fbpx

มนต์รักนักพากย์: จดหมายรักถึงจดหมายรักถึงภาพยนตร์ 

**บทความชิ้นนี้เป็นความเรียงเรื่องส่วนตัวมากกว่าจะเป็นบทวิจารณ์ภาพยนตร์ แต่มีการเปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์**

1

ตอนผมอยู่ชั้นประถมปลาย ผมเคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งหนึ่ง รถเก๋งไทรอัมพ์สีขาวของพ่อ ตกไหล่ทางทะลุเข้าไปในสวนมะพร้าวไม่ไกลมากจากสะพานสารสินระหว่างเดินทางกลับจากการปิ๊กนิกประจำสัปดาห์ ตอนนั้นทุกคนในรถต่างตกใจ แต่ไม่มีใครเป็นอะไรแม้แต่รอยถลอก แม่บอกว่าเป็นเพราะบารมีของรูปถ่ายพระเกจิสำคัญประจำจังหวัดที่แม่ใส่ไว้ในรถ แต่ถึงอย่างนั้น รถก็พังจนขับต่อไม่ได้ ต้องให้รถลากลากเข้าเมือง ไม่นานหลังจากนั้นพ่อก็ขายซากรถสีขาวคันนั้นทิ้งไป รถบ้านคันเดียวที่เราเคยมี หลังจากนั้นเราก็ไม่มีรถประจำบ้านอีก ชีวิตวัยเด็กของผมหดแคบลงจากทะเลนอกเมือง เหลือแค่ละแวกบ้านที่พ่อกับแม่เดินถึง

ผมเกิดและเติบโตในเมือง ล้อมรอบบ้านของเราเป็นโรงหนัง หลังบ้านเป็นโรงพาราไดส์ เลยไปไม่กี่ร้อยเมตรเป็นโรงหนังพิทักษ์กับเริงจิต และไกลกว่าใครเพื่อนแต่อยู่ในระยะเดินถึงคือโรงหนังเพิร์ล ที่ว่ากันว่าเลียนแบบรูปปั้นนูนต่ำหน้าโรงมาจากสกาล่า พ่อกับแม่ต่างชอบดูหนัง ทุกสุดสัปดาห์เราจะได้ดูหนัง ถ้าถามว่าผมกลายเป็นคนคลั่งหนังได้อย่างไร คำตอบน่าจะมาจากพ่อ พ่อพาผมไปดูหนังบ่อยๆ ตอนเป็นเด็ก แล้วพ่อก็เลิกดูหนังไปหลังจากรัฐบาลออกกฎห้ามสูบบุหรี่ในโรงหนัง แต่พอถึงตอนนั้น ผมก็พร้อมที่จะดูหนังคนเดียวได้แล้ว พอไม่มีรถ โลกนอกบ้านใบเดียวที่ผมมีก็เหลือแค่โรงหนัง 

กระนั้นก็ตาม เรา – ผมกับพ่อและแม่ ยังพูดคุยถึงหนังอยู่แม้เราไม่ได้ดูมันในโรงอีกแล้ว ในเวลานั้น รายการทีวีจะยุติการออกอากาศในช่วงเย็น และกลับมาออกอากาศอีกครั้งตอนสองทุ่ม มันเป็นช่วงเวลาของมื้อเย็น รายการวิทยุเปิดเพลงเก่าๆของเอลวิส เพรสลีย์ และพ่อกับแม่จะเล่าเรื่องหนังที่ผมไม่เคยได้ยินให้ฟัง หนังที่พวกเขาดูตอนเป็นวัยรุ่น หนังที่ผมไม่เคยดูปรากฏขึ้นในหัว หนังที่เราดูในหัวของเราก่อนที่เราจะได้ดูมันจริงๆ หนังของเอลวิสที่พ่อคลั่งไคล้แม้จะฟังภาษาอังกฤษไม่ออก หนังของเคิร์ก ดักลาส ป้อมปืนนาวาโรนของเกรกอรี่ เปค หนังคาวบอยของจอห์น เวยน์ หรือการชี้ให้ดูรูปของคลาร์ก เกเบิ้ลที่แขวนในร้านขายรองเท้า ถึงอย่างนั้นพ่อก็ไม่ค่อยพูดถึงมิตรหรือเพชรา เป็นแม่มากกว่าที่พูดถึงสุรพล ดอกดิน และมิตร และบรรดานิยายที่แม่ได้อ่านตอนยังสาวอยู่ เหล่านั้นคือคลาสประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฉบับชาวบ้านพื้นเมืองในต่างจังหวัด

มิตร ชัยบัญชากลายเป็นตัวละครหลักและแก่นกลางของ มนต์รักนักพากย์ หนังเล่าถึงหน่วยหนังรถขายยาของหัวหน้ามานิตย์ ที่ตระเวนทั่วภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างเพื่อขายยาธาตุตราฤาษีถือไพ่ป๊อก รถหนังเร่ขายยา ฉายหนังไทยยุค 16 มม. ที่ถ่ายโดยไม่มีเสียงในฟิล์ม มีแต่บทพากย์และแผ่นเสียงสำหรับดนตรีประกอบ คนฉายต้องพากย์สดทุกรอบต่อหน้าฟิล์มเก่าที่ผ่านการวนฉายซ้ำๆ จนเสื่อมสภาพ ราวกับราวกับการฉายแต่ละครั้งคืองานเฉลิมฉลองความตายของภาพเคลื่อนไหว

หนังเป็นภาพฉายวันชื่นคืนสุขท่ามกลางความยากลำบากของผู้คนในยุคสงครามเย็น หน่วยของมานิตย์ประกอบด้วยตัวเขาเองที่เป็นนักพากย์คนเดียว พากย์ทั้งเสียงหญิงและชาย ลุงหมานเป็นคนขับรถและช่วยขายยา เก่าเป็นเด็กหนุ่มที่ทำหน้าที่เป็นเด็กขนของและคนฉาย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดยั้ง ในช่วงปลายทศวรรษ 1960’s ขึ้น 70’s ที่ในวงการหนังไทยเองขับเคลื่อนด้วยดาราคู่ขวัญ ‘มิตร-เพชรา’ หนังขายยานั้นดูฟรีแต่เบรคการฉายมาขายยาเป็นระยะ คู่แข่งของพวกเขาคือหนังล้อมผ้า หนังกลางแปลงที่เก็บค่าเข้าชม แต่เนื่องจากนั่นเป็นธุรกิจการฉายหนัง ระบบจึงดีกว่า ฟิล์มใหม่กว่า นักพากย์มีทั้งชายและหญิงและคนทำเสียงประกอบเรียบร้อย ทุกอย่างสมบูรณ์แบบกว่าหนังขายยาที่หนังดูจะเป็นเพียงเครื่องมือประกอบการขายของเท่านั้นเอง

แล้วจู่ๆ พวกเขาก็พบเรืองแข หญิงสาวลึกลับปราดเปรียวสูบบุหรี่จัดและกินเหล้าเก่ง เรืองแขมาขอพากย์หนังกับมานิตย์แบบดื้อๆ บอกว่าตัวเองมีประสบการณ์ แต่ไม่ขอเล่าที่มาที่ไปของตัวเอง บอกแค่ว่าจะพากย์หนังอีกสักพัก เพื่อเก็บเงินไปเรียนพิมพ์ดีด และเปลี่ยนอาชีพไปเป็นเลขานุการิณีในบริษัทแทน ในเมื่อมานิตย์ต้องการนักพากย์หญิง มานิตย์ผู้รักในการฉายหนังมากกว่างานประจำก็ตัดสินใจรับเธอเข้าร่วมทีม แหกกฎของบริษัทที่ห้ามคนนอกที่ไม่ได้เป็นพนักงานขึ้นมาบนรถ

กล่าวตามจริง มนต์รักนักพากย์ เป็นหนังแบบที่ไม่ได้มีเรื่องราวมากนัก ตัวมันเป็นเพียงหนังที่ติดตามการเดินทางของหน่วยหนังขายยาไปในที่ต่างๆ ในช่วงเวลาท้ายๆ ของงานแบบนี้ หนังเริ่มฉากแรกด้วยการร่วงหล่น เมื่อหน่วยหนังของหัวหน้ามานิตย์ไปฉายหนังในวัดที่มีแต่นักเลงกับคนแก่มาดู เพราะบรรดาผู้ชมหนุ่มสาวหนีไปดูหนังล้อมผ้าที่มีทุกอย่างสมบูรณ์กว่ากันหมดแล้ว เราก็รู้ได้ทันทีว่าสิ่งที่หนังติดตามไปคือลมหายใจสุดท้ายก่อนแสงดับลาของคนฉายหนังเร่

หนังไม่ได้ให้ปูมหลังใดๆ ของตัวละครหลัก นอกจากเรืองแขที่ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องทั้งหมด ผ่านการเขียนเล่าประสบการณ์ของเธอขณะเร่ร่อนไปกับทีมของหัวหน้ามานิตย์ ตลอดทั้งเรื่องจึงเป็นการท่องไปในทางลำบาก ฉายหนัง ได้บ้างเสียบ้าง และท่องไปในอีกที่หนึ่ง ในทางหนึ่งหนังทำให้นึกถึงหนังที่คว้าจับเอาช่วงเวลาโรยราและการท่องไปของวงดนตรีลูกทุ่งใน อีส้มสมหวัง (2007, บำเรอ ผ่องอินทรีย์) ที่เริ่มต้นด้วยการร่วงโรยของวงดนตรีลูกทุ่งเดินสาย ความรื่นรมย์ของห้วงเวลาสุดท้าย ก่อนจะจบลงจริงๆ ในภาคต่อมาพร้อมกับความตายในชีวิตจริงของยอดรัก สลักใจ ที่เป็นหัวหน้าวงในภาคแรกใน อีส้มสมหวัง ชะชะช่า (2010, วรวิทย์ ผ่องอินทรีย์) 

ดูเหมือนชะตากรรมของวงดนตรีลูกทุ่ง พ้องพานกับหนังเร่ขายยา และพ้องพานกับชีวิตของผู้คนชนบทจำนวนมากในยุคสงครามเย็น การงานแห่งความรักของผู้คนที่แลกด้วยชีวิตยากลำบาก ทั้งนักร้องเพลงลูกทุ่ง หางเครื่อง ไปจนถึงนักพากย์ คนฉายหนัง เร่ไปตามทางถนนหนทางที่ค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อการกระจายอำนาจหรือความอยู่ดีกินดี แต่เป็นไปเพื่อขนส่งสินค้า อาวุธ และสเบียงสำหรับทหารอเมริกันที่มาใช้ประเทศไทยเป็นฐานในสงครามเวียดนาม และสนับสนุนเงินผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเช่นนั้นเอง ถนนมิตรภาพจึงถูกสร้างขึ้นไปจนถึงถนนสายเอเซียอื่นๆ เช่นนั้นเอง รถฉายหนังของหัวหน้ามานิตย์และเครื่องฉายแบบพกพา (ที่หลายส่วนก็อาจมีที่มาผ่านทางค่ายทหารอเมริกัน) จึงเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อฉายหนังได้ 

โดยพื้นฐานแล้วมีบริบทสี่แบบสำหรับการฉายหนังกลางแปลงในหมู่บ้านเล็กๆ หนึ่งคืองานเฉลิมฉลองทางศาสนา/งานรื่นเริงของชาวพุทธที่จัดโดยคนท้องถิ่น โดยมากก็เป็นงานบวช งานศพ หรืองานไหว้บรรพบุรุษ สองคือบรรดาหนังเร่ หนังล้อมผ้าที่ฉายหนังแบบเก็บเงิน สามคือบรรดาหนังขายยาที่มีเป้าหมายเพื่อขายสินค้าโดยมีหนังเป็นเครื่องดึงดูด และอย่างสุดท้ายคือบรรดาหนังโฆษณาชวนเชื่อของอเมริกันในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ หากสำหรับ มนต์​รักนักพากย์ ซึ่งฉายภาพของหนังกลางแปลงสามแบบแรก (หนังขายยา / หนังล้อมผ้า / หนังจ้างงานวัด) และละแบบที่สี่ไว้ เช่นเดียวกับการที่หนังหมุนเหวี่ยงบริบททางการเมืองของสังคมไทยในยุคสงครามเย็นให้เเป็นเพียงฉากหลังจางๆ ของเรื่อง ปรากฏเพียงฉากหนึ่งในการผจญภัยรถหน่วยหนังเจอเข้ากับเสียงปืนและกองทหาร จนจับพลัดจับผลูไปฉายหนังให้ทหารดู อย่างไรก็ตามหนัง ‘มิตรถือปืน’ ที่ฉาย ทั้ง จ้าวอินทรี ทรชนเดนตาย หรือเจ็ดพระกาฬ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นหนังต่อต้านคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น[1] 

อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ไม่ได้มีเป้าหมายในการบันทึกบริบทของยุคสมัยเพื่อสำรวจตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์มัน เพราะสิ่งที่หนังต้องการจะเป็นคือเครื่องมือแห่งการรำลึกอดีต เป็นไทม์แมชชีนของวันชื่นคืนสุข มิตรไม่ได้เป็นมิตรถือปืน หรือมิตรถือผ้าเช็ดหน้า แต่มิตรเป็นมิตร เป็นเพื่อนร่วมทีมที่ไม่มีตัวตนของหัวหน้ามานิตย์ และเป็นมิตรของบรรดาผู้ชมชาวไทยในทุกหนแห่ง การละบริบทสภาพแวดล้อม หรือประเด็นทางการเมืองในขณะนั้นไว้ทำให้หนังเป็นเวลาที่ถูกแช่แข็งเหมือนกับภาพยนตร์ในยุคนั้น เป็นจดหมายรักที่คัดเลือกแต่ช่วงเวลาหอมหวานและขมขื่นจากสายตาของปัจเจกที่ไม่รู้สึกถึงสายใยทางประวัติศาสตร์ที่มากำหนดชีวิตของตน 

2

ในชีวิตนี้ผมเคยดูหนังกลางแปลงหลายครั้ง แต่เคยดูหนังล้อมผ้าแค่ครั้งเดียว เข้าใจว่าเป็นช่วงปลายของยุคหนังล้อมผ้าราวๆ ต้นทศวรรษที่ 2000 ขวบปีที่ตัวเองเพิ่งเรียนจบและไปทำงานอยู่บนเกาะสมุย หนังล้อมผ้าเปิดฉายกลางสวนมะพร้าว  คิดค่าเก้าอี้ตัวละสามสิบบาท ผมจำไม่ได้เลยว่ามันฉายหนังเรื่องอะไร แต่จำได้ว่าการนั่งดูหนังใต้แสงดาวกลางสวนมะพร้าวนั้นงดงาม ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นมีหนังกลางแปลงมาฉายบนลานใกล้ๆ ท่าเรือ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะฉายองค์บาก หนังเป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็นมหรสพของคนหมู่มาก ผมเคยดูองค์บากไปแล้ว แต่การดูหนังกลางแปลงในครั้งนั้นให้ความรู้สึกราวกับว่าผมไม่เคยดูมาก่อน เมื่อบรรดาผู้ชมใส่อารมณ์ร่วมลงไปในหนังอย่างเต็มที่ ทุกการเตะต่อยของจา พนม กลายเป็นการเตะต่อยของทุกคนที่ดูอยู่ด้วยกันในวันนั้น เมื่อจา พนมเจ็บ พวกเขาก็สูดปากตามไปด้วย และเมื่อจา พนมเอาชนะพวกตัวร้ายได้ ผู้ชมก็โห่ร้องยินดี ท่ามกลางเสียงของยวดยานที่แล่นผ่าน และการลุกเข้าลุกออกของผู้คน ไม่มีอะไรที่เหมือนกับการนั่งเงียบๆ ในโรงหนัง ภาพยนตร์มอบความหมายอีกแบบหนึ่งให้เรา 

หลายปีก่อน ผมมีโอกาสพบกับคุณโดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์ ในมื้ออาหารเย็นนั้น ผมไดัฟังคุณโดมเล่าหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่คุณโดมเล่าคือเรื่องของหนังยุค 16 มม. ที่ไม่มีเสียง คุณโดมพูดถึงการพากย์ นักพากย์ ผมจำรายละเอียดได้ไม่มากนัก จำได้คร่าวๆ แค่ว่าข้อสรุปในบทสนทนาคืนนั้นคือเราอาจไม่มีวันจะเข้าถึงอรรถรสที่ครบถ้วนของหนังยุค 16 มม. ได้เหมือนครั้งที่มันออกฉาย เพราะในการฉายแต่ละครั้งมันจะถูกพากย์สด เสียงบันทึกการพากย์นั้นมีเก็บไว้ไม่มากนัก และแน่นอนว่าเกือบทั้งหมดเป็นเสียงของนักพากย์จากส่วนกลาง หนัง 16 มม. ที่เราได้ดูส่วนหนึ่งถูกพากย์ขึ้นใหม่โดยนักพากย์ในยุคต่อมา ถึงที่สุด มันเป็นเพียงประสบการณ์การดูภาพยนตร์แบบมือสอง หรือสาม หรือสี่ 

ในอีกทางหนึ่ง บทความของอดาดล อิงคะวณิช เธอเรียกหนังพากย์ในแต่ละครั้งว่า Versioned film  หรือหนัง ‘ฉบับ’ หนึ่ง และเรียกนักพากย์ว่า ‘versionist’ หรืออาจแปลแบบตรงๆ ว่า ‘ผู้ทำฉบับ’ หรือ ‘ผู้แปล’ เพราะสิ่งที่พวกเขาและเธอทำในทางหนึ่งคือการ ‘แปล’ ภาพที่เงียบใบ้ ให้มีเรื่องราวด้วยการใส่เสียงเข้าไป

ในอีกทางหนึ่งเราจึงบอกได้ว่าการพากย์ ทำให้ ‘ภาพยนตร์’ ที่เป็นประสบการณ์สากล เป็นการผลิตซ้ำเชิงปริมาณที่ผู้ชมทุกคนจะได้รับประสบการณ์เดียวกันนั้นไม่ใช่ประสบการณ์เดียวกันสำหรับทุกคนอีกต่อไป ยิ่งเมื่อพิจารณาว่าภายใต้บทพากย์ที่เป็นภาษาเขียนนั้น นักพากย์สามารถเพิ่มเติมหรือลดทอนสิ่งที่อยู่ในบทพากย์ได้อย่างเป็นอิสระ ในขณะเดียวกันเขาอาจจะใส่มุกตลกเฉพาะกลุ่ม เติมภาษาถิ่น เข้าไปในการพากย์แต่ละครั้ง ถึงที่สุด ภาพยนตร์สากลกลายเป็นมหรสพเฉพาะทางซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละครั้งของการฉาย ในแต่ละพื้นที่ของการฉาย นักพากย์เปลี่ยนให้ภาพยนตร์ที่เป็น ‘เวลาที่ถูกแช่แข็ง’ กลายเป็นมหรสพภาพเคลื่อนไหวแบบครั้งต่อครั้ง สร้างชีวิตให้สิ่งที่ตาย

และนั่นคือสิ่งที่หัวหน้ามานิตย์ทำ เขาสร้างชีวิตให้กับมิตร ชัยบัญชาที่เนือยนิ่งบนจอหนัง 

ในบทความชื่อ Post-War Thai Cinema โดย Mary J. Ainslie พยายามอธิบายลักษณะเฉพาะของหนังไทยยุค 16 มม. ผู้เขียนกล่าวอ้างถึงโรงภาพยนตร์สี่แบบในประเทศไทย ในยุคทศวรรษที่ 1960-1990 โดยเริ่มจากโรงหนังชั้นหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่หรูหราราคาแพง ตามด้วยโรงหนังชั้นสองและชั้นสามตามชานเมืองและหัวเมืองใหญ่ๆ เช่นเชียงใหม่ และแบบสุดท้ายคือบรรดาหนังเร่ ที่ผู้เขียนกล่าวว่าฉายโดยการเร่ร่อนไปตามหมู่บ้าน ฉายหนังที่สภาพเหมือนกากฟิล์ม บางส่วนฉีกขาด บางส่วนไหม้ไฟ บางครั้งสปีดช้าเกิน บางครั้งสปีดเร็วเกิน แต่นั่นไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับผู้ชม เพราะพวกเขาไม่ได้ดูหนังในฐานะ ‘ความเพลิดเพลินส่วนบุคคล’ แบบเดียวกันกับจริตการดูหนังของผู้ชมในโรงหนังที่สืบเนื่องมาจากสุนทรียศาสตร์แบบตะวันตก แต่มันเป็นมหรสพของชุมชน การฉายหนังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานรื่นเริงทั้งหมดที่ประกอบกันเข้าทั้งร้านรวง ผู้คน บรรยากาศ ความดื่มด่ำเฉพาะบุคคลแบบภาพยนตร์แบบตะวันตกนั้นไม่สำคัญเท่ากันกับความสนุกสนานร่วมกันของผู้คนในชุมชนที่ห่างไกล และอาจพูดได้ว่าสุนทรียศาสตร์แบบหนัง 16 มม. ที่มีความ ‘ครบรส’ รัก ตลก บู๊ ดาวยั่ว ออกแบบมาเพื่อรองรับสุนทรียศาสตร์แบบที่ไม่ได้ต้องการความใส่ใจนี้ 

สุนทรียศาสตร์แบบที่ปรากฏใน มนต์รักนักพากย์ จึงเป็นเรื่องของการไปดูหนังมากกว่าตัวหนัง เป็นเรื่องของความรื่นเริงรวมหมู่มากกว่าความดิ่งลึกส่วนบุคคล และทำให้เราได้เห็นว่าภาพยนตร์แต่ละแบบมีวิธีการเข้าหาที่แตกต่างกัน การพากย์นอกบทในภาพยนตร์แบบหนึ่งจึงเป็นเรื่องสนุกและอีกแบบหนึ่งเป็นการหยามหมิ่น[2]

ดังนั้นจึงน่าตื่นเต้นมากที่หนังให้มิตรพูดกับหัวหน้ามานิตย์ว่า “ผมดูดีได้ด้วยเสียงของคุณ” เพราะมันกลายเป็นหัวใจของหนังที่พูดถึงภาพยนตร์ในฐานะของระบบนิเวศที่แวดล้อมตัวมัน นักพากย์ ขบวนหนังเร่ กลายเป็นสิ่งซึ่งเชื่อมโยงโลกพาฝันที่ไกลออกไปบนจอ เข้ากับโลกสามัญดาษดื่นของผู้คนที่อยู่ห่างไกลกับไร่กับนาและกับชีวิตจริงๆ ฉากไคลแมกซ์ของเรื่องจึงเป็นเรื่องของ ‘การพากย์’ ทับลงบนหนังเสียง ความเจิดจ้าของการเชื่อมต่อครั้งสุดท้าย (อย่างน้อยก็สำหรับหัวหน้ามานิตย์) ของสุนทรียศาสตร์ของภาพยนตร์กลางแปลง การปล่อยมุกที่เป็นเรื่องของนักพากย์กับผู้ชมที่มีภาพยนตร์เป็นสื่อ และการลุกขึ้นมาร้องรำทำเพลงของผู้คน การเดินพากย์ไปบังจอ ฉายสายใยที่มองไม่เห็นระหว่างผู้ชม และหน่วยหนังเร่ นักพากย์ที่กำลังดับสูญ ภาพยนตร์เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของระบบนิเวศทั้งหมด แต่ไม่ได้เป็นอำนาจนำโดยตัวของมันเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้แต่ทุกวันนี้ ภายใต้ระเบียบเคร่งครัดและมารยาทในการชมภาพยนตร์ที่มีอำนาจนำอีกแบบ เราอาจยังเห็นความเข้าใจที่มีต่อการไปดูหนังในฐานะมหรสพอีกแบบอยู่ (และแน่นอนว่ามันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ทั้งหมด) 

และก็เช่นเดียวกันกับมิตร ทุนนิยมช่วงใช้ผู้คนแล้วทอดทิ้งไป หนังให้เราเห็นความตายของมิตรบนจอผ่านภาพพร่าเลือนของฟิล์มหนังมิตรที่เล่นหนังคราวละหลายเรื่อง เป็นทั้งใบหน้าของหนังยุค 16 มม. และเป็นเครื่องจักรทำเงินให้กับวงการหนัง และตายจากการถ่ายหนัง วงการภาพยนตร์จึงไม่ได้เป็นศิลปะอันเรืองรองแต่เพียงอย่างเดียว หากยังเป็นโลกโหดร้ายของการขูดรีดแรงงานและหากินกันจนถึงหยดสุดท้าย เมื่อก็อปปี้ฟิล์มม้วนที่แทบจะเป็นขยะยังถูกฉายเพื่อขายยาในหมู่บ้านกลางป่าที่ไหนสักแห่ง ก่อนที่คนที่รักในภาพยนตร์และอุทิศตัวให้อย่างหัวหน้ามานิตย์จะถูกการหมุนไปของเวลาและทุนต้องปรับตัวและกล่าวลา 

3

ผมเริ่มฉายหนังครั้งแรกราวๆ ปี 2009 ในตอนนั้น มันเป็นเพียงความรื่นรมย์ส่วนบุคคลของบรรดานักดูหนังสองสามคนที่พบเจอกันตามเทศกาลภาพยนตร์ ในขวบปีนั้นเทศกาลหนังสั้นที่ตอนนั้นจัดโดยมูลนิธิหนังไทย ผู้จัดจะฉายหนังสั้นทุกเรื่องที่ส่งเข้ามาประกวด โดยจัดฉายต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และมีชื่อเรียกกันว่ารอบมาราธอน

ช่วงเวลานั้นถ้าผมเข้ากรุงเทพฯ ผมก็จะไปหมกตัวอยู่ที่นั่น บรรดาหนังสั้นเหล่านั้นทำโดยนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นนักเรียนหนัง ไม่ได้ทำหนังเป็นอาชีพ เป็นเพียงคนที่เพิ่งหัดจับกล้องและอยากสนุกกับมัน ในแต่ละปีมีหนังสั้นส่งเข้ามาหลายร้อยเรื่องและมันจะถูกคัดเหลือเพียงไม่ถึงหนึ่งในสิบเพื่อฉายในเทศกาล สำหรับเรา มีหนังจำนวนมากที่จะถูกฉายเพียงครั้งเดียวแล้วก็ถูกลืมไป ทั้งจากผู้ชมและจากคนทำเอง

ผมเริ่มต้นกับคุณจิตร โพธิ์แก้ว มิตรสหายคอหนังที่เป็นเหมือนกูเกิลของภาพยนตร์ ทดลองเลือกหนังที่เราชอบ จากนั้นทำโปรแกรมขึ้นมา และฉายเป็นครั้งแรกที่หอศิลป์จามจุรีในวาระครบรอบ 13 ปี ดวงกมลฟิล์มเฮาส์ และโดยไม่ได้ตั้งใจ โปรแกรมหนังสั้นในนาม Wildtype ก็จัดมาแล้ว 14 ปี

ในช่วงเวลานั้นผมเดินทางไปฉายหนังสั้นในหลายๆ ที่หลายจังหวัด ในห้องฉายของมหาวิทยาลัยในปัตตานี ในร้านกาแฟที่นครราชสีมา กลางทุ่งในฤดูหนาวที่มหาสารคาม บนดาดฟ้าตึกที่เชียงใหม่ บนชานพักบันไดที่หาดใหญ่ แกลเลอรีในสงขลาหรือห้องสมุดเอกชนในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ฉายแบบ live ผ่านยูทูบ มันช่วยไม่ได้ที่ผมจะรู้สึกผูกพันกับการงานแห่งความรักของหัวหน้ามานิตย์ที่ทำสิ่งชั่วคราวอย่างเต็มกำลัง 

การฉายหนังและการดูหนังชักพาผู้คนแปลกหน้ามาพบกัน พวกเขาดูหนังแปลกๆ บางเรื่องด้วยกัน จากนั้นนั่งล้อมวงและพูดคุยกัน บางคนรู้จักกันดี บางคนกลายเป็นมิตรสหายใหม่ บางคนก็เพียงผ่านพบและพลัดหายกันไปตามกาลเวลา การฉายหนังสั้นไทย หนังทดลอง หนังสารคดีประหลาดๆ อาจจะต่างจากหนังของมิตร ชัยบัญชา แต่สุนทรียะของการนั่งดูหนังด้วยกัน รู้สึกรู้สมไปพร้อมๆ กัน แลกเปลี่ยนและโต้เถียงกัน เป็นรสชาติของสภาวะรวมหมู่แบบที่การดูลำพังบนจอทีวีที่บ้านให้ไม่ได้ ในทุกๆ หกเกือน เราอาจจะได้อ่านบทความว่าด้วยการตายของโรงภาพยนตร์ การตายของการดูหนังแบบเก่า แต่ถึงที่สุดผู้คนก็ยังออกไปดูหนังในโรง ไปดูหนังด้วยกัน และแม้มันอาจจะไม่ใช่วิธีที่สำคัญอีกแล้วในยุคสมัยนี้ เราก็ยังยืนยันที่จะทำต่อไป

มีอยู่ช่วงหนึ่งของ มนต์รักนักพากย์ ที่จู่ๆ หนังก็ทำท่าจะเป็นหนังรักสามเส้าของ เก่า มานิตย์ และเรืองแข แต่โชคดีที่ดูเหมือนหนังจะพูดกลายๆ ว่าสิ่งที่หัวหน้ามานิตย์รักจริงๆ คือการพากย์หนังไม่ใช่ผู้หญิง ขณะที่เก่าอาจจะรักผู้หญิงแต่ก็เป็นความหมายของผู้หญิงทั่วๆ ไปไม่จำเพาะบุคคล และเรืองแขก็รักที่จะเป็นตัวเอง สาวเฉี่ยวที่เลี้ยงตัวเองได้มากกว่าจะรักผู้ชายสักคนอีกต่อไป

ในฉากเปิดใจเรื่องการจีบเรืองแข หัวหน้ามานิตย์พูดว่าเขา ‘สงสาร’ เรืองแขมากกว่าที่จะตกหลุมรัก และถึงที่สุดพวกเขาก็เป็นเพียงเพื่อนที่ดีต่อกัน เพราะที่เขารักจริงๆ คือการเร่ร่อนไปตามที่ยากลำบาก ปลอมตัวเป็นคนขายยาเพื่อจะได้ฉายหนังของพระเอกที่เขารัก คนที่เขา ‘พากย์เสียงคุณทุกวันเลยครับ’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังที่ฉายมากกว่าจะใช้หนังเพื่อเป็นทางทำกิน 

หนังของมานิตย์เชื่อมโยงเข้ากับพิมพ์ดีดของเรืองแข เมื่อมานิตย์บอกเรืองแขว่าให้ค้นหาสิ่งที่เรารักก่อนจะเริ่มต้นความฝัน พิมพ์ดีดที่เรืองแขต้องการนั้น แรกทีเดียวเธอต้องการจะเอามาใช้มันทำงาน งานที่เธอไม่ต้องรักก็ได้ อย่างเช่นการเป็นเลขานุการิณี แบบเดียวกับที่เราพูดได้ว่ามานิตย์เป็นเซลล์ขายยา ไม่ใช่นักพากย์ และเรืองแขก็แค่ทำมาหากิน แต่ถึงที่สุดพิมพ์ดีดของเรืองแขก็กลายเป็นเครื่องมือที่เรืองแขใช้ในการพิมพ์เรื่องราวของหัวหน้ามานิตย์ออกมา จากเลขานุการิณีไปเป็นนักเขียน ด้วยพิมพ์ดีดเครื่องเดิม ในขณะที่มานิตย์และน้าหมานเปลี่ยนจากหน่วยเร่ฉายหนังขายยาไปเป็นนักพากย์โรงหนัง และเก่าเปลี่ยนจากเด็กฉายหนังนอกจอไปอยู่ในจอ ภาพยนตร์กับพิมพ์ดีดเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเครื่องมือของความรัก จากนั้นเราจึงทดลองไปตามความฝันของตน

แต่งานการอันเป็นที่รักนั้นทำร้ายเราได้อย่างเหลือเชื่อ มนต์รักนักพากย์เริ่มต้นและจบลงในช่วงเวลาที่งานที่รักของมานิตย์กำลังจะจบช่วงชีวิตของมัน หลังงานศพมิตร วงการหนังยุค 16 มม. ก็ค่อยๆ ตายลงไปด้วย หน่วยหนังของหัวหน้ามานิตย์ก็ถูกยุบ การฉายหนังขายยาถูกแทนที่ด้วยโฆษณาทางโทรทัศน์ หนังล้อมผ้าอาจยืดระยะเวลาไปได้อีกหน่อย แต่ไม่ใช่แค่การฉายหนัง วงการหนังไทยก็ร่วงหล่น รุ่งเรือง ถูกแทนที่ด้วยผู้คนใหม่ๆ สลับกันไป 

ฉากไคลแมกซ์การฉายหนังประชันกัน จึงเป็นเรื่องของการ Enjoyed it while it last – รื่นรมย์กับมันในเวลาที่ยังทำได้ การได้ดูความรื่นรมย์ของหน่วยหนังหัวหน้ามานิตย์ ทำให้คิดถึงเหล่าความรื่นรมย์และผู้คนที่ผมได้พบเจอมาตลอดเวลาสิบกว่าปีนี้ แม้ตัวเองจะไม่ได้ทำมาหากินกับสิ่งนี้ เป็นเพียงงานการของความรัก และมั่นใจอย่างยิ่งว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราวที่จะต้องจบสิ้นลงไม่ช้าก็เร็ว แต่การเชื่อใน ‘ชั่วขณะ’ ของการลงมือทำ ‘ชั่วขณะ’ ที่หนังถูกฉาย และผู้คนแลกเปลี่ยนเรื่องราวของตัวเองกับมันขณะที่ดูหนังอยู่ การได้พบปะกับมิตรสหายคนอื่นๆ ในที่ต่างๆ ที่ยังฉายหนังอยู่เพราะอยากดูกับคนที่รักมากกว่าอย่างอื่น จนแทบจะบอกได้ว่านี่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของหน่วยหนังเร่ในยุดิจิทัล ที่ไม่ได้ฉายหนังแบบเดิม หรือออกเดินทางไปแบบเดิม นั่นเป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วของการทำมันต่อไป รื่นรมย์กับมันจนถึงเวลาสุดท้าย 

หวังว่าจะได้ดูหนังด้วยกันครับ 


อ้างอิง

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉายหนังเร่ หนังกลางแปลง และการเดินทางของนักพากย์ได้ที่ Itinerant Cinematic Practices In and Around Thailand during the Cold War

The Unruly Life of Tradition: Versioning, Cinematic Apparatus and Artistic Labour in Thailand – May Adadol INGAWANIJ

Post-War Thai Cinema

References
1 อ่านบทวิเคราะห์ภาพยนตร์ชุดอินทรีแดงของมิตรและความเป็นหนังต่อต้านคอมมิวนิสต์ของมันเพิ่มเติมได้ใน อินทรีแดง: นาฏกรรมของซูเปอร์ฮีโรพันธุ์ไทย โดย กฤตยา ณ หนองคาย
2 แม้จะไม่ได้เอามาใช้อย่างตรงความหมายแต่สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอธิบาย การพากย์หนังในฐานะของ intermiediality และ profanation ในบทความ Itinerant Cinematic Practices In and Around Thailand during the Cold War

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save