fbpx

เสื้อยืดของมูราคามิ

มูราคามิ

มูราคามิ

Prequel

พ่อของเขาเป็นนักดนตรีแจ๊สชาวญี่ปุ่นที่ไปหากินอยู่ในเซี่ยงไฮ้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกจำคุกอยู่ที่นั่น เมื่อรอดชีวิตกลับมาญี่ปุ่นก็แต่งงานกับแม่ของเขาซึ่งเป็นญาติห่างๆ แม่ของเขาเสียชีวิตตอนที่เขาลืมตาดูโลก ความสูญเสียที่เกินรับมือทำให้พ่อลืมเขาไว้ที่โรงพยาบาล อาจเรียกได้ว่านั่นคือความเดียวดายครั้งแรกที่เขารู้จัก พ่อตั้งชื่อเขาแบบตะวันตก ที่นำไปสู่ความเดียวดายที่สองอันสืบเนื่องมาจากความแปลกแยกในสังคมญี่ปุ่น

เขาชอบวาดภาพและประกอบอาชีพเป็นนักวาดภาพประกอบ ต่อมาเขาแต่งงานกับลูกค้า ภรรยาของเขามีความสุขถึงขั้นหมกมุ่นกับการซื้อเสื้อผ้าและรองเท้าอย่างไม่ยั้ง วันหนึ่งเธอต้องการตัดใจจากการสะสม จึงนำเสื้อผ้าไปคืน ระหว่างเดินทางกลับบ้าน อาการใจลอยจากความเสียดายเสื้อผ้านำพาไปสู่อุบัติเหตุที่พรากชีวิตเธอไป สิ่งที่เธอเหลือไว้ให้เขาคือห้องที่เต็มไปด้วยเสื้อผ้าไซส์ 2 และรองเท้านับร้อยคู่

ต่อมาเขาว่าจ้างผู้ช่วยหญิงโดยมีข้อแม้ว่าผู้ช่วยต้องสวมเสื้อผ้าของภรรยาเขาแทนเครื่องแบบ เมื่อผู้ช่วยเห็นเสื้อผ้าของภรรยาเขาก็ร่ำไห้ออกมา โดยที่เขาไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเป็นเพราะเหตุใด หลังจากนั้น เขายกเลิกความคิดเรื่องการมีผู้ช่วยและติดต่อพ่อค้าเสื้อผ้ามือสองให้มานำเสื้อผ้าทั้งหมดออกไป ห้องที่ว่างเปล่าเป็นทั้งตัวแทนของความทรงจำและการหลงลืม

สองปีต่อมาพ่อของเขาเสียชีวิต สิ่งที่พอจะเรียกได้ว่ามรดกคือแผ่นเสียงจำนวนมาก เขานำแผ่นเสียงเหล่านั้นมาเก็บไว้ในห้องที่ว่างเปล่า เมื่อเวลาผ่านไป การมีอยู่ของแผ่นเสียงเริ่มรบกวนจิตใจ เขาติดต่อพ่อค้าแผ่นเสียงมือสองให้มาซื้อแผ่นเสียงทั้งหมดไป หลังจากนั้น เขามีชีวิตที่เดียวดายอย่างแท้จริง

เขาชื่อ Tony Takitani เขาปรากฎตัวครั้งแรกให้ผู้คนในโลกภาษาอังกฤษรู้จักผ่านนิตยสาร The New Yorker ฉบับวันที่ 15 เมษายน 2002 ต่อมาเรื่องราวของความเดียวดาย ความแปลกแยก และความทรงจำของเขาได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่มีคนอีกไม่น้อยเลยที่ไม่รู้ว่าภาพชีวิตของเขามีที่มาจากเสื้อยืดตัวหนึ่ง


เสื้อยืดมูราคามิ


การบอกเล่าเรื่องราวจากเสื้อยืดของมูราคามิใน Murakami T : The T-Shirts I Love เกิดขึ้นจากการให้สัมภาษณ์เรื่องคอลเลกชันแผ่นเสียงพิเศษของเขาต่อนิตยสาร Casa BRUTUS ในระหว่างการสนทนา มูราคามิได้กล่าวถึงคอลเลกชันเสื้อยืดของเขาที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ บรรณาธิการของนิตยสารสบช่องจึงเชิญชวนให้เขาเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับเสื้อยืดที่สะสมไว้ จากนั้นเป็นระยะเวลาปีครึ่งในนิตยสาร Popeye (ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกับ Casa BRUTUS) เสื้อยืดนับร้อยตัวก็ได้เปล่งเสียงออกมา



สำหรับมูราคามิแล้ว จำนวนเสื้อยืดที่มากขึ้นไม่ได้มาจากความตั้งใจจะสะสม หากเป็นความพึงใจเมื่อพบเห็นและราคาอันย่อมเยาที่ทำให้เขาตัดสินใจซื้อ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเสื้อยืดที่ได้ฟรีมาจากวาระต่างๆ เมื่อถึงจุดหนึ่ง จำนวนก็เปลี่ยนความหมายของการมีอยู่ไปสู่การสะสม และเรื่องราวที่รอการบอกเล่าคือเงาของวัตถุสะสมเสมอมา

เสื้อยืดที่มูราคามินำเสนอในแต่ละครั้งผ่านการคัดสรรเป็นหมวดหมู่ เพื่อชี้ให้เห็นว่าอะไรคือสิ่งสะดุดตาสะดุดใจ ภาพของเสื้อยืดและคำบอกเล่าแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและรสนิยมของผู้ชายญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกบอกเล่าผ่านตัวละครในงานเขียนของเขาแล้วทั้งทางตรงและทางอ้อม

เสื้อยืดที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเซิร์ฟบอร์ด เบียร์ วิสกี้ รถยุโรป สัตว์ต่างๆ ดนตรี ไปจนถึงเสื้อยืดที่เกิดขึ้นโดยตรงจากผลงานของเขา ข้อเขียนสั้นๆ เกี่ยวกับเสื้อยืดแต่ละตัวนำไปสู่ภาพในความคิดของผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังเล่าให้ฟังว่าทำไมเขาถึงซื้อเสื้อตัวนี้ อะไรคือสิ่งที่เขามองเห็น

การบอกเล่าของมูราคามิย้อนอดีตไปถึงช่วงวัยรุ่น ยุคสมัยที่การสวมใส่เสื้อยืดนอกเหนือจากการเป็นเสื้อชั้นในยังเป็นสิ่งใหม่ของญี่ปุ่น และเสื้อยืดที่มีภาพหรือคำสื่อความหมายของผู้สวมใส่เริ่มแพร่หลายในช่วงทศวรรษ 1970 โดยหนึ่งในสื่อหลักที่นำเสนอรสนิยมแบบตะวันตก (กล่าวให้ชัดขึ้นคือรสนิยมแบบอเมริกัน) คือนิตยสาร Popeye นั่นเอง

มูราคามินิยมเสื้อยืดที่มีลวดลายแตกต่าง และเสื้อยืดที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับสถานที่หรือโอกาสต่างๆ เขาชอบช่วงเวลาของการเลือกซื้อเสื้อมือสองจากร้านการกุศลชื่อ Goodwill ที่ฮาวาย เขาตั้งข้อสังเกตขำขื่นเกี่ยวกับราคาเสื้อในร้าน Goodwill ไว้ว่า ก่อนหน้านี้เขาซื้อเสื้อยืดในราคา 1-1.99 ดอลลาร์ แต่ต่อมาราคาเสื้อได้ขยับไปที่ 3.99 ดอลลาร์ เขาไม่แน่ใจว่าราคาที่ขยับขึ้นเป็นผลมาจากคอลัมน์ของเขาหรือไม่ ข้อสังเกตนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยสำหรับผู้ที่ตระหนักถึงอิทธิพลจากความเป็น ‘แบรนด์’ ของผู้มีชื่อเสียง และเมื่อบวกเข้ากับธุรกิจการค้าเสื้อผ้ามือสองอย่างเป็นล่ำเป็นสันในญี่ปุ่น ข้อสังเกตของเขาก็มีน้ำหนักมากขึ้น (ยังไม่ต้องนับถึงน้ำหนักของหนังสือในมือที่เป็นสิ่งตอกย้ำอีกอย่าง)

จากเรื่องราวหลากหลายที่ซ่อนเร้นอยู่ในเสื้อยืด สำหรับผู้ที่นิยมชมชอบในงานเขียนของมูราคามิ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เขาบอกเล่าออกมาเป็นส่วนเติมเต็มช่องว่างของตัวเขาเองให้กับผู้อ่าน การ revisit old memories ของเขายังเปิดเผยให้เห็นวิธีการทำงานเขียนบางส่วนของเขาอีกด้วย สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ Murakami T : The T-Shirts I Love มีความน่าสนใจมากขึ้น เพราะถ้าพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาแล้ว บรรดาเสื้อยืดส่วนใหญ่ที่มูราคามินำเสนอนั้นไม่ได้เป็นเสื้อยืดที่มีความพิเศษอันเป็นที่เสาะหาของบรรดานักสะสม หรือพูดในอีกแง่ได้ว่า เสื้อยืดเป็นเพียงภาพประกอบของความคิดและความทรงจำ คุณค่าของเสื้อยืดเหล่านี้อาจจะมีอยู่บ้างก่อนหน้า แต่สิ่งที่เพิ่มมูลค่าและเปลี่ยนความหมายของอุปสงค์และอุปทานอย่างถึงที่สุดนั้นมาจากความสามารถอื่นของผู้เป็นเจ้าของ

ประเด็นอื่นที่ชวนคิดต่อจากข้อเขียนและบทสัมภาษณ์ของมูราคามิคือ แล้วถ้านี่เป็นเสื้อยืดของคนทั่วไปสักคน อะไรคือสิ่งที่น่าสนใจในการอ่านและสร้างความหมายของวัตถุสะสม ประวัติศาสตร์ส่วนตัว? รสนิยมร่วมของยุคสมัย? พฤติกรรมของผู้บริโภค? อัตลักษณ์ของผู้สวมใส่? การเหนี่ยวไกของความทรงจำ?


มูราคามิ


Sequel

มูราคามิเจอเสื้อยืด “TONY” TAKITANI House D ในร้านขายเสื้อผ้ามือสองเพื่อการกุศลที่มายูอิ เขาซื้อเสื้อยืดสีเหลืองตัวนั้นมาในราคาประมาณหนึ่งดอลลาร์ ตอนนั้นเขาไม่รู้ว่า House D หมายถึงอะไร แต่ต่อมาเขาได้ข้อมูลว่าเสื้อยืดตัวนั้นเป็นเสื้อยืดสำหรับหาเสียงเลือกตั้งตำแหน่ง Hawaii House of Representatives และ D คือตัวย่อของ Democrat เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า Tony Takitani น่าจะเป็นคนแบบไหน? จากนั้นจินตนาการของนักเขียนก็นำไปสู่เรื่องราวของผู้ชายที่เปล่าเปลี่ยวคนหนึ่ง 

หลังจากเรื่องราวของ Tony Takitani เผยแพร่ในโลกภาษาอังกฤษ มูราคามิได้รับจดหมายฉบับหนึ่ง ในจดหมายบอกว่าเขาคือ Tony Takitani คนนั้น เขาไม่ชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น ตอนนี้เขาเป็นทนายความที่ประสบความสำเร็จ เขาเชิญชวนมูราคามิว่าถ้ามีเวลาให้ไปเล่นกอล์ฟด้วยกัน แต่น่าเสียดายที่มูราคามิไม่เล่นกอล์ฟ

ถ้าจะมีใครสงสัยว่าในบรรดาเสื้อยืดทั้งหมด มูราคามิภูมิใจและหวงแหนเสื้อยืดตัวไหนมากที่สุด คำตอบคือเสื้อยืดตัวสีเหลือง ราคาประมาณหนึ่งดอลลาร์ ที่มีประโยคว่า “TONY” TAKITANI House D อยู่บนหน้าอก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save