : ประชาธิปไตยจะไปต่ออย่างไรในกติกาเผด็จการ กับ จาตุรนต์ ฉายแสง

การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยยังคงเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น เนื่องจากติดกับดักจากรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ที่วางกลไกในการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ทั้งการให้อำนาจแก่ สว. มากเกินไป การแทรกแซงกระบวนยุติธรรม และอีกหลากเกมการเมืองที่ยังคงคุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง

ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเป็นผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นต่อสาธารณะอย่างชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยไม่ควรจับมือกับขั้วอำนาจเก่า 101 จึงชวน จาตุรนต์ ฉายแสง ร่วมวิเคราะห์การเมืองไทยถึงความเป็นไปได้ของรัฐบาลประชาธิปไตยในการช่วยกันปลดล็อกรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงเส้นทางที่ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ควรมองข้าม

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-one Ep.304 รัฐบาลประชาธิปไตย…ไปต่อ? กับ จาตุรนต์ ฉายแสง เมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2566

YouTube video

ในความคิดของคุณ รัฐบาล 8 พรรคจะยังสามารถไปต่อจนจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่

จะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ยังตอบไม่ได้อย่างชัดเจน เพราะตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่ประชุม 8 พรรคมอบให้พรรคเพื่อไทยไปเจรจาและหาเสียงสนับสนุน แต่บังเอิญว่าเกิดเรื่องที่ประธานสภาฯ สั่งเลื่อนการประชุมออกไปไม่มีกำหนด เพราะต้องรอว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องเรียนไว้พิจารณาหรือไม่ และถ้ารับจะใช้เวลานานเท่าไร หากไม่รับก็ไม่ต้องรอ สามารถเดินหน้าได้ หากรับก็ต้องรอการวินิจฉัย ถ้าออกมาว่าที่ทำไปนั้นขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องย้อนกลับมาโหวตคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถ้าไม่ขัด ก็ต้องว่ากันต่อ ทีนี้จะเป็นการนัดประชุมเพื่อโหวตแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย เพื่อไทยก็ต้องไปเตรียมตัวให้พร้อม ซึ่งยังไม่ทราบว่าระยะเวลาจะอีกยาวนานแค่ไหน

การจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าหาเสียงสนับสนุนได้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งมันไม่ง่าย เพราะต้องหาเสียงสนับสนุนจากทั้ง สว. และ สส.พรรคอื่น ขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่าจะตรงตามนั้นหรือไม่ สว. บอกว่าจะโหวตให้ แต่ใกล้วันอาจจะบอกไม่โหวตแล้วก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ณ ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้

อีกอย่างคือ สว. ไม่ใช่พรรคการเมือง แม้จะมีพฤติกรรมที่คล้ายพรรคการเมือง แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติเหมือนพรรคการเมืองเสียทีเดียว ไม่ได้มีการประชุม มีมติ หรือมีการแถลงข่าวว่า สว.จะลงมติแบบไหน เราก็ได้ยินแต่คนพูดอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วทำเหมือนเป็นมติของสว.ทั้งหมด ซึ่งในความจริงไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเราไม่รู้เลยว่าสุดท้าย สว. จะโหวตอย่างไร

และเมื่อไม่รู้ก็ต้องหาเสียงสนับสนุนจาก สส. ด้วย จริงๆ แล้วเราต้องหาเสียงจาก สส. เป็นหลักก่อนด้วยซ้ำ เราจะไปให้ สว. มาตัดสินเลยทีเดียวก็ไม่ถูก แต่เพราะกติกาเป็นเช่นนี้ คือหาก สว. ไม่โหวตก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ถ้าถามว่าเป็นความผิดใคร ก็ต้องเป็นความผิดของกติกาและ สว. ที่ไม่สนับสนุนเสียงส่วนใหญ่ให้เป็นรัฐบาล

ส่วน สส. ที่จะมาเพิ่มเข้ามาต้องมาจาก 188 เสียง เพราะมีอยู่แค่นี้ ต้องเจรจากันไป

โจทย์ใหญ่ของฝั่งขั้วอำนาจเก่าคือไม่เอาก้าวไกลและไม่เอาการแก้ไขมาตรา 112 สมมติว่าคุณจาตุรนต์ได้รับมอบหมายให้เป็นคนประสานงานกับ 8 พรรคร่วมรัฐบาล จะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ต้องเจรจา อันดับแรกต้องถาม 8 พรรคก่อนว่าใน 5 พรรคที่เพื่อไทยจะไปคุยนั้นมีเสียงสนับสนุนเพียงพอหรือยัง ควรจะไปคุยกับพรรคอื่นอีกหรือไม่ ถ้าบอกให้คุยกับพรรคอื่นอีกก็ต้องไปคุย และจาก 2 ใน 5 พรรคนี้ มีพรรคใดที่ทั้ง 8 พรรคไม่รับแน่ๆ หรือไม่ ถ้ามีก็ต้องมาชั่งน้ำหนักว่าจะตัดหรือไม่ตัด ถ้าไม่ตัดแล้วบางพรรคใน 8 พรรคไม่เอาด้วย สุดท้ายจะยังเหลืออีกกี่พรรค ต้องมาดูว่าเหลือเงื่อนไขอะไรบ้าง ถ้าบางพรรคบอกไม่เอา 112 และต้องไม่มีก้าวไกล ก็ต้องทำการเจรจา

ยังมีความเป็นไปได้อยู่ที่ต้องพยายามต่อ ไม่ใช่คิดว่าเป็นอย่างนี้ก็เท่ากับจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้แล้ว หรือมองว่าในเมื่อจัดไม่ได้ก็ให้ข้ามขั้วไป แต่จะข้ามขั้วได้อย่างไรในเมื่อเพื่อไทยบอกว่าจะไม่ร่วมกับพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ แคนดิเดตประกาศไปแล้ว ไม่อย่างนั้นถ้าได้เป็นนายกฯ คนก็จะถามว่าทำไมนายกฯ ถึงเปลี่ยนคำพูด ถึงเวลานั้นก็จะลำบาก

เพราะฉะนั้น ต้องเจรจาว่าจะมีเสียงสนับสนุนจากพรรคไหนเพิ่มอีกหรือไม่ ถ้าพรรคนั้นยื่นว่าต้องไม่มี 112 แล้วคุณร่วมได้หรือไม่ มีเงื่อนไขใดตรงกันเพื่อที่จะได้ 376 เสียง ถ้ามีก็ตามนั้น ถ้ายังไม่มีก็เป็นอันว่าตั้งไม่ได้ พอถึงวันที่ประธานเชิญประชุมก็ต้องตัดสินใจว่าจะขอเลื่อนหรือไม่ หรือจะทำอย่างไร อย่างตอนนี้ก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อน

ที่ผมพูดไม่ได้หมายความว่า ผมเชื่อมั่นว่าจะเป็นไปได้ คำว่า ‘เชื่อมั่น’ ยังพูดไม่ได้เพราะเราอยู่ภายใต้กติกาที่วิปริต กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าบอกว่าให้เลือกในสภาผู้แทนฯ ตามระบบปกติอย่างนี้ผมเชื่อมั่น แต่ถ้าคุณมี 312 เสียง พรรคการเมืองอื่นก็ไม่มีใครบอกว่าจะมาร่วมด้วย ส่วน สว. ก็ไม่มี หรือมีก็ไม่รู้จะเชื่อใจได้ไหม คำว่าเชื่อมั่นจึงยังใช้ไม่ได้

จริงๆ พรรคร่วมก็มีความแตกต่างอยู่ มีความต่างในแง่ที่แต่ละฝ่ายมีเงื่อนไขที่จะไม่รับอีกฝ่ายหนึ่ง บางพรรคเรื่องนี้ไม่รับ บางพรรคเรื่องนั้นประกาศไปแล้วว่าจะไม่ร่วม ทางโน้นก็มีเงื่อนไขอีก ซึ่งแต่ละฝ่ายก็ถือว่าเงื่อนไขของตนเป็นสำคัญ

เงื่อนไขทางการเมืองแท้หลักๆ ที่ทำให้แต่ละฝ่ายยอมกันไม่ได้คือเรื่องอะไร

ที่ฝั่งอำนาจเดิมบางพรรคบอกว่าไม่เอา 112 อาจเป็นเงื่อนไขจริงหรือไม่จริงก็ได้ เพราะบางพรรคอาจไม่อยากร่วมด้วยเพราะเรื่องอื่นๆ แต่อาจจะไม่อยากยกมาพูด เลยพูดเรื่องนี้เรื่องเดียว แต่เรื่องอื่นที่ว่านั้นคืออะไรเราก็ไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัด หรือการบอกว่าไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจเผด็จการก็ถือเป็นเงื่อนไขทางการเมืองเช่นกัน

การที่ต้องคุยกันต่อหน้าสื่อเป็นเหตุผลที่ทำให้พรรคการเมืองทำงานยากขึ้นหรือไม่

ไม่ใช่ แต่เป็นเรื่องของกติกาที่ทำให้ซับซ้อน และมีความบังเอิญที่การเมืองมีความต่าง ซึ่งขั้วที่เชื่อมโยงกับปัญหาใหญ่ของประเทศ คือความไม่เป็นประชาธิปไตย พัฒนาการของการเมืองไทยจึงเป็นแบบนั้น

จากสถานการณ์เลือกตั้งในปี 2562 ตอนนี้การสืบทอดอำนาจยากกว่าเดิมเยอะ เพราะพรรคการเมืองของผู้ที่ยึดอำนาจตั้งขึ้นจาก 1 พรรค ต่อมาก็แยกเป็น 2 พรรค แล้วสุดท้ายได้เสียงกันคนละนิด สะท้อนถึงการเสื่อมทรุดของพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ

แต่ก็ยังมีพรรคกลางๆ ค่อนไปทางหนุนเผด็จการ แต่เราจะบอกว่าเขาเป็นเครื่องมือของเผด็จการ 100% ก็ไม่ใช่เหมือนกัน เพราะพวกเขารวมกันอยู่แต่เป็นเสียงข้างน้อย ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการที่เคยเรืองอำนาจในช่วง 9 ปีที่ผ่านมานี้ ถือเป็นการแข่งกันและสู้กันระหว่างสองฝั่ง

การที่คุณบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการจับมือขั้วอำนาจเดิม ที่ผ่านมาพูดในนามพรรคเพื่อไทยหรือในนามของ ‘จาตุรนต์

พูดในนามของผม แต่ความคิดเห็นของผมเป็นความคิดเห็นที่ตรงกับแนวทางและจุดยืนของพรรคทุกประการ ไม่จำเป็นต้องคุยกับพรรคว่าผมจะพูดอย่างนี้ เพราะพรรคเพื่อไทยประกาศมาตลอดการหาเสียงเลือกตั้งว่าจะไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติในการจัดตั้งรัฐบาล และไม่มีการเปลี่ยนมติ เพราะฉะนั้น จะบอกว่าผมแตกต่างจากพรรคก็ไม่ใช่ ในเมื่อแคนดิเดตพรรคเพื่อไทยทั้งสองคนก็ประกาศเช่นนี้ ตอนประกาศผมยังนั่งอยู่ข้างหลังอยู่เลย และเป็นประเด็นที่ผมพูดตามแกนนำพรรค

หากลองฉายฉากทัศน์ต่อไป ถ้า 8 พรรคที่จับมือกัน ต้องไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ หรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลเก่า จะเกิดอะไรขึ้น

ก็จะตั้งรัฐบาลได้ แต่หากพูดกันตามตรง เราประกาศไว้ว่าจะไม่เอาพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่หากท้ายสุดมีสองพรรคนี้รวมอยู่ด้วย เราก็ต้องมีคำอธิบายให้กับประชาชน ซึ่งในความคิดเห็นของผมมันเป็นเรื่องอธิบายยากและอธิบายไม่ได้ ประชาชนจะไม่รับฟัง ผมพูดอย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว และเหตุผลที่ประชาชนไม่ยอมรับเพราะ หนึ่ง-พรรคการเมืองเหล่านั้นเป็นพรรคที่เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และสอง-เราผิดคำพูด

สิ่งที่ตามมาคือ รัฐบาลนี้จะกลายเป็นรัฐบาลที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน และจะแก้ไขปัญหาประเทศได้ยากมากเพราะนโยบายคนละขั้ว ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาระบบที่เขาสร้างไว้ แต่อีกฝ่ายต้องการที่จะทำให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ แก้รัฐธรรมนูญ ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ลดบทบาทลง เหล่านี้เป็นเรื่องที่หากไปรวมกับสองพรรคนั้นจะแก้ยากมาก จะเป็นไปได้หรือที่จะเอานโยบายทุกข้อไปถามพวกเขาว่าคุณจะเปลี่ยนใจเป็นอย่างนี้หรือไม่ และประชาชนก็ไม่เชื่อว่าพวกเขาจะยอม

วิกฤตทางการเมืองเกิดขึ้นได้จากการที่พรรคการเมืองไม่รักษาสัจจะและสัญญา ผมเคยอยู่ในกระบวนการเมื่อปี 2535 บังเอิญว่าผมเป็นนักการเมืองมาก่อนหน้านั้นหลายปี ในช่วงนั้นผมก็อยู่ในเหตุการณ์ ทำให้เห็นว่าบางทีอะไรที่เราคิดไม่ถึงสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ตอนนั้นพรรคการเมืองใหญ่ชนะการเลือกตั้งจนเกือบจะราบรื่น แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นสืบทอดอำนาจเผด็จการ ผู้นำที่สืบทอดอำนาจเผด็จการเป็นคนตระบัดสัตย์เสียเอง จึงกลายเป็นวิกฤตอย่างรวดเร็ว รัฐบาลอยู่ได้เพียง 47 วัน

เพราะฉะนั้น เราไม่ควรประมาท ผมถึงพยายามพูดว่าตั้งไม่ได้ตอนนี้เสียหายเป็นแสนล้าน แต่ถ้าตั้งรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมจนเกิดเป็นวิกฤตจะเสียหายเป็นล้านล้าน เราผ่านเหตุการณ์วิกฤตมาเราก็จะรู้ว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจจริงๆ คือประชาชน ต้องเชื่อมั่นในประชาชนเข้าไว้

ณ ตอนนี้อำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของพรรคเพื่อไทยอยู่ที่ใคร

อยู่ที่แกนนำกับคณะกรรมการบริหาร พรรคการเมืองแบบเพื่อไทยได้รับบทเรียนจากสมัยไทยรักไทยและพลังประชาชน เพราะถูกยุบมาหลายครั้ง ในการยุบแต่ละครั้งกรรมการบริหารก็ถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี ถ้าปัจจุบันจะถูกตัดสิทธิ์เป็น 10 ปี เพราะฉะนั้น เขาเลยต้องแบ่งคนส่วนหนึ่งเป็นกรรมการบริหาร และไม่ให้ สส.เขต เป็นกรรมการ เผื่อว่าเกิดพลาดไปแล้วจะโดนยุบ เป็นสส.เขตบางท่านที่มีความอาวุโสจึงไม่ใช่กรรมการบริหาร แต่พวกเขายังคงเป็นแกนนำ ผมจึงใช้คำว่าแกนนำและคณะกรรมการแทน คนเหล่านี้จะเป็นผู้หารือและตัดสินกัน แต่ถึงอย่างไรก็ต้องเอาเข้าที่ประชุมสส. ด้วย

แล้วจากประเด็นที่คุณแพทองธาร ชินวัตร ยืนยันว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางกลับมายังประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคม 2566 เรื่องนี้คนในพรรคเพื่อไทยรับรู้ล่วงหน้ามาก่อนหรือไม่

ไม่ได้ทราบล่วงหน้า และคิดว่าไม่น่าจะมีใครทราบล่วงหน้าเท่าไรนัก ผมเองไม่ได้ยินจากใครเลย จะว่าทราบพร้อมกันกับประชาชนก็ใช่ 

อธิบายได้หรือไม่ว่าทำไมอดีตนายกฯ ทักษิณจึงคิดจะกลับมาในช่วงนี้

อธิบายไม่ได้ เพราะไม่ทราบจริงๆ อีกทั้งคุณทักษิณประกาศมาก่อนหน้านี้หลายครั้งแล้วว่าจะกลับประเทศไทย อย่างล่าสุดก็ประกาศว่าจะกลับตั้งแต่หลังเลือกตั้ง ต่อมาก็เลื่อน จนมายืนยันว่าเป็นวันที่ 10 สิงหาคมนี้

มีกระแสข่าวว่าการกลับมาในครั้งนี้คุณทักษิณเป็น Deal Maker อย่างนั้นแล้วรัฐบาลเพื่อไทยจะออกมาเป็นอย่างไร

กลับหรือไม่กลับไม่เกี่ยวกันกับดีลหรือไม่ดีล โลกสมัยนี้โทรศัพท์หากันเอาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องกลับมาเพื่อจะดีลโดยเฉพาะ การประกาศกลับมาของคุณทักษิณนั้นเคยประกาศหลายครั้งในช่วงเวลาต่างกรรมต่างวาระ สถานการณ์หรือเหตุการณ์ก็ต่างกันออกไป เพราะฉะนั้น การกลับมาของคุณทักษิณคงไม่ได้ผูกกับเรื่องอะไรเป็นการเฉพาะ

ผมรับรู้ตรงกันกับคนทั่วไปคือ ก่อนหน้านี้ท่านประกาศว่าการกลับมานั้นไม่มีอะไรให้พรรคเพื่อไทยต้องทำ ท่านทำของท่านเอง หมายความว่าไม่ต้องให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ดังนั้น มิติของการเข้ามาข้องเกี่ยวกับพรรคการเมืองและเกี่ยวข้องกับสภาฯ ของท่านจึงลดน้อยลงไปมาก

ส่วนอื่นๆ จะเป็นอย่างไร ภายในพรรคเพื่อไทยเราไม่ค่อยวิเคราะห์กัน เพราะไม่ทราบว่าจะคุยกันอย่างไรในเมื่อไม่มีข้อมูล ท่านไม่ได้แจ้งหรือปรึกษาใคร พอไม่มีข้อมูลอะไรเช่นนี้ เราจะไปคิดแทนได้อย่างไร แม้แต่วันกลับยังไม่ทราบเลยว่าจะมาวันไหน เพิ่งจะทราบในวันนี้ (26 ก.ค. 2566) ว่าจะกลับวันที่ 10 สิงหาคม เพราะฉะนั้น พรรคเราจะไปคิดแทนว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้คงไม่ได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นความยุ่งเหยิงเสียเปล่าๆ

กลับมามองภาพใหญ่ของการจัดตั้งรัฐบาล คุณมองว่าฝั่งขั้วอำนาจเดิมมีโอกาสที่จะพลิกเกมมาเป็นผู้ชนะในครั้งนี้หรือไม่

เขาแพ้ในสภาผู้แทนฯ แต่อย่าลืมว่าเขาก็มี สว. 250 เสียง ถ้าเขาตกลงกับสว. ได้ในขณะที่พรรคประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ สว.ก็อาจหนุนเสียงข้างน้อย

แล้วมีโอกาสที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะตกเป็นของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือไม่

หากคุณเศรษฐา ทวีสิน ผ่านโหวตไม่ได้ก็คงต้องแล้วแต่ฝั่งนั้น บางคนบอกว่าพรรคที่สองตั้งไม่ได้ต้องส่งไม้ต่อให้พรรคที่สามนั้นไม่ใช่ ไม่ได้มีกติกาแบบนี้ แต่เป็นเรื่องของพรรคที่ยังไม่เสนอแคนดิเดตว่าอยากจะเสนอใคร ถ้าเขาไม่ตกลงกันเลย ในส่วนของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หรือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อาจเป็น 2-3 คนนี้แข่งกันได้ แล้วแต่เขาจะเสนอชื่อใคร เพราะไม่มีกติกาว่าจะต้องเรียงลำดับ

สมมติว่าเพื่อไทยหรือแม้แต่พลเอกประวิตรหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีจะเกิดอะไรขึ้น

จะกลายเป็นการเสนอนายกฯ คนนอก ฉากทัศน์นั้นเกิดขึ้นได้ แต่ส่วนตัวผมว่าคงไม่สำเร็จ เพราะการเสนอนายกฯ คนนอกต้องเป็นญัตติ ใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภาฯ หรือ 500 ขึ้นไปจึงจะเสนอได้ สมมติ 8 พรรคจับมือกันอยู่ก็จบแล้ว ใช้นายกฯ คนนอกตั้งรัฐบาลไม่ได้ ผมจึงบอกว่า 312 เสียงควรจะจับมือกันไว้ให้แน่นเผื่อสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งพอนายกฯ คนนอกตั้งไม่ได้ก็จะวนกลับมาใหม่ อาจจะตั้งซ้ำได้แล้ว หรือหากลงมติว่าห้ามตั้งซ้ำก็รอไปอีก 2-3 เดือน เพื่อให้หมดสมัยประชุมและเริ่มใหม่อีกรอบ

การจับมือกันไปเรื่อยๆ ของ 8 พรรคร่วมจะเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (worst case scenario) ซึ่ง worst case นี้อาจทำให้เสียเวลานาน แต่ข้อที่ดีคือสุดท้ายแล้วตั้งรัฐบาลได้ และเป็นรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

แต่ว่าที่เสนอกันอยู่ก็ไม่ใช่อยากให้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด อย่างผมเคยเสนอว่าเลือกกี่ครั้งก็ได้ แต่กี่ครั้งที่ว่าไม่ได้หมายความว่าให้เลือกคุณพิธาไปเรื่อยๆ แต่ที่ต้องมีการเลือกไปเรื่อยๆ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าให้สภาผู้แทนฯ เลือกนายกฯ และเมื่อไม่มีนายกฯ ก็ต้องเลือกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ได้เอง อย่างน้อยก็ตอน สว. หมดอายุ

แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรจะงอมืองอเท้าไม่ทำอะไรเลยในระหว่างนั้น เพราะการปล่อยเวลาไปเรื่อยๆ อาจทำให้อยู่ไม่ถึง 10 เดือน จนกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยเกิดขึ้น หรือมีการสืบทอดอำนาจต่อได้ และมันจะยุ่งไปอีกแบบ

หากเสียงไม่ถึงแล้วเพื่อไทยจำเป็นต้องจับมือกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติจะเป็นอย่างไร

ไม่จำเป็นต้องไปถึงสองพรรคนั้นด้วยซ้ำ พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐมีอยู่ 70 กว่าเสียงโดยประมาณ ยังเหลืออีก 100 กว่าเสียงในสภาฯ ทำไมเราไม่เอาจาก 100 กว่าเสียงนี้ก่อนจะไปเอาสองพรรคนั้น เข้าใจว่าทุกอย่างต้องเร็ว แต่เราต้องคิดให้เป็นขั้นเป็นตอน และต้องเจรจากันก่อนอย่างที่ผมบอก เพราะหลายขั้นตอนนั้นเราทำทุกอย่างพร้อมกันในวันเดียวก็ได้

ในฐานะ สส. ที่ห่างหายจากสภาฯ ไป 17 ปี คุณอยากเห็นสภาฯ เป็นอย่างไร

อยากเห็นสภาฯ ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการออกกฎหมายให้เร็วขึ้น เพราะเรามีทั้งกฎหมายที่จะทำและจะต้องแก้สะสมกันอยู่หลายฉบับ ถ้าสภาฯ ทำงานสมัยหนึ่งได้ไม่กี่ฉบับ ปัญหาบ้านเมืองหลายอย่างคงไม่ได้แก้เสียที

ขณะเดียวกันการตรวจสอบต้องเข้มข้นขึ้นเช่นกัน สภาฯ ต้องมีระบบข้อมูลที่ดี มีการพูดและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อก่อน การอภิปรายต้องมีข้อมูลที่แน่นกว่าเดิม ระบบสภาฯ ต้องเข้มแข็ง ซึ่งจริงๆ ก็เห็นแววอยู่ เพราะสมัยนี้หน่วยงานเลขาธิการสภาฯ ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แต่ว่าทางพรรคก็ต้องช่วยสร้างกลไกขึ้นมาให้ สส. สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน 

และเดี๋ยวนี้การทำหน้าที่ สส. ทำนอกสภาฯ ก็ได้ บางทีไม่ต้องรอตั้งกระทู้ ไปพบประชาชนแล้ว แค่ใช้ทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กสื่อสาร คนก็ได้ยินกันทั่วประเทศ

จะเป็นไปได้หรือไม่หาก สส. จะเป็นตัวแทนของประชาชนโดยไม่ต้องสังกัดพรรค

ตามหลัก สส. ควรขึ้นกับมติพรรค หากเรานึกภาพว่าเราให้นักการเมืองสามารถเป็น สส. กันได้โดยไม่ต้องมีพรรคการเมือง เราจะพบว่าการสัญญากับประชาชน หรือการที่ประชาชนจะเลือกใครเข้าไปนั้นจะล้มเหลวและไม่มีประสิทธิภาพเลย เพราะไม่รู้ว่าใครมีนโยบายอย่างไร ต่างคนต่างคิด ไม่มีทางที่จะบอกได้ว่าคุณจะได้รัฐบาลแบบไหนหรือมีนโยบายอะไร เพราะความคิดเห็นจะกลายเป็นร้อยพ่อพันแม่ พอเข้าสภาฯ ไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะพากฎหมายไปทางไหน เขาจึงให้มีพรรคการเมือง และทำอย่างนี้กันทั่วโลก 

ประเทศไทยอาจเจริญช้า จึงมีการพัฒนาระบบพรรคการเมืองที่ช้าไปด้วย แต่การให้มีพรรคการเมือง มีนโยบาย และ สส.ใช้นโยบายของพรรคการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่หลังๆ เขาพยายามออกกติกาให้พรรคการเมืองแตก ลงมติอย่างไรก็ได้ ทำผิดอย่างมากก็ไล่ออกแล้วไปอยู่พรรคอื่น กติกาเมื่อก่อนไม่ใช่อย่างนี้ เมื่อไรก็ตามที่ สส. แทงสวนมติพรรค หากพรรคพิสูจน์ได้แล้วจะถูกขับออกจากพรรค และพ้นจากการเป็น สส. ด้วย จากนั้นจึงเข้าไปสู้กันในชั้นศาล แต่ปัจจุบันกติกาจงใจให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ที่ผ่านถึงได้มีงูเห่า

ดังนั้น เป้าหมายหลักของพรรคเพื่อไทยคือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป รวมถึงแก้ไขเรื่องสำคัญอีกจำนวนมากด้วย

สำหรับการเมืองไทยตอนนี้ มีอะไรที่คุณคิดว่ายอมไม่ได้ เพราะหากทำแล้วจะผิดจากความเป็น ‘จาตุรนต์’ หรือไม่

การสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ผมทำไม่ได้ ที่ผ่านมาผมพยายามทำมาหลายอย่างเพื่อที่จะยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามเผด็จการ ในสถานการณ์อย่างปัจจุบันอาจไม่ใช่ขาวกับดำร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน เผด็จการแผ่วลงไป พวกสืบทอดอำนาจก็แผ่วลง ไม่ใช่พลเอกประยุทธ์เมื่อ 4 ปีก่อนหรือ 9 ปีก่อน เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ก็มีระดับของมัน

เวลานี้หากจะให้พูดว่าแค่ไหนคือรับได้หรือไม่ได้ ผมจะพูดอย่างนี้มากกว่าว่า ต้องทำอย่างไรเราจะได้รัฐบาลที่ชอบธรรม ทำอย่างไรที่จะได้รัฐบาลที่ประชาชนยอมรับ และเดินหน้าแก้ไขปัญหาประเทศได้ แม้จะมีระดับที่ต่างกันอยู่หากคิดจากส่วนผสมทางการเมือง แต่โดยหลักๆ แล้วผมอยากได้แบบนี้ คืออยากให้พลังประชาธิปไตยเข้มแข็ง 

ฝ่ายประชาธิปไตยต้องจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไปทำหลายอย่างร่วมกัน ไม่ได้เกี่ยวกับว่าใครจะเป็นรัฐบาล แต่ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จัดการความสัมพันธ์กับกองทัพ ซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยมีนโยบายที่สอดคล้องกันอยู่แล้ว ก็อยากให้พลังนี้ยังอยู่ด้วยกัน และมันจะโยงไปถึงประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตยไปโดยปริยาย

ประสบการณ์ในชีวิตการเมืองของผมเคยผ่านการเป็นรัฐบาลในช่วงที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมาก จึงไม่มีใครคิดเรื่องการต้องผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากกว่านั้นอีก ณ ตอนนั้นเราเน้นเรื่องการบริหารประเทศ พยายามแก้ปัญหาหลายอย่าง เช่น เศรษฐกิจปากท้อง แต่แล้วการยึดอำนาจก็เกิดขึ้น

เราไปนึกถึงแต่การแก้ปัญหาประเทศโดยไม่ได้นึกถึงว่าประเทศนี้อาจกลายเป็นเผด็จการเมื่อไรก็ได้ ลึกๆ แล้วฝ่ายอนุรักษนิยมหรือฝ่ายนิยมเผด็จการยังมีอำนาจอยู่มาก เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นสองปัญหาที่ตีคู่กันมาเสมอสำหรับประเทศไทย เราจึงต้องการรัฐบาลเพื่อไปแก้ปัญหาประเทศ และต้องการพลังเพื่อที่จะทำให้ระบบบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย หากคุณลืมเรื่องใดเรื่องหนึ่งไป คุณก็จะหลงทางอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ 

ท้ายที่สุด การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจมีทั้งพรรคที่สืบทอดอำนาจเผด็จการและพรรคประชาธิปไตยอยู่ด้วยกัน หากมีการเชิญให้คุณจาตุรนต์ไปเป็นรัฐมนตรี คุณจะตอบรับหรือไม่

ประเด็นนี้ยังคงเป็นเรื่องสมมติ หากผมตอบไปก็อาจไม่เกิดประโยชน์ต่อใครเท่าไรนัก แต่ผมยืนยันไปแล้วว่า การผสมข้ามขั้วเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับผม

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save