fbpx

1 ทศวรรษ อินเดียภายใต้การบริหารโดยรัฐบาล Modi

ภาพประกอบ – YASUYOSHI CHIBAPOOL / AFP

เมษายน-พฤษภาคม 2024 จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 900 ล้านคนในประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือ ‘อินเดีย’

การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในทุกระดับตั้งแต่ระดับรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งแต่ละรัฐนั้นต่างมีสภานิติบัญญัติทำหน้าที่ออกกฎหมายที่ใช้บังคับในรัฐของตนเอง โดยการเลือกตั้ง ส.ส. ระดับรัฐครั้งนี้มีที่นั่งให้ชิงชัยรวมกันทั้งประเทศถึง 4,036 ที่นั่ง ทั้งยังมีการเลือกคณะผู้บริหารรัฐบาลท้องถิ่น ที่มีมุขมนตรี (Chief Minister) ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะบริหารคล้ายๆ นายกรัฐมนตรีในแต่ละรัฐ โดยมีคณะรัฐมนตรีประจำรัฐอีกรวมกันทั้งประเทศ 423 ที่นั่ง และคณะบริหารดินแดนสหภาพอีก 31 ที่นั่งสำหรับพื้นที่บริหารในรูปแบบพิเศษของอินเดีย และแน่นอนว่าในระดับรัฐบาลกลางที่กรุงนิวเดลี ก็จะมีการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ (Lok Sabha) ที่มี 543 ที่นั่ง และวุฒิสภา (Rajya Sabha) อีก 245 ที่นั่ง โดยการเลือกตั้งที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นักสังเกตการณ์เชื่อว่า นายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของประเทศ นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) ซึ่งดำรงตำแหน่งมาแล้วสองสมัยตั้งแต่ปี 2014 ก็คงจะได้รับเลือกตั้งต่ออีกหนึ่งสมัย เนื่องจากสองเหตุผลหลักคือ

  1. พรรคคู่แข่งตลอดกลางอย่าง Indian National Congress (INC) ซึ่งมีประธานพรรคคือ Mallikarjun Kharge (เริ่มดำรงตำแหน่งในปี 2022) รวมทั้งพันธมิตรการเมืองของ INC อีก 29 พรรคในนาม Indian National Developmental Inclusive Alliance (I.N.D.I.A.) ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งและเสนอทางออกที่สร้างสรรค์ให้กับปัญหาที่หลากหลายของประเทศ อีกทั้งผู้นำอย่าง Mallikarjun Kharge ก็ไม่ได้มีบารมีและภาวะผู้นำที่มากเพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับ Sonia Gandhi ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาอินเดีย (Lok Sabha + Rajya Sabha) และเคยดำรงตำแหน่งประธานพรรค INC ตั้งแต่ปี 1998-2017 และ 2019-2022
  2. รัฐบาลพรรค Bharatiya Janata Party (BJP) ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Modi ที่ทำหน้าที่บริหารประเทศมาตลอด 10 ปีมีผลงานอย่างต่อเนื่องและเห็นเป็นรูปธรรมในการนำพาประเทศให้พัฒนาขึ้นในแทบทุกมิติ และหากพิจารณาในแง่ภาวะผู้นำ Modi เองก็มีสภาวะนี้อย่างเต็มที่และเป็นที่ถูกอกถูกใจมหาชนส่วนใหญ่ของประเทศเมื่อเทียบกับคู่แข่งจาก INC รวมทั้ง BJP เองก็สร้างพันธมิตรทางการเมืองที่เข้มแข็งกับอีก 36 พรรคการเมืองในนาม National Democratic Alliance (NDA)

แน่นอนว่านอกจากมิติการเมืองแล้ว 5 นโยบายที่ผู้เขียนเชื่อว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพลิกโฉมหน้าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอินเดียตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้แก่

1. Invest India & Make in India

จากการทำงานที่ซ้ำซ้อนยุ่งยากหลายขั้นตอน ยากต่อการทำความเข้าใจต่อนักลงทุนต่างชาติ ทั้งยังกระจัดกระจายทั้งในระดับรัฐและระดับรัฐบาลกลาง การปฏิรูปองค์กรโดยการรวมศูนย์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนเข้ามาอยู่ในองค์กรเดียวกันที่เรียกว่า Invest India ทำให้เกิดจุดประสานงานแบบจุดเดียว (Focal Point) ที่สะดวก ลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งการจัดตั้งทีมงานที่ทำงานเชิงรุก (Pro-Active) ในการออกไปหานักลงทุนและเชิญชวนเข้ามาลงทุนในอินเดีย ถือเป็นการดึงศักยภาพในการดึงดูดเงินลงทุนเข้าไปภายในประเทศอินเดีย และเมื่อประกอบกับการสร้างนโยบายในการส่งเสริมที่วางอยู่บนการวิเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา และทำการตลาดอย่างต่อเนื่องภายใต้แคมเปญ ‘Make in India’ ที่กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 25 อุตสาหกรรม และพื้นที่เป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุน ทำให้เกิดการตื่นตัวอย่างยิ่งในระดับรัฐ ที่แต่ละรัฐบาลประจำรัฐออกมาสร้างแคมเปญในการส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และอำนวยความสะดวกในการลงทุนให้กับนักลงทุนอินเดียและนักลงทุนต่างชาติ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น Make in Odisha, Tamil Nadu Global Investors Meet, Vibrant Gujarat, Happening Haryana, Magnetic Maharashtra ฯลฯ

2. จาก Trinity of 1B สู่การส่งออก Digital Public Infrastructure

รัฐบาล BJP เริ่มต้นสมัยแรกโดยการประกาศนโยบาย Trinity of 1B ที่วางอยู่บนปัจจัยเดิมที่ชาวอินเดีย-ฮินดูคุ้นชินกับแนวคิดตรีเอกภาพ (Trinity) ของเทพเจ้าสำคัญสามองค์อันได้แก่ พระพรหมผู้สร้าง พระวิษณุ (พระนารายณ์) ผู้รักษาสมดุล และ พระศิวะ (พระอิศวร) ผู้ทำลายความชั่วร้าย สู่การเข้าถึงตรีเอกภาพของ 3 หนึ่งพันล้าน (Trinity of 1 Billions) โดย 1 พันล้านแรกหมายถึงการทำให้คนอินเดีย 1 พันล้านคนได้อยู่ในฐานข้อมูลประชากรในรูปแบบ Digital Biometric Identity โดยระบบที่ถูกสร้างขึ้นมามีชื่อว่า Aadhaar ซึ่งปัจจุบันได้จัดเก็บข้อมูลยืนยันอัตลักษณ์ตัวบุคคลของประชากรอินเดียไปแล้วมากกว่า 1.4 พันล้านคน เพื่อนำไปสู่ 1 พันล้านที่สอง นั่นคือการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ตโฟนจำนวน 1 พันล้านเครื่อง และเมื่อ 1 พันล้านที่หนึ่ง และ 1 พันล้านที่สองรวมเข้าด้วยกัน นั่นก็จะทำให้ชาวอินเดีย 1 พันล้านคนเข้าถึงบัญชีธนาคารได้ 1 พันล้านบัญชี ที่จะกลายเป็น Ecosystem เอื้อให้เกิดการทำธุรกิจภายในประเทศ

ณ ปัจจุบัน ระบบบัญชีธนาคารและการชำระเงินออนไลน์ที่เรียกว่า United Payment Interface (UPI) ของอินเดียได้ให้บริการไปแล้วในการโอนเงินระหว่างบัญชีไปกว่า 1 หมื่นล้านครั้ง นอกจาก Trinity of 1 Billions อินเดียยังมีระบบที่ต่อยอด อาทิ DigiLocker ที่เป็นระบบโกดังเก็บข้อมูลด้านทะเบียนราษฎร์ ฐานข้อมูลระบบภาษี ฐานข้อมูลใบอนุญาตขับขี่ ฯลฯ ให้กับประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน ลองนึกภาพระบบที่ไร้ระเบียบระดับอินเดียที่สั่งสมข้อมูลมาหลายสิบปีที่ปัจจุบันสามารถทำให้เป็นข้อมูลดิจิทัลที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน และสามารถสืบค้นได้ โดยมีต้นทุนที่ต่ำ

และเมื่อคราวที่อินเดียเป็นเจ้าภาพการประชุม G-20 ในปี 2023 อินเดียได้บรรจุวาระ Technological Transformation & Digital Public Infrastructure (DPI) เข้าเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่อินเดียต้องการจะส่งเสริมให้เกิดการขยายผลในเวทีนานาชาติ โดยพุ่งเป้าไปที่การส่งออกเทคโนโลยีเหล่านี้ไปยังประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังต้องการพัฒนาตนเองเข้าสู่รัฐบาลดิจิตอล อินเดียเชื่อว่าเทคโนโลยีของอินเดียมีต้นทุนต่ำและสามารถทำได้จริง (Low Cost and Technology Doyens) โดยอินเดียวางนโยบายการทูตต่อประเด็นนี้ว่าเทคโนโลยีประกอบความปรารถนาดี (Good Will) ของอินเดียในการพัฒนาประเทศในกลุ่มนี้จะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้อินเดียได้รับเสียงสนับสนุนและพันธมิตรในการผลักดันประเด็นสำคัญๆ ในเวทีประชาคมนานาชาติ

3. Demonetization

การปราบเงินสกปรก ปฏิบัติการอันลือลั่นที่สุดในโลกของรัฐบาล BJP คือการประกาศยุติการใช้ธนบัตร (Demonetization) 500 รูปี (ประมาณ 250 บาท) และ 1,000 รูปี (ประมาณ 500 บาท) ในเดือนพฤศจิกายน 2016 ประชาชนอินเดียได้รับการประกาศช่วงเวลาที่จำกัดในการนำเอาธนบัตรรุ่นเก่ามาแลกเป็นธนบัตรรุ่นใหม่ราคา 2,000 รูปี และ 100 รูปีได้ แต่ก็ต้องมีการสำแดงที่ไปที่มาของธนบัตรเก่าเหล่านั้น และจำกัดให้ทำได้ในปริมาณเท่าที่สามารถสำแดงที่มาที่ไปของเงินได้เท่านั้น แน่นอนว่ามีกระทบอย่างรุนแรงต่อคนที่ถือครองเงินสดที่มาจากกิจกรรมผิดกฎหมาย แม้ว่าในกระบวนการบังคับใช้อาจจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นบ้าง อาทิ มีนักธุรกิจใหญ่บางคนรับรู้ข้อมูลล่วงหน้า หรือมีการว่าจ้างบุคคลไปสำแดงข้อมูลแทนตนเอง แต่อย่างน้อยเงินสดจำนวนมหาศาลจากธุรกิจผิดกฎหมายและคอร์รัปชันก็ถูกกำจัดออกไป แม้ว่าจะมีข้อวิพากษ์จำนวนมากจากนักวิชาการด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ แต่รัฐบาล BJP ก็ได้แสดงความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่จะเข้าไปจัดการทำความสะอาดเรื่องสกปรกเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าถูกใจประชาชนอินเดียจำนวนมาก

4. Indian Diplomacy “Re-Globalisation”

หนึ่งในรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ถูกจับตามองมากที่สุดในโลกตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคือ สุพรหมณยัม ชัยศังกระ (Subrahmanyam Jaishankar) ที่เข้ารับตำแหน่งในปี 2019 และนำพาให้นโยบายการต่างประเทศของอินเดียมีความโดดเด่นอย่างยิ่งในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อินเดียกลายเป็นประเทศมหาอำนาจในระดับภูมิภาคที่สามารถเข้าไปเป็นผู้เล่นที่ประสานผลประโยชน์ได้กับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขั้วอำนาจเดิมที่เข้าสู่ภาวะถดถอยสูญเสียอำนาจในการจัดระเบียบโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเสรีประชาธิปไตยตะวันตก (Western Liberal Democracy) หรือฝ่ายมหาอำนาจใหม่ที่มีพลังอำนาจเพิ่มขึ้นอย่าง BRICS+ ลองจินตนาการถึงการที่สื่อตะวันตกต่างเร่งช่วยกันโปรโมทอินเดียในฐานะมหาอำนาจใหม่ที่จะขึ้นมาทดแทนจีน ที่รัฐบาลของพวกเขาต้องการจะปิดล้อม ทั้งๆ ที่นักวิชาการด้านอินเดียศึกษาส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่า ยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะกว่าที่อินเดียซึ่งผงาดขึ้นมาแล้วจะทะยานได้ในระดับเดียวกันกับจีน แต่ในขณะเดียวกันอินเดียก็สามารถซื้อขายพลังงานกับรัสเซีย และร่วมอยู่ในความร่วมมือทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจที่จีนเป็นผู้นำได้อย่างสง่างาม

S. Jaishankar เองก็สรุปนโยบายการต่างประเทศของอินเดียเอาไว้ว่า Nimble and Multi-Vector Diplomacy (ว่องไว นิ่มนวล ไม่แข็งตัว สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างมีพลวัต ในหลากหลายทิศทาง) และในทางเศรษฐกิจ อินเดียจะสนับสนุนแนวคิด Re-Globalization โดยนโยบายกลับสู่โลกาภิวัฒน์ของอินเดียหมายถึง

1) การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เพื่อการกระจายความเสี่ยง

2) ประชาธิปไตย ซึ่งสำหรับอินเดียมองว่าทุกประเทศมีรูปแบบและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ดังนั้นทุกประเทศสามารถสร้างประชาธิปไตยในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของตน ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียวกัน

3) ความยุติธรรม (Fair) ที่ไม่ได้หมายความว่าทุกฝ่ายต้องได้รับทุกสิ่งเท่ากัน หากแต่ต้องมีการให้แต้มต่อกับผู้ที่ด้อยกว่า

4) การตัดสินใจบนกลไกตลาด ขับเคลื่อนโดยกลไกตลาด   

5. จาก Swaccha Bharat สู่ LIFE

จาก ‘อินเดียเอี่ยมสะอาด’ (Swaccha Bharat) นโยบายในการส่งเสริมจิตสำนึกเรื่องสุขอนามัย การรักษาความสะอาดของประชากรอินเดีย ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ห้องน้ำสาธารณะ ระบบการจัดเก็บขยะ ระบบสุขาภิบาลเมือง ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ความสะอาดคือสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเองสัมผัสได้ว่าอินเดียพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ (แม้ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่ก็ปรับปรุงดีขึ้นอย่างมากหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว) สู่การออกกฎหมายการสร้างหน่วยงานสำคัญอย่างศาลสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือการปรับแนวนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ ที่ Modi ใช้คำว่า LIFE ที่เป็นตัวย่อจาก LIfestyle For Environment ที่เน้นปรับวิธีคิดในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในทุกพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน สู่การผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ อาทิ การพัฒนาพลังงานทางเลือกร่วมกันผ่านการก่อตั้ง International Solar Alliance หรือการก่อตั้งเครือข่ายนานาชาติด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ Coalition for Disaster Resilient Infrastructure

แน่นอนว่ารัฐบาล BJP ภายใต้การนำของ Modi จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างยิ่งเกี่ยวกับแนวคิด Hindutva หรือ ชาตินิยมฮินดู ที่ค่อนข้างโน้มเอียงไปในรูปแบบอำนาจนิยมที่วางตำแหน่งให้ศาสนิกฮินดูเป็นความสำคัญอันดับแรกและกดทับศาสนิกในศาสนาอื่นๆ รวมทั้งพรรค BJP เองก็มีแกนกลางที่เป็นองค์การทางศาสนาอย่าง Rashtriya Swayamsevak Sangh (RSS) เป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย หากแต่ในทางปฏิบัติเมื่อผู้นำที่อยู่ในความนิยมอย่าง Modi ที่เข้าใจการตลาดแบบที่ชาวอินเดียชื่นชอบ ตีความแนวคิดแบบ Hindutva เสียใหม่ว่า นี่ไม่ใช่การกดทับหรือการสร้างอุดมคติแบบฮินดูเป็นใหญ่แต่เพียงศาสนาเดียว หากแต่นี่คือการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของชาติอินเดียที่เคยถูกกดทับมาอย่างยาวนานโดยราชวงศ์มุคัล (หรือราชวงศ์โมกุล ที่มีรากเป็นชาวมองโกลราชวงศ์หยวนแต่ไปพำนักอยู่ในตะวันออกกลางและรับเอาศาสนาอิสลามมาเป็นศาสนาหลัก) และจักรวรรดิอังกฤษ การตีความในรูปแบบนี้กลับยิ่งทำให้คะแนนนิยมในหมู่ชาวอินเดียที่มีต่อ BJP และ Modi ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

เหล่านี้คือ เหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่า Modi คงน่าจะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศมหาอำนาจแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ และมหาอำนาจใหม่ของโลกแห่งนี้ได้ไม่ยาก และสิ่งที่เราต้องติดตามดูต่อไปนั่นคือ แนวทางการดำเนินยุทธศาสตร์ของเขาที่วางเป้าหมายให้อินเดียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Countries) ให้ได้ในปี 2047 ในวาระ 100 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐอินเดีย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save