fbpx

ชาวสแกนดิเนเวียอพยพในแอฟริกาใต้

ในช่วงประมาณร้อยปี คือระหว่างต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการอพยพของชาวยุโรปออกไปตั้งรกรากในดินแดนอื่นๆ ขนานใหญ่ คนยุโรปประมาณ 50 ล้านคน ออกไปตั้งถิ่นฐานตามบริเวณต่างๆ ของโลก

โดยที่หลายครั้งการไปอยู่ในดินแดนอื่นๆ เหล่านี้ ไม่ใช่การไปปรับตัวเปลี่ยนแปลงเข้ากับดินแดน ‘พื้นเมือง’ ต่างๆ ที่ตนไปถึง แต่เป็นการไปคงอยู่ ไปดำรงความเชื่อ วิถีชีวิต วัฒนธรรม หรือหนักข้อเข้าก็คือไปเปลี่ยนแปลง ไปบังคับ ไปขู่เข็ญ ไปสังหารผู้ที่อยู่ก่อน แล้วสถาปนาอำนาจอธิปไตยขึ้น ในที่สุดตัวแบบเวสฟาเลียนก็ไปลงหลักปักฐานพร้อมๆ ไปกับพระผู้เป็นเจ้าตามดินแดนต่างๆ ทั่วโลก

โดยเฉพาะเหล่ากระฎุมพี ก็ย่อม “ต้องไปตั้งหลักแหล่งทั่วทุกแห่ง ไปเปิดกิจการขึ้นทั่วทุกแห่งและไปสร้างความสัมพันธ์แบบ ‘โลกาภิวัฒน์’ ขึ้นทั่วทุกแห่ง”

ชาวยุโรปและชาวสแกนดิเนเวียที่เดินทางไปดินแดนอื่นๆ (ผมหลีกเลี่ยงใช้คำว่าใหม่ เพราะมันใหม่เฉพาะต่อคนยุโรป คนอื่นๆ เขาอยู่กันมาตั้งนานแล้ว) ส่วนใหญ่ก็จะอพยพไปสหรัฐอเมริกาและแคนาดาสักสองในสาม (ดังที่ผมเคยเล่าเอาไว้ในเรื่องงานเขียนของวิลเฮล์ม โมแบร์ค) ส่วนอีกหนึ่งในสามนั้นกระจัดกระจายออกไปทางใต้ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บราซิล อาร์เจนติน่า และแอฟริกาใต้

วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องชาวสแกนดิเนเวียที่อพยพไปแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นหัวข้อที่มักจะถูกมองข้ามอยู่เสมอ เพราะคนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นจำนวนไม่มากหากเปรียบเทียบกับผู้อพยพกลุ่มอื่นๆ ทั้งหมด คือมีจำนวนเป็นสิบๆ ล้านในสหรัฐอเมริกา หลายล้านในแคนาดา บราซิล อาร์เจนติน่า และออสเตรเลีย ส่วนในแอฟริกาใต้มีจำนวนไม่กี่แสนคนเท่านั้น

ภาพแทนของดินแดนห่างไกล

คงจะเป็นเรื่องปกติอยู่ ที่คนอพยพย่อมจะต้องมีภาพของปลายทางในจินตนาการของตนเองเสมอ และภาพเหล่านี้ไม่ใช่ภาพความเป็นจริง หากแต่เป็นภาพแทนของดินแดนอันห่างไกลที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อมีการเคลื่อนย้าย

วรรณกรรมและบันทึกการเดินทาง เป็นหนึ่งในสิ่งสร้างภาพแทนของแอฟริกาใต้หลักในจินตนาการของคนสแกนดิเนเวีย ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 ก็มีชาวสวีเดนเดินทางถึงแอฟริกาใต้และเขียนบันทึกการเดินทางตีพิมพ์ในตลาดหนังสือของสแกนดิเนเวียแล้ว คนสำคัญก็อย่างเช่น คาร์ล ปีเตอร์ ทุนเบิร์ก (Carl Peter Thunberg, 1743-1828) 

คาร์ล ปีเตอร์ ทุนเบิร์ก ลูกศิษย์ของคาร์ล ลินเนียส (ที่มาภาพ)

ตั้งแต่กลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 ก็มีงานแปลบันทึกการเดินทางสู่แอฟริกาใต้เข้าสู่ภาษาสวีเดน รวมทั้งรายงานการเดินทางของเรือรบยูเจนี (Eugenie) อันเป็นเรือรบของสวีเดนแรกที่เดินทางรอบโลกเพื่อขยายการติดต่อเรื่องการค้าในปี  1854-1855 ซึ่งแวะที่เคปทาวน์สองสัปดาห์ รวมไปจนถึงบันทึกการเดินทางของนักสัตววิทยาสวีเดน โยฮัน เฟรดริก วิคทอริน (J F Victorin, 1831-1855) ที่เดินทางไปลงพื้นที่ศึกษาที่แอฟริกาใต้ช่วงปี 1853-1854 ด้วย

ส่วนนอร์เวย์อาจจะมีตัวอย่างน้อยกว่าบ้าง แต่ผู้อ่านก็สามารถอ่านงานในภาษาสวีเดนได้ กระนั้นก็มีงานของศิษยาภิบาล ฮาล์ฟดัน ซอมเมอร์เฟลต์ (Halfdan A. Sommerfelt) ที่เดินทางไปเผยแผ่ศาสนาที่นั่น

ส่วนทางเดนมาร์ค มีการแปลงานจากภาษาอังกฤษจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนักเดินทางสตรี อลิซาเบธ แฮนเซน (Elizabeth Hansen) ก็ได้ติพิมพ์บันทึกการเดินทางไปแหลมกูดโฮปตั้งแต่ปี 1838 

เรือรบยูเจนี (Eugenie) เรือรบแรกของสวีเดนที่เดินทางรอบโลก (ที่มาภาพ)

ความสัมพันธ์ข้ามน้ำข้ามทะเล

แต่นอกจากภาพแทน ทั้งสองภูมิภาคต่างก็มีความสัมพันธ์ผ่านการเดินทางทางเรือ โดยเฉพาะว่าด้วยการค้าตลอดศตวรรษที่ 19

บริษัทอินเดียตะวันออกเดนมาร์ค (Ostindisk Kompagni) ไปแวะที่เคปทาวน์บ่อยที่สุดในบรรดาเรือจากสแกนดิเนเวียทั้งหมด แต่หลังจากสงครามนโปเลียนจบลงในปี 1815 กิจกรรมที่จะแวะไปทางนั้นก็น้อยลง และทุ่มทรัพยากรไปทางเอเชียตะวันออกมากกว่า ส่วนเรือการค้าจากสวีเดนในเคปทาวน์เองก็ยังมีความคึกคักอยู่บ้าง และขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงปี 1881-1882

ที่น่าสนใจก็คือ บริษัทการค้าของนอร์เวย์นั้นมีค่อนข้างต่ำมาตลอดศตวรรษ แต่พอถึงปลายศตวรรษที่ 19 ตัวเลขกลับเพิ่มสูงขึ้นไปกว่าทั้งเดนมาร์คและสวีเดนรวมกัน

จึงเป็นที่จำเป็นที่จะต้องระบุไว้ในที่นี้ว่า ช่วงทศวรรษที่ 1880s นอร์เวย์ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจการเดินเรือ ไม่ใช่ในสแกนดิเนเวียเท่านั้น แต่ในระดับโลกทีเดียว มีจำนวนระวางน้ำหนักเรือรวมกันทั้งหมดเป็นลำดับที่สามของโลก รองจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ซึ่งใหญ่มหึมาเมื่อเทียบกับขนาดของประเทศ

คลื่นการอพยพระลอกแรก การค้าและการลงหลักปักฐาน

เราอาจจะแบ่งคลื่นการอพยพของชาวสแกนดิเนเวียไปสู่แอฟริกาใต้ในยุคนี้เป็นระลอกใหญ่ๆ ได้สักสองระลอก คือยุคก่อนและหลังการตื่นทองในปี 1886

ชาวสแกนดิเนเวียที่อพยพไปแอฟริกาใต้ก็จะมาจากหลากหลายที่มา ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรยากจนหรือแรงงานเมือง แต่ก็มีผู้มีการศึกษา นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ทั้งที่สำเร็จมาแล้วหรือล้มเหลวมาก่อน และพวกเขาก็จะไปอยู่อาศัยตามเขตเมืองไม่ว่าจะเป็นเคปทาวน์ เดอร์บัน หรือโยฮันเนสเบิร์ก

หลายคนทำอาชีพเกี่ยวกับทะเล ไม่ว่าจะเป็นลูกเรือ ทำประมง หรือล่าปลาวาฬ บ้างเป็นแรงงานสร้างทางรถไฟ หรือทำงานในเหมืองเพชรและเหมืองทอง บ้างก็เป็นช่างไม้ ช่างก่อสร้าง วิศวกร ช่างทำตู้ หรือมีจำนวนไม่มากที่ทำการเกษตร

ในระลอกแรกนี้บุคคลที่จะถูกพูดถึงมากคือ จาคอบ เลตเทอร์สเตดต์ (Jacob Letterstedt, 1796-1862) ชาวสวีเดนผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจในแอฟริกาใต้คนแรกๆ และเป็นบุคคลที่จัดตั้งชักชวนชาวสวีเดนคนอื่นๆ ให้เข้าไปทำงานในแอฟริกาใต้ด้วย เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทต้มกลั่นที่ต่อมาจะเป็นบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ของแอฟริกาใต้

เพราะฉะนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า ในระลอกแรกนี้ รูปแบบการอพยพจะมีลักษณะของการชักชวนหรือผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจในดินแดนปลายทาง มีบทบาทในการคัดเลือกลูกจ้างใหม่ๆ ให้ตัดสินใจอพยพตามมาด้วย

ในช่วงทศวรรษที่ 1870 มีจำนวนตัวเลขของชาวเดนมาร์คอพยพในแอฟริกาใต้เพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงนี้ ผู้ปกครองอังกฤษของเคปทาวน์ทำสัญญากับบริษัทเอกชน เพื่อ ‘นำเข้า’ ผู้อพยพชาวเยอรมันและสแกนดิเนเวียจำนวน 1,500 คน

คลื่นอพยพระลอกที่สองหลังการตื่นทอง พร้อมกับสงครามบัวร์ครั้งที่สอง

หลังจากการค้นพบทองคำ และโดยเฉพาะหลังปี 1886 ภูมิภาคทรานสวาลกลายเป็นดินแดนแห่งโอกาสอย่างฉับพลัน บ้างมีการเรียกภูมิภาคนี้ว่าเป็นซินเดอเรลล่าทีเดียว

เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า จำนวนตัวเลขของการอพยพจากสแกนดิเนเวียมีสูงขึ้น แต่ประเด็นที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้คือ ประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนย้ายนี้เข้าไปปะทะประสานกับประวัติศาสตร์การเมืองยุคอาณานิคมของแอฟริกาใต้อย่างแนบแน่น

การค้นพบแหล่งทองขนาดใหญ่ย่อมเปลี่ยนแอฟริกาใต้ให้กลายเป็นตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของจักรวรรดิอังกฤษอย่างสำคัญ และการอพยพเข้าไปของแรงงานจากยุโรปใหม่ๆ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนขาวที่อพยพเข้าไปอยู่ก่อน นี่เป็นมิติอันซับซ้อนของการเมืองอาณานิคม

หลายๆ ปัจจัยรวมกันเข้าไปสู่สงครามแอฟริกาใต้ (South African War) หรือสงครามบัวร์ครั้งที่สอง (Second Boer War) ช่วงปี 1899-1902 ระหว่างจักรวรรดิอังกฤษกับชาวบัวร์ (แปลว่าชาวนาชาวไร่) ผู้ที่เป็นลูกหลานผู้พูดภาษาดัชต์ตั้งแต่ยุคสมัยบริษัทอินเดียตะวันออกของดัชต์

ในสถานการณ์ส่งครามเช่นนี้ ในยุโรปมีผู้สนับสนุนสงครามทางฝั่งชาวบัวร์ มีการส่งกองกำลังอาสาสมัครเข้าร่วมรบจากหลายประเทศ และหนึ่งในนั้นคือกองกำลังจากสแกนดิเนเวีย (Scandinavian Corps) ต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษ

ค่ายกักกันของจักรวรรดิอังกฤษ

ค่ายกักกันของจักรวรรดิอังกฤษ (ที่มาภาพ)

กองกำลังของชาวบัวร์นั้นมีน้อยกว่า จึงต้องทำการรบกับจักรวรรดิอังกฤษด้วยวิธีสงครามกองโจร และการรับมือของจักรวรรดิผู้ดีอังกฤษคือ ‘กลยุทธ์ผลาญภพ’ (scorched earth) ทำลายทุกสิ่งทุกประการที่จะเป็นประโยชน์ต่อศัตรู ไม่ว่าจะเป็น ผลหมากรากไม้ ไร่น่า บ้านช่อง ฯลฯ ผู้ดีอังกฤษเผาทำลายเรียบเหี้ยน

และผู้ดีอังกฤษนี้เอง ที่เป็นผู้ตั้งค่ายกักกัน (concentration camps) บังคับพลเมืองชาวบัวร์เป็นแสนๆ คนเข้าไปกักกัน รวมทั้งชาวแอฟริกันผิวดำ ที่ถูกสงสัยว่าช่วยเหลือชาวบัวร์ก็ถูกจับเข้าค่ายกักกันเรียบ มีคนตายจากการขาดอาหารและโรคไปกว่า 25,000 คน

ไม่ใช่มีแต่นาซีเยอรมนีเท่านั้นที่มีวิศวกรออกแบบค่ายกักกัน หากเราจะจำเรื่องค่ายกักกัน เราต้องรวมวิศวกรของจักรวรรดิอังกฤษเข้าไปด้วยครับ เราต้องไม่ลืมประวัติศาสตร์ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

มรดกของอาณานิคม

อนุสรณ์สถานรำลึกถึงกองกำลังอาสาสมัครจากสแกนดิเนเวียในสงครามอังกฤษ-บัวร์ (ที่มาภาพ)

หลายคนต้องร้องทักแล้วว่า แล้วชาวพื้นเมืองไปอยู่ที่ไหนกันหมดเล่า เรื่องนี้คงต้องนำมาเล่าในวาระอื่นๆ ครับ แต่ที่จะเล่าได้ก็คือ หลังจากสงครามจบเกิดมรดกของอาณานิคมต่อมา เพราะคนสแกนดิเนเวียอพยพก็ลืมเก่งไม่แพ้ใครๆ

หลังจากสงครามได้สัก 25 ปี (ช่วงทศวรรษที่ 1920) เกิดเรื่องเล่าใหม่ เป็นเรื่องเล่าในการสร้างความสมานฉันท์ในหมู่ชาวผิวขาว เหล่ากลุ่มกองกำลังจากสแกนดิเนเวียเหล่านี้และลูกหลานของพวกเขา ก็ร่วมรำลึกอนุสาวรีย์ผู้กล้าเหล่านี้ในเรื่องเล่าใหม่ เป็นเรื่องความสมานฉันท์ ความพยายามของชาวผิวขาวผู้เป็นพี่น้องร่วมกันสร้างชาติแอฟริกาใต้ร่วมกัน และไม่ได้เป็นศัตรูกันอีกต่อไป

อีกไม่กี่สิบปีต่อมานโยบายอพาร์ไทด์ (Apartheid) ก็ประกาศอย่างเป็นทางการ


อ้างอิง

– Eero Kuparinen, An African Alternative: Nordic Migration to South Africa, 1815-1914 (1991) 

– Christian Gerdov, “A Scandinavian“MagnaCharta”? The Scandinavian Corps And The Politics Of Memory in South Africa (1899–1927) Historia 61 (2) November 2016, 54-78.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save