fbpx

DRIVE MY CAR สารถีอิตถี บนวิถียานบุรุษวินเทจ

*Spoiler Alert : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Drive My Car*

ต้องเปิดประเดิมกันด้วยบรรณานุกรมเลยทีเดียวสำหรับการรีวิวภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Drive My Car ของผู้กำกับ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ ครั้งนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการแปะป้ายเตือน spoiler alert กันกลายๆ ว่าอาจจะมีการเจาะเรื่องราวสำคัญของงานวรรณกรรมทุกชิ้นที่ได้กล่าวไป มันยังเป็นการฉายหนังตัวอย่างให้ดูด้วยว่า การดัดแปลงงานเรื่องสั้นของ ฮารูกิ มูราคามิ ที่ลามเลยไปถึงบทละครเวทีเรื่องสำคัญของวงการอย่าง Uncle Vanya (1897) ของ Anton Chekov และ Waiting for Godot (1952) ของ Samuel Beckett จนกลายเป็นหนังเรื่อง Drive My Car (2021) โดยผู้กำกับ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ นั้น มันแทบไม่มีเค้าของการดัดแปลงที่สัตย์ซื่อตรงไปตรงมา คือเนื้อหาที่ว่าถึงการนอกใจกันระหว่างคู่สามีภรรยาจะแลดูละเมิดทรยศพันธะสัญญาใจที่มีให้ต่อกันอย่างไร ผู้กำกับ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ ก็นอกใจไปจากเรื่องราวต้นฉบับของ ฮารูกิ มูราคามิ แบบนั้น ชนิดที่นักวิจารณ์หรือผู้ชมสายนิยมงานดัดแปลงแบบ ‘จงรักภักดี’ หรือ faithful adaptation ทุกวรรคถ้อยเป๊ะตรงแบบบรรทัดต่อบรรทัดได้ดูแล้วคงจะอกแตกตาย เพราะต่อให้ได้ชื่อว่า Drive My Car เหมือนกัน แต่ลำดับเส้นทางการเล่า ยวดยาน หรือแม้แต่จุดหมายปลายทางเอง กลับไม่ได้เหมือนกันเลย!



หรี่ตามองแบบเผินๆ เบลอๆ Drive My Car ฉบับเรื่องสั้นของ ฮารูกิ มูราคามิ และฉบับหนังของ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ อาจจะมีเค้าโครงระดับกว้างที่เหมือนกันๆ โดยในฉบับหนัง ผู้กำกับและเขียนบท เรียวสุเกะ ฮามากูชิ ได้ร่วมกับผู้ดัดแปลงบท ทาคามาซะ โอเอะ ช่วยกันเปลี่ยนปรับขยับขยายเรื่องราว เพื่อทำให้เนื้อหาจากเรื่องสั้นที่น่าจะนั่งอ่านจบได้ภายใน 30 นาที กลายเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวที่สามารถเข้าฉายในโรง จนสุดท้ายก็ยาวเหยียดลามเลยไปร่วมๆ 3 ชั่วโมงในที่สุด

เหตุการณ์คร่าวๆ เป็นเรื่องราวของนักแสดงหนุ่มใหญ่ คะฟุคุ ผู้เคยอาศัยอยู่กินกับภรรยานาม โอโตะ ที่ทำงานในวงการเดียวกัน ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน เขาเป็นเจ้าของรถยนต์วินเทจยี่ห้อ SAAB คันงามที่ยังใช้การได้ดี ทว่าเมื่อเขามีปัญหาอุปสรรคบางอย่างทำให้ไม่สามารถขับรถไปทำงานด้านละครเวทีเองได้ จึงต้องให้คนขับรถคนใหม่มาทำหน้าที่แทน หากสารถีคนใหม่ของเขากลับกลายเป็น มิซะกิ สาวลุคทอมบอยหน้าเบื่อโลกมาดแมน  คะฟุคุ จึงไม่วายดูแคลนว่า มิซะกิ ไม่น่าจะดูแลรถเก่าเจ้าของหวงคันนี้ได้  แต่ มิซะกิ ก็แสดงฝีมือการควบคุมรถอันจัดเจนของเธอจน คะฟุคุ เชื่อใจ และกลายมาเป็นสารถีประจำ


จากหน้าที่เพียงแค่พลขับสตรีที่ต้องทำให้ทุกๆ การเคลื่อนเปลี่ยนของยวดยานราบรื่นไร้อาการกระตุกสะดุดใดๆ สุดท้าย มิซะกิ ก็กลายมาเป็นคนสนิทที่ได้รับฟังพฤติกรรมนอกใจของ โอโตะ กับนักแสดงหนุ่มคนอื่นๆ ที่สร้างบาดแผลภายในให้ คะฟุคุ เสมอมา จนกระทั่ง คะฟุคุ ได้พบกับ ทะคะสุกิ นักแสดงรุ่นน้องหนุ่มหล่อไฟแรง ผู้เคยเป็นหนึ่งในชายชู้ของ โอโตะ บทสนทนาหน้า counter bar สุราของสองหนุ่มต่างวัยจึงกลายมาเป็นการระบายเพื่อร่วมกันทำความเข้าใจว่า โอโตะ คิดอย่างไรจึงได้กระทำพฤติกรรมเช่นนั้น จน คะฟุคุ เองก็ต้องจมอยู่กับความงุนงัน ไม่รู้ว่าจะรู้สึกประการใดกับคู่สนทนาตรงหน้าเขาดี

น่าประหลาดใจที่หากดูจาก credit ทางการของภาพยนตร์ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ ได้แจ้งชัดว่าดัดแปลงเนื้อหามาจากเรื่องสั้นชื่อ ‘Drive My Car’ จากรวมเรื่องสั้น ชายที่คนรักจากไป หรือ Men without Women (2014) ของ ฮารูกิ มูราคามิ เพียงเรื่องเดียว ทั้งๆ ที่เรื่องย่อดังที่กล่าวไปซึ่งมาจากเรื่องสั้นเรื่องนี้ เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของตัวหนังเท่านั้น ในขณะที่เนื้อหาสำคัญส่วนอื่นๆ ยังได้หยิบยืมมาจากเรื่องสั้นอื่นๆ ในเล่มเดียวกันอีกไม่น้อยกว่าสามเรื่อง

ตั้งแต่ฉากเปิดที่ถ่ายทอดพฤตินิสัยระหว่าง คะฟุคุ กับ โอโตะ โดยทุกครั้งหลังทั้งคู่ร่วมรักกันจนเสร็จสมอารมณ์หมาย ฝ่ายหญิงจะค่อยๆ เล่าเรื่องราวในจินตนาการเกี่ยวกับหญิงสาววัยมัธยมปลายซึ่งชาติที่แล้วเกิดเป็นปลาไหลทะเล เธอตกหลุมรักเพื่อนชายวัยเดียวกันโดยที่เขาไม่รู้ และได้หนีโรงเรียนแอบย่องไปหากุญแจที่ซ่อนไว้หน้าบ้านของเพื่อนชายคนนั้นยามที่ไม่มีใครอยู่ แอบขึ้นไปบนห้องนอนของเขาด้วยความอยากรู้เรื่องราวส่วนตัว แล้วแอบขโมยข้าวของเล็กๆ น้อยๆ แลกกับผ้าอนามัยที่ยังไม่ได้ใช้ของเธอซ่อนไว้ในซอกลึกสุดของลิ้นชัก กระทั่งมีเสียงเปิดประตูเข้ามาในบ้าน โดยจินตนาการก็ยุติลงตรงนั้น

นี่เป็นเรื่องราวที่ตัวละครแม่บ้าน-พยาบาล เล่าให้ผู้ป่วยของเธอฟังหลังเสร็จกามกิจจากเรื่องสั้น ‘เซเฮราซาด’ ในเล่มเดียวกัน  ซึ่งสุดท้าย เรียวสุเกะ ฮามากูชิ ก็ใช้เรื่องเล่าจากจินตนาการง่ายๆ นี้ มาเป็นอาวุธเชือดเฉือนห้ำหั่นทำร้ายจิตใจกันระหว่างสองหนุ่มได้อย่างชาญฉลาดในช่วงท้าย หรือฉากที่ คะฟุคุ กลับมาถึงบ้านก่อนกำหนดเวลา และได้แอบเห็นภรรยาร่วมรักกับชายอื่นในบ้านของตัวเองแบบเต็มสองตา จนต้องเป็นฝ่ายหลบหน้าหนีมาแบบเงียบๆ ไม่ให้มีใครระแคะระคาย ไปจนถึงฉากการดื่มเหล้าในบาร์ที่สร้างบรรยากาศด้วยการเล่นแผ่นเสียงไวนิล นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างลูกค้าที่เพิ่งจะร่ำสุรา ก็มาจากเรื่องสั้น ‘คิโนะ’ ในเล่มนี้ด้วยเช่นกัน โดย theme สำคัญของเรื่องราวทั้งหมด เกี่ยวกับการแอบมีความสัมพันธ์กับคนที่มีเจ้าของครอบครองอยู่แล้ว และภาวะจิตใจของเหล่า ‘ผู้ชาย’ ไม่ว่าจะ ‘สามี’ หรือ ‘ชู้’ หลังสตรีที่เคยมีความสัมพันธ์ด้วยได้จากไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด รวมถึง subplot ย่อยเกี่ยวกับสตรีวัยกลางคนที่ยังมีตัวตนในวัยเยาว์ของตัวเองซุกซ่อนอยู่อีกบุคลิก ก็เป็นเนื้อหาที่ว่าไว้ในเรื่องสั้นปิดเล่ม ‘พวกผู้ชายที่คนรักจากไป’ นั่นเอง

แต่รายละเอียดทั้งหมดนี้ ก็ล้วนเป็นการ ‘ประกอบสร้าง’ เรื่องราวให้บทหนังมีลำดับมิติที่ซับซ้อนเป็นจักรวาลของเรื่องเล่าในลักษณะนวนิยายมากกว่าจะเป็นโครงเรื่องเดี่ยวๆ แบบงานเรื่องสั้น เพื่อให้เหมาะกับการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวซึ่งก็พอจะเข้าใจเจตนาได้ สงสัยเพียงแค่ว่าทำไม เรียวสุเกะ ฮามากูชิ จึงไม่ยักจะให้ credit กับเรื่องสั้นทุกเรื่องที่หยิบยืมเนื้อหามา เพื่อให้ผู้ชมได้กลับมาตามหาอ่าน แต่กลับยกชูให้ ‘Drive My Car’ เป็นเรื่องสั้นต้นเค้าโดดเด่นเป็นเอกเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อหันกลับมามองที่เรื่องสั้น ‘Drive My Car’ ลำพังเพียงเรื่องเดียว เมื่อผู้กำกับ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ จำเป็นต้องถ่ายทอดตัวอักษรออกมาเป็นหนัง เขาก็ยังทรยศตัวบทเดิมไปในหลายๆ จุดจนอาจสร้างความหงุดหงิดใจให้ผู้ชมผู้นิยมการดัดแปลงสายบริสุทธิ์ได้ดังที่กล่าวไป ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีทางวิชาการเรื่องความจำเพาะเหมาะสมของแต่ละสื่อ หรือที่เรียกว่า media specificity และ ‘บัตรอนุญาตการตีความ’ poetic licence หรือ ‘กวียานุโลม’ ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินผู้ดัดแปลงผลงาน สามารถใช้จินตนาการปรับเปลี่ยนอะไรสิ่งใดในงานต้นแบบก็ได้ ก็แสดงให้เห็นถึง ‘ธรรมชาติ’ การเล่าเรื่องในส่วนที่ต่างกันระหว่างงาน ‘วรรณกรรม’ และ ‘ภาพยนตร์’ ได้อย่างชัดเจน 

จุดแตกต่างที่สำคัญมากที่สุดใน Drive My Car ฉบับ ‘เรื่องสั้น’ และ ‘ภาพยนตร์’ นี้ ก็คือ ‘ภาพลักษณ์’ ของตัวละครเอก คะฟุคุ อันจะมีผลทางตรงต่อการนำเสนอรายละเอียดอื่นๆ ต่อไป เพราะหากใครที่ได้อ่านทั้งเรื่องสั้นและได้ดูหนังกันแล้ว ก็น่าจะบอกได้ว่า คะฟุคุ ในฉบับเรื่องสั้น เป็นเพียงนักแสดงชั้นรองที่ไม่ค่อยจะได้รับบทเด่นๆ ต้องวิ่งรอกรับงาน job โน้น job นี้เรื่อยไปเพื่อหารายได้ ส่วนสภาพร่างกายของเขาก็เริ่มไม่ไหว เป็นโรคต้อตาจนไม่สามารถขับรถเองได้และต้องเจียดเงินมาจ่ายให้สารถีสตรีแบบไม่มีทางเลือกสักเท่าไหร่ ทั้งยังต้องยิ่งชอกช้ำใจเมื่อได้ล่วงรู้ว่าภรรยาได้เปิดประตูต้อนรับนักแสดงหนุ่มๆ มาตีท้ายครัวเขาหลายคนหลายครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ช่างมีภาพลักษณ์ของการเป็น loser โดยบริบูรณ์ โดยมี มิซะกิ สารถีส่วนตัวเป็นผู้เดียวที่เขาสามารถระบายเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำจนสิ้นหวังให้ฟังได้

ในขณะที่ คะฟุคุ ฉบับหนังซึ่งรับบทโดย ฮิเดโทชิ นิชิจิมา กลับกลายเป็นนักแสดงละครเวทีผู้ประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับนับถือในวงการ ผ่านประสบการณ์การแสดงละครเวทีตะวันตกแนว absurd ไร้เหตุผลอันสุดหินอย่าง Waiting for Godot (1952) โดย Samuel Beckett ซึ่งรับบทนำกันเพียงสองคนผ่านตัวบทที่จับหาตรรกะเหตุผลแรงจูงใจใดๆ ไม่ได้เอาเลย ทั้งยังเคยรับบทนำในบทละครที่เขามีความหลังเรื่อง Uncle Vanya (1897) ของ Anton Chekov ในบทลุงวันยาเอง (ตรงตามที่ระบุไว้ในเรื่องสั้น) และได้รับเชิญให้เป็นผู้กำกับศิลปินพำนักที่ฮิโรชิมา โดยมีพฤติกรรมรักนอกใจของภรรยาเป็นปริศนาเงื่อนงำของหนัง มากกว่าจะเป็นข้อบกพร่องบ่งฟ้องถึงความ ‘ไม่เอาไหน’ ของตัว คะฟุคุ เองอย่างในฉบับเรื่องสั้นของ ฮารูกิ มูราคามิ


ความแตกต่างนี้เอง ที่ทำให้รายละเอียดในหลายๆ ส่วนของหนัง ซึ่งแม้จะเป็นส่วนที่นำมาจากเรื่องสั้น ‘Drive My Car’ โดยตรง ต้องถูกปรับเปลี่ยนดัดแปลงและบิดผันไป เพราะสุดท้ายไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร ‘ธรรมชาติ’ ของการเขียนงานวรรณกรรมและการทำหนัง มันก็มีระนาบที่เหมือนจะอยู่คนละพิภพจักรวาลกันอยู่แล้ว

เอาที่เห็นตำตามากที่สุด จากรถยนต์ยี่ห้อ SAAB วินเทจสีเหลืองอันเป็นสีที่แสดงการหลงยึดติดในโลกอดีตอันหวานชื่นปนฝื่นขมแบบ nostalgia ของตัวละคร คะฟุคุ ในเรื่องสั้น ก็ต้องมาพ่นย้อมใหม่ให้กลายเป็นรถ SAAB 900 Turbo สีแดงเพลิงโดดเด่นสะดุดตา ประกาศฟ้องความ ‘โอ้โห เท่เป็นบ้า!’ ของ คะฟุคุ ที่ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนก็ยืดอกอย่างสง่าผ่าเผยได้ว่า ‘รถโคตรสวย มีรสนิยม!’ ตาม ‘ธรรมเนียม’ ของการเป็น ‘พระเอก’ ในหนังสักเรื่องหนึ่ง ที่ต่อให้จะมีความเป็น loser เจือปนอย่างไร สุดท้ายภาพรวมมันก็ต้อง ‘เท่’ เอาไว้ก่อน 

ลองนึกภาพว่าถ้าผู้กำกับ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ จะตะพึดตะพือ เอารถ SAAB สีเหลืองตุ่นมาเข้าฉากในหนังจริง ๆ คือถ่ายให้ตายยังไงมันก็ไม่เด่น ไม่ว่าจะให้วิ่งไปถนนเส้นไหนอย่างไร ต้องแสงอาทิตย์เป็นประกายกันขนาดไหน  ยังไงมันก็จะดูดุ่ย ๆ อ๋อย ๆ สร้างความด่างพร้อยให้รังสีบารมีของพ่อ ‘พระเอก’ ของเราจนไม่สามารถอนุญาตให้เข้าฉากได้  การตัดสินใจเปลี่ยนสีรถให้กลายเป็นสีแดงโดดเด่นสะดุดตาดูดีมีราคาในการถ่ายทำหนังเรื่อง Drive My Car ของ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ จึงนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องมาก โดยเฉพาะเมื่อเขาต้องการนำเสนอตัวละครเอกด้วยมาดแบบนี้ และเป็นการผิดผีต้นฉบับด้วยความจำเป็น เนื่องจาก ‘หนัง’ มันคือเรื่องของการ ‘มองเห็น’ การเลือกสีของทุกภาพทุกองค์ประกอบเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่สามารถอาศัยพึ่งพาการมโนของผู้อ่านได้แบบเดียวกับงานวรรณกรรม


และถ้าจะทำหนังเกี่ยวกับการขับรถรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่อยู่ภายในยวดยาน เธอจะอ่านเรื่องสั้นมาอย่างไรแล้วถ่ายไปแบบนั้นเลยมันก็ไม่ได้อีก คือถ้ายึดตามเรื่องสั้นเดิม การขับขี่ต่างๆ จะเกิดขึ้นในโตเกียวซึ่งไม่ใช่เมืองที่เหมาะกับหนังที่มีกลิ่นอายของการเป็น Road Movie อะไรแบบนี้เลย ผู้กำกับ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ จึงย้ายฉากแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง คะฟุคุ กับ มิซะกิ ทั้งหมดมาที่เมืองฮิโรชิมา เมืองที่จะสามารถแสดงทัศนียภาพอันกว้างขวางงดงามทั้งภาพเมือง ชายทะเล และธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ตระการได้อย่างอิ่มตา ถูกต้องเหมาะสมที่จะเป็น backdrop ของหนังที่ได้ชื่อว่า Drive My Car มากกว่ากรุงโตเกียวอย่างไม่น่าจะมีเสียงคัดค้าน 

การปรับเปลี่ยนนี้เองที่นำไปสู่ลูกเล่นที่เห็นได้ชัดในการสร้างภาวะ ‘ไม่มีตัวตน’ ของพลขับสตรี มิซะกิ โดยในฉบับเรื่องสั้น ฮารูกิ มูราคามิ ได้มอบหมายหน้าที่สำคัญของ มิซะกิ ให้บังคับควบคุมรถ SAAB คันนี้ไม่ให้มีอาการสะดุดแม้แต่จึ๊กเดียว เพราะสิ่งที่ คะฟุคุ ต้องการกระทำคือการจำบทละครเรื่อง Uncle Vanya ของ Anton Chekov ฉบับญี่ปุ่น ผ่านการฟัง cassette tape เสียงภรรยาที่อ่านบทไว้ให้ ราวกับว่า คะฟุคุ อยู่ในรถคันนั้นลำพังและ มิซะกิ ไม่มีตัวตน ซึ่ง ฮารูกิ มูราคามิ ก็ใช้วิธีเขียนให้ คะฟุคุ ระลึกถึงเรื่องราวความหลังและห้วงความคิดอื่นๆ ขณะอยู่ในรถกับ มิซะกิ อย่างยืดยาว เพื่อลบภาพของ มิซะกิ ออกไป ในขณะที่ฉบับหนังผู้กำกับ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ กลับไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ จะกำกับให้รถขับไปเองโดยร่างกายและตัวตนของ มิซะกิ ล่องหนไปจริงๆ ก็ดูจะตลกเข้าไปใหญ่ สุดท้ายเขาก็เลยแก้มือให้ผู้ชมได้เห็นใบหน้าของ มิซะกิ อย่างเต็มสองตา แม้ว่าเธอจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่ไหลเวียนอยู่ในรถคันนั้นในช่วงเวลาสำคัญ เพื่อย้อนย้ำความไร้ตัวตนของเธอด้วยการด้อยค่ากันแบบเห็นๆ


กระทั่งเมื่อผู้กำกับจำเป็นต้องถ่ายฉากการซ้อมและแสดงละครเวทีเรื่อง Uncle Vanya จริงๆ ทั้งในห้องซ้อม สวนสาธารณะ และบนเวที โดยใช้วิธีการกำกับแบบ traditional เสนอยุคสมัย เสื้อผ้า และฉากหลังต่างๆ ตามตัวบทแบบสมจริง ผู้กำกับ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ ก็ต้องมานั่งคิดอีกว่าจะนำเสนอละครเวทีเรื่องนี้ในหนังออกมาอย่างไร ให้ได้ ‘ภาพ’ ที่ไม่เหมือนกับการแสดงที่ผู้ชมที่มีประสบการณ์อาจเคยเห็นเคยดูมาก่อนแล้วจนชินตา โดยเฉพาะละครอมตะที่นำมาเล่นกันจนพรุนอย่าง Uncle Vanya เรื่องนี้ สิ่งที่ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ นำมาใช้สร้างความแตกต่างก็สร้างพลังให้กับทั้ง production ละครและหนังเรื่องนี้ได้มากๆ นั่นคือการทำให้ Uncle Vanya ฉบับที่ คะฟุคุ กำกับ เป็น project แบบหม้อลวกต้มนานาชาติ มีนักแสดงจากหลากหลายประเทศในเอเชียตะวันออกมารับบทต่างๆ โดยพูดภาษาแม่ของตนเอง ไม่เว้นแม้กระทั่งภาษามือเกาหลี ที่สุดท้ายพวกเขาก็สามารถรับส่งบทข้ามหอคอย Babel ไปมากันได้ สะท้อนให้เห็นพลังการแสดงอันมีมิติความหมายเชิงอารมณ์ระดับสากลจนคนต่างชาติต่างภาษาสามารถมาร่วมเล่าเรื่องราวเดียวกันได้อย่างราบรื่นไม่มีอาการสะดุดติดขัดใดๆ เลย ซึ่งก็เป็น ‘ภาพ’ ที่ผู้กำกับ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ ใช้แก้ขัดความเป็นงานคลาสสิกเก่าเชยของบทละครเรื่องนี้ได้อย่างดีทีเดียว

อีกจุดหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้กำกับ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ จงใจเลือกไม่นำมาใส่ใน Drive My Car ฉบับหนัง แม้ว่ามันจะเป็นฉากสำคัญอีกฉากหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในเรื่องสั้น นั่นก็คือความสัมพันธ์ชวน ‘จิ้นวาย’ ทั้งหลายระหว่างตัวละครหลัก คะฟุคุ กับ ทะคะสุกิ นักแสดงหนุ่มรุ่นน้อง  ในฉบับเรื่องสั้น ฮารูกิ มูราคามิ ได้เล่าถึงช่วงที่ คะฟุคุ ได้ร่วมดื่มและพูดคุยกับ ทะคะสุกิ เพื่อรื้อฟื้นความหลังเกี่ยวกับ โอโตะ ภรรยาของเขาที่จากไปด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก โดย คะฟุคุ เป็นฝ่ายชักชวน และได้จับมือกับ ทะคะสุกิ ขณะอำลา เขากลับเป็นฝ่ายรับสัมผัสมืออัน “นิ่ม นิ้วเรียวยาว ฝามืออุ่น และดูเหมือนจะชื้นเหงื่อเล็กน้อย” ของ ทะคะสุกิ และอาลัยอาวรณ์สัมผัสอุ่นนั้นจนทำให้คนอ่านแทบจะคิดดีไม่ได้ เพื่อระลึกว่ามือคู่นี้สินะที่เคยสัมผัสเรือนร่างภรรยาของเขา 

แต่ในฉบับหนังผู้กำกับ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ บอกเลยว่า “ดาเมะ! ดาเมะ! ดาเมะ! No! No! No!” ซีนนี้จะนำมาใส่ในหนังไม่ได้โดยเด็ดขาด อุตส่าห์ได้นักแสดงหล่อเท่คนละแบบคนละวัยมารับบทเด่นด้วยกันขนาดนี้แล้ว จะให้มาจับไม้จับมืออาลัยสัมผัสจิกหมอนจิ้นวายอะไรแบบนี้ไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่าพอมันเป็น ‘ภาพ’ เห็นหน้าเห็นตานักแสดงอะไรต่อมิอะไรแล้ว ความหมายมันจะชัดและถูกขยายมากกว่าเรื่องสั้นหรือนิยายที่อาศัยเพียงตัวอักษรไปหลายเท่า ซึ่งจะยิ่งทำให้บุคลิกหลักของตัวละครตามที่ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ ต้องการวางไว้แกว่งไป สุดท้ายเขาจึงให้ทั้งคู่ทำได้มากที่สุดคือการโค้งคำนับ และจ้องมองสายตากันขณะกำลังร่ำสุราอยู่ในบาร์ที่เหมือนจะมีพวกเขาเพียงแค่สองคน ความเป็น heterosexual ของตัวละครชายทั้งคู่นี้จึงถูกผู้กำกับ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ พิทักษ์ไว้อย่างแข็งขัน เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างเป็นคู่ปรับที่ต้องร่วมประสบการณ์การสูญเสียหญิงคนรักคนเดียวกัน ปราศจากความอ่อนหวานระทวยอารมณ์ในแบบที่ ฮารูกิ มูราคามิ ได้เคยนำเสนอไว้


นี่ยังไม่นับรายละเอียดอื่น ๆ เล็ก ๆ น้อย ที่จำต้องปรับให้เข้ากับบริบทและสถานการณ์ของการทำหนัง ไม่ว่าจะเป็นอายุของ มิซะกิ ที่ต้องลดจาก 24 ปีในเรื่องสั้นมาเป็น 23 ปี เพื่อให้เข้ากับหน้าตาจริงของนักแสดง โดยยังคงแฝงนัยยะว่า มิซะกิ มีอายุเท่ากับลูกสาวที่เสียชีวิตไปแต่เยาว์วัยของ คะฟุคุ พอดี หรือลำดับการเล่าที่มาความเป็นไปในการประกอบอาชีพเป็นโชเฟอร์ขับรถของ มิซะกิ เอง และลำดับรายละเอียดการเล่าเรื่องราวการสูญเสียมารดาของเธอไปเมื่อห้าปีก่อนหน้า ที่ต้องหาจังหวะคลี่คลายที่เหมาะสมตามรูปแบบการเล่าของหนัง ซึ่งต้องอาศัยฉากหลังมาเป็น background ประกอบการถ่ายทอดเรื่องในอดีต

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ น่าจะแสดงได้อย่างประจักษ์ชัดแล้วว่า ศิลปะการเล่าเรื่องในรูปแบบของวรรณกรรมและภาพยนตร์มันมีขนบธรรมชาติที่ผิดแผกกันได้เพียงไหน จนไม่น่าแปลกใจที่ผู้กำกับ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ จำเป็นต้อง ‘นอกใจ’ ฮารูกิ มูราคามิ ในการเล่าเรื่องราวเดียวกัน การดัดแปลงแบบ faithful adaption ระหว่างสองสื่อนี้จึงไม่ได้มีอยู่จริง มันไม่มีทางเลยที่จะซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อทุกถ้อยความในตัวบทกันตั้งแต่แรก และถ้าจะว่ากันจริงๆ เราอาจไม่สามารถเรียกการข้ามศิลป์ข้ามสื่อแบบนี้ว่าเป็นการ ‘ดัดแปลง’ หรือ ‘adapt’ ได้ด้วยซ้ำ น่าจะเรียกว่าเป็นการ ‘ดาลใจ’ หรือ ‘inspire’ เสียมากกว่า เพราะสุดท้ายแล้ว Drive My Car ของ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ ก็มีองค์ธาตุและจิตวิญญาณของการเป็นเรื่องเล่าที่แตกต่างไปจากเรื่องสั้น ‘Drive My Car’ ของ ฮารูกิ มูราคามิ ไปแสนไกล คล้ายเป็นการ ‘ยกเครื่อง’ ‘เปลี่ยนโครง’ ‘เคลือบพ่นสี’ ใหม่ จนชักจะไม่แน่ใจว่ายังมีชิ้นส่วนเก่าเดิมหลงเหลืออยู่ตรงไหนบ้าง

จากที่กรรมการเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เคยสร้างความประหลาดใจด้วยการมอบรางวัลบทยอดเยี่ยมให้กับ Drive My Car แม้จะได้ชื่อว่าเป็น ‘บทดัดแปลง’ ผิดจากธรรมเนียมปฏิบัติของรางวัลนี้ที่มักจะให้กับภาพยนตร์ที่สร้างจาก ‘บทดั้งเดิม’ คิดเรื่องทั้งหมดเองแบบ from scratch อยู่เสมอ จนเหมือนจะให้รางวัลแก่ ฮารูกิ มูราคามิ มากกว่าจะให้ผู้เขียนบทของหนังเรื่องนี้ ก็อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีได้ว่าการเขียน ‘บทดัดแปลง’ มันก็ไม่ง่ายไปกว่าการเขียน ‘บทดั้งเดิม’ แต่ประการใดเลย ออกจะยากยิ่งกว่าเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อมันมีการเล่าผ่านข้ามสื่อ คือจริงๆ ก็ไม่รู้หรอกว่าคณะกรรมการเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ได้ตามอ่านผลงานที่ร่ายไว้ในบทบรรณานุกรมครบถ้วนจริงไหมในการเป็นปัจจัยตัดสิน แต่การที่ Drive My Car ได้รับรางวัลบทยอดเยี่ยมจากเทศกาลดัง เอาชนะบทหนังดั้งเดิมเรื่องอื่นๆ มันก็เป็นนิมิตหมายอันดีว่า ‘บทดัดแปลง’ ก็มีที่ทางเป็นของตัวเอง และมีศักดิ์ศรีเทียบเคียงได้กับงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเองใหม่ ดังจะเห็นได้จากกรณี ‘คนละเรื่องเดียวกัน’ ของ Drive My Car ฉบับ ฮารูกิ มูราคามิ และ เรียวสุเกะ ฮามากูชิ ที่อยากจะเชื้อชวนให้ทั้งผู้อ่านและผู้ชมได้ลองส่องเสพเทียบเคียงกันดู


บรรณานุกรม

Beckett, Samuel. (1952). Waiting for Godot Paris: Minuit.
Chekov, Anton. (1897). Uncle Vanya Moscow: Unknown.
มูราคามิ, ฮารูกิ. (๒๕๕๙). Drive My Car (กนกวรรณ เกตุชัยมาศ, ผู้แปล). ใน ชายที่คนรักจากไป กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กำมะหยี่
มูราคามิ, ฮารูกิ. (๒๕๕๙). คิโนะ (มุทิตา พานิช, ผู้แปล). ใน ชายที่คนรักจากไป กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กำมะหยี่
มูราคามิ, ฮารูกิ. (๒๕๕๙). เซเฮราซาด (อานนท์ สันติวิสุทธิ์, ผู้แปล). ใน ชายที่คนรักจากไป กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กำมะหยี่
มูราคามิ, ฮารูกิ. (๒๕๕๙). พวกผู้ชายที่คนรักจากไป (มัทนา จาตุรแสงไพโรจน์, ผู้แปล). ใน ชายที่คนรักจากไป กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กำมะหยี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save