fbpx

“อาณาเขต” : เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว

ผมยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าผมมีความอิ่มตัว (เบื่อ) กับวรรณกรรมซีเรียส หรือประเภทวรรณกรรมสายแข็งทั้งหลายที่ฟูมฟักความสนใจในเรื่องวรรณกรรมไทยร่วมสมัยของผมเองอยู่ไม่น้อย เบื่อกับความพยายามในการประกาศ statement ทางการเมืองที่เข้มข้น ดุดัน และมีความพยายามจะหาวิธีการเล่าที่แพรวพราว หาลูกล่อลูกชนมาเล่นหลอกล่อทำนองเอาล่อเอาเถิดกับผู้อ่าน รำซ้าย รำขวา ควงขวาน/มีด/ปืน/ดาบ ไปมาอยู่บนเวที นอกจากนี้ผมพบว่าวรรณกรรมซีเรียสนั้น….

ข้อแรก – ไม่ได้พาคนอ่านไปไหนมากไปกว่าการแสดงแสนยานุภาพทางวรรณกรรมของผู้เขียนเอง

ข้อสอง – ไม่ได้สื่อสารกับผู้อ่านจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ statement ทางสังคมการเมืองเหล่านั้นมี ‘ท่าที’ บางอย่างที่ ‘ผม’ สัมผัสได้ว่ามีความต้องการที่จะ ‘เปลี่ยนแปลงโลก’ ซึ่งผมก็ออกจะงงว่า ‘โลก’ ของพวกเขานั้นมีกันอยู่กี่คน

ข้อสาม – ไม่บันเทิง (ข้อนี้อาจเถียงได้ว่าไม่บันเทิงผม แต่อาจจะบันเทิงกับคนอื่นก็ได้นี่หว่า… ครับ ก็ยินดีด้วย) 

จนแล้วจนเล่า ผมไปเห็นนวนิยายเล่มหนึ่งที่โฆษณาอยู่ในเฟซบุ๊ก คือเรื่อง “อาณาเขต” ของ นิธิ นิธิวีรกุล [1] ผมได้ยินชื่อเขามานานในฐานะนักเขียน เคยเจอกันบ้างตามงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับสังคม การเมือง วรรณกรรม แต่ผมไม่เคยได้อ่านงานของเขาจริงๆ จังๆ สักที จนกระทั่งได้อ่านข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับนวนิยาย “อาณาเขต” พบว่าเป็นเรื่องของโรคระบาดกับสังคม ผมจึงรู้สึกว่า นานๆ จะมีโอกาสได้อ่านวรรณกรรมซีเรียสที่มีประเด็นร่วมสมัยอย่างทันทีทันใดโดยไม่ต้องรอให้เหตุการณ์สำคัญในสังคมจบไป ‘สักพักหนึ่ง’ เสียก่อน และผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรต่อจากนั้น ผมแค่อยากรู้ว่า นิธิมีเรื่องอะไรจะเล่าโดยเฉพาะในประเด็น ‘โรคระบาด’ ซึ่งเป็นปมปัญหาสำคัญ ไม่เพียงแต่สังคมไทย แต่เป็นปัญหาร่วมกันของมนุษยชาติเลยทีเดียว…

ดังนั้นนวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผมไม่น้อย 

เรื่องและโครงเรื่องของ “อาณาเขต”

เรื่องราวใน “อาณาเขต” เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘โรคระบาด’ อย่าง ‘กาฬโรค’ ที่เกิดขึ้น ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อและคร่าชีวิตของผู้คนจำนวนมาก โรคระบาดที่กลับมาระบาดอีกครั้งนี้ถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่ามี ‘ผู้ไม่หวังดี’ ปล่อยให้เกิดโรคระบาดนี้ด้วยความจงใจและมีแรงจูงใจที่ไม่แน่ชัด ตัวเรื่องจึงพยายามสืบสาวราวไปว่าผู้ต้องสงสัย “อัณณ์ คณัสนันท์” เป็นใคร เขาคือผู้ปล่อยให้มีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคร้ายนี้หรือไม่ และความจริงคืออะไร

ในเบื้องต้น นิยายเรื่องนี้จึงดูเหมือนนิยายสืบสวนสอบสวนที่พยายามหาสาเหตุและเหตุผลให้กับเหตุการณ์ฆาตกรรม เพียงแต่ว่าใน “อาณาเขต” นั้น การฆาตกรรมมีความคลุมเครือและสับสนว่ามีการฆ่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือเราอาจตีความได้ว่า โรคระบาดนั่นแหละคือฆาตกรรมอย่างหนึ่ง แต่คำถามที่สำคัญคือ ใครกันล่ะคืออาชญากร 

โครงเรื่องหลักของ “อาณาเขต” คือความพยายามตามหาตัวละครลึกลับที่ชื่อ “อัณณ์ คณัสนันท์” เพื่อค้นหาความจริงซึ่งเชื่อมโยงระหว่างโรคระบาดกับตัวอัณณ์ โดยมี “ยศเส” ตัวละครอีกตัวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทำหน้าที่สืบสาวราวเรื่องต่างๆ ยศเสทำรายงานชิ้นหนึ่ง (เข้าใจว่าเสนอต่อผู้บังคับบัญชาของเขา) เพื่อเสนอว่าอัณณ์ คณัสนันท์มีส่วนร่วมในการ ‘แพร่เชื้อกาฬโรค’ โดยมีเพียง ‘บันทึก’ ที่ถูกกล่าวอ้างและถูกทำให้เชื่อได้ว่าเป็น บันทึกของอัณณ์ คณัสนันท์ (ช่างซับซ้อนเหลือเกิน)

บันทึกฉบับดังกล่าวนี้มีลักษณะเป็นเรื่องแต่งที่ผสมปนเปเข้ากับเรื่องจริง ซึ่งยศเสนำมา ‘ตีความ’ และกล่าวหาอัณณ์ว่าเขามีส่วนร่วมสำคัญกับการระบาดของกาฬโรคไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นคือ “หากไม่ใช่ผู้ทำการแพร่เชื้อเสียเอง เขาย่อมรู้จักติดต่อกับผู้ที่ทำพาหะเชื้อกาฬโรคขึ้นมา” (หน้า 102) อย่างไรก็ตาม ในข้อเท็จจริง (ที่ปรากฏในเรื่อง) ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนใดๆ ทั้งสิ้นที่สรุปว่าอัณณ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบาดของกาฬโรค มีแต่เพียงบันทึกที่มีสถานะคลุมเครือเท่านั้น ที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักฐาน และจากบันทึกนี้เองที่ทำให้ยศเสเสนอไว้ในรายงานของเขาว่า ต้องสืบหาตัวอัณณ์ คณัสนันท์ให้ได้

ในส่วนของโครงเรื่องรอง คือเรื่องราวในการสืบสวนหาตัวอัณณ์ของยศเสซึ่งไปคุยกับบุคคลต่างๆ ที่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับตัวอัณณ์ คณัสนันท์ เช่น พิชญ์ บรรณาธิการที่เคยพิมพ์หนังสือของอัณณ์, นิธิ นิธิวีรกุล นักเขียนที่คาดว่าน่าจะเป็นตัวตนที่แท้จริงของ อัณณ์ และอดีตคนรักของนิธิ นิธิวีรกุล ที่เคยคุยกับ อัณณ์ อยู่ช่วงหนึ่ง ในท้ายที่สุดเรื่องก็ขมวดมาว่า แท้จริงแล้ว อัณณ์ คณัสนันท์ คือชื่อเก่าของนิธิ นิธิวีรกุล

ดังนั้น อัณณ์ คณัสนันท์ และ นิธิ นิธิวีรกุล จึงเป็นคนๆ เดียวกัน ส่วนคนที่เขียนบันทึกเจ้าปัญหานี้มีชื่อว่า พงษ์ศักดิ์ นิลตระกูล และตามแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีในตอนท้ายหลังจากโรคระบาดได้ยุติลงกล่าวไว้ว่าพงษ์ศักดิ์ผู้นี้ “ยังคงสาบสูญ และอาจเสียชีวิตไปแล้วในฐานะของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ (ของโรคระบาด — อาทิตย์) อีกคนเช่นกัน” (หน้า 236) 

แต่แท้จริงแล้ว เป็นเพราะยศเสไม่ได้นำพาตัวพงษ์ศักดิ์มอบตัวให้กับทางการ เนื่องจากตัวยศเสเองก็ดูเหมือนว่าจะเข้าอกเข้าใจสิ่งที่พงษ์ศักดิ์ทำไปไม่น้อย และเขาคิดว่าตัวเขากับพงษ์ศักดิ์มีจุดร่วมกันทางอารมณ์หลายประการ “…เมื่อผมกลับมาถึงบ้านของตัวเองในวันที่สรุปส่งรายงานแล้วพบความว่างเปล่าของบ้านที่ผม ‘เพิ่ง’พบความเกี่ยวพันบางประการในเชิงความรู้สึกที่อัณณ์กับผมมีร่วมกัน” (หน้า 104-105) และยศเสเองก็ไม่ปักใจเชื่อว่าพงษ์ศักดิ์เป็นผู้ปล่อยเชื้อกาฬโรค เขาจึงปล่อยพงษ์ศักดิ์ไว้ แล้วกลับไปรายงานต่อผู้บังคับบัญชาว่าพงษ์ศักดิ์ตายไปแล้ว เพราะหาตัวไม่เจอ 

พงษ์ศักดิ์ นิลตระกูล ผู้เขียนบันทึกซึ่งมีร่องรอยของหลักฐานที่ (ไม่ชัดเจน) ชี้ให้เห็นว่าโรคระบาดเกิดขึ้นจากเขา บุคคลนี้เลือกที่จะขโมยตัวตนของอัณณ์ คณัสนันท์ หรือ นิธิ นิธิวีรกุล เพราะ 

“ผมอ่านหนังสือของเขาแล้วรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของตัวละครจนผมรู้สึกอยากเป็นเหมือนเขา ผมเคยพยายามหัดเขียน เคยหัดทำหลายอาชีพ เป็นหลายอย่าง ผมอ่านบทสัมภาษณ์ของเขา อ่านหนังสือของเขา แต่ยิ่งผมพยายามเป็นเหมือนเขา ผมกลับยิ่งรู้สึกแปลกแยกกว่าเดิม…” (หน้า 183) 

เมื่อนักเขียนจับเรื่องเล่ามาแก้ผ้าเสียเอง…
ในยุคสมัยปัจจุบัน

นวนิยาย “อาณาเขต” เป็นนวนิยายที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนในหลายมิติ ทั้งในเรื่องของกลวิธีที่ใช้ รูปแบบของประเภทวรรณกรรม (genre) ที่พยายามจะนำเสนอ มิติของความจริงที่ทับซ้อนกันมากมาย การตระหนักรู้ในความเป็นเรื่องแต่งของตัวละครทุกตัว การวิพากษ์วิจารณ์รัฐ การวิจารณ์วรรณกรรม การวิจารณ์ตัวเอง ฯลฯ

เรียกได้ว่า นวนิยายเรื่องนี้เป็นทุกอย่างมากมายเหลือเกิน 

ข้อที่น่าสนใจบางประการคือ “อัณณ์ คณัสนันท์” ก็เป็นนามปากกาอีกชื่อหนึ่งของ “นิธิ นิธิวีรกุล” ที่เขียนเรื่องผี และมีผลงานมาแล้ว 3 เล่ม ส่วนนิธิ นิธิวีรกุลในเรื่องก็เป็นการนำเอา ‘ตัวนักเขียน’ มาเป็นตัวละครในนวนิยายที่ตัวเองเขียน รวมถึงยังมีการพูดถึงผลงานก่อนหน้านี้ของตัวเองในงานชิ้นนี้อีกด้วย ผมพยายามเข้าใจว่านี่อาจเป็นความพยายามของนิธิ (ที่อยู่นอกเรื่อง) ในการค้นหาแนวทางและวิธีการใหม่ๆ ในการนำเสนอวรรณกรรมไทยร่วมสมัยให้มีความซับซ้อนตามสภาพสังคมที่….ซับซ้อนขึ้น….กระมัง

ด้านโครงสร้างของตัวนวนิยายมีส่วนประกอบที่น่าสนใจก็คือ ในส่วนแรกเป็นบันทึกของ “อัณณ์ คณัสนันท์” ที่เป็นส่วนสำคัญของเรื่องนี้ทั้งหมด เพราะนวนิยายทั้งเรื่องถูกกำกับและควบคุมโดยบันทึกของอัณณ์ ซึ่งเป็นทั้งกุญแจในการสืบสาวราวเรื่องที่มาของโรคระบาด เป็นทั้ง ‘วัตถุ’ ที่มีอิทธิพลต่อตัวละครสำคัญของเรื่องอย่างยศเส และบันทึกชิ้นนี้ยังเป็นจุดศูนย์รวมของ ‘ตัวตน’ บางอย่างของตัวละคร ทั้งผู้เขียนบันทึก อัณณ์ คณัสนันท์ นิธิ นิธิวีรกุล และยศเสอีกด้วย ในส่วนต่อมา เป็นการสืบสวนสอบตามหาตัว “อัณณ์ คณัสนันท์” และในส่วนสุดท้ายของเรื่องคือ แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวถึงโรคระบาดที่ยุติแล้ว การกล่าวโทษพงษ์ศักดิ์ นิลตระกูล และ ‘คำตาม’ ซึ่งไม่ชัดเจนนักว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของตัวเรื่อง หรือเป็นส่วนที่แยกออกมาจากตัวเรื่อง แต่ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ก็ตาม ผมคิดว่านี่อาจเป็นความพยายามที่จะทำให้ขอบเขตของส่วนที่เป็นตัวเรื่องและไม่ใช่ตัวเรื่องมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น หรือทำให้เส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เป็นวรรณกรรมกับตัววรรณกรรมมีความ ‘เบลอ’ (ทำให้ซับซ้อนมากขึ้น…โดยจำเป็นหรือไม่ อันนี้ผมตอบไม่ได้สักที)

ประเด็นที่ผมอยากพิจารณาก่อนก็คือ วิธีการเล่าเรื่องของนวนิยายเรื่อง “อาณาเขต” มีลักษณะที่เรียกว่า ‘เมตาฟิคชัน’

วิธีการเล่าเรื่องเช่นนี้คือการเปิดเผยความเป็นเรื่องเล่าของตัวเอง ด้วยการทำให้ขั้นตอนและกระบวนการในการเล่าเรื่องกลายเรื่องราวที่ถูกนำเสนอ นักเขียนจะพยายามนำเสนอว่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร ตัวเรื่องเล่าจะพยายามแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอะไรคือความจริงและอะไรคือความลวงในเรื่องแต่ง เพราะโดยปกติแล้วเรื่องเล่าแบบสัจนิยมนั้นถูกทำให้เชื่อว่าเป็นการสะท้อนความเป็นจริงได้ดีที่สุด ตรงไปตรงมาและปราศจากอคติมากที่สุด และในกระบวนการสร้างสรรค์เรื่องเล่าก็มักจะถูกเก็บเอาไว้อย่างมิดชิด เพราะมีเพียงเรื่องที่ถูกเล่าอย่างสมบูรณ์แล้วที่จะปรากฏอยู่ตรงหน้าผู้อ่าน แต่ขั้นตอนและกระบวนการจะไม่ถูกเปิดเผย

ตลอดทั้งเรื่อง นิธิ (ที่อยู่นอกเรื่องและในฐานะนักเขียนผู้เขียนนวนิยายเรื่องอาณาเขต) พยายามทำให้ตัวละครต่างๆ ตระหนักรู้ถึงความเป็น ‘ตัวละคร’ ที่ถูกสร้างขึ้นของตนเอง และยังพยายามชี้ให้ผู้อ่านเห็นถึงความเป็นเรื่องแต่งของนวนิยาย เช่น ในตอนที่ยศเสไปหาพิชญ์ ในบทสนทนาที่ว่า 

“คุณเคยคิดไหมว่าขณะที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ เราอาจเป็นแค่ตัวละครสมมติในเรื่องแต่งของใครสักคน” 
“เราไม่ได้มีตัวตนอยู่จริงๆ สินะครับ”
(หน้า 135) 

เรื่องที่น่าสนในอีกประการก็คือ ความพยายามในการ ‘ตีความ’ บันทึกของอัณณ์โดยยศเสนั้นเป็นทั้งการวิจารณ์วรรณกรรมและความพยายามในการวิเคราะห์เส้นแบ่งระหว่างความเป็นเรื่องเล่าของเรื่องแต่งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในตัวเรื่อง ซึ่งได้ทำให้กระบวนการและวิธีการในการสร้างวรรณกรรมขึ้นมาเรื่องหนึ่งกลายเป็น ‘แก่น’ ที่สำคัญในการนำเสนอเรื่องของ “อาณาเขต” 

กลวิธีการเล่าเรื่องเช่นนี้เป็นที่นิยมมากในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1960 – 1970 ในขณะนั้นการต่อต้านขนบและประเพณีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกๆ แวดวง ในแวดวงวรรณกรรมเองก็เช่นกัน การท้าทายและตอบโต้ขนบการเล่าเรื่องแบบสัจนิยมก็เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยม เช่นการปกปิดร่องรอยหรือตะเข็บที่ร้อยเรียงตัวเรื่องทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันซึ่งเป็นขนบในการเล่าเรื่องของสัจนิยม ก็ถูกต่อต้านด้วยการกลับตะเข็บเหล่านั้นให้กลายเป็นแก่นสารของตัวเรื่อง

ในขณะเดียวกันวิธีการเช่นนี้ก็สัมพันธ์กับการวิพากษ์วิจารณ์สังคม โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘ความจริง’ เพราะเมื่อความจริงเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราเห็นและรับรู้นั้นมีความจริงมากน้อยขนาดไหน ในวรรณกรรมแบบสัจนิยมที่เชื่อกันว่าเป็นการสะท้อนความเป็นจริงได้มากที่สุดนั้น จริงเพียงใด นักเขียนจึงพยายามนำเสนอว่าสิ่งที่เรียกและเชื่อกันว่า ‘ความจริง’ นั้น แท้จริงแล้วถูกสร้างขึ้นมาและมีกระบวนการอย่างไร ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า กลวิธีหรือรูปแบบการเล่าเรื่องแบบเมตาฟิคชันในโลกตะวันตกจึงเป็นสิ่งที่มีที่มาที่ไปจากสังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ 

กลับมาที่สังคมไทย ผมอยากเล่าว่าหลังจากความพังพินาศของฝ่ายซ้ายในสังคมไทย แวดวงวรรณกรรมไทยก็เพียรหารูปแบบการเล่าเรื่องใหม่ๆ ที่พ้นไปจากความน่าเบื่อและเป็นแบบฉบับที่แข็งทื่อแบบวรรณกรรมเพื่อชีวิต เทคนิคทางศิลปะและวรรณกรรมถูกแนะนำมากขึ้นในแวดวงวรรณกรรมมาผ่านนิตยสารทางวรรณกรรม อีกทั้งการเจริญเติบโตของปัญญาชนอนุรักษนิยม-เสรีนิยมในแวดวงวรรณกรรมที่กลับมาทวงบัลลังก์ของตนเองอีกครั้ง หลังจากสูญเสียความเป็นกระแสหลักให้วรรณกรรมเพื่อชีวิต และพวกเขาไม่ต้องเคอะเขินกับจุดยืนทางการเมืองของตนอีกต่อไป การค้นหาวิธีการเล่าเรื่องที่หวือหวา น่าตื่นตาตื่นใจจึงเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 2520 

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2530 สารพัดเทคนิคและกลวิธีทางวรรณกรรมนั้นถูกสาดใส่อย่างไม่ยั้งมือในการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมของนักเขียนไทยซึ่งเป็นผลมาจากความนิยมในวรรณกรรมแบบใหม่คือ ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ ที่เกิดขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 2520 อะไรก็ตามที่นักเขียนไทยเห็นว่าเป็นเทคนิคอันแพรวพราว ระยิบระยับ วิบๆ วับๆ วะวะวับ ทั้งหลายในการเล่าเรื่อง พวกเขาก็ไม่ลังเลเลยที่จะเอาวิธีการเหล่านั้นมาปรับใช้ในงานของตน เทคนิคเหล่านั้นก็ยังมีอรรถประโยชน์ในด้านการวิพากษ์วิจารณ์สังคมได้ด้วยสำหรับนักเขียนที่มีจิตสำนึกทางการเมืองสูงมากๆ เมตาฟิคชันก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ได้รับความนิยมเช่นกัน 

ความหมกมุ่นของนักเขียนกับเทคนิคทางวรรณกรรม

สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอเอาไว้ในที่นี้คือ เมื่อผมอ่าน “อาณาเขต” ของนิธิแล้ว ผมก็กลับไปคิดว่า เหตุใดกันหนอแวดวงวรรณกรรมไทยถึงได้หมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาวิธีการเล่าเรื่องให้ระยิบระยับอยู่ตลอดเวลา วรรณกรรมไทย โดยเฉพาะพวกวรรณกรรมซีเรียสนี้ดูจะใส่ใจกับวิธีการเล่ามากกว่าเรื่องที่กำลังเล่าเสียอีก แม้จะพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการกับเนื้อหาอย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดนักเขียนวรรณกรรมซีเรียส (โดยมาก) ไม่สามารถรักษาสมดุลได้เลย วิธีการเล่าเรื่องก็อยากจะเก๋ ล้ำยุค ล้ำสมัย เนื้อหาก็อยากจะให้กินใจ วิพากษ์สังคมได้อย่างแหลมคม (ราวกับจอ 4k) 

ความพยายามในการจับเทคนิคทางวรรณกรรมหลากหลายรูปแบบลงไปในวรรณกรรมนั้น ผมคิดว่าคือการแสดงแสนยานุภาพของนักเขียน และอย่างที่ผมบอกเอาไว้ด้านบน ก็คือมันไม่ได้นำพาผู้อ่านไปถึงไหนเลย… เทคนิคแบบเมตาฟิคชันในวรรณกรรมไทยนั้นใช้กันมาเกือบจะสี่สิบปีอยู่แล้ว แต่ผมยังเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมนักเขียนไทยทำราวกับว่ามันคือของแปลกใหม่ตลอดเวลาและเป็นเครื่องมือที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้อ่านอยู่ร่ำไป…

หากพยายามจะเสนอว่าสารพัดกลวิธีที่นำมาใช้ในวรรณกรรมนั้นเป็นความพยายามในการสะท้อนภาพความเป็นจริงที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งวิธีการเขียนแบบสัจนิยมไม่สามารถสะท้อนมันได้ทั้งหมดอย่างชัดเจน จึงต้องแสดงให้เห็นความซับซ้อนของความจริงที่มีหลากหลายพื้นผิวทับซ้อนวนกันไปมา สำหรับในประเด็นนี้ ผมคิดว่าสถานการณ์/เหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมที่อยู่ตรงหน้าเราๆ ท่านๆ นั้นเหนือจริงยิ่งกว่าเรื่องแต่งใดๆ ทั้งหมด เป็นความเหนือจริงที่เกิดขึ้นจริง เช่น เรามี ส.ว. ที่ถูกคัดเลือกมาจากคณะทหารเพื่อนำมาเลือกนายกรัฐมนตรีอีกทอดหนึ่ง, เรามี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเรามีรัฐมนตรีที่ขายแป้งเป็นอาชีพเสริม

เรื่องพวกนี้เหนือจริงเสียยิ่งกว่าจริง ซึ่งเกิดขึ้นจริงๆ บนโลกของความเป็นจริง และการวิพากษ์ความเหนือจริงนี้ก็เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มด้วย เช่น ในทวิตเตอร์ เยาวชนของเราวิพากษ์และก่นด่าความเหนือจริงเหล่านี้ได้ทั้งแหลมคมและเจ็บแสบกว่านักเขียนวรรณกรรมไทยร่วมสมัยด้วยซ้ำไป

ดังนั้นคำถามก็คือ มีเหตุผลอะไรที่คนในสังคมเหนือจริงเช่นนี้ต้องไปอ่านวรรณกรรมที่ถูกทำให้มันซับซ้อนเกินความจำเป็นเพื่อแสดงให้เห็นความทั้งจริงและเหนือจริงด้วย เพราะเพียงสมัครทวิตเตอร์ก็ได้อ่านอะไรที่สนุกและได้ตระหนักถึงความซับซ้อนและเหนือจริงที่เกิดขึ้นจริงของสังคมไทยแล้ว

เมื่อนักเขียนกับนักเขียนมาเจอกันเอง
ในงานเขียนของตัวเอง

นอกจากนี้ในเรื่อง “อาณาเขต” นี้ ผมมองไม่เห็น ‘ตัวเรื่อง’ มากไปกว่าเห็น “นิธิ” ที่พยายามไปปรากฏตัวอยู่ในเรื่องตลอดเวลา การปรากฏตัวของนิธิเกิดขึ้นทั้งในฐานะผู้เขียนนวนิยายเรื่อง “อาณาเขต” ตัวละครสำคัญในเรื่องอาณาเขต (อัณณ์ คณัสนันท์ และ นิธิ นิธิวีรกุล) และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือการวิจารณ์ผลงานของตัวเองในอดีตผ่านปากของตัวละครอีกด้วย

มีการยกเอาข้อความจากผลงานเก่า อย่างเช่น “ดังนั้นจึงสิ้นสลาย” มาเพื่อสะท้อนความรู้สึกของตัวละครหลักอย่างยศเส ผมพยายามเข้าใจว่านี่อาจหมายถึงการอ้างอิงกันเองของตัวบทวรรณกรรม คือโลกของวรรณกรรมเป็นโลกปิดที่ไม่ได้สะท้อนโลกภายนอกหรือความเป็นจริงของโลกที่อยู่ภายนอก แต่เป็นโลกที่มีตรรกะเป็นของตัวเอง อ้างอิงกันเอง ความหมายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความหมาย ‘ภายในตัวบท’ หาใช่การสะท้อนอะไรก็ตามที่ไม่ได้อยู่ในวรรณกรรม

ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมก็ไม่แน่ใจนักว่านวนิยาย “อาณาเขต” กำลังสื่อสารกับใคร กับผู้อ่านทั่วไป ผู้อ่านสายแข็ง นักวิจารณ์วรรณกรรม นักวิชาการวรรณกรรม…. 

การเล่นแร่แปรธาตุใดๆ ของนิธิที่กระทำต่อนวนิยายเรื่อง “อาณาเขต” นั้น แม้ผมจะพยายามตีความได้ว่าคือความพยายามในการทะลุอาณาเขตของความเป็นนวนิยายและความเป็นวรรณกรรม และอาจเข้าใจได้ว่าเป็นการเล่นกับชื่อเรื่องอย่าง “อาณาเขต” ด้วย แต่สิ่งที่ผมสนใจคือ การเล่นแร่แปรธาตุเช่นนี้จะนำผู้อ่านไปสู่อะไร ความพยายามที่จะเป็นทุกอย่าง (ในทางเทคนิค) ในวรรณกรรมสักเรื่องหนึ่งนี้จำเป็นมากน้อยขนาดไหน และที่สำคัญในนวนิยายเรื่อง “อาณาเขต” นี้ ระหว่าง ‘ความหมกมุ่น’ ในตัวเองของนักเขียน กับ ‘เรื่องที่กำลังเล่า’ อันไหนสำคัญกว่ากัน และสมดุลของตัวเรื่องอยู่ที่ไหน

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ผมชอบมากก็คือการวิจารณ์ตนเองและ/หรือความเป็นวรรณกรรมที่วิจารณ์วรรณกรรมด้วยกันเองในนวนิยายเรื่อง “อาณาเขต” นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ผมเห็นด้วยกับนิธิมากที่สุดในฐานะของนักอ่านที่อ่านนวนิยายเล่มนี้ และผมขอทิ้งท้ายบทความชิ้นนี้ด้วยบางตัวอย่างในการวิจารณ์ตนเองจากเรื่อง 

“นักเขียนช่างเป็นมนุษย์ประเภทที่มีคำถามน่าสมเพช หลายคำถามเป็นคำถามที่หาอ่านได้ทั่วไปในหนังสือเล่มอื่น ทำไมคนอ่านจะต้องมาเสียเวลาอ่านความคิด บทบันทึกของนักเขียนคนหนึ่ง” (หน้า 58) 

“เวลาพวกนักเขียนนักวิชาการพวกนี้เขียนอะไรสักอย่าง เขาเหล่านั้นเห็นภาพนักอ่านแบบไหนในหัวบ้าง พูดตรงๆ ว่ากูเห็นแต่ตัวเอง ถ้ากูไม่เขียนให้กูอ่านรู้เรื่อง อ่านสนุกได้ก่อนแล้ว กูจะหวังให้คนอื่นอ่านแล้วรู้สึกไปกับกูได้ล่ะหรือ” (หน้า 64) 

คู้ดดึ้นอะกรีมอร์…


[1] โปรดดูบทสัมภาษณ์เรื่องชีวิตและการทำงานของนิธิ นิธิวีรกุลได้ที่นี่ “ตอบอย่างตรงไปตรงมา นักเขียนไม่ใช่อาชีพ และไม่เคยใช่ด้วย” – นิธิ นิธิวีรกุล สิ่งที่น่าสนใจในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้คือการพิสูจน์ตัวเองในฐานะนักเขียนของนิธิเอง ผมคิดว่านิธิมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จและได้สะท้อนให้เห็นในงาน “อาณาเขต” ของเขาอย่างชัดเจนว่าเขากระหายความสำเร็จในฐานะนักเขียนขนาดไหน แม้ว่าผมเองจะยังเห็นว่ามันยังเป็นความพยายามบนเส้นทางของการไปสู่ความสำเร็จซึ่งต้องพิสูจน์อีกยาวนาน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save