fbpx
ภาพยนตร์และแง่งามของศิลปะเรื่องเล่า กับ 'นรา’ พรชัย วิริยะประภานนท์

ภาพยนตร์และแง่งามของศิลปะเรื่องเล่า กับ ‘นรา’ พรชัย วิริยะประภานนท์

101 ถอดทัศนะบางส่วนของ ‘นรา’ พรชัย วิริยะประภานนท์ จากการสนทนาในรายการ 101 One-On-One Ep.99 ‘ภาพยนตร์และแง่งามของศิลปะเรื่องเล่า’

คุยกับ ‘นรา’ นักเขียน นักเล่าเรื่อง นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่มีน้ำเสียงเฉพาะตัว และมีงานเขียนออกมาอย่างสม่ำเสมอตลอดหลายสิบปี

ว่าด้วยเรื่องภาพยนตร์ ความงามของเรื่องเล่า วิธีเขียนงาน และการใช้ชีวิตของนักเขียนอิสระ

ติดตามรายการได้ที่ : https://www.the101.world/101-one-on-one-ep99/

 

:: การเดินทางของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ::

 

 

ผมเริ่มดูหนังมาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อมีเพื่อนเป็นผู้จัดการโรงหนัง เลยพาไปปล่อยทิ้งไว้ที่โรงหนังเวลาไม่มีใครเลี้ยง สมัยนั้นของเล่นมีน้อย บ้านไม่มีทีวีอีก ก็เหลือแต่ดูหนัง ถ้าไม่ดูหนังในโรงที่พ่อพาไปทิ้งไว้ ก็ดูหนังกลางแปลง ผมจึงคุ้นเคยกับการดูหนังโรงมาตั้งแต่เด็ก ต่อเนื่องมาเป็นความชอบ

ผมโตมากับหนังสองประเภทคือ หนังจีนกำลังภายใน กับหนังบู๊ไทย ที่เขาเรียกกันว่าหนัง ‘ระเบิดภูเขา เผากระท่อม’ พอมาดูหนังฝรั่งกลายเป็นดูไม่รู้เรื่อง เพราะคุ้นกับอะไรง่ายๆ พอเจอหนังซับซ้อนมีชั้นเชิงขึ้นอีกนิด เลยดูไม่รู้เรื่อง กลัวหนังฝรั่ง ความรู้สึกนี้มันมาหายตอนโต และตอนที่ได้อ่านงานวิจารณ์หนังในนิตยสาร starpics

พอเรียนจบก็เริ่มไปดูหนังตามสถาบันวัฒนธรรม เช่น เกอเธ่ AUA หอภาพยนตร์ ส่งผลทำให้เป็นนักวิจารณ์ เพราะได้เปิดหูเปิดตา ดูหนังที่ต่างจากที่เคยดูตอนเด็ก กลุ่มคนที่ไปดูก็เป็นคนหน้าเดิมๆ เจอกันทุกวันจนรู้จักกัน พอไปพูดคุยก็พบว่า คนพวกนี้รู้เยอะมาก การแลกเปลี่ยนกับพวกเขาทำให้เรารู้เพิ่มขึ้น รู้ว่าควรจะไปแสวงหาข้อมูลจากที่ไหน

พอเริ่มดูหนังด้วยอีกเจตนานึง (ดูเพื่อเขียนวิจารณ์) สมาธิก็แกว่ง ช่วงแรกดูไม่สนุก เพราะกังวลว่าจะเขียนอะไร บางทีก็ต้องจดไปด้วย แต่หลังๆ มาค้นพบว่า ไม่ต้องจดก็ได้ ดูสองรอบเอา พอทำงานไปได้ซักพักก็คุ้นเคย และกลับมาดูหนังด้วยวิธีปกติ ตอนดูไม่ต้องเป็นนักวิจารณ์ก็ได้ ค่อยมาเป็นนักวิจารณ์ตอนเขียน

 

:: การสปอยล์ & ความแตกต่างของการวิจารณ์ภาพยนตร์ในอดีตและปัจจุบัน ::

 

 

สมัยก่อนคำว่า ‘สปอยล์’ แทบไม่เป็นที่รู้จัก แต่จะมีกติกามารยาทที่ทุกคนรู้ร่วมกันว่า อะไรที่เปิดเผยได้ อะไรไม่ควรเปิด เช่น ถ้าเป็นหนังดราม่าทั่วไปอาจจะเล่าได้ทุกอย่าง แต่ถ้าเป็นหนังที่ซ่อนเงื่อน หักมุม มีความลับ ก็เป็นที่รู้กันว่าไม่ควรเปิดเผย

ในยุคนั้นทั้งคนเขียนคนอ่านไม่รู้จักการสปอยล์ การพูดถึงหนังจึงลงรายละเอียดได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้เกิดความต่างอย่างนึงคือ เมื่อก่อนงานในเชิงตีความ เชิงวิเคราะห์จะเยอะกว่า แต่ยุคนี้จะมีการวิเคราะห์อีกแบบนึง มองหนังโดยอิงกับแง่มุมทางสังคมมากกว่าเมื่อก่อน

สมัยก่อนจะตีความหนังในแง่ศิลปะของหนัง เช่น การซ่อนความหมายของมุมกล้อง องค์ประกอบ สี แต่ทุกวันนี้เวลาคนพูดถึงหนังอย่าง Parasite คนจะตีความเรื่องชนชั้น แต่มันก็ขึ้นอยู่กับหนังแต่ละเรื่อง เช่น จะให้พี่พูดถึงหนังหว่อง กาไว ในเชิงสังคมมันก็ยาก แต่ให้พูดตัวตนของผู้กำกับก็จะง่าย เพราะเขามีลายเซ็นชัดเจน

 

:: เป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์ต้องรู้อะไร ::

 

 

สมัยก่อน ค่ายหนังจะส่งข้อมูลเบื้องหน้าเบื้องหลังมาให้เลย เรียกว่า production note ซึ่งเขียนออกมาในเชิงโปรโมท พวกหนังสือเกี่ยวกับหนังต่างๆ ก็เอา production note นี่แหละมาเขียนเป็นบทความ และมีนิตยสารหนังของต่างประเทศที่เราซื้อมาเป็นข้อมูลอ้างอิง

มาถึงยุคนี้มี google มี IMDB ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับหนังและผู้กำกับเยอะ แต่ในการทำงานวิจารณ์ สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็น สิ่งที่จำเป็นคือข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับหนัง ข้อมูลที่จะประกอบความเข้าใจ ทำให้เราเข้าถึงหนังได้มากขึ้น เช่น หนังเรื่องนี้พูดถึงฆาตรกรต่อเนื่องที่มีบุคลิกซับซ้อน เราก็จำเป็นต้องรู้ปมทางจิตวิทยา หรือหนังที่พูดถึงปัญหาทางการเมือง อย่างเรื่อง   Missing ที่พูดถึงการปฏิวัติในชิลี เราก็ควรจะรู้ความเป็นไปทางประวัติศาสตร์ สังคมการเมือง

พวกเบื้องหลังการถ่ายทำของหนังบางเรื่อง ก็ช่วยในการทำความเข้าใจ เช่น ผู้กำกับในโลกนี้มีสองแบบ แบบแรกคือ แบบสปีลเบิร์ก ที่มีบทพูดเป๊ะๆ มีสตอรี่บอร์ดละเอียด กับแบบหว่องกาไว ที่เชื่อมั่นในความสดระหว่างการถ่ายทำ บทหนังก็จะวางไว้หลวมๆ แล้วไปลงรายละเอียดหน้ากล้อง พอเรารู้วิธีการทำงานของเขามันก็ทำให้เรารู้ว่าจะโฟกัสหนังของเขาตรงไหน เช่น เราจะได้เห็นว่าหนังของหว่องอยู่ๆ ก็มีตัวละครใหม่โผล่มา หรือตัวละครบางตัวเราจะไม่ได้รู้แบคกราว

 

:: คนตัดต่อ อีกตัวละครสำคัญของการทำภาพยนตร์ ::

 

 

คนสำคัญๆ ในการทำหนังจะมี ผู้กำกับ คนเขียนบท อีกคนที่สำคัญมากๆ คือคนตัดต่อ การตัดต่อส่งผลกับหนังมหาศาล เทียบง่ายๆ เหมือนบรรณาธิการที่คอยตรวจแก้ต้นฉบับ บางทีไม่ได้แค่ขัดเกลา แต่บรรณาธิการที่เก่งจะกล้าบอกนักเขียนว่า สิ่งที่คุณเขียนมา ทัศนะมันมีปัญหา

มีเคสนึงผมฟังมาจากพี่ต้อม เป็นเอก รัตนเรือง แกบอกตอนถ่ายมนต์รักทรานซิสเตอร์ มีซีนนึงที่นางเอกร้องเพลง แล้วผู้หญิงทั้งหมู่บ้านก็ร้องตาม เป็นซีนมิวสิคัลที่น่ารัก ใครดูก็ชอบ แต่พอถึงมือคนตัดต่อเขายกออกหมดเลย โดยให้เหตุผลว่า มันก็น่ารักจริง สนุกจริง แต่ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง ท้ายที่สุดพี่ต้อมเชื่อและยกซีนนั้นออกท่ามกลางความเสียดายของทีมงาน แต่จังหวะของหนังมันเปลี่ยนจริงๆ

ผู้กำกับหรือตากล้องเขาไปออกกอง กว่าจะได้มาแต่ละซีนมันลำบาก พอถึงขั้นตัดต่อเขาก็เสียดาย แต่คนตัดต่อไม่ได้ไปออกกองด้วย เขาไม่สน เขาสนอย่างเดียวว่ามันเข้ากับเรื่องที่จะเล่าไหม ส่งเสริมหนังไหม ถ้าสวยแต่ไม่ช่วยให้หนังดีก็ไม่เอา คนตัดต่อจะมีความเหี้ยมพอที่จะตัดออก

หนังแบบที่ผู้กำกับตัดเองก็มี ที่เราเรียกกันว่า director’s cut โดยมากเกิดจากการตัดมาแล้วมันยาวเกินมาตรฐานหนังเข้าฉาย ก็เลยเกิด producer’s cut หรือ นายทุน cut  เพื่อให้หนังยาวตามเวลาที่เหมาะสม และได้รอบฉายเยอะๆ พอหนังไปถึงขั้นเป็น DVD เลยจะมี director’s cut ออกมาเป็นเวอชันที่ใกล้เคียงกับความฝันดั้งเดิมของผู้กำกับ บางเรื่องเราก็มองว่านายทุนเขาคิดถูกแล้วที่ให้ตัดเท่านี้ แต่บางเรื่อง director’s cut ก็ดีกว่า ที่ชัดมากคือ สุริโยทัย director cut ยาว 5 ชั่วโมง แต่สนุกมาก เข้าใจหมดเลยใครเป็นใคร

 

:: จิตรกรรมฝาผนังที่สนุกไม่แพ้ภาพยนตร์ ::

 

 

จิตรกรรมฝาผนังก็คล้ายหนัง เพียงแต่เกิดขึ้นคนละช่วงเวลา ตั้งแต่ยังไม่มีเทคโนโลยีกล้อง การสื่อสารด้วยภาพจึงทำผ่านภาพวาด

เวลาดูจิตรกรรมฝาผนัง ภาพเพียงภาพเดียวจะเห็นตัวพระรามอยู่หลายที่ พระรามเดินไปตรงนั้น มารบตรงนี้ แล้วมาจบอีกที่ คล้ายกับวิธีของหนัง และมังงะญี่ปุ่น ตรงที่มีการแบ่งเฟรม การ์ตูนญี่ปุ่นจะแบ่งช่องเรียงกัน อ่านจากซ้ายไปขวา บนมาล่าง จิตรกรรมฝาผนังของไทยก็เป็นอย่างนั้นเพียงแต่ไม่มีระเบียบตายตัว อาจจะดูทวนเข็มนาฬิกา แบ่งเฟรมโดยพุ่มไม้ หลังคาปราสาท แม่น้ำ หรือเส้นหยักฟันปลา ที่เรียกว่า ‘เส้นสินเทา’

อีกอย่างที่ทำให้ผมรู้สึกอย่างกับเข้าโรงหนัง คือ จิตรกรรมฝาผนังไทยจะปรากฏอยู่ในวัด ถ้าเป็นวัดที่ไม่ได้ดังมาก เวลาไปดูเรามักจะต้องขอกุญแจอุโบสถจากพระ ตอนเปิดประตูเข้าไป มันมืดจนเราต้องปรับสายตา พอปรับสายตาได้ ภาพบนผนังจึงปรากฏ ให้อารมณ์คล้ายอยู่ในโรงหนังเลย เพียงแต่เป็นโรงหนังของคนอีกยุค

ผมสนใจจิตรกรรมฝาผนัง จากการอ่านหนังสือ ‘ความงามในศิลปะไทย’ ของ น. ณ ปากน้ำ หนังสือเล่มนี้เล่าถึงครูช่างสองคนที่เก่งมากในสมัยรัชการที่ 3 คือ ครูทองอยู่ และครูคงแป๊ะ ทั้งสองคนวาดรูปจิตรกรรมฝาผนังแข่งกันที่อุโบสถวัดสุวรรณาราม พออ่านแล้วผมอยากเห็นมาก จึงตามไปดู ผมพบว่าภาพของครูทองอยู่ จะเป็นลายตามขนบเป๊ะๆ สวยงามตามแบบแผน ซ้ายขวาสมดุลกัน แต่ภาพของครูคงแป๊ะ จะเป็นฉากรบในเรื่องมโหสถชาดก มีตัวละครเยอะ ใช้สีมึดๆ ทึมๆ ดูล้ำ และวาดภาพนิ่งที่ดูเคลื่อนไหว ซึ่งไม่ค่อยเห็นในงานจิตรกรรมไทย ถือว่ามาดูตอนนี้ก็ยังทันสมัย

 

:: เรียนประวัติศาสตร์แบบใหม่ เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว ::

 

 

ผมไปอยุธยาเพื่อจะดูจิตรกรรมฝาผนัง พอไปแล้วความสนใจก็เพิ่มขึ้นเป็นเรื่อง เจดีย์ ปูนปั้น พระปรางค์ พออยากรู้มากๆ จึงนำไปสู่การอ่านพงศาวดาร หรือเอกสาร และพบสิ่งหนึ่งที่ชอบมากเกี่ยวกับอยุธยาก็คือ เวลาเราเดินไปตามถนนต่างๆ มักจะมีเรื่องราวประกอบ เช่น บางวัดบุเรงนองเคยมา แล้วสมเด็จพระมหินทราธิวาชต้องไปเข้าเฝ้าด้วยสภาพที่ขมขื่นมาก สถานที่บางแห่งก็เชื่อมโยงกับวรรณกรรม เช่น ขุนช้างเคยมาจากสุพรรณทางแม่น้ำสายนี้

เวลาอ่านตำราประวัติศาสตร์ศิลปะ บทที่ไม่สนุกที่สุดคือบทแรกที่ไล่เรียงมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มันทำให้รู้สึกว่าการเรียนรู้เป็นไปอย่างยากลำบาก ผมเลยเปลี่ยนวิธีด้วยการไปดูของจริงก่อน และเริ่มจากอะไรที่ใกล้ตัวที่สุด เช่น ดูภาพเขียน แล้วค่อยๆ ไล่ศึกษาไปเรื่อยๆ จากอยุธยาก็ขยับไปประวัติศาสตร์คาบเกี่ยวอย่างสุโขทัย สนใจพระพุทธรูปก็ไล่ไปถึงศิลปะขอม อินเดีย พอเรียนแบบนี้ผมรู้สึกว่าเข้าใจง่าย และทำให้กลับไปอ่านตำราได้ด้วย

เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์มากขึ้น ความเชื่อก็เปลี่ยนไปเยอะ พูดได้อย่างหนึ่งคือ ตั้งแต่เล็กเราถูกสอนให้ท่องจำประวัติศาสตร์ ที่แย่คือ เราถูกสอนให้จำในสิ่งที่ไม่มีข้อสรุป พอเรานั่งอ่านประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งพงศาวดารที่มี ท้ายที่สุดก็มีหลายเรื่องที่ยังฟันธงไม่ได้ แต่หลักสูตรที่เราเรียนมันดันฟันธงสิ่งเหล่านั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save