fbpx

บทบันทึกมรดก คสช. ที่ยังตกค้างในการปกครองท้องถิ่น

ภายหลังผลเลือกตั้งออกมา คนท้องถิ่นเต็มไปด้วยความหวัง เมื่อเห็นพรรคก้าวไกลที่ขณะนั้นได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เริ่มทำงานโดยไม่รอช้า รุดเข้าคุยหารือกับสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ และสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่น ถึงขั้นจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันเพื่อลงลึกถึงรายละเอียดข้อเสนอว่าอยากให้ปรับปรุง แก้ไข และยกเลิกกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และหนังสือสั่งการฉบับใดบ้างที่ปัญหาและอุปสรรคในการบริหาร รวมถึงการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านมา

ผลเบื้องต้นสรุปได้ว่ารวมแล้วมีมากกว่า 50 ฉบับ 

หากเป็นระเบียบ พรรคก้าวไกลรับปากว่าสามารถดำเนินการได้ทันทีภายใน 100 วันแรกที่เข้าเป็นรัฐบาล เพราะตั้งใจจะดูกระทรวงมหาดไทยเอง แต่ถ้าระดับพระราชบัญญัติเป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยเวลา เพราะต้องผ่านการพิจารณาของทั้งสองสภา โดยเฉพาะวุฒิสภาที่เคยปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นมาแล้ว

ตัวอย่างระเบียบที่ฝั่งท้องถิ่นมองว่าเป็นปัญหา ซึ่งไม่ได้มีเพียงเฉพาะกระทรวงมหาดไทย แต่ยังรวมไปถึงกระทรวงอื่นๆ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง เช่น

  • ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการจัดงาน การจัดกิจกรรมสาธารณะ การส่งเสริมกีฬา และการแข่งขันกีฬาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2564
  • ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562

จุดร่วมของระเบียบเหล่านี้คือ ทำให้ท้องถิ่นขาดอิสระในการใช้จ่ายงบประมาณของตัวเอง ทั้งที่มีเงินอยู่ในกระเป๋า แต่ควักออกมาจ่ายไม่ได้ เนื่องจากส่วนกลางมองท้องถิ่นด้วยสายตาที่ไม่ค่อยไว้วางใจ อย่างระเบียบเรื่องการจัดงาน ห้ามท้องถิ่นจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพ ลงรายละเอียดถึงขั้นระบุว่า หากมีค่าชุดกีฬา จ่ายได้ไม่เกิน 300 บาท/ชุด (รวมเสื้อ-กางเกง) อีกทั้งงานประเพณีที่ท้องถิ่นจะจัดได้นั้นต้องอยู่ในบัญชีที่คณะกรรมการพิจารณาการจัดงานประเพณีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดเป็นประธานประกาศ นั่นหมายความว่า ต่อให้ประเพณีนั้นมีอยู่จริง แต่ถ้ายังไม่ถูกประกาศโดยคณะกรรมการชุดนี้ ท้องถิ่นก็ไม่สามารถจัดงานนั้นได้เลย

ข้อเสนออีกส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับมาตรการของ คสช. ที่ออกมาใช้คุมท้องถิ่นในช่วงครองอำนาจอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าในรูปของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งรวมกันแล้วอยู่ที่ราว 20 ฉบับ เรื่อยไปจนถึงพระราชบัญญัติที่ออกโดยสภานิติบัญญัติที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. อีกร่วม 10 ฉบับ โดยพระราชบัญญัติยังคงมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน

แน่นอน เมื่อพิธาไม่สามารถผ่านด่าน สว.ไปเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ความหวังที่เคยมีก็แทบหมดสิ้น เพราะพูดได้ว่าไม่มีพรรคไหนให้ความสำคัญกับนโยบายการกระจายอำนาจมากเท่านี้มาก่อน ท่ามกลางความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลผสม ซึ่งอาจเกิดการพลิกขั้วจนทำให้การขยับนโยบายที่ต่างไปจากขั้วอำนาจเดิมเป็นไปได้ยากขึ้นอีก การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ หรือแม้แต่เฉพาะจังหวัดใหญ่ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยในบริบทการเมืองเช่นนั้น

จึงขอใช้เนื้อที่ตรงนี้ประหนึ่งเป็นบทบันทึกมรดก คสช.ที่ยังตกค้างอยู่ในการเมืองการปกครองท้องถิ่นไทย เผื่อในวันข้างหน้าพรรคการเมืองใดที่ได้เป็นรัฐบาลอาจเล็งเห็นความจำเป็นที่จะปรับปรุงแก้ไขขึ้นมา 

แบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา โดยสรุปถึงความตั้งใจ สาระสำคัญ และผลกระทบสั้นๆ ของมรดกเหล่านี้

ช่วงก่อนจะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว

คสช.ออกประกาศ 5 ฉบับ และคำสั่งอีก 1 ฉบับ

1.1 ฉบับที่ 51, 58 เพื่อคงอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับกรณี กกต.ให้ใบเหลือง-ใบแดง หลังประกาศผลเลือกตั้งไปแล้ว (เพราะเรื่องนี้เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญที่เพิ่งถูกฉีกไป) รวมถึงขยายระยะเวลาในการประกาศผลเลือกตั้งท้องถิ่นให้กับ กกต. จากที่เคยกำหนดไว้ไม่เกิน 30 วัน เพิ่มเป็น 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง 

ต่อมาได้นำมาใช้กับการเลือกตั้ง ส.ส.และการเลือกตั้งท้องถิ่นในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความล่าช้า

1.2 ฉบับที่ 85, 86 เพื่อระงับการจัดให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หากครบวาระ สมาชิกสภาให้ใช้วิธีสรรหาในการคัดเลือก โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาเต็มไปด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ลดจำนวนสมาชิกสภา เพิ่มคุณสมบัติของสมาชิกสภาท้องถิ่น (เอื้อให้ข้าราชการประจำเข้ามาเป็น) สัดส่วนของสมาชิกในสภาท้องถิ่นอย่างน้อย 2 ใน 3 ต้องเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการมาก่อน ขณะที่ผู้บริหารท้องถิ่นให้ปลัดปฏิบัติหน้าที่แทน โดยให้มีผลกับทุกรูปแบบ อปท.ทั่วไป และ กทม. แต่ยังไม่รวมถึงเมืองพัทยา 

เสมือนรื้อฟื้นระบอบอำมาตยาธิปไตยในการปกครองท้องถิ่นแบบที่เคยเป็นมาก่อนหน้าปี 2540 ที่ข้าราชการประจำเข้าครอบงำการเมืองท้องถิ่นในฐานะผู้บริหาร และย้อนยุคกลับไปถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่นำเอาระบบแต่งตั้งมาใช้ระบบเลือกตั้งหลังรัฐประหาร

1.3 คำสั่งที่ 88 และประกาศที่ 104 ฉบับแรกได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ประกอบด้วยทหารมากถึงกึ่งหนึ่ง ฉบับหลังมุ่งกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. มอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเอาจริงเอาจังในการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.ซึ่งตนมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล เช่น งานก่อสร้างที่มีราคากลางตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปให้รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอทราบ, การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอแล้วแต่กรณี

สะท้อนทัศนะของ คสช. ที่มีต่อท้องถิ่นในเรื่องทุจริตคอรัปชั่นจึงต้องเข้าควบคุมการใช้จ่ายเงินอย่างเข้มงวด

ส่วนนี้ได้สิ้นผลในตัวเองไปแล้วทั้งหมด ทั้งที่มีคำสั่งใหม่ออกมาใช้แทน หรือยกเลิกโดยชัดแจ้ง ดังเช่น ประกาศที่ 104/2557 ผลของ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น (ดู https://ilaw.or.th/node/5334) รวมถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560

ช่วงระหว่างใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว

หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 รวม 14 เรื่อง

2.1 คำสั่งที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว นับเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ ม.44 ก็ว่าได้ (ประมาณปลายปี 57 หลังใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวไปกว่า 5 เดือน) เพื่อแก้ไขกระทำของตัวเอง ผลคือ หนึ่ง-สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งจะครบวาระสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่มีกำหนด สอง-สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งแต่เดิม ซึ่งได้พ้นตำแหน่งไปแล้วสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ สาม-กทม.และเมืองพัทยาให้ยึดระบบสรรหาต่อไป

นั่นเท่ากับว่าจะยังไม่ให้มีการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ จนกว่า คสช.จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

2.2 คำสั่งจำนวนมากเกี่ยวกับการสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่น หรือไม่ก็สั่งให้ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปช่วยราชการที่อื่น เนื่องจากอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ เช่น ถูกสอบสวนว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ฯลฯ จำนวน 200 กว่าคน

2.3 คำสั่งที่ถูกพูดถึงมาก 2 ฉบับ แสดงให้เห็นว่า คสช. เข้าไปแทรกแซงท้องถิ่นโดยตรง ได้แก่ คำสั่งที่ 64/2559 ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พ้นจากตำแหน่งผู้ว่า กทม. และแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ แทน กับคำสั่งที่ 6/2560 แต่งตั้งให้ พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี เป็นนายกเมืองพัทยา แทนปลัดฯ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่นายกฯ อยู่

จนกระทั่งเมื่อการเลือกตั้งท้องถิ่นถูกจัดขึ้นระหว่างปี 2563-65 คำสั่งเหล่านี้ก็มีอันสิ้นสภาพไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ดี คำสั่งอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญซึ่งยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ และ คสช.ไม่ยอมยกเลิกคือ

2.4 คำสั่งที่ 8/2560 ดึงเอางานบริหารบุคคลบางเรื่องให้คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) มีอำนาจแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือคณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ก.จังหวัด) แต่ไม่รวมถึงกรุงเทพมหานคร ทั้งในการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น กระบวนการคัดเลือกและสอบคัดเลือกในตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น ประเภทบริหารท้องถิ่น และสายงานบริหารสถานศึกษา และการโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น

เท่ากับยกเว้น พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 อันเป็นกฎหมายหลักว่าด้วยเรื่องนี้ ด้วยอ้างว่าเพื่อให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม แก้ไขปัญหาการใช้ระบบอุปถัมภ์ เรียกรับผลประโยชน์ ความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และกลุ่มผู้นำชุมชนในพื้นที่ที่ทำให้ไม่สามารถโอนบุคลากรส่วนท้องถิ่นระหว่าง อปท.ตามหลักความสมัครใจ

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ฝั่งท้องถิ่น ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำเคลื่อนไหวเรียกร้องมาตลอด เพราะเห็นว่าขัดกับหลักการกระจายอำนาจ ทำให้การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ราบรื่น เป็นต้นว่าบุคลากรไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งจากการเติบโตตามสวยงานในพื้นที่เดิมที่ตนรับราชการได้

การจัดสอบแข่งขันบุคคลภายนอกเข้ารับราชการ และสอบคัดเลือกข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นสายงานบริหารเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นภายใต้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นเหตุให้มีการฟ้องคดีในศาลปกครองกว่า 500 คดี เนื่องจากมีข้อบกพร่อง ไม่โปร่งใส อาจมีการเรียกรับผลประโยชน์ นำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรท้องถิ่นตามมา

2.5 ห้วงนี้มี พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นออกมา 2 ฉบับด้วยกัน

– พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 การฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ให้อยู่ในอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่โรงฆ่าสัตว์นั้นตั้งอยู่

– พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจในการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดแยก เก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการ รวมทั้งกำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจนำสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่จัดเก็บได้ไปใช้ประโยชน์หรือหาประโยชน์ได้

ประเด็นหลังเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ของรัฐบาล คสช. ซึ่งในสายตาของท้องถิ่นมองว่าเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบมาให้ โดยไม่เข้าใจว่าท้องถิ่นมีแนวทางการจัดการขยะไม่เหมือนกันด้วยบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกัน สำหรับ อปท.ขนาดเล็กอย่าง อบต.โดยทั่วไปก็ไม่ได้เปิดตำแหน่งหรือมีกองเกี่ยวกับสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับงานด้านนี้

ช่วงหลังมีรัฐธรรมนูญปี 2560 จนถึงก่อนการเลือกตั้งในปี 2562

โดยส่วนใหญ่มรดกของ คสช. ในช่วงนี้มาในรูปของพระราชบัญญัติ 8 ฉบับ ตลอดจนรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งหัวหน้า คสช.เพียง 2 ฉบับ

3.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จงใจทำให้หลักประกันหลายเรื่องที่เคยถูกการันตีโดยรัฐธรรมนูญหายไป อาทิ ไม่ปรากฏคำว่า ‘กระจายอำนาจ’ อยู่ในรัฐธรรมนูญแม้แต่คำเดียว, ไม่ได้ระบุให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, เปิดทางให้ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสามารถใช้วิธีอื่นในการได้มาซึ่งผู้บริหารท้องถิ่น (ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้), ไม่กำหนดคุณสมบัติห้ามข้าราชการประจำ หรือเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3.2 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาช่วงนี้มีแค่ 2 ฉบับ เป็นเรื่องสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเติม และให้พลตำรวจตรีอนันต์ พ้นจากตำแหน่งนายกเมืองพัทยา และให้นายสนธยา คุณปลื้มเป็นแทน (คำสั่งที่ 15/2561)

ช่วงปี 2561-62 ถึงได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีทยอยคืนตำแหน่งให้กับนายก อบจ.ที่เคยถูกสั่งพักงานออกมานับสิบแห่ง ส่งสัญญาณว่าการเลือกตั้งใหญ่ใกล้มาถึง

3.3 พ.ร.บ.ต่างๆ ก็มีออกมาเป็นชุด หลักๆ คือกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 ฉบับ

– พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562

– พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562

– พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562

– พ.ร.บ.เมืองพัทยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

– พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562

เนื้อหาโดยรวมคือ การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา และผู้บริหารท้องถิ่นเข้มข้นขึ้นแบบเดียวกับการเมืองระดับชาติ เช่น ห้ามถือหุ้นสื่อ, เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีการพนัน, ผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งได้ 4 ปี เป็นติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ ฯลฯ

และยังมอบอำนาจให้ราชการส่วนภูมิภาคมีอำนาจกำกับดูแลเหนือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งเรื่องการสั่งให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหยุดปฏิบัติหน้าที่ การประกาศคำวินิจฉัยเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง และลดปัญหาเงื่อนเวลาในการใช้อำนาจ

มีข้อห้าม อปท.ใช้จ่ายเงินเพื่อการฝึกอบรมหรือดูงานในต่างประเทศของผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น (ไม่ระบุถึงข้าราชการส่วนท้องถิ่น) เว้นแต่กรณีที่มี MOU หรือความร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศ หรือเป็นการฝึกอบรมซึ่งจัดโดยหน่วยงานของรัฐที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

เพิ่มอำนาจหน้าที่ในบางเรื่องให้แก่ อบต.และเทศบาล เช่น รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย, การดูแลการจราจร, จัดการ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและการฝึกอบรมให้แก่ประชาชน รวมทั้งการจัดการหรือสนับสนุนการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก

ส่วนที่ต่างกันเห็นได้ชัดได้แก่ การกำหนดให้มีสมาชิกสภา อบต.หมู่บ้านละ 1 คน (จากเดิมหมู่บ้านละ 2 คน) แม้นเท่ากับไปลดจำนวนสมาชิกสภา อบต. ทว่าก็ทำให้มีระบบเลือกตั้งที่ชัดเจนขึ้น เปลี่ยนเป็นแบบเขตเดียวคนเดียว, ยังไม่ให้จัดการเลือกตั้ง สข.ไปจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายนี้อีกครั้ง

นอกจากกลุ่มกฎหมายจัดตั้งแล้วยังมีอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

– พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายกลางสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกรูปแบบ ออกมาใช้แทนฉบับก่อนหน้าปี 2545 เนื้อหาครอบคลุมเรื่องการดำเนินการเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ค่าใช้จ่ายและวิธีการหาเสียง การลงคะแนนเลือกตั้ง คัดค้านการเลือกตั้ง การนับคะแนน และการประกาศผล การควบคุมการเลือกตั้ง และบทกำหนดโทษ

– พ.ร.บ.จัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562 เปิดโอกาสให้ อปท.มีอำนาจตราข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบการจอดรถ กรณี กทม. เมืองพัทยา เทศบาลนคร เทศบาลเมืองมีผลทันที กรณีเทศบาลตำบลกับ อบต.ต้องเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไข ความหนาแน่นของจราจร รายได้ ขีดความสามารถ โดยให้กระทรวงมหาดไทยประกาศให้มีผลบังคับใช้ในเขตพื้นที่นั้น

แต่ฉบับที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือ

– พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

กฎหมายที่ว่าถึงแหล่งรายได้หลักของท้องถิ่นที่จัดเก็บเองซึ่งถูกเขียนขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้แทนที่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 เดิมการเก็บภาษีโรงเรือนจะคิดจากการประเมินรายได้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบภาษีใหม่จึงคิดตามมูลค่าที่ดิน

ทว่าต่อมาทำให้รายได้ท้องถิ่นตกลงฮวบฮาบ ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริงแบบที่ผู้ที่ออกแบบกฎหมายนี้เคยเสนอ ในภาพรวมกลับกลายเป็นว่าธุรกิจขนาดใหญ่เสียภาษีลดลง ที่สำคัญคือ เป็นกฎหมายที่ปราศจากความยินยอมของท้องถิ่นแต่แรก

ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกใช้เป็นตัวอย่าง นั่นคือ การที่ ‘เสาสัญญาณ’ (โทรศัพท์) ไม่มีลักษณะเป็น ‘สิ่งปลูกสร้าง’ ตามคำนิยามในกฎหมาย ยืนยันโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และคณะกรรมวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากบุคคลไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยได้หรือใช้สอยได้ ทำให้ท้องถิ่นไม่อาจจัดเก็บภาษีส่วนนี้ได้อีก รายได้โดยรวมหายไปไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาททั่วประเทศ

จากที่ผมสาธยายมา ลองอ่านใจคนท้องถิ่นว่าถ้าเลือกแก้ไขได้เพียงฉบับเดียว เชื่อว่าสองฉบับที่มาเป็นลำดับต้นๆ คงไม่พ้นคำสั่งที่ 8/2560 กับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เป็นแน่

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save