fbpx

ผู้อพยพของวิลเฮล์ม โมแบร์ค

ถ้าผู้อ่านท่านใดเกิดทันเข้าไปดูหนังเรื่อง Titanic ในโรง (!) อาจจะจำบทบาทของพระนางได้อย่างไม่ลืมเลือน พร้อมๆ ไปกับเพลงประกอบภาพยนตร์ที่เป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก รวมทั้งรายได้และรางวัลที่หนังเรื่องนั้นกวาดไป

แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผู้ชมส่วนมากอาจจะมองข้ามไป นั่นก็คือคนที่ตายส่วนใหญ่ในเหตุการณ์นั้นเป็นผู้โดยสารชั้นสาม ผู้ถือตั๋วราคาถูกที่สุด และได้รับการช่วยเหลือน้อยที่สุด (มีเพียงเสียงสวดมนต์ของพระให้พวกเขาก่อนตายเท่านั้น)

กลุ่มผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดมากที่สุดเป็นชาวอังกฤษ ส่วนชาติผู้ที่เสียชีวิตมากที่สุดรองลงมาเป็นชาวสวีเดน และชาวไอร์แลนด์ตามลำดับ

คำถามก็คือ ในปี 1912 ที่เรือไททานิคอับปางลงนั้น มีบริบทอย่างไรที่ผลักดันให้คนออกเดินทาง ชาวสวีเดนเหล่านี้จำนวนมากเดินทางไปไหน และด้วยเหตุผลกลใดที่ผลักดันให้พวกเขาออกเดินทางกันเป็นหมู่มาก ซึ่งในกรณีของการโดยสารครั้งนั้น กลับต้องมาเสียชีวิตกันหมด ไปไม่ถึงจุดหมาย

อพยพ

ระหว่างปี 1845-1930 เกิดการอพยพครั้งใหญ่จากสวีเดนไปยังสหรัฐอเมริกา ชาวสวีเดนจำนวน 1.2 ล้านคน หรือถือเป็นหนึ่งในห้าของประชากรทั้งหมด เก็บข้าวเก็บของหนีความยากจนและความอดอยากแห้งแล้ง การกดขี่จากทั้งศาสนาและทั้งรัฐบาล ไปสู่ดินแเดนแห่งโอกาสใหม่ คนเหล่านี้เป็นคนหนุ่มสาว ผู้เป็นลูกหลานชาวนาชาวไร่หรือแรงงานในเขตเมือง

จำนวนที่มากขนาดนี้ ถือเป็นการอพยพในอัตราต่อหัวประชากรประเทศต้นทางที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การอพยพเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ประเทศนอร์เวย์และไอร์แลนด์ก็มีจำนวนคนหนุ่มสาวอพยพหนีความยากจนกันเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน

นี่เป็นสาเหตุว่าทำไม คนที่จมน้ำตายจากการอับปางของเรือไททานิคส่วนใหญ่จึงเป็นคนหนุ่มสาวชาวสแกนดิเนเวียจำนวนมาก

ผู้บันทึกการอพยพ

วิลเฮล์ม โมแบร์ค (1898-1973) (ภาพจาก wikipedia.org)

นักเขียนสังคมนิยม ชนชั้นแรงงาน ลูกชาวนาสวีเดนจากภูมิภาคสมอลันด์ (Småland) คนหนึ่ง เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เรื่องการอพยพใหญ่ครั้งนั้นเข้าไปอยู่ในความทรงจำสาธารณะ เขาคือ วิลเฮล์ม โมแบร์ค (Vilhelm Moberg, 1898-1973)

โมแบร์คเป็นลูกคนที่สี่จากหกคน (รอดจนโตเพียงสามคน) จากครอบครัวชาวนาและทหารชั้นประทวน เกิดและเติบโตในไร่นา ตั้งแต่เด็กเขาเป็นแรงงานในนาและเข้าไปทำงานในโรงงานเป่าแก้ว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของภูมิภาค  ด้วยความยากจนก็ทำให้ครอบครัวไม่มีบ้านเป็นของตนเองได้นาน เพราะเดี๋ยวก็ถูกยึดไป

ในชีวิตวัยเยาว์ เขาเข้าโรงเรียนศึกษาในระบบได้เพียงหกปีเท่านั้น ที่เหลือเป็นการเรียนเขียนอ่านด้วยตัวเองล้วนๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่บ้านว่าเขาเป็นหนอนหนังสือ อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า และเคยเขียนเรื่องจนได้ตีพิมพ์ตั้งแต่อายุ 13

แถมพออายุได้ 20 ปี เขาติดเชื้อไข้หวัดสเปน ป่วยเกือบตายอยู่ครึ่งปี แต่รอดมาได้

หลังจากที่รอดตายจากไข้หวัด โมแบร์คเข้าทำงานสำนักงานหนังสือพิมพ์ ซึ่งจะเป็นแหล่งขัดเกลาการเขียนของเขาอยู่หลายปี และจะได้มีโอกาสได้พิมพ์งานเขียนที่นั่น

ตลอดช่วงวัยหนุ่ม  โมแบร์คเป็นผู้ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองเสมอ เขาเข้าเป็นสมาชิกสโมสรเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตยตั้งแต่วัยรุ่น และความตื่นตัวทางการเมืองของเขาก็คงค่อยๆ บ่มเพาะขึ้น และตกผลึกในทศวรรษต่อๆ มา

ชีวิตของโมแบร์คเข้าสู่การเป็นนักเขียนอาชีพ เขากลายเป็นปัญญาชนสาธารณะที่มีบทบาทในการถกเถียงประเด็นอันแหลมคมต่างๆ ในประเทศสวีเดน จากจุดยืนต่อต้านการกดขี่ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบกษัตริย์ ต่อต้านระบบราชการอันกดขี่ ต่อต้านการคอร์รัปชั่น

งานเขียนของเขาจะพูดถึงชีวิตคนธรรมดา คนยากคนจน คนที่ถูกกดขี่ ซึ่งไม่ว่าจะเขาจะเขียนเรื่องใดๆ ก็ตาม โมแบร์คจะค้นคว้าอย่างลึกซื้งก่อนเสมอ พร้อมทั้งด้วยความมีพื้นเพจากคนชั้นล่าง เขาจะถือว่ามุขปาฐะ (oral tradition) เป็นแหล่งสำคัญในการบันทึกถึงชีวิตของคนต่างจังหวัด คนยากคนจน และจากแหล่งเหล่านี้ทำให้เขาเขียนถึงชีวิตของคนเหล่านี้ให้มีเสียงขึ้นมาได้

ต่อต้านเผด็จการและสงคราม

บทบาทของโมแบร์คในฐานะนักเขียนผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นปรากฏชัดเจนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อระบอบนาซีเรืองอำนาจ

ในปี 1941 ช่วงเวลาที่สงครามเข้าสู่จุดเข้มข้น เขาตีพิมพ์งาน Ride this Night! (Rid i natt!, 1941) เป็นนิยายประวัติศาสตร์ว่าด้วยกบฏชาวนาต่อต้านเจ้าที่ดินเยอรมันในสวีเดนศตวรรษที่ 17 ซึ่งจับใจผู้อ่านสวีเดนอย่างมาก ได้รับความนิยมกระทั่งในปีถัดมามีการนำนิยายเรื่องนี้ไปทำเป็นภาพยนตร์

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า เขากำลังโจมตีระบอบนาซีอยู่ และเป็นเหตุที่หนังสือของเขาก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่ระบอบนาซีสั่งเผาในเวลานั้นด้วย

นิยาย Rid i natt! ต่อต้านระบอบนาซี (ภาพจาก wikipedia.org)

นิยายชุด ผู้อพยพ

แม้วิลเฮล์ม โมแบร์คจะเขียนงานหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรายงานข่าว บทความ บทวิวาทะ สารคดีประวัติศาสตร์ บทละคร นิยาย ฯลฯ แต่ชุดงานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ นิยายชุด ผู้อพยพ (Utvandrarna) ซึ่งประกอบไปด้วยนิยายสี่เล่มที่เขาเขียนขึ้นระหว่างที่ 1949-1959 (Utvandrarna, 1949; Invandrarna, 1952; Nybyggarna, 1956; Sista brevet till Sverige, 1959 – ทั้งหมดได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว)

นิยายชุดนี้เป็นเรื่องของครอบครัวผู้อพยพชาวสวีเดน ติดตามพวกเขาตั้งแต่ความทุกข์ยากของชีวิตในไร่นาที่บ้านเกิด การตัดสินใจโยกย้ายถิ่นฐานจากภูมิภาคสมอลันด์ไปยังมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา แสดงออกถึงความยากเย็นของการเป็นผู้อพยพ ใจหนึ่งก็ต้องการค้นหาชีวิตที่หวังว่าจะดีกว่า อีกใจหนึ่งก็กลัวการพลัดพรากและการสูญเสียที่ๆ เคยเป็นบ้านของตนเอง

แน่นอน นี่รวมถึงความรู้สึกอันถั่งท้นเหล่านี้ในใจของผู้อพยพที่อยู่ในห้องโดยสารชั้นสามของเรือไททานิคนั่น

นิยายชุดนี้ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์สองเรื่องโดยผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญของสวีเดนอีกคนหนึ่งคือ ยาน โทรล (ในการเขียนหนังสือชุด ผู้อพยพ นี้ โมแบร์คไม่ได้เพียงแต่จินตนาการขึ้นเอง เขาทำการค้นคว้าและเก็บข้อมูลอยู่หลายต่อหลายปี ทั้งจากคำบอกเล่า (ครอบครัวของเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่ง) จากจดหมาย จากรายงานข่าว ฯลฯ ทั้งในสวีเดนและในสหรัฐอเมริกาย

The Emigrants (1971) กำกับโดย Jan Troell (ภาพจาก wikimedia.org)

นักประวัติศาสตร์ “สมัครเล่น”

ในการเขียนหนังสือชุด ผู้อพยพ นี้ โมแบร์คไม่ได้เพียงแต่จินตนาการขึ้นเอง เขาค้นคว้าและเก็บข้อมูลอยู่หลายต่อหลายปี ทั้งจากคำบอกเล่า (ครอบครัวของเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่ง) จากจดหมาย จากรายงานข่าว ฯลฯ ทั้งในสวีเดนและในสหรัฐอเมริกา

นี่คือการทำงานประวัติศาสตร์โดยพื้นฐาน เพียงแต่โมแบร์คไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์อาชีพ ไม่ได้มีปริญญงปริญญาอะไรที่จะได้รับการยอมรับในวงการประวัติศาสตร์อาชีพในมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่เขาเขียนเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ที่อิงอยู่กับอำนาจชนชั้นนายทุนและชนชั้นสูงทั้งหลายมองข้ามไป

นิยายชุด ผู้อพยพ ในภาษาอังกฤษ (ภาพจาก amazon.com)

ในช่วงปี 1970-1971 เขาตั้งใจจะเขียนประวัติศาสตร์ของประชาชนสวีเดนสามเล่ม เป็นประวัติศาสตร์ “ผู้อยู่ในสถานะรอง” ที่ชนชั้นนำจากสตอคโฮล์มไม่ค่อยจะได้รับรู้มากนัก (Min svenska historia Del I, II ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว) โดยจากปากคำของเขาเอง เขาตั้งใจจะเขียนประวัติศาสตร์ของคนที่ถูกลืม และ

“เมื่อข้าพเจ้าอ่านหนังสือกว้างขวางมากขึ้น ข้าพเจ้าตระหนักว่าประวัติศาสตร์ของสวีเดนส่วนใหญ่เป็นเรื่องของปัจเจกกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น กล่าวคือเป็นเหล่าผู้ตัดสินใจ ว่าประชาชนจะต้องมีชีวิตอยู่เช่นใด มวลชนมหาศาลของประเทศไม่ได้เข้ามาอยู่ในประวัติศาสตร์นี้ จริงอยู่ที่งานวิจัยล่าสุดได้หันมาเขียนถึงสังคมอยู่บ้าง แต่ผู้ข้าพเจ้าใคร่จะเห็นคือชาวสวีเดนที่ไถหว่านที่ดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตที่บุกเบิกถางป่า ที่ทำถนน ที่สร้างปราสาทราชวัง สร้างป้อมปราการให้แก่กษัตริย์ ที่สร้างเมืองและสร้างกระท่อม คนเหล่านี้ที่ถูกขูดรีดภาษี เพื่อนำไปจ่ายแก่ขุนนาง เจ้าภาษี หรือข้าราชการ ทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้เห็นเรื่องราวเหล่านี้น้อยเต็มที ทั้งเหล่าทหารที่ตายในสมรภูมินอกประเทศในนามแผ่นดินของตน ข้าพเจ้าใคร่เห็นชีวิตของพวกเขา เหล่าภรรยาที่รอพวกเขากลับมาบ้าน ทั้งข้าพเข้าใคร่เห็นเรื่องราวของชนชั้นผู้รับใช้ทั้งชนชั้น ทั้งชายหญิง ทั้งเหล่าแรงงานที่ถูกกฎหมายไม่เป็นธรรมบังคับ ทั้งข้าพเจ้าไม่ได้ยินเรื่องราวของเหล่าคนร่อนเร่ ผู้ไม่มีที่ดินหรือบ้านเป็นของตนเอง…”

แน่นอน วิลเฮล์ม โบแบร์ค คงจะเป็นเดือดเป็นแค้นยิ่ง เมื่อเห็นสวีเดน สแกนดิเนเวียและประเทศในยุโรปปัจจุบัน ก่อตัวต่อต้านผู้อพยพ และใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นหลบหลีกปัญหาที่แท้จริง นั่นคือปัญหาทุนนิยมที่ทำให้ความไม่เท่าเทียมระหว่างมหาเศรษฐีและคนทำมาหากินทั่วไปของสวีเดน มีรายได้ที่ห่างจากกันมากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป -นี่เป็นภาพที่ไม่ปรากฎออกไปมากนักในสื่อสารมวลชนเสรีนิยมประชาธิปไตยพูดภาษาอังกฤษ

ในปี 1973 ขณะที่โมแบร์คกำลังพยายามเขียนประวัติศาสตร์ผู้อยู่ในสถานะรอง เขาจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายในทะเลสาบข้างบ้านพัก


อ้างอิง

– Roland Paul, “Vilhelm Moberg and Swedish ‘Arbetarlitteratur’”, History Workshop 1977: 4,  226-227

– Roland Paul, “Sweden, Migration, and the Emigrant Novels of Vilhelm Moberg”, Socialism and Democracy, 33:1, 186-196

– Wikipedia.com

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save