fbpx

ขั้วโลกเหนือ ตอนที่ 2: จากน้ำท่วมสู่การระบาดครั้งใหญ่

สำหรับประเทศไทย ‘ขั้วโลกเหนือ’ อาจจะดูเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ห่างไกล หากแต่การพัฒนาเส้นทางการค้ารวมทั้งการแข่งกันของมหาอำนาจเพื่อเข้าไปอ้างสิทธิและถลุงทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณขั้วโลกเหนือกลับส่งผลกระทบต่อไทยอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะหากน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายทั้งหมดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอันเป็นผลมาจากภาวะเรือนกระจก ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

จากการศึกษาของสถาบันคลังสมอง German Watch ซึ่งเก็บข้อมูลยาวนาน 20 ปี จากปี 2000-2019 เพื่อสร้างดัชนี Global Climate Risk Index ซึ่งดัชนีนี้มีการจัดอันดับว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่มีความเปราะบางและได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ประเทศใดบ้าง และผลก็คือ ประเทศไทยของเราถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลกที่มีความสุ่มเสี่ยงนี้[1] และหากมองไปในอนาคต ก็มีงานของ OECD และ University of Southampton ที่วิเคราะห์ต่อไปในอีกประมาณ 50 ปีข้างหน้า ในทศวรรษ 2070s ว่าเมืองใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และข่าวร้ายก็คือ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 7[2] จะเห็นได้ว่าอนาคตทางด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องคำนึงถึง

เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ที่ประชุมสหประชาชาติ ภายใต้กรอบ UNFCCC จึงมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์สำคัญของการเจรจาในการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นระดับที่จะเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติอย่างแก้ไขไม่ได้

ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UNFCCC เมื่อปี 1994 และได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมรับรองพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่กำหนดพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจในปี 2002

ปี 2016 ที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญา UNFCCC ได้จัดทำความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อกำหนดความร่วมมือการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันระดับโลก โดยกำหนด 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1) การควบคุม การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามควบคุมให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม (ศตวรรษที่ 18) 2) การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว และ 3) การสร้างเงินกองทุนหมุนเวียนที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ[3]

แต่สถานการณ์ล่าสุดที่มีการคาดการณ์กันก็คือ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังคงเพิ่มขึ้นที่ระดับ 2.8 องศาเซลเซียส และเชื่อว่าน้ำแข็งขั้วโลกเหนือจะละลายทั้งหมดจะไม่มีมวลน้ำแข็งขั้วโลกอีกต่อไปในช่วงปลายของศตวรรษที่ 21 และหากมีการเปิดเส้นทางการค้า การขนส่งมากยิ่งขึ้นไปกว่านี้ สภาวะดังกล่าวจะยิ่งมาถึงเร็วกว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้

คำถามที่สำคัญคือ เพราะเหตุใด น้ำแข็งขั้วโลกที่จับตัวเป็นมวลขนาดใหญ่ (เทียบเท่ากับขนาดของทวีป) ซึ่งคงอยู่มานานหลายแสนปี (บางพื้นที่นับล้านปี) ถึงจะมาละลายอย่างรวดเร็วในห้วงเวลานี้

ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก โดยปกติน้ำแข็งหรือหิมะมีสีขาว ตามหลักการของการสะท้อนแสง การที่มนุษย์เราเห็นวัตถุมีสีต่างๆ ก็เนื่องจากแสงตกกระทบวัตถุนั้นแล้ว แสงบางสีถูกดูดซับเข้าไปในวัตถุนั้นๆ ในขณะที่สีของแสงบางสีที่ไม่ถูกดูดซับจะสะท้อนเข้ามาสู่สายตาของเรา นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เราได้เห็นสีสันของวัตถุต่างๆ โดยหากวัตถุนั้นมีสีดำ ก็แปลว่าวัตถุนั้นดูดซับแสงเอาไว้ทั้งหมด ไม่มีการสะท้อนแสง (สี) ใดๆ ออกมาทั้งสิ้น ในขณะที่สีขาวคือสภาวะตรงกันข้าม เราเห็นสีขาวเพราะวัตถุนั้นสะท้อนสเปกตรัมของแสงออกมาทั้งหมด ไม่มีการดูดซับแสงเอาไว้เลยแม้แต่น้อย ดังนั้นหิมะหรือน้ำแข็งที่มีสีขาวบริสุทธิ์ก็คือวัตถุที่ไม่มีการดูดซับแสง (ซึ่งเท่ากับไม่มีการดูดซับความร้อน) เข้าไปในตัวของหิมะหรือน้ำแข็งนั้นเลย ทำให้หิมะหรือน้ำแข็งนั้นไม่สะสมความร้อนและแทบจะไม่ละลาย

หากแต่เมื่อมีการขนส่ง หรือเมื่อมีกิจกรรมต่างๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น เขม่าของการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีสีดำจะไปเกาะอยู่บนพื้นผิวของหิมะและน้ำแข็ง ทำให้หิมะและน้ำแข็งเหล่านั้นดูดซับแสงและความร้อนเข้าไปสะสมในตัวของมันเองและเริ่มต้นกระบวนการละลาย และยิ่งหากเส้นทางการค้าเหล่านี้มีการจราจรมากยิ่งขึ้น เขม่าดำก็จะยิ่งมีมากยิ่งขึ้น และเมื่อประกอบกับการอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะเรือนกระจกที่แสงอาทิตย์และความร้อนไม่สามารถระบายออกนอกชั้นบรรยากาศได้ นั่นหมายความว่าน้ำแข็งทั่วโลกจะยิ่งละลายในอัตราเร่ง และเหตุการณ์น้ำท่วมชายฝั่งของหลายๆ เมืองทั่วโลกก็จะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้

อย่างที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่าประเทศไทยคือหนึ่งในประเทศที่มีความเปราะบางสูงสุด แผนที่ด้านล่างแสดงให้เห็นว่าหากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเนื่องจากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างไร ภาพบนคือสถานการณ์น้ำท่วมที่พยากรณ์ ณ ปี 2100 โดยใช้ข้อมูลจาก Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้องค์การสหประชาชาติที่จัดทำฐานข้อมูลของปี 2021 ในฉากทัศน์พื้นฐาน (Base Case Scenario) และภาพล่างคือสถานการณ์ที่การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีความรุนแรง (Worst Case Scenario) จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นฉากทัศน์ใดก็ตาม ศูนย์กลางการเมืองและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศไทยล้วนแล้วแต่จะจมอยู่ใต้มวลน้ำด้วยกันทั้งสิ้น

ขั้วโลกเหนือ ตอนที่ 2: จากน้ำท่วมสู่การระบาดครั้งใหญ่
ขั้วโลกเหนือ ตอนที่ 2: จากน้ำท่วมสู่การระบาดครั้งใหญ่

ที่มาภาพ: https://coastal.climatecentral.org/map/8/100.8749/13.7177/?theme=sea_level_rise&map_type=year&basemap=roadmap&contiguous=true&elevation_model=best_available&forecast_year=2050&pathway=ssp3rcp70&percentile=p50&refresh=true&return_level=return_level_1&rl_model=gtsr&slr_model=ipcc_2021_med

แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เราอาจจะต้องห่วงกังวลมากกว่าน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือน้ำแข็งที่อยู่นอกเขตขั้วโลก โดยเฉพาะน้ำแข็งที่ฝังตัวอยู่ใต้ดินที่ไม่เคยละลายมาตลอดหลายพันจนถึงหลายแสนปีที่ผ่านมาที่เรียกว่า “Permafrost” น้ำแข็งเหล่านี้ฝังตัวอยู่ใต้ดินนอกเขต Artic Circle กินพื้นที่ถึงกว่า 18 ล้านตารางกิโลเมตร สภาวะโลกร้อนจะทำให้น้ำแข็ง Permafrost เหล่านี้ละลายเป็นกลุ่มแรก และเนื่องจากน้ำแข็งเหล่านี้กักเก็บซากสิ่งมีชีวิต แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส เอาไว้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง ซึ่งแน่นอนว่ามนุษยชาติในยุคปัจจุบันที่ไม่ได้คุ้นชินกับสภาวะแวดล้อมในยุคน้ำแข็งอีกต่อไป ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคต่างๆ เหล่านั้นย่อมหายไปจากมนุษย์ในช่วงเวลาหลายพัน หลายหมื่นปีที่ผ่านมา ดังนั้นไม่มีใครกล้าประกันได้เลยว่า หากน้ำแข็งเหล่านี้ละลาย เชื้อโรคที่ถูกกักเก็บอยู่ใน Permafrost เหล่านี้จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกหรือไม่

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พบในปัจจุบันคือ Permafrost จากเทือกเขา Muot-da-Barba-Peider ในภาคตะวันออกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้รับการวิเคราะห์ โดยนักวิจัยในปี 2016 พบว่าในน้ำแข็งเหล่านี้มีจุลินทรีย์ที่หลากหลายซึ่งมีแบคทีเรียและกลุ่มยูคาริโอตอยู่มากมาย กลุ่มแบคทีเรียที่โดดเด่น ได้แก่ Acidobacteriota, Actinomycetota, AD3, Bacteroidota, Chloroflexota, Gemmatimonadota, OD1, Nitrospirota, Planctomycetota, Pseudomonadota และ Verrucomicrobiota เชื้อรายูคาริโอตที่โดดเด่น ได้แก่ Ascomycota, Basidiomycota และ Zygomycota นักวิจัยยังพบด้วยว่า จุลินทรีย์เหล่านี้ได้ปรับตัวสำหรับสภาวะที่อุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์ โดยสามารถลดกระบวนการเมตาบอลิซึมและสามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่ใช้ออกซิเจน[4] นั่นหมายความว่าเชื้อโรคจากโลกโบราณเหล่านี้ยังมีชีวิตและถูกกักเก็บอยู่ใน Permafrost

เช่นเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์เองก็ได้พบว่า ต้นเหตุของการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ในคาบสมุทร Yamal Peninsula ทางไซบีเรียตะวันออกของรัสเซียในปี 2016 ก็เกิดจากการละลายของ Permafrost[5] งานวิจัยในปี 2014 พบว่า Permafrost เป็นแหล่งกักเก็บไวรัสสองสายพันธุ์ คือ Pithovirus sibericum และ Mollivirus sibericum ซึ่งไวรัสทั้งสองอย่างนี้มีอายุประมาณ 30,000 ปีและถือว่าเป็นไวรัสขนาดใหญ่ผิดปกติเนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่าแบคทีเรียส่วนใหญ่และมีจีโนมที่ใหญ่กว่าไวรัสชนิดอื่น ไวรัสทั้งสองยังคงแพร่เชื้อได้[6]

ดังนั้นขั้วโลกเหนือและน้ำแข็งใต้โลก คือสมรภูมิที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคตระหว่างการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจเพื่อเข้าถึงเส้นทางการค้า การขนส่ง และทรัพยากร ในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มความสุ่มเสี่ยงอย่างมหาศาลทั้งในมิติสภาวะแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และสุขภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่เราไม่รู้จัก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นมิติใด ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน


อ่านตอนแรกได้ที่ ขั้วโลกเหนือ ตอนที่ 1: จากความเงียบงันสู่การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์


[1] Germanwatch (2021) “Global Climate Risk Index” 25 Jan 2021  https://www.germanwatch.org/en/cri

[2] Nicholls, R., et al. (2008), “Ranking Port Cities with High Exposure and Vulnerability to Climate Extremes: Exposure Estimates”, OECD Environment Working Papers, No. 1, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/011766488208.

[3] องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). “มารู้จักความตกลง UNFCCC ลดก๊าซเรือนกระจก”. สถานการณ์ก๊าซเรือนกระจก. 31 ม.ค. 62. http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/postมารู้จักความตกลง-unfccc-ลดก๊าซเรือนกระจก-17

[4] Frey, Beat; Rime, Thomas; Phillips, Marcia; Stierli, Beat; Hajdas, Irka; Widmer, Franco; Hartmann, Martin (March 2016). Margesin, Rosa (ed.). “Microbial diversity in European alpine permafrost and active layers”. FEMS Microbiology Ecology. 92 (3): fiw018. https://academic.oup.com/femsec/article/92/3/fiw018/2470103?login=false

[5] Michaeleen Doucleff (2016) “Anthrax Outbreak In Russia Thought To Be Result Of Thawing Permafrost” August 3, 2016. https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2016/08/03/488400947/anthrax-outbreak-in-russia-thought-to-be-result-of-thawing-permafrost

[6] Legendre, Matthieu; Lartigue, Audrey; Bertaux, Lionel; Jeudy, Sandra; Bartoli, Julia; Lescot, Magali; Alempic, Jean-Marie; Ramus, Claire; Bruley, Christophe; Labadie, Karine; Shmakova, Lyubov (2015). “In-depth study of Mollivirus sibericum, a new 30,000-y-old giant virus infecting Acanthamoeba”. Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 112 (38): E5327–E5335. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4586845/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save