fbpx
ระดูสนทนา ผ้าอนามัยเปลี่ยนชีวิต

ระดูสนทนา ผ้าอนามัยเปลี่ยนชีวิต

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เกศินี จิรวณิชชากร ภาพ

“ซักตากปกติ ไม่ต้องอาย” เธอบอก

ถ้าเป็นเสื้อผ้าทั่วไป อาจฟังดูแปลกประหลาด ทำไมการตากผ้าต้องเหนียมอาย แต่หลายคนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้หญิงอาจแอบเขินเล็กๆ เมื่อต้องตากชุดชั้นในในที่แจ้ง เกรงใจคนเดินผ่านหน้าบ้านจะเห็นหมดว่าสัดส่วนและรสนิยมของเจ้าของเป็นอย่างไร

แต่นั่นก็อาจยังไม่เท่ากับว่าผ้าที่เธอซักตากไม่ใช่ชุดชั้นใน แต่เป็นผ้าอนามัยที่ใช้แล้ว

“คนไทยอาจจะรู้สึกว่าแปลกในการใช้ผ้าอนามัยแบบซักได้ แต่ที่ญี่ปุ่นเขาใช้กันมากว่า 20 ปีแล้ว” ‘เก๋’ เกศินี จิรวณิชชากร เจ้าของผ้าอนามัยแบรนด์ Sunny Cotton – menstrual pad ที่เปิดเพจเฟซบุ๊กในชื่อดังกล่าวเพื่อขายผ้าอนามัยที่ทำจากผ้าฝ้ายและเย็บด้วยมือของเธอเอง เพิ่งเริ่มขายเมื่อปี 2017 นี่เอง

เกศินี จิรวณิชชากร ผ้าอนามัย
เกศินี จิรวณิชชากร

จากการที่เธอมีโอกาสได้ไปร่ำเรียนด้านสังคมวิทยาชนบทที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นมา และได้เห็นการใช้ผ้าอนามัยแบบผ้ากันอย่างแพร่หลาย หาซื้อได้ทั่วไป เธอจึงซื้อมาทดลองใช้ดูบ้าง ไม่เพียงแต่พฤติกรรมตัวเองที่เปลี่ยน แต่เธอบอกว่าโลกทัศน์เธอก็เปลี่ยนไปด้วย

“ตอนกลับมาไทยแล้วลองหาดูว่ามีใครใช้แบบนี้บ้าง เราหาไม่มี ก็เลยลองเย็บใช้เอง จากนั้นก็ลองทำขายดู เราได้แรงบันดาลใจมาจากวิธีคิดเรื่องสุขภาพของผู้หญิงที่ญี่ปุ่น เขาจะเน้นว่าความอบอุ่นจะทำให้ร่างกายเราแข็งแรง ซึ่งไม่ได้ระบุแค่ฤดูร้อนหรือฤดูหนาว แต่เป็นเรื่องความสมดุลของชี่ในร่างกาย”

“คนญี่ปุ่นคิดว่าความป่วยไข้เกิดจากร่างกายที่เย็นเกินไป และเขายังมองว่าการใช้ผ้าอนามัยทั่วไปซึ่งทำจากพลาสติกนั้นทำให้ร่างกายเย็น และความเย็นก็ยิ่งทำให้เลือดลมไหลเวียนไม่ดี นำมาสู่การปวดประจำเดือน หรืออาจนำไปสู่โรคต่างๆ แต่ผ้าอนามัยแบบผ้าจะทำให้ร่างกายอบอุ่นกว่า” เก๋เล่าถึงแรงบันดาลใจด้านสุขภาพที่ได้มาจากโลกทัศน์ของชาวอาทิตย์อุทัย

ผ้าอนามัยเปลี่ยนชีวิต ผ้าอนามัยซักได้

ผ้าอนามัยเปลี่ยนชีวิต ผ้าอนามัยซักได้

ตอนที่กระแส “ออเจ้า” จากละครเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ กำลังดัง มีการพูดถึงเรื่อง “ขี่ม้า” เธอนึกไปถึงในญี่ปุ่นที่การเรียกผ้าอนามัยแบบมีสายคาดเอวก็เรียกว่า “ม้า” มาตั้งแต่สมัยเอโดะด้วย

“รูปทรงแบบมีสายคาดเอวนี้เคยแพร่หลายมาก่อนที่จะมีผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และไทย เคยคุยกับอาม่า อาม่าบอกเมื่อก่อนก็ใช้แบบนี้ และเราก็เห็นชาวบ้านในอีสานก็ใช้ โดยทำจากผ้าถุงเก่าๆ”

เก๋บอกว่า ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งถูกคิดค้นมาร้อยกว่าปีแล้ว เพื่อใช้ซับเลือดทหารในสงคราม ต่อมาพยาบาลพบว่าใช้ซับเลือดประจำเดือน จนบริษัทในอเมริกาก็ได้พัฒนามาเป็นแบรนด์โกเต็กซ์ แต่ช่วงแรกยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เพราะอิทธิพลด้านคติทางเพศแบบวิคตอเรียนทำให้ผู้หญิงอายที่จะซื้อของแบบนี้ใช้

ตามร้านค้าถึงกับต้องมีกล่องสำหรับให้ลูกค้าผู้หญิงหยอดเงินค่าผ้าอนามัย เพื่อจะได้ไม่ต้องไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ เราเห็นว่าการเกิดขึ้นของผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งยิ่งไปเสริมค่านิยมที่ว่าเรื่องประจำเดือนเป็นของที่ต้องปกปิด หลบซ่อน ทำเหมือนมันไม่มีอยู่ ทุกวันนี้เวลาซื้อผ้าอนามัยในญี่ปุ่นไม่ว่าจะในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อ คนขายจะใส่ในถุงกระดาษให้ทันทีเพื่อแอบสายตา แล้วค่อยใส่ถุงพลาสติกซ้อนอีกชั้นนึง

ที่น่าสนใจคือการเกิดขึ้นของผ้าอนามัยเกิดจากผู้ชาย เพื่อผู้ชาย ทหารในสงคราม ในอินเดียก็มีผู้ชายคนหนึ่งริเริ่มธุรกิจทำผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งราคาถูก เพราะเริ่มจากสงสารเมียที่ไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย แล้วก็เอาผ้าเน่าๆ มาใช้ แอบไว้ ไม่กล้าตาก

“พอมาทำ Sunny Cotton เราก็สนุกมากที่ได้คุยกับทุกคนเรื่องประจำเดือน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับลูกค้า ได้คุยกับเพื่อนๆ ว่าเมนส์มาเยอะไหม มากี่วัน ปกติใช้ผ้าอนามัยแล้วมีปัญหาอะไรบ้าง ได้คุยกับคนสูงอายุว่าเมื่อก่อนเขาใช้อะไร แม้แต่เวลาคุยกับเพื่อนผู้ชายก็มีคนบอกว่าอยากให้มีผ้าอนามัยสำหรับผู้ชายบ้าง เพราะเวลาฉี่แล้วเก็บ มันก็จะมีเลอะกางเกงใน”

กับคำถามซื่อๆ ซึ่งเธอได้ผ่านการใคร่ครวญมาแล้วว่าผ้าอนามัยแบบนี้ดีกว่าทั่วไปอย่างไร เธอบอกว่า อันดับแรก การมีประจำเดือนของผู้หญิงนั้นต้องยอมรับว่านำไปสู่การสร้างขยะมหาศาล แต่ถ้าใช้ผ้าอนามัยที่ซักได้ มันก็ลดขยะไปโดยปริยาย

ส่วนผลโดยตรงต่อตัวเธอนั้น เธอบอกว่ามันได้เปลี่ยนความเข้าใจเรื่องประจำเดือนไปเลย “คนมักจะเข้าใจว่าประจำเดือนมีกลิ่นเหม็น แต่พอเรามาใช้ผ้าอนามัยแบบนี้ เราพบว่ามันไม่ได้น่ากังวลอะไรเลย เพราะเป็นแค่เลือดธรรมดา ที่ไม่ได้มีกลิ่นเหม็นแบบที่เคยได้กลิ่นตอนใช้ผ้าอนามัยแบบเดิม ซึ่งเกิดจากการหมักหมมมากกว่า”

เธอชวนให้นึกถึงสมัยที่เรายังเด็ก พ่อแม่เลี้ยงเราด้วยความทะนุถนอม ผ้าอ้อมเด็กคือผ้าที่เป็นมิตรกับผิวหนังของเรามากกว่าแพมเพิดที่มีโอกาสเกิดผื่นคันจากการอับชื้นมากกว่า

“เมื่อก่อนเราแทบไม่เคยรู้สึกสัมผัสประจำเดือนของตัวเองอย่างใกล้ชิด เวลาซักผ้าอนามัยมันทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเอง และทำให้เราคิดว่าจริงๆ แล้วไม่ได้มีอะไรน่ารังเกียจเลย มันก็แค่เลือด”

ใช่หรือไม่ว่าเราต่างถูกพร่ำบอกมาเสมอว่าประจำเดือนคือของเสียอันสกปรก เธอยกตัวอย่างหนังสือชื่อ Purity and Danger (1966) เขียนโดย Mary Douglas นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ ที่มักอธิบายถึงความสกปรกในวัฒนธรรมต่างๆ โดยพยายามระบุว่าเลือดประจำเดือนเป็นของสกปรกเพราะมันอยู่นอกพื้นที่การจัด category

เป็นต้นว่าถ้าเลือดหมายถึงความเจ็บป่วยหรือบาดแผล แต่ประจำเดือนไม่ใช่ทั้งสองสิ่งนั้น แล้วมันคืออะไร เมื่อทำความเข้าใจได้ยาก มันจึงถูกผลักไปเป็นความสกปรก

เกศินีบอกอีกว่า โลกทัศน์ที่มองว่าประจำเดือนสกปรกยังสะท้อนว่า อะไรที่เราไม่เข้าใจมัน เราจะเกลียดและกลัวมัน ประจำเดือนก็เช่นกัน เมื่อเข้าใจยากเราจะผลักมันออกไปให้อยู่ในที่ๆ หมักหมม และนั่นคือบ่อเกิดของความสกปรกและตามมาด้วยความเจ็บป่วย

“เมื่อก่อนที่ยังไม่มีผ้าอนามัยใช้แล้วทิ้ง ผู้หญิงก็ใช้ผ้าแบบซักได้นี่แหละ แต่ว่าเขาต้องตากแบบหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ให้ใครเห็น แต่ที่ที่คนมองไม่เห็นกลับเป็นที่อับ แสงแดดเข้าไม่ถึง อากาศไม่ถ่ายเท เพราะผู้หญิงอายต่อการถูกมองว่ามีเลือดออก แต่โลกทัศน์ใหม่บอกเราว่ามันไม่มีอะไรสกปรกจริงๆ โดยเฉพาะประจำเดือน มันคือการถ่ายเทและหมุนเวียน”

พอทำความเข้าใจเลือดของตัวเองและการใช้ผ้าอนามัยแบบซักแล้ว เธอเห็นว่าเราอยู่ในสังคมที่พยายามปกปิดและซุกซ่อนโดยเฉพาะเรื่องเพศ ผู้หญิงถูกสอนให้พูดคุยเรื่องดังกล่าวแบบลับๆ

“เราพูดกันไม่ได้ว่าเลือดของฉันมันเป็นลิ่มๆ เป็นตกขาวหรือมีปัญหาอะไรบ้าง เรื่องแบบนี้ถูกทำให้รู้สึกอายที่จะพูดเพื่อหาวิธีแก้ปัญหา ทั้งที่เป็นเรื่องสุขภาพ บางคนก็ยังไม่กล้าไปหาหมอเพราะอายหรือกลัวว่าจะถูกบอกว่าไม่ดูแลสุขภาพ เมื่อคุยในที่สาธารณะไม่ได้ เราก็อยู่บนความไม่รู้และมันง่ายมากที่จะนำไปสู่ความป่วยไข้”

เธอไม่ลังเลที่จะบอกว่าผ้าอนามัยแบบซักได้ ไม่ใช่แค่การเป็นมิติทางสุขภาพหรือมิติสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่มันคือการปฏิบัติการทางวัฒนธรรม

“เราสามารถปลดล็อกมายาคติของเราเกี่ยวกับเรื่องเพศได้ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจร่างกายตัวเอง เอาแค่ด้านสุขภาพ เราพบว่าการใช้ผ้าอนามัยแบบผ้าทำให้เรามีประจำเดือนลดลง มาตรงเวลาขึ้น และไม่ปวดท้องประจำเดือน ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเองที่เป็นแบบนี้ แต่คนที่ใช้หลายคนโดยเฉพาะคนต่างชาติก็เป็นเหมือนกัน”

นอกจากเรื่องสุขภาพ เธอชัดเจนกับตัวเองว่า เธอไม่ต้องการเพิ่มขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ และผ้าอนามัยทั่วไปกว่าจะย่อยสลายได้ก็อาจใช้เวลาหลายร้อยปี เพราะวัสดุที่ประกอบไปด้วยกระดาษ พลาสติก และโพลิเมอร์

น่าคิดว่าถ้าคนเรามีประจำเดือนเฉลี่ยเดือนละ 5 วัน ถ้าใช้ผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งวันละ 5 ชิ้น หนึ่งเดือนก็จะใช้ 25 ชิ้น หนึ่งปีใช้ 300 ชิ้น แล้วช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่งจะใช้ทั้งหมดกี่ชิ้น เมื่อปลายทางคือขยะ แล้วมูลค่าทั้งหมดที่แท้จริงคือเท่าไหร่

ผ้าอนามัยเปลี่ยนชีวิต ผ้าอนามัยซักได้

ผ้าอนามัยเปลี่ยนชีวิต ผ้าอนามัยซักได้

พูดถึงเชิงพาณิชย์ เธอบอกว่าช่วงที่มีกระแสข่าวสิ่งแวดล้อมหนักๆ เช่น ขยะที่อยู่ในท้องวาฬหรือหลอดที่ติดจมูกเต่า ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้คนจำนวนหนึ่งหันมาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตัวเองมาขึ้น

โยงมาถึงวิธีคิดเรื่องการใช้ผ้าอนามัยแบบผ้า เพราะพวกเขาต่างไม่อยากเพิ่มปริมาณขยะอีก เมื่อคนเกิดความกังวลประเด็นสิ่งแวดล้อม ออเดอร์ก็เข้ามาถึงเธออย่างมหาศาล จนเธอกำลังคิดเรื่องโซเชียลเอนเตอร์ไพรส์

ในขณะที่ผ้าฝ้ายนุ่มนอกจากจะสร้างความนุ่มนวลและอบอุ่นให้กับคนใช้แล้ว ยังสามารถซักล้างได้ และเมื่อซักล้างได้ก็ทำให้ผู้ใช้ได้สังเกตเลือดที่ออกมาจากร่างกายของตัวเองว่าสะท้อนถึงสุขภาพเป็นอย่างไร

คำว่า Sunny Cotton ที่เธอตั้งขึ้นก็เพื่อสื่อว่าอยากให้แสงส่องลงมาที่มายาคติ ประจำเดือนไม่ใช่สิ่งสกปรก และความเป็นผู้หญิงไม่ควรถูกกดหรือเอาไปซ่อนในที่ลับ

เธอยกตัวอย่างความคิดของ Alisa Vitti ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพผู้หญิงที่เคยอธิบายไว้ว่าในหนึ่งเดือนของผู้หญิงจะมีสี่ฤดู

ฤดูแรกคือฤดูหนาวที่ผู้หญิงกำลังมีประจำเดือน จะต้องการเก็บตัว เงียบ พักผ่อน

ต่อมาเมื่อหมดประจำเดือน ก็เป็นฤดูใบไม้ผลิ ผู้หญิงจะรู้สึกสดชื่น มีวิธีคิดใหม่ๆ อยากเจอผู้คนใหม่ๆ

จากนั้นก็จะเป็นฤดูร้อน ผู้หญิงจะแอคทีฟมาก อยากปาร์ตี้ อยากออกเดท เพราะเป็นช่วงไข่ตก

กระทั่งฤดูใบไม้ร่วง ก่อนจะมีประจำเดือน ผู้หญิงจะกลับมาทบทวนใคร่ครวญกับตัวเองมากขึ้น

แนวคิดนี้ทำให้เธอรู้จักเชื่อมโยงตัวเองไปสู่การใช้ชีวิตว่าในแต่ละวันเราจะบริหารอย่างไร ช่วงไหนควรทำอะไร เธอบอกอีกว่ามันทำให้เห็นว่าโลกนี้ไม่ได้มีแต่หยางหรือความเป็นชายที่จะมองอะไรเป็นความโปรดักทีฟ มั่นคง ตรวจวัดได้ มีความแน่นอน

ในขณะที่หยินหรือโลกของผู้หญิงนั้นถูกมองว่าน่ารำคาญ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และไม่มีระเบียบ แต่ความเข้าใจใหม่นี้ทำให้เธอมองผู้หญิงเป็นธรรมชาติและความสวยงามที่ไม่จำเป็นต้องถูกจัดระเบียบแต่อย่างใด

ปีที่ผ่านมาของ Sunny Cotton ในความรับรู้ของสังคมอาจยังนับว่าเพิ่งเริ่มชั้นประถมเท่านั้น

แต่สำหรับเกศินี เวลานี้ผ้าอนามัยของเธออาจไม่ใช่แค่ผ้าอนามัย แต่มันคือประตูบานใหญ่ที่ชวนให้เข้าไปรู้จักร่างกายตัวเองและเรียนรู้ที่จะรักษ์โลก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save