fbpx

สวีเดนในฐานะ ‘รัฐการทหาร’ ในต้นยุคใหม่

หากมองย้อนไปไม่กี่ร้อยปี  ชื่อเสียงของสวีเดนในเวทีนานาชาติไม่ใช่การเป็นประเทศเป็นกลาง หรือเป็นประเทศผู้รักสันติ รักษาสันติภาพแบบที่เป็นที่รู้จักกันในช่วงเวลาแห่งความเป็นกลางระหว่างปี 1945-2022 นะครับ

ช่วงเวลาแห่งความเป็นกลางที่ว่านี้ก็คือการเป็นกลางโดยสมมติ ในความขัดแย้งตั้งแต่ท่ามกลางฝ่ายอักษะกับฝ่ายสัมพันธมิตรช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การสร้างนักการทูตสันติภาพ (กับรางวัลโนเบลรัวๆ) ตลอดช่วงสงครามเย็น รวมทั้งเป็นเวทีเจรจาข้อขัดแย้งในโลกต่างๆ นานา ไปสิ้นสุดลงที่การเตรียมตัวเข้า NATO หลังจากกรณีรัสเซีย-ยูเครน

‘ค้อนแห่งยุโรป’

แต่ไม่กี่ร้อยปีก่อนหน้า สวีเดนเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘ค้อนแห่งยุโรป’ ที่ไปทุบไปตอก ไปรบกับเขาไปทั่ว เป็นรัฐประเภทที่นักวิชาการเขาเรียกว่า ‘รัฐการทหาร’ (Militärstaat)* ซึ่งการทหารเป็นฐานพยุงรัฐประเภทนี้เอาไว้

เป็นการทหารเพียงใด ลองพิจารณาดูถึงจำนวนประชากรที่ถูกเกณฑ์ทหารต่อหัวประชากรประมาณในช่วงศตวรรษที่ 17 ช่วงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในฝรั่งเศสก็แล้วกันนะครับ เพราะถ้าจะมีรัฐใดที่ทำสงครามบ่อยจริงๆ ในเวลานั้นก็คงจะหนีไม่พ้นฝรั่งเศสแน่

ถ้าจะเอาให้ยิ่งชัด ในช่วงเวลาดังกล่าว เราลองเปรียบเทียบระหว่างฝรั่งเศส ปรัสเซีย และสวีเดนดู ว่าร้อยละของการเกณฑ์ทหารต่อหัวประชากรเป็นเท่าใด

ว่าด้วยดินแดนของยุโรปปี 1648 (ที่มาภาพ)

ในฝรั่งเศส ช่วงเวลาที่ทำสงครามอย่างเข้มข้นมาก ปลายรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คือชายร้อยละ 1.5 ต่อประชากรฝรั่งเศสทั้งหมดถูกเกณฑ์เข้าไปรบในสงครามทั่วยุโรป 

ส่วนปรัสเซีย ซึ่งเป็นที่รู้กันถึงความเป็นการทหารนิยม (กองทัพปรัสเซียมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศสช่วงเปลี่ยนแปลงระบอบอย่างมาก) ตัวเลขขึ้นมาเป็น 3.7 ในช่วงปี 1740 ส่วนอีกสองทศวรรษต่อมาตัวเลขขึ้นไปเป็นร้อยละ 7.4 

ส่วนภูมิศาสตร์อำนาจทางการเมืองที่มีขนาดเล็กกว่าทั้งสองมากอย่างสวีเดน การเกณฑ์ทหารมีตัวเลขร้อยละ 4 เมื่อถึงสิ้นสตวรรษที่ 17 และสิบกว่าปีต่อมากระโดดขึ้นไปเป็นร้อยละ 7.7 ถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปทั้งหมด

กองทัพของสวีเดนไม่เพียงเกรียงไกรในทะเลบอลติค แต่เข้าร่วมในสงครามสามสิบปี เป็นที่รู้จักกันกันทั่วในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และศูนย์อำนาจเยอรมนิคทั้งหลาย

การก่อรูปของรัฐการทหารสวีเดน

นักวิชาการที่ศึกษารูปแบบของรัฐยุโรปตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อล่วงเข้าสู่ลกลางศตวรรษที่ 16 เกิดรูปแบบของรัฐใหม่แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีลักษณะที่เห็นได้ชัดสองประการ

ประการแรก คือการรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง สู่กลุ่มชนชั้นนำที่มีอำนาจในสังคม ส่วนประการที่สอง คือการเกิดสงครามในขนาดใหญ่ จากสงครามขนาดเล็กที่ค่อนข้างจำกัดอยู่ตามพื้นถิ่นต่างๆ เปลี่ยนมากลายเป็นสภาวะสงครามอันไม่รู้จบต่อเนื่องกันไป ซึ่งสุดท้าย สงครามกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของชาวยุโรปตลอดช่วงศตวรรษนั้น

ความสำคัญของทะเลบอลติกต่อการกำเนิดเศรษฐกิจโลกยุโรป

มีความจำเป็นที่จะต้องเท้าความสักหน่อยว่า ในช่วงเวลาดังกลาว อังกฤษและโดยเฉพาะดัชต์ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในระบบเศรษฐกิจโลกยุโรป เคลื่อนศูนย์กลางทุนนิยมจากบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในศตวรรษก่อนๆ ขึ้นไปทางเหนือสู่ทะเลบอลติก

เมืองอัมสเตอร์ดัมก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการค้า ที่ทุนมหาศาลหมุนเวียนเข้าออกไปทั่วยุโรป และส่วนสำคัญหนึ่งก็ไปถึงกลุ่มประเทศนอร์ดิคด้วย เพราะการค้าทางเรือของดัชต์นั้นมีความมุ่งหมายจะเชื่อมต่อเข้าไปสู่ตลาดรัสเซีย และดินแดนภาคพื้นไปทางใต้ถึงจักรวรรดิออตโตมัน รวมไปถึงตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออก จึงมีทะเลบอลติกเป็นผืนน้ำที่สำคัญที่สุด

การบุกปราก (Siege of Prague) ช่วงสิ้นสุดของสงครามสามสิบปี เห็นความโหดเหี้ยมของกองทัพสวีเดน (ที่มาภาพ)

นี่ทำให้ศูนย์กลางอำนาจเหนือทะเลบอลติคอย่างเดนมาร์กและสวีเดน มีบทบาทขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลที่ทำให้สองอำนาจสแกนดิเนเวียนี้สามารถระดมทรัพยากรเพื่อสร้างกองทัพได้

สวีเดนเริ่มก้าวขึ้นเป็นจักรวรรดิ ขยายอำนาจของตนไปในทะเลบอลติกทั้งหมด รบกับโปแลนด์ เดนมาร์ก และรัสเซีย และคุมเส้นทางการเดินเรือสินค้าในทะเลบอลติกเอาไว้ได้

แสนยานุภาพและความโหดเหี้ยมของกองทัพสวีเดนนั้น ประกาศชัดเจนในสงครามสามสิบปี (The Thirty Years War, 1618-1648) และหลังสงครามสิ้นสุดลงเราเห็นทั้งสนธิสัญญาเวสฟาเลีย และสวีเดนก้าวขึ้นมาในฐานะจักรวรรดิ ภายใต้ช่วงเวลาของกษัตริย์อย่าง กุสตาฟที่ 2 อดอล์ฟ (Gustav II Adolf, 1594-1632) ซึ่งมีอำนาจทั่วไปในทะเลบอลติกรวมไปถึงเยอรมนีตอนเหนือด้วย

กุสตาฟที่ 2 อดอล์ฟ (ที่มาภาพ)

ปลายทางคือสงคราม

จักรวรรดิสวีเดนในช่วงที่อำนาจสูงที่สุด (ที่มาภาพ)

การจะดำรงอำนาจในฐานะจักรวรรดิ ย่อมมีสงครามเป็นส่วนประกอบด้วยอย่างเป็นธรรมชาติ และการจะทำสงคราม ย่อมต้องระดมทรัพยากรมหาศาลเป็นเงาตามตัว สงครามเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง กล่าวคือ กษัตริย์จะพระราชทานที่ดินหรือทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากการรุกรานดินแดนต่างๆ แก่ขุนนาง

รวมทั้งการทำสงครามก็คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ** เพราะการจะหาเงินจ่ายหนี้ ก็ทำให้รัฐต้องมุ่งทำสงครามขยายดินแดนและปล้นสะดม สงครามจึงเป็นปลายทางที่พยุงรัฐการทหารเอาไว้

ความต้องการทำสงคราม รวมทั้งความต้องการของกองทัพ จึงเป็นตัวกำหนดโครงสร้างทางสังคม และการจัดการทรัพยากรของสวีเดนทั้งหมดในช่วงเวลานี้ ซึ่งทำให้สวีเดนกลายเป็นรัฐการทหารอย่างเต็มตัว


อ้างอิง

*เกอร์ฮาร์ด ออสไทร์ช (Gerhard Ostreich) แบ่งรัฐในยุโรปต้นยุคสมัยใหม่ออกเป็นสามประเภท คือ 1) รัฐการคลัง (Finanzstaat) 2) รัฐการทหาร (Militärstaat) 3) รัฐระบอบราชการ (Verwaltungsstaat) ขอบคุณอ.ทัศสภา อุมะวิชนี นักประวัติศาสตร์การทหาร สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับคำแปลในภาษาไทย

* * ต้องขอบคุณงานของ อลัน มิลวอร์ด (Alan Milward) เป็นอย่างยิ่งที่ทำให้ผมเห็นประเด็นนี้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่ถูกกลบหายไปในยุค Homo Americanus 

– Emmanuel Todd, Lineages of modernity : a history of humanity from the Stone Age to Homo Americanus, 2019, 125.

– Jan Lindegren, “The Swedish ‘Military State’, 1560-1720, Scandinavian Journal of History, 10 (4), 1985, 305-336. 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save